Skip to main content
sharethis


 


                          
                                                  สมเกียรติ ตั้งนโม  


 


เมื่อนักวิชาการแตกเป็นสองขั้ว เอา-ไม่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทาน และ ม.เที่ยงคืน ยังยืนยันไม่เอานายกพระราชทาน "ประชาไท" พาไปคุยกับ สมเกียรติ ตั้งนโม  แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อไปถามดูว่า ทางออกที่เขาเสนอ "ไตรลักษณ์แห่งการปฏิรูปโครงสร้างสังคมไทย" คืออะไร


 


0 0 0


 


ดูเหมือนว่า ตอนนี้ นักวิชาการเริ่มแตกออกเป็นสองกลุ่มสองขั้ว เรื่องเอา-ไม่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทาน?


ยอมรับว่า ในขณะนี้ ฝ่ายนักวิชาการได้แบ่งกันออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ระหว่างกลุ่มที่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทาน กับกลุ่มนักวิชาการที่ไม่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมเป็นผู้ดูแลเวบไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผมได้อีเมลเป็นจำนวนมากในช่วงเวลานี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นกลุ่มพลังเงียบ


 


ถึงกับมีการเสนอให้กลุ่มนักวิชาการที่เสนอนายกพระราชทาน โดยมี ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์, ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ และคนอื่นๆ กับกลุ่มนักวิชาการที่ไม่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทาน นำโดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ มาขึ้นเวทีดีเบตกันเลยบนเวที ว่านักวิชาการจะเอาอย่างไรกันแน่ เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจ


 


นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อยู่ข้างไหน?


ผมในฐานะมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ยังคงยืนยันไม่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทาน เพราะคิดว่าหากมีนายกฯ พระราชทาน นั่นหมายถึงว่า วันนั้นได้เกิดการฆาตรกรรมรัฐธรรมนูญไปเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าทุกหมวดทุกมาตราในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย หรือถ้ามีการพูดเรื่องเหล่านี้ บางส่วนก็คือว่า เราสามารถที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยได้ มีบางมาตราแสดงได้แค่นั้นเอง ดังนั้น หากเกิดมีนายกรัฐมนตรีพระราชทานจริง ผมถือว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ได้หมดอายุลงแล้ว


 


แต่ยังมีหลายคนหลายกลุ่มมองว่า ขณะนี้มันมาถึงทางตันแล้ว และเหลือทางออกเดียว คือการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน?


ผมคิดว่า เราอดทนกันน้อยเกินไปหรือเปล่า อยากจะปูภูมิหลังสักหน่อยว่า สังคมไทยที่ผ่านมา ไม่เคยมีประชาชนที่อดทนออกมาเดินบนท้องถนนได้ยาวนานเท่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อน และสังคมไทยได้เรียนรู้การต่อสู้ด้วยสันติวิธีมากขึ้นเพียงใด หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ประกาศใช้ แต่ผมคิดว่า เท่านี้ยังไม่พอนะ ในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีกับความไม่เป็นธรรม


 


แต่ผมอยากจะให้เราดูประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอื่นๆ บ้าง อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ ที่มีการขับไล่มาร์กอส ก็เป็นไปโดยสันติวิธี ขนาดที่ว่ามาร์กอสถึงกับสั่งทหารให้ลุยปราบประชาชน แต่ทหารไม่ปฏิบัติ เพราะทหารเห็นแล้วว่า คำสั่งของประธานาธิบดีมาร์กอสของฟิลิปปินส์ ไม่ชอบธรรม จึงไม่ยอมปฏิบัติ จนกระทั่งมาร์กอสต้องระเห็จไปอยู่ต่างประเทศ กรณีที่สอง คือ กรณีโจเซฟ เอสตราดา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เหมือนกัน ก็ถูกพลังประชาธิปไตยแบบสันติวิธีขับไล่ออกไปเช่นเดียวกัน


 


และตัวอย่างในประเทศยุโรป ที่ไม่ได้มีสถาบันกษัตริย์ ประชาชนเขาก็ใช้สันติวิธี เขาเรียกร้องเพื่อที่จะกำจัดความชอบธรรมโดยสันติวิธีทั้งสิ้น ผมจึงคิดว่า ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่เรายังไม่ได้เรียนรู้


 


ฉะนั้น ทุกวันนี้เราเรียกร้องถึงทางออก เพราะไม่ว่าเราจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่จริงๆ ก็ไม่ใช่ทางออกของประเทศ เพราะว่าแนวคิดของคนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้ถูกกำจัดไป หลังจากนั้น มันก็ยังมีใครอีกหลายคนที่ยังคิดแบบทักษิณ มาเป็นผู้นำทางการเมือง แล้วก็ฉ้อฉล คอรัปชั่นเชิงนโยบาย ใช้แนวคิดเสรีนิยมใหม่เหมือนเดิม แล้วก็ก่อให้เกิดวิกฤติขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง แล้วเราก็ต้องออกมาเดินบนถนนเพื่อไปขับไล่อีกรอบหนึ่ง เห็นไหมว่า มันทำให้เกิดวงจรอุบาทว์เช่นนี้ขึ้น


 


แล้วทางออกที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร?


ทางออกที่แท้จริง มันไม่ใช่เพียงแค่นายกรัฐมนตรีลาออก และไม่ใช่ว่าถ้านายกรัฐมนตรีไม่ลาออกมันจะถึงทางตัน ผมคิดว่า ถ้าเราไม่ช่วยกันหาทางออก นั่นคือทางตันทั้งสิ้น ซึ่งผมขอเสนอทางออกที่เรียกว่า  "ไตรลักษณ์แห่งการปฏิรูปโครงสร้างสังคมไทย"


 


ลักษณ์ที่หนึ่งก็คือ การปฏิรูปการเมือง โดยพยายามที่จะให้สังคมไทยมีรัฐบาลที่ไม่ฆ่าคน ไม่โกหก ไม่ลักทรัพย์ของแผ่นดิน และรักษากระบวนการยุติธรรมไว้อย่างมั่นคงโดยไม่เข้าไปแทรกแซง


 


สอง การปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งผมคิดว่า ตราบใดที่เรายังดำเนินรอยตามแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ หรือที่เรียกว่า washington consensus(ฉันทามติวอชิงตัน) มันจะนำไปสู่จุดวิกฤติ ที่แยกระหว่างคนจนคนรวยให้มีช่องว่างถ่างขึ้นไปอีก ฉะนั้น สิ่งที่จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ ก็คือ เศรษฐกิจพอเพียง แบบที่ อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เคยเสนอเอาไว้ว่า ระหว่าง วอชิงตัน คอนเซนซัส ปะทะกับ เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผมคิดว่า ภาคประชาชนควรเลือกวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อธำรงการพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน 


 


และลักษณ์ที่สาม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ การปฏิรูปสังคม วัฒนธรรม และจริยธรรม ให้ประชาชนได้มีเสรีภาพ มีความเสมอภาค ให้ประชาชนสามารถเรียนรู้และเข้าถึงความจริงมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ ผมขอเรียกว่า "ไตรลักษณ์แห่งการปฏิรูปโครงสร้างสังคมไทย" ในระบบโครงสร้างเลย ซึ่งจะผ่าทางตันได้อย่างแท้จริงในอนาคต และไม่ก่อให้เกิดวงจรอุบาทเกิดขึ้นอีกซ้ำสอง


 


สรุปแล้วทาง ม.เที่ยงคืน ยังยืนยันอยู่เช่นเดิม ว่าไม่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทาน?


ใช่ ที่ผ่านมาในระยะแรก ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เคยนำเสนอ 2 ประเด็น ก็คือการปฏิรูปการเมือง กับการปฏิเสธการเมืองนอกระบบ หมายถึงอำนาจนอกระบบทุกชนิด


 


ประเด็นแรก ในส่วนของการปฏิรูปการเมืองนั้น วันนี้ผมคิดว่า ให้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างเดียวไม่พอ จึงขอผนวก "ไตรลักษณ์แห่งการปฏิรูปโครงสร้างสังคมไทย"


 


ส่วนประเด็นที่สอง ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังคงยืนยันอยู่เต็มที่ คือไม่ต้อนรับอำนาจนอกระบบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนอกระบบจะเป็น ทหาร หรือนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะควบคุมและกำกับได้ อำนาจประชาธิปไตยของประชาชนจะหมดไปในทันที เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดมารองรับ เนื่องจากว่า รัฐธรรมนูญได้ถูกฆาตกรรมไปเรียบร้อยแล้ว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net