รายงานพิเศษ เชียงแสน: เจียระไนเศรษฐกิจ ชำเราวัฒนธรรม

       

 

 

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม ร.ร.เชียงแสนวิทยาคม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ภาค เทศบาลตำบลเชียงแสน ร.ร.เชียงแสนวิทยาคม อำเภอเชียงแสน และเนชั่นทีวี ร่วมกันจัดประชุมสัมมนา "การพัฒนาเศรษฐกิจเมืองเชียงแสน ภายใต้เมืองแห่งการค้าชายแดน และเมืองประวัติศาสตร์ เพื่อประโยชน์ของคนเชียงแสน ควรเป็นอย่างไร" โดยมีตัวแทนชาวบ้าน ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย สำนักงานศิลปากรที่ 8 นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน และอำเภอเชียงแสน เข้าร่วมเสวนา

 

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของเมืองเชียงแสน ภายใต้การค้าชายแดน และการเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-จีน ในเขต 3 อำเภอ พบว่า ในปี 2533 ตัวเลขมูลค่าการค้าขายมีจำนวน 17 ล้านบาท และเมื่อสำรวจในปี 2548 พบว่า มีการเพิ่มมูลค่ารายได้สูงถึง 9.6 พันล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วอย่างมากในช่วงระยะเวลาเพียง 13 ปี

 

"นอกจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความเข้มข้นแล้ว อีกด้านหนึ่งของเชียงแสนก็กำลังจะพัฒนาไปให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ ที่จะตั้งเป็นเมืองมรดกโลกในอนาคตอีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งสองด้าน เพราะยุทธศาสตร์ทางการค้าของเชียงแสนนั้น รวมไปถึงเรื่องการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ด้วย"

 

นายบุญส่ง เชื้อเจ็ดตน นายกเทศมนตรีตำบลเวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า จากสภาพข้อเท็จจริงที่กำลังประสบในขณะนี้ และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า คนเชียงแสนยังไม่มีใครทราบเบื้องลึกของการพัฒนาเมืองเชียงแสน ภายใต้เมืองมรดกโลก และการเขตการค้าพิเศษตามแนวชายแดน หรือหลังการเปิดการค้าเสรี ไทย-จีน ซึ่งในความคิดของตน เห็นว่า มันสวนทางอย่างสิ้นเชิง

 

"การเปิดเสรีการค้าไทย-จีน ที่ผ่านมา คนเชียงแสนได้รับประโยชน์น้อยมาก และการจัดเก็บภาษีสินค้าที่ค้าขายกันนั้น ทางเทศบาลไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด ภาษีที่จัดเก็บได้ ทางเทศบาลก็ไม่ได้รับโดยตรง ต้องส่งไปให้ทางส่วนกลาง และมีการจัดสรรแบ่งภาษีทั่วประเทศ ซึ่งทางเทศบาลได้รับไม่ถึง 10% แต่ธุรกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นกลับทำลายการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อย่างมาก"

 

นายกเทศมนตรีตำบลเวียง เชียงแสน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ การค้าชายแดน การเปิดเอฟทีเอ ไทย-จีน ได้เข้ามากระทบต่อคนเชียงแสน ไม่ว่าด้านรถบรรทุกหนัก ที่ขนถ่ายสินค้าภายในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลเวียง ซึ่งมีเนื้อที่ 1,400 ไร่ ได้รับผลกระทบสร้างความเสียหาย และทำลายภูมิทัศน์ ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมธรรมชาติริมแม่น้ำโขงลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้น คนเชียงแสนยังได้รับผลกระทบทางด้านการค้าขาย เพราะคนในพื้นที่สู้ไม่ได้ในเรื่องราคา เพราะว่าสินค้าจากจีนนั้นปลอดภาษี ดังนั้น จึงอยากถามว่า รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเตรียมแผนนโยบายรองรับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

 

ด้านนายบุญยงค์ ปลัดอำเภอเชียงแสน กล่าวว่า ทางอำเภอเชียงแสนมองปัญหาในภาพรวมตอนนี้คือ ปัญหาแรงงานอพยพ ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า ลาว และจีน นอกจากนั้น เห็นว่าคนเชียงแสนยังอยู่ในช่วงปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์การค้าชายแดน หลังการเปิดเสรีทางการค้าไทย-จีน ทำให้ขาดทิศทาง ไม่ว่าเรื่องการค้าขาย การท่องเที่ยวในอนาคตหากมีการตั้งเป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งคนในพื้นที่ยังไม่เข้าใจ ดังนั้น ทำอย่างไร การพัฒนาตรงนี้ ย่อมมีทั้งผลดีผลเสีย ทำอย่างไรจึงจะให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมและตัดสินใจ

 

ในขณะที่ นายสหวัฒน์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 8 กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจการค้าของเชียงแสนนั้นเคลื่อนไปเร็วมาก หลังจากมีนโยบายรัฐ รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบน ซึ่ง อ.เชียงแสน ก็อยู่ในยุทธศาสตร์นี้ด้วย และไม่ได้หมายความว่าจะปฏิเสธการค้า เพราะมีการเดินหน้าไปแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ระหว่างการค้าและการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์เชียงแสนสามารถไปด้วยกันได้ และอยากหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกฝ่าย นำข้อมูลทั้งสองด้านมากางดูร่วมกันว่า ใครได้ใครเสีย และได้ประโยชน์ในทางบวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

"ในส่วนที่มีการผลักดันให้เชียงแสน เป็นมรดกโลกนั้น ตอนนี้มีการเสนอไปยังยูเนสโกไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ ซึ่งการที่จะเป็นมรดกโลกนั้น เราจะต้องมองไปทั้งภูมิภาค ทำอย่างไรจึงจะให้พื้นที่ทั่วภาคเหนือตอนบนจะได้ประโยชน์ ซึ่งในขณะนี้ ทางกรมศิลปากรได้โดดมาลงมารับผิดชอบเต็มตัวแล้ว และกำลังเร่งทำดำเนินการปรับภูมิทัศน์โบราณสถานซึ่งมีมากกว่า 100 แห่ง รวมทั้งกำแพงเมืองซึ่งค่อนข้างสมบูรณ์ถึง 70% แต่การอนุรักษ์นั้นไม่ใช่แค่โบราณสถาน แต่หมายรวมไปถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของคนเชียงแสนด้วย ดังนั้น เราจะต้องสร้างองค์ความรู้ตรงนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในอนาคต ไม่ใช่มีการท่องเที่ยวแบบฉาบฉวย" ผอ.ศิลปากรที่ 8 กล่าว

 

ด้านนายมิติ ยาประสิทธิ์ ประธานกลุ่มรักษ์เมืองเชียงแสน กล่าวว่า ทุกวันนี้ ถ้าถามว่าชาวบ้านรู้เรื่องไหมว่า ชาวบ้านจะได้อะไร ไม่ว่าเรื่องการค้าเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือการค้าเอฟทีเอไทย-จีน ทุกคนไม่รู้เลย ไม่มีการถามความคิดเห็นว่า ชาวบ้านจะมีความรู้สึกอย่างไร คนเชียงแสนกำลังถูกครอบด้วยเอฟทีเอ ทำให้การค้าของคนเชียงแสนได้รับผลกระทบ เพราะว่ามันข้ามหัวคนเชียงแสนไปทั่วภูมิภาค แต่คนเชียงแสนกลับได้รับแต่ปัญหา ต่างเป็นหนี้ท่วมหัว และรอวันตาย

 

"ที่รัฐบาลมองว่า เชียงแสนคือเพชรเม็ดงามนั้น แต่ในความรู้สึกของผมมองว่า เชียงแสนเป็นเหมือนหญิงพรหมจรรย์ที่กำลังถูกกระทำชำเราอยู่ในขณะนี้ เพราะต่างได้รับผลกระทบทั้งทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ที่ผลพวงมาจากการค้าเสรีทั้งหมด แล้วมันจะเป็นมรดกโลกได้อย่างไร ในเมื่อในขณะนี้ มีร้านนวดแผนโบราณอยู่กระจัดกระจายเต็มเมืองเชียงแสน บางร้านอยู่ตรงข้ามกับวัดและโรงเรียน อีกทั้ง ไม่ว่าการพัฒนาและการอนุรักษ์เมืองเชียงแสน ล้วนเป็นการเข้ามาควบคุมการจัดการปกครองโดยรัฐส่วนกลาง ทำอย่างไรจึงจะให้ชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม มีการบูรณาการกันอย่างแท้จริง ทุกวันนี้ เชียงแสนมีนโยบายโครงการเพียบ แต่การทำงานพังพับเรียบ" ประธานกลุ่มรักษ์เมืองเชียงแสน กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท