เปิดเสรีบริการ FTA สหรัฐ มอญซ่อนผ้า อะไรหว่าอยู่ข้างหลัง?

เรื่องราวของเอฟทีเอไทย-สหรัฐ นอกเหนือจากขบวนประท้วงเรื่องสิทธิบัตรยาแล้ว ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ให้ต้องศึกษาทำความเข้าใจอีกมหาศาล

 

เพื่อให้รู้ชัดว่า God is in detail ดังที่ "นิตย์ พิบูลสงคราม" อดีตหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ เคยกล่าวในเวทีสาธารณะแห่งหนึ่ง หรือ Devil is in detail ดังที่ "สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์" แห่งทีดีอาร์ไอว่าไว้ในเวทีเดียวกัน

 

อะไรกันแน่ที่ซ่อนตัวอย่างสลับซับซ้อนอยู่ในรายละเอียดของข้อตกลงเอฟทีเอไทย-สหรัฐ

 

เป็นโอกาสดีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจไทยในยุคโลกาภิวัตน์ โดยหนึ่งในนั้น มี ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) มาบรรยายเรื่อง "การเปิดเสรีภาคบริการของรัฐกับการเจรจาFTA"

 

ภาคบริการ เป็นเรื่องที่ครอบคลุมหลากหลายอาชีพ และเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาเอฟทีเอ แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก เพราะหลายคนอาจคิดว่าถึงที่สุดผู้บริโภคส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรี โดยมีผู้ประกอบการบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบแข่งกับต่างชาติไม่ไหว

 

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ แห่งเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็เขียนไว้เช่นนั้นในบทความ "มองมุมใหม่ : หมอผีปลุกปั่นความกลัวเอฟทีเอไทย-สหรัฐ" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 ม.ค.49

 

"ในประเด็นการลงทุนและการค้าบริการข้ามพรมแดน เอฟทีเอจะทำให้กฎหมายและการบริหารราชการเอื้อประโยชน์ต่อนักธุรกิจมากขึ้น มีขั้นตอนกฎเกณฑ์โปร่งใส ลดการทุจริตคอร์รัปชันและการแทรกแซงใช้อำนาจตามอำเภอใจของข้าราชการและรัฐบาล เปิดประตูให้ผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนประกอบกิจการได้ง่ายขึ้น กระตุ้นการแข่งขัน มีการปรับปรุงคุณภาพบริการ เพิ่มความหลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค"

 

ดร.เดือนเด่น นักวิจัยซึ่งออกตัวว่าไม่ได้สนับสนุนสุดขั้วหรือค้านสุดขีดกับเอฟทีเอฉบับนี้ ก็ยอมรับว่าข้อเขียนข้างบนนั้นไม่ผิด เพราะเอฟทีเอภาคบริการ ไม่ได้พูดกันแต่เรื่อง "การเปิดเสรี" หากแต่ครอบคลุมไปถึงการกำกับดูแล และการแปรรูป ซึ่งมีส่วนที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย

 

เพราะไทยจะต้องทำการปรับปรุงระบบภายในหลายประการ เช่น การกำหนดหน่วยงานที่มีอำนาจในการอนุญาตประกอบกิจการต้องมีความชัดเจน, เงื่อนไขในการรับใบอนุญาตต้องชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณชน, กระบวนการออกใบอนุญาตต้องโปร่งใสและมีหลักการที่ชัดเจน

 

"เป็นความจริง ที่เมื่อเซ็นเอฟทีเอกับสหรัฐแล้ว มันจะบังคับให้ต้องปรับปรุงอะไรหลายอย่างที่น่าจะทำให้การคอรัปชั่นน้อยลง" ดร.เดือนเด่นกล่าว

 

แต่ส่วนการแปรรูปนั้น เอฟทีเอที่สหรัฐกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นต้นแบบสำหรับประเทศอื่นๆ ในเอเชียระบุชัดเจนว่า รัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพหรือแปรรูปจะต้องไม่มีสิทธิพิเศษที่มากกว่าบริษัทเอกชนอื่นๆ ในตลาดเดียวกัน ยกเว้นในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ, รัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพจะต้องไม่มีอำนาจผูกขาด, นักลงทุนอเมริกันจะได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับนักลงทุนไทยในการซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจไทย (รัฐไม่สามารถจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติได้ยกเว้นในกรณีของบริการโครงสร้างพื้นฐานที่อาจจำกัดได้ที่ร้อยละ 49)

 

ดร.เดือนเด่น มองว่า ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจประเทศไทยจะได้ประโยชน์หากมี 3 องค์ประกอบนี้ คือ 1.เมื่อแปรรูปแล้วต้องทำให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง ไม่ให้มีการถืออภิสิทธิ์ใดๆ อีก 2.มี strategic partner หรือ ไม่กระจายหุ้นให้กับรายย่อยมากเกินไป เพราะจะทำให้ไม่มีเจ้าภาพที่กล้าลงทุน แบกรับความเสี่ยงในการพัฒนาเทคโนโลยีหรือความรู้ต่างๆ 3. ที่สำคัญ ต้องมีองค์กรกำกับดูแลที่เข้มแข็งและเท่าทันบริษัทเอกชน

 

"ตอนนี้ประเทศไทย ยังไม่มีทั้งสามส่วนนี้ ก็เลยไม่รู้แน่ชัดว่าแปรรูปไปแล้วจะเป็นยังไง" ดร.เดือนเด่นกล่าว

 

กระนั้นก็ตาม ยังมีรายละเอียดอีกหลายประการที่ ดร.เดือนเด่นได้อธิบายเพิ่มเติม เป็นรายละเอียดที่สำคัญ  อาจจะมากเสียจนทำให้เราต้องหันมาทำความเข้าใจได้ว่า ทำไม "….บางส่วนของสังคมไทยออกอาการแตกตื่นสุดขีด ดิ้นรน ตัวสั่น ลงไปกลิ้งเกลือกกับพื้นดินกรีดร้องราวกับคนเสียสติที่ได้เผชิญหน้ากับปีศาจร้ายจากขุมนรก......" (มองมุมใหม่ : หมอผีปลุกปั่นความกลัวเอฟทีเอไทย-สหรัฐ/พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์)

 

โดยภาพรวมแล้วไทยมีการส่งออก-นำเข้าบริการกับสหรัฐหลากหลายสาขาสำคัญ และขาดดุลทุกปี อีกทั้งมีแนวโน้มจะขาดดุลสูงขึ้นเรื่อยๆ  โดยสาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้ขาดดุลคือการจ่ายค่าทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลาย

 

"เรื่องไอพีอาร์ (ทรัพย์สินทางปัญญา) เป็นข้อบทที่น่าห่วงที่สุดในเอฟทีเอ เสียประโยชน์แน่ๆ 100% ไม่ต้องคิดมาก" ดร.เดือนเด่นฟันธง

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเปิดเสรีบริการ แม้จะยังไม่มีการเซ็นเอฟทีเอกับสหรัฐ แต่ที่ผ่านมาก็มาไทย-สหรัฐก็มีสนธิสัญญาไมตรี (Treaty of Amity) ซึ่งสหรัฐเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทำข้อตกลงนี้กับประเทศไทย เพื่อเปิดเสรีให้นักลงทุนสหรัฐเข้ามาลงทุนภาคบริการในไทยได้ทั้งหมด 100% จากปกติที่ภาคบริการนั้นไทยเปิดให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 49% (แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยอนุญาตนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100%)

 

แต่การเปิดเสรีภาคบริการในเอฟทีเอ จะไปไกลกว่านั้น เพราะไม่ได้ให้สิทธิเพียงนักลงทุนสหรัฐแท้ๆ เท่านั้น แต่รวมถึงนักลงทุนชาติอื่นๆ ที่จดทะเบียนบริษัทในสหรัฐด้วย

 

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯ ซึ่งมีการลงทุน มีการจดทะเบียนสาขาบริษัทในสหรัฐก็จะได้สิทธิพิเศษในการมาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่างกัน โดยสหรัฐจะได้ประโยชน์ในเรื่องภาษีไปเต็มๆ

 

"อย่างญี่ปุ่นนี่เขาอึดอัดมาก ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยได้ ขายได้มาก แต่ทำลิสซิ่งไม่ได้ ทำอู่ไม่ได้ ทำบริการหลังการขายไม่ได้ ญี่ปุ่นจึงอยากได้รับสิทธิในการลงทุนตรงนี้มาก เขาจะใช้ฐานในสหรัฐทำให้ได้สิทธิจากการเจรจาเอฟทีเอครั้งนี้" ดร.เดือนเด่นกล่าว

