Skip to main content
sharethis










ภาพจาก www.manager.co.th



 


โดย น้ำเหนือ


 


สนธิ ลิ้มทองกุล - ต้องยอมรับว่าเขาคือนักหนังสือพิมพ์และนักธุรกิจที่มีความสามารถผู้หนึ่ง ที่ปลุกปั้นอาณาจักรผู้จัดการขึ้นมาจนกลายเป็น Media Tycoon และสื่อที่มีอยู่ในมือเขาตอนนี้ก็ต้องเรียกว่า ทรงอิทธิพลต่อสังคมอยู่ไม่น้อย


 


กระทั่งเมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว หลังจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของเขาถูกถอดจากโมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาณอย่างเป็นทางการในการเปิดแนวรบระหว่างเครือผู้จัดการและรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เขา-สนธิ ลิ้มทองกุลจึงระดมสรรพกำลังในมือทั้งหมดเปิดโปงข้อมูลการคอรัปชั่นและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างถึงพริกถึงขิง


 


ปริมาณมวลชนที่เข้าฟังรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" ที่เขาจัดร่วมกับ สโรชา พรอุดมศักดิ์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขยับขยายสู่สวนลุมพินี จากมวลชนเรือนร้อยพุ่งสู่หลักหลายหมื่นเรือนแสน สร้าง "ปรากฏการณ์สนธิ" ที่เขย่าบัลลังก์รัฐบาลได้อย่างมีนัยสำคัญ


 


หลังจากใช้เวลาเพาะบ่มกระแสมาได้ระยะหนึ่ง เขาอาจประเมินว่าขณะนี้สุกงอมเพียงพอแล้วที่จะก้าวสู่จังหวะต่อไป


 


เขาจึงประกาศว่า จะเป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อถวายคืนพระราชอำนาจด้วยการถวายฎีกาผ่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 นี้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า


 


ไม่ว่าเบื้องหลังเหตุการณ์นี้จะมีสิ่งใดแอบแฝงหรือไม่ ผลบั้นปลายจะจบลงอย่างไร และไม่ว่าจะมีใครบ้างที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของเขา แต่ก็มีการคาดการณ์กันไว้ว่า การชุมนุมครั้งนี้จะเป็นอีกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเมืองไทย ท่ามกลางความวิตกกังวลว่า จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่นำไปสู่ความรุนแรงและลุกลามอย่างที่ไม่ได้นึกฝันไว้


 


สังเกตได้จากกรณี นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้ออกมาเตือนสติสังคมอีกครั้งว่าให้ระมัดระวังอย่าให้เกิดความรุนแรง


 


"กลุ่มของคุณสนธิสามารถเดินขบวนถวายฎีกาได้โดยสงบและสันติ เพราะอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ถือเป็นประชาธิปไตย แต่อย่าทำผิดกฎหมาย เวลาคนมาชุมนุมจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตอบโต้ของภาครัฐ ในต่างประเทศการชุมนุมไม่เกิดความรุนแรง อย่างในสหรัฐหรือในกรุงปารีสมีการเคลื่อนม็อบเป็นล้านคนก็ไม่มีอะไรรุนแรงเพราะไม่มีการตอบโต้จากภาครัฐจึงต้องระวังให้ดี อย่าไปกระตุ้นคนทำให้เกิดความรุนแรง เช่นการไปขนคนมาปะทะไม่ควรทำ ถ้าคนมีความเห็นต่างกันก็มาได้แต่ต้องจัดให้ชุมนุมแยกกันคนละที่อย่าให้ไปปะทะกันเพราะจะทำให้บานปลายได้" (กรุงเทพธุรกิจ; วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2549)


 


คำถามสำคัญก็คือ สนธิมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว การนำมวลชน การคุมสภาพ การเป็นผู้นำม็อบมากแค่ไหน? เพราะความผิดพลาดเล็กน้อยอาจเป็นบ่อเกิดของอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงได้ทุกเมื่อ


 


ตัวอย่างชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า เขายังไม่เข้าใจเรื่องการชุมนุมเคลื่อนไหวเพียงพอก็คือ เหตุการณ์ในคืนวันศุกร์ที่ 13 มกราคม ที่มีการเคลื่อนขบวนกลุ่มผู้ฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรจำนวนหนึ่งไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยไม่มีการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า เป็นเหตุให้กลุ่มของ สมาน ศรีงาม เลขาธิการทั่วไปขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ ซึ่งไปรอจังหวะอยู่ก่อนที่หน้าทำเนียบ สามารถปลุกปั่นให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในทำเนียบจนเกิดการปะทะขึ้น


 


ขณะที่สนธิกลับออกมาจากการชุมนุมก่อน แม้เขาจะบอกว่า ไม่ใช่แกนนำม็อบ แต่โดยสภาพเหตุการณ์ตอนนั้นแล้ว นี่ย่อมไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่มีน้ำหนัก ซ้ำยังเปิดช่องให้ จตุพร พรหมพันธุ์ รองโฆษกพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นอดีตนักศึกษารามคำแหงที่เคยมีบทบาทในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ใช้เป็นจุดโจมตีว่าผู้นำม็อบคนนี้ไม่มีอุดมการณ์ ทิ้งมวลชน แล้วกลับไปนอนบ้าน ถึงกับคาดเดากันว่า จตุพรคนนี้อาจเป็นคนบอกกล่าวกับบรรดารัฐมนตรี และส.ส.ของไทยรักไทยให้ออกมาโจมตีสนธิในจุดนี้ จนเป็นเหตุให้ผู้ฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรในครั้งต่อมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด


 


ดังนั้น การชุมนุมในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ที่จะถึงนี้จึงมีหลายคนที่คลุกคลีกับการชุมนุมมาอย่างโชกโชนค่อนข้างเป็นห่วงสถานการณ์อยู่ไม่น้อย


 


ไม่มีใครรู้ได้ว่า สนธิตระเตรียมการเอาไว้อย่างไรบ้าง แต่หากประเมินจากสถานะของเขาที่ผ่านมา ย่อมชัดเจนว่า เขาคือนักธุรกิจ นักหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชน แต่ยังห่างไกลจากคำว่า "นักเคลื่อนไหว" จึงรับรองได้ยากเอาการว่า ความพรักพร้อมจากมุมมองของเขา จะเป็นความพรักพร้อมเดียวกันกับความพรักพร้อมในสายตาของนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนหรือไม่


 


จึงอยากใช้พื้นที่นี้ส่งสัญญาณ ข้อท้วงติง และข้อควรคำนึงมายังสนธิ เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นความรุนแรงจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (อาจยกเว้นบุคคลบางคนที่แฝงตัวเป็นแนวร่วมอยู่ในม็อบของสนธิ)


 


ประการแรก คือ การชุมนุมครั้งนี้เป็นคำประกาศของสนธิเพียงคนเดียว ซึ่งถือเป็นข้ออ่อน เนื่องจากไม่มีลักษณะเป็นองค์กร ทำให้ทางหนึ่งอาจมองได้ว่า นี่คือการรบกันระหว่างคน 2 คน คือสนธิ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ


 


ในแง่ความชอบธรรมแม้จะมีอยู่บ้างแต่คงไม่มากเท่ากับการชุมนุมในนามของภาคประชาชน จึงมีความจำเป็นไม่น้อยที่ควรจะได้ประสานกับองค์กรภาคประชาชนเพื่อขอการสนับสนุนจากฐานมวลชนขององค์กรต่างๆ และให้องค์กรเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการชุมนุม เพราะมีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวมาก่อน แม้ว่าองค์กรภาคประชาชนที่เข้าร่วม อาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง แต่เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น (มีข่าวว่าทางฟากฝ่ายสนธิก็ได้ต่อสายถึงกลุ่ม "ครป.-คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย" และกลุ่ม "เอฟทีเอวอทช์" แต่ดูเหมือนทั้ง 2 กลุ่มจะมีทีท่าวางเฉยสำหรับกรณีนี้)


 


ประการที่ 2 ต่อเนื่องจากข้อแรกคือ ควรมีการประกาศตั้งคณะเฉพาะกิจรวมบุคคลที่สังคมให้การยอมรับ เพื่อให้เกิดการนำเป็นหมู่คณะ เกิดการคิด วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ จำลองสถานการณ์ ตัดสินใจร่วมกัน มองทางหนีทีไล่ กำหนดการเคลื่อนไหว และต้องมีหน่วยหน้าที่คอยตรวจสอบตลอดว่า มีสถานการณ์อะไรรออยู่ข้างหน้า มิฉะนั้นก็อาจจะเหมือนกับตอนที่เคลื่อนไปยังทำเนียบ (ศุกร์ 13 ม.ค.) อีก ซึ่งการตั้งคณะเฉพาะกิจขึ้นมานี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความชัดเจนในประเด็นที่เรียกร้องแล้ว ยังทำให้การเคลื่อนไหวดำเนินไปในทิศทางเดียวกันไม่สะเปะสะปะ


 


ประการที่ 3 หากมีการเคลื่อนขบวน จะต้องมีการสื่อสารกันให้ชัดเจน ไม่ปล่อยให้หัวขบวนไปทาง ท้ายขบวนไปทาง เพราะถือเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และนำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516


 


ประการที่ 4 ต้องมีหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ผ่านการซักซ้อมและทำความเข้าใจในเรื่องสันติวิธีแทรกอยู่ในทุกจุดของการชุมนุม รวมถึงที่ตัวผู้นำการชุมนุมด้วย ในฐานะที่ "สันติวิธี" เป็นอาวุธเพียงหนึ่งเดียวของผุ้ชุมนุม เพื่อคอยดูแลและคุมสภาพมวลชนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย และป้องกันการยุยงจากมือที่ 3 ซึ่งจำเป็นต้องมีทั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ติดสัญลักษณ์ชัดเจน และหน่วยนอกเครื่องแบบ


 


ประการที่ 5 ป้องกันความรุนแรงด้วยการประกาศไว้แต่เบื้องต้นว่า "การชุมนุมครั้งนี้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนสามารถทำได้และจะชุมนุมโดยสันติวิธี"


 


ประการสุดท้าย ต้องทำการป้องกันอย่างรัดกุมจากการถูกแทรกแซงการนำจากบางบุคคลหรือองค์กรที่แฝงตัวเข้ามาเป็นแนวร่วม ที่พร้อมจะให้เกิดความรุนแรงเพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาล ซึ่ง (อาจ) ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการชุมนุมครั้งนี้ (สนธิน่าจะรู้อยู่แล้วว่ามีใครบ้าง) และอาจจำเป็นต้องประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้คอยสอดส่องดูแลกลุ่มคนพวกนี้ (รวมถึงพวกมือที่ 3 ที่อาจมาจากฟากรัฐบาล) เพราะเชื่อเถิดว่าฝั่งรัฐบาลเองก็กลัวการยุยงของคนกลุ่มนี้อยู่เช่นกัน


 


เหล่านี้คือข้อเสนอแนะจากผู้ที่ผ่านประสบการณ์การเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ผ่านการกลั่นกรองมาในระดับหนึ่งที่พอจะไว้วางใจได้ว่า หากปฏิบัติตามนี้ ย่อมลดทอนความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงให้เหลือน้อยที่สุดหรืออาจไม่หลงเหลืออยู่เลย


 


สิ่งที่ต้องเน้นย้ำกันอีกครั้งก็คือ ระวังการแทรกแซงการนำจากกลุ่มบุคคลที่อยากให้เกิดความรุนแรงไว้ให้ดี


 


นี่ไม่ใช่ข้อเขียนเพื่อเลือกยืนข้างใดข้างหนึ่ง แต่เมื่อการชุมนุมครั้งนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ขอให้เป็นการชุมนุมอย่างสงบและผ่านไปด้วยดี ด้วยไม่อยากให้ข้อวิตกกังวลของผู้สังเกตการณ์ต่างๆ เป็นจริง เพราะไม่มีใครอยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมไทยอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net