รัฐสังคมประชาธิปไตยและระบบสวัสดิการสังคมกับการปฏิรูปทางการเมืองไทยครั้งที่ 2

 

ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ผศ. ดร. วัฒนา สุกัณศีล

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

 


 

 

 

วันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2006 14:00น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

 "ภาคใต้เป็นจุดเปลี่ยนแปลงหรือเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของระบบทักษิณ ซึ่งถ้าจะย้อนรอยการแก้ปัญหาทั้งหมด เราน่าจะทำให้ภาคใต้เป็นต้นแบบการปฏิรูปการเมืองหรือเป็นภาพสะท้อนการปฏิรูปการเมืองทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาการปฏิรูปการเมืองไทยในในยุคใหม่"

 

บททดลองนำเสนอซึ่งเรียบเรียงขึ้นโดยนักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี เพื่อต่อยอดความคิดในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองของภาคประชาชน โดยใช้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นต้นแบบ จากเวทีระดมปัญญาจากนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ผู้นำชาวบ้าน และนักศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งศูนย์ข่าวอิศราเชื้อเชิญให้มาร่วมแลกเปลี่ยนเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

 

ศูนย์ข่าวอิศรา ยินดีเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนทัศนะที่หลากแง่มุม เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางปัญญา ถกเถียงแลกเปลี่ยน และนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองไทยครั้งที่ 3 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

 

0 0 0

 

ประชาธิปไตยและระบบรัฐธรรมนูญของไทยมาถึงจุดตีบตันเพราะมีปัญหาอุปสรรคอยู่สองแบบคือรูปแบบรัฐและรูปแบบประชาธิปไตย ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นในการต่อสู้กับระบบทักษิณในปัจจุบัน ในที่นี้ลักษณะพิเศษของระบบทักษิณก็คือ การที่พรรคการเมืองที่มีฐานจากทุนผูกขาดสามารถซื้อเสียงจนกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากที่สุดในรัฐสภาได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยการซื้อสามชั้นคือ

 

กว้านซื้อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนเก่ามาเป็นสมาชิกพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อซื้อ "ฐานเสียง" ในการเลือกตั้งครั้งแรกของไทยรักไทย จากนั้นก็ซื้อคะแนนนิยมด้วยนโยบายประชานิยมเพื่อสร้างความนิยมกับประชาชนในระดับรากหญ้าด้วยชุดของนโยบาย เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้านและชุมชน และนโยบายผู้ว่าซีอีโอเพื่อจัดการกับระบบราชการและระบบบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นตามนโยบายรวมศูนย์การบริหารของระบบทักษิณ ต่อมาก็ซื้อระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญด้วยเงิน ผลประโยชน์และอิทธิพลในระดับสูงผ่านกลไกผลประโยชน์และระบบอุปถัมภ์แบบใหม่

 

การซื้อสามชั้นในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมานำมาซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนอย่างมากมายต่อกลุ่มทุนผูกขาดและนักการเมืองที่อยู่ในศูนย์อำนาจระบบการเมืองและการบริหาร ที่สำคัญก็คือระบบที่ถูกสร้างใหม่เป็นระบบที่สามารถอ้างได้ว่า "ถูกกฎหมายและถูกต้องตามกติการัฐธรรมนูญ"

 

แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นฐานของระบบทักษิณ ได้รับผลประโยชน์จากการขยายทุนและสินทรัพย์ในระบบเศรษฐกิจด้วยอำนาจอภิสิทธิ์ทางการเมือง และได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลในตลาดการเงินและตลาดทุน ผลประโยชน์ที่ได้มานี้สูงมากจนกล่าวอ้างได้ว่าเป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์และประชาธิปไตยทุนนิยม

 

ผลประโยชน์ที่กลุ่มทุนได้มานี้มีมูลค่ามหาศาล นับเป็นแสนล้านบาทโดยที่ไม่ได้รับการควบคุมและตรวจสอบจากระบบการเมืองและกระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่ จนถือได้ว่าคอรัปชั่นอย่างมหาศาลโดยถูกกฎหมาย แต่เป็นกลุ่มผู้นำที่ขาดไร้ซึ่งจริยธรรมและคุณธรรมทางการเมืองอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กระนั้นก็ตาม

 

ประเด็นโต้แย้งที่สำคัญก็คือ แม้จะได้รับผลประโยชน์มากและไร้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมอย่างโจ่งแจ้งจนกระทั่งถูกต่อต้านจากชนชั้นกลางและชนชั้นสูงจำนวนมาก แต่ระบบทักษิณได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในระดับรากหญ้าจำนวนไม่น้อย และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนบางส่วนที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากผลพวงของนโยบายดังกล่าว

 

โดยเฉพาะจากแนวทางประชานิยมนี้ ความสำเร็จของนโยบายทักษิณเป็นข้ออ้างที่ยังต้องมีการประเมินค่าความถูกต้องน่าเชื่อถืออีกหลายประการ เช่นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายประชาสังคมเช่น 30บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้านและชุมชน ธนาคารคนจน โดย เฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด

 

แต่จุดเด่นของระบบนโยบายของทักษิณนั้นก็คือ การกระจายส่วนเกินและฐานเดิมของทรัพยากรการพัฒนาเศรษฐกิจ (distributive policies) ไปให้กลุ่มคนบางกลุ่มที่เป็นฐานเสียงของตนเอง เพื่อกระตุ้นการบริโภคและนำกลับมาเป็นรายได้ของกลุ่มทุนอีกทีหนึ่งจากการจับจ่ายใช้สอยบริโภคหรือเพิ่มดีมานด์

 

ที่น่าสนใจก็คือ ระบบนี้ไม่ไปกระทบระบบการแจกแจงทรัพยากรเศรษฐกิจสังคมบนฐานเดิม เช่นระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินและการหมุนเปลี่ยนมูลค่าทรัพย์สินในตลาดทุนและตลาดการเงิน รวมทั้งระบบการโอนถ่ายทรัพย์สิน การโอนมรดกในกลุ่มชนชั้นสูง ซึ่งตัวของระบบทักษิณเองก็ได้ประโยชน์อยู่ด้วยการไม่แตะต้องสิ่งเหล่านี้

 

แต่การจัดการกับฐานของระบบทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ของการปฏิรูปทางนโยบายของประเทศที่เรียกกันว่า การแจกแจงระบบทรัพยากรเศรษฐกิจใหม่ (redistributive policies) ซึ่งจะต้องใช้นโยบายภาษีก้าวหน้า ภาษีในตลาดทุนและตลาดทุน (capital gains tax) และการขยายการคุ้มครองจัดการเรื่องประกันสังคม (social security system) ประกันการว่างงาน ประกันการศึกษา ประกันสุขภาพอย่างทั่วด้าน

 

ทั้งหมดนี้จะเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการสังคมในแบบใหม่ที่กระจายผลประโยชน์ไปสู่คนกลุ่มใหญ่ในวงกว้างซึ่งมีความเป็นธรรมและยั่งยืน แต่จะต้องคว้านลงลึกไปในฐานระบบการจัดการกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินและทุน รวมทั้งการจัดการในระบบภาษีที่เข้มงวดก้าวหน้าเพื่อนำฐานทรัพยากรเหล่านี้มาใช้กับระบบสวัสดิการสังคมแบบใหม่ นี่คือปัญหาทางนโยบายของระบบทักษิณที่คนมองไม่เห็น

 

ความเติบโตและความมั่นคงของระบบทักษิณไม่ได้ถูกท้าทายอย่างเป็นระบบเลยแม้แต่จากพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการจำนวนมาก แม้จะถูกท้วงติงจากนักวิชาการบางคนแต่ก็ถูกตอบโต้จากทักษิณด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ตราบจนกระทั่งวันที่ 4 มกราคม 2547 การเปลี่ยแปลงสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้เปิดรอยแผล เผยจุดอ่อนหรือรอยแยก (fault lines) ในนโยบายของทักษิณได้อย่างชัดเจนขึ้น

 

ผลลบที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ สองปีผ่านไปตั้งแต่มกราคม 2547 จนถึงธันวาคม 2548 มีคนตายจากเหตุการณ์ในภาคใต้ อันเป็นผลจากการก่อเหตุที่ทำให้เกิดการตายและบาดเจ็บของผู้คนเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่ามีคนตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบสองปีระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,940 คน ในจำนวนนี้มีผู้ตาย 1,175 คน และบาดเจ็บ 1,765 คน

 

ถ้านับเป็นความสูญเสียทางการเมือง ปรากฏการณ์ภาคใต้ในขณะนี้อาจจะนับ เป็นความสูญเสียในจำนวนและขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ของประเทศไทยในระยะเวลาอันสั้นประมาณ 2 ปีเท่านั้น

 

ถ้าเฉลี่ยเป็นความสูญเสียเป็นรายเดือน ในแต่ละเดือนจะมีคนตายและบาดเจ็บโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 125 คน หรือวันละประมาณ 4 คน ถ้าเราจะประมาณการจากครอบครัวผู้สูญเสียหรือบาดเจ็บ หากคิดเป็นครอบครัวขนาดเล็กและกลาง ความตายและบาดเจ็บจะมีผลกระทบเป็นภาระต่อคนที่เหลืออยู่ในครอบครัวประมาณ 11,928 คนหรืออาจจะประมาณไม่ต่ำกว่า 20,000 คน

 

ถ้านับรวมผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ภาคใต้กับผู้เสียชีวิตจากนโยบายสงครามกับยาเสพติดในปี 2545-2546 ซึ่งมีการประมาณว่ามีคนตายประมาณ 2.500 คน การดำเนินนโยบายระบบทักษิณทำให้ประชาชนสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตายไม่ต่ำกว่า 5.000 คน นับเป็นรัฐบาลสยามรัฐบาลเดียวในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่การดำเนินนโยบายก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้คนมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

จุดที่ทำให้ความไม่สงบในภาคใต้สะท้อนให้เห็นด้านลบของระบบทักษิณอย่างมากก็คือทักษิณมีนโยบายที่แฝงด้วยอคติทางเชื้อชาติและศาสนาอย่างรุนแรง เน้นแต่เรื่องในทางผล ประโยชน์เศรษฐกิจและการค้าในกลุ่มทุนผูกขาดของตน ละเลยองค์ประกอบด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางการเมืองและขาดความอ่อนไหวต่อประเด็นในด้านความมั่นคงของชาติ รวมทั้งนโยบายมีจุดอ่อนในเรื่องเน้นการรวมศูนย์อำนาจแทนที่จะเป็นการกระจายอำนาจและสร้างศักยภาพของท้องถิ่นในกระบวนการทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

จากการที่ระบบทักษิณพบจุดตันของตนเองในปัญหาภาคใต้ ปัญหาและจุดอ่อนในด้านอื่นๆของระบบทักษิณก็เผยออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้น รัฐบาลทักษิณเปลี่ยนตัวผู้บริหารนโยบายในจังหวัดภาคใต้หลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ คนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า รัฐขาดความจริงใจในการแก้ปัญหา

 

ข้อสรุปที่น่าสนใจจากรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)ก็คือ ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างอันได้แก่การพัฒนาสังคม พัฒนาการศึกษา และสวัสดิการสังคมของพี่น้องมุสลิมจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาคใต้เป็นจุดเปลี่ยนแปลงหรือเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของระบบทักษิณ ซึ่งถ้าจะย้อนรอยการแก้ปัญหาทั้งหมด เราน่าจะทำให้ภาคใต้เป็นต้นแบบการปฏิรูปการเมืองหรือเป็นภาพสะท้อนการปฏิรูปการเมืองทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาการปฏิรูปการเมืองไทยในในยุคใหม่

 

การปฏิรูปที่สำคัญที่สามารถจะทำได้ก็คือ ต้องสร้างระบบนโยบาย(policy regime) แบบใหม่ ที่ก้าวเกินไปกว่าสิ่งที่ทักษิณทำไว้หรือแก้ปมของนโยบายทักษิณด้วยการสร้างวาระนโยบายแบบใหม่ที่เด่นชัดกว่าเก่า ก้าวเกินไปกว่ามาตรฐาน (parameters) เดิมที่ระบบทักษิณทำไว้แต่ไม่สมบูรณ์และเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ระบบนี้ฉกฉวยประโยชน์เป็นข้ออ้างทางวาทกรรมทางการเมืองของตนเพื่อซื้อเสียงจากประชาชนในระดับรากหญ้า

 

ประเด็นที่ควรพิจารณาในการปฏิรูปทางนโยบายที่สำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐและรูปแบบประชาธิปไตยของไทยให้เป็นรัฐแบบสังคมประชาธิปไตย ซึ่งแกน กลางของระบบนโยบายนี้ก็คือ การปรับรูปแบบนโยบายประชานิยมที่ในทางทฤษฎีเป็นเพียงเปลือกนอกของนโยบายสวัสดิการสังคม หรือเป็นเพียงกระจายผลประโยชน์แก่คนบางกลุ่มโดยไม่แตะฐานการจัดการทรัพยากร (distributive policies) ให้กลายเป็นการจัดรูปแบบผลประโยชน์ใหม่ (redistributive policies)

 

กล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือ รัฐแบบใหม่ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายให้ถึงแก่นแกนการปฏิรูปเพื่อรากหญ้าที่แท้จริงด้วยการสร้างระบบรัฐสวัสดิการทางสังคม บนพื้นฐานของนโยบายใหญ่ในการประกันสังคม ประกันสุขภาพ ประกันการศึกษา ประกันการว่างงาน การช่วยเหลือทางสังคมต่อผู้ด้อยโอกาส ผู้หญิง เด็ก คนพิการและคนชรา การพัฒนาแรงงานและทักษะอย่างเต็มรูป

 

ในการแก้ปัญหาของภาคใต้ สิ่งที่ควรนำมาใช้ก็คือการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษที่สอดคล้องกับลักษณะทางวัฒนธรรมเชื้อชาติและศาสนา การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาการทำงานในพื้นที่พิเศษทางวัฒนธรรมด้วยระบบการจัดสรรสัดส่วนของคนในการทำงานในภาครัฐให้เป็นไปตามสัดส่วนขององค์ประ กอบทางเชื้อชาติและศาสนา (affirmative action policy)

 

ในกระบวนการปรับเปลี่ยนรูปแบบรัฐและประชาธิปไตยให้เป็นรัฐสังคมประชาธิปไตยบนพื้นฐานรัฐสวัสดิการสังคมแบบไทย สิ่งที่จะได้มาก็คือ การปฏิรูปขนานใหญ่ของโครงสร้างรัฐและระบบราชการ เพราะรัฐระบบแบบนี้จะต้องเป็น "รัฐที่แข็ง" มีประสิทธิภาพ อุดช่องว่างในการคอรัปชั่นโดยเฉพาะในการจัดการภาษี นโยบายสาธารณะและกฎหมาย แต่การจะได้มาซึ่งรัฐแบบนี้สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนอื่นก็คือ การสร้างสัญญาสังคมแบบใหม่หรือข้อตกลงร่วมกันแบบใหม่ (New Deal) ในกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเพื่อที่จะร่วมกันรับผิดชอบในการสร้างรัฐและสังคมใหม่โดยจะต้องร่วมกันแบกภาระและมีความเสียสละประโยชน์ส่วนตนในบางส่วนโดยเฉพาะในเรื่องการจัดการภาษีและทรัพย์สิน ระบบทักษิณใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบเดิมที่มีอยู่ได้และสร้างนโยบายประชานิยมให้เป็นจุดขายสินค้าในทางนโยบายโดยชนชั้นล่างจำนวนไม่น้อยซื้อสินค้านี้ อะไรจะมาทดแทนได้ดีกว่านี้

 

ในการดำเนินการของระบบทักษิณนั้น ประชานิยมเป็นเครื่องมือในการซื้อความนิยมของประชาชนและน่าแปลกที่ยังไม่มีใครทำได้หรือไม่มีใครเสนอสิ่งอื่นที่ดีกว่าอย่างเป็นระบบ ประชานิยมเป็นเครื่องมือและประเด็นแหลมคมทางการเมืองที่ทำให้รัฐบาลทักษิณใช้ประโยชน์

 

ขณะนี้ การสร้างวาระนโยบายแห่งชาติใหม่บนฐานข้อตกลงใหม่ในการสร้างรัฐสังคมประชาธิปไตยเป็นทางเดียวที่จะสู้ระบบทักษิณได้ในระบบนโยบายที่ทำให้ประชานิยมไม่เป็นประเด็นข้ออ้างทางการเมืองของคนกลุ่มเดียวได้อีกต่อไป เพราะทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับผิดชอบในการสร้างระบบสวัสดิการสังคมในข้อตกลงทางสังคมแบบใหม่ซึ่งจะกลายเป็น "โคศักดิ์สิทธิ์" ที่ไม่มีใครอ้างเป็นเจ้าของหรือฆ่าให้ตายไม่ได้ แต่ผลก็จะตกอยู่กับประชาชนในระดับรากหญ้า (รวมทั้งชนชั้นกลาง) ประชานิยมจะไม่เป็นประเด็นการเมืองอีกต่อไป และเราก็จะได้การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่ได้ผลในการทำลายความชอบธรรมของระบบทักษิณหรือสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท