Skip to main content
sharethis


 







บทความใน "มุมคิดจากนักเรียนน้อย" เป็นแบบฝึกหัดที่นักศึกษาทำเพื่อส่งผู้บรรยายในวิชาระดับปริญญาตรีของ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


ปิยสุดา อาชาสันติสุข


คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


แม้ว่าตอนนี้การประชุมเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย - สหรัฐอเมริกา รอบที่ 6 จะจบลงไปแล้ว แต่ความกังวลของประชาชนต่อผลการเจรจาครั้งนี้ยังไม่หมดไป มีแต่จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเจรจาที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลและไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อการเจรจาเอฟทีเอ ทั้งๆ ที่องค์กรภาคประชาชนกว่า 10 องค์กรจากทั่วประเทศได้ร่วมแสดงพลังคัดค้านการเจรจาเอฟทีเออย่างรุนแรง เพราะผลของการเจรจาเอฟทีเอจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนทั้งประเทศ


 


สิ่งที่รัฐบาลกล่าวตลอดเวลา คือ ความจำเป็นที่เราต้องทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่ไทยได้ดุลการค้า การทำเอฟทีเอจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยมากขึ้น แต่รัฐบาลอย่าลืมว่าการทำเอฟทีเอกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา อำนาจการต่อรองของเราย่อมมีน้อยกว่าเป็นธรรมดา ดังนั้น การยอมเปิดเสรีทางการค้าต้องพิจารณาดูให้ดีว่าโอกาสที่เราจะได้คืออะไร ใครที่ได้โอกาสนั้น แล้วสิ่งที่ต้องเสียไปมีแค่ไหน คนกลุ่มไหนกันที่ต้องสูญเสีย


 


หากการเจรจาแล้วเสร็จ โอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับอย่างค่อนข้างชัดเจน คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ประเทศไทยจะได้เปรียบชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศไต้หวัน จีน และอินเดีย ธุรกิจส่งออกกุ้ง ไก่ และอาหารทะเล จะได้ประโยชน์ รวมถึงธุรกิจอาหารสัตว์ที่นำเข้าถั่วเหลือง และข้าวโพดก็จะได้ประโยชน์จากราคาวัตถุดิบที่ถูกลง นอกจากนั้นสิทธิพิเศษจีเอสพีในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับกำลังจะหมดอายุ หากไม่ได้สิทธิประโยชน์จากการทำเอฟทีเอ ประเทศไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดสินค้าเหล่านี้


 


ในส่วนของผลกระทบจากการทำเอฟทีเอที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ เรื่องยา เพราะยาจะมีราคาแพงขึ้น กระทบกับโครงการ 30 บาท อีกทั้งอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญถูกทำลาย คาดการณ์กันว่าภายใน 10 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาจะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 33,468 - 216,456 ล้านบาท และสัดส่วนการผลิตยาภายในประเทศ : ต่างประเทศ จากเดิม 54 : 46 จะเปลี่ยนเป็น 25 : 75  ผลกระทบด้านเกษตรกรรม เช่น ข้าวโพด อาจถูกผลผลิตจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาแข่งขัน ทำให้เกษตรกรต้องสูญเสียอาชีพ หรือเรื่องสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์พืชที่ได้รับการจดสิทธิบัตรเอาไว้ปลูกต่อไปได้ เป็นต้น


 


เมื่อพิจารณาดูผลจากการตกลงทำเอฟทีเอแล้ว ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดน่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจพาณิชย์การเกษตร ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยนับล้านต้องสูญเสียอาชีพ ประชาชนทั่วไปเข้าถึงยาได้ยากขึ้นและต้องซื้อยาที่แพงขึ้น รัฐบาลจึงควรตระหนักว่าโอกาสที่รัฐบาลคิดว่าจะได้รับนั้นเป็นประโยชน์กับคนส่วนมากจริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วโอกาสเป็นของคนบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนประชาชนจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างมหาศาล เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น การทำเอฟทีเอครั้งนี้จะไม่ใช่โอกาส แต่คือหายนะครั้งใหญ่ของประเทศ


 












บทความทั้งหมด

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : เซ็กส์ยังคงเย้ายวน
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : จะส่องไฟไปทำไม
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : พูดมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : แห่นางแมว: ฝนไม่ตก ก็สุขได้
 มุมคิดจากนักเขียนน้อย: อยู่ได้อย่างเป็นสุข (ในใจ)
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : กฎอัยการศึกฉบับป่าชุมชน

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย:น้อมรับพระราชดำรัส พูดง่ายแต่ทำยาก

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : แก้มลิง
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : Children of Heaven เรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
 
มุมคิดจากนักเรียนน้อย : ชนะเลิศ...ได้ "ที่สาม"
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : สิทธิบัตรชีวิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net