สัมภาษณ์สุริยะใส กตะศิลา: ล้มทักษิณไม่พอ ต้องล้มระบอบทักษิณ

 

สุริยะใส กตะศิลาเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
ภาพจาก:
http://www.bangkokbiznews.com/2005/09/28/index_pol.php

 

 

สุริยะใส กตะศิลาเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ประกาศเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า องค์กรของเขาและเครือข่ายพันธมิตรจะเข้าร่วมในการชุมนุมกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล วันที่ 11 ก.พ. ที่จะถึงนี้ โดยขณะนี้ได้ตั้งเป็นคณะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยจะมีตัวแทนจำนวน 15 คน มาจากนักวิชาการ นักธุรกิจภาคเอกชน ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร คนจนในเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน นิสิตนักศึกษา และในเบื้องต้นจะมีแนวทางเคลื่อนไหว 2 แนวทางคือ

 

1. การเคลื่อนไหว โดยใช้แนวทางตามรัฐธรรมนูญ โดยจะใช้การรวบรวมรายชื่อประชาชน ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยกรณีการซุกหุ้นภาค 2 ซึ่งขณะนี้ได้ทำแบบฟอร์มล่าประชามติ และเตรียมให้ภาคประชาชนแจกจ่ายแบบฟอร์มดังกล่าวให้ประชาชนทั่วไปได้ลงชื่อ นอกจากนี้ยังสามารถทำได้ผ่าน www.Peoplepolitic.com และ www.thaisolidarity.com

 

และแนวทางที่ 2 คือ การเคลื่อนไหวภาคมวลชน ซึ่งองค์กรพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมตัวที่จะเข้าร่วมโดยมีการประสานเพื่อที่จะให้ตัวแทนภาคประชาชนในแต่ละเครือข่ายเข้าร่วมปราศรัยในครั้งนี้

 

การประกาศแนวทางดังกล่าวเป็นสัญญาณบอกว่า องค์กรภาคประชาชนได้เคลื่อนเข้ามาสู่ฉากหน้าของกระบวนการล้มทักษิณแล้ว ภายหลังจากที่การนำของขบวนการดังกล่าวอยู่ในมือของจอมยุทธแห่งสื่อนามสนธิ ลิ้มทองกุล ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

องค์กรภาคประชาชนวางตัวเองไว้อย่างไรในการเคลื่อนไหววันที่ 11 ก.พ. ที่จะถึง เป้าหมายและแนวทางขององค์กรภาคประชาชนจะไปด้วยกันได้ลงตัวหรือไม่กับกระบวนการสนธิ  และองค์กรภาคประชาชนรวมตัวกันไปถึงไหนแล้วสำหรับภารกิจ ล้มทักษิณ ประชาไทขอเชิญไปฟังคำตอบจากเขา...สุริยะใส กตะศิลา ที่จะตอบในนามเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

 

เท่าที่พูดคุยกัน ขณะนี้ องค์กรภาคประชาชนวางบทบาทไว้อย่างไรในวันที่ 11 ก.พ. ที่จะถึง

ตอนนี้องค์กรภาคประชาชนมีความเห็นร่วมๆ กันอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือเห็นว่า รัฐบาลทักษิณหมดความชอบธรรมแล้ว จึงอยากให้นายกฯ ทักษิณลาออก

 

ประเด็นที่ 2 ก็คืออยากให้มีการปฏิรูปการเมืองไทยครั้งที่ 2 ปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ประเด็นที่ 3 สถานการณ์การเมืองขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันในการทำให้การเมืองเดินหน้าไปในทางที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ นี่คือข้อวิตกกังวลใหญ่ๆ  ฉะนั้นภายใต้ความเห็นและแนวทางที่เห็นร่วมกันนี้ เราก็ไม่ได้ปิดกั้นการเคลื่อนไหวของแต่ละส่วน ใครถนัดการเคลื่อนไหวอย่างไรก็ให้เป็นดุลพินิจของแต่ละองค์กรไป

 

เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับม็อบคุณสนธิก็เหมือนประชาชนทั่วไป ที่มีความตื่นตัวทางการเมืองก็ไปร่วมชุมนุมตามปกติเพราะถือว่าเป็นสิทธิของระบอบประชาธิปไตย

 

ในระดับต่อมาก็คือ กำลังมีการพูดคุยกันในเรื่องให้มีตัวแทนขององค์กรภาคประชาชนขึ้นเวทีปราศรัย ในกรณีที่เราคิดว่าเวทีวันที่ 4 ของคุณสนธิขาดไป ก็คือเรื่องของปัญหาเอฟทีเอ ปัญหาการขายรัฐวิสาหกิจ ปัญหาการแก้ไขความยากจน รวมทั้งปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นและการแทรกแซงสื่อ ซึ่งเป็นส่วนที่องค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรมีความรู้ความเชี่ยวชาญในประเด็นเหล่านี้ เพราะว่ามีข้อมูลเนื่องจากติดตามมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงคิดว่าจะมีตัวแทนของเราขึ้นเวทีวันที่ 11

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวันที่ 11 ต้องเป็นการชุมนุมโดยหลักสันติวิธี ถ้าเป็นการชุมนุมนอกกรอบหรือมุ่งใช้ความรุนแรง เราก็ไม่เข้าร่วมแน่นอน แต่เท่าที่ฟังท่าทีและการเคลื่อนไหวในส่วนของคุณสนธิ ผมคิดว่าก็ยังอยู่ในกรอบนะครับ ผมคิดว่าอยู่ในวิสัยที่เข้าร่วมกันได้ เพราว่าอยู่ในหลักของสันติวิธี

 

แต่ปัญหาก็คือ เราจะทำให้วันที่ 11 สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน จากองค์กรต่างๆ ได้มากขึ้น และกว้างขวางขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าการต่อสู้กับคุณทักษิณ เราไม่ได้สู้กับคุณทักษิณคนเดียว เรากำลังรับมือเรากำลังต่อกรกับระบอบทักษิณที่ใหญ่กว่าระบอบเผด็จการ รสช. เมื่อปี 2535 ด้วย เพราะมีทั้งอำนาจทางการเมืองอำนาจทหาร อำนาจรัฐ อำนาจทางเศรษฐกิจ และมีอำนาจสื่ออยู่ในมือทั้งหมดอยู่ในคนๆ เดียว ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาและอาศัยสรรพกำลังที่กว้างขวางและมีมวลชนที่ตกผลึกและรับรู้สถานการณ์อย่างเท่าเทียมกัน คิดว่าต้องใช้เวลาในการเคลื่อนไหวส่วนนี้นะครับ

 

ในส่วนของภาคประชาชนเองมองไว้หรือไม่ว่า ถ้าพ้นจากเวทีคุณสนธิแล้ว ทางภาคประชาชนเองจะเคลื่อนไหวอะไรต่อไปอย่างไร

เราไม่ได้รอว่าคุณสนธิจะยุติบทบาทหรือว่าจะหยุดเวทีเมื่อไหร่ เราก็ทำกันได้เลย ตอนนี้เครือข่ายของเราในแต่ละจังหวัดก็จัดประชุม สัมมนาระดมให้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

 

และวันนี้เราก็ตั้งเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขึ้นมา เป็นตัวแทนจากหลายส่วนเพื่อจะเชื่อมร้อยการเคลื่อนไหวให้มีเอกภาพ มีพลังร่วมกัน และก็มีสวนร่วมกันอย่างกว้างขวาง ทั้งตัวแทนจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคม นักธุรกิจ องค์กรประชาธิปไตย เอ็นจีโอ นิสิตนักศึกษา เครือข่ายสลัม สมัชชาคนจน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงาน

 

เป็นการเชื่อมร้อยพลังต่างๆ ให้มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อจะสร้างแรงกดดันต่อนายกฯ ทักษิณ ภายใต้เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราจะมีปฏิบัติการย่อยๆ ตามแต่ละกลุ่มตามต่างจังหวัดคู่ขนานกันไปกับเวทีของคุณสนธิ นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามจะผลักให้เกิดภายในเดือนนี้ และคณะกรรมการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นคาดว่า ภายในเดือนนี้คงมีความชัดเจนว่าจะมีใครบ้าง

 

ขอถามคำถามยอดนิยมว่า คิดไว้หรือไม่ว่า ถ้าไม่ใช่ทักษิณแล้วจะเป็นใคร

ถ้าถามตัวเองแบบนั้นเราก็ติดกับดักของการเมืองแบบเก่า เป็นการเมืองที่มองหาตัวบุคคลหรือตัวผู้นำ แต่ไม่ได้คิดสร้างการเมืองที่มาจากฐานข้างล่าง สร้างประชาธิปไตยที่มาจากฐานล่าง ฐานล่างก็คือประชาชน สามัญชนทั่วไป เราต้องสร้างให้ประชาชนมีบทบาทมีส่วนร่วมในทางการเมือง และเมื่อถึงตอนนั้นจะเป็นคุณอภิสิทธิ์ จะเป็นบิ๊กจิ๋ว หรือกลับมาเป็นคนในไทยรักไทยอีกก็สุดแท้แต่

 

ผมว่าเราต้องสร้างระบบการเมืองคู่ขนานหรือการเมืองที่เข้มแข็งจากฐานล่างเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล ไม่อย่างนั้นเราจะติดกับดัก ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาที่สะท้อนวิธีการมองการเมืองของคนไทยที่ไปผูกขาดอยู่กับระบบตัวแทน ไปผูกอยู่กับบุคคลจนขาดการมองบริบทของปัญหา ซึ่งขณะนี้คนยากคนจนที่เป็นคนชั้นล่างในสังคมจะตื่นตัวมาก และรู้เท่าทันการเมืองมาก แต่ก็ต้องใช้เวลา เพราะว่าประชานิยมนั้นมีมนต์สะกดที่ขลังมาก แต่ผมคิดว่าถ้าเราแหวกระบอบประชานิยมได้ เราล้มทักษิณได้ แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี คนไทยจะได้ยกระดับทางการเมืองครั้งใหญ่ จะเท่าทันนโยบายที่ฉ้อฉล จะเท่าทันโวหารของผู้นำที่เคลือบไปด้วยยาพิษมากขึ้น ผมคิดว่านี่จะเป็นการเรียนรู้ทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง

 

คุณมองว่า ปัญหาที่ใหญ่กว่าตัวนายกฯ ทักษิณ ก็คือระบอบทักษิณ

ครับ สมมติว่าไม่มีคุณทักษิณแล้วเราก็ต้องหาวิธีที่จะสกัดการเติบโตของระบอบทักษิณ ระบอบทักษิณเป็นระบอบที่ผนวกเอาอำนาจทางการเมืองกับอำนาจทุนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเป็นระบอบที่สถาปนาอำนาจให้กับตระกูลและพวกพ้องตนเอง และเป็นระบอบที่เน้นการปกครองจากส่วนบนลงล่าง รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางควบคุมพลังอิสระ และจัดระเบียบสังคมครั้งใหญ่เพื่อให้ขึ้นตรงกับส่วนกลาง ทำให้การเมืองไทยแทนที่จะก้าวหน้าไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญที่มีการบัญญัติที่ก้าวหน้ามาก ก็กลับไปติดอยู่กับที่ หรือบางประเด็นก็ถอยหลังไปด้วย เช่นประเด็นสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชนนั้นถือว่าแย่กว่าที่ผ่านๆ มา สื่อมวลชนของรัฐไม่ว่าจะเป็นวิทยุหรือโทรทัศน์นั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถูกควบคุมไว้เบ็ดเสร็จ

 

ถ้าจะล้มระบอบทักษิณอย่างเป็นรูปธรรมต้องแก้ตรงไหน อย่างไรบ้าง

นอกจากแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ต้องแก้สำนึกทางการเมืองของคนนะครับว่า ประชานิยมมีปัญหาอย่างไร และการที่เราเองไปพึ่งพิงนโยบายที่มาจากฝ่ายการเมืองโดยไม่ได้สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นเป็นปัญหา เราต้องฝ่าข้ามวัฒนธรรมการเมืองที่เอาเงินเป็นใหญ่ ที่ใครมีเงินก็ซื้อเสียง ก็สัมปทานการเลือกตั้งมาเป็นผู้นำรัฐบาล แล้วก็ถอนทุน เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง มันต้องก้าวข้ามและต้องล้มวัฒนธรรมการเมืองแบบนี้ให้ได้ และต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นการเมืองทางตรงของชาวบ้านมากขึ้นโดยเฉพาะการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน ป่าไม้

 

ที่ผ่านมาเราเตะหมูเข้าปากหมามาเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาจึงช้า ทั้งๆ ที่เราต้องใช้ต้นทุนสูงมากในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 ,พฤษภาคม 2535 หรือการปฏิรูปการเมืองปี 2540 เราสูญเสียต้นทุนสูงมาก แต่ผลตอบกลับมาบางทีมันน้อยเกินไป เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 เราลงทุนไปมาก เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งประเทศ แต่สุดท้ายปฏิรูปการเมืองไม่เดินหน้าเลยเพราะเผชิญกับระบอบทักษิณ

 

นี่จึงเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าถ้าเราฝ่าข้ามระบอบการเมืองแบบทักษิณได้ สำนึกและการเรียนรู้ทางการเมืองของสังคมไทยจะถูกยกระดับขึ้นไปอย่างมากทีเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท