Skip to main content
sharethis


 


 


ประชาไท—8 เม.ย.2549 ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ตั้งคำถามผ่านทาง "ประชาไท" (เป็นภาษาอังกฤษ) ถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องการอะไรจากการเรียกร้องนายกพระราชทานหรือรัฐบาลพระราชทาน โดยอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 7


 


"ผมไม่เข้าใจว่าพันธมิตรพยายามจะทำอะไร ทำไมพันธมิตรถึงเลือกที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรา 7 และรัฐบาลพระราชทาน แม้กระทั่งจะต้องปฏิเสธการเลือกตั้งก็ตาม ลำพังการแทรกแซงของกษัตริย์เพื่อกำจัดทักษิณออกไปนั้น ยังไม่แย่พออีกหรือ"


 


นายธงชัยกล่าวต่อไปว่า ไม่มีความจำเป็นต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้กษัตริย์แต่งตั้งรัฐบาลใหม่ การกระทำแบบนี้เสียสติ และเป็นปฏิกิริยา ลำพังการเรียกร้องนายกพระราชทานเพื่อขจัดทักษิณออกไป ก็แย่มากพออยู่แล้ว สิ่งที่ทำกันอยู่ในขณะนี้เป็นท่าทีแบบปฏิกิริยา (ออกจะเอียงขวา-ผู้แปล)


 


"ในช่วงก่อนหน้านั้น การเรียกร้องให้กษัตริย์เข้ามาแทรกแซงเกิดขึ้นเพราะความหวาดวิตกว่าจะเกิดความรุนแรง แต่ตอนนี้ไม่มีเหตุให้เป็นแบบนั้นได้อีก ถ้าพันธมิตรฯ ต้องการจะกำจัดสิ่งเลวร้ายที่ทักษิณได้ทำเอาไว้ พันธมิตรก็ควรใช้วิธีการที่ถูกต้อง


 


"รัฐบาลพระราชทานเป็นเรื่องที่ปราศจากเหตุผล เว้นเสียแต่ว่าพันธมิตรจะไม่สนใจประชาธิปไตยอีกต่อไป ต้องการแต่ประชาธิปไตยแบบนิยมกษัตริย์อย่างเต็มรูปแบบ" ดร.ธงชัยกล่าวในที่สุด


 


ก่อนหน้านี้ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ได้ตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ประชาไท (http://www.prachatai.com/05web/th/board/showboard.php?QID=7429&TID=5)


ระบุว่า การปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากถึง 16 ล้านเสียงเป็นนายกรัฐมนตรี-ตั้งรัฐบาล เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง


 


โดย ดร.สมศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การบอยคอตเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านครั้งนี้ ไม่ใช่ทำไปตาม "หลักการประชาธิปไตย" แต่ทำไปเพื่อเรียกร้องให้มีการใช้พระราชอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับหลักการของ 2475 และระบอบการปกครองประชาธิปไตย


 


ผู้ที่ยืนกรานว่า "ทักษิณต้องออก" แต่ขณะเดียวกัน ก็ยืนกราน "ปฏิเสธ นายกฯแต่งตั้ง" มีจุดยืนที่ขัดแย้งกันเอง ถ้ายืนยันว่า นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องยืนยันด้วยว่า 16 ล้านกว่าเสียง ทักษิณ มีสิทธิที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และต้องออกมายืนยันว่า การที่ทักษิณไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง


 


การเรียกร้องให้นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งลาออก ทำได้หรือไม่? แน่นอน ทำได้ แต่ในทางปฏิบัติ หากนายกฯนั้นเพิ่งได้รับเลือกตั้งมา การเรียกร้องให้ลาออก ถ้าเจ้าตัวไม่ออก (เพราะเป็นธรรมดาของคนที่เพิ่งเสนอตัวและได้รับเลือกตั้งมา) ก็สมควรยอมรับ และมีระดับของการเรียกร้องที่ให้ความเคารพต่อการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ที่ยืนยันเลือกตั้งนายกฯนั้นมา (ในกรณีนี้คือ 16 ล้านเสียง)


 


ดร.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าละอาย (distasteful) ที่สุดอย่างหนึ่งในตลอดการรณรงค์คัดค้านทักษิณครั้งนี้ คือท่าที "เหนือกว่าทางศีลธรรม" (moral superiority) ที่ปัญญาชนทั้งหลายใช้ และการรณรงค์ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "พันธมิตรประชาธิปไตย" ครั้งนี้ ก็ไม่ใช่การรณรงค์ตาม "หลักการประชาธิปไตย" แต่ทำไปเพื่อเรียกร้องให้มีการใช้พระราชอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับหลักการของ 2475 และระบอบการปกครองประชาธิปไตย


 


...................................................


หมายเหตุ : ย่อหน้าสุดท้ายในส่วนของ ดร.ธงชัย ซึ่งประชาไทได้แปลจากข้อเขียนภาษอังกฤษ ด้วยคำว่า 'ประชาธิปไตยแบบนิยมกษัตริย์' ได้รับการท้วงติงว่า ที่เหมาะสมและให้ตรงกับเจตนาของผู้เขียนมากที่สุด น่าจะใช้คำว่า 'ประชาธิปไตยแบบพระราชทาน' ประชาไท จึงขอหมายเหตุมาไว้ ณ ที่นี้ (10 เมษายน 2549)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net