Skip to main content
sharethis

โดย ฆัสรา ขมะวรรณ และ ยุกติ มุกดาวิจิตร


 


 


ยุกติ: ขณะนี้มีกรณีกล่าวหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่สังคมน่าจะจับตามองอยู่สองกรณี คือหนังสือพิมพ์ 'คมชัดลึก' และวารสาร 'ฟ้าเดียวกัน' เธอว่าสองกรณีนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร


 


ฆัสรา: มีทั้งเหมือนและต่าง ที่เห็นได้ชัดว่าเหมือนกันคือ สองกรณีนี้เป็นตัวอย่างของการคุกคามเสรีภาพของสื่อโดยรัฐ แต่ข้อที่ต่างกันมีมากมาย เช่น คมชัดลึกเป็นสื่อที่มีคนรู้จักกว้างขวาง อยู่ในธุรกิจการพิมพ์ขนาดใหญ่ แต่ฟ้าเดียวกันเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ พิมพ์แต่หนังสือวิชาการ และทุ่มเททำวารสารวิชาการหนักๆหลายฉบับ เช่นการวิพากษ์ระบอบทักษิณก่อนหน้าหลายๆคนในขณะนี้เป็นปี


 


ต่อสถานการณ์ในขณะนี้ สองสื่อยังแสดงจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน เพราะอย่างน้อยฟ้าเดียวกันก็ประกาศตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่ยอมตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับคมชัดลึก


 


ยุกติ: และยังเห็นได้ชัดว่า คมชัดลึกถูกกล่าวหาด้วยเหตุที่ตีพิมพ์ข้อเขียนถึงคำพูดเปรียบเปรยลอยๆของนักหนังสือพิมพ์ที่กลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้หนึ่ง ในขณะที่ฟ้าเดียวกันเป็นเวทีนำเสนอข้อเท็จจริงด้านต่างๆจากปาก(กา)ของนักวิชาการหลายๆท่านเอง


 


ฆัสรา: นั่นสิ ต่างกันขนาดนี้ ทั้งในแง่ประเภทของสื่อ การนำเสนอเกี่ยวกับสถาบันฯในกรณีนี้ และปฏิกิริยาที่สื่อเองมีต่อการถูกกล่าวหา จึงไม่น่าจะทำให้หนังสือสองเล่มนี้มาอยู่ในถังใบเดียวกันได้


 


ยุกติ: ที่จริงประเด็นไม่ได้มีแค่การถูกรัฐคุกคามเสรีภาพเท่านั้น สองกรณีนี้ยังชี้ให้เห็นวิธีที่สังคมไทย 'จัดการความจริง' เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเบื้องต้น เราพูดถึงสถาบันฯกันอย่างไรบ้าง


 


ฆัสรา: ร้อยแปดพันเก้า ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง พูดถึงทั้งด้วยความชื่นชมและสงสัย ยอมรับกันหรือไม่ว่าคนไทยคุยเรื่องสถาบันฯอย่างเป็นปกติประจำวัน เราคุยเรื่องสถาบันฯกับคนที่เราไม่รู้จักเป็นส่วนตัว เราคุยเรื่องนี้ในที่ทำงาน บนโต๊ะอาหาร หลังจากคุยเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว การเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ หมดทุกเรื่องแล้ว เรามักคุยกันเรื่องสถาบันฯ


 


ฉันยังคิดเล่นๆว่า บทสนทนาเรื่องสถาบันฯเป็นเครื่องชี้วัดความเป็นไทยของเรา หรือกระทั่งแสดงให้เห็นการเข้าใกล้เอกลักษณ์ไทยของคนต่างชาติบางคนที่สามารถร่วมสนทนาเรื่องนี้กับคนไทยได้ พอๆกับการกินพริก กะปิ น้ำปลาเลยทีเดียว ในแง่นี้ เราจะเห็นได้ว่าสถาบันฯอยู่ใกล้ชิดกับเรามาก และสถาบันฯเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยอย่างแท้จริง


 


ยุกติ: แต่ดูเหมือนบทสนทนาในชีวิตประจำวันเหล่านั้นอยู่ในลักษณะของการกล่าวถึงแบบ 'ซุบซิบ' เสียมาก หรือว่าวิธีหนึ่งที่คนในสังคมไทยจัดการกับความจริงเรื่องสถาบันฯคือด้วยการ 'gossip'  ที่จริงแม้แต่การพูดว่า "คนไทยซุบซิบสถาบันฯ" ในที่สาธารณะอย่างในหนังสือพิมพ์จะหมิ่นเหม่หรือไม่ ถ้าใช่ก็แสดงว่าเรามักเลือกจัดการเรื่องราวเรื่องสถาบันฯแบบหลบๆ ซ่อนๆ จริงๆ


 


ฆัสรา: พูดอย่างนี้ทำให้นึกถึงหลายๆเรื่อง ที่ทั้งรู้และทั้งซุ่มซ่อนทำกันเป็นอย่างเป็นปกติในสังคมไทย แต่พูดในที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ อย่างเรื่องเซ็กส์ และเรื่องการทำแท้ง


 


ยุกติ: การพูดถึงเรื่องบางเรื่องในลักษณะนี้สะท้อนว่า สังคมไทยเป็น 'สังคมซุบซิบ' ลักษณะหนึ่งของสังคมซุบซิบคือ เป็นสังคมที่ไม่สามารถเผชิญหน้ากับความจริงอย่างตรงไปตรงมาได้ เมื่อมีความขัดแย้ง แตกต่างทางความคิด ก็ไม่อยากเผชิญหน้าตรงๆ ต้องอาศัยการเล่าลับหลัง ซุบซิบ หรืออาจถึงขั้นนินทา เป็นเครื่องมือส่งข่าวสาร ลงทัณฑ์ทางสังคม ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางอ้อม ตลอดจนวิจารณ์สังคม


 


ฆัสรา: แต่นี่เรากำลังพูดถึงกรณีการฟ้องสื่อ 'มวลชน' ซึ่งก็น่าจะหมายความว่า สังคมไทยไม่ได้จัดการความจริงด้วยการซุบซิบเท่านั้น ขณะนี้เราเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล สังคมที่นำเสนอข้อเท็จจริงได้ใช่ไหม อย่างน้อยก็มีรัฐธรรมนูญรองรับหลักการที่ว่า "เสรีภาพของสื่อเป็นหลักประกันของประชาธิปไตย"


 


ยุกติ: แต่กลับมาที่สื่อมวลชนอย่าง "คมชัดลึก" และ "ฟ้าเดียวกัน" แล้วเริ่มไม่แน่ใจว่า เสรีภาพของสื่อที่แม้ว่าจะได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ จะนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาได้แค่ไหน เมื่อเร็วๆ นี้เราก็เพิ่งเห็นกันไม่ใช่หรือ ที่เรื่องบางเรื่องซึ่งน่าจะเป็น 'ข่าวสาร' 'ข้อเท็จจริง' ที่เป็นประโยชน์แก่การรับรู้ของมวลชน เช่น เครือข่ายทางธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลับต้องระเห็จไปแพร่หลายอยู่ในสื่ออินเทอร์เน็ตที่ดูเหมือนเปิดกว้าง แต่จริงๆแล้วยังจำกัดการเข้าถึง จึงมีลักษณะไม่ต่างกับการเอาข้อเท็จจริงมา gossip


 


หรือหลายครั้งสื่อมวลชนไทยเราเองก็นำเสนอ 'ความจริง' ได้เพียงในลักษณะของนิยายหรือแม้แต่นิทาน ไม่สามารถพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมาได้ ต้องใช้สัญลักษณ์ ตัวย่อ ไม่ก็วาดเป็นการ์ตูน


 


ฆัสรา : ถ้าอย่างนั้นก็น่าสงสัยว่า ตกลงการมีสื่อมวลชนไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรให้กับเสรีภาพในการพูด นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเลยว่า สื่อมวลชนจะเป็นหลักประกันให้กับความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะประเด็นที่สำคัญกว่าคือ สังคมไทยยอมให้เนื้อหาลักษณะใด เกี่ยวกับใคร อยู่ในปริมณฑลไหน


 


ยุกติ: พูดได้ไหมว่า เราจัดการความจริงเกี่ยวกับบุคคลคนหนึ่งหรือสถาบันฯหนึ่งๆอย่างน้อย 3 วิธี หนึ่งเลือกเก็บบางเรื่องไว้ ไม่พูดถึงต่อหน้า และกลายเป็นวัตถุดิบของการซุบซิบนินทา สองเลือกเอาแต่เรื่องดีๆมาประดิษฐ์ประดอยเป็นนิยาย หรืออย่างดีก็เรื่องจริงกึ่งนิยายที่ใส่คุณค่า สามเปิดเผยออกมาอย่างตรงไปตรงมา เป็นข่าว เป็นงานวิชาการ ถึงวันนี้ สังคมไทยจะจัดการความจริงเรื่องสถาบันฯอย่างไร


 


ฆัสรา: บางทีสังคมไทยคงยังอยากพูดถึงสถาบันฯ เฉพาะในแง่อุดมคติ


 


ยุกติ: หรือเรายังอยากมีเรื่องนี้เอาไว้พูดถึงกันได้แค่เพียงระดับการซุบซิบ


 


ฆัสรา: แต่ดูเหมือนปัจจุบันสังคมไทยเริ่มตระหนักว่า เราควรพูดถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันฯให้เป็นที่เข้าใจกันมากขึ้น ดังที่มีการแสดงความเห็นเรื่องพระราชอำนาจและคำถามถึงความเหมาะสมที่จะใช้มาตรา 7 ในสถานการณ์ปัจจุบัน จนกลายเป็นประเด็นทางสังคมอย่างเปิดเผย นี่ก็น่าจะยืนยันได้ว่า สังคมไทยพร้อมและต้องการเรียนรู้เรื่องบทบาทของสถาบันฯมากยิ่งขึ้นแล้ว


 


ยุกติ: เรามาช่วยกันรณรงค์ให้สถาบันที่เรารักและเทอดทูนอยู่ในโลกแห่งความจริงมากกว่านี้ไม่ดีกว่าหรือ


 


………………………….


บนสนทนานี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 12 เมษายน 2549 ได้รับการส่งต่อเพื่อเผยแพร่ซ้ำโดยผู้เขียน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net