"หาญณรงค์" โต้ "ดุสิต ศิริวรรณ" แก่งเสือเต้นไม่ได้แก้น้ำท่วม

 

องอาจ เดชา รายงาน

 

 "ตอนที่มีข่าวเรื่องน้ำท่วม คาดเดาไว้แล้วว่า จะต้องมีมนุษย์ยุคหินมาเสนอสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแน่ และปรากฏว่ามีจนได้ เมื่อมีบทความของนายดุสิต ศิริวรรณ ได้ด่าทอและเหยียดหยามบุคคลทั่วไปอย่างขาดสติ และยุยงให้ร่วมกันเหยียบคนอื่นอย่างนั้น คิดว่านี่เป็นบทความที่ขาดเนื้อหาสาระที่เป็นเหตุเป็นผล ผู้เขียนยังขาดวุฒิภาวะเป็นอย่างยิ่ง" หาญณรงค์ เยาวเลิศ ในฐานะที่เป็นผู้ทำงานศึกษาวิจัยผลกระทบจากกรณีโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวโต้กรณีที่ถูกพาดพิง

 

จากกรณีที่หนังสือสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ วันที่ 2-8 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ลงบทความของนายดุสิต ศิริวรรณ ในคอลัมน์พายกรีดน้ำ โดยพาดหัวตัวหนาว่า "พวกต่อต้านการสร้างเขื่อนหดหัวอยู่ที่ไหน?" ว่าสาเหตุคนใน 5 จังหวัดภาคเหนือได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ มาจากพวกนักต่อต้านสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และย้ำว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น คือการแก้ปัญหาน้ำท่วม 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง

 

โดยบทความของนายดุสิต ศิริวรรณ ในบางตอนระบุว่า...สาเหตุหรือรากเหง้าของการเกิดอุทกภัย ทางการไทย โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ เขาได้มีการศึกษาวิจัยและลงมติกันมาตั้งนานแล้วว่า  สมควรที่จะดำเินินการก่อสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" เพราะ เขื่อนแก่งเสือเต้น ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม 5 จังหวัดทางตอนล่าง ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

"แต่ก็ปรากฎว่า ได้มีกลุ่มพวกเอ็นจีโอ ที่มันรวมกลุ่มต่อต้านการสร้างเขื่อนในประเทศไทยฯ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ประกอบด้วย เอ็นจีโอในประเทศไทยบางส่วน และเอ็นจีโอจอมแส่จากต่างชาติอีกบางส่วน

 

"เหตุผลที่คนจำพวกนี้ มันอ้างว่าจำเป็นจะต้องต่อต้าน การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็เพราะมันต้องการที่จะรักษา "นกยูง" จำนวนไม่เกิน 20 ตัว โดยในรายงานข่าวก่อนหน้านี้ไม่ได้บอกเอาไว้ด้วยว่า ประกอบด้วยตัวผู้กี่ตัวและตัวเมียกี่ตัว แล้วใช้สถานที่ใดในพื้นที่ลุ่มน้ำยมทำการสมสู่กันบ้าง? รวมทั้งยังมีต้นสักอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังเหลืออยู่ไม่มากนัก

 

"หัวสมองของพวกเอ็นจีโอต่อต้านการสร้างเขื่อนจำพวกนี้ หากจะตีความกันให้ชัดเจนและเข้าใจกันโดยง่ายขึ้น ก็อาจสรุปได้ว่า คนพวกนี้เห็นแก่ "นกยูง" และ "ต้นสัก" มากกว่าชีวิตของพ่อแม่พี่น้องที่เป็นประชาชนชาวไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมดังกล่าว

 

"พูดให้ง่ายขึ้นไปอีกก็คือ มองเห็นพวกสัตว์ประเภทนกยูง และต้นไม้อย่างต้นสัก สำคัญกว่าชีวิตผู้คนในชาติเดียวกัน

 

"ผมอยากจะถามไปถึงพ่อแม่ของคนพวกนี้จริงๆ ว่า หัวสมองมันทำด้วยสารเคมีประเภทใด มันจึงเห็น นกยูง และต้นสัก สำคัญกว่าชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวนี้

 

"โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ถือเป็นการแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม โดยกำหนดจะก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่ปิดกั้นแม่น้ำยมที่ อ.สอง จ.แพร่ เพื่อเอาไว้กักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากใช้สำหรับการเพาะปลูก และเพื่อการอุปโภคบริโภค การประปาแก่ราษฎรสองฝัุ่งแม่น้ำยม บริเวณเขต จ.แพร่ เขต จ.สุโขทัย และบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน

 

