จากผู้อ่าน : นายกฯ พระราชทาน เป็นมาตรการที่ได้ผล และปลอดภัยจริงหรือ ?

โดย ประชา ร่วมคิด

 

เมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปรับเปลี่ยนจุดยืนไปเป็นการเรียกร้องนายก ฯ พระราชทาน นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุใดจึงยอมกล้ำกลืนสัจจวาจาที่เคยเปล่งไว้ ประพฤติตนเช่นเดียวกับทรราชย์ร้ายที่ตนเองประท้วงอยู่ว่าพูดจากลับกลอกไปมาเชื่อถือไม่ได้

 

ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่าอะไรเป็นเหตุผลเบื้องหลังที่ถกเถียงกันในห้องประชุมหรือมีข้อมูลลับอย่างไรที่ไม่อาจเปิดเผยได้ แต่กระบวนการเปลี่ยนจุดยืนที่สำคัญมากนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาน้อยกว่า 48 ชั่วโมงที่องค์กรพันธมิตรขีดเส้นตายเพื่อให้เวลาตัวเองหาข้อยุติ ผู้เขียนไม่ทราบว่าองค์กรประชาธิปไตยแบบไหนที่เรียกร้องการต่อสู้ของประชาชนอย่างกว้างขวาง และอย่างอดทนยืดเยื้อ จะสามารถตัดสินใจกันได้อย่างรวดเร็วในห้องสี่เหลี่ยมราวกับเป็นเกมการเมืองของชนชั้นนำ ที่องค์กรประชาธิปไตยตั้งข้อรังเกียจเสมอมา

 

ในบรรดาความเห็น คำสัมภาษณ์ ที่ผู้เขียนได้สัมผัสอยู่บ้าง พยายามโน้มน้าวให้เห็นว่าการขอนายก ฯ พระราชทานเป็นมาตรการที่มีแรงกดดันและเด็ดขาดยิ่งกว่าที่ผ่านมา ที่สำคัญยังเป็นทางออกที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชน

 

แต่ผู้เขียนไม่มั่นใจนักว่าจะเป็นเช่นนั้น เท่าที่ผ่านมาสิ่งที่เรียกว่านายก ฯ พระราชทานเป็นสิ่งที่ตามมาภายหลังสถานการณ์ความรุนแรง เกิดขึ้นในภาวการณ์เลวร้ายที่ปราศจากข้อโต้แย้งอันอาจมีต่อพระมหากรุณาธิคุณ จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเช่นไร จึงคาดหวังว่าจะทำให้เกิดนายก ฯ พระราชทานขึ้นก่อนความรุนแรงได้

 

ตรงกันข้ามผู้เขียนเห็นว่ามี ปัญหาอยู่ 3 ประการที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดนายก ฯ พระราชทานโดยปราศจากข้อโต้แย้งในปัจจุบันคือ

 

1) ปัญหาการละเมิดรัฐธรรมนูญและการตีความมาตรา 7

 

2) ความชอบธรรมของนายก ฯ ทักษิณ ที่มาจากการเลือกตั้ง และกระแสนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีฐานการสนับสนุนอย่างกว้างขวางทั้งในเมืองและชนบท

 

3) ความเสี่ยงต่อการเสื่อมพระเกียรติยศในสายตาของอารยประเทศ เนื่องจากอาจเกิดข้อครหาว่าพระองค์ทรงแทรกแซงการเมือง ซึ่งไม่ควรจะเกิดขี้นเป็นอย่างยิ่งในปีการเฉลิมฉลองการครองราชย์ในฐานะพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก

 

การเรียกร้องนายก ฯ พระราชทานจึงไม่ใช่มาตรการที่จะกดดันอย่างรุนแรงให้นายก ฯ ลาออกได้ อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันสั้น ตรงกันข้ามเป็นมาตรการที่มีจุดอ่อนในตัวเองเพราะขึ้นต่อพระบรมราชวินิจฉัยที่ทุกฝ่ายไม่สมควรไปคาดเดา ไม่อาจล่วงรู้ได้จะยุติเร็วหรือช้า

 

แทนที่จะผ่าทางตัน(ซึ่งคิดไปเองว่าตัน) อาจทำให้พบทางตันใหม่

 

บรรดาแกนนำในการเคลื่อนไหวก็คงทราบดีเช่นกันว่า การเรียกร้องนายก ฯ พระราชทานไม่สามารถบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีลาออกได้ ถ้าเช่นนั้นทำไมยอมลงทุนแลกด้วยหลักการที่เคยประกาศไว้

 

ตำตอบที่ผู้เขียนพอจะคิดได้คือ พันธมิตร กำลังอับจนทางยุทธวิธี จำเป็นต้องเร่งระดมการสนับสนุนจากประชาชนและสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในวงกว้างขึ้นโดยอาศัยศรัทธาและเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์พระมหากษัตริย์

 

และจะนำพลังนี้ไปบีบบังคับหรือกดดันให้ลาออกได้ ก็จะต้องมีมาตรการกดดันอื่นที่รุนแรงหรือเผชิญหน้ายิ่งกว่าที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้ว่าพล.ต.จำลอง ประกาศเรื่องนายก ฯ พระราชทาน พร้อมกับกดดันพันธมิตรให้เดินไปบ้านจันทร์ส่องหล้า แต่ความขัดแย้งในองค์กรพันธมิตรทำให้มาตรการนี้ไม่ถูกนำมาใช้ ก่อนที่พันธมิตรจะพบวิธีการกดดันใหม่ที่เห็นพ้องต้องกันคือ การชุมนุมยืดเยื้อที่ย่านใจกลางธุรกิจ

 

ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่านายก ฯ พระราชทาน เป็นมาตรการที่ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ หรือปูทางไปสู่การเตรียมใช้มาตรการเผชิญหน้าที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังไม่นับว่าอาจเป็นการเปิดทางให้กับผู้ที่จะลงมือสร้างสถานการณ์ความรุนแรงได้

 

ราคาของหลักการประชาธิปไตยที่อ้างว่าจ่ายไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เป็นคำตอบที่หยิบยกมาเพื่อปลอบใจกัน หรือเราคิดกันเช่นนั้นจริง ๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท