Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 24 ม.ค.49      จากกรณีที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่สวนสัตว์กลางคืน เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จ.เชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 6-7 ก.พ.นี้ จะมีการนำเสนอยุทธศาสตร์2 ส่วน คือ ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดล้านนา กับยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่


 


ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดล้านนานั้นกำหนดไว้ 5 ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มภาคเหนือตอนบนให้เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ เป็นเขตลงทุนพิเศษ ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม ขนส่งเพื่อเชื่อมโยงกับนานาชาติ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเชื่อมโยงพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ใน 5 ยุทธศาสตร์มีแผนงานรองรับ 105 โครงการ


ส่วนยุทธศาสตร์เชียงใหม่เนื้อหาหลักจะเกี่ยวข้องกับการเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน เพื่อรองรับการขยายตัวทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ประกอบด้วย ระบบบำบัดน้ำเสีย การจัดการขยะ ระบบขนส่งมวลชน การคมนาคม ขณะเดียวกันยังรวมไปถึงการส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมีการเสนอแผนงานโครงการประมาณ 100 โครงการรองรับยุทธศาสตร์นี้


"ส่วนแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จะประกอบไปด้วยแผนงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวรวมกว่า 30 แผนงาน โดยแผนระยะสั้นที่จะเสนอ ได้แก่ โครงการก่อสร้างผนังกั้นน้ำสองฝั่งริมน้ำปิง ในเขตตัวเมืองและใกล้เคียงรวมระยะทางประมาณ 20 กม.แบ่งเป็นในเขตตัวเมือง 6 กม.และเขตนอกตัวเมือง 14 กม.คาดว่าจะงบประมาณราว 1,200 ล้านบาท และจะมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้ง ในวันที่ 30 ม.ค.นี้" นายยงยุทธกล่าวเมื่อวันที่ 23 ม.ค.


ล่าสุด วันนี้ (24 ม.ค.49) ที่โรงแรมเดอะปาร์ก จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดประชุมรับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่ จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) โดยนายชัยพันธ์ ประภาสะวัติ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน และภาคีคนฮักเจียงใหม่ กล่าวว่า ตนได้เสนอในที่ประชุมไปว่า น่าจะชะลออนุมัติโครงการต่างๆ เหล่านี้เอาไว้ก่อน เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสม ปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่นั้น มีอีกหลากหลายประเด็นต้องดูทั้งระบบ ไม่ใช่ว่าจะมาแยกทำโครงการย่อยๆ ออกไป ในขณะที่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคมแต่อย่างใด


"รัฐควรจะมองปัญหาน้ำท่วมในหลายๆ มิติ ไม่ว่าในเรื่องของการบุกรุกทำลายป่า การชะล้างหน้าดิน การขุดลอกเหมืองฝาย การรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น การรองรับหาแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดการปัญหาการรุกล้ำน้ำปิงทั้งหมด ที่สำคัญ ควรจะมีการศึกษาวิจัยกันให้ละเอียดชัดเจน อย่างน้อยประมาณ 1-2 ปี ก่อนจะตัดสินใจดำเนินการใดๆ ลงไป" นายชัยพันธ์ กล่าว


ตัวแทนภาคีคนฮักเจียงใหม่ กล่าวถึงการเสนอแผนการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นสองฝั่งแม่น้ำปิงว่า โครงการนี้จะยิ่งทำกระแสน้ำไหลเชี่ยวแรงและจะทำให้เกิดการเซาะตลิ่งสองฝั่งพังเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายน้ำ ต่อไปอาจต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิงยาวไปจนถึงลำพูน ดอยเต่า สุดท้ายโครงการนี้ก็จะกลายเป็นการตำเขื่อน ละลายแม่น้ำปิง


ด้าน ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ โครงการเมืองยั่งยืน สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า การสร้างผนังกั้นน้ำ ไม่น่าจะเป็นวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ที่ถูกต้อง เพราะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ผิดธรรมชาติ และเสี่ยงต่อการที่จะทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่งริมน้ำ เช่นเดียวกันกับการขุดลอกให้ลำน้ำมีความลึก


"ต้นเหตุปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ น่าจะอยู่ที่ความคับแคบของลำน้ำแม่น้ำปิง ช่วงผ่านตัวเมืองมากกว่า ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการรุกล้ำพื้นที่ริมน้ำและมีการปลูกสร้าง ดังนั้น การแก้ไขปัญหา ควรขยายความกว้างของลำน้ำ ด้วยการดำเนินการกับผู้ที่รุกล้ำพื้นที่ริมน้ำ นอกจากนี้จะทำการรื้อฟื้นปรับปรุงระบบลำน้ำสาขา ให้ระบบระบายน้ำมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการระบายน้ำ ไม่ใช่การสร้างพนังกั้นน้ำ" ดร.ดวงจันทร์ กล่าว


ในขณะที่ นางพาที ชัยนิลพันธุ์ ประธานชุมชนบ้านวัดเกตุ ที่อยู่ติดฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก ในเขต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างพนังกั้นน้ำปิง เพราะจะบดบังทัศนียภาพของสองฝั่งแม่น้ำปิงไปหมด และไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกวิธี สาเหตุที่น้ำท่วมเขตเมือง เป็นเพราะลำเหมืองเก่าแก่ดั้งเดิม ถูกถมจนใช้การไม่ได้ จึงทำให้ระบายน้ำไม่ทัน จึงต้องแก้เรื่องการรื้อฟื้นขุดลอกลำเหมืองเก่าเพื่อเป็นทางระบายน้ำเมื่อถึงเวลาน้ำหลาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net