"โครงการนี้ ผมจำได้ว่า คณะรัฐมนตรี ได้เคยมีมติเอาไว้ในรัฐบาล พล.เอก เปรม เมื่อคราวประชุมวันที่ 2 ก.ย.2523 โดยมอบหมาย กฟผ.ดำเนินการศึกษาถึงความเหมาะสม โครงการผันน้ำอิง-ยม-น่าน โดยมีเป้าหมายผันน้ำจากแม่น้ำโขง น้ำอิง และน้ำกกมาเก็บกักไว้ในแม่น้ำยม แล้วนำไปใช้ในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้ง ต่อมาได้ขยายการศึกษาครอบคลุมถึงการผันน้ำจากน้ำกก  จึงเปลี่ยนชื่อโครงการผันน้ำกก อิง ยม น่าน ซึ่งการศึกษาระยะแรกได้พิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำอิง-ยม, กก-ยม และ เขื่อนแก่งเสือเต้น

 

"จากผลการศึกษาปรากฎว่า เขื่อนแก่งเสือเต้น จะให้ประโยชน์ด้านชลประทานเป็นหลัก กฟผ.จึงโอนงานให้กรมชลประทาน เป็นผู้พิจารณาดำเินินงานเมื่อเดือน ธ.ค.2528  หลังจากนั้น กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาทบทวนรายละเอียดรายงานด้านต่างๆ เช่น ค่าลงทุน การวิเคราะห์ เศรษฐกิจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2532 มีมติครม.ในหลักการให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทานได้มอบให้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาฯ เมื่อเดือนเม.ย.2533

 

"ต่อมามีมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2540 ให้รอผลการพิจารณาเพิ่มเติมของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ในประเ็ด็นสิ่งแวดล้อม และประเด็นปัญหาสมัชชาคนจน

 

"กรมชลประทานจึงไม่สามารถเสนอโครงการขออนุมัติ ดำเินินการก่อสร้างได้ กรมชลฯ มีผลการศึกษาฯ ผลสำรวจออกแบบมีการทบทวนความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมได้จัดทำแผนการแก้ไขและมาตรการลดผลกระทบครอบคลุมด้านต่างๆ ทุกด้าน รวมทั้งได้จัดทำมาตรการด้านความปลอดภัยเขื่อนไว้แล้ว กรมชลฯ จึงมีความพร้อมดำเนินการก่อสร้างได้ทันที เมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล

 

"เหตุการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงใน 5 จังหวัดภาคเหนือครั้งนี้  ผมขอเรียกร้องให้พวกเอ็นจีโอต่อต้านการสร้างเขื่อนเลิกมุดหัวแล้วรีบเร่งโผล่หัวออกมาช่วยเหลือชาวบ้าน อันเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวไว้ชั้นหนึ่งก่อน แล้วหลังจากนั้น ก็ให้ช่วยกันโผล่หัวออกมาแสดงความเห็นว่า จะแก้ปัญหากรณีภัยพิบัติอย่างนี้ให้ยั่งยืนได้ด้วยวิธีใด?  หากไม่เอาเขื่อนแก่งเสือเต้นกลับมาดำเนินการตามโครงการเดิมที่ได้เคยกำหนดเอาไว้

 

"ข้อเสนอของผมในคอลัมน์นี้ หากพวกเอ็นจีโอต่อต้านการสร้างเขื่อนยังวางเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน อีกต่อไป ก็สมควรแล้วครับที่ชาวไทย 5 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนและต้องมีชีวิตความเป็นอยู่บนพื้นที่ดังกล่าวนี้ ต้องร่วมกัน "สหบาทา" ไอ้คนจำพวกนี้ได้แล้วครับ"

 

ซึ่งต่อมา "ประชาไท" ได้สอบถามความคิดเห็นกับ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายวิชาการและนโยบาย มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นทำงานศึกษาวิจัยผลกระทบจากกรณีโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น มากว่า 10 ปี และในฐานะที่ถูกนายดุสิต ศิริวรรณ พาดพิงโดยตรง ด้วยข้อกล่าวหาและสำนวนภาษาที่ถือว่ารุนแรงอย่างยิ่ง สำหรับคนทำงานเอ็นจีโอ

 

และนี่คือความคิดเห็นของ "นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ" ที่ออกมาชี้แจง โดยออกมาย้ำว่า...มีเหตุผลบ้าง ถ้าคิดจะสร้างเขื่อน!!

