Skip to main content
sharethis

โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี


 


 


อ่านแถลงการณ์ฉบับสุดท้ายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยความพะอืดพะอมที่เห็นพวกเขากำลังเรียกร้องในสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแน่แท้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างน่าละอายที่สุดเท่าที่คนที่อ้างว่าเป็น "ขบวนการประชาชน" จะเคยทำมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


ภายใต้การสนับสนุนของนักกฎหมายจำนวนหนึ่ง พวกเขาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าเรื่องขอให้ (ใครก็ไม่ทราบ) ใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 "เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปการเมือง โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (คนนอก) ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินการปฏิรูปสังคมและการเมือง ไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ


"คณะรัฐบาลชุดนี้มีหน้าที่คล้ายกับรัฐบาลชั่วคราวสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 รัฐบาลชั่วคราวเฉพาะกิจ ต้องยุติการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจซึ่งมีผลกระทบระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายสำคัญ 3 ประการ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเจรจาเอฟทีเอ และเมกะโปรเจกต์" (ถ้อยคำจากแถลงการณ์ ข้อ 2)


 


การเรียกร้องแบบนี้เป็นคำเรียกร้องของนักเรียนกฎหมายระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่ชอบอ่านแต่ "ตัวบท"กฎหมายโดยไม่ได้ดู "บริบท" ของสังคมการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันเลย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาคงไม่ย้ำคิดย้ำทำกับข้อเสนอที่แสนจะห่างเหินจากความเป็นจริงขนาดนี้


 


อันว่ามาตรา 7 นั้นหากเราพิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า มันเป็นสมบัติของเผด็จการสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่เขียนเผื่อเอาไว้สำหรับการตีความกฎหมายโดยอาศัยอำนาจนอกระบบซึ่งอาจจะเรียกว่าประเพณีการปกครองหรืออะไรก็ตามแต่ ทว่ามันหมายถึงอะไรก็ได้ที่กฎหมายไม่ได้เขียนระบุเอาไว้


 


ถึงแม้ว่าจะเป็นมรดกของพลเอกสุจินดา คราประยูรและคณะ แต่เมื่อมันบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นผู้ร่างก็น่าสนใจว่ามันจะใช้ได้อย่างไร แต่เชื่อว่าไม่ใช่แบบที่คณะพันธมิตรอยากจะให้เป็นแน่


 


สิ่งที่น่าสนใจประการแรก มาตรา 7 อยู่ในบททั่วไปของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเสมือนอารัมภบทว่าด้วยหลักการภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ และใช้สำหรับเอื้อประโยชน์ให้การตีความมาตราอื่นๆเป็นไปโดยชอบ


 


ประการต่อมาองค์ประกอบของมาตรานี้มี 2 ส่วนใหญ่คือ "การไม่มีบทบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ" และ "การวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"


 


สิ่งที่จะต้องวินิจฉัยคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติว่าด้วยการสรรหานายกรัฐมนตรีหรือไม่ คำตอบคือมีอยู่มาตรา 201 ซึ่งบัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและโดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


 


แต่เมื่อปรากฎว่า พันธมิตรประชาชนฯ ไม่ต้องการให้ใช้บทบัญญัติในมาตรานี้ด้วยเห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายนั้นได้มาโดยมิชอบ (ใจของพวกเขา) จึงได้พากันพยายามเคลื่อนไหวเพื่อทำให้การเลือกตั้งดูเสมือนไม่ชอบด้วยกฎหมาย


 


เอาเถิด หากการณ์ปรากฏในเวลาต่อมาว่า พันธมิตรฯประสบความสำเร็จในการทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนเป็นโมฆะ สิ่งที่ประเทศนี้ควรจะต้องทำคือ จัดการเลือกตั้งใหม่ให้มีความชอบด้วยกฎหมาย (แม้อาจจะไม่ชอบใจใครก็ตาม) ให้จงได้ ไม่ใช่บังคับให้เกิดการ "เว้นวรรค" ของสภาผู้แทนราษฎรให้จงได้


 


เพราะหากไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็จะทำให้การใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 ดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบที่สอง คือประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะคนที่ตีความกฎหมายโดยดูบริบท ไม่ใช่อ่านแต่ตัวบทย่อมทราบดีว่า คำว่า ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นมีที่มายาวนานกว่า 70 ปีแล้วและมีส่วนประกอบ 2 ส่วนสำคัญคือ พระมหากษัตริย์ และ ประชาธิปไตย


 


ตามประเพณีนั้นเรามีพระมหากษัตริย์แน่นอน และมีมานานแล้วไม่เป็นที่สงสัย ส่วนที่สองคือประเพณีประชาธิปไตยของไทยนั้นคือประเพณีการมี สภาผู้แทนราษฎร (ถ้าไม่มีอันนี้เรานิยมเรียกการปกครองนั้นๆว่า เผด็จการ) เป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยร่วมกับวุฒิสภา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจเช่นว่านั้น ผ่านทางรัฐสภา


 


กล่าวโดยย่นย่อ หากจะใช้มาตรา 7 ให้ได้โดยสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจผ่านสภา มีประธานสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประเพณีแต่เก่าก่อนก็ใช้แบบนี้มาโดยตลอด แม้หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ใช้แบบนี้ ถ้าจะจำกันได้ เมื่อพลเอกสุจินดา ลาออก นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรทูลเกล้าเสนอนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีแทน เวลานั้นมีประเพณีที่สืบทอดกันมาคือ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้


 


พิเคราะห์เช่นนี้แล้วจะเห็นว่า สิ่งที่พันธมิตรฯเรียกร้องอยู่ในเวลานี้ คือ การขอไม่ให้ใช้มาตราใดๆ เลยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่างหาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ฉีกรัฐธรรมนูญเสีย แล้วใช้อำนาจพระมหากษัตริย์ล้วนๆ โดยไม่สนใจใยดีว่า เป็นไปตามประเพณีแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ที่ถูกควรเรียกว่า "เว้นวรรค" ประชาธิปไตย เพื่อ "สมบูรณาญาสิทธิราชแบบเฉพาะกิจ" คงเหมาะสมกว่า


 


ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ สิ่งที่พันธมิตรกำลังเรียกร้องคือ ขอให้พระมหากษัตริย์ทรงกระทำในสิ่งที่ขัดกับประเพณี ขอให้พระองค์พาประเทศชาติถอยหลังกลับไปไกลกว่าเวลาก่อนการปกครองที่ดีงามในรัชกาลนี้เสียอีก


 


นอกจากนี้แถลงการณ์ในข้อ 1 และ 3 ของคณะพันธมิตรฯ ก็ขัดแย้งกันเองอย่างน่าประหลาดใจว่าร่างขึ้นโดยคณะเดียวกันหรือเปล่า เพราะข้อแรกนั้นบอกว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนไม่มีความชอบธรรมและขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ข้อ 3 กลับเรียกร้องให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมนี้เป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 313 คนร่างแถลงการณ์เมาแชมเปญกันขนาดหนักเลยหรือ ตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่ ประชาชนที่รับฟังหรือไปร่วมฉลองชัยที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 7 เมษายน ควรจะยึดถืออะไรดี ถ้าหากพวกเขาสติดีกันคงต้องหันหลังให้แถลงการณ์แห่งความสับสนนี้เสียแล้ว


 


เอาเถอะปัดความผิดพลาดไปให้แชมเปญแห่งชัยชนะ แล้วพิจารณากันต่อว่า ถ้าหากพวกเขาสามารถทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ลงถังขยะได้สมใจแล้ว ที่น่าคิดมากกว่าเดิมคือ ในแถลงการณ์ข้อ 3 ว่าด้วย คณะกรรมการอิสระที่ว่าด้วยการปฏิรูปการเมือง เพื่อไม่แน่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่


 


ที่น่าติดตามคือ ข้อเสนอให้มีราษฎรอาวุโส ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นประธาน คำถามคือ จะได้มาซึ่งราษฎรซึ่งมีคุณสมบัติเช่นว่านั้นอย่างไร แล้วทำไมต้องเป็นราษฎรอาวุโส ราษฎรเต็มขั้นไม่ได้หรือ และองค์ประกอบของคณะกรรมการเช่นว่านั้น มีที่มาอย่างไร องค์กรสาขาอาชีพต่างๆจะมีใครบ้าง กี่อาชีพ สมาคมช่างตัดผม และนักดนตรีตาบอดด้วยหรือเปล่า และ ตัวแทนประชาชน "ที่มีจิตสำนึก" คือใคร จะได้มาอย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีจิตสำนึก และ จิตสำนึกที่ว่านั้นคืออะไร ชะรอยว่าแชมเปญฉลองชัยคงผสมยาบ้าเข้าไปด้วยเป็นแน่แท้จึงได้ออกแถลงการณ์ที่ประหลาดได้ขนาดนี้


 


ปัญหาในเชิงความชอบธรรมทางการเมืองคือ คณะที่ว่านั้นอ้างอิงอำนาจในการดำเนินการปฎิรูปทางการเมืองจากอะไร จากการคัดสรรของประชาชนแบบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อน หรือ จากสภาผู้แทนราษฎร (อ้ออันนี้คงไม่ได้ เพราะพันธมิตรไม่ยอมรับสภาลูกน้องทักษิณถ้าเป็นจากสภาท่าพระอาทิตย์คงจะเหมาะสมกว่า) หรือมาจากการลงคะแนนที่สนามหลวง สนามม้า หรือ สนามกีฬา หรือ บ่อนเตาปูน


 


พันธมิตรประชาชน ซึ่งเวลานี้เปลี่ยนชื่อเป็นสมัชชาประชาชน ก็ไม่ได้แสดงเหตุผลว่าเปลี่ยนชื่อทำไม หรือ อาจจะอยากมีชะตากรรมเดียวกันกับสมัชชาคนจนที่ในเวลาต่อมาสมาชิกส่วนหนึ่งเปลี่ยนโฉมเป็นคาราวานคนจนเคลื่อนไหวทิ่มแทงพวกเดียวกันเอง


 


ความจริงชื่อเก่าก็มีความหมายดี เพราะเป็นพันธมิตร (Alliance) ของความหลากหลายทั้งซ้ายและขวาเอาความเห็นต่างๆ มาหล่อหลอมกันแล้วร่วมกันเคลื่อนไหว แต่สมัชชาเป็นความคิดแบบรวมศูนย์ซึ่งบีบบังคับให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าแม้จะมีความเห็นแตกต่างกันมามีความเห็นแบบเดียวกัน หรือก็อาจจะจริง เพราะเวลานี้ก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ที่พวกขวาจัดนิยมเจ้าครอบงำการเคลื่อนไหว จนพาให้การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นการชุมนุมเพื่อเฉลิมพระเกียรติครั้งแล้วครั้งเล่า


 


ประชาธิปไตยในความเป็นจริงไม่ได้หมายถึงอะไรที่เป็นนามธรรมสวยงามที่จะอาศัยมือใครก็ได้มาติดตั้งให้ง่ายๆ แต่มันคือ กระบวนการที่ประชาชนพากันตั้งขึ้นเองตามสภาพแวดล้อมทางการเมืองของที่นั้นๆ ในโลกนี้มีประชาธิปไตยหลายแบบที่ดัดแปลงให้เข้ากับสภาพการณ์และจารีตประเพณีของท้องถิ่น ไม่มีประชาธิปไตยแบบสำเร็จรูป (instant democracy) ที่คณะบุคคลหมู่ใดหมู่หนึ่ง ไม่ว่ากลุ่มทักษิณ หรือ กลุ่มต่อต้านทักษิณ เป็นคนจัดทำขึ้นแล้วเสนอให้ประชาชนลงประชามติ ถ้าเป็นเช่นนั้น อีกไม่นานต้องออกมาเดินถนนกันอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเหนื่อยเปล่า


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net