Skip to main content
sharethis

แถลงผลการเจรจาเอฟทีเอรอบ 6 รมช.สาธารณสุขปฏิเสธไม่ได้ปัดข้อเสนอเรื่องสิทธิบัตรยาของสหรัฐ เพียงรับมาศึกษาก่อนยื่นข้อเสนอกลับ และไม่รับปากตามความต้องการภาคประชาชน ด้านสหรัฐระบุเจรจากับไทยยาวนานที่สุด ติดขัดหลายเรื่อง ยังไม่รู้หัวรู้ก้อย ขอกลับไปปรึกษาวอชิงตัน

การแถลงข่าวผลการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ รอบที่ 6 ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นที่เชียงใหม่ในวันนี้ (13 ม.ค.) จัดขึ้นที่โรงแรมสยามซิตี้  โดยนายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และนางบราบารา ไวเซิล หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหรัฐ

 

โดยการเจรจาล่าช้าไปประมาณครึ่งชั่วโมงเพื่อรอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมแถลงข่าวด้วยในประเด็นที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ เรื่องสิทธิบัตรยา

 

ทั้งนี้ มีการรายงานข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐได้เรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิบัตรยามากไปกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) และปฏิญญาโดฮา ซึ่งเป็นไปตามข้อกังวลของภาคประชาชน ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า คงไม่สามารถรับข้อเรียกร้องของสหรัฐที่จะให้ขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปีจากปัจจุบันที่คุ้มครองอยู่ 20 ปี

 

นายอนุทิน ได้กล่าวแก้ไขข้อมูลว่า ตนไม่ได้จะปัดข้อเสนอหรือล้มการเจรจา โดยในขณะนี้ทีมเจรจายังไม่ได้เจรจาในหัวข้อสิทธิบัตรยาแต่อย่างใด เพราะเพิ่งได้รับเอกสารข้อเสนอของสหรัฐมาเมื่อ 2 วันก่อน และกำลังทำการศึกษาอย่างละเอียดทีละหน้า เพื่อทำเป็นข้อเสนอของไทยกลับไปยังสหรัฐในการเจรจาครั้งหน้า

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าสามารถให้หลักประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่ตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญหามากไปกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก และปฏิญญาโดฮา นายอนุทิน กล่าวว่า เราต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด แต่คงไม่สามารถยึดตามข้อตกลงทริปส์ทั้งหมดได้ เพราะข้อเสนอจะต้องมีความยืดหยุ่นแล้วมาเจรจาต่อรองกัน 

 

ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ซึ่งเข้าร่วมฟังการแถลงข่าวพร้อมกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) อีกกว่า 10 คน ได้กล่าวแสดงความผิดหวังต่อการแถลงของนายอนุทินที่ออกมาขอโทษสหรัฐ อีกทั้งการให้ข้อมูลของสหรัฐที่ว่าการขยายเวลาคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยาจะไม่ทำให้ยาราคาแพงนั้น อันที่จริงแล้วจะส่งผลให้ยาสามัญออกสู่ตลาดช้าลง ซึ่งไม่เฉพาะยาที่มีสิทธิบัตรแต่รวมถึงยาที่ไม่มีสิทธิบัตรด้วย

 

นางบราบารา กล่าวว่า คำกล่าวอ้างของบางฝ่ายที่บอกว่าเอฟทีเอจะทำให้ยามีราคาสูงขึ้นจากเดิมอีกหลายเท่าตัวนั้นเป็นความเข้าใจผิดในข้อเสนอของสหรัฐ และขัดแย้งกับประสบการณ์ของสหรัฐในการทำเอทฟีเอ เช่น จอร์แดน ที่หลังจากทำเอฟทีเอกับสหรัฐแล้วการค้นคว้าด้านการแพทย์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว บริษัทยาของจอร์แดนกลายเป็นผู้ส่งออกสินค้ายารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

 

นอกจากนี้นางบราบารา ยังกล่าวด้วยว่า ได้ทำการเจรจากับประเทศไทยมากว่า 18 เดือนแล้ว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าทุกประเทศที่สหรัฐทำการเจรจามา และยังเหลือประเด็นติดค้างที่คณะเจรจาต้องทำงานอีกมาก และอาจต้องใช้ความพยายามเป็นสองเท่า เพื่อให้การเจรจาเสร็จสิ้นภายในกรอบเวลาที่กำหนด แต่อาจไม่สามารถสรุปผลทันเส้นตายได้ ส่วนการเจรจารอบต่อไปจะมีขึ้นที่ไหน หรือเมื่อไร เป็นเรื่องที่จะต้องกลับหารือกับรัฐบาลวอชิงตันก่อน

 

นางบราบารายังกล่าวด้วยว่า เมื่อลงนามในเอฟทีเอแล้ว จะไม่มีประเทศใดเข้าถึงตลาดสหรัฐได้มากเท่าประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันอยู่ราว 28,000 ล้านเหรียญ และการลงทุนโดยตรงของสหรัฐในประเทศไทยมีประมาณ 7,700 ล้านเหรียญ โดยการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น และประโยชน์ที่สำคัญยิ่งการสร้างงานอัตราใหม่ๆ อีกหลายหมื่นอัตราในประเทศไทย สามารถขยายการส่งออกสินค้าอีกหลากหลายประเภท

 

ขณะที่นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย กล่าวว่า ผู้เจรจารับนโยบายรัฐบาลมาเจรจา ส่วนรัฐบาลจะเห็นว่าเรื่องไหนไม่สมควรรับก็เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องให้นโยบายมากับคณะเจรจา โดยตนเองไม่มีอำนาจไปบังคับคณะเจรจาทั้ง 140 คน ให้ต้องเจรจาในสิ่งที่ไม่ปรารถนาจะเจรจา

 

ส่วนรายละเอียดของความคืบหน้าการเจาจานั้น สำหรับสินค้าเกษตรไทยได้เสนอให้สหรัฐยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกทุกรูปแบบ รวมทั้งลดการให้การอุดหนุนภายในสำหรับสินค้าบางรายการ เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม

 

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสหรัฐ เสนอลดภาษีเป็นร้อยละ 0 ทันทีที่ได้ตกลงกันจะมีผลบังคับใช้เป็นมูลค่ากว่า 12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 74 ของการนำเข้ารวมกับไทย ส่งผลให้สินค้าไทยกว่า 8,100 รายการ จากทั้งหมด 10,500 รายการ สามารถเข้าตลาดสหรัฐ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกรายการ ผลิตภัณฑ์ทำจากไม้และยาง เครื่องแก้วและเซรามิก ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มอาหารและแปรรูป ผลิตภัณฑ์เหล็ก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม บางรายการ

        

ขณะเดียวกัน ไทยได้เสนอยกเลิกภาษีสำหรับสินค้าจากสหรัฐทันที คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 71 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของไทยจากสหรัฐต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่อ่อนไหว ส่วนรายการที่มีความอ่อนไหวมากของไทย เช่น เนื้อสัตว์ นม ผลิตภัณฑ์นม ข้าวโพด มันฝรั่ง ชา กาแฟ และหัวหอม เป็นต้น ไทยได้เสนอให้มีกรอบการลดภาษียาวนานกว่า 10 ปี หรือเป็นสินค้าที่อยู่ในโควตาและมีการใช้มาตรการป้องกัน หากได้มีการนำเข้าสินค้าเหล่านั้นมากจะมีผลกระทบต่อสินค้าภายในประเทศชนิดเดียวกัน

 

ทั้งนี้ กลุ่มเอ็นจีโอได้ชูป้ายผ้าเขียนข้อความคัดค้านเอฟทีเอไทย-สหรัฐด้วยในระหว่างการแถลงข่าว

 

มองข้ามชอร์ตเอฟทีเอไทย-สหรัฐ

ขณะที่ด้านสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัด ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 33 เรื่อง "มองข้ามชอร์ต เอฟทีเอ.ไทย-สหรัฐ แง่มุมที่ถูกละเลย"

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ตั้งข้อสังเกตต่อการเจรจาเอฟทีเอไทย - สหรัฐ ว่า รัฐบาลและคณะผู้เจรจาไทยมีความคาดหวังที่สูงในการเจรจา จนอาจทำให้ละเลยประเด็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ ความคาดหวังบางประการของรัฐบาลและคณะผู้เจรจาไทยอาจประสบความสำเร็จได้ยาก โดยเฉพาะในประเด็นที่คาดหวังต่อจดหมายแนบ (side letter) หรือบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการรับประกันการเข้าถึงยาของประชาชน แต่ในความเป็นจริงเอกสารเหล่านี้มีปัญหาฐานะทางกฎหมาย ซึ่งเคยมีตัวอย่างกับการที่สหรัฐเคยกล่าวหาการทุ่มตลาดของแคนาดา เมื่อแคนาดายกเอกสารดังกล่าวเข้าสู้คดีก็ไม่สามารถชนะคดีสหรัฐ

 

ในประเด็นการมองข้ามช็อต นักวิชาการจาก TDRI กล่าวว่า รัฐบาลและคณะเจรจาควรพิจารณาบทบาทของรัฐสภาในการทำความตกลงเอฟทีเอ นักการเมืองระดับสูงบางคนอ้างว่าหากต้องมีการแก้ไขกฎหมาย การแก้ไขกฎหมายนั้นก็จะต้องผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว จึงน่าเป็นห่วงว่าหากรัฐสภาไม่ผ่านกฎหมายตามความตกลงภายหลังเซ็นข้อตกลงเอฟทีเอไปแล้ว รัฐบาลไทยย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศคู่เจรจา

 

ดังนั้น ในอนาคต ควรจะมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญให้มีความชัดเจนว่า การทำความตกลงระหว่างประเทศจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้าจะมีข้อยกเว้นสามารถทำได้ในกรณีใดบ้าง และในส่วนของความตกลงด้านการค้าระหว่างประเทศ ควรมีการออกกฎหมายทางการค้า (trade act)

 

นอกจากนี้ นายสมเกียรติ ได้ดักคอรัฐบาลไว้ในเรื่องการออกกฎหมายว่า หากมีการทำความตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐจริง คาดว่าประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติอย่างน้อยหลายสิบฉบับ แต่เกรงว่ารัฐบาลจะเลือกออกเป็นพระราชกำหนดแทน ไม่สนใจความชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

                                         

ประเด็นสุดท้าย ดร.สมเกียรติ เสนอว่า หากการทำความตกลงเอฟทีเอมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมตามที่เชื่อกัน ก็หมายความว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการทำความตกลงเอฟทีเอจะเพียงพอในการนำไปชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านลบ

 

"ผมขอเสนอให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีจากผู้ส่งออกที่ได้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ แล้วนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อฝึกอาชีพ สนับสนุนการปรับตัวให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในด้านลบ เช่น แรงงานที่ตกงาน หรือเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้า หรือจัดสรรเป็นตาข่ายทางสังคม (social safety net) ในกรณีที่ปรับตัวไม่ได้"

 

ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การมองข้ามช็อตการเจรจาไทย-สหรัฐ สิ่งที่น่าวิตกคือ ราคายาจะแพงแน่นอน เพราะอุตสาหกรรมยาจะเป็นการผูกขาดเพียงรายเดียวและเป็นการผูกขาดที่ยาวนานขึ้น

 

นอกจากนี้ รศ.จิราพร ยังชี้ให้เห็นว่า ความจริงราคายาก็แพงอยู่แล้ว แต่เนื่องจากรัฐบาลมีรายได้จากภาษีนำเข้ายาจึงสามารถนำมาเฉลี่ยทำให้ราคายาถูกลง และการลดภาษีการนำเข้ายานั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ไทยได้ประโยชน์เลย เพราะไทยไม่ได้ส่งออกยาให้สหรัฐ จะลดภาษีนำเข้าหรือไม่ก็ไม่มีผลกับไทยด้านนี้

 

ส่วนประเด็นที่น่าวิตกยิ่งกว่านั้นคือ จะมีการผูกขาดในรูปแบบ "ข้อมูลทดลองยา" หรือ ดีอี 5 ผลเสียจะรุนแรงมาก ทั้งนี้สาเหตุที่สหรัฐฯต้องการผูกขาดในข้อมูล เพราะต้องการผูกขาดตลาดนั่นเอง

 

จากการวิเคราะห์ราคายาที่ติดสิทธิบัตรและยาสามัญมีราคาต่างกันถึง 10 เท่า ระบบทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯที่จะบรรจุในเอฟทีเอ เป็นการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 20 ปี เป็น 25 ปี ทำให้ปิดกั้นการศึกษาวิจัยพัฒนาของอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุข ทั้งการจัดหายาใหม่และเข้าถึงยา

 

รศ.จิราพร ยังเสนอว่า การทำข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐ ควรทำเป็น 2 ภาษาคือ ภาษาไทย กับภาษาอังกฤษ เพราะบางคำตีความได้ความหมายต่างกัน สิ่งที่น่าสังเกตและไม่ชอบธรรมอีกประการคือ ในที่ประชุมสองฝ่าย ฝ่ายสหรัฐ กลับมีตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตและวิจัยยาสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์จากธุรกิจยาเข้าไปร่วมคณะ แต่ตัวแทนผู้จะได้ผลกระทบจากภาคส่วนต่างๆของไทยหรือสื่อมวลชนไทยกลับไม่ได้รับเชิญอนุญาตให้เข้าไปร่วมประชุม

 

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ จากกลุ่ม FTA WATCH ซึ่งมีโอกาสเข้าไปร่วมในห้องเจรจาด้านสิ่งแวดล้อม ก็ได้นำเรื่องจริงจากการร่วมสังเกตการณ์การเจรจาที่รัฐบาลพยายามปกปิดมาเปิดเผยต่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ด้วย

 

"ผมอยู่ในห้องเจรจาเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งวัน ห้องนั้นมันไม่ใช่การเจรจา มันคือการบังคับของกฎหมายสหรัฐนอกอาณาเขต สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลมีจุดยืนว่าจะไม่รวมสิ่งแวดล้อมและแรงงานอยู่ในเอฟทีเอแต่ทางสหรัฐตอบมาว่า ถ้าไม่รวม การเจรจา FTAก็ต้องยุติ เพราะเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย ห้องเจรจาก็เลยหยุดกันไป

 

"เมื่อมาคุยกันใหม่ตอนบ่าย เขาก็เริ่มต้นด้วย ข้อที่ 1,3 ,5,7,8 ไม่สามารถเจรจาได้ เพราะว่าสิทธิในมาตราเหล่านี้อยู่ในกฎหมายสหรัฐ สิ่งที่รัฐบาลไทยทำได้อย่างเดียวคือ คุณจะรับก็รับ ไม่รับก็ไม่รับ อย่างนี้ไม่เรียกว่าการเจรจาแต่คือการเอากฎหมายสหรัฐมาเขียนลงในเอฟทีเอแล้วบังคับผ่าน"

 

นายบัณฑูรกล่าวอีกว่า สหรัฐทำให้รู้สึกทางจิตวิทยาว่า เราได้ต่อรองแล้วแต่ความจริงแกนในสาระสำคัญเราไม่มีสิทธิ์เปลี่ยน เพราะมันถูกกำหนดในกฎหมายสหรัฐ ตรงนี้เป็นความชอบธรรมมากที่สุดของประชาชนที่จะขอให้ยุติการเจรจาเพราะนี่ไม่ใช่การเจรจาแต่คือการบังคับใช้กฎหมาย

 

เอฟทีเอวอทช์ยื่นคำถามที่รัฐบาลต้องตอบ

ขณะที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอวอทช์) ได้แจกเอกสารระบุคำถามที่คณะเจรจาไทยและรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องตอบ คือ 1.การที่นายกรัฐมนตรีอ้างถึง "ผลประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ" มีการศึกษาหรือไม่ อย่างไร ถ้ามีการศึกษาต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

 

2.ภาคประชาชนไม่อาจมีส่วนร่วมในการเจรจา แต่ทำไมตัวแทนของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์(PReMA) ซึ่งเป็นสมาคมผู้นำเข้ายาและอุตสาหกรรมยาจากสหรัฐ และมีจุดยืนเช่นเดียวกับสหรัฐฯ จึงสามารถเข้าร่วมการเจรจาในประเด็นสิทธิบัตร และการวางยุทธศาสตร์การเจรจาได้

 

3.การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ยึดหลักบูรณาการตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างหรือไม่ เหตุใดกลุ่มเจรจาแต่ละกลุ่มจึงไม่ได้รับอนุญาตให้รับทราบเนื้อหาในรายละเอียดการเจรจาของกลุ่มอื่นๆ เช่น ในกรณีที่กลุ่มเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญาต้องการรับทราบเนื้อหาด้านการลงทุน แต่ถูก ดร.วีรชัย พลาศรัย หัวหน้าคณะเจรจาด้านการลงทุนปฏิเสธ และกรณีที่กลุ่มเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมขอดูข้อเรียกร้องของสหรัฐฯทุกประเด็น

 

4.ในกลุ่มเจรจาประเด็นการลงทุนที่เร่งเจรจา มีเนื้อหาอย่างไรโดยเฉพาะนิยามการลงทุน, สิทธินักลงทุน และ การระงับข้อพิพาทที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องรัฐได้ได้มีการศึกษาผลของข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่จะกระทบต่ออธิปไตยของประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net