Skip to main content
sharethis


 



 


รายงานวิจัยชาวบ้านเผย หลังเปิดเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ไทย-จีน คนเชียงแสนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ชี้เป็นการค้าข้ามหัวเสรี ผู้ได้รับประโยชน์คือกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ในขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยด้านสินค้าบริการลดฮวบ การท่องเที่ยวหดหาย พร้อมปลุกคนเชียงแสนลุกขึ้นสู้เอฟทีเอ ไทย-จีน


 


เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมาที่ห้องประชุม ร.ร.เชียงแสนวิทยาคม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภาค เทศบาลตำบลเชียงแสน ร.ร.เชียงแสนวิทยาคม อำเภอเชียงแสน และเนชั่นแนลทีวี ร่วมกันจัดประชุมสัมมนา "ทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงแสน ภายใต้เมืองแห่งการค้าชายแดน และเมืองประวัติศาสตร์" โดยในงานนี้ มีตัวแทนชาวบ้าน กลุ่มแผงผลไม้ กลุ่มแผงลอยอาหาร และกลุ่มร้านค้าตึกแถว ฯลฯ ได้นำเสนองานวิจัย "ภาพรวมธุรกิจการค้าท้องถิ่นอำเภอเชียงแสน หลังการเปิดการค้าเสรี ไทย-จีน" มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ "ประชาไท" นำเสนอให้เห็นภาพรวมทั้งหมด


 


ตัวเลขมูลค่าการค้าหลัง FTA ไทย-จีน เพิ่มขึ้น


แต่ธุรกิจการค้ารายย่อยคนเชียงแสนทรุดฮวบอย่างน่าใจหาย


นางนิภาวรรณ วิชัย หัวหน้าโครงการวิจัยการศึกษาภาพรวมธุรกิจ หลังการเปิดการค้าเสรี ไทย-จีนเปิดเผยว่า งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นงานวิจัยที่ทำโดยคนในพื้นที่ โดยได้ลงพื้นที่ทำการศึกษาธุรกิจการค้าท้องถิ่นของคนอำเภอเชียงแสน ว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างหลังจากมีการเปิดการค้าเสรี ไทย-จีน โดยจากข้อมูลของด่านศุลกากรเชียงแสน ระบุว่า มูลค่าสินค้านำเข้าจากประเทศจีนก่อนเกิดเอฟทีเอ ตั้งแต่ปี 2545 - 2546 มีมูลค่าเท่ากับ 1,168.23 ล้านบาท เปรียบเทียบกับหลังเปิดเอฟทีเอ ตั้งแต่ปี 2547 - 2548 ซึ่งมีมูลค่า 2,495.06 ล้านบาท พบว่าประเทศไทยซึ้อสินค้าจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว


 


และเมื่อพิจารณามูลค่าสินค้าส่งออกจากประเทศไทยไปขายในประเทศจีนก่อนเกิดเอฟทีเอ ตั้งแต่ปี2545 - 2546 มีมูลค่าเท่ากับ 5,718.80 ล้านบาท เปรียบเทียบกับหลังเปิดเอฟทีเอ ตั้งแต่ปี 2547 - 2548 ซึ่งมีมูลค่า 7,151.18 ล้านบาท พบว่ามีมูลค่าสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จากข้อมูลของด่านศุลกากรเชียงแสน เมื่อพิจารณามูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน ทางด้าน อ.เชียงแสน ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา จนถึงปี 2548 พบว่า มีมูลค่ารวมการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นทุกปี


 


"สรุปได้ว่า การเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีนเพิ่มขึ้น โดยสินค้าส่งออก 10 อันดับแรก ได้แก่ ลำไยอบแห้ง ยางแผ่นรมควัน เส้นด้ายยางยืด ยางแท่ง น้ำมันปาล์ม เม็ดพลาสติก น้ำมันดีเซล เงาะกระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง และสินค้าเบ็ดเตล็ด ล้วนเป็นสินค้าส่งออกที่ไม่ได้มีแหล่งผลิตในอำเภอเชียงแสน เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้เลยว่า ชาวบ้านใน อ.เชียงแสน ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการผลิตสินค้าส่งออกไปขายยังประเทศจีนเลย"


 


นางนิภาวรรณ กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาสินค้าจีนนำเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่ แอ๊ปเปิล สาลี่ ไม้สักแปรรูป ผักสด กระเทียม กระบือมีชีวิต ผ้าห่ม เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง และโมโนไตแคลเซียมเฟต พบว่า มีการนำเข้าแอ๊ปเปิล เป็นอันดับ 1 และสาลี่ เป็นอันดับ 2 แต่เมื่อพิจารณาสินค้านำเข้าทั้ง 10 อันดับ กลับพบว่า คนใน อ.เชียงแสน มีการซื้อขายแอ๊ปเปิลกับสาลี่เท่านั้น ส่วนสินค้าประเภทอื่นมีการซื้อขายเพียงเล็กน้อย


 


ปัจจุบัน มีเรือบรรทุกสินค้าในแม่น้ำโขงด้าน อ.เชียงแสน ทั้งหมด 187 ลำ เป็นเรือของ สปป.ลาว 40 ลำ นอกจากนั้นเป็นเรือของประเทศจีน แต่ไม่มีเรือของประเทศไทยเลย อีกทั้งคนทำงานเกี่ยวกับการเดินเรือ เช่น กัปตัน ลูกเรือ ช่างซ่อมดูแลเครื่องยนต์ ล้วนเป็นคนจากประเทศจีนทั้งหมด สรุปได้ว่า ชาวเชียงแสนไม่ได้รับผลประโยชน์จากการขนส่งสินค้าทางเรือในแม่น้ำโขงแต่อย่างใดเลย


 


"สรุปแล้ว จากข้อมูลของทางการทั้งหมด ทุกคนอาจดูว่าเศรษฐกิจเมืองเชียงแสนนั้นดี มีเรือจีนเข้าออกตลอดปี แต่แท้จริงแล้ว ธุรกิจรายย่อยของคนเชียงแสนกับซบเซา เพราะว่าสินค้านำเข้าจากประเทศจีนที่มาขึ้นที่เชียงแสนนั้น ไม่ได้ผ่านคนเชียงแสน แต่เป็นกลับเปลี่ยนเป็นธุรกิจที่ผ่านทางโทรศัพท์ข้ามหัวพวกเราไปหมด" นางนิภาวรรณ กล่าว


 


ย้อนอดีตเศรษฐกิจเมืองเชียงแสน : การค้าเสรีแบบพึ่งพา


หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2537 หลังมีการเปิดสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-จีน จะมีเรือบรรทุกสินค้าจีนล่องมาตามลำน้ำโขง โดยในช่วงนั้น จะเป็นเรือขนาดเล็กบรรทุกแอ๊ปเปิล สาลี่ ได้ประมาณ 4,000-5,000 กล่อง การขนถ่ายสินค้าต้องใช้แรงงานคนแบกของขึ้นมาบนท่าน้ำ ทำให้กลุ่มแรงงานผู้ชายบ้านเวียงเชียงแสนและหมู่บ้านใกล้เคียงมารับจ้างแบกแอ๊ปเปิลกันเป็นจำนวนมาก เพราะได้เงินค่าตอบแทนมากตามจำนวนกล่องที่แบกได้แอ๊ปเปิลทีละลำเรือ จึงมีการจอดขนถ่ายสินค้ากระจัดกระจายไปทั่วเมืองเชียงแสน


 


"ตอนนั้น ได้ไปรับจ้างแบกของ สามารถหาเงินได้วันละไม่ต่ำกว่า 400-500 บาท" ลุงอุดม พรหมธะ ชาวบ้านเชียงแสน เล่าให้ฟัง


 


ว่ากันว่า คนเชียงแสนที่พอมีเงินทุนก็เริ่มหันมาค้าขายแอ๊ปเปิล สาลี่กับพ่อค้าจีน โดยมีการลงทุนร่วมกัน 2-3 คน ทำการซื้อเหมาแอ๊ปเปิลทีละลำเรือประมาณ 4,000-5,000 กล่อง มีการตกลงราคาสินค้ากันที่เรือ และชำระสินค้าเป็นเงินสดกันที่นั่นเลย หลังจากนั้นจะว่าจ้างคนงานไทยลงไปแบกของขึ้นมาวางเรียงกันไว้ที่บนฝั่ง โดยพ่อค้าแม่ค้าคนไทยจะเป็นผู้ชำระภาษีให้กับเจ้าหน้าศุลกากรทั้งหมด


 


ต่อจากนั้น จะมีพ่อค้าแม่ค้าจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัดทั่วประเทศเดินทางเข้ามาซื้อไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง โดยมีการนำรถมาบรรทุกสินค้ากันเอง จะเห็นได้ว่า ช่วงนั้นพ่อค้าแม่ค้าที่ลงหุ้นกันซื้อแอ๊ปเปิลจะมีกำไรตอบแทนกันทุกวัน


 


ศรีนวล เปลื้องทุกข์ แม่ค้าชาวเชียงแสน บอกว่า สมัยนั้น ใครๆ ก็ขายแอ๊ปเปิล สาลี่กันทั้งนั้น ตอนเช้าลงหุ้นลงทุนกัน ตอนเย็นก็สามารถแบ่งผลกำไรกันเลย บางวันได้กำไรเป็นหมื่นบาท การค้าขายช่วงนั้นสามารถทำกำไรอย่างมาก


 


"เพียงเรามีเงินสดไปลงทุน มีโต๊ะหนึ่งตัว เก้าอี้หนึ่งตัว ร่มชายหาดสำหรับกันแดด และเครื่องคิดเลขอีกเครื่องหนึ่ง ก็สามารถทำมาค้าขายได้แล้ว" ภาวนา แม่ค้าวัย 42 ปี กล่าว


 


ในระยะแรกของการค้าขายระหว่างไทย-จีน จึงเป็นไปอย่างเสรี เมืองเชียงแสนยังไม่มีความพร้อม ไม่มีท่าเรือ ไม่มีตลาด ไม่มีแม้แต่หลักหรือเสาผูกเรือ แต่การค้าขายระหว่างชาวเชียงแสนกับพ่อค้าจีนเป็นไปอย่างเสรี คนเชียงแสนค้าขายกับจีนในฐานะเป็นพ่อค้าคนกลาง ซื้อสินค้ามาจากคนจีนแล้วขายให้แก่พ่อค้าแม่ค้าจากจังหวัดต่างๆ คนเชียงแสนมีโอกาสได้รับผลประโยชน์จากการค้าขายไทย-จีน ในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับโอกาสและความสามารถของแต่ละคน


 


ต่อมา ในช่วงปี 2540 ได้กลายเป็นยุคของการแข่งขัน เมื่อมีกลุ่มนักธุรกิจพ่อค้าเพิ่มมากขึ้น คนเชียงแสนซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางรายเล็ก ไม่สามารถค้าขายแข่งขันกันเรื่องราคา และเงินทุนเริ่มหมด หลายคนต้องหลุดออกไปจากวงจรของธุรกิจการค้าขาย เนื่องจากสู้ราคากับกลุ่มนักธุรกิจพ่อค้ารายใหญ่ที่เป็นเจ้าของโกดังขนาดใหญ่ไม่ได้ จึงเลิกกิจการไปประกอบกิจการอื่น


 


ยิ่งในยุคหลังเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-จีน หลังปี 2547 เป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาวบ้านเชียงแสนที่ทำธุรกิจค้าขายกับจีนอย่างหนัก เมื่อชาวบ้านไม่สามารถค้าขายกับจีนโดยตรง รวมทั้งแรงงานชาวบ้านได้เปลี่ยนกลายเป็นแรงงานต่างถิ่นและแรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่า จีน เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้แรงงานชาวบ้านคนเชียงแสน ต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ แทน เช่น เกษตรกร รับจ้าง กรรมกรก่อสร้าง เป็นต้น จนทำให้หลายคนเริ่มมองเห็นปัญหาและความเปลี่ยนแปลงในระยะหลัง ว่า ชาวเชียงแสนเกือบไม่ได้ประโยชน์จากค้าไทย-จีน เลยในขณะนี้


 


"หลังเปิดเอฟทีเอ ไทย-จีน จะรู้เลยว่า พ่อค้ารายเล็กหายไป พ่อค้ารายใหญ่เข้ามาแทนที่ อีกทั้งตอนนี้ พ่อค้าจีนมีการค้าขายตัดตรงผ่านด่านศุลกากรขายผ่านตลาดกลาง จึงทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม ซึ่งล้วนเป็นพ่อค้ารายใหญ่ในตลาดไท กลับกลายเป็นว่า คนเชียงแสนจะต้องซื้อแอ๊ปเปิล สาลี่ ที่ขึ้นมาจากตลาดไท ในราคาพอๆ กับคนทั่วประเทศ" นางนิภาวรรณ กล่าว


 


แม่ค้ารายย่อยคนเชียงแสนทรุดจมหนี้ธนาคาร


รายงานวิจัยชาวบ้าน ระบุว่า ในเดือน ต.ค.2548 ได้ทำการสำรวจร้านค้าในบริเวณริมฝั่งโขง ตั้งแต่หน่วยรักษาการลำน้ำโขง ล่องมาจนถึงข้างวัดผ้าขาวป้าน มีทั้งหมด 61 ร้าน โดยเป็นร้านขายแอ๊ปเปิล สาลี่ อยู่ 46 ร้าน ที่เหลือจะเป็นร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด เช่น ร้านขายเสื้อผ้า รองเท้า ร้านอาหาร เป็นต้น


 


ล่าสุด ได้ออกไปทำการสำรวจอีกครั้ง เมื่อเดือน ม.ค.2549 กลับพบว่า มีร้านค้าที่เปิดขายลดลงเหลือ 43 ร้านค้า โดยเหลือร้านขายแอ๊ปเปิล สาลี่ 24 ร้าน ร้านขายเสื้อผ้า รองเท้า 6 ร้าน รายขายขนม ของแห้ง 10 ร้าน และมีร้านอาหารเหลือเพียง 3 ร้าน


 


ทำให้เห็นว่า หลังการเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-จีน พบว่า สภาพการค้าของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยของคนเชียงแสน รายได้จากการค้าขายผลไม้ และสินค้าเบ็ดเตล็ดลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเปรียบเทียบจากแต่ก่อนจะขายสินค้าได้ดีกว่ามาก โดยมีรายได้ประมาณ 7,000 - 8,000 บาทต่อวัน แต่ทุกวันนี้ มีรายได้ประมาณ 1,000 - 2,000 บาทเท่านั้น


 


และที่สำคัญ เมื่อรายได้จากการค้าขายลดลง แม่ค้าส่วนใหญ่ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกคนต่างล้วนเป็นหนี้ธนาคารออมสิน ตามโครงการแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุนเกือบแทบทุกร้านทุกราย


 


และเมื่อมีการสอบถามว่า รู้จักการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไทย-จีน หรือไม่ ทุกคนจะส่ายหน้า ไม่มีความรู้ในเรื่องการเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-จีน แต่อย่างใด


 


กลุ่มอาชีพอื่นหดตัว หลัง FTA ไทย-จีน


ในขณะที่ เมื่อทำการศึกษากลุ่มประกอบอาชีพอื่นๆ ในเมืองเชียงแสน เช่น การบริการเรือเร็วรับท่องเที่ยว การขายของที่ระลึกในวัดเจดีย์หลวง สามล้อรับจ้าง เกิดการหดตัวลงเป็นอย่างมาก รวมทั้ง ธุรกิจด้านเกสเฮ้าส์ ก็มีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด


 


แต่จะมีธุรกิจบ้านเช่า ห้องเช่า ตึกแถวให้เช่า พบว่า มีการขยายตัวเพื่อประกอบธุรกิจการค้าและเพื่อเป็นที่พักอาศัยให้กับคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานในพื้นที่เชียงแสน ซึ่งในการขยายตัวหรือลดลงของกิจการประเภทนี้ จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนจีนที่เข้ามาค้าขายในเชียงแสนเลย และไม่ได้รับผลประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน


 


ส่วนอาชีพขายอาหารตอนช่วงค่ำหน้าตลาด มีการขยายตัวขึ้นมากในระยะสองปีที่ผ่านมา แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นคนท้องถิ่น ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวข้องและไม่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีนแต่อย่างใด


 


ธุรกิจนวดแผนโบราณคนต่างถิ่นผุดราวดอกเห็ด


จากการสำรวจจำนวนสถานประกอบการร้านนวดแผนโบราณ ในเขตเทศบาลเวียงเชียงแสน พบว่า มีร้านนวดแผนโบราณในเขตเทศบาลและพื้นที่ใกล้เคียง 12 ร้าน เมืองเชียงแสนในยามค่ำคืน บรรยากาศโดยทั่วไปเงียบสงบ ยกเว้น บริเวณที่ตั้งร้านนวดแผนโบราณ ยังคงเปิดบริการ และเปิดไฟสีเขียว สีแดง เรียกแขกอยู่อย่างเงียบๆ


 


อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า เจ้าของร้านนวดแผนโบราณเป็นคนจากต่างถิ่นที่เข้ามายึดอาชีพนี้ โดยเสียค่าเช่าอาคารเดือนละ 5,000 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการ จะเป็นลูกค้าในกลุ่มลูกเรือจีนที่มากับเรือสินค้า รวมทั้งแรงงานรับจ้างแบกของที่ท่าเรือ และคนขับรถบรรทุกสินค้า โดยพนักงานนวดแผนโบราณ ส่วนใหญ่จะเป็นหญิงชาวไทยใหญ่และชาวพม่า ที่มีบัตรอนุญาตให้ประกอบอาชีพในไทย และมีหญิงชาวไทยที่มีใบประกาศจากสถานฝึกอบรมวิชาชีพนวดแผนโบราณบางส่วน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนต่างถิ่นทั้งสิ้น


 


ซึ่งงานวิจัย สรุปว่า ถึงแม้ธุรกิจร้านนวดแผนโบราณ มีการเติบโตและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ธุรกิจประเภทนี้ คนเชียงแสนไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด เนื่องจากทั้งผู้ประกอบการ หญิงทำงานบริการนวด และลูกค้า ต่างเป็นคนต่างด้าวและคนต่างถิ่นทั้งสิ้น


 


คนเชียงแสนสับสน ตกใจ หลังเปิดเอฟทีเอ ไทย-จีน


รายงานวิจัย "ภาพรวมธุรกิจการค้าท้องถิ่นอำเภอเชียงแสน หลังการเปิดการค้าเสรี ไทย-จีน" ในครั้งนี้ ทำให้คนเชียงแสนเริ่มตระหนก ตกใจ และสับสน กับความเป็นไปของเมืองเชียงแสน ในขณะที่ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย - จีน ตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ประเทศไทยได้ดุลการค้า เป็นที่น่าชื่นใจของรัฐบาล แต่คนเชียงแสนที่เป็นผู้เฝ้าประตูการค้าที่สำคัญนี้ กลับไม่ได้รับผลประโยชน์จากเปิดเอฟทีเอ ไทย-จีน ใดๆ เลย


 


ว่ากันว่า ที่ผ่านมาคนเชียงแสน พยายามปรับตัว ด้วยการทุ่มทุนก่อสร้างตึกแถวอาคารพาณิชย์ เพราะหวังว่าจะเก็บผลประโยชน์ได้อีกนานหลายปี บางรายที่มีทุนก็ใช้เงินสด บางไม่มีทุนก็เริ่มกู้ธนาคารโดยเอาที่ดินไปค้ำประกัน คนเชียงแสนหลายคนต้องขายที่ดิน เพราะไม่มีทางเลือก ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร


 


ครั้นต่อมา มีกระแสข่าว เรื่องการพัฒนาเมืองเชียงแสนให้เป็นเมืองมรดกโลก เข้ามาอีก ยิ่งทำให้คนเชียงแสนสับสน หวาดหวั่นไปต่างๆ นานา ว่า บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรกันแน่ ระหว่างประตูการค้า กับเมืองมรดกโลก ยิ่งมีการพัฒนาจากภาครัฐซึ่งมาจากหลายหน่วยงาน ทั้งการก่อสร้าง การสร้างถนนหนทาง การก่อสร้างสถานที่ราชการใหม่ๆ ที่เลือกสร้างตรงไหนก็ได้ตามใจชอบของผู้บริหารระดับสูง เพื่อจะให้เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดน ก็ยิ่งทำให้คนเชียงแสนปั่นป่วน สับสนกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามา


 


คนเชียงแสนตื่นตัว ปลุกจิตสำนึก จับพิรุธ FTA ไทย-จีน


จากผลการศึกษาวิจัยของกลุ่มชาวบ้านเวียงเชียงแสน ฟันธง คนเชียงแสนไม่ได้ประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-จีน อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่า คนเชียงแสนจะยากจนลง เพราะรายได้ลดลงอย่างมาก และได้มีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาสำหรับคนเชียงแสน โดยได้ปลุกจิตสำนึกให้คนเชียงแสน ได้สังเกตความเป็นไปในบ้านเมืองของตนเองให้มากขึ้น ควรสนใจนโยบายการพัฒนาที่เกี่ยวกับเชียงแสน เช่น เรื่องการค้าเสรีไทย-จีน การก่อสร้างท่าเรือแห่งที่ 2 การพัฒนาเส้นทางเดินเรือ การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน กระแสการพัฒนาเมืองเชียงแสนเป็นเมืองมรดกโลก ควรติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง


 


ตัวแทนชาวบ้าน ได้เสนอให้คนเชียงแสนลุกขึ้นมาแสวงหาวิธีการค้าขายกับจีน โดยจัดตั้งกลุ่มกองทุน สหกรณ์ หรือร่วมทุนกันจัดตั้งบริษัทนำเข้า-ส่งออก รวมทั้งการจัดสร้างโกดังและสินค้าประเภทผลไม้จากจีนมาขายให้กับแม่ค้าปลีกที่ท่าน้ำโขง เพื่อลดพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะทำให้สินค้ามีราคาถูกลง


 


นอกจากนั้น ยังมีการเสนอให้แม่ค้าผลไม้จากจีนร่วมมือกันในการค้ามากกว่าการแข่งขันกันเอง จะเพิ่มทุน เพิ่มพลังในการค้าขาย ควรจัดหาสถานที่ขายแห่งใหม่ให้มีความแข็งแรง มั่นคงถาวร มีที่จอดรดที่เป็นระเบียบ มีห้องน้ำบริการนักท่องเที่ยว และอาจดำเนินงานค้าขายในรูปแบบสหกรณ์ โดยแบ่งเวรกันทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องมาขายด้วยตัวเองพร้อมกันทั้งหมด และร่วมกันคิดผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาขายเพิ่มรายได้ สร้างคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานให้คนยอมรับสินค้าจากเชียงแสน


 


ในตอนท้าย ตัวแทนชาวบ้านเชียงแสน ยังได้เสนอให้คนเชียงแสนมีความรอบคอบ ระมัดระวังในเรื่องการลงทุน มีการศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้ของตลาด ศึกษาลู่ทางโอกาสในการได้รับทุนคืน รวมทั้งส่งเสริมให้สถานศึกษาในท้องถิ่นจัดหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อเตรียมรับมือกับการค้าของเมืองเชียงแสน รวมทั้งควรสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง การบริหารการจัดการเรื่องการท่องเที่ยวด้วยตนเองอย่างครบวงจร สนับสนุนให้ผู้สูงอายุและเยาวชนเป็นผู้นำชมโบราณสถาน เพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงแสนและถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net