Skip to main content
sharethis




ประชาไท—14 มี.ค. 2549 นักประวัติศาสตร์ และอดีตทูตไทยประจำสิงคโปร์ยกตำนานจุดจบ จูเลียส ซีซาร์ กลางเดือนมีนาคม เตือนระวังความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทูตอัษฎา ชัยนามเรียกร้องคนเดือนตุลาออกจากพรรคไทยรักไทยเพื่อกดดันรักษาการนายกฯ ให้ลาออก ด้าน ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หวั่น คนไทยไม่อหิงสาจริง



 


โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรควบตรี/ด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชย์ฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โครงการตลาดวิชา/มหาวิทยาลัยชาวบ้านการร่วมจัดสัมมนาหัวข้อ "The Ides of March: ตุมาสิก/เทมาเส็ก-ชินคอร์ป และเมืองไทยหลังทักษิณ" วานนี้ เตือน ระวังความเปลี่ยนแปลงกลางเดือนมีนาคม


 


ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายอัษฎา ชัยนาม อดีตทูตไทยประจำสิงคโปร์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการประวัติศาสตร์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี ดร.พิภพ อุดร คณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินรายการ


 


โดยดร. ชาญวิทย์ ได้เท้าความถึงคำว่า The Ides of March ว่ามาจากตำนานของจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ หมายถึงวันที่เป็นเป็นจุดจบของจูเลียสซีซาร์ในวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นจุดจบของระบอบซีซาร์ โดยที่จูเลียส ซีซาร์ถูกลูกน้องที่ไว้วางใจสังหาร และต่อมาวลีดังกล่าวมีนัยเป็นการเตือนให้ระวังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งดร.ชาญวิทย์กล่าวว่าเป็นประโยคที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้


 


การสัมมนาดังกล่าวมุ่งเน้นประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสิงคโปร์จากอดีตถึงปัจจุบัน และสังคมไทยหลังยุคของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยดร.ชาญวิทย์ กล่าวย้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับสิงคโปร์ โดยอธิบายว่า ตุมาสิกนั้นหมายถึงช่องแคบเขี้ยวมังกร ซึ่งก็คือทางตอนใต้ของประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบัน ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์และสยามนั้น นักประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่จะเชื่อว่าสิงคโปร์เคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรสุโขทัยมาก่อน อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ปรากฏในภายหลังไม่ยืนยันความเชื่อดังกล่าว


 


ทั้งนี้ ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า ไม่ว่าสิงคโปร์จะเคยเป็นเมืองขึ้นของสยามมาก่อนหรือไม่ก็ตาม แต่ปัจจุบัน การณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้ามกับความเข้าใจของคนไทยแล้วอย่างแน่นอน เพราะว่า ตุมาสิกต่างหากที่จะเอาสยามเป็นเมืองขึ้น


 


ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ในสายตาของสยามนั้นเป็นหน้าต่างไปสู่ความทันสมัย ส่วนภาพลักษณ์ของคนสิงคโปร์ที่คนไทยมองนั้น ดร.ชาญวิทย์ได้ตั้งคำถามว่า คนไทยเคยมองประเทศใด หรือเชื้อชาติไหนเท่าเทียมกับตัวเองบ้าง ถ้าไม่มองว่าอีกฝ่ายอยู่สูงกว่าตน เช่น ฝรั่ง หรือญี่ปุ่น ก็มองว่าอีกฝ่ายด้อยกว่าเช่น ลาว กัมพูชา เป็นต้น


 


ในทางกลับกัน สำหรับสิงคโปร์แล้ว ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่าสิงคโปร์มองประเทศไทยในแง่ดี และเป็นมิตรกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ


 


ด้านอดีตทูตไทยประจำสิงคโปร์ อัษฎา ชัยนาม กล่าวว่า ไทย-สิงคโปร์มีผลประโยชน์ร่วมกันมากมายและต่างเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของกันและกัน เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยกับสิงคโปร์แตกต่างกัน จึงค้าขายกันได้ดี และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สิงคโปร์ก็มาลงทุนในไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรืออสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งสิงคโปร์เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยถึงปีละประมาณ 300,000 โดยที่ประเด็นเดียวที่ดูเหมือนจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างไทยและสิงคโปร์ก็คือการบิน เนื่องจากที่ตั้งของไทยดีกว่า แต่สิงคโปร์มีเครื่องบินที่ดีกว่าและค่าบริการถูกกว่าของไทย


 


นอจากนี้ไทยและสิงคโปร์ยังมีความสัมพันธ์กันด้านการทหารอย่างแน่นแฟ้นโดยถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มีการจัดตั้งกรรมการบริหารร่วมระหว่างกองทัพไทยกับสิงคโปร์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงของทั้งสองประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคงระหว่าง 2 ประเทศ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนผู้บังคับบัญชาของทั้ง 3 กองทัพอย่างสม่ำเสมอ มีการจัดตั้งคระทำงานร่วมระหว่างกองทัพเรือไทยและสิงคโปร์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพของทั้ง 2 ประเทศ มีความร่วมมือด้านการฝึกโดยไทยอนุญาตให้สิงคโปร์ใช้พื้นที่ในการฝึก มีการฝึกกำลังผสมร่วมกัน คอบราโกลด์ สิงคโปร์ก็มาฝึกทหารบกที่กาญจบุรี นอกจากนั้นก็มาใกทหารอากาศที่นครราชสีมา และอุดรธานี ซึ่งก็เป็นมานานแล้ว


 


"แต่ที่ผมตั้งข้อสังเกตหน่อยก็คือว่าในยุคคุณทักษิณมีการเซ็นสัญญาความร่วมมือทางทหารอากาศเป็นเวลา 15 ปี แต่เที่ยวนี้แปลกมากเพราะสมัยที่ผมเป็นทูตอยู่สิงคโปร์ก็มีการฝึกทุกปี แต่คราวนี้ทำไมมีความร่วมมือเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ให้เพื่อนฝูงเช็คดูก็ปรากฏว่า ที่เซ็นนี่เขาให้เรือบินหลายลำ เข้าใจว่าเป็นการแลกเปลี่ยน แต่ทำไมรัฐบาลไม่ประกาศ เพราะถ้าประกาศคนจะสงสัยน้อยหน่อย แต่นี่ไม่ประกาศ ก็แปลกดี"


 


อย่างไรก็ตาม นายอัษฎา กล่าวว่าสิงคโปร์มีการปฏิบัติ 2 มาตรฐานในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เช่นการปล่อยให้มีแรงงานไทยเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายจนกระทั่งไม่ต้องการแรงงานแล้วก็กวาดจับโดยใช้กฎหมายหนีเข้าเมืองแต่เลี่ยงที่จะใช้กฎหมายแรงงาน เพราะจะกระทบกระเทือนต่อนายจ้างชาวสิงคโปร์ด้วย


 


หากมองย้อนอดีตกลับไปก็มีการรับซื้อแร่ดีบุกผิดกฎหมายจากไทย และปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือในการควบคุมแร่ที่ผิดกฎหมายอ้างว่าให้ไทยควบคุมเอง เป็น 2 ตัวอย่างในอีกหลายๆ พฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์นั้นมักจะปฏิบัติตนแบบ 2 มาตรฐาน


 


สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับสิงคโปร์นั้น ท่านทูตอัษฎากล่าวว่า สิงคโปร์มีแมวมองภายในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจะจับตาว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำ และเคยเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปแสดงวิสัยทัศน์ในปี 1994 ก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


"ตอนนั้นคุณทักษิณยังไม่ได้เป็นนายกฯ เขาบอกว่าเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับเชิญไป แต่ผมคิดว่า แลกเปลี่ยนอันนี้ไม่มีอะไร ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าเชิญไป Pick your Brain คือเชิญไปให้เขาล้วงไต๋ ว่าหมอนี่คิดอย่างไร ซึ่งก็เป็นวิธีที่ฉลาด"


 


นายอัษฎากล่าวต่อไปว่าดูเหมือน พ.ต.ท.ทักษิณก็คงเห็น รู้จักและเลื่อมใสในสิงคโปร์ และพ.ต.ท.ทักษิณชอบระบบการเมืองที่ต้องนิ่ง พรรคการเมืองต้องอ่อนแอ อีกทั้งระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ก็ไม่ใช่ทุนนิยมของเอกชนแต่เป็นทุนนิยมโดยรัฐ


 


สำหรับเหตุการณ์การเขม็งเกลียวทางการเมืองของไทยภายหลังจากที่บุคคลในครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปเปอเรชั่นให้กับกองทุนเทมาเสกของสิงคโปร์กระทั่งนำไปสู่การยุบสภา และจะมีการเดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากรักษาการนายกฯ นั้น นายอัษฎากล่าวว่าไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือด ส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ก็คือ คนในไทยรักไทยลาออก โดยขอแสดงความหวังกับคนรุ่น 14 ตุลา และ 6 ตุลา ว่า น่าจะลาออกจากพรรค เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์และกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก และถ้ามีเหตุการณ์ไม่ดี ถ้ามีเหตุนองเลือดรัฐบาลจะเสียเปรียบ อย่างไรก็ตามอดีตทูตไทยประจำสิงคโปร์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคงไม่ลาออกง่าย ๆ


 


"เหตุการณ์ต่อไป ผมไม่อยากให้มีนองเลือด และวิธีที่จะไม่ให้มีการนองเลือดส่วนหนึ่งจะต้องให้คนในไทยรักไทยลาออก พวก 14 ตุลา 6 ตุลา มีกึ๋นหรือเปล่า พวกพ่อค้าอย่างคุณสุริยะนี่ยังพอเข้าใจได้ ผมคิดว่าเป็นผลประโยชน์ของรัฐบาลนะครับที่จะไม่ให้มีเหตุการณ์นองเลือด แต่ผมคิดว่าท่านนายกฯ ท่านคงไม่ลาออกง่ายๆ แต่ว่าถ้าทางไทยรักไทยไม่บีบกันเอง เขาไม่ยอมออกแน่ และเขาก็ยังมีเงินที่จะระดมคนเข้ามา แต่ถ้ามีการนองเลือดเมื่อไหร่ผมคิดว่ารัฐบาลจะเสียเปรียบ"


 


ด้าน ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า หากจะฝ่าข้ามความขัดแย้งทางการเมืองไปโดยอหิงสาอโหสิ ทางออกคืออารยะขัดขืน อาจจะเป็นทางเดียวที่จะออกจากวิกฤติได้ แต่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทำ เพราะมันไม่ง่าย


 


"ผมคิดว่าถ้าเราจะฝ่าข้ามไปโดยอหิงสาอโหสิ ผมคิดว่าทางออกทางหนึ่งคือ อริยะขัดขืน อย่างที่เราบอกว่าจะไม่ใช้โทรศัพท์ยี่ห้อนี้ก็อาจจะเป็นอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าอริยะขัดขืนคือทางออกทางเดียว


 


"แต่ที่น่าวิตกก็คือคนจะไม่ทำ แม้ว่าจะเป็นทางออกทางเดียวแต่ผมคิดว่าคนจะไม่ทำ เช่น ผมจะเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ก็เป็นเรื่องยากมากเลย ต้องไปยกเลิกเอง ให้เลขาไปไม่ได้ วิธีอหิงสานั้นไม่ง่ายเลย ต้องบังคับเราเยอะ ต้องบังคับความสะดวกสบาย ความเคยชินอะไรก็ตาม นี่ก็เป็นความหวังว่าเราต้องใช้วิธีนี้ถ้าจะฝ่าข้ามไปโดยไม่มีความรุนแรงไม่มีการนองเลือด"


 


"เรื่องอหิงสา เราพูดแต่เราไม่ทำ สิ่งที่เราเห็นไล่มาตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 ,6 ตุลา 2519, พฤษภาคม 2535 ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามันน่าห่วงนะครับ เราจะฝ่าข้ามไปโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้หรือไม่" ดร.ชาญวิทย์ตั้งคำถาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net