Skip to main content
sharethis

 

(บทความชื่อเดิม)

 

เหตุผล 7 ประการ ที่ควรคัดค้านการเรียกร้อง "นายกฯพระราชทาน"

และวิธีทางอื่นๆ อันนำไปสู่การ "เว้นวรรค" ประชาธิปไตย

 

โดย อุเชนทร์ เชียงเสน

เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2542

 

"ขอให้นำมาตรา 7 หรือ ราชประชาสมาสัยมาใช้ เพราะดีกว่า เร็วกว่า ประหยัดกว่า และน่าเชื่อถือกว่า"

                                                                                      ปราโมทย์ นาครทรรพ

                                                                                                                                      

สถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ความต้องการของกลุ่มต่างๆ ส่วนใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่นายกรัฐมนตรี คือ ต้องการนายกฯ, รัฐบาล และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ/ปฏิรูปการเมืองใหม่ โดยบุคคลและคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

ขบวนการทั้งหมดนี้แวดล้อมและรวมศูนย์อยู่ที่การเคลื่อนไหวมวลชนขนาดใหญ่ แบบ "ไม่ชนะไม่เลิก" ภายใต้การนำของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"

 

กล่าวเฉพาะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ถึงแม้แกนนำบางส่วนที่มาจาก "ภาคประชาชน"  ยืนยันว่าจะไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องต้องการดังกล่าวในช่วงแรก แต่ภายใต้ยุทธศาสตร์ "แสวงจุดร่วม-ไล่ทักษิณ- สงวนจุดต่าง" ทำให้แนวทางนี้มีสภาพครอบงำเหนือพันธมิตรฯ และจนบัดนี้ก็ได้ปรากฎอย่างชัดแจ้งแบบไม่มีข้อโต้แย้งอีกต่อไป

 

โดยกระบวนการนี้ได้อ้างอิงถึงมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ วิกฤติ/ทางตันทางการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะประชาชนที่มีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ทุกคน ข้อแสดงความคิดเห็นคัดค้านด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

1. รัฐธรรมนูญยังไม่ถึงทางตัน

รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยความเห็นชอบสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง (มาตรา 201 และ 202) และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการผ่านสภา (มาตรา 313) ดังนั้น การได้มาซึ่งนายกคนใหม่และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ต้องผ่านกระบวนการนี้

 

สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ สามารถที่จะดำเนินการต่อไปโดยไม่ขัดหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ กล่าวคือ หากต้องการให้นายกฯ ลาออก ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องในช่วงแรก รองนายกฯ ที่เคยเป็น ส.ส.คนใดคนหนึ่งสามารถรักษาการแทนได้, ในส่วนของการเลือกตั้ง สามารถออกพระราชกฤษฎีการขยายเวลาการเลือกตั้งออกไป ทั้งนี้ หมายความว่า ต้องแก้ไขปัญหาโดยทุกฝ่ายต้องตกลงใจร่วมกัน รวมทั้งพันธมิตรฯ ไม่ใช่ต้องการชัยชนะเพียงอย่างเดียว เช่น พรรคการเมืองอื่นๆ ต้องส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง, จัดตั้งองค์กรอิสระของประชาชนขึ้นมาควบคุมตรวจสอบการทำงานของ กกต. เป็นต้น หรือด้วยวิธีการอื่นใด ที่เป็นไปตามหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

2. บิดเบือนมาตรา 7 เพื่อตอบสนองความเรียกร้องต้องการของตนเอง สร้างบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่

"ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

 

ข้อความในมาตรา 7 นี้ โดยสามัญสำนึก แม้ไม่ใช่นักกฎหมาย ก็จะเห็นได้ว่าไม่เกี่ยวกับ "รัฐบาลพระราชทาน" หรือ "ราชประชาสมาสัย" แต่อย่างใด

 

และ ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ก็ไม่ได้ระบุว่าใครหรือองค์กรใด มีอำนาจในการวินิจฉัย ถ้ามองในแง่นี้ หากมีปัญหาที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริง ก็ต้องไม่พิจารณาไปในแนวทางที่มีลักษณะล้มล้างหรือขัดกับรัฐธรรมนูญ และหากพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาไม่ซ่อนเร้น องค์กรที่มีอำนาจในการพิจารณาก็ต้องเป็นองค์กรที่มีอำนาจหรือมีส่วนเกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญโดยตรง

 

ในส่วนประเด็น ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ไม่สามารถที่จะอ้าง "รัฐบาลพระราชทาน" ที่มีครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ คือ รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งมีเงื่อนไขและบริบททางการเมืองที่แตกต่างมาเป็นประเพณีได้ (นายกฯ หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไม่ได้มาจาก "พระราชทาน" ตามที่เข้าใจกัน ทั้งนี้เพราะถึงแม้มีการเรียกร้องให้นายกฯ มาการเลือกตั้งก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ และถูกเสนอโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร)

 

การนำมาตรา 7 มาใช้ในลักษณะนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประเพณีการปกครองใหม่ เพราะต่อไป เมื่อมีใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่พอใจรัฐบาล หรือพิจารณาด้วยตนเองว่า การเมืองถึงจุด "วิกฤติ" ก็จะนำมาอ้างอยู่เรื่อยไป

 

เราสามารถที่จะเข้าใจความพยายามในเรื่องนี้ได้ ถ้าพิจารณาจากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้เรื่อง "พระราชอำนาจ" ของคุณประมวล รุจนเสรี, "การถวายคืนพระราชอำนาจ" ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร, การถวายฎีกาของกลุ่มคนต่างๆ โดยการนำของคุณสนธิ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้น

 

ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีเหตุให้อ้าง "วิกฤต" และ มาตรา 7 ได้แต่อย่างใด แต่เกิดจากความต้องการต่อต้าน/ล้มล้างรัฐบาลเป็นด้านหลัก - เป็นคนละเรื่องกับการล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด - ซึ่งประชาชนทุกคนมีสิทธิเคลื่อนไหวเรียกร้องได้

 

3. ขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

การเรียกร้องให้มีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือ "นายกฯพระราชทาน", การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา, การรัฐประหาร, การฉีก/แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยคณะหรือบุคคลอื่น เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ขัดแย้งอย่างลึกซึ้งต่อเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, การต่อสู้ของประชาชนในอดีต ไม่ว่าจะเป็น การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ, การขับไล่นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในปี 2535 เป็นต้น

 

รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ว่าจะมีปัญหามากน้อยเพียงใดก็ตาม เป็นผลผลิตของการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย หากเห็นว่าปัญหาทางการเมืองทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะกลไกพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้เกิดการบิดเบือนอำนาจไปในทางที่ผิด ก็จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองอย่างเร่งด่วน โดยกระบวนการทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่เท่านั้น บุคคลหรือคณะบุคคลใด รวมทั้งพันธมิตรฯ ไม่มีสิทธิละเมิดหลักการพื้นฐานนี้

 

4. วิกฤตและทางตันทางการเมืองของใคร?

เหตุผลประการสำคัญที่ถูกอ้างเพื่อเรียกร้องในลักษณะดังกล่าว ของกลุ่มต่างๆ มี 2 ประการที่สำคัญ คือ 1) การเคลื่อนไหวต่างๆ จะนำไปสู่การเผชิญหน้าอย่างรุนแรง 2) ไม่มีทางออกอื่นใดที่จะ "เช็คบิล" นายกฯ ทักษิณอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้

 

แต่ความรุนแรง การสูญเสียชีวิตของผู้คน สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ถ้าทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

 

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ ภายใต้เหตุผลที่ว่า การต่อสู้หรือรณรงค์ทางการเมืองไม่ใช่เป็นการต่อสู้ที่ต้องได้รับชัยชนะหรือผลลัพท์ตามข้อเรียกร้องทุกประการ แต่สามารถที่จะเป็น "ชัยชนะ" ในความหมายอื่นได้ เช่น ในแง่ของกระบวนการ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงที่จะนำไปสู่ "ทางตันทางการเมือง"

 

หากยังยืนยันว่า "ทักษิณ-ต้อง-ออกไป" สถานเดียว ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่จะรณรงค์เคลื่อนไหวได้ ก็ต้องร่วมกันระดมความคิด และการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างแรงกดดันให้มากขึ้นต่อไป, การ "เช็คบิล" หรือเอาผิดตามกฎหมาย ก็จำเป็นต้องดำเนินไปตามครรลอง หากกลไกปกติที่มีอยู่ที่มีอยู่ไม่ทำงาน ก็ต้องเคลื่อนไหวผลักดัน ตรวจสอบ ควบคุม ดังที่กระทำกันอยู่ เช่น การเดินขบวน ชุมนุม เป็นต้น

 

ดังนั้น สถานการณ์ในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นทางตันหรือวิกฤตของสังคมไทยอย่างที่พยายามโฆษณากันแต่อย่างใด และสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ถ้าฝ่ายต่างๆ รวมทั้งพันธมิตรฯ ต้องการ

 

ถ้าจะเป็นวิกฤติหรือทางตัน ก็คงเป็นของพันธมิตรฯ-โดยเฉพาะที่มาจากภาคประชาชน- เองมากกว่า ที่ไม่มีความสามารถในการเคลื่อนไหวขับไล่ หรือ "เช็คบิล" ได้ ตามที่ตัวเองปรารถนา รวมทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวผิดพลาด จึงนำไปสู่การเรียกหา "อำนาจพิเศษ"

 

5. ไม่ชนะ-แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด- ก็เลิกได้

เข้าใจได้ว่า 5 ปี ของรัฐบาลทักษิณได้สร้างความคับข้องใจแก่ "ภาคประชาชน"อย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่ความวิตกเกรงกลัวอย่างลึกซึ้งว่า การกลับมาใหม่โดยการเลือกตั้งที่ถูกเรียกว่า กระบวนการ "ฟอกตัวเอง" จะทำให้เกิด "อหังการ์แห่งอำนาจ"มากขึ้น สร้างความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ดังนั้น จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดออกจากเวทีการเมือง จึงยังคงชูธง "ไม่ชนะไม่เลิก" หลังจากมีการยุบสภาของนายกฯ เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง โดยที่ไม่เห็นว่า จะมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การทำลายหลักการบางประการที่ตนเองยืนยันมาโดยตลอด

 

แต่ถ้าตัดความกลัวดังกล่าวออกไป จะเห็นได้ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ทักษิณถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง การกลับมาใหม่กจึงไม่เหมือนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน และถ้าพิจารณาในแง่ของโครงสร้างโอกาสทางการเมือง การมีรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็งมากนัก จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ต่อรองมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

และหากทบทวนสักนิด สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลและนายกฯในวันนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเมื่อปีที่แล้ว และการปฏิรูปทางการเมืองซึ่งเป็นเป้าหมายของภาคประชาชน ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากการเลือกตั้ง แม้ว่ากลุ่มนักการเมืองจะมีความตั้งใจมากน้อยเพียงไรก็ตาม-ส่วนจะได้ในประเด็นที่ต้องการมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการจัดตั้ง การสร้างอำนาจของตัวเอง- นี่คือ ชัยชนะ ที่เพียงพอแล้ว เพื่อรักษามรดกแห่งการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ที่พยายามจะดึงอำนาจที่รวมศูนย์ของบุคคลหรือคณะบุคคล ที่ไม่สามารถตรวจสอบควบคุม มาสู่ประชาชนมากขึ้น เช่น การมีรัฐธรรมนูญ, รัฐสภา, การเลือกตั้ง, นายกฯจากการเลือกตั้ง, การมีส่วนร่วมของประชาชน ตามลำดับ

 

6. ได้มาด้วยวิธีการพิเศษ ประชาชนจะได้อะไร?

"ปัญหา คือ นายกฯคนเดียว" คือ สิ่งที่ถูกตอกย้ำบ่อยครั้งในเวทีของพันธมิตรฯ แต่คงไม่มีใครเชื่ออย่างนั้นจริงๆ และหากเข้าใจว่าเป้าหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง คือ การเรียนรู้และการเติบโตทางการเมือง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญและควรให้ความสนใจ คือ จะทำอย่างไรให้คนทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม สร้างขบวนการของประชาชนที่เข้มแข็ง สร้างระบบที่เข้มแข็ง ที่สามารถควบคุมตรวจสอบนายกฯ รัฐบาล หรือกลไกต่างๆได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองก็ขอให้ใช้พระราชอำนาจ เรียกร้องอัศวินม้าขาว อำนาจนอกระบบ อยู่ร่ำไป ซึ่งเป็นพัฒนาการทางการเมืองแบบเลี้ยงไม่โต

 

นี่ไม่รวมถึง นายกฯ หรือรัฐบาล และการปฏิรูปการเมืองที่มาจากอำนาจพิเศษ ซึ่งประชาชน อาจจะไม่มีโอกาสตรวจสอบ ควบคุมต่อรองได้ ในด้านกลับกัน หากมาจากเลือกตั้ง ของประชาชน ก็สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ต่อรอง ชุมนุมกดดัน ประณามได้อย่างเต็มที่อย่างที่ได้กระทำกันในปัจจุบัน

7. ต้องชื่อสัตย์ต่อตัวเอง และไม่ดูถูกประชาชน?

เหตุผลที่ทรงพลังอีกอันหนึ่งของการขับไล่นายกฯ คือ ปัญหาเรื่องจริยธรรม

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ คือ ทัศนะเชิงลบที่มีต่อคนจน คนชนบทที่ไม่เห็นด้วยกับตนเองอย่างรุนแรง เช่น ถูกหลอกลวง ถูกจ้าง โง่ -ขณะที่ฝ่ายตนเองเป็นฝ่าย "ธรรมะ"- ซึ่งเป็นความคิดอันคับแคบ และดูถูกประชาชนอย่างรุนแรงแล้ว

 

พันธมิตรฯ ที่มาจากภาคประชาชน เช่น องค์กรประชาธิปไตย องค์กรประชาชนต่างๆ ซึ่งเคยประกาศกับสาธารณะว่า คัดค้าน/ไม่เห็นกับ "รัฐบาลพระราชทาน" การใช้อำนาจนอกระบบ ซึ่งปัจจุบันน่าเชื่อได้ว่า ยังมีจุดยืนเช่นเดิม น่าจะแสดงออกถึงความซื่อสัตย์ต่อความเชื่ออย่างลึกซึ้งของตนเอง และรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งที่ได้ประกาศต่อประชาชนและเพื่อนมิตรที่สนับสนุน

 

ซึ่งการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบนั้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาการบกพร่องทางจริยธรรมและดูถูกประชาชนซ้ำสอง- ถึงจะเป็นคนส่วนน้อยก็ตาม- แม้อาจจะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงก็ตาม

 

ด้วยเหตุผลทั้ง 7 ประการข้างต้น ถึงแม้ว่าจะถูกกล่าวหาว่า เป็น "แนวร่วมมุมกลับ" ของรัฐบาลทักษิณ แต่ก็ยังดีกว่าการเป็น "นั่งร้าน" ทางการเมืองให้กับการ "เว้นวรรค" ประชาธิปไตย เพราะคิดว่า "ดีกว่า เร็วกว่า ประหยัดกว่า น่าเชื่อถือกว่า"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net