Skip to main content
sharethis

ความอันจะปรากฏนี้เป็นภาคต่อเนื่องของ สัมภาษณ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (1) : การเคลื่อนไหว 2549 "รัฐประหารของคนชั้นกลาง" แต่ขณะที่บทสัมภาษณ์ชิ้นที่แล้วอธิบายสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางอุดมการณ์และวาทกรรมในสภาวะสมัยใหม่ บทสัมภาษณ์ตอนนี้กลับพิจารณาความเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัยสำคัญสองข้อ ข้อแรกคือสถานะของศาลในในการจัดการปัญหาการเมือง และข้อสองคือแง่คิดบางอย่างเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง


 


 



 


 


0 0 0


 


การเมืองไทยในอนาคต (อันใกล้)


 


อย่าเพิ่งไว้วางใจว่า


จะไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหมดความอดทนต่อบรรยากาศที่น่าอึดอัดแบบนี้


การปฏิวัติรัฐประหารเป็นเรื่องที่เป็นไปได้


ไม่ว่าจะโดยการใช้กำลังทหารไปยึดอำนาจรัฐอย่างโจ่งแจ้ง


หรือไม่ก็การรัฐประหารเงียบๆ ด้วยวิธีการตกลงกันภายใน


 


 


การเมืองไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร


ผมคิดว่าการเมืองในช่วงหลังจากนี้ไปจะมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการคือ


 


ประการแรก ความพยายามอาศัยอำนาจ (power) ที่อยู่นอกเหนืออาณาบริเวณทางการเมืองไปต่อต้านพลังทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในรูปของวาทกรรมพระราชอำนาจ, การเรียกร้องนายกพระราชทาน, การปฏิวัติรัฐประหาร ฯลฯ จะยังคงมีอยู่ต่อไป ทั้งจากฝ่ายชนชั้นนำที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการต่อสู้ทางการเมืองแบบนี้, จากฝ่าย Popular Movement ที่เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า นี่คือยุทธวิธีที่จำเป็นในการขับไล่นายกรัฐมนตรีทรราชย์, รวมทั้งจากฝ่ายนักปลุกระดมมวลชนที่อาศัย Popular Movement ไปผลักดัน Agenda บางอย่างของชนชั้นนำปีกที่พวกเขามีสายสัมพันธ์


 


ประการที่ 2 การใช้สถาบันการเมืองที่อยู่นอกรัฐสภาและการเลือกตั้งไปจัดการกับรัฐสภาและพรรคการเมือง ตัวอย่างเช่นการใช้ศาลและอัยการไปออกคำสั่งยุบพรรคการเมือง, ความพยายามเสนอให้ศาลเป็นองค์กรในการจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ทำแบบนี้, หรือการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อกดดันให้องค์กรทางการเมืองทำตามที่ฝ่ายตุลาการสั่งการ


 


ประการที่ 3 การบรรจบกันของอำนาจที่อยู่นอกเหนืออาณาบริเวณทางการเมือง, สถาบันการเมืองนอกรัฐสภา, รวมทั้งพลังประชาชนบนท้องถนน จะผลักดันให้การเมืองเดินไปสู่ทิศทางเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2549 นั่นหมายความว่ากระแสต่อต้านนายกรัฐมนตรีจะคงอยู่ต่อไปด้วย


 


แต่ในคราวนี้ ความล้มเหลวในการขับไล่ระลอกแรกจะส่งผลให้กระแสต่อต้านครั้งใหม่มีแนวทางที่รุนแรงยิ่งขึ้น นั่นก็คือการต่อต้านจะเดินจากการขับไล่ผู้นำการเมืองทรราชย์ล้วนๆ ไปสู่การบ่อนเซาะหลักการเรื่องรัฐธรรมนูญนิยม, หลักนิติรัฐ, หลักประชาธิปไตยรัฐสภา และในท้ายที่สุด ก็คือการสั่นคลอนหลักการขั้นพื้นฐานเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน


 


แน่นอนว่าเรากำลังเดินไปสู่สถานการณ์ของการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงระหว่างคนสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือผู้นำซึ่งล้มละลายทางการเมือง แต่ถือครองอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรมตามหลักรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายที่สองคือชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ แทบทั้งหมด ซึ่งไม่ว่าอย่างไร คนกลุ่มนี้ก็ไม่มีทางยึดมั่นอุดมคติประชาธิปไตยแน่ๆ แต่จะเล่นเกม "เอียงข้างประชาชน" ที่ผนึกกำลังร่วมกับคนชั้นกลางและมวลชนคนชั้นล่างบางฝ่าย แล้วอาศัยพลังมวลชนบนท้องถนนไปหักล้างความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามกับตนเอง


 


ผมไม่กล้าเดาว่าการเผชิญหน้านี้จะยกระดับเป็นการจลาจลและการปะทะระหว่างมวลชนสองฝ่ายหรือไม่ เพราะประวัติศาสตร์ของการเมืองสมัยใหม่ในบ้านเราไม่เคยเกิดความขัดแย้งในลักษณะนี้มาก่อน


 


6 ตุลาอาจรุนแรงกว่านี้ แต่ 6 ตุลาเกี่ยวข้องกับคู่ขัดแย้งที่มีจุดยืนและความคิดความเชื่อแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ในกรณี 2549 คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายอ้างอิงตัวเองกับความชอบธรรมในทางใดทางหนึ่ง ทำให้หักล้างกันโดยตรงได้ยาก นั่นหมายความว่า ความคลุมเครือและอึมครึมคงมีต่อไปอีกพักใหญ่ เพราะทุกฝ่ายต่างก็รู้ว่าตัวเองไม่อยู่ในฐานะที่จะแตกหักกับฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ


 


ด้วยสถานการณ์แบบนี้ สงครามช่วงชิงมวลชนและการปลุกระดมมวลชนคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นอกจากนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ รวมทั้งการใช้ปัญญาชน, นักวิชาการ และผู้นำทางสังคมกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มตน


 


อย่าเพิ่งไว้วางใจว่าจะไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหมดความอดทนต่อบรรยากาศที่น่าอึดอัดแบบนี้ การปฏิวัติรัฐประหารเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะโดยการใช้กำลังทหารไปยึดอำนาจรัฐอย่างโจ่งแจ้ง หรือไม่ก็การรัฐประหารเงียบๆ ด้วยวิธีการตกลงกันภายใน


 


0 0 0


 


อย่าลืมว่า


คนที่ฆ่านักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์


เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519


ก็เริ่มต้นระดมมวลชนด้วยการชุมนุมประท้วงและเดินขบวน


 


 


หมายความว่าประชาชนไม่ควรออกมารวมตัวขับไล่นายกอย่างนั้นหรือ?


ประชาชนควรขับไล่นายกฯต่อไป เพราะนายกรัฐมนตรีคนนี้ได้ทำสิ่งที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานไปมาก โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การเอานโยบายวิสามัญฆาตกรรมไปแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเท่ากับรัฐมอบอำนาจให้ตำรวจมีเสรีภาพจะฆ่าใครก็ได้ในประเทศนี้, กรณีทนายสมชาย (นีละไพจิตร) ที่ยังไม่มีความคืบหน้ามาจนปัจจุบัน, การสลายการชุมนุมจนมีคนตาย 80 กว่าคนในกรณีตากใบ, การแทรกแซงองค์กรอิสระ, กว้านซื้อพรรคการเมืองและ ส.ส.จากฝ่ายตรงข้าม, การใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือในการครอบงำประชาชน, การคอรัปชั่นทางนโยบาย ฯลฯ


 


ในทางการเมืองนั้น นายกฯคนนี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้นำประเทศต่อไป ชัยชนะในการเลือกตั้งไม่ได้หมายถึงการฟอกความผิดให้เป็นความถูกไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องคิดต่อไปด้วยว่า เป้าหมายในการขับไล่นายกฯคือการทำให้ประชาธิปไตยพัฒนาขึ้น ไม่ใช่ใช้สถาบันหรือวิธีการอะไรก็ได้ ซึ่งในที่สุดจะทำให้การต่อสู้ทางการเมืองแปรสภาพเป็นอัตวินิตบาตกรรมและโศกนาฎกรรมทางการเมือง


 


อันที่จริง เราควรตระหนักว่าการต่อสู้ทางการเมืองไม่ได้เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมือง แต่การต่อสู้ทางการเมืองเมืองคือการต่อสู้เพื่อสถาปนาหลักการเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง นั่นหมายความว่าการเดินขบวนและประท้วงทั้งหมดไม่ได้เป็นเรื่องที่พึงสดุดีโดยอัตโนมัติ แต่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและหลักการพื้นฐานของการต่อสู้ด้วยเช่นกัน


 


อย่าลืมว่าคนที่ฆ่านักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เริ่มต้นระดมมวลชนด้วยการชุมนุมประท้วงและเดินขบวน


 


ผมเข้าใจดีว่าการต่อต้านทักษิณเป็น Popular Movement ที่ใหญ่โตในระดับที่แทบไม่เคยมีมาก่อน จึงเป็นธรรมดาที่ "ฝ่ายประชาชน" จะตื่นตาตื่นใจไปกับความตื่นตัวนี้ แต่ผมอยากเตือนว่า Demonstration ไม่ได้เท่ากับ Democracy ไปเสียทั้งหมด และในกรณี 2549 Demonstration มีด้านมืดที่วางอยู่บนความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองแบบซึ่งต่อต้านรัฐสภาและการเลือกตั้ง, การปลุกระดมมวลชน, วาทกรรมพระราชอำนาจ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเชื้อไฟอย่างดีต่อการเผาหลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน


 


ถึงตรงนี้ ผมอยากฝากให้ผู้นำการชุมนุมหลีกเลี่ยงความคิดที่อันตรายบางข้อ ข้อแรกคือความคิดว่าต้องขับไล่นายกฯคนนี้ออกไปให้เร็วที่สุด ส่วนข้อสองคือความคิดว่าการต่อสู้ทางการเมืองไม่ต่างจากสงคราม


 


สองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกัน เพราะความคิดแบบแรกกดดันผู้นำการชุมนุมให้หมกมุ่นอยู่กับการไล่ทักษิณจนเกินไป นั่นหมายความว่าพวกเขาบีบคั้นตัวเองให้ต้องเร่งเคลื่อนไหวมวลชนให้รุนแรงและมีลักษณะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากที่สุด


 


ผลก็คือขบวนการต้านทักษิณระดมพลังบนความรู้สึกนึกคิดรวมหมู่ที่มองว่าฝ่ายสนับสนุนทักษิณเป็นคนโง่ เลว ไม่มีสิทธิทางการเมือง ถูกนักการเมืองหลอกใช้ ฯลฯ จนลืมข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดไปว่า คนที่สนับสนุนทักษิณมีไม่น้อยกว่าฝ่ายต่อต้าน ซ้ำส่วนใหญ่เป็นคนจนและคนชั้นล่างของสังคม


 


"ปฏิญญาฟินแลนด์" เป็นตัวอย่างที่ดีของวิธีการเคลื่อนไหวชั้นเลวแบบนี้ ถ้าในกลุ่มพันธมิตรฯ ยังมีคนที่เป็นตัวของตัวเองอยู่บ้าง ก็ไม่ควรปล่อยให้นักปลุกระดมมวลชนสร้างกระแสการเมืองแบบนี้ต่อไป


 


0 0 0


 


ถ้าถือว่า


นักการเมืองคือคนที่พูดอะไรก็ได้เพื่อให้ถูกใจมวลชน


คนแบบนี้


ก็ทำให้เส้นแบ่งระหว่างปัญญาชนกับนักการเมืองไม่มีอยู่อีกต่อ่ไป


 


 


แล้วปัญญาชนภาคประชาชนล่ะ?


บทบาทปัญญาชนเป็นอีกเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุด เพราะการเคลื่อนไหวในปี 2549 ล้มล้างความเชื่อว่าเราสามารถแบ่งประเภทของปัญญาชนโดยดูว่าใครทำงานรับใช้รัฐและผู้มีอำนาจ คนที่ทำงานให้รัฐก็ถือว่าเป็นนักวิชาการของผู้มีอำนาจ และถ้าไม่ใช่ เขาก็คือนักวิชาการของ "ประชาชน"


 


เฉพาะในคนกลุ่มหลังนี้ ปี 2549 คือปีที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัญญาชนกลุ่มนี้สามารถพูดอะไรก็ได้ ส่วนคำพูดเหล่านั้นจะวางอยู่บนหลักการทางการเมืองแบบไหน ไม่ใช่เรื่องสำคัญต่อไป ทำให้นักรัฐศาสตร์บางคนพูดเป็นตุเป็นตะถึงปฏิญญาฟินแลนด์ได้ ส่วนนักกฎหมายบางคนก็ทำงานผ่านการออกทีวีและให้สัมภาษณ์ ให้ความเห็นบนหลักการที่ปรวนแปรไปมาได้ตลอดเวลา


 


พูดก็พูดเถอะ การที่อดีตแอคติวิสท์บางคนอาศัยภาพวิชาการไปป่าวประกาศว่า "มาตรา 7" เป็นเรื่องทำได้ หากทำไปตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ หรือศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิยุบพรรคการเมืองได้ แต่ต้องยุบทุกพรรคอย่างเท่าเทียมกัน


ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่น่าละอาย


 


ถ้าถือว่านักการเมืองคือคนที่พูดอะไรก็ได้เพื่อให้ถูกใจมวลชน คนแบบนี้ก็ทำให้เส้นแบ่งระหว่างปัญญาชนกับนักการเมืองไม่มีอยู่อีกต่อ่ไป


 


ในสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่นี้ ปัญญาชนเหล่านี้มีบทบาทที่สำคัญที่สุด 2 ข้อ ข้อแรกคือ การสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจที่อยู่เหนืออาณาบริเวณการเมือง และข้อที่สองคือการแสวงหาช่องทางให้สถาบันการเมืองนอกรัฐสภา "แทรกแซง" รัฐสภาได้อย่างเต็มที่ ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ละเมิดหลักการปกครองโดยรัฐธรรมนูญ


 


ในแง่นี้ นักวิชาการ "ภาคประชาชน" มีบทบาทในลักษณะคล้ายคลึงกับที่ปัญญาชนของรัฐ นั่นคือการทำให้รัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนเป็นเรื่องทางเทคนิควิทยาทางกฎหมาย แต่ไม่คำนึงถึงหลักการทางการเมือง หรือพูดอีกอย่างก็คือการสืบทอดหลักการแบ่งแยกระหว่าง "หลักนิติศาสตร์" กับ "หลักรัฐศาสตร์" ซึ่งผลในท้ายที่สุดก็ได้แก่การทำให้รัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนเป็นเรื่องของ "ผู้เชี่ยวชาญ" เพียงหยิบมือเดียว โดยที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้อาจสมรู้ร่วมคิดและผลักดันวาระทางการเมืองจากชนชั้นนำบางกลุ่มได้ตลอดเวลา


 


อันที่จริง รัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะปรัชญาพื้นฐานของนิติศาสตร์คือการจรรโลงไว้ซึ่งความยุติธรรม ส่วนรัฐศาสตร์นั้นก็มุ่งตอบคำถามสำคัญข้อหนึ่งว่าความยุติธรรมคืออะไร


 


การแบ่งแยกระหว่างรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์เป็นเรื่องในระนาบสถาบันการศึกษา แต่ปัญญาชนนั้นควรเป็นอิสระจากกรอบความคิดที่ถูกกำหนดโดยโครงสร้างและสถาบัน


 


ถ้านักกฎหมายไม่เข้าใจประเด็นนี้ นักกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบต่อการที่กฎหมายแยกออกจากปรัชญาพื้นฐานของกฎหมาย นั่นก็คือกฎหมายเป็นเอกเทศจากความยุติธรรม


 


0 0 0


 


ปัญญาชนจำนวนมากที่เล่นเกมทางปัญญาแบบนี้


เป็นสถาปนิกที่ออกแบบระบบการเมืองซึ่งตอกย้ำหรือผลิตซ้ำอำนาจแบบที่เป็นอยู่


โดยไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นมีประโยชน์จริงหรือไม่


มีด้านมืดตรงไหนบ้าง


และอะไรคือหลักการทางการเมืองที่เป็นจิตวิญญาณของระบบเหล่านี้


 


 


นักกฎหมายมหาชนตายไปแล้วใช่ไหม


นักกฎหมายมหาชนตายไปแล้วจากเรื่องนี้ อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่เป็นเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับการเชียร์มาตรา 7 ซึ่งทำให้กฎหมายมหาชนกลายเป็นเรื่องทางเทคนิค ซึ่งนี่เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะทุกคนก็รู้ว่าหลักกฎหมายมหาชนไม่ได้มีแค่นี้


คนเหล่านี้จึงฆาตกรรมนิติศาสตร์สาขานี้ ลดทอนมันให้เป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองเพื่อตอบโจทก์บางอย่างตามธงที่ต้องการ


 


เวลานักกฎหมายมหาชน หรือนักกฎหมายรัฐธรรมนูญในเมืองไทยเขาถกเถียงกัน เขาไม่ถกเถียงกันว่าอะไรคือหลักการของความชอบธรรมทางการเมือง เขาเถียงกันแต่เรื่องโครงสร้าง เถียงกันแต่เรื่องการจัดการเชิงสถาบัน แล้วทำให้เรื่องการเมือง เรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องทางเทคนิคแบบนี้ เขาไม่สนใจว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับการพิทักษ์รักษาหลักการอะไรบางอย่าง การคิดว่าอะไรคือปทัสถานของการเมืองที่ดี ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่วิชากฎหมายมหาชนในหลายประเทศถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ


 


ในประเทศเยอรมันเอง แนวคิดทางกฎหมายมหาชนสกุลหนึ่งที่สำคัญมากคือสกุลที่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะต้องวางอยู่บนปทัสถานทางการเมืองบางอย่าง นั่นหมายความว่าจะต้องมีการตอบคำถามหลักให้ได้ก่อนว่าการเมืองคืออะไร การเมืองที่ดีคืออะไร ก่อนที่จะก้าวล่วงไปออกแบบโครงสร้างและสถานบันทางการเมือง แต่สำหรับนักกฎหมายมหาชนในเมืองไทยจำนวนไม่น้อย ความคิดเรื่องปทัสถานทางการเมืองกลายเป็นเรื่องที่หายไป กฎหมายมหาชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญถูกทำให้เป็นแค่เรื่องโครงสร้างและสถาบันการเมืองล้วนๆ แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดว่าอะไรคือปทัสถานทางการเมืองที่โครงสร้างและสถาบันควรถูกออกแบบเพื่อรับรอง


 


ในที่สุดแล้ว ก็หมายความต่อไปว่าปัญญาชนจำนวนมากที่เล่นเกมทางปัญญาแบบนี้ เป็นสถาปนิกที่ออกแบบระบบการเมืองซึ่งตอกย้ำหรือผลิตซ้ำอำนาจแบบที่เป็นอยู่ โดยไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นมีประโยชน์จริงหรือไม่ มีด้านมืดตรงไหนบ้าง และอะไรคือหลักการทางการเมืองที่เป็นจิตวิญญาณของระบบเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่หายไปจากการถกเถียงหรือกรอบการคิดของนักกฎหมายมหาชนหลายฝ่ายที่มีบทบาทเคลื่อนไหวอย่างอึกทึกครึกโครมในสังคมไทย


 


0 0 0


 


เป็นเรื่องน่าเศร้าว่า


ไม่มีนักวิชาการกฎหมายมหาชนคนไหนหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดเลยว่า


ศาลแทรกแซงฝ่ายบริหารบนปทัสถานการเมืองแบบไหน


ทุกคนอ้างด้วยเหตุผลเพียงว่า


ศาลแทรกแซงเพราะศาลเป็นตัวแทนของอำนาจที่สำคัญ


 


 


คำถามทางการเมืองที่สำคัญก็คือ ศาลมีขอบเขตอำนาจอยู่แค่ไหน


ปรากฎการณ์ในปี 2549 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ก็คือการใช้อำนาจศาลเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าโดยพื้นฐานแล้วเกิดขึ้นเพราะคนจำนวนมากมีความรู้สึกว่าไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองโดยวิธีการของสถาบันการเมืองเองได้ เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันแทรกแซงจนองค์กรอิสระพังทลายลงไป จึงเห็นต่อไปว่า ศาลควรเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งทางการเมือง


 


คำถามสำคัญที่ควรถูกตั้งคำถามก็คือ ขอบเขตของการแทรกแซงทางการเมืองควรจะอยู่แค่ไหน เขตอำนาจของศาลนั้นคืออะไร ตุลาการมีอำนาจแทรกแซงกิจการของฝ่ายบริหารได้หรือไม่ และอะไรคือความสมเหตุสมผลในการอนุญาตให้ศาลสรุปว่าคะแนนเสียงของคน 16 ล้านคน ที่ไปเลือกพรรคไทยรักไทย คือคะแนนเสียงที่ไม่ชอบธรรมถึงขั้นที่จะถือว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ


 


จริงอยู่ว่า ศาลเป็นสถาบันซึ่งในสังคมไทยนั้นถือว่าเป็นตัวแทนของพระราชอำนาจ แต่หลักการสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภานั้น ถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของปวงชน และฉะนั้น ในภูมิปัญญาทางรัฐศาสตร์หรือในภูมิปัญญาของวิชากฎหมายมหาชนในหลายๆ ประเทศ อำนาจของศาลหรือหลักการเรื่องความเป็นอิสระของศาลจึงไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่โดยปราศจากขอบเขต แต่ศาลมีอำนาจอยู่ในขอบเขตบางอย่างที่คนในสังคมต้องตกลงร่วมกันให้ชัดเจน


 


ขณะที่ในการถกเถียงเรื่องการให้ศาลเข้ามาแทรกแซงในการเมืองไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องน่าเศร้าว่า ไม่มีนักวิชาการกฎหมายมหาชนคนไหนหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดเลยว่าศาลแทรกแซงฝ่ายบริหารบนปทัสถานการเมืองแบบไหน ทุกคนอ้างด้วยเหตุผลเพียงว่า ศาลแทรกแซงเพราะศาลเป็นตัวแทนของอำนาจที่สำคัญ


 


ในทางนิติปรัชญานั้น ความเชื่อว่าศาลสำคัญเพราะเป็นตัวแทนอำนาจที่สำคัญกว่า หรือที่เรียกว่า The Judge as Delegate of the Sovereign อย่างเช่นอำนาจของกษัตริย์ อำนาจของจักรพรรดิ ฯลฯ มาพร้อมกับการออกแบบโครงสร้างและสถาบันที่มีลักษณะเฉพาะตัวบางอย่าง นั่นก็คือศาลต้องทำกิจการต่างๆ ภายใต้การบังคับบัญชาของอำนาจสูงสุดโดยตรง ไม่ว่าการบังคับบัญชานั้นจะแสดงออกอย่างชัดเจนและเป็นทางการหรือไม่ และไม่ว่าอำนาจสูงสุดจะบังคับบัญชาให้ศาลออกข้อห้ามและการกระทำเช่นไรก็ตาม


 


นั่นหมายความว่า ถ้าสังคมใดเชื่อว่าศาลสำคัญเพราะศาลเป็นตัวแทนของสถาบันสูงสุด ความผิดในการวินิจฉัยและการดำเนินคดีความของศาลก็ย่อมเป็นความผิดที่เกิดจากกระทำของสถาบันสูงสุดโดยตรง พูดอีกอย่างก็คือมลทินของศาลย่อมทำให้สถาบันสูงสุดแปดเปื้อนตามไปด้วยเช่นกัน


 


0 0 0


 


ในสังคมไทย ศาลเป็นสถาบันที่อิสระอยู่มาก


เมื่อเทียบกับสถาบันนิติบัญญัติและบริหาร


ความเป็นอิสระของศาลจึงไม่ใช่ปัญหาที่น่าห่วงใยนัก


แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ


ขอบเขตของความเป็นอิสระของศาลควรจะอยู่แค่ไหน


 


 


ฟังดูเหมือนกับว่าศาลไม่ควรมีอำนาจจัดการกับรัฐบาลและปัญหาการเมืองที่มาจากระบบรัฐสภา


ผมคิดว่าศาลมีอำนาจจัดการกับรัฐบาลและปัญหาในระบบรัฐสภาได้ เพราะเป็นความจริงว่าสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันได้เดินมาถึงจุดที่บังเกิดสภาพต่างๆ ซึ่งไม่เอื้อให้ระบบรัฐธรรมนูญและรัฐสภาทำงานได้ตามครรลอง ซ้ำส่วนใหญ่ยังเป็นสภาพปัญหาที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นก็คือฝ่ายบริหารที่ล้มละลายทางศีลธรรมอย่างรุนแรงกลับได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งที่ผิดปกติ ผลก็คือฝ่ายบริหารไม่สามารถทำงานได้ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่ดำรงอยู่ในทางที่เป็นจริง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงสภาพที่องค์กรอิสระอื่นๆ ก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะจัดการปัญหานี้ได้ ศาลย่อมกลายเป็นสถาบันการเมืองสถาบันเดียวที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน


 


อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องยึดไว้ให้มั่นก็คือ บทบาทของศาลข้อนี้เกิดขึ้นภายใต้เป้าหมายทางการเมืองที่สำคัญบางอย่าง นั่นก็คือการจรรโลงไว้ซึ่งการเมืองในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา การให้ศาลมีบทบาททางการเมืองตามหลักการนิติศาสตร์ที่มีลักษณะยืดหยุ่น หรือ Judicial Activism ไม่ได้เท่ากับการให้ศาลมีอำนาจสั่งการอย่างไรก็ได้


 


พูดอีกอย่างก็ได้ว่า เรายอมรับให้ศาลแทรกแซงการเมืองได้ หากการแทรกแซงนั้นพิสูจน์ได้ชัดว่าทำเพื่อจรรโลงระบบการเมืองโดยรวม


 


ทฤษฎีนิติศาสตร์ข้อนี้แตกต่างจากทัศนคติที่ครอบงำนักกฎหมายว่า ศาลคือตัวแทนของอำนาจสูงสุด จึงแทรกแซงการเมืองได้โดยเสรี หรือ The Judge as Delegate of the Sovereign เพราะในความคิดแบบหลัง ศาลไม่จำเป็นต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแทรกแซงสถาบันการเมืองเพื่อรักษาระบบประชาธิปไตยรัฐสภา ในทางตรงกันข้าม ศาลทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ เพราะศาลกระทำการไปตามที่สถาบันสูงสุดในแต่ละสังคมเป็นผู้บัญชา


 


ความคิดเรื่องศาลเป็นตัวแทนของสถาบันสูงสุดมีจุดที่น่าเป็นห่วงสี่ข้อ ข้อแรกคือศาลอาจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รับผิดชอบต่อใครเลยก็ได้ สอง ไม่มีใครสามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาลได้อย่างโปร่งแจ้ง สาม ศาลอาจใช้อำนาจโดยละเมิดหลักการสำคัญของประชาธิปไตยรัฐสภา และสี่ การใช้อำนาจอย่างปราศจากขอบเขตของศาลนั้นอาจไปกระทบกระเทือนหลักการทางการปกครองที่สำคัญอีกข้อ นั่นก็คือหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ


 


ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ในที่สุดแล้วการใช้อำนาจของศาลก็มีโอกาสจะขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยแบบ Popular Sovereignty เพราะปรัชญาพื้นฐานของศาลคือการตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ด้วยความยุติธรรม และถ้าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก การได้มาซึ่งความยุติธรรมย่อมไม่พึงมาจากกระบวนการที่เสียงของคนจำนวนมากไม่ได้ถูกทำให้ปรากฏ เพราะนั่นเท่ากับว่าคนเหล่านี้ไม่มีโอกาสโต้เถียง, ซักค้าน, หรือชี้แจงได้ จึงอาจทำให้ศาลเองถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีคำวินิจฉัยในเรื่องหนึ่งเรื่องใดไปตามธงที่ตั้งไว้ตั้งแต่ก่อนพิจารณาคดี


 


ศาลยุติธรรมในระบบการเมืองบางแบบอาจยอมรับสภาพเช่นนี้ได้ เช่นศาลภายใต้ระบบการเมืองแบบเผด็จการ ศาลภายใต้การปกครองแบบราชาธิปไตย แต่ในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น การใช้อำนาจแบบนี้เป็นเรื่องที่อันตราย


 


ปัญหาสำคัญที่ต้องพูดถึงในปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องความเป็นอิสระของศาล เพราะในสังคมไทย ศาลเป็นสถาบันที่อิสระอยู่มาก เมื่อเทียบกับสถาบันนิติบัญญัติและบริหาร ความเป็นอิสระของศาลจึงไม่ใช่ปัญหาที่น่าห่วงใยนัก แต่ที่เป็นปัญหาก็คือขอบเขตของความเป็นอิสระของศาลควรจะอยู่แค่ไหน ทำอย่างไรที่ศาลจะมี Accountability ต่อคนส่วนใหญ่และสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งทำอย่างไรที่จะมีหลักประกันว่า การทำหน้าที่ของศาลจะวางอยู่บนหลักการที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือหลักการเรื่องความยุติธรรม


 


0 0 0


 


มาตรา 7 ไม่ใช่เรื่องสำคัญในตัวเอง


แต่มาตรา 7 สำคัญ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า


คนชั้นกลางใช้สถาบันเป็นแหล่งอ้างอิงในการโจมตีนักการเมือง


ที่ทำลายกระบวนการเสรีนิยมทางเศรษฐกิจและการเมือง


 


 


เท่าที่ผ่านมา นักวิชาการจำนวนหนึ่งบอกว่าการเคลื่อนไหวในปี 2549 เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม คือชนชั้นสูงกลุ่มจารีต กับชนชั้นนำใหม่ทางการเมือง ซึ่งพันธมิตรฯเองก็ดูจะคิดแบบนี้ ขณะที่ทักษิณเองก็ออกมาพูดเรื่องนี้อีกเช่นกัน คุณมีความคิดเห็นอย่างไร


ผมไม่คิดว่ากระแสเรียกร้องมาตรา 7 หรือนายกฯพระราชทานจะเกิดขึ้นจากฝ่ายนิยมกษัตริย์ที่ต้องการรื้อฟื้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) เพราะ Absolute Monarchy เป็นเรื่องที่ปิดฉากไปแล้วทั่วโลก ไม่มีทางรื้อฟื้นขึ้นมาได้ ไม่ว่าใครจะคิดฝันไปอย่างไรก็ตาม Absolute Monarchy เป็นระบอบการปกครองที่ตายสนิทไปแล้ว นั่นหมายความว่า ผมไม่คิดว่ากำลังหลักในการต้านทักษิณจะมาจากชนชั้นสูงหรือคนชั้นนำบางกลุ่ม


 


ในทางกลับกัน ผมคิดว่าคนที่เป็นฐานกำลังหลักในการต่อต้านทักษิณคือคนชั้นกลาง และคนที่เป็นปัญญาชน ถ้าเราพิจารณาจากวาทกรรมที่คนเหล่านี้ใช้โจมตีทักษิณ คือการบอกว่า ทักษิณเป็นผู้นำทางการเมืองที่ผูกขาดอำนาจ เป็นคนที่ใช้อำนาจทางธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือเป็นคนที่คอร์รัปชั่นอย่างรุนแรง ฯลฯ ภาพรวมของการโจมตีนี้คือการบอกว่าทักษิณทำลายองค์ประกอบต่างๆ ของกระบวนการเสรีนิยมทางเศรษฐกิจและการเมืองลงไป


 


การนิยามตัวเองกับหลักเสรีนิยมทางเศรษฐกิจการเมืองนั้นเป็นบุคลิกหลักของชนชั้นกลางในแทบทุกสังคม ในความหมายนี้ มาตรา 7 ไม่ใช่เรื่องสำคัญในตัวเอง แต่มาตรา 7 สำคัญ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า คนชั้นกลางใช้สถาบันเป็นแหล่งอ้างอิงในการโจมตีนักการเมืองที่ทำลายกระบวนการเสรีนิยมทางเศรษฐกิจและการเมือง


 


ในความหมายนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2549 ไม่ใช่เรื่องที่ชนชั้นสูงหรือชนชั้นนำใช้ชนชั้นล่างอย่างเดียว แต่มันมีมิติที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชนชั้นกลางใช้ชนชั้นสูงเป็นเครื่องมือในการผลัก Agenda ทางเศรษฐกิจและการเมืองของตนเองไปด้วยพร้อมๆ กัน


 


นี่คือมุมที่มันต่างจากเวลาเราวิจารณ์มาตรา 7 ว่ามาตรา 7 จะทำให้ชนชั้นสูงมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น เพราะผมพบว่าปัญหาของมาตรา 7 ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นสูงหรือการฟื้นอำนาจของพวก Elite แต่เป็นเรื่องที่ชนชั้นกลางใช้ชนชั้นสูงเป็นเครื่องมือในการผลักประเด็นของตนเอง


 


นั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยมาสู่จุดที่อันตรายมากขึ้น เพราะการเมืองได้เคลื่อนตัวมาสู่จุดที่ชนชั้นกลางสามารถล้มการเลือกตั้งได้โดยมีฐานทางภูมิปัญญา มีฐานทางการเมือง มีฐานทางเศรษฐกิจเต็มที่ที่จะทำเรื่องนี้ และนี่คือสัญญาณที่เป็นอันตรายต่อ Popular Sovereignty ซึ่งเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน


 


0 0 0


 


ต่อให้รัฐบาลไทยรักไทยจะแย่อย่างไร แต่ถ้าไม่มีรัฐบาลแบบนี้


แล้วแทนที่ด้วยรัฐบาลแบบสังคมนิยม, รัฐบาลแต่งตั้ง, รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ,


รัฐบาลแบบพรรคชาติไทย หรือรัฐบาลแบบสมัชชาคนจน


สำหรับชนชั้นนำแล้ว รัฐบาลทักษิณก็คือสิ่งที่ดีกว่าแน่ๆ


เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเงื่อนไขทางโครงสร้างอะไรเลย


ที่จะก่อให้เกิดการแตกหักอย่างที่คนจำนวนมากคิด


 


 


คนจำนวนมากชอบพูดว่าจะเกิดการแตกหักระหว่างทักษิณกับชนชั้นนำดั้งเดิม?


ในที่สุดแล้วมันไม่จำเป็นต้องเกิดการแตกหักกัน คือคนจำนวนมากชอบพูดว่า ทักษิณกับคนอีกกลุ่มเกิดความไม่พอใจกัน และจะเกิดการแตกหักกัน ซึ่งผมรู้สึกตลอดเวลาว่า นี่เป็นการประเมินที่ค่อนข้างเลื่อนลอย


 


สำหรับผมแล้ว ในการที่จะทำความเข้าใจเรื่องความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน สิ่งที่เราจะต้องมีก่อนคือการทำความเข้าใจระหว่างโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง, ประวัติศาสตร์, เศรษฐศาสตร์การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น


 


ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้มันก็ไม่มีเงื่อนไขอะไรเลยที่ทำให้คนเหล่านี้ขัดแย้งกัน ในเรื่องทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำทุกกลุ่มมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันและทับซ้อนกันไม่น้อย ส่วนในเรื่องทางการเมืองก็เหมือนกัน เราต้องอย่าลืมว่าระบบการเมืองทุกวันนี้เป็นการเมืองที่พัฒนาต่อเนื่องกันมาหลังจาก 6 ตุลาคม 2519 เป็นเรื่องพัฒนามาบนวาทกรรมการเมืองจำนวนมากที่ชนชั้นนำเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกฝ่ายในกลุ่มชั้นนำด้วยกัน


 


ต่อให้รัฐบาลไทยรักไทยหรือคุณทักษิณจะแย่อย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าไม่มีรัฐบาลแบบนี้ แล้วแทนที่ด้วยรัฐบาลแบบสังคมนิยม, รัฐบาลแต่งตั้ง, รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ, รัฐบาลแบบพรรคชาติไทย หรือรัฐบาลแบบสมัชชาคนจน สำหรับชนชั้นนำแล้วรัฐบาลทักษิณก็คือสิ่งที่ดีกว่าแน่ๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเงื่อนไขทางโครงสร้างอะไรเลยที่จะก่อให้เกิดการแตกหักอย่างที่คนจำนวนมากคิด


 


ผมเข้าใจว่าการประเมินแบบนี้มีอิทธิพลต่อการกำหนดการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรฯ ด้วย ตั้งแต่การเรียกร้องมาตรา 7 หรือแนวทางการเคลื่อนไหวที่มุ่งตอกลิ่มและขยายผลความขัดแย้งบางระดับระหว่างคนเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าในที่สุด ความขัดแย้งนี้จะนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมือง จะนำไปสู่การล้มการเลือกตั้ง จะนำไปสู่อะไรก็ได้ เช่น การยุบพรรคไทยรักไทย หรือแม้กระทั่งการเรียกร้องให้ทหารดีๆ ออกมาช่วยประชาชนขับไล่รัฐบาลทรราชย์!


 


อย่างไรก็ดี ผมว่านี่เป็นเทพนิยายของคนที่ไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง


 


พระราชดำรัส 25 เมษา คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นทางโครงสร้างที่จะทำให้เกิดการแตกหักระหว่างชนชั้นนำทั้งหมดโดยอาศัยมาตรา 7 เป็นเครื่องมือ


วันที่ 25 เมษายน เป็นการพิสูจน์กับคนที่เรียกร้องมาตรา 7 ว่า มันไม่มีความจำเป็นทางโครงสร้างอะไรที่ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดจะทำให้มาตรา 7 เกิดขึ้นด้วยหลายเหตุผล เช่น ความถูกต้องตามกฎหมาย, ภาพลักษณ์ในสายตาต่างประเทศ, ความสมเหตุสมผลทางการเมือง กรณี 25 เมษา คือการพิสูจน์ว่า ที่สุดแล้วสิ่งที่เป็นปัญหาของการเมืองในช่วงปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องของการรื้อฟื้น Absolute Monarchy อย่างที่คนจำนวนมากที่วิจารณ์มาตรา 7 พูดๆ กัน


 