 

สรุปง่ายๆ การเปิดเสรีบริการนี้ จึงไม่ใช่การเปิดให้กับนักลงทุนสหรัฐเท่านั้น แต่เป็นการเปิดให้นักลงทุนชาติอื่นๆ ด้วยโดยไม่รู้ตัว (?) ที่สำคัญ เอฟทีเอยังระบุไม่ให้ไทยเข้าควบคุมการไหลเข้าออกของเงินที่ถ่ายโอนโดยบริษัทสหรัฐได้อีกต่างหาก

 

เมื่อถามว่าอะไรที่สหรัฐต้องการมากที่สุด ดร.เดือนเด่นระบุว่า อย่างแรกคือ บริการทางการเงิน (ซึ่งแยกไปอยู่ในอีกหัวข้อหนึ่งของการเจรจา) อย่างที่สองคือ ไปรษณีย์ด่วน หรือ อีเอ็มเอส

 

อันที่สองนี้อาจจะทะแม่งๆ

 

ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ แม้ปัจจุบันธุรกิจนี้ในประเทศไทยล้วนเป็นบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นใหญ่ทั้งนั้น แต่การเปิดเสรีจะเปิดทางสะดวกให้ไทยต้องปรับหรือยกเลิกกฎหมายที่ห้ามมิให้เอกชนประกอบกิจการไปรษณีย์ และยกเลิกการจำกัดการถือหุ้นโดยต่างชาติ ทำให้ต่างชาติไม่ต้องใช้คนไทยเป็นหน้าฉาก หรืออาศัยการถือหุ้นแบบนอมินี (การถือหุ้นโดยอ้อม) อีกต่อไป

 












บริษัท


ส่วนแบ่งตลาด


หุ้นส่วนต่างชาติ


DHL


66.09%


เนเธอร์แลนด์ 49%


TNT Express


14.36%


เนเธอร์แลนด์ 48.99% เยอรมัน 0.0033% สหราชอาณาจักร 0.0033%


FedEX


10.54%


สหรัฐ 49%


UPS


8.38%


สหรัฐ ฮ่องกง สิงคโปร์ ประเทศละ 16.33 %


ไปรษณีย์ไทย


0.57%


0%


Courier Express


0.05%


0%

 

ขณะที่สาขาโทรคมนาคมดูเหมือนจะเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับประเทศไทยเพราะ ผู้ใช้บริการไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนของผู้ประกอบการสหรัฐเนื่องจากตลาดโทรคมนาคมยังมีลักษณะกึ่งผูกขาด ยกเว้นในกรณีที่มีการผูกขาดเกิดขึ้น อีกทั้งไทยน่าจะได้รับผลประโยชน์จากการมีมาตรการกำกับดูแลที่โปร่งใสมากขึ้น

 

ส่วนผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับผลกระทบ คือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องปรับตัว แต่จะต้องได้รับการคุ้มครองจากการพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการอุดหนุนที่บริษัทต่างชาติอาจได้รับจากรัฐบาลของตน

 

ท้ายที่สุดแล้ว เขตการค้าเสรี อาจจะเดินทางไปสู่การผูกขาด เพราะการที่สหรัฐได้รับสิทธิมากกว่าผู้ประกอบการชาติอื่นอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาดในตลาดธุรกิจบริการได้

 

อีกทั้งผู้ประกอบการต่างชาติอาจได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลของตนทำให้มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากแต่ไม่มีระบุไว้ในเอฟทีเอ

 

ที่สำคัญ ไทยจะไม่สามารถเข้าควบคุมการไหลเข้าออกของเงินที่ถ่ายโอนโดยบริษัทสหรัฐได้หากเกิดวิกฤตดุลการชำระเงินในประเทศอันเป็นผลจากการเปิดเสรี

 

นี่คือ 3 ข้อหลักที่ดร.เดือนเด่นเป็นห่วงผลกระทบในระยะยาว

 

"ถามว่าเราให้สิทธิให้การคุ้มครองแก่ใคร ทั้งหมดนั้นให้กับบริษัทอเมริกันเท่านั้น คนไทยจะได้รับสิทธินี้ต่อเมื่อไปอเมริกา แต่อยู่ในประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิเท่าอเมริกา มันเหมือนกับเรากลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ในประเทศของตัวเอง" ดร.เดือนเด่นกล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท