Skip to main content
sharethis

หากไม่มีสถานการณ์กดดันนายกรัฐมนตรีจนต้องยุบสภา จะประเมินภาพสังคมไทยว่าอย่างไร


ถ้ายังไม่ถึงจุดที่นายกฯ ยุบสภา สังคมไทยจะมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือ ประเทศไทยจะก้าวไปสู่สังคมทุนนิยมอย่างเต็มรูปแบบ แต่ค่อนข้างจะไม่ยุติธรรม คือมีการผูกขาดเรื่องอำนาจและผลประโยชน์โดยเชื่อมโยงกับทุนข้ามชาติ


 


ในขณะนั้นต้องยอมรับว่านายทุนเข้ามาปูทางทางการเมืองไว้แล้ว จนเกิดเป็นกลุ่มธนกิจทางการเมืองที่สามารถรวบอำนาจทั้งทางการเมือง อำนาจในเรื่องทุน แล้วใช้อำนาจนั้นครอบงำกลไกระบบราชการต่างๆ  ครอบงำและแทรกแซงองค์กรอิสระทุกองค์กรในการตรวจสอบถ่วงดุลกรณีที่เป็นปัญหาทุจริต


 


ส่วนนโยบายของรัฐบาลก็โน้มเอียงไปในลักษณะที่ก่อประโยชน์ให้กับทุนข้ามชาติและทุนผูกขาดในชาติที่มีอยู่ไม่ถึง 10 ตระกูล เช่น นโยบายเอฟทีเอ โดยเฉพาะกับสหรัฐและญี่ปุ่น ตอกย้ำว่าความเสียหายจะกระจายทั้งปริมาณและคุณภาพ เกษตรกรจะต้องแบกรับในเรื่องของการใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ จนต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตและวัฒนธรรมของเกษตรกร จากวิถีชีวิตแบบเดิมก็กลายเป็นแรงงานให้กับทุนอุตสาหกรรมเกษตร ตัวอย่างนี้เห็นได้ที่ประเทศเม็กซิโกหลังทำสนธิสัญญานาฟต้ากับสหรัฐ เกษตรกร 10-20 ล้านคนต้องเข้าไปขายแรงงานในเมือง และอีก 3-5 แสนคน ต้องหนีไปขายแรงงานในสหรัฐฯ


 


หรือนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า พลังงาน และการบินก็เปิดโอกาสให้ต่างชาติมาจับจองทั้งสิ้น คนที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้ที่มีหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซื้อหุ้นในตลาดนั้นได้ไม่ว่าจะผ่านพี่ผ่านน้องที่ไปซื้อหุ้นจากต่างชาติ ชีวิตของคนไทยจะต้องสูญเสียในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตกอยู่ในภาวะความยากจน หนี้สิน


 


ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยจะกว้างขึ้น อย่างตอนนี้ ถ้ามีเงินร้อยบาท คนรวยยี่สิบคนแรกจะได้เงินเพิ่มขึ้นจาก 50 - 55 บาท เป็น 60 บาท แต่คนจนใน 20 คนสุดท้ายมีรายได้ลดลงจาก 4-5 บาท เหลือแค่ 3 บาท หนี้สินต่อครัวเรือนในรอบสิบปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 60,000-70,000 บาทต่อครัวเรือน ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นเพียง 2-3 บาท และภาพสังคมไทยก่อนยุบสภานี้เองที่นำมาสู่วิกฤติศรัทธาของนายกฯ


 


ส่วนลักษณะที่ 2 สังคมไทยกลายเป็นระบบที่ตกอยู่ในอำนาจที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณาธิปไตย" คือแทนที่จะนำกระบวนการในกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ ก็กลายเป็นว่ากระบวนการ-วิธีการต่างๆ ขึ้นกับการตัดสินใจของนายกฯ คนเดียว


 


นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในเรื่องการสื่อสารตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 39 40 41 สิทธิชุมชนต่างๆ ถูกทำลายไปหมดสิ้นไม่ว่าจะเป็นที่ปากมูล ท่อก๊าซบ่อนอก - หินกรูด


 


กรณีของสื่อยิ่งชัดเจนจนทำให้เกิดปรากฏการณ์สนธิขึ้นมา จากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ในพื้นที่แค่ช่อง 9 ขยายตัวออกมาสวนลุมพินี แล้วกระจายไปทั่วประเทศ จนกลายเป็นปรากฏการณ์การรวมตัวของพันธมิตรภาคประชาชน


 


ณ วันนี้ สถานการณ์ทางการเมืองร้อนระอุขึ้น คิดว่าภาพสังคมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง


สังคมไทยกำลังตัดสินพิพากษานายกฯ ด้วยปัญหา 2 อย่าง คือความชอบธรรมทางการเมืองในฐานะผู้นำที่ไม่สามารถจัดการหมวก 2 ใบในตัวได้ ใบหนึ่งเป็นนายกฯ ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ทุกอย่างที่นายกฯ ทำคือการขัดและทำลายกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น


 


หมวกอีกใบคือการเป็นนายทุน เมื่อประชาชนพบว่านายกฯ มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องของหุ้นชินคอร์ป ปัญหาจึงลามไปถึงการเรียกร้องจริยธรรมทางการเมืองว่า การเป็นผู้นำไม่ได้เป็นเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีธรรมะเหนือการเมืองในกฎหมายด้วย


 


สิ่งที่สังคมมองเห็นและสรุปบทเรียนได้ใน 5 ปีที่ผ่านมาคือ การปฏิรูปการเมืองซึ่งใช้มาแล้ว 8-9 ปี และทำให้เกิดการสถาปนาระบอบทักษิณขึ้นมา คุณทักษิณเป็นส่วนหนึ่งในระบอบนั้น ทางออกของสังคมไทยจึงไม่ใช่เพียงการเรียกร้องให้นายกฯ ออกไป แต่ต้องนำมาสู่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย เพื่อที่จะได้ไม่มีการผูกขาดอำนาจหรือการผูกขาดทุนอีก นั่นคือต้องมีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2


 


ท่าทีของนายกฯ คือการยอมถอยตามระบบ และมีการคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ แต่ฝ่ายพันธมิตรฯ เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ถือว่าพันธมิตรฯ กำลังล้มหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ และหากมีการเผชิญหน้าเกิดขึ้นจริง ควรจะมีการรองรับอย่างไร


นายกฯ ทำไม่ถูกต้องตามหลักการในระบบเพราะไม่เข้าใจในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าใจเรื่องอำนาจทางการเมือง ไม่เข้าใจว่าการเมืองไม่ได้มีเฉพาะการเมืองของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่จะมีการเมืองของภาคพลเมืองด้วย เพราะฉะนั้นกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงให้สิทธิภาคพลเมืองในการชุมนุม เรียกร้องสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือปัญหาของสาธารณะเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม


 


ในอดีตเรามีบทเรียนเรื่อง 14 ตุลา (14 ตุลาคม 2516) เรื่องเดือนพฤษภา (17-19 พฤษภาคม 2535) เมื่อระบอบทักษิณเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ ประชาชนจะอยู่นิ่งเฉยได้อย่างไร ในเมื่อเขาเป็นผู้ที่จะต้องประสบความเดือดร้อน เช่น เอฟทีเอผูกพันไปทั้งสังคมไทย และไปถึงลูกหลาน


 


การชุมนุมเป็นการเมืองภาคประชาชน เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นอย่าหลงประเด็นว่านายกฯ พยายามมาทำกรอบกติกาให้มีการเลือกตั้ง


 


ประการที่สองคือ การบอกว่ายุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งเป็นท่วงทำนองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องการคืนอำนาจสู่ประชาชน แต่ที่จริงไม่ใช่เลย เพราะระบบถูกครอบงำไปหมดแล้ว องค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ เช่น มีประกาศให้เลือกตั้งส.ส.ในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการหลังจากรัฐบาลออกมาพูดก่อนว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันนั้น เรื่องนี้หมายความว่าอย่างไร นอกจากนั้น ในการออกกำหนดที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบการเลือกตั้งตามมาตรา 8 ระบุไว้ชัดว่า ก.ก.ต. ต้องมีองค์ประชุม 4 ใน 5 แต่ปรากฏว่ามีแค่ 3 คนเท่านั้น ถือว่า ก.ก.ต. ทำผิดกฎหมายที่กำหนดไว้


 


นอกจากนั้นองค์ประกอบ ก.ก.ต. เองก็มีไม่ครบ เพราะเสียชีวิตไป 1 ท่านเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 แต่ต้องดำเนินการเรื่องการสรรหาให้ครบภายใน 45 วัน ขณะนี้เท่ากับล่าช้าไปแล้ว นั่นคือการกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าศรัทธาต่อสังคมที่หวังว่า กกต.จะสามารถดูแลรักษาการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์นั้นมันเป็นไปไม่ได้


 


ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การคืนอำนาจให้ประชาชน แต่เป็นการแสวงหาอำนาจให้กลับมาโดยใช้รูปแบบที่ควบคุมได้ สังคมไทยต้องเข้าใจ ต้องเรียนรู้ และต้องรับทราบตรงนี้ ไม่งั้นจะหลงประเด็นที่นายกฯ และรัฐบาล รวมถึงคนในรัฐบาลพยายามหลอกว่าทำตามกติกา ยึดตามรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงท่านได้ทำลายกฎหมายรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่ได้อ้างความชอบธรรมในตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญ


 


แต่นายกฯ ถอยมาอย่างนี้แล้ว ก็มีการมองว่าผู้ชุมนุมกำลังฉีกรัฐธรรมนูญ และหากต่างฝ่ายต่างมองว่าทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทั้งคู่ ความรุนแรงจะเกิดขึ้นหรือไม่


การที่นายกฯ ยังหลงในอำนาจคืออันตรายที่ร้ายแรงสำหรับสังคมไทย แต่ประชาชนเข้าใจถูกแล้วในเรื่องผลเสียหายจากระบอบทักษิณ ประชาชนเข้าใจถูกแล้วในเรื่องที่มีสิทธิในการชุมนุม ทุกครั้งก็ชุมนุมอย่างสงบและตำรวจสามารถดูแลได้ คนมากขึ้นจากหมื่นเป็นแสน ขยายตัวไปทั่วประเทศ 20 - 30 จังหวัด ทั้งนักวิชาการ นักเรียน ขาสั้น ขายาว


 


นายกฯ ได้พยายามหาทางออกในการจัดการเลือกตั้ง เมื่อฝ่ายค้านพยายามให้ทำสัตยาบันเพื่อให้แน่ใจว่านายกฯ จะรับประกันในการปฏิรูปทางการเมืองและให้ถอยห่างไปจากการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดบรรยากาศการจัดการแก้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการเมือง แต่นายกฯ ก็หลีกเลี่ยง จนฝ่ายค้านรู้ทันและบอยคอตการเลือกตั้ง ทำให้เกิดสภาพทางตันขึ้น


 


นายกฯ ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นต้นตอของปัญหา แล้วต่อมายังตัดสินใจจัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงในวันที่ 3 มีนาคม ในขณะที่พันธมิตรก็จะประชุมใหญ่ในวันที่ 5 มีนาคม นอกจากนี้ก็พบว่ามีการเคลื่อนตัวของกองกำลังรักษาความปลอดภัยของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่อำนาจในการจัดการดูแลรักษาที่สนามหลวงเป็นเรื่องของตำรวจซึ่งจัดการได้อยู่แล้ว กระทรวงทรัพยากรฯ ไม่มีหน้าที่อะไรที่จะต้องระดมกำลังเข้ามา จึงเห็นสภาพของการที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน แล้วนายกฯ กำลังพยายามร่วมมือกับคนในเครือข่าย 14 ตุลาเพื่อจัดตั้งมวลชนขึ้นมาสนับสนุนตัวเอง


 


ในบทเรียน 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬก็เห็นแล้วว่าการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นสองฝ่ายจนเผชิญหน้ากันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างไรบ้าง และสังคมไทยอาจจะเกิดการนองเลือดอีกครั้ง


 


ตอนนี้วิกฤตการณ์ที่เป็นทางตันของสังคมไทยกำลังจะมาถึง เมื่อนายกฯ ตัดสินใจที่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้า ท่านเองก็จะเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้น และท่านเองก็จะต้องรับผิดชอบความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย


 


แต่บทเรียนที่ผ่านมา สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้ามาเป็นคนกลางในการยุติความขัดแย้งตลอดเวลา จนดูเหมือนว่าสังคมไทยไม่ยอมพึ่งกลไกที่มี และไม่คิดจะสร้างกลไกทางการเมืองขึ้นมาเองเลย เราจะต้องพึ่งพาสถาบันฯ ตลอดไปหรือไม่


ต้องพิจารณาในสองประเด็น ประเด็นแรกคือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงจะต้องอาศัยการคืนพระราชอำนาจจริงหรือไม่ ส่วนอีกประเด็นหนึ่งก็คือต้องพิจารณาในเชิงเนื้อหาของการแก้ไขปัญหา


 


ประเด็นแรก เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหาได้ จะต้องให้นายกฯ เป็นคนตัดสิน และทางเลือกแรกก็คือการเป็นส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนสองฝ่าย แล้วท่านจะตกเป็นจำเลยของประวัติศาสตร์ว่าใช้อำนาจปลุกปั่น ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องและเกิดการนองเลือด


 


ดังนั้น ต้องมาดูว่าในตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญมีสิ่งที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ผมและเพื่อนๆ ส.ว.ที่เป็นนักกฎหมายและ ส.ว.ที่เคยผ่านประสบการณ์ใน 14 ตุลามาพบว่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมี มาตรา 7 ที่สามารถนำมาแก้ไขได้ โดยระบุสาระสำคัญในประโยคแรกว่า "เมื่อไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายรัฐธรรมนูญ" ก็หมายความว่า อะไรก็ตามที่ไม่มีเรื่องการบัญญัติในรัฐธรรมนูญในการแก้ไขปัญหา สามารถเอาจารีตประเพณีมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงภายใต้การปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้


 


ขอยืนยันว่าตรงนี้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การย้อนหลังกลับไปสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่จุดที่ทำให้เกิดการตัดสินใจตรงนี้อยู่ที่เงื่อนไขความเหมาะสมของเวลา และกาลเทศะ


 


แนวทางสันติวิธีในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ นายกฯ ต้องตัดสินใจลาออกด้วยตัวเอง ถ้าตัดสินใจลาออกด้วยตัวเองได้ จะเกิดลักษณะช่องว่างสุญญากาศ คือถ้าลาออกตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 216 จะทำให้สภาพความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 215 ทำให้สามารถกลับมาใช้มาตรา 7 ได้ เพราะในสภาพที่มีการลาออกจากรัฐบาลรักษาการเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญ


 


อีกทั้งสภาพที่มีการยุบสภาจะไม่มีแต่ ส.ส. มีแต่ ส.ว. ซึ่งไม่เคยมีบัญญัติในกฎหมายรัฐธรรมนูญเช่นกัน หรือสภาพที่เราต้องงดใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญบางมาตราเช่น มาตราที่ว่าด้วยอำนาจ กกต. หรือมาตราว่าด้วยการใช้อำนาจของ ครม.และมาตรา 313 ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องกำหนดในเรื่องของการจัดตั้งให้มีรัฐบาลรักษาการเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่เฉพาะเรื่อง เช่น หน้าที่ในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะลดอำนาจที่นำไปสู่การผูกขาดอำนาจ การตั้งคณะกรรมการอิสระที่นำไปสู่การไต่สวนกรณีทุจริตที่เกิดขึ้น เพื่อให้นายกฯ ได้พิสูจน์ตัวเอง และต้องนำมาสู่การสร้างกระบวนการการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม 


 


ส่วนเงื่อนไขเวลาและความเหมาะสมขึ้นอยู่กับนายกฯเอง นายกฯ สามารถทำได้ถ้าประกาศเว้นวรรคทางการเมืองและทำให้เกิดเงื่อนไขสัตยาบันที่ชัดเจน


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อการผ่าทางตันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เรา ส.ว.จำนวนหนึ่งจึงประชุมตกลงกันว่าน่าจะทำหนังสือถึงนายกฯ ขอร้องให้ลาออก และสละอำนาจที่มีในขณะนี้เพื่อลดวิกฤตการณ์ที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้า คิดว่าจะรวบรวมรายชื่อและส่งให้นายกฯ ให้ได้ในวันศุกร์นี้ หวังว่านายกฯ จะได้ทบทวนอีกครั้งหนึ่งเพราะเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะแก้ไขวิกฤติได้อย่างสันติวิธี


 


แล้วถ้านายกฯ ยื้อไม่ลาออกต่อไป


ถ้าไม่ยอมลาออก สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือการเผชิญหน้า และขณะนี้เราจะได้ข่าวตลอดเวลาว่ามีการจัดตั้งคน มีการก่อกวน ซึ่งเป็นเหมือนน้ำมันราดกองไฟ อีกอย่างที่กังวลคือการฉวยโอกาสนี้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ สภาพการที่มีความรุนแรงก็จะมากยิ่งขึ้น อยากให้ท่านนายกฯ ได้ทบทวน และยืนยันว่ากระบวนการแก้ไขจะยึดหลักในตัวกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ต้องศึกษาหาทางออกร่วมกัน ถ้าเข้าใจร่วมกันว่าไม่ได้เป็นการฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญ  ก็จะเป็นตัวอย่างของสันติวิธี


 


การปฏิรูปทางการเมืองจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนของการมี "รัฐบาลพระราชทาน" หรือไม่ เพราะข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ มีลักษณะที่เอื้อให้สถานการณ์เป็นไปในทางนั้น แต่วิธีคิดมันดูจะย้อนกลับไปสมัย พ.ศ. 2475 อยู่เหมือนกัน


ผมเองพยายามหลีกเลี่ยงในเรื่องของการใช้วาทกรรม แต่คิดว่ามาตรา 7 ได้กำหนดกรอบไว้ค่อนข้างกว้างพอที่จะอุดช่องว่างต่างๆ ให้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ จึงต้องตีความให้เป็นคุณมากกว่าโทษ มาตรา 7 ให้ใช้สิ่งที่เป็นกลไกในเรื่องจารีตประเพณี ภายใต้พระมหากษัตริย์เป็นประมุข


 


เราต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นสถาบันสูงสุด ถึงแม้เราเห็นตรงกันว่าไม่ต้องการให้ท่านเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง สถาบันกษัตริย์ต้องปลอดจากการเมืองเป็นหลักการอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากใช้คำว่านายกฯ พระราชทาน แต่มองว่าจะต้องมีการกำหนดภารกิจของงานมากกว่า ว่านายกฯ หรือรัฐบาลรักษาการต้องทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง


 


การใช้ชื่อว่านายกฯ มาจากอะไรไม่ใช่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ แต่เนื้อหาของภารกิจสำคัญกว่า โจทย์ของสังคมไทยอยู่ที่ว่าเราจะใช้วิธีการอะไรให้ได้มาซึ่งนายกฯ คนนั้นโดยสามารถนำกติกาตามรัฐธรรมนูญมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ต่างหาก


 


ผมรู้ว่าการใช้คำว่านายกฯ พระราชทานเรื่องที่เซนสิทีฟ และทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ถ้าหากเรามองเป้าหมายตรงกันแล้วมาช่วยกันคิด การยึดติดที่ตัวคำพูดก็จะลดน้อยลง


 


ตอนนี้ประชาชนเองก็รู้มากขึ้น คนที่มาชุมนุมไม่ใช่คนที่ไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย แต่มีทั้งคนรวย คนชั้นกลาง นักวิชาการ เด็ก คนต่างจังหวัด คนในเมือง ซึ่งไม่เคยเห็นภาพการชุมนุมครั้งไหนที่มีคนแตกต่างกันมากขนาดนี้มาก่อน ตอนตุลายังเป็นนักศึกษา พฤษภายังมีคนชั้นกลาง แต่ครั้งนี้มีความหลากหลายมาก ถ้านายกฯ มาเจอก็จะเข้าใจ


 


แสดงว่าสังคมไทยเริ่มเรียนรู้ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น


ถูกต้อง นายกฯ อย่าไปคิดว่ามันเป็นเรื่องของกฎหมู่ ไม่อย่างนั้นมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรง ถ้าย้อนกลับไปเป็นแบบ 14 ตุลาอีก คนจะไม่ได้อะไรเลยและจะสูญเสียมากขึ้นด้วย


 


ถ้าอย่างนั้นคนจะไม่กล้ามีส่วนร่วมทางการเมืองอีก


ไม่ใช่ แต่นายกฯ เองจะได้รับผลจากการกระทำตรงนั้น สังคมไทยจะได้เรียนรู้ เพราะนี่กลายเป็นบทเรียนของสังคมไทยแล้ว แต่ยังมีเรื่องต้องเป็นห่วงอยู่สองอย่าง หนึ่งคือความรุนแรง สองคือตัวนายกฯ เองจะสูญเสียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และครอบครัวของท่านก็จะสูญเสียด้วย เหมือนที่เราเคยเห็นการสูญเสียของเผด็จการ กลายเป็นบาปที่ติดตัวที่มาถึงลูกหลานทั้งครอบครัว ซึ่งเราเองไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net