Skip to main content
sharethis





ประชาไท - 24 ม.ค.49      คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐที่ดำเนินมา 6 รอบแล้วเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบทั้งใดด้านบวกและลบอย่างครบถ้วน ปรับเปลี่ยนกติกาการเจรจาให้เป็นธรรม เสมอภาค และยกเลิกข้อสัญญาการรักษาคามลับในการเจรจากับสหรัฐที่ไทยถือปฏิบัติมาตั้งแต่รอบ1 เพื่อเปิดเผยข้อเรียกร้องทั้งหมดต่อสาธารณะ แล้วให้ประชาชน รัฐสภามีบทบาทและส่วนร่วมในการเจรจาเต็มที่


 


นอกจากนี้ควรให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเอฟทีเอมีส่วนร่วมตัดสินใจลงนามโดยการออกเสียงประชามติ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 214 ที่สำคัญ การผูกพันตามสนธิสัญญาจำเป็นต้องผ่าน "กระบวนการให้สัตยาบรรณ" โดยต้องไม่กำหนดเวลาในการให้สัตยาบรรณ เพื่อเปิดให้องค์กรรัฐสภา ประชาชน และรัฐบาลมีโอกาสและมีส่วนร่วมในการพิจารณารายละเอียดของข้อตกลงอย่างรอบคอบ


 


"การแสดงเจตนาผูกพันโดยรัฐ ทำได้หลายวิธี ทั้งการลงนาม การให้ความเห็นชอบ การให้สัตยาบรรณ เอฟทีเอฉบับที่แล้วผูกพันโดยการลงนามก็เลยผูกพันทันที ตอนนี้เราเลยเรียกร้องว่าอย่าผูกพันโดยการลงนาม ที่ผ่านมาแม้เราจะดูมากี่ร่าง แต่ก็ไม่ใช่ร่างที่ผูกพันไทย การให้สัตยาบรรณจะทำให้เราดูร่างทั้งหมดได้โดยชอบ" รศ.ลาวัลย์ ถนัดศิลปะกุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชกล่าว


 


นอกจากนี้ กสม. ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจติดตามตรวจสอบการทำเอฟทีเอ โดยมีนักวิชาการสาขาต่างๆ เข้าร่วม โดยมีศ.เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน เพื่อศึกษารายละเอียดของการเจรจา และศึกษากฎหมายภายในสหรัฐ เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ


 


ในการแถลงข่าวดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ซักถามกันมากว่า การแถลงข่าวของคณะกรรมการสิทธิครั้งนี้ช้าเกินไปหรือไม่ เหตุใดจึงไม่ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกลุ่มส.ว. ซึ่ง ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานกสม.ชี้แจ้งว่า กสม.ไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ นอกจากต้องส่งผ่านเรื่องไปยังผู้ตรวจการรัฐสภา ที่ผ่านมาส่งไปก็ไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆ เช่น ความรุนแรงกรณีท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย


 


"การบังคับจริงๆ อยู่ที่ประชาชน ผมไม่อยากให้ฝากความหวังไว้ที่องค์กรต่างๆ เพียงอย่างเดียว ทำยังไงถึงจะช่วยกันทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้มากที่สุด และมีส่วนร่วมมากที่สุด" ศ.เสน่ห์กล่าว


 


รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานนท์ ประธานหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมในประเด็นสิทธิบัตรยาว่า ที่ผ่านมาสหรัฐจะอ้างว่าไทยทำผิดข้อตกลงทริปส์ มาตรา 39.3 ที่ไม่คุ้มครองความลับการทดลองยา ทั้งๆ ที่สหรัฐเคยฟ้องร้องอาร์เจนตินาว่าผิดมาตรานี้กับดับบลิวทีโอและแพ้ไปแล้ว


 


รศ.ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า การคุ้มครองความลับการทดลองยาจะมีผลให้บริษัทอื่นๆ ไม่สามารถผลิตยาตัวเดียวกันในราคาต่ำกว่าได้ ซึ่งหากเกิดปัญหาสาธารณสุขขึ้นมาจะลำบากมาก เรื่องนี้เคยมีคนเสนอทางออกว่าให้ทำแบบโมรอคโค ที่มีจดหมายแนบท้ายเอฟทีเอที่ทำกับสหรัฐ แต่ขณะเดียวกันนักวิชาการจำนวนมากก็ระบุว่าจดหมายแนบมีปัญหาสถานะทางกฎหมาย ไม่มีสถานะเทียบเท่าสนธิสัญญา


 


"มีประเทศหนึ่งที่รอดมาได้คือ จอร์แดน ที่เอฟทีเอที่ทำกับสหรัฐเขียนเมหือนกับทริปต์ข้อ 39.3 เหมือนกับลอกมา เราเลยเรียกร้องว่าถึงที่สุดแล้วเอาแบบจอร์แดนได้ไหม แต่ก็ไม่ใช่เอาของเขามาทั้งหมด เพราะศักยภาพต่างๆ ไม่เท่ากัน" รศ.ดร.จิราพรกล่าว


 


 


ขณะที่หัวหน้าคณะเจราจาเอฟทีเอกับสหรัฐฝ่ายไทยคนใหม่นั้น มีการเก็งกันว่าน่าจะเป็น นายอุตตม สาวนายน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์


 


แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้คนที่มีชื่อเป็นตัวเก็งทั้ง 3 คน มีแนวโน้มว่านายปานปรีย์ และนายสุวิทย์จะปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนี้ โดยนายปานปรีย์เปรยกับคนใกล้ชิดว่ายังมีงานต้องทำอีกมาก ทั้งในตำแหน่งผู้แทนการค้า และประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ขณะที่นายสุวิทย์ ระบุว่าคนที่เหมาะสมน่าจะเป็นนายอุตตม เป็นการกันตัวเองออกในที แต่นายอุตตมยังไม่ได้แสดงการยอมรับหรือปฏิเสธใดๆ ออกมา บอกเดียวเพียงว่าเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาที่จะเห็นควร


 


ขณะที่ในวันที่ 24 ม.ค.จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาล โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกล่าวเปิดงาน หลังจากนั้นในวันที่ 25 ม.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่กระทรวงต่างประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับผลการเจรจาเอฟทีเอ ที่จ.เชียงใหม่ และสรุปเป็นความเห็นเบื้องต้น


 


ในวันที่ 26 ม.ค. เวลา 09.30-12.00 น. ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


พรรคชาติไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดเสวนาสาธารณะเรื่อง "การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) ไทย-อเมริกา ใครได้ ใครเสีย" เพื่อระดมความเห็นจากทุกฝ่าย โดยหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคจะไปร่วมด้วย นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ และผู้แทนสถานทูตสหรัฐ


 


จากนั้นในวันที่ 2 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น.ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะมีการจัดสัมมนา โฟกัสกรุ๊ป โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ มาสัมมนาด้วย รวมทั้งประเมินผลของข้อตกลงที่เกิดขึ้นแล้วบางส่วน หรือความเข้าใจ หรือความตกลงบางส่วนที่เกิดขึ้นในการเจรจาเอฟทีเอที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 13ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า มีประเด็น และมีสาระ มีสิ่งที่ควรเตรียมแนวทาง และหาทางออกอย่างไร ก่อนจัดทำข้อเสนอได้อย่างดีให้แก่ครม.


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net