คนที่พยายามผลักดันเรื่องมาตรา 7 จำนวนมากคือคนชั้นกลาง และคนที่ไม่พอใจรัฐบาลด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ คนเหล่านี้ตระหนักดีว่า รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนจากคนจำนวนมาก ซึ่งต่อให้เสียงสนับสนุนนั้นมาจากการคอร์รัปชั่น หรือมาจากนโยบายประชานิยม หรือมาจากการทุจริตอะไรก็ตาม แต่นี่คือเสียงจาก 16 ล้านคน ซึ่งในที่สุดแล้วเราปฏิเสธไม่ได้ คนเหล่านี้รู้ว่า 16 ล้านคนคือเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เคยมีผู้นำของไทยคนไหนได้รับมาก่อน เพราะฉะนั้นในการล้มรัฐบาลมันแทบไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองอะไรเลยที่จะให้ล้มได้ นอกจากการหันกลับไปหามาตรา 7 และหันไปอิงกับอำนาจทางการเมืองบางอย่าง อิงกับหลักการเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองบางอย่างที่อยู่ระบบการเมืองและการเลือกตั้ง


 


0 0 0


 


เรามีเงื่อนไขที่จะล้มได้โดยอาศัยข้ออ้างของประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน


แต่ว่าชนชั้นกลาง ชนชั้นปัญญาชน นักกฎหมายมหาชนในเมืองไทย


กลับไปใช้อีก Argument หนึ่ง


นั่นคืออาศัยความชอบธรรมที่อยู่นอกเหนือระบบเลือกตั้ง


อาศัยอำนาจที่อยู่นอกสถาบันการเมืองเข้ามาล้ม


 


 


เรามีเงื่อนไขที่จะล้มรัฐบาลโดยหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการปกครองโดยกฎหมาย แต่เราไม่ใช้


จริงๆ แล้ว เราสามารถต่อต้านและขับไล่รัฐบาลได้โดยอาศัยหลักการและฐานคิดของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา, การแทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระ, หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แต่น่าแปลกว่าหนึ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงที่สุด คือกรณีปัญหาภาคใต้นั้น แทบไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเลยในการต่อต้านรัฐบาล


 


ผมคิดว่าเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาก็เพราะว่าการเคลื่อนไหวในปี 2549 นั้น องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือชนชั้นกลาง ผมคิดว่าส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้คิดว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างกรณีปัญหาภาคใต้ เป็นปัญหาทางการเมืองชนิดคอขาดบาดตาย จนกระทั่งจะใช้เป็นประเด็นในการล้มรัฐบาลแน่ๆ


 


นี่คือจุดที่ทำให้การเมือง 2549 อันตรายมากขึ้น เพราะว่า ในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรามีเงื่อนไขที่จะล้มได้โดยอาศัยข้ออ้างของประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน เรื่องหลักการปกครองโดยกฎหมาย The Rule of Law แต่ว่าชนชั้นกลางในเมืองไทย ชนชั้นปัญญาชนในเมืองไทย นักกฎหมายมหาชนในเมืองไทยไม่ใช้ Argument นี้ แต่หันกลับไปใช้อีก Argument หนึ่ง นั่นคืออาศัยความชอบธรรมที่อยู่นอกเหนือระบบเลือกตั้ง อาศัยอำนาจที่อยู่นอกสถาบันการเมืองเข้ามาล้ม


 


นี่ไม่ใช่เรื่องของการไม่มีทางเลือก มันมีทางเลือกว่าจะใช้วิธีไหนล้มได้ และสิ่งที่ชนชั้นกลางในเมืองและปัญญาชนเลือกก็คือล้มโดยวิธีการที่ทำลายหลักการของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา


 


และก็เป็นเรื่องน่าเศร้าว่า แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านซึ่งควรจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดจากการล้มรัฐบาลก็ใช้วิธีการนี้ คือการบอยคอตการเลือกตั้ง แทนที่จะใช้การเลือกตั้งเป็นโอกาสในการรณรงค์ต่อต้านนโยบายไม่ชอบธรรมของรัฐบาล แต่พรรคฝ่ายค้านกลับพอใจที่จะให้มีการล้มการเลือกตั้งมากกว่า


 


ที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาถูกทำลายโดยคนทุกฝ่ายเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น คนชั้นกลาง ปัญญาชน จนกระทั่งถึงฝ่ายพรรคการเมืองซึ่งเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาเอง ฉะนั้น ถ้าคิดในแง่อนาคต การเมืองประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาจึงอยู่ในสภาวะน่าวิตก เพราะว่ามันเผชิญกับการถูกทำลายโดยวาทกรรม และกระบวนการมาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ จนไม่มีเงื่อนไขอะไรเลยที่จะช่วยให้มันเติบโตขึ้นในอนาคต


 


แล้วจะสร้างระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาขึ้นมาได้อย่างไร ผมคิดว่านี่มันคือปัญหาที่อันตรายมาก และคนที่ต้องตอบก็คือคนที่เป็นปัญญาชน แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครตอบปัญหานี้กัน


 


ที่บอกว่าทุกคนทำลายระบอประชาธิปไตย รวมถึงคุณทักษิณด้วย เพราะเขาก็ทำลายระบบตรวจสอบ อันนี้มันแน่นอนอยู่แล้ว เห็นภาพได้ชัดอยู่แล้ว แต่ว่าแม้แต่คนที่อยู่ตรงข้ามทักษิณก็ไปมีส่วนทำลายด้วย นี่จึงเป็นเรื่องที่อันตรายมากขึ้น คือการที่รัฐบาลทำลายระบบตรวจสอบนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่ารัฐบาลมีแนวโน้มที่จะไม่ชอบระบบตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ที่น่าแปลกคือคนในฝ่ายประชาสังคม หรือปัญญาชน หรือพรรคการเมืองที่ไม่ใช่รัฐบาลก็ร่วมต่อสู้แบบนี้ด้วย


 


0 0 0


 


สิ่งที่ควรจะทำก็คือการพยายามสร้างฐานทางอุดมการณ์หรือฐานทางวาทกรรม


ที่มั่นคงให้กับประชาธิปไตยแบบรัฐสภาให้มากขึ้น


ควบคู่ไปกับการทำให้หลักการเรื่อง Grass Root Democracy กลับมามีพลัง


อย่าทำให้ Grass Root Democracy ถูกปล้นโดยชนชั้นกลาง


และกลายเป็นฐานของการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลางอย่างเดียว


 


 


สิ่งที่ภาคประชาชนควรจะทำต่อไป คืออย่าทำให้ Grass Root Democracy ถูกปล้นโดยชนชั้นกลาง


ถ้าในความคิดของผมเอง ผมคิดว่าสิ่งที่ภาคประชาชนหรือใครก็แล้วแต่ ก็คือทำความเข้าใจก่อนว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ "อันโตนิโอ กรัมชี" เรียกว่า การจัดขั้วอำนาจทางประวัติศาสตร์ระหว่างคนหลายชนชั้น มีชนชั้นล่างเป็นฐานของมวลชน มีชนชั้นกลางเป็นแกนกลางในการผลักดัน Agenda ละมีชนชั้นสูงเป็นแหล่งอ้างอิงของความชอบธรรมทางการเมือง


 


ถ้าไม่เข้าใจประเด็นนี้ก็จะไปยึดติดกับการมองว่านี่คือการเมืองบนท้องถนน เป็นการต่อสู้ของมวลชน เหมือนกับการต่อสู้ในเดือนพฤษภาคม 2535 และ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว องค์ประกอบที่สำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองในปี 2549 ที่ทำให้มันต่างกับ 14 ตุลาคม 2516 กับพฤษภาคม 2535 ก็คือ ใน 14 ตุลา 2516 การเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองของสถาบันเกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เป็นอุบัติเหตุทางการเมืองที่ผู้นำทางการเมืองที่มาจากสถาบันทหารถูกขับไล่ออกไป และไม่มีผู้นำทางการเมืองจากสถาบันอื่นๆ อยู่ในระบบการเมืองในเวลานั้น เพราะฉะนั้นสถาบันกษัตริย์จึงเป็นแหล่งอำนาจทางการเมืองแหล่งเดียวที่เหลืออยู่


 


ในกรณี พฤษภาคม 2535 ก็ไม่มีใครคาดคิดอีกเหมือนกันว่าจะมีการเข้ามาเกี่ยวข้องในแบบที่จบลงในพฤษภาคม 2535 แต่ในกรณีของ 2549 การจัดขั้วระหว่างกลุ่มคนต่างๆ มีการเรียกร้องเรื่องพระราชอำนาจหรือมาตรา 7 มาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นนี่คือเรื่องใหม่


 


ฉะนั้น สิ่งที่ภาคประชาชนจะต้องทำความเข้าใจในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2549 ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างPopular Movement, คนชั้นกลาง และการเมืองของชนชั้นนำ ส่วนเรื่องที่สองก็คือทำอย่างไรที่การต่อต้านนายกรัฐมนตรีทรราชย์จะไม่ระคายเคืองหลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน


 


แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าในความเห็นของผม สิ่งที่ควรจะทำก็คือการพยายามสร้างฐานทางอุดมการณ์หรือฐานทางวาทกรรมที่มั่นคงให้กับประชาธิปไตยแบบรัฐสภาให้มากขึ้นควบคู่ไปกับการทำให้หลักการเรื่อง Grass Root Democracy กลับมามีพลังอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงหลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือในช่วงปฏิรูปการเมืองในปี 2540


 


อย่าทำให้ Grass Root Democracy ถูกปล้นโดยชนชั้นกลาง และกลายเป็นฐานของการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลางอย่างเดียว


 


สิ่งที่ควรจะทำก็คือ การทำให้คนยากจนหรือคนชั้นล่างเห็นว่าความแตกต่างทางเศรษฐกิจ หรือความยากจนหรือความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจที่คนชั้นล่างได้รับมัน เป็นผลของโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรม เพราะฉะนั้นการเมืองของชนชั้นล่างต้องเดินไปสู่จุดที่ตอกย้ำเรื่องนี้ให้มากขึ้น ไม่ใช่เน้นแต่การสร้างความร่วมมือข้ามชนชั้น ไม่ใช่เน้นแต่การสร้างความร่วมมือกับชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางอย่างที่ผ่านมา


 


เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนชั้นล่างหรือภาคประชาชนควรทำก็คือ การทำให้ประชาธิปไตยมีลักษณะที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างหรือความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม และใช้ฐานของความแตกต่างนี้เป็นรากฐานของอำนาจทางการเมืองหรือเป็นพลังทางการเมือง


 


จริงๆ แล้ว แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มาร์กซ์พูดไว้นานแล้วใน On The Jewish Question ว่าประเด็นที่ทำให้ชนชั้นนายทุนปกครองชนชั้นล่างหรือชนชั้นกรรมาชีพได้ ก็คือ การทำให้ชนชั้นกรรมาชีพมีสิทธิในการเลือกตั้ง


เพราะในทันทีที่ชนชั้นกรรมาชีพมีสิทธิเลือกตั้งได้เหมือนชนชั้นนายทุน พวกเขาก็จะบังเกิดความรู้สึกว่าตนเองก็เท่าเทียมกับชนชั้นสูงและชนชั้นนายทุนไปแล้ว ต่อให้ความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม


 


นี่เป็นประเด็นที่ฟังแล้วจะงง แต่ถ้าคิดให้ดี ก็จะคล้ายๆ กับเมืองไทยในปัจจุบัน นั่นก็คือ ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางทำให้ชนชั้นล่างรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจทางการเมือง และเมื่อชนชั้นล่างรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจทางการเมือง ก็จะไม่รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจอีกต่อไป ไม่สนใจว่าความไม่ยุติธรรมที่ตัวเองได้รับมันเกี่ยวกับชนชั้นกลางและชนชั้นสูงอย่างไรบ้าง และการเมืองไทยในปัจจุบันก็เป็นแบบนี้ ก็คือชนชั้นล่างหรือภาคประชาชนรู้สึกว่าตนเองก็มีปากเสียง ทำอะไรได้เหมือนชนชั้นกลางทั้งหมด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วก็ทำได้แค่นี้ มันไม่ได้ทำให้เกิดความยุติธรรมหรือเกิดความเป็นธรรมให้กับชนชั้นล่างหรือภาคประชาชนขึ้นมา


 


ในที่สุดแล้วสิ่งที่ต้องทำก็คือการต่อสู้เรื่องฐานทรัพยากร การต่อสู้เรื่องสวัสดิการสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น การต่อสู้เรื่องปฏิรูปที่ดินต้องถูกเน้นให้มากขึ้นอย่างจริงจัง หรือการต่อสู้เรื่องสิทธิในการปกครองตนเองของคนมุสลิม


 


ถ้าสรุปให้สั้นที่สุด ผมคิดว่าธงหลักในการปฏิรูปการเมืองแบบประชาชน คือการทำให้การปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปสังคมเป็นเรื่องเดียวกับการปฏิรูปการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net