สัมภาษณ์ ภัควดี : 2549 ฟ้าเปลี่ยนสี เมื่อพันธมิตรฯ ขอนายกฯพระราชทาน


ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักคิด นักแปล ผู้เฝ้าดูและติดตามโลกาภิวัตน์ ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" ในความคิดเห็นที่มีต่อสถานการณ์การเมืองภาคประชาชน และ "การเมือง" ในภาคประชาชน ด้วยน้ำเสียงเห็นใจและเข้าใจ

 


                                                                    0 0 0

 

ดูเหมือนว่า เหตุการณ์การเมืองในเวลานี้ฝ่ายไม่เอาทักษิณเริ่มแตกกันสองขั้วแล้วว่า เอากับไม่เอานายกฯ พระราชทาน?

ปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ ในด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่เราได้เห็นลักษณะของการแตกแยกทางความคิดอย่างชัดเจน และจนถึงขณะนี้ ส่วนใหญ่ก็ยังพยายามเอาชนะกันด้วยเหตุผล แม้จะมีอารมณ์เจือปนมาก แต่นี่ก็เป็นธรรมดามนุษย์ อย่างน้อยหลายๆ ฝ่ายก็พยายามงัดเหตุผลและความรู้ทุกอย่างขึ้นมาโต้แย้งกัน

 

การแตกแยกทางความคิด และถ้ามันไม่จบลงที่ความรุนแรง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะแต่เดิมมานั้น สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยมคลั่งไคล้ในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (conformity) ในทุกเรื่อง

ยึดมั่นในสถาบัน เชิดชูตัวบุคคล นอบน้อมต่อผู้อาวุโส เป็นอย่างนี้ในทุกวงการ แม้แต่ในวงการนักเขียน ปัญญาชน นักวิชาการทั้งฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพิ่งจะมีครั้งนี้กระมังที่ไม่มีใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยึดกุมการครองความเป็นใหญ่ทางอุดมการณ์หรือเหตุผลไว้ได้ และฝ่ายที่ต่อต้านสถาบันก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้เปิดเผยในระดับหนึ่ง และมีเสียงที่ดังพอจนแว่วๆ ให้ได้ยินอยู่บ้างในสื่อกระแสหลัก

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง สังคมไทยก็ยังย่ำอยู่กับที่ในหลายๆ เรื่อง เรายังคงเป็นสังคมที่ขาดจินตนาการในการแก้ปัญหา เสียงเรียกร้องนายกฯพระราชทานยังเป็นเสียงที่มีการตอบสนองมากที่สุด ตัดผ่าลงไปในทุกระดับชั้นสังคม ตั้งแต่ปัญญาชนไปจนถึงชาวบ้าน นี่แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจประชาธิปไตยของเรายังแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่คิดว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยคือ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กับระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้แต่นักกฎหมายเองก็ยังแบ่งออกเป็นสองส่วนนี้ และต่างก็ตีความไปตามความเชื่อขั้นพื้นฐานที่สุดของตน

 

อยากทราบเหตุผลว่า ทำไมถึงไม่เอานายกฯพระราชทาน?

ถามว่า ทำไมตนเองจึงไม่ต้องการนายกฯ พระราชทาน ก็คือเหตุผลเดียวกับที่ทำไมคนส่วนใหญ่ในโลกไม่ต้องการระบอบเผด็จการหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะไม่มีใครอยากฝากชีวิตไว้กับอำนาจของคนๆ เดียว

 

มีนักวิชาการหลายคนอธิบายว่า ระบอบแบบนั้นไม่ดี เพราะถ้าได้ผู้ปกครองเป็นคนดีก็ดีไป ได้คนเลวก็แย่

แต่ตามความคิดของดิฉัน การเป็นผู้นำที่ดีไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดี ไม่เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมส่วนบุคคลสักเท่าไร การเมืองเป็นเรื่องของการกดดันจากกลุ่มพลังทางสังคม อย่างที่เคยพูดหรือเขียนในหลายๆ ที่แล้วว่า ผู้นำไม่ได้ตัดสินใจในสุญญากาศ แต่เขาตัดสินใจท่ามกลางความกดดันจากกลุ่มต่างๆ

 

คนที่เสนอนายกฯ พระราชทานนั้นมักอ้างว่า นายกฯพระราชทานจะปลอดพ้นจากความกดดันที่ว่า รวมทั้งไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ความจริงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ถือเป็นกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่ง นายกฯ พระราชทานอาจจะใสสะอาดจากการคอร์รัปชั่นส่วนบุคคล แต่สุดท้ายก็ไม่ต่างจากทักษิณมากนัก ในแง่ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงนโยบายอยู่ มันจะยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นอาจมาจากอุดมการณ์หรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง โดยที่อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ส่วนบุคคล

 

แต่ที่บอกว่า การเมืองไทยในด้านหนึ่งก็ยังย่ำอยู่กับที่ ก็เพราะกลุ่มที่มีฐานมวลชนที่แท้จริงในขณะนี้

ก็คือทักษิณ กับฝ่ายที่เรียกร้องนายกฯพระราชทาน ทักษิณนั้นถ้าไม่พ่ายแพ้ ก็ดำรงตำแหน่งไปอย่างอเนจอนาถ ก้าวที่ผิดพลาดที่สุดของทักษิณอาจไม่ใช่การคอร์รัปชั่น เพราะอย่าลืมว่าสังคมไทยก็เคยอุ้มเขาขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ มาแล้ว ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจดีว่า เขามีความบกพร่องในเรื่องความสุจริต (หมายถึงการซุกหุ้นภาค 1)

 

มันเป็นเรื่องตลก ที่ตอนนี้ ทุกคนต่างก็อ้างรัฐธรรมนูญและศีลธรรม ถ้ารัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์จริง และทุกคนยึดมั่นในหลักศีลธรรมกันจริงๆ ทักษิณก็ไม่ควรขึ้นมาเป็นนายกฯ ตั้งแต่แรก ก้าวที่ผิดพลาดที่สุดของทักษิณจึงเป็นในเชิงรัฐประศาสน์ศาสตร์มากกว่า เพราะเขาใช้อำนาจในทางที่ผิดจนเสียความไว้วางใจจากประชากรกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะประชากรในเมือง

 

แต่ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อ้างมาตลอดว่า มีฐานเสียงอยู่จำนวนมาก?

จริงอยู่ ทักษิณมีฐานมวลชนที่เป็นชาวต่างจังหวัดไม่น้อย โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน (ภาคใต้ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะอะไร? นี่เป็นเรื่องน่าสนใจและน่าศึกษาอย่างยิ่ง ตนคิดว่าภาคใต้กลายเป็นข้อยกเว้นขึ้นมา เป็นเพราะทักษิณดำเนินงานทางการเมืองผิดพลาดเอง แต่อันนี้ขอละไว้ก่อน)

 

ถ้าถามว่า การมีฐานมวลชนนี้เป็นความชอบธรรมที่ทักษิณจะได้บริหารประเทศต่อหรือไม่ อันนี้ มีนักวิชาการหลายคน--รวมทั้งสนธิ—ตอบกันจนทะลุปรุโปร่งแล้ว ขอพูดสั้นๆ แค่ว่า ทักษิณนั้นหมดความชอบธรรมตั้งแต่คดีซุกหุ้นภาคแรก แต่ความปากว่าตาขยิบของสังคมไทยนั่นแหละ ที่ส่งเขาขึ้นสู่อำนาจ และวันนี้สังคมไทยกำลังเผชิญกับผลของการกระทำของตนเอง

 

กลุ่มพลังที่มีฐานมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ ฝ่ายที่เรียกร้องนายกฯ พระราชทาน คนกลุ่มนี้มีแนวคิดที่ย่ำอยู่กับที่มากที่สุด ไม่ไปไหนเลย เขาเชื่อว่าการไล่ทักษิณและได้คนที่เขาพอใจมาเป็นนายกฯ เป็นอันเสร็จภารกิจทางการเมือง เขาต้องรีบๆ ทำให้เสร็จเพื่อจะได้กลับบ้านไปนอนดูทีวี ไปใช้ชีวิตเหมือนๆ เดิม

 

ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านนายกฯพระราชทานนั้น คิดว่าเป็นฝ่ายที่ยังไม่มีฐานการเมืองหรือฐานมวลชนของตัวเอง

จึงยังไม่ใช่กลุ่มพลังที่จะกดดันทางการเมืองได้ในเวลานี้ แต่การที่เขาส่งเสียงแสดงความคิดเห็นได้ดังพอควร ทำให้กลุ่มนี้ เริ่มสร้างพื้นที่ทางการเมืองขึ้นมาบ้างแล้ว ซึ่งอาจขยายออกไปได้ในอนาคต

 

สุดท้ายแล้ว เราจะได้นายกฯพระราชทานหรือไม่ก็ตาม มันยังไม่สำคัญเท่ากับการมองข้ามช็อตไปข้างหน้า จะมีหรือไม่มีทักษิณ ฐานมวลชนที่นิยมลัทธิประชานิยมมีกลุ่มก้อนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาชัดเจน เชื่อว่าลัทธิประชานิยมจะกลับมาอีก ไม่จำเป็นต้องเป็นทักษิณหรือไทยรักไทยหรอก ดิฉันไม่เชื่อว่าฐานมวลชนกลุ่มนี้รักใคร่ใยดีทักษิณในฐานะตัวบุคคลสักเท่าไรนัก

 

คิดว่าการปะทะของกลุ่มพลังสองกลุ่มนี้ คือกลุ่มพลังประชานิยมกับกลุ่มชนชั้นกลาง-สูงเอียงขวาในเมือง จึงยังสามารถเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต นอกเสียจากจะมีการประสานประโยชน์ได้ในระดับหนึ่ง

(มีช่วงหนึ่งที่ดูคล้ายทักษิณจะทำได้)

 

แต่ก็มีหลายฝ่าย ต่างมุ่งที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันใหม่?

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ไม่แน่ใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยอะไรได้มากนัก (นอกจากทำให้นักการเมืองบางกลุ่มเล่นการเมืองได้สะดวกกว่าเดิม) และคำว่า"ปฏิรูปการเมือง" ก็ไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร? ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ ทำให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญมาดีเลิศอย่างไร สุดท้ายแล้ว ถ้าไม่มีขบวนการประชาชนที่จัดตั้งได้มากพอมากดดันรัฐและภาคการเมือง มันก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า วาระของประชาชนจะเบียดเข้าไปในวาระแห่งชาติได้ (เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน, วิทยุชุมชน, ฯลฯ)

 

อีกประการหนึ่ง การมุ่งยึดรัฐธรรมนูญทำให้เราตกเป็นทาสนักกฎหมายมากไป เราพยายามหนีระบบราชการและผู้เชี่ยวชาญเพื่อตกอยู่ในกำมือของนักกฎหมายหรือเปล่า? ดู ๆ ไปก็คล้ายกับกรณีแบบ WTO ที่นักกฎหมายการค้าร่างกฎของ WTO เสร็จแล้วก็ออกไปเป็นที่ปรึกษาของบรรษัทข้ามชาติ

ทำให้สามารถใช้ช่องโหว่ของกฎหมายที่ตัวเองเป็นคนร่างได้มากที่สุด ฉันใดฉันนั้น เราก็เห็นแล้วว่า นักกฎหมายที่ร่างรัฐธรรมนูญสามารถเล่นแร่แปรธาตุทางกฎหมายได้มากแค่ไหน ดิฉันจึงคิดว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่แก้ปัญหาได้

 

การเสนอนายกฯ พระราชทานของกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงขนาดเป็นการทรยศต่อประชาชนเลยหรือไม่?

คำถามว่า แกนนำพันธมิตร "ทรยศ" ต่อประชาชนไหม? คิดว่าคำถามนี้เป็นวิธีการมองที่ตัวบุคคล

มันจึงทั้งให้เกียรติตัวบุคคลเกินไปและประณามรุนแรงเกินไปพร้อมกัน แกนนำพันธมิตรก็เช่นเดียวกับผู้นำทางการเมือง เขาตัดสินใจภายใต้แรงกดดันเช่นกัน และเนื่องจากแกนนำ "ซีกซ้าย" ไม่มีฐานมวลชนที่แท้จริง ผลสุดท้ายจึงออกมาเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การบริภาษว่า "ทรยศ" ก็เป็นวิธีกดดันอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ไม่ใช่วิธีที่ได้ผล

 

ดิฉันคิดว่าสิ่งที่น่าทำต่อจากนี้ไป คือการเปิดพื้นที่ทางสังคมเพื่อสร้างกลุ่มพลังอื่นๆ ขึ้นมา (แน่ล่ะ

หมายถึงกลุ่มพลังที่เราเห็นพ้องด้วยในเชิงอุดมการณ์) รวมทั้งสร้างจินตนาการใหม่ๆ ทางการเมืองขึ้น

ไม่ว่าการหาทางก้าวพ้นระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนเสียงข้างมาก การหาแนวพัฒนาเศรษฐกิจในแบบอื่นที่สามารถแข่งขันกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้ ฯลฯ

 

บางที มันก็แค่ละครน้ำเน่าฉากหนึ่ง ถ้าละครเรื่องนี้ไม่จบลงอย่างเลือดตกยางออก ก็นับว่าเป็นละครที่ดูได้เอนเทอร์เทนมากที่สุด ที่คงหาดูได้ยากในละครน้ำเน่าการเมืองไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท