Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประชาไท —31 มี.ค. 2549 -- เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการเสวนาเรื่อง "เข้าใจคนรากหญ้าในสังคมไทย" เนื่องในงาน "ครบรอบ 6 รอบนักษัตร ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม" โดย ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้วิพากษ์คนชั้นกลางว่าชุมนุมไล่นายกฯ กลับจะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง โดยไม่มีความเข้าใจคนรากหญ้า พร้อมเรียกร้องให้คนรากหญ้าลุกยืนขึ้น ขอเลือกชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่ให้รัฐคอยเลือกชีวิตให้เหมือนแต่ก่อน 

...................................................................................

เมื่อพูดถึงคนรากหญ้า เพื่อความเข้าใจ จะขอพูดถึงบทบาทสถานะของคนรากหญ้าในโครงสร้างของสังคมและเศรษฐกิจของไทยว่าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่คำถามว่า ใครคือคนรากหญ้า คำตอบกว้าง ๆ ก็คือ ผมคิดว่าครึ่งหนึ่งของคนรากหญ้าเป็นเกษตรกร และก็เลยครึ่งหนึ่งมานิดหน่อยเป็นแรงงาน เป็นกรรมกร เป็นแรงงานในภาคเกษตรก็มี เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในภาคบริการก็มี

ถึงแม้ว่าจะแบ่งออกเป็นสองภาคกับกลุ่มคนรากหญ้าในภาคเกษตร กับกลุ่มคนรากหญ้าเป็นคนรับจ้างในแรงงาน แต่จริง ๆ แล้ว คนสองกลุ่มนี้ มีความเชื่อมโยงกันทั้งในความจริงที่เขาล้มละลายมาจากภาคเกษตร และก็เลยไหลเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรมก็มี เชื่อมโยงกันในความฝันก็มี มีกรรมกรที่ไปทำงานแถวรังสิต ตั้งแต่อายุ 18-19 ปี แล้วก็ฝันว่า วันหนึ่งตัวเองจะได้กลับบ้านไปเปิดร้านเสริมสวย ไปเปิดร้านค้าเล็กๆ ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ จากรายได้ที่เขาได้อยู่ในเวลานี้ ไม่มีวันกลับไปบ้าน แล้วก็ไปพร้อมกับสิ่งที่เขาฝันนี้ได้ 

แต่ความฝันเกี่ยวกับชนบทมันยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ชนบทมันอาจจะไม่ได้อยู่ในชีวิตของคน แต่มันอยู่ในความคิดเป็นพลัง เป็นหลายอย่าง ในชีวิตของคนค่อนข้างมีมากในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ชะตากรรมของคนสองกลุ่มนี้เป็นอย่างไรหรือ ของคนรากหญ้าเป็นอย่างไร ผมอยากจะบอกว่า เวลานี้มันมืดมนมากขึ้นยิ่งกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว คือ ตอนที่เราเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างมากทีเดียว

ผมขอเริ่มจากกลุ่มแรก คือ กลุ่มเกษตรกรรายย่อย กลุ่มนี้ได้เข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อ 40 ปีที่แล้วมา แล้วก็ขาดทุนย่อยยับ สูญเสียทรัพยากรการผลิตที่ตัวเองมีอยู่ เช่น ที่ดิน จากหลายสาเหตุด้วยกันผมจะพูดถึงเพียงไม่กี่สาเหตุ เช่น การผลิตเชิงพาณิชย์มันมีต้นทุนที่สูงมาก ต้องใช้เงินด้วย ไม่ใช่ต้นทุนธรรมดา เป็นต้นทุนตัวเงินที่สูงมาก ในขณะที่เขามีทุนเก่าของเขาอยู่ เช่น ในเรื่องความรู้ในการเพาะปลูกพืชที่ไม่ใช่เป็นพืชเศรษฐกิจ ก็ไม่สามารถเอาทุนเก่าที่มีอยู่มาใช้ได้ ต้องใช้ทุนที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว

เมื่อเขาไม่มีเงินก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน จนกระทั่งในที่สุดเขาต้องสูญเสียที่ดิน ถ้าเผื่อเขาโชคดีที่อาจมีเอกสารสิทธิ์ให้สูญเสียได้ เขาก็จะสูญเสียที่ดินตรงนี้ มีความคิดที่เกี่ยวกับการที่เขาเข้าไม่ถึงทุน ทำให้เขาขาดทุนการผลิตเชิงพาณิชย์ เก่าแก่ก่อนที่คุณทักษิณจะมาบริหารประเทศเป็นสิบ ๆ ปี ถึงได้มีการตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จากเรื่องของ ธกส.มันทำให้เราเห็นว่า การเข้าถึงทุนได้ ไม่ได้ตอบปัญหาเขา เพราะเขาก็เข้าถึงทุนได้ แล้วก็ยังขาดทุนต่อไปตามเดิม

เพราะฉะนั้น โครงการกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ที่คุณทักษิณทำ เพื่อจะหวังว่าให้คนเข้าถึงทุนให้ง่ายขึ้นนั้น จึงไม่เกิดผลอะไร มันไม่ได้ตอบปัญหาความยากจนในภาคเกษตรแต่อย่างใด

กรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน ซึ่งเขาใช้ในการเพาะปลูกก็เหมือนกัน มันเป็นกรรมสิทธิ์ที่ค่อนข้างจะคลุมเครือ เพราะว่ามันไม่มีช่องในทางกฎหมายเลย ในการที่จะสามารถจะใช้ประโยชน์จากกรรมสิทธิ์ของที่ดิน เช่นพวกป่าบุงป่าทามในภาคอีสาน ที่ที่ซึ่งน้ำมันท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก และลดลงในฤดูแล้ง ที่จริงชาวบ้านใช้ประโยชน์จากมันในการเพาะปลูกพืชเพื่อยังชีพมาเป็นเวลานาน ก็ใช้ไม่ได้ หรือพื้นที่ป่าในภาคเหนือ ซึ่งชาวบ้านไม่เคยใช้ประโยชน์มานาน ก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่ารัฐรุกเข้าไปขีดเส้นป่าสงวน ขีดเส้นป่าอนุรักษ์ ขีดเส้นอุทยานต่าง ๆ นานา จนกระทั่งมาไล่เขาออกไปจากที่ที่ซึ่งเขาควรจะมีสิทธิในการใช้ แต่มันเป็นสิทธิที่คลุมเครือ เพราะกฎหมายไม่ยอมรับ

และในโลกปัจจุบันนี้ มีการบุกเบิกเพื่อจับจองในที่ดินใหม่ก็ทำไม่ได้แล้ว ระยะแรก ๆ ของการพัฒนามันยังทำได้อยู่ เพราะว่าคุณเปิดป่า แล้วก็มีบริษัทป่าไม้เข้าไปจับจองที่ดินในป่า แล้วก็ปลูกข้าว ปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งหลาย แต่ปัจจุบันนี้ ไม่ได แล้ว เพราะฉะนั้น โอกาสที่คุณจะหนีจากที่คุณเพื่อจะไปหาที่ใหม่มันไม่มี นอกจากนั้นแล้วนโยบายของรัฐเองก็จะกีดกั้นคนกลุ่มนี้ให้ออกไปจากทรัพยากรที่เคยใช้ ไม่ว่าจะเป็นป่า ไม่ว่าจะเป็นน้ำ หรือว่าจะเป็นที่ดิน เป็นต้น

ยิ่งถ้าเราทำสัญญา FTA กับอเมริกัน มันก็จะกีดกันสัญญาอย่างนี้ มันก็จะกีดกั้นแม้แต่ความรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่เขามีอยู่ทั้งหมดไปเลยหมายความว่าทรัพยากรทุกอย่างทั้งที่จับต้องได้ ที่จับต้องไม่ได้ ต่างถูกรัฐกีดกันคนเหล่านี้ให้ออกไปจากทรัพยากรเหล่านั้นทั้งหมด เพื่อจะเอาทรัพยากรเหล่านั้นไปทำกำไร ใช้เพื่อการท่องเที่ยวใช้เพื่อจะเอาไปขายสิทธิในการทำดาวเทียม และกำไรที่ทำขึ้นจากทรัพยากรเหล่านี้ ก็ไม่ได้ตกไปถึงกลุ่มคนรากหญ้า แต่ก็จะหมุนเวียนกับกลุ่มคนที่อยู่เหนือจากกลุ่มคนรากหญ้าขึ้นมา

อันนี้ คือแนวโน้มปัจจุบันซึ่งดำเนินมาเป็นเวลานานแล้ว และผมคิดว่ายังคงดำเนินต่อไป ไม่ว่าคุณจะไล่ทักษิณออกไปได้ หรือไม่ก็ตามแต่ ถึงไล่ทักษิณออกไป สิ่งนี้ก็จะดำเนินต่อไปในประเทศไทย

ทรัพยากรอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ "ทรัพยากรทางวัฒนธรรม" คนรากหญ้าเขาสูญเสียความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยมี เช่น เขาอาจจะเคยมีความสัมพันธ์ที่อาจารย์อคิน (ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์) พูดถึงอยู่สมอ คือ"ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์" มาก่อน ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในสมัยโบราณ คนที่ต้องพึ่งคนอื่น มีอำนาจต่อรองในระดับหนึ่งไม่เท่ากัน แต่พอมีอยู่บ้าง ในปัจจุบันนี้ ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เหล่านี้มันกลายเป็นผู้ที่พึ่งพิงคนอื่นหมดตัวเลย ไม่สามารถที่จะมีอำนาจต่อรองอะไรเหลืออยู่เลย อันนี้ ก็เป็นความสูญเสียทางวัฒนธรรม

เพราะฉะนั้น เขากลายเป็นคนยากจน ที่จริงความยากจนของเขาเป็นความยากจนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรคนในเมืองจะชอบคิดถึงความยากจนแค่ไม่มีเงิน แต่ที่สำคัญกว่าการไม่มีเงิน คือ เขาเข้าไม่ถึงทรัพยากรด้วย ถ้าคุณเข้าไม่ถึงทรัพยากร คุณก็อยู่ได้ด้วยเงินอย่างเดียว แต่ก่อนนี้ คุณไม่มีเงินคุณพออยู่ได้ แต่พอคุณเข้าไม่ถึงทรัพยากร คุณต้องมีเงิน คุณถึงจะสามารถเอาชีวิตอยู่รอดได้

เพราะฉะนั้น เขาจึงยากจนในแง่ที่ไม่มีเงินด้วยแน่ ๆ เงินที่พอจะหาได้ก็น้อยเกินกว่าจะอิ่ม หรือถึงอิ่มก็ไม่เพียงพอที่จะพัฒนาตนเองได้ เพราะว่านโยบายการพัฒนาฯ เหล่านั้นเราคิดถึงแต่การพัฒนาประเทศ เราไม่เคยคิดถึงการพัฒนาคน เพราะฉะนั้น รายได้ที่เขาได้มา มันก็กินใช้หมดไปวัน ๆ ไม่สามารถเอาไปใช้ในการพัฒนาตัวเอง เช่น ไม่สามารถที่จะส่งลูกให้เรียนหนังสือไปได้ คือพ่อแม่ถูกริบทรัพยากรไปหมดแล้ว ลูกก็ยากจนเกินกว่าจะเรียนหนังสือได้ จึงไม่มีทั้งทรัพยากร ไม่มีทั้งเงิน เหมือนกับพ่อแม่ตัวเอง

ความยากจนในโครงสร้างแบบนี้ มันเป็น "โรคทางกรรมพันธุ์" คือ ถ้าพ่อจน ลูกก็จนไปเรื่อย ๆ จึงไม่มีทางออก นอกจากออกไปหางานรับจ้างโดยขาดทักษะที่เรียกกันว่า เป็นแรงงานไร้ทักษะ ซึ่งก็ต้องถูกกดค่าแรงอย่างมาก

เพราะฉะนั้นในการแก้ไขปัญหาของความยากจนของคนกลุ่มนี้ ในทัศนะผม คิดว่ามีสองอย่างสำคัญที่สุด ซึ่งขาดไม่ได้ คือ อันที่หนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณต้อง "ปฏิรูปการจัดการและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรกันใหม่"ทั้งประเทศเลย ไม่ว่าที่ดิน ไม่ว่าป่าไม้ น้ำ ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ อันนี้ ถ้าคิดจะแก้ปัญหาความยากจน หลีกเลี่ยงเรื่องนี้ไม่ได้ แม้ว่ามันจะเจ็บปวด เพราะว่าจะมีคนที่มีอะไรอยู่แล้วเยอะแยะจะต้องสูญเสียไปเยอะแยะทีเดียว

อันที่สอง ผมคิดว่า "รัฐต้องลงทุนกับโอกาสของการพัฒนาของคนรากหญ้า" กลุ่มนี้อย่างเต็มที่ เช่น ต้องเพิ่มอำนาจการต่อรองทั้งในตลาดและในทางการเมือง การศึกษาของลูกเขาต้องฟรีจริง ๆ คือ ไม่ใช่ฟรีแต่ในกฎหมาย แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ยังต้องควักกระเป๋าเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพื่อจะให้โอกาสเขาได้มีโอกาสได้พัฒนาตัวเขาและลูกเขามากขึ้น และต้องคิดถึงการศึกษาที่ไม่ใช่ในระบบโรงเรียนอย่างเดียว เพราะในระบบโรงเรียนมันมีความจำกัดในตัวมันเอง ในการที่จะรับคนเล่านี้เข้าไปได้

อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผมอยากจะพูดถึงคนรากหญ้า คือ "กลุ่มคนที่เป็นแรงงาน" กลุ่มที่เป็นแรงงาน ก็ยังคงขาดทักษะเหมือนเดิม ก้าวไม่ได้ ปัจจุบันนี้ นายทุนจะหลบหลีกกฎหมายแรงงานโดยการขจัดพวกแรงงานไร้ทักษะออกไป 2 วิธีด้วยกัน

วิธีที่หนึ่ง คือการเอาสินค้าให้แรงงานรับออกไปทำเองที่บ้าน รับเอาเสื้อโหลไปทำที่บ้านตัวละ 3 บาท 5บาท ก็แล้วแต่ มันจะช่วยนายไม่ต้องจ่ายสวัสดิการทั้งหมดที่กฎหมายกำหนด และไม่ต้องจ่ายค่าแรงงานทั้งหมดที่กฎหมายกำหนด คุณไม่มีสิทธิมาบอกว่าขอลาออก ขอ 6 เดือนไม่ได้ และปัจจุบันนี้ โรงงานอุตสาหกรรมไทยที่ยังใช้แรงงานราคาถูก ก็จะหลบหลีกกฎหมายโดยวิธีนี้เยอะขึ้น

อีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้แรงงานต่างด้าว แรงงงานต่างด้าวในทัศนะของทุนไทยเป็นมนุษย์เพียงครึ่งเดียว คุณจะกดขี่อย่างไรก็ได้ ไม่มีหรือแทบจะไม่มีกฎหมายรองรับเลย คุณสามารถที่จะติดค่าแรงงานพม่าไว้สัก 6 เดือน พอครบ 6 เดือน คุณก็ไปบอกตำรวจมาจับมาทั้งหมดเลย พวกนี้เมื่อหลบหนีเข้าประเทศ ก็จับส่ง

ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง ส่วน 6 เดือนนั้นคุณก็ไม่ต้องจ่ายด้วยงานที่เขาทำคุณก็ได้ฟรีไปมนุษยธรรมมันไม่มีชาติ เพราะฉะนั้น ความไร้มนุษยธรรมก็ไม่มีชาติเหมือนกัน

ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลถึงแรงงานไทยด้วย เพราะว่าแรงงานไทยก็ไร้ทักษะเหมือนกัน ก็ไม่สามารถที่จะเพิ่มค่าแรงหรือต่อรองค่าแรงของตัวเองได้มากนัก ยิ่งประเทศไทยก้าวเข้าสู่แบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่มากขึ้น ก็จะทำให้การจ้างงานลดลง เพราะว่านายทุนย่อมย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ มีวิธีการลดต้นทุนโดยการใช้เครื่องจักรให้มากขึ้นและก็ใช้แรงงานให้น้อยลง เน้นเทคโนโลยีมากขึ้น

ซึ่งองค์กรกรรมกรระหว่างประเทศศึกษา แล้วพบว่า คนทั้งโลกตกงานมากขึ้น ไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศด้อยพัฒนาคนตกงานมากขึ้น เขาก็เลยมีการเสนอว่า การส่งเสริมการลงทุน ต้องคิดถึงการจ้างงานเป็นเงื่อนไขหลักที่สำคัญอันหนึ่ง แต่จะเห็นว่าการจ้างงานเป็นสิ่งสุดท้ายที่รัฐบาลไทยคิดในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น คนไทยในกลุ่มนี้จะตกงานมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ผมว่าควรคิดถึงการผลิตในระดับชาวบ้านด้วย อย่างกรณี OTOP นี้ ผมก็ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านสามารถใช้แรงงาน ใช้ทรัพยากรของเขาได้ แต่ที่ทำมาแล้วมันเละเทะ เพราะว่าเป็นการทำเพื่อหวังผลทางการเมือง มากกว่าที่จะหวังผลให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนจริง ๆ แต่นอกจาก OTOP แล้วมันมีอะไรมาก ที่จะทำให้เกิดการจ้างงานเยอะมากเลย 

ผมขอยกตัวอย่างเดียว อาจารย์ประสาท มีแต้ม แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านสนใจเรื่องเกี่ยวกับพลังงาน ท่านบอกว่า ถ้าประเทศไทยผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนได้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากลม แสงอาทิตย์ ขยะ ก็ตาม ไม่ใช่พลังงานทดแทนแบบรัฐบาล พลังงานทดแทน ภาษาของรัฐบาลแปลว่า NGV

ดังนั้น ถ้าประเทศไทยผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน เพียง 15% ก็จะเกิดการจ้างงาน 8 ล้านอัตตรา อาจารย์ชัยพันธุ์ (ชัยพันธุ์ ประภาสะวัติ ผอ.สถาบันเพื่อสิทธิชุมชน) ก็เคยไปทำโรงขยะที่ผลิตไฟฟ้าได้ เกิดการจ้างงานเยอะแยะไปหมดเลย ทั้งคนเก็บขยะ เลือกขยะ แยกขยะ เพื่อจะเอาไปใช้ทำแก๊สเอาแก๊สไปผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก เพราะฉะนั้น ถ้าคิดแบบนี้ การคืนทรัพยากรให้ชาวบ้านจัดการ มันจะเกิดการจ้างงานขึ้นโดยอัตโนมัติ

และแถวลุ่มน้ำสงคราม มีชาวบ้านสามารถต่อสู้ในทางการศาล จึงสามารถเอาชนะนายทุน เอาที่ป่าของเขากลับคืนมาได้เป็นจำนวนหลายพันไร่ และเกิดอาชีพเลี้ยงวัวที่ลงทุนค่อนข้างต่ำ เกิดการจ้างงานในการดูแลวัว เมื่อไหร่ที่มันมีการคืนทรัพยากรเหล่านี้ มันจะช่วยแก้ปัญหาบางอย่างในเรื่องของการจ้างงานที่เป็นปัญหาหนักมากขึ้น ๆ ในประเทศของเรา

