ผลการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ 2 วันแรก

ผลการเจรจา FTA ระหว่างไทย-สหรัฐ ในวันที่สอง มีหัวข้อการค้าบริการซึ่งเจรจาเป็นวันแรก สหรัฐฯ ได้แสดงความยืดหยุ่นที่จะพิจารณาข้อเสนอของไทยในเรื่องการยอมรับคุณสมบัติของผู้ให้บริการระหว่างกัน รวมทั้งข้อเสนอเรื่องมาตรการป้องกันไว้ใน FTA นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการเจรจาเปิดเสรีในรายสาขาต่อไป


 

ขณะที่หัวข้อทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีการเจรจาทุกวันนั้น วันที่สองฝ่ายไทยได้ผลักดันให้สหรัฐฯ ให้ความคุ้มครองแก่สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ และผ้าไหมไทยในระดับที่เท่าเทียมกับเหล้าและไวน์ โดยย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญอย่างมาก นอกจากนี้มีการเจรจากันในเรื่องการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น และการป้องกันการจารกรรมทางชีวภาพ (Bio-piracy) โดยไทยผลักดันให้สหรัฐฯ ยอมรับหลักการของการขออนุญาตก่อนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ และหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ หากมีการนำทรัพยากรดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ได้เห็นชอบในหลักการ แต่ยังต้องเจรจาในรายละเอียดต่อไป

 

ส่วนการหารือหัวข้อสิ่งแวดล้อม ไทยยืนยันให้มีการบังคับใช้กฎหมายครอบคลุมระดับมลรัฐนอกเหนือจากระดับรัฐบาลกลาง ขณะที่ในส่วนของความร่วมมือ จะได้มีการหารือกันในเรื่องการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ต่อไป

 

เรื่อแหล่งกำเนิดสินค้าได้มีการหารือกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการซึ่งเป็นเป้าหมายของไทย เช่น เซรามิก อัญมณี เครื่องแก้ว สำหรับการลดภาษี สหรัฐฯ พร้อมจะลดภาษีเป็น 0 ทันที 74% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทย คิดเป็นมูลค่าราว 1.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ลดภาษีเป็น 0 ภายใน 5 ปี 85% หรือประมาณ 1.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมสินค้าประเภท รองเท้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เซรามิค เครื่องหนัง ผักผลไม้แปรรูป เครื่องประดับอัญมณี นาฬิกาและส่วนประกอบ นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ลดภาษีเป็น 0 ภายใน 10 ปีมี 97% หรือประมาณ 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นปลาทูน่ากระป๋อง ยานยนต์และชิ้นส่วน รองเท้า ข้าว น้ำตาล ผักผลไม้แปรรูป

 

ทั้งนี้ ไทยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้สหรัฐฯ ร่นระยะเวลาการลดภาษีเป็น 0 เร็วขึ้นและมากขึ้นในการเจรจารอบต่อไป

 

ผลการเจรจาเอฟทีเอวันแรก

ในส่วนของการเจรจาวันแรกนั้น ครอบคลุมหัวข้อการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการจัดซื้อโดยรัฐ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันอย่างเอาจริงเอาจัง

 

การเจรจาเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากหารือในข้อบททั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้แล้วในบางประเด็น ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนข้อเสนอในการลดภาษีที่ได้ปรับปรุงจากข้อเสนอที่ได้ยื่นแก่กันครั้งแรก โดยสหรัฐฯ เสนอที่จะเพิ่มสัดส่วนรายการสินค้าอุตสาหกรรมที่จะลดภาษีเป็น 0 ทันทีจาก 15.5% ในการยื่นข้อเสนอครั้งแรกเป็น 22.3% (เพิ่มจากเดิม 6.8%) ขณะที่ฝ่ายไทยปรับข้อเสนอที่จะเพิ่มสัดส่วนรายการสินค้าอุตสาหกรรมที่จะลดภาษีทันที่จากเดิม 37.4% เป็น 38.7%

 

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ปรับปรุงข้อเสนอจากลดภาษีเป็น 0 ภายใน 10 ปี เป็นภายใน 5 ปี ซึ่งมีรายการสำคัญของไทย เช่น เครื่องประดับอัญมณี นาฬิกาและชิ้นส่วน อย่างไรก็ดี สินค้าเป้าหมายของไทย เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ยานยนต์และชิ้นส่วนบางรายการ และรองเท้า รอให้เจรจาในหัวข้อแหล่งกำเนิดสินค้าควบคู่ไปด้วย

 

ในด้านแรงงาน ฝ่ายไทยได้เน้นย้ำไม่ให้นำปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า และได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาโครงการด้านความปