Skip to main content
sharethis

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้อ่านแถลงการณ์จุดยืนของพรรคว่า พรรคไทยรักไทยยินดีที่จะดำเนินการให้มีการประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ แต่ต้องเป็นเรื่องอนาคตของชาติ และเปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการหารือด้วย เพื่อไม่ให้การปฏิรูปการเมืองถูกจำกัดแค่เพียง 4 พรรคการเมืองเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าพรรคได้สนับสนุนการปฏิรูปการเมืองมาโดยตลอด และได้ศึกษาถึงข้อบกพร่อง/ปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและแนวทางการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพรรคจะเสนอเรื่องนี้ต่อประชาชนอย่างเป็นระบบในการเลือกตั้งที่จะขึ้นในวันที่ 2 เมษายนนี้


 


ส่วนการที่พรรคฝ่ายค้านเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีบุคคลหรือคณะบุคคลที่เป็นกลาง เป็นผู้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น พรรคไทยรักไทยเห็นด้วยในหลักการ แต่ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชน กับพรรคชาติไทยยังแตกต่างกันในรายละเอียด ซึ่งคณะบุคคลที่ยกร่างอาจจะเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร.หรือสมัชชาสภาสนามม้า แต่ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง ทั้งนี้เมื่อยกร่างดังกล่าวแล้ว ควรมีการเชื่อมโยงกับประชาชนด้วยการขอประชามติ โดยเฉพาะประเด็นที่ยังมีความขัดแย้ง ไม่ได้ข้อยุติ


 


หัวหน้าพรรคไทยรักไทยได้เรียกร้องให้ทุกพรรคการเมือง นำเสนอจุดยืนและแนวทางปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นสัญญาประชาคมว่า หากพรรคการเมืองของตนได้รับการเลือกตั้ง จะปฏิบัติตามสัญญาประชาคมนี้ และในระหว่างนี้ขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในครรลองระบอบประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง


 


จากนั้น หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้เชิญหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชนและพรรคชาติไทย พร้อมตัวแทนทั้ง 3 พรรค รวมแล้วไม่เกินพรรคละ 4 คน หารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการตั้งคณะบุคคลเพื่อเป็นคนกลางในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันนี้ เวลา 18.00 น. ห้อง 309 อาคารวุฒิสภา


 


ด้าน 3 พรรคฝ่ายค้าน จับตาพรรคไทยรักไทยว่า จะยอมลงนามสัตยาบันแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ภายหลังการแถลงของ พ.ต.ท.ทักษิณ 3 พรรคฝ่ายค้าน คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และมหาชน มีมติร่วมว่าจะไม่ไปร่วมประชุมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยในเวลา 18.00 น. และยืนยันมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในครั้งนี้


 


ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดร่างแก้ไข รธน.เพื่อปฏิรูปการเมืองฉบับฝ่ายค้านตามข้อเสนอของ "อมร จันทรสมบูรณ์" กำหนดให้โปรดเกล้าฯ กรรมการพิเศษ 7 คน เป็นคนกลางยกร่าง รธน.ปฏิรูปการเมืองทั้งระบบก่อนส่งให้ทำประชามติ โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลา 18 เดือน


      


พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยระบุว่า เป็นแนวคิดของนายอมร จันทรสมบูรณ์ นักวิชาการ ทั้งนี้ ในเนื้อหาสาระของร่างดังกล่าวได้มีการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นอีก 1 หมวด คือ หมวดที่ 13 เรียกว่า หมวด "การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง" โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 313 แบ่งเป็นอนุมาตราตั้งแต่ 313/1 จนถึง 313/21 โดยกำหนดให้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ จะต้องมีการตั้ง "คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ" โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยสรุปดังนี้


      


มาตรา 313/1 กำหนดให้มี "คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ" ซึ่งมาจากการ โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จำนวน 7 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่


 


ประเภทที่ 1 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ 5 คน ซึ่งแบ่งออกเป็นผู้ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี 2 คน, ประธานวุฒิสภาถวายชื่อตามคำแนะนำของ ส.ว.1 คน และประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 คน โดยคนหนึ่งมาจากคำแนะนำของ ส.ส.พรรครัฐบาล และอีกคนหนึ่งมาจากคำแนะนำของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ประเภทที่ 2 กรรมการที่มีประสบการณ์ทางการเมืองที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 คน โดยมาจากประธานองคมนตรีถวายชื่อ


      


คณะกรรมการจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารประกอบ (ร่างแรก) ให้เสร็จภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้ง ซึ่งเอกสารประกอบจะต้องมีประเด็นเกี่ยวกับการคาดหมายถึงความสำเร็จ หรืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่ด้วย และยังกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมกรพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ


      


และเมื่อยกร่างฯ (ร่างแรก) เสร็จแล้วให้ส่งร่างไปให้ ส.ส.และ ส.ว.ให้ความเห็น โดยทำบันทึกความเห็นแยกของ ส.ว.1 ฉบับ ส่วนของ ส.ส.แบ่งออกเป็น 2 ฉบับ โดยฝ่ายรัฐบาล 1 ฉบับ และฝ่ายค้าน 1 ฉบับ ซึ่งจะต้องแสดงเหตุผล ระบุถึงอุปสรรค และเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้


      


จากนั้นจัดเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รวมทั้งนำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ ของ ส.ส.และ ส.ว.เสนอต่อสาธารณะด้วย โดยต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบการทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ


      


เมื่อ ส.ส.และ ส.ว.ให้ความเห็น และข้อเสนอแนะแล้ว รวมทั้งได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนแล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกรางรัฐธรรมนูญ "ยกร่าง" รัฐธรรมนูญ "สำหรับลงประชามติ" (ร่างที่ 2 - ฉบับแก้ไขปรับปรุง) โดยจะต้องระบุด้วยว่า จะมีการตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้มีการ "ลงประชามติ" โดยต้องทำให้เสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่ได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะจาก ส.ส.และ ส.ว.ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติ "ให้ความเห็นชอบ" ในร่างรัฐธรรมนูญภายใน 18 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ (ที่แก้ไขมาตรา 313 นี้) บังคับใช้ และก่อนจะขอประชามติ ต้องมีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบอย่างน้อย 30 วัน


      


การออกเสียงประชามติ ต้องมีผู้ออกเสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าร่างฯไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ถ้าเสียงข้างมากในการลงประชามติไม่เห็นชอบ ก็ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ถ้าเสียงข้างมากเห็นชอบ ให้ประธานองคมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นกราบบังคมทูลฯ


      


หลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 180 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้


      


โดยในระหว่างนั้น (หลังรัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจาฯแล้ว) ต้องมีการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่ช้ากว่า 60 วัน (นับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ) เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ให้ความเห็น และให้ข้อเสนอแนะภายใน 60 วัน และต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย ร่างกฎหมายประกอบรัฐรรมนูญ ให้ตราเป็น "พระราชกฤษฎีกา" โดยประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หลังจากรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว 90 วัน ให้สมาชิกภาพของทั้ง ส.ส.และ ส.ว.สิ้นสุดลง แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่


      


นอกจากนี้ ในมาตรา 313/2 ยังห้ามมิให้บุคคลที่เป็น "กรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ" ลงสมัครเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และข้าราชการการเมือง ภายใน 3 ปี นับแต่พ้นตำแหน่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net