ทั้งหมดเหล่านี้ ผมไม่ปฏิเสธว่า บทบาทของรัฐมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่บอกได้เลยว่าบทบาทของรัฐ ไม่ว่าคุณทักษิณจะนั่งอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่มีทางจะเกิดขึ้น ในแง่ที่จะทำให้แก้ปัญหาของคนรากหญ้าที่มีคนเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคเกษตร และครึ่งกว่า ๆ อยู่ในภาคแรงงานได้เลย

เพราะอะไร เพราะว่าคนเหล่านี้ มีพลังต่อรองทางการเมืองต่ำมาก ๆ เลย คนที่มีพลังต่อรองกับการเมืองสูงมากคือคนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนที่ไม่เข้าใจคนรากหญ้าด้วยประการทั้งปวง เคลื่อนไหวในทางการเมืองแต่ละทีก็ไม่เคยนึกถึงคนรากหญ้า คนรากหญ้าได้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมืองเยอะมาก ๆ เลย

ซึ่งชาวบ้านที่เคลื่อนไหวในเรื่องการปกป้องทรัพยากรของตัวเอง ผมคิดว่า เขาสามารถจะอ้างมาตราในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องทรัพยากร สิทธิคุ้มครองของเขาในการดูแลทรัพยากรได้คล่องกว่าพวกคุณอีก เขาสามารถยกมาตราได้แม่นยำทีเดียวในการมาอ้างสิทธิในรัฐธรรมนูญ มันเป็นเครื่องมือชิ้นเดียวที่เขาได้โอกาสเอาไปใช้

แต่คนชั้นกลางชุมชนกันหน่อย จะไล่นายกฯ กลับจะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง มันไม่มีความเข้าใจถึงคนรากหญ้าด้วยประการทั้งปวง แล้วทำไมพลังของคนรากหญ้าในการต่อรองทางการเมืองจึงต่ำมาก คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือว่า ประสบการณ์มันจำกัด

คำว่า "ประสบการณ์" บางคนอาจจะหมายความว่ามันเรียนหนังสือมาน้อย ไม่ใช่ผมว่าประสบการณ์รวมทั้งเรียนหนังสือด้วย แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ๆ ทีเดียว เขาโตมาในยุคพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนี้ เขาโตมาในยุคที่รัฐบอกเขาว่า เขาไม่มีทางเลือกอะไรหรอก รัฐจะเป็นคนเลือกให้เขาเอง และรัฐก็เลือกให้เขาตลอดมา ทุกคนโตมาในลักษณะนี้ รวมทั้งคนชั้นกลางด้วย แต่คนชั้นกลางมีประสบการณ์มากกว่า เพราะไม่เชื่อ แต่เขามีประสบการณ์น้อยกว่า เขาก็นึกว่ารัฐจะเป็นคนคอยเลือกชีวิตให้เขาอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยมีโอกาสได้เลือกชีวิตของตัวเองเลย 

ถ้าคนรากหญ้าโดยไม่ต้องเรียนหนังสือเกินกว่าประถมปีที่ 6 ที่เขาเรียนอยู่แล้ว มีโอกาสที่จะได้ประสบการณ์เลือกชีวิตตัวเองสักครั้งเดียว ไม่ว่าจะเลือกโดยการไม่เอาเขื่อน เลือกโดยการไม่เอาโรงไฟฟ้า เลือกในการที่จะไม่ให้ถูกไล่รื้อสลัม สักครั้งเดียว เท่าที่พบมา เขาเปลี่ยนเลย เขากลายเป็นคนอีกประเภทหนึ่งเลย

ทั้งชีวิต ถ้าได้มีโอกาสลุกขึ้นยืน แล้วขอเลือกชีวิตของตัวเองสักครั้งเดียวเท่านั้น ผมว่ามันยิ่งกว่าการสอนในมหาวิทยาลัยอีก เพราะว่านั้นคือของจริงเลย ตั้งแต่นั้นมา เขาจะไม่ใช่คนที่รัฐคอยเลือกชีวิตให้เขาต่อไป เขาจะเป็นคนที่เลือกชีวิตของเขาเองตลอดไปในชีวิตของเขาเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net