Skip to main content
sharethis

อัจฉรา รักยุติธรรม สำนักข่าวประชาธรรม


 


กำลังหลักของการชุมนุมเพื่อต่อต้านการเจรจาเตรียมเปิดเปิดการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ครั้งที่ 6 ที่เชียงใหม่ในระหว่างวันที่ 9-13 มกราคมนั้น นอกเหนือจากกลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อที่จะได้รับผลกระทบจากประเด็นเรื่องสิทธิบัตรยาซึ่งจะทำให้ราคายาแพงขึ้นแล้ว ยังมีเครือข่ายเกษตรกร ทั่วประเทศ ที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอไทย-สหรัฐอย่างหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน


 


ชะตากรรมของภาคการเกษตรไทยภายใต้การเปิดการค้าเสรี ไม่เพียงแต่จะเกี่ยวโยงถึงกำไร ขาดทุนจากผลผลิตการเกษตร การตกเป็นทาสบรรษัทธุรกิจการเกษตร และการสูญเสียอาชีพของเกษตรกรเท่านั้น หากเรื่องนี้ยังโยงใยไปถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางการจัดการทรัพยากรที่ดินของประเทศไทยชนิดที่เรียกว่าพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยทีเดียว


 


ชะตากรรมเกษตรกรไทย


อาจารย์สถิตพงศ์ ธนวิริยะกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังดำเนิน "โครงการนโยบายสาธารณะเพื่อความปลอดภัยด้านอาหารและเศรษฐกิจการค้าที่ยั่งยืน" แสดงทัศนะว่า การเปิดเสรีการค้าภาคการเกษตรจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสามารถในการผลิตของประเทศ จนถึงกับทำให้การผลิตในบางภาคต้องหายไป เช่น กรณีการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศจีน ซึ่งดำเนินการไปแล้วตั้งแต่กลางปี 2547 ได้ทำให้เกิดปัญหาต่อการปลูกผักและผลไม้เมืองหนาวในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะที่การเปิดเสรีกับออสเตรเลีย ก็ส่งผลต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม อย่างมาก


 


"กรณีการเปิดเสรีกับประเทศสหรัฐอเมริกา ผลกระทบจะเน้นไปที่เรื่องเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ การนำเข้าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ (GMOs) ซึ่งถ้าเงื่อนไขการตกลงใน FTA ไม่ดีพอ โอกาสที่สินค้าจีเอ็มโอจะเข้ามาแทนที่ระบบการผลิตของเรา และส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างมาก" อาจารย์สถิตพงศ์กล่าว


 


ขณะที่ข้อมูลจาก วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการไบโอไทย ซึ่งศึกษาถึงผลได้ผลเสียจากเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐ เพื่อเสนอต่อกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เปิดเผยว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์ในกรณีสินค้าการเกษตรนั้น คือธุรกิจส่งออก กุ้ง ไก่ และอาหารทะเล รวมถึงอาหารทะเลแปรรูป ตลอดจนธุรกิจอาหารสัตว์ก็จะได้รับประโยชน์จากราคาวัตถุดิบที่ถูกลง เพราะจะมีถั่วเหลือง และข้าวโพดราคาถูกนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา


 


แน่นอนว่าผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการดังกล่าวก็มีเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นนักธุรกิจเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีบริษัทที่ผูกขาดกิจการเหล่านี้อยู่เพียงไม่กี่ราย ขณะที่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบด้านลบกันอย่างเต็ม ๆ ก็คือเกษตรกรรายย่อยซึ่งประมาณว่ามีไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ จะถูกผลผลิตราคาถูกจากสหรัฐเข้ามาตีตลาด ทำให้เกษตรกรต้องย่ำแย่ทั้งขึ้นทั้งล่อง ถ้าไม่ลดราคาก็ไม่มีใครซื้อ แต่ถ้าลดราคาไปก็จะไม่คุ้มต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ


 


รายงานของวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ยังเปิดเผยอีกว่า เกษตรกรอื่น ๆ ที่ปลูกพืชประเภทเดียวกันกับสหรัฐ อย่างเช่น มันฝรั่ง องุ่น และผลไม้เมืองหนาว ก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะรัฐบาลไทยจะยอมลดภาษีให้กับสินค้าเหล่านี้ ทำให้ราคานำเข้าผลผลิตจากสหรัฐนั้นต่ำลง 30-60% จนเกษตรกรไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้