 

จากบทความในหนังสือสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ วันที่ 2-8 มิถุนายน 2549 ลงบทความของนายดุสิต ศิริวรรณ ในคอลัมน์พายกรีดน้ำ โดยพาดหัวตัวหนาว่า "พวกต่อต้านการสร้างเขื่อนหดหัวอยู่ที่ไหน?" นั้น

 

กระผมในฐานะที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมาตั้งแต่ต้น และปัจจุบันก็ยังยืนยันอยู่ ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับบทความที่กล่าว และเข้าออกหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งแต่ปลายปี 2536 จนถึงปัจจุบัน นับรวมประมาณ 13 ปี ก่อนหน้านี้ มีส่วนร่วมในการเปิดเผยข้อมูลว่าที่นี่ยังมีนกยูงอยู่ และมีป่าสักทองที่อุดมสมบูรณ์ และได้ร่วมกับชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน มาร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ เลิกตัดไม้ และได้ช่วยส่วนราชการเป็นหูเป็นตา ในการป้องกันตัดไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมได้ด้วย

 

ปัจจุบัน ทำงานที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย และเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 2 ที่ผ่านมาได้เดินทางไปจังหวัดแพร่ และลุ่มน้ำยม เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง จึงกล้ายืนยันว่าข้อมูลที่ออกไปสู่สาธารณะ ไม่ใช่ข้อมูลนั่งเทียนเป็นของจริง กล้าพิสูจน์

 

เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะถึงจะสร้างเขื่อนแล้ว ปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ก็ไม่ได้รับการแก้ไข เราทำลายทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ไม่สามารถเรียกคืนได้ แต่น้ำก็ยังท่วม และความแห้งแล้งก็ยังอยู่ สิ่งเหล่านี้ต้องมองเป็นองค์รวม จะมองแยกส่วนไม่ได้

 

แต่ที่ผ่านมามองแยกส่วนคิดเป็นโครงการ ๆ แล้วไม่ได้รับการแก้ไข การคัดค้านไม่ได้รับเงินใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ที่ทำเพราะสำนึกอยู่เสมอว่า คนเราต้องมีเหตุผล จะแก้อะไรต้องแก้ที่เหตุ ปัจจุบันมีงานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำยม เรื่องการมองยุทธศาสตร์การจัดการลุ่มน้ำยม  ที่ไม่เพียงแต่คิดแต่โครงการแบบที่ผ่านมาก จนทำให้เกิดความขัดแย้งไม่สามารถหาทางออกได้ เพราะฝนตกน้ำท่วมทางภาคเหนือก็จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

 

กระผมขอประกาศว่า ไม่ได้หัวหดอยู่ที่ไหน ตอนน้ำท่วมก็ได้เดินทางไปดูพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำยม จ.พะเยา และจ.แพร่ พร้อมทั้งได้สังเกตสาเหตุน้ำท่วมในลุ่มน้ำนานด้วย ตั้งแต่วันที่ 27-28 พฤษภาคม และเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็ได้เดินทางไปดูว่าน้ำท่วมใน จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก สาเหตุมาจากอะไร จะได้เสนอในเชิงนโยบายต่อไป ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะจุดต่อไป ที่ผ่านมาก็ได้เสนอไปบ้างแล้ว

 

ตอนที่มีข่าวเรื่องน้ำท่วม คาดเดาไว้แล้วว่า จะต้องมีมนุษย์ยุคหินมาเสนอสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแน่ และปรากฏว่ามีจนได้ ความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่ความผิด ยอมรับกันได้ แต่บทความของผู้ใช้ชื่อว่าดุสิต ได้ด่าทอและเหยียดหยามบุคคลทั่วไปอย่างขาดสติ และยุยงให้ร่วมกันเหยียบคนอื่นอย่างนั้น กระผมคิดว่านี่เป็นบทความที่ขาดเนื้อหาสาระที่เป็นเหตุเป็นผล ผู้เขียนยังขาดวุฒิภาวะเป็นอย่างยิ่ง

 

ถ้าจะพูดถึงน้ำท่วมปีนี้ มีฝนตกหนักอยู่สองลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน ซึ่งลุ่มน้ำยม จุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อยู่ห่างจากต้นน้ำประมาณ 115 กิโลเมตร บริเวณเหนือปากงาว ขึ้นไปประมาณ 5 กิโลเมตร จุดที่ฝนตกเมื่อเดือนที่ผ่านมา บริเวณ อ.สูงเม่น และ อ.เด่นชัย จ.แพร่ บริเวณที่ฝนตกอยู่ทางตอนใต้ของจุดที่จะสร้างเขื่อน ประมาณ 100 กิโลเมตร

 

ส่วนด้านใต้ ลงมาฝนตกที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย น้ำก็จะไหลผ่าน อ.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสำโรง อ.เมือง อ.กงไกรลาศ ส่วนอำเภอข้างเคียง มี อ.คีรีมาศ ทีเกิดน้ำท่วมด้วย ซึ่งน้ำมาจาก อ.ด่านลานหอย (รอยต่อจ.ตาก) และผ่านเข้า จ.พิษณุโลก อ.บางระกำ ตามลำดับ ดังนั้นถ้ายกเหตุผลของน้ำท่วมในเหตุการณ์นี้ แล้วบอกว่าน่าจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่น่าจะมีเหตุผล เพราะน้ำในแม่น้ำจุดที่จะสร้างเขื่อนน้ำอยู่ในระดับที่ปกติ สูงบ้างเพียง 1 เมตร เป็นระดับที่เทียบเท่ากับฝนตกตามปกติเท่านั้น

 

ในส่วนลุ่มน้ำน่าน ฝนตกที่อำเภอท่าปลา ด้านทิศตะวันตกของเขื่อนสิริกิตติ์ น้ำไหลผ่านหมู่บ้านก่อนไหลลงเขื่อนใหญ่ น้ำได้ท่วมหมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว ค่อยลงเขื่อน พิสูจน์ได้ว่าเขื่อนใหญ่ไม่สามารถป้องกันหมู่บ้านต้นน้ำได้ และอำเภอที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้กัน คืออำเภอลับแล น้ำจะต้องไหลผ่านอำเภอเมือง แต่มีสิ่งกีดขวาง ทั้งถนน สะพาน และการก่อสร้างหมู่บ้าน ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นี่คือข้อมูลที่เกิดน้ำท่วมในสองลุ่มน้ำนี้

 

ความก้าวหน้าของลุ่มน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาลุ่มน้ำยม เป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น พบว่ามีแผนที่จะป้องกันน้ำท่วม จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก หลายแผนไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคลองยมเก่า เพื่อระบายน้ำไม่ต้องผ่านเมืองจังหวัดสุโขทัย การขุดคลองระบายน้ำจากฝายสะพานจันทร์ ไปลงแม่น้ำน่าน การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง บริเวณเทศบาลสุโขทัย ยาวประมาณ 2,800 เมตร สูง 1.80 เมตร สามารถรับสถานการณ์น้ำท่วมปี 2548 และปีนี้ไว้ได้ มีการเสนอให้ขุดลอกแม่น้ำยมต่อจากอำเภอกงไกรลาสไปถึงอำเภอบางระกำ เพื่อให้น้ำไหลสะดวก ซึ่งเหลือระยะทางไม่ถึง 10 กิโลเมตร เพราะงบประมาณหมด ก็ได้งบประมาณเมื่อคราวประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2548 ไปแล้ว

 

ส่วน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กรมผังเมืองและการโยธา ได้ศึกษาเพื่อป้องกันน้ำท่วม ไว้แล้วงบประมาณ 100 ล้านบาท เป็นประเภทถนนรอบนอก ที่ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ ก็รอที่จะเสนองบประมาณต่อไป นี่คือแผนป้องกันน้ำท่วมในเขตพื้นที่น้ำท่วม ที่สามารถดำเนินการได้เลย โดยที่ไม่ต้องมายกเมฆว่าน้ำท่วม ฝนแล้ง ก็ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเท่านั้น

 

เหตุผลของการสร้างเขื่อน ต้องมองที่สาเหตุที่แท้จริง ว่ามาจากเหตุผลใด จุดที่จะแก้เหตุนั้นมีอะไรบ้าง ต้องมีเหตุมีผล ทั้งหมดนี้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน และภาษีของประชาชนทุกคน การลงทุนต้องคุ้มและสามารถแก้ไขปัญหานั้นให้ได้ตามที่กล่าวอ้าง ส่วนข้องมูลที่มีการศึกษามานั้นเป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น และขอแนะนำให้ผู้เขียนบทความก่อนหน้านี้ กลับไปอ่านงานวิจัย และ Update ข้อมูลเสียบ้างถ้าจะเป็นนักเขียนประจำ

 

ส่วนงานวิจัยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และมีป่าสักหรือทรัพยากรอื่นๆ หรือไม่ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาก มีการเปิดงานวิจัยจาวบ้าน เรื่อง "ป่าสักทองและชีวิตชุมชนสะเอียบ" ที่ได้ศึกษาถึงสิ่งที่นักวิจัยชาวบ้านเขาได้พบ ถ้าอยากได้ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ จะจัดส่งให้ฟรีสำหรับผู้เขียน ในขณะที่คิดค่าพิมพ์ไว้ที่ 150 บาท

 

การใช้ถ้อยคำที่รุนแรง อาจจะเหมาะสำหรับคนบางคน ที่ขาดสติและไร้เหตุผล แต่บทความอันนี้ไม่ได้เจตนาโต้บทความของคุณดุสิต แต่ต้องการที่จะให้ทราบข้อเท็จจริงคืออะไร ไม่ใช่มีปากกาเขียนอะไรก็ได้ ด่าใครก็ได้ โดยที่ไม่เคยไปพบ ไปเห็นมาก่อนเลย เหลืออายุก็อีกไม่มากก็น่าจะปรับตัว อายหลาน ๆ เขาบ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท