Skip to main content
sharethis


                                                


 


 



เจตนารมณ์ มาตรา 7


ก่อนอื่นเราเอาให้ชัดก่อนว่า มาตรา 7 แปลว่าอะไร ซึ่งน่าประหลาดเมื่อกลับไปค้นดูในรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองของไทย เราพบว่ามาตรา 7 หรือข้อความทำนองอย่างนี้ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลที่มาจากคณะทหารทั้งหลายหนุนหลังหรือออกหน้า หรือพูดง่ายๆ คือ รัฐบาลเผด็จการที่ร่างรัฐธรรมนูญโดยเนติบริกรของตนหรือโดยตนเองก็ตามแต่ทุกรัฐบาล จนถึงรัฐธรรมนูญของ รสช.ในปี 2534 ล้วนแต่บรรจุข้อความในมาตรา 7 ไว้ทั้งหมด


 


แล้วก็น่าประหลาดอีกเหมือนกัน ในช่วงระหว่างที่เรามีรัฐบาลเผด็จการที่มีการตราข้อความลักษณะนี้ใน 2502 มาจนกระทั่งถึง 2534 ระหว่างนี้จะมีรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากอำนาจที่มีความหลากหลายกว่าทหาร เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างเยอะแยะไปหมดหลายฉบับด้วยกัน เช่นรัฐธรรมนูญปี 2518 เป็นต้น ทุกครั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญประเภทนั้นมาตรานี้จะไม่ปรากฏ ไม่มี


 


แม้แต่รัฐธรรมนูญของถนอม กิตติขจร ที่จำเป็นต้องออกไปหลังจากที่ยึดครองอำนาจโดยคณะปฏิวัติมาเป็นเวลาเกือบ 12 ปี คือรัฐธรรมนูญปี 2511 ก็ไม่มีมาตรานี้ ฉะนั้นมาตรานี้ถูกร่างขึ้น ถูกเขียนขึ้น และบรรจุลงไปในธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ขอโทษผมบอกให้ด้วยว่า 2518 ก็ไม่มี พอ 2519 ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นมาหลัง 6 ตุลา ก็บรรจุกลับเข้ามาอีก 2520 ธานินทร์ถูกขับไล่ออกไป คณะทหารเข้ามาปกครองโดยตรง ก็บรรจุเข้าไปอีก พอถึง 2521 มีหลายกลุ่มขึ้นมา บังคับให้มีการร่างรัฐธรรมนูญกันขึ้นมาใหม่ ก็ไม่มีมาตรานี้อีก


 


เพราะฉะนั้นโดยสรุปก็คือ มาตรานี้เป็นมาตราของรัฐบาลเผด็จการประเภทต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า มาตรานี้ตั้งแต่ 2502 มาจนกระทั่งถึง 2521 ไม่มีคำว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


 


คำว่า อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่มี ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์เป็นต้นมา เมื่อไหร่ที่มันไม่ปรากฏในธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญหรือในรัฐธรรมนูญก็ตามแต่ ให้ใช้จารีตและประเพณีการปกครองในระบบประชาธิปไตยเฉยๆ ไม่มีคำว่า อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


 


คำว่า อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นถูกใส่เข้ามาในปี 2534 โดยเนติบริกรของ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ทำไมเผด็จการถึงต้องการมาตรานี้ ผมไม่มีเวลาจะพูด เพราะมีคนพูดหลายคน จะข้ามมันไป แต่บอกได้เพียงว่า นี่เป็นข้อกำหนดของรัฐบาลเผด็จการทุกรูปแบบที่ผ่านมาในประเทศไทย


 


ทำไมรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งไม่ใช่รัฐธรรมนูญของพวกเผด็จการ มีกลุ่มพลังในสังคมไทยเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงโดยอ้อมมากที่สุดเท่าที่เคยมีรัฐธรรมนูญในประเทศไทยมา หรือที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำไมถึงบรรจุมาตรานี้ลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 อันนี้ผมตอบไม่ได้ ผมไม่ทราบเหมือนกัน


 


กลับไปดูในการอภิปรายเมื่อตอนที่เขาร่างรัฐธรรมนูญกัน เมื่อเขาเสนอมาตรานี้เข้ามา เข้าใจว่าผู้ที่เป็นผู้ยกร่าง เป็นคนใส่ลงไป เมื่อเขายกร่าง เขาเสนอเข้ามาในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครถามเลยสักแอะ ไม่มีแม้แต่ชม ยกมือลุกขึ้นมาชมก็ยังดีนะฮะ ผู้ร่างเขาจะได้บอกว่า เออ เขาใส่ลงไปทำไม ฉะนั้น คำตอบคือ เราไม่รู้เจตนารมณ์ว่ามาตรานี้เจตนารมณ์จริงๆ ของมันคืออะไรกันแน่ที่ไปลอกรัฐธรรมนูญเผด็จการใส่เข้ามา ลอกลงมาทำไม เพราะผู้ยกร่างก็ไม่ต้องอธิบายแล้วก็ไม่มีใครถามสักแอะหนึ่ง ไม่มีการเถียงอะไรกันเลย แล้วมันก็ผ่านไปเฉยๆ


 


กระนั้นก็ตาม ผมคิดว่าเราไม่สามารถตีความกฎหมายตามใจชอบได้ ในกรณีที่เราไม่สามารถหาเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ชัดๆ คุณจะทำยังไง ผมผู้ไม่เคยเรียนกฎหมายแต่อยากจะสอนคนที่เรียนกฎหมายว่า วิธีทำก็คือว่า คุณเอาไอ้ตัวกฎหมายฉบับนี้ คือมาตรานี้ กลับเข้าไปใหม่ในรัฐธรรมนูญ คุณต้องอ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วไปดูว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีบรรยากาศ มันมีเงื่อนไขแวดล้อม มันมีจุดมุ่งหมายอะไรในตัวมัน จึงต้องอ่านมาตรานี้ให้สอดคล้องกันกับเป้าหมายหลักของตัวรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้นี้ต้องการสถาปนาระบอบปกครองที่ไม่ปล่อยให้ใครก็ตามแต่ มีอำนาจโดยไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งพระราชอำนาจด้วย


 


ฉะนั้น มาตรานี้จึงต้องอ่านภายใต้จุดมุ่งหมายหลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือไม่ใช่อ่านเพื่อจะก่อให้เกิดอำนาจยิ่งใหญ่ที่ไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลจากใครเลยในสังคม


 


นอกจากนั้นแล้ว คำว่าประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในภาษาไทย ขอประทานโทษ ผมจบอักษรศาสตร์ ในภาษาไทยเป็นประโยคหรือเป็นวลีหรือเป็นอนุประโยคที่แยกออกจากกันไม่ได้ แปลว่าอะไร แปลว่า ประเพณีที่คุณจะดึงมาใช้นั้นจะต้องเป็นประเพณีที่เมื่อใช้แล้วทำให้ประเทศไทยไม่มีประมุขที่เป็นพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามคุณดึงประเพณีของระบอบการปกครองนี้มาใช้แล้วทำให้ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้เหมือนกัน


 


ทั้งสองอย่างนี้เหมือนกันและเท่ากันด้วย มีความสำคัญเท่าๆ กัน คือคุณต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและคุณต้องเป็นประชาธิปไตย ถึงจะสามารถใช้มาตรา 7 นี้ได้อย่างถูกต้อง ผมไม่ทราบว่า ที่เขาอ่านๆ กันนี่ เขาอ่านกันมาจากอะไรผมไม่ทราบ แต่เมื่อไล่กลับไปดูในตัวเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว ชัดเจนว่าคุณอ่านอย่างนั้นไม่ได้ อยู่ๆ คุณไปบอกว่า ขอพระบารมีเป็นที่พึ่งช่วยตั้งนายกฯ มา ตั้งรัฐบาลมาให้แทน อย่างนี้ประเทศไทยไม่ใช่ประชาธิปไตย คุณทำไมได้ อยู่ๆ คุณไปขอนายกพระราชทาน คุณทำไม่ได้


 


เพราะว่าถ้าอย่างนั้นแปลว่าประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งขัดกับมาตรา 7 ผมคิดว่า ความหมายของมาตรา 7  ถ้าอ่านตามอย่างที่ผมได้อธิบายมานี้ แปลว่า เมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ฉลาดทั้งโลกนี้ย่อมไม่บัญญัติบางอย่างไว้อย่างชัดเจน เช่น เมื่อรัฐบาลแพ้โหวตร่างพระราชบัญญัติสำคัญในสภา รัฐบาลต้องลาออกธรรมนูญบนโลกนี้ถือเป็ฌนแบบนี้ทั้งสิ้น เพราะอะไร เพรามไม่ได้บัญญัติบางอย่างไว้อย่างชัดเจน บาลณอ่านอย่างนั้นไม่ได ทุกประเทศในโลกนี้ถือเป็นประเภทนี้อย่างนี้ทั้งสิ้น เพราะอะไร เพราะในแง่ปฏิบัติแสดงว่า รัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาได้ ยังไงคุณก็บริหารต่อไปไม่ได้ คุณจึงต้องลาออก นี่ไม่ใช่เรื่องมารยาท เป็นเรื่องประเพณีการปกครอง แต่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ฉลาดที่ไหนในโลกที่เขาจะบรรจุข้อความนี้ลงไว้ เพราะอะไร ก็เพราะ พ.ร.บ.สำคัญ นั้น อะไรสำคัญ สำคัญอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยเป็นกรณีไป


 


ฉะนั้น จึงไม่ต้องเขียน แต่ถือเป็นประเพณีว่า เมื่อไหร่ที่คุณไม่สามารถผ่าน พ.ร.บ.สำคัญได้ แต่ พ.ร.บ.เล็กๆ น้อยๆ ห้ามขายหมูวันพระอย่างนี้โอเค ส.ส.บางคนอาจจะอยากกินหมูมากในวันพระก็ไม่ยอมยกมือให้ ก็ไม่เป็นไร ในเรื่องสำคัญ เขาจะยกมือให้ เพราะอย่างนั้นก็ไม่ต้องออก คือคุณพิจารณาไปเป็นเรื่องๆ เขาจึงไม่เขียนในรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐบาลรักษาการ ไม่ต้องเขียนหรอก รัฐบาลรักษาการเขาไม่ได้ดำเนินนโยบายใหม่ เขาไม่ผูกมัด เขาไม่ทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะผูกมัดรัฐบาลใหม่ ถึงไม่ต้องเขียนก็ไม่พึงทำ อย่างนี้เป็นต้น


 


มาถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง ถ้านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้ลาออกอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าอ่านรัฐธรรมนูญเป๊ะๆ รัฐบาลหมดไป เมื่อนายกฯลาออก รัฐบาลก็สิ้นสุด ถูกไหม สภาก็ไม่มี จะตั้งนายกฯได้อย่างไร วิธีการที่คุณอ่านรัฐธรรมนูญแบบเบี้ยวๆ ก็คือว่า อ้าวนี่ไง ทำให้เราต้องไปขอพระราชทานนายกฯมาตามมาตรา 7 ซึ่งผมว่าไม่ใช่ เพราะไม่เช่นนั้นมันก็อย่างที่ผมพูดเมื่อกี้นี้ว่า ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่เป็นประชาธิปไตยอีกต่อไป ก็จำเป็นต้องใช้ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็คือ ต้องอาศัยประเพณีของการสืบทอดตำแหน่งในภาวะปกติมาใช้ก็คือ รองนายกฯที่เป็นสมาชิกสภาฯขึ้นมาเป็นนายกฯ รักษาการเป็นการชั่วคราวไปก่อนจนกว่าจะมีสภาขึ้นมา จึงจะสามารถมีนายกฯ เป็นปกติได้ อันนี้ผมคิดว่า คุณไม่มีทางอ่านอย่างอื่น ถ้าอ่านโดยไม่ตั้งใจจะเบี้ยว


 


ปัญหาจริงๆ ของมัน ผมคิดว่า สิ่งที่เราต้องคิดก็คือ เราสามารถเอาทักษิณซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่พวกเราไม่ชอบและเห็นว่าไม่มีความชอบธรรมจะเป็นนายกฯต่อไป ออกตามกระบวนการประชาธิปไตยได้หรือไม่ได้ ผมเชื่อว่าได้ ผมคิดว่าเราคิดเร็วเกินไป เราคิดจะปิดบัญชีแต่เพียงว่า เอามันออกไป เอามันออกไป


 


แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ ระวังนะครับ ถ้าคุณทักษิณออกไปโดยการถูกบีบของกลุ่มชนจะเป็นส่วนมากหรือส่วนน้อยก็แล้วแต่ วิญญาณคุณทักษิณน่ะยังอยู่ คุณทักษิณกลายเป็นวีรบุรุษ อย่างที่คุณสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งโชคดีมากเลยที่ตาย ซึ่งทำให้แกเป็นวีรบุรุษของคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย


 


เป็นวีรบุรุษไม่แปลกนะครับ ประเทศไทยนี่เต็มไปด้วยวีรบุรุษจอมปลอมไปหมดเลย แต่เป็นทางเลือกของสังคม เมื่อไหร่บ้านเมืองเป็นวิกฤตขึ้นมาด้วยเรื่องใดก็แล้วแต่ จะมีคนร้องเรียกบอก เมื่อไหร่เราจะมี สฤษดิ์ ธนะรัชต์กลับมาซะทีนึง น่ากลัวนะครับ เช่นเดียวกับคุณทักษิณ คุณต้องให้แกออกไปชนิดที่ว่า วิญญาณแกต้องหายลงหม้อไปด้วย ไม่ใช่กลายเป็นคนที่วันหนึ่งสังคมไทยจะเรียกร้องว่าเมื่อไหร่เราจะมีทักษิณอีก


 


แล้วก็ไม่ใช่คุณทักษิณ ชินวัตร ที่หน้าเหลี่ยมๆ คนนี้ด้วย คนอย่างคุณทักษิณน่ะน่ากลัว แล้วไม่ใช่มีคนเดียว ไม่ได้สังกัดพรรคไทยรักไทยอย่างเดียวด้วย ผมคิดว่าสังกัดทุกพรรคการเมืองเลย ถ้ามองจากภาคประชาชนนะฮะ ไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย คุณทักษิณแกเป็นคนห่ามเท่านั้น แกก็ทำสิ่งที่รัฐบาลอื่นทำอย่างเม้มๆ ออกมาอย่างเปิดเผยชัดเจน


 


การขายรัฐวิสาหกิจนี่เริ่มต้นในสมัยนี้เหรอ ก็ไม่ใช่ เริ่มต้นในสมัยนายกฯเป็นลูกแม่ค้าขายพุงปลา แล้วมันต่างอะไรกัน คุณว่า เป็นแต่เพียงคุณทำแบบเม้มๆ กับการที่คุณทำโดยเปิดเผย สร้างม็อบมาชนกันกับม็อบเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย เพราะฉะนั้น คนแบบคุณทักษิณต่างหากที่เราจะต้องสาปส่งว่าไม่ใช่ทางเลือกของสังคมไทย


 


อยากจะเป็นวีรบุรุษ เป็นเลยผมไม่ว่า แต่ขอว่าอย่าให้เป็นทางเลือกของสังคมไทยอีก ไอ้นี่คือหัวใจสำคัญ แล้วผมคิดว่า ถ้าคุณใจไม่เย็น คุณกำลังจะสร้างวีรบุรุษขึ้นมาให้กับคนบางกลุ่มบางเหล่า


 


ที่สำคัญและต้องเข้าใจคือ อย่าเข้าใจผิดอย่างที่คุณทักษิณเข้าใจผิดว่า ประชาธิปไตยจำกัดแต่เฉพาะหีบบัตรเลือกตั้ง หีบบัตรเลือกตั้งก็ใช่ ไม่มีใครปฏิเสธว่าหีบบัตรเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในระบบประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่อย่างเดียว ต้องไม่ลืมนะครับ สนามหลวงที่เขาชุมนุมอยู่เวลานี้เป็นสิ่งที่ทำตามกติกาเป๊ะ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เราต้องสนับสนุนเขา ให้เขามีสิทธิ ไม่เห็นด้วยกับเขาก็ได้ แต่เขาต้องมีสิทธิในการชุมนุมอย่างนั้นต่อไป การบอยคอตการเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายค้านเป็นการกระทำตามกติกาเป๊ะอีกเหมือนกัน แล้วเขาทำกันทั้งโลกนี้ ไม่รู้กี่แห่งต่อกี่แห่งเขาก็ทำกันอยู่เสมอ


 


เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งจึงไม่ใช่เป็นกลไกเพียงอย่างเดียวของระบอบประชาธิปไตย มันมีอีกหลายอย่าง แล้วต้องใช้มันให้หมดด้วย ทำให้คุณทักษิณค่อยๆ เน่าไปในสายตาประชาชนทั้งประเทศ แล้วหลุดไปต่อหน้าต่อตาเราชนิดที่ไม่มีใครอยากจะหยิบเอาขึ้นมาแขวนบนต้นไม้ใหม่ ไม่ใช่การปิดบัญชีกันง่ายๆ แบบนี้


 


กระบวนการอันนี้จะทำให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้นด้วย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของประชาธิปไตย คุณมีประชาธิปไตยที่อ่อนแออย่างสังคมไทยทุกวันนี้ ไปไม่รอดหรอก คุณต้องทำให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าสนใจที่สำคัญที่สุดสำหรับเราไม่ใช่ตัวผลที่สุดว่า คุณทักษิณยังจะอยู่บนเก้าอี้ หรือจะลงมาจากเก้าอี้เมื่อไหร่ ผมว่านั่นเรื่องเล็ก กระบวนการที่จะให้คุณทักษิณลงนี่ต่างหาก ที่เป็นหัวใจสำคัญกว่า


 


อย่าใจร้อน อย่าคิดแบบง่ายๆ แบบที่มีนักวิชาการคนหนึ่งบอกผม เป็นเวียดกง ผมจะใช้อาวุธอะไรก็ได้ โห คุณก็คิดได้ แต่ชาติมันไม่ได้มีอายุเพียงแค่ 5 วันแล้วเลิกกันไปนี่หว่า มันมีอายุเป็นร้อยเป็นพันปี ต้องคิดถึงอนาคตอันยาวไกล ว่าเราจะต้องชนะในหนทางที่จะทำให้เราโตขึ้น ไม่ใช่เรากลายเป็นเด็กมากขึ้น เราต้องชนะในหนทางที่เราจะโตมากขึ้น อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ


 


แต่ปัญหาจริงๆ ที่ผู้จัดไม่กล้าเขียนในหัวข้อการอภิปราย หรือคุณหลีกเลี่ยงจะเขียนเพราะเหตุใด ผมก็ไม่ทราบ จริงๆ คุณไม่ได้สนใจมาตรา 7 คุณสนใจว่า รัฐบาลพระราชทานเป็นทางออกหรือทางตันของภาคประชาชนซึ่งก็น่าจะเขียนตรงไปตรงมาแบบนี้มากกว่าเรื่องมาตรา 7 จะได้ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายเรื่องมาตรา 7 กัน


 


ชาวบ้าน เผชิญทางตัน มานานแล้ว


ทีนี้ ถ้าจะตอบปัญหานี้ ผมว่าจะต้องกลับมาดูว่า ทางตันของภาคประชาชนคืออะไร ผมสรุปได้อย่างนี้


 


ประการแรกเลย ผมคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยนโยบายพัฒนาเป็นต้นมาเป็นอย่างน้อย หรือตั้งแต่ประมาณ 2500 เป็นต้นมา มันทำให้ดุลอำนาจเดิมในสังคมเปลี่ยนไป ดุลอำนาจเดิมเป็นอย่างไร ผมไม่มีเวลาจะให้รายละเอียด เอาแต่เพียงว่า ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนคนรากหญ้าทั้งหลายจะไร้อำนาจเท่ากับหลัง 2500 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้


 


อย่างน้อยที่สุดก็เพราะว่ารัฐบาลไม่มีทหารประจำการ รัฐบาลไม่มีรถไฟ รัฐบาลไม่มีโทรทัศน์ รัฐบาลไม่มีอะไรเลยสักอย่าง ถึงจะใหญ่ขนาดไหน ถึงจะเก่งขนาดไหนก็แล้วแต่ นี่ผมหมายถึงรัฐบาลสมัยอยุธยานะฮะ ก็เก่งอยู่ได้ในเมืองหลวง พอไกลไปอีกหน่อยในชนบท ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ กฎหมายตราสามดวงที่นั่งท่องกันจนตายนี่ จะบอกให้ว่า ของจริงไม่ได้ใช้ในหมู่บ้านหรอก หมู่บ้านมันมีกฎตามประเพณีของมันซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง


 


แต่พอตอนที่คุณมาเปลี่ยนกฎหมายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ให้กลายมาเป็นกฎหมายสมัยใหม่แบบอังกฤษ คุณลืมกฎหมายประเพณีไปหมดเลย คุณลืมไปหมดเลยว่า จริงๆ ประชาชนเขามีกฎหมายของเขาอยู่ด้วยซึ่งเป็นกฎหมายประเพณี สำหรับมุสลิมนี่ชัดเจนเลย กฎหมายประเพณีเขาถูกละเลยหมดเลย ทั้งๆ ที่มันศักดิ์สิทธิ์เสียยิ่งกว่ากฎหมายตราสามดวงด้วยซ้ำ เพราะอย่างนั้นนี่เป็นประเด็นที่หนึ่งที่ต้องเข้าใจ


 


อันที่สองต่อมาที่อยากจะพูดถึงก็คือ ในปัจจุบัน ประชาชนไร้อำนาจในทุกระดับ ไร้อำนาจเหนือทรัพยากร ครั้งหนึ่งเคยมีทรัพยากรที่อยู่ใกล้ตัว อย่างน้อยที่สุดคือที่ดินของตัวเอง ที่ดินเหล่านั้นก็หลุดไปจากมือด้วยกฎหมายที่ดินที่ไปลอกฝรั่งมาโดยไม่เข้าใจวิธีการจัดการเรื่องที่ดินในสังคมไทย ผลก็คือมีคนจำนวนมากหลุดจากที่ดินที่ตัวเองเคยได้ใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น แม้แต่ที่ดินที่เราเคยทำการเพาะปลูกที่เป็นของตัวเองก็หลุดไป ก็หายไป


 


ถ้าไปดูวิถีการผลิตของประชาชนไทยในประเทศไทย เราจะพบว่า เขาไม่ได้ใช้แต่ที่ดินที่ล้อมรั้วได้แบบที่กระทรวงมหาดไทยชอบไปสั่งให้เขาทำเท่านั้น คนเราจะอยู่ได้ต้องมีทรัพยากรกลางอยู่ด้วย มีทรัพยากรที่เป็นของส่วนรวมที่เขาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ถ้าในอีสานคือที่ดินอีกจำนวนมากมายที่เรียกว่าป่าบุ่งป่าทามซึ่งน้ำมันท่วมถึง แต่พอน้ำลด เขาก็มีการจัดการในชุมชนว่า ใครมีสิทธิ์จะใช้ที่ดินตรงนี้เป็นของกลางได้บ้าง


 


มันต้องมีป่าสำหรับการปล่อยวัวไปเลี้ยง ในภาคเหนือสมัยหนี่ง พอหมดหน้านา เขาไล่ควายเข้าป่าแล้วไม่ดูมันอีกเลย มึงไปหากินเอาเอง พอใกล้หน้านาไปจับมันกลับมาใหม่ นี่เป็นวิธีการใช้แรงงานได้ประหยัดที่สุด ถูกไหม และในขณะเดียวกันก็ใช้ทรัพยากรกลางในการช่วยการผลิตของเขา แต่ทรัพยากรกลางเหล่านี้ถูกยึดหมด ยึดโดยรัฐ ยึดโดยนายทุน


 


ป่าบุ่งป่าทามในอีสาน มีเป็นแสนไร่ที่ถูกบริษัทมะเขือเทศแห่งหนึ่งของรัฐบาลแม่ค้าพุงปลานี่แหละยึดไปเลย ต้องต่อสู้ในศาลตั้งไม่รู้จะกี่ปี กว่าที่ศาลจะสั่ง บอกไม่ได้ อันนี้เป็นของส่วนรวม บริษัทเอกชนนั้นไปออกโฉนดผิด เอกสารสิทธิ์นั้นผิด อันนี้เป็นโชคดีของชาวบ้านแถวนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วมันถูกยึดไปฟรีๆ ยึดไปหมดเลย ไม่เหลือทรัพยากรกลางสำหรับการผลิตอีกต่อไป และคุณมาบ่น บอกคนจนๆ คุณจะแก้ปัญหาโดยการเอาเงินไปเที่ยวแจกเขา คุณจะบ้าเหรอ ไม่มีใครต้องการเงินของคุณ เขาต้องการพลังอำนาจในการผลิตที่อยู่ในมือเขา แต่คุณไม่ให้ คุณผ่าไปให้เงิน


 


นอกจากนั้นประชาชนไร้อำนาจที่จะใช้กลไกของสังคมสมัยใหม่ ตัวอย่างง่ายๆที่สุด ถามว่าคนจนขึ้นโรงพักได้ไหม ได้ ถ้าตำรวจจับเขาไป แต่ขึ้นไปเพื่อจะไปฟ้องตำรวจ มีสักกี่คนที่จะขึ้นไปได้ ไม่มี ขึ้นไปได้ตำรวจรับแจ้งความไหม อย่างนี้เป็นต้น กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดเลย ส่วน ศาล ที่เขาถูกละเมิดจำนวนมากมายนี่มันเป็นคดีแพ่ง มีปัญญาฟ้องเหรอคดีแพ่ง ไม่มี


 


แล้วเมื่อไหร่ที่มองว่าอำนาจประชาชนขัดกับอำนาจรัฐ คุณจะรู้สึกว่าต้องรักษาอำนาจรัฐไว้ก่อนเพื่อความสงบเรียบร้อย วิธีนี้คุณสู้คดีในศาลเมื่อไหร่คุณก็เจ๊งเมื่อนั้น ยากมากที่คุณจะชนะคดีในศาลได้ ผมว่า ทั้งประเทศไทยเวลานี้ มีคำพิพากษาที่อ้างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ไม่ถึง 10 คำพิพากษา มีเหมือนกันนะครับ แต่ที่อ้างถึงจริงๆ อย่างเปิดเผยนี่ มีไม่ถึง 10 คำพิพากษา


 


ในแง่ปฏิบัติ รัฐธรรมนูญฉบับนี้กับกระดาษเช็ดก้นนี่ เกือบจะไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย เพราะฉะนั้นมันจึงไร้อำนาจที่จะใช้กลไกสมัยใหม่ ชาวบ้านเข้าถึงไทยรัฐไหม ชาวบ้านเข้าถึงทีวีไหม ชาวบ้านเข้าถึงอะไรไม่ได้หมด


 


นอกจากนั้น ชาวบ้านไร้อำนาจที่จะเปิดพื้นที่ทางสังคมด้วย ในระดับท้องถิ่นก็ไร้อำนาจ สมัยหนึ่งคุณสามารถใช้การนินทาในการควบคุมผู้ใหญ่บ้านได้ ปัจจุบันก็ไม่ได้แล้ว ผู้ใหญ่บ้านแกมีตึกมโหฬาร คนไทยนี่ไม่โง่หรอกไม่ใช่นินทาแล้วกลัวคนที่ถูกนินทาจะได้ยินนะ คุณตั้งใจจะให้มันได้ยิน ให้มันได้ยินโดยทางอ้อม ปัจจุบันนี้ไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่อยู่ในคฤหาสน์ คุณไม่สามารถจะนินทาให้ไปถึงหูผู้ใหญ่บ้านได้ แกไม่ได้มาจ่ายตลาดในหมู่บ้านด้วยซ้ำ แกไปจ่ายที่โลตัส เพราะอย่างนั้น แล้วเมื่อไหร่แกจะได้ยินคำนินทา ชาวบ้านจึงไร้พื้นที่สำหรับการควบคุม เข้าใจไหมฮะ คุณเป็นคนไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง


 


ในระดับชาตินี่ไม่ต้องพูดถึง เมื่อกี้พูดถึง ส.ส. ส.ส.ก็ไม่ได้เป็นปากเสียงให้ชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่มีอำนาจในการใช้เครื่องมือนี้ในการต่อรองอำนาจในสังคมได้เลย ชาวบ้านเข้าถึงสนามหลวงไหม ไม่ถึงครับ น้อยครั้งมากเลย ชาวบ้านจะเข้าถึงเมื่อเขายิงกัน ไปดูรายชื่อคนที่ถูกยิงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์อะไรก็ตาม กลายเป็นคนเล็กๆ หมด ไอ้คนใหญ่ๆ ไม่เห็นมันโดนยิงซักที เป็นต้น


 


ฉะนั้น ผมถึงคิดว่า ความไร้อำนาจโดยสิ้นเชิงอันนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง นี่คือตัวทางตัน โดยไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องรัฐบาลพระราชทานหรือไม่พระราชทานนะฮะ ทางตัน เวลานี้ชาวบ้านอยู่ในทางตันอยู่แล้ว นอกจากนั้น เขายังถูกกำหนดวิถีชีวิตในอนาคตสิ้นเชิงเลย


 


รัฐบาลปัจจุบันนี้แทบจะพูดได้เลยว่า เขาตั้งใจ เขาบอกเลยว่า คนทุกคนเป็นเถ้าแก่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไอ้การให้เงินกู้อะไรร้อยแปดพันประการ ไอ้เอสเอ็มแอล เอสอะไรบ้าๆ บอๆ นี่ มันจะมีคนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถดิ้นรนทะลุมาเป็นเถ้าแก่ได้ คำถามคือ ที่เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์เป็นอะไร ลูกจ้างเขาน่ะสิ เป็นกรรมกรน่ะสิ


 


การที่มีกรรมกร 90 เปอร์เซ็นต์ที่เป็น unskilled labour เป็นแรงงานไร้ฝีมือ แล้วถามคุณว่า แล้วพวกนี้จะเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียยังไง ไม่มีทาง ไม่มีทางจะเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้ เมียมันน่ะแหละที่จะต้องไปรับผ้ามาเย็บตัวละ 5 บาทที่บ้าน เพราะว่าไม่มีโรงงานไหนอยากจะจ้างคุณไปเป็นแรงงานในโรงงานอีกแล้ว แต่ถ้าคุณรับของไปทำที่บ้าน คุณไม่อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน คุณเจ็บป่วยนายจ้างเขาก็ไม่ดูแลคุณ อะไรก็ได้มันเรื่องของคุณ คุณรับงานไปทำที่บ้าน แล้วเวลานี้ทุกคนใช้ระบบนี้หมด ให้ของไปผลิตเองที่บ้าน จ่ายค่าแรงในราคาถูก นี่คือชะตากรรมของ 90 เปอร์เซ็นต์


 


ถามว่าเขาจะหนีชะตากรรมนี้พ้นไหม ไม่พ้น ทรัพยากรก็ถูกแย่ง เวลานี้เปิดให้ทั้งจีน อเมริกัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ร้อยแปดเข้ามาแย่งทรัพยากรเรา แต่พวกนี้มันฉลาดนะ ไม่แย่งแค่น้ำ แต่หัวใจที่จะแย่งมากกว่าคือ พันธุ์พืช ความรู้ภูมิปัญญาเดิมที่คุณมีอยู่ ไอ้นั่นก็ถูกแย่ง กำลังจะถูกแย่งไปหมดในกฎหมายลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรที่อเมริกันพยายามบังคับใช้ทั่วโลก


 


เพราะฉะนั้น คุณก็เอาผลประโยชน์ของคน 90 เปอร์เซ็นต์ ไปสังเวยให้ WTO ไปสังเวยใน FTA เพื่อประโยชน์ในการที่คุณจะขายบริการดาวเทียมคุณบ้าง เพื่อประโยชน์ในการที่คุณจะขายอะไรบ้าๆ บอๆ ที่คุณร่ำรวยมหาศาลอยู่ในทุกวันนี้ เอามาจากไหน อย่าลืมคำของคานธีนะครับ ไม่มีหรอกครับ ไม่มีเงินที่ไม่มีที่สิ้นสุด คุณมีเงินมากมันต้องมีสักคนหนึ่งที่เงินมันต้องน้อยลง เงินมันก็อยู่แค่นี่แหละคุณ ทรัพย์สมบัติในโลกมันก็อยู่แค่นี้แหละคุณ ถ้าคุณมีมาก คนอื่นก็ต้องมีน้อย แล้วใครจะมีน้อย ก็คนไร้อำนาจไร้พลังนี่ไงที่มีน้อย เพราะฉะนั้น เขาจึงอยู่ในทางตันอยู่แล้ว


 


ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ฉีกเครื่องมือเพิ่มอำนาจชาวบ้าน


คำถามที่สำคัญก็คือว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะแก้ทางตันอันนี้ได้ไหม ไม่ใช่มาถามเรื่องว่า นายกฯพระราชทานแก้ได้ไหม และด้วยความเป็นธรรม เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสถาบันทางการเมืองในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าพรรคการเมืองรัฐบาล ระบบราชการอะไรก็แล้วแต่ สถาบันที่ใกล้ชิดประชาชนระดับรากหญ้าที่สุด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิเสธไม่ได้ และด้วยเหตุผลที่ใกล้ชิดที่สุดจึงอาจจะรู้จักชะตากรรมของชาวบ้านดีกว่าสถาบันการเมืองอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าแม่คุณจะขายพุงปลาหรือไม่ก็ตามแต่ ผมคิดว่าคุณไม่รู้จักประชาชน หลังจากที่คุณจบมหาวิทยาลัยในประเทศไทยแล้ว คุณลืมประชาชนทั้งนั้นแหละ


 


ฉะนั้น คำตอบไม่ใช่ง่ายๆ ว่าคืนพระราชอำนาจเถอะ ไม่ใช่ เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่คุณเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คุณต้อง deal คุณจะต้องต่อรองอำนาจ และคนที่คุณต้องต่อรองอำนาจไม่ใช่ประชาชนรากหญ้า แต่คือเถ้าแก่ซีพี คือคนอย่างคุณทักษิณ ชินวัตร คือคนทั้งหลายที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองที่เสียงดัง คุณพิภพ (ธงไชย) นี่คนหนึ่งที่เสียงดัง คนเหล่านี้ต่างหากที่นายกฯพระราชทานต้องมาต่อรองอำนาจด้วยไม่ใช่ชาวบ้าน


 


เพราะฉะนั้น แม้สถาบันพระมหากษัตริย์จะใกล้ชิดและรู้จักประชาชนระดับรากหญ้าดีขนาดไหนก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเลือกนายกฯพระราชทานที่ดีขนาดไหนก็แล้วแต่ ความเป็นจริงก็คือว่า นายกฯคนนั้น ต้องมาต่อรองอำนาจกับผู้มีอำนาจ ไม่ใช่มาต่อรองอำนาจกับผู้ไร้อำนาจคือประชาชน ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าไม่มีทาง ไม่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ท่านจะทรงใกล้ชิดและรู้จักประชาชนดีขนาดไหน ไม่มีทางที่จะเกิดนายกฯพระราชทานที่จะเป็นการผ่าทางตันของภาคประชาชนได้ เป็นไปไม่ได้ เพราะความเป็นจริงก็คืออย่างที่ผมพูดเมื่อกี้นี้ ไม่มีใครต่อรองอำนาจกับคนไร้อำนาจในโลกนี้


 


เพราะฉะนั้น ผมถึงคิดว่าการผ่าทางตันของภาคประชาชนเอง คือภาคประชาชนต้องมีอำนาจ ภาคประชาชนเองต้องขยับตัวเอง ไม่ใช่รอคนอื่นๆ ต้องขยับตัวเองเพื่อจะสามารถทำให้มีอำนาจ และสัญญาณอันนี้มันมีภาคประชาชนที่โดนรังแก โดนเอาเปรียบตลอดมา อย่างน้อยตั้งแต่ 2502 มาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ไม่ได้นอนแบหงายยอมรับความเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา เขามีการขยับตัว


 


เฉพาะคนชั้นกลางในกรุงเทพฯเท่านั้น ที่คิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 คือการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 ชาวบ้านไม่ได้คิดอย่างนั้น ชาวบ้านบอกรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปการเมืองยังไม่ได้เริ่มขึ้นเลย เพราะอย่างนั้นไม่ต้องมาพูดถึงครั้งที่ 2 ครั้งที่ 1 ยังไม่เสร็จเลยด้วยซ้ำ และชาวบ้านมองรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นเครื่องมือในการทำให้เขามีอำนาจเพิ่มขึ้น


 


ผมเชื่อว่านักเรียนที่เรียนนิติศาสตร์ของจุฬาฯ เวลานี้ ไปพูดเรื่องรัฐธรรมนูญแข่งกับคุณจินตนา แก้วขาวที่บ้านกรูดแพ้ แกอ้างมาตรานู้นมาตรานี้ ผมก็งง ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้เท่าแก เพราะว่า ชาวบ้านต้องศึกษาเครื่องมือตัวเองอย่างดี เพื่อจะใช้กระบวนท่าได้ทุกกระบวนท่าในการต่อสู้เพื่อจะเพิ่มอำนาจของตนเอง และผมว่านี่คือหัวใจสำคัญ เพราะฉะนั้นต้องมองรัฐธรรมนูญแบบชาวบ้านว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมือง เป็นเครื่องมือที่จะทำให้คนไร้อำนาจค่อยๆ สั่งสมอำนาจขึ้นมาในสังคมนี้ โดยไม่ต้องมีนายกฯพระราชทานเนี่ย ไม่ต้องมีภาค2 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจสำหรับคนที่ไร้อำนาจ



ำหรับคนที่ไร้อำนาจ ขอบตรรมนูญฉบับนี้โดยไม่ต้องนายกฯพระราชทานเนี่ย เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจ


เพราะฉะนั้น ในกรณีที่มีกระแสเสนอนายกฯพระราชทาน ภายใต้กระแสนี้ภาคประชาชนจึงควรจะต่อต้านคัดค้าน เพราะการมีนายกฯพระราชทาน ตามมาตรา 7 อย่างที่ผมมอง คือการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง และนั่นคือการทำลายเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนค่อยๆ สั่งสมอำนาจของตัวเองไปได้ จึงต้องรักษาตัวรัฐธรรมนูญเอาไว้ ไม่ใช่รักษาเพื่อให้คุณทักษิณอยู่ต่อ จะอยู่ต่อไม่อยู่ต่อ ไม่สำคัญ แต่ว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้ามาต่อรองอำนาจได้ทีละเล็กทีละน้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net