 


กรณีสิทธิบัตรพันธุ์พืชนั้น ไม่มีรายงานว่าประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์ใด ๆ แต่กลับจะเสียประโยชน์ เพราะสหรัฐจะสามารถนำข้าวหอมมะลิ ตลอดจนพืชสมุนไพรและทรัพยากรชีวภาพประเภทต่าง ๆ ไปวิจัยและจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งหากคิดเป็นตัวเลข เฉพาะข้าวหอมมะลิเพียงอย่างเดียวอาจมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาท


 


ยิ่งไปกว่านั้น หากพันธุ์พืชถูกจดสิทธิบัตรไปแล้ว เกษตรกรไทยก็จะต้องซื้อพันธุ์พืชในราคาแพงขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันก็ซื้อกันแพงอยู่แล้ว จะไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์พืชเอาไปปลูกต่อในฤดูถัดไปได้ และไม่สามารถแจกจ่ายหรือแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ระหว่างกัน


 


ชะตากรรมแผ่นดินไทย


 


แม้ว่าการเปิดการค้าเสรีจะมีการลดหรือยกเลิกการกำหนดโควตา และภาษีสินค้าต่าง ๆ แต่ผู้ประกอบการก็มักจะต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันการค้าแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขเรื่องความปลอดภัยของอาหาร เช่น การตรวจเชื้อโรคจากเนื้อไก่อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีไข้หวัดนก หรือการตรวจสารเคมีการเนื้อกุ้ง ดังที่อาจารย์สถิตพงศ์ ธนวิริยะกุล ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า


 


"ปัจจุบันตลาดโลกมีการกีดกันทางการค้ามากขึ้น โดยอาศัยข้ออ้างเรื่องความปลอดภัย มาบอกว่าสินค้าเราไม่ได้มาตรฐาน สาธารณสุขต่าง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่จะไม่รับสินค้าเรา"


 


นอกจากนั้นแล้ว ในเงื่อนไขการเปิดการค้าเสรียังกำหนดให้ประเทศไทยต้องเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในทุกสาขารวมทั้งสาขาการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในด้านนี้จะรุนแรงมากขึ้นทุกที ดังนั้น เพื่อสร้างความแน่นอนในเรื่องคุณภาพและปริมาณผลผลิต รวมทั้งเพื่อลดต้นทุนการผลิต ผู้ประกอบการก็จะหันมาลงทุนทำการผลิตด้วยตนเองอย่างครบวงจรมากขึ้น


 


ปัจจัยเหล่านี้นี่เองที่อาจทำให้ผู้ประกอบการสนใจที่จะลงทุนทำการผลิตด้วยตนเองมากขึ้น เพราะสามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณของผลผลิตได้แน่นอนกว่าการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเหมือนที่ผ่านมา


 


ยกตัวอย่างจากกรณีธุรกิจส่งออกเนื้อไก่สด ผลกระทบจากกรณีไข้หวัดนกในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ หรือแม้แต่ผู้เลี้ยงไก่รายย่อยแบบพื้นบ้านได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน ขณะที่รัฐบาลเองถึงกับมีนโยบายที่จะควบคุมการเลี้ยงไก่แบบเปิด และหันมาส่งเสริมการเลี้ยงแบบฟาร์มปิดแทน นั่นหมายถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีเพียงไม่กี่รายในเมืองไทย ที่กำลังจะมายึดหัวหาดผูกขาดการเลี้ยงไก่ และเบียดขับเกษตรการรายย่อยออกไปให้พ้นทาง ด้วยข้ออ้างว่าธุรกิจของเขา "สด สะอาด และปลอดภัยกว่า"


 


แต่การค้าเสรีจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจส่งออกไก่อย่างมาก ผู้ประกอบการจะทำอย่างไรจึงจะมีผลผลิตเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น


 


พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ จากกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (Local Action Link) ให้ความเห็นว่าการตอบคำถามดังกล่าว เกี่ยวโยงกับทิศทางการใช้ที่ดินภายในประเทศซึ่งจะถูกพลิกผันไปได้สองแนวทางที่สอดรับกัน


 


แนวทางแรก ผู้ประกอบการซึ่งเป็นนายทุนรายใหญ่จากในและนอกประเทศจะเข้ามากว้านซื้อที่ดินการเกษตร เพื่อลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น หรือไม่ก็เร่งส่งเสริมระบบการเกษตรแบบพันธะสัญญาที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อจะสามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณของผลผลิตได้ตามต้องการ ขณะที่เกษตรกรรายย่อยก็จะตกอยู่ในฐานะเพียงแรงงานในที่ดินของตนเอง (ซึ่งติดจำนองอยู่) เท่านั้นเอง


 


แนวทางที่สอง การค้าเสรีได้ทำให้ต้นทุนต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าสำหรับผลิตอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด มีราคาถูกลง จนกระทั่งผู้ประกอบธุรกิจอาหารสัตว์ (ซึ่งเป็นรายเดียวกันกับผู้ประกอบการฟาร์มไก่) อาจจะเมินต่อผลผลิตจากภายในประเทศ หรือไม่ก็กดราคาสินค้าของเกษตรกรไทย จนทำให้เกษตรกรจะต้องพยายามทำการผลิตเข้มข้นขึ้น และใช้ที่ดินมากขึ้น เพื่อพยายามต่อสู้กับการแข่งขันให้ได้ หรือไม่ก็จะต้องพ่ายแพ้ล้มละลายจนต้องขายที่ดินให้แก่ผู้ประกอบการ แล้วละทิ้งการเกษตรไปประกอบอาชีพอย่างอื่น หรือกลายไปเป็นแรงงานให้กับนายทุนเหล่านั้นแทน


 


นี่มิใช่การคาดการณ์ล่วงหน้า แต่เป็นสิ่งที่เกิดระยะเวลาหนึ่งแล้ว และกำลังทวีความเข้มข้นมากขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทยภายหลังจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีใครเดาได้ว่าชะตากรรมของแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ระบาดอยู่ทั่วดอยและที่ราบสูงทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน รวมถึงชะตากรรมของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเหล่านั้น นั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป ภายหลังจากการเปิดเสรีการค้าไทย-สหรัฐ


 


จากเจ้าของแผ้นดินเกิดสู่ผู้อาศัย


 


การแข่งขันอย่างเข้มข้นและหนักหน่วงภายใต้การเปิดการค้าเสรีไม่เพียงแต่เกษตรกรไทยเท่านั้น ที่ชะตาชีวิตกำลังจะผันผวน แต่ จะยังทำให้ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดถูกเปลี่ยนมือจากเกษตรกรรายย่อยไปสู่บริษัทและบรรษัทธุรกิจการเกษตรรายใหญ่ที่ทำการผลิตและส่งออกอย่างครบวงจร


 


ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินที่เรื้อรังมานานกว่า 30 ปี มีทีท่าว่าจะวิกฤติมากขึ้น จากเดิมที่ที่ดินส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในมือของนักธุรกิจ นักการเมืองภายในประเทศ แต่จากนี้ไปผู้ที่จะมายึดครองที่ดิน โดยเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรจะกลายเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นทุนข้ามชาติซึ่งมีอิทธิพลทั้งทางธุรกิจและการเมืองอย่างมากมายมหาศาลกว่าเดิม


 


และไม่ว่าที่ดินจะถูกใช้โดยเกษตรกรรายย่อย บริษัท หรือบรรษัทข้ามชาติก็ตาม แนวโน้มที่จะเหมือนกันต่อจากนี้ไปก็คือ ที่ดินจะถูกใช้อย่างเข้มข้น โดยที่ผลผลิตจากผืนดินไทยจะไม่ได้มีไว้สำหรับเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนไทยในประเทศอีกต่อไป แต่มันกลับเป็นผลผลิตเพื่อส่งออกไปเลี้ยงคนนอกประเทศ ส่วนเม็ดเงินที่ได้มานั้นก็จะไปช่วยสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับนายทุนใหญ่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งอาจไม่ใช่คนไทยอีกเช่นกัน


 


ถึงตอนนั้น คงไม่ต้องถามกันแล้วว่า เกษตรกร รวมทั้งประชาชนคนไทยทั่วไปจะตกอยู่ในฐานะอะไรในแผ่นดินถิ่นเกิดของตนเอง ถ้าไม่ใช่...ผู้อาศัย..เท่านั้นเอง.


           


ข้อมูลจาก www.ftawatch.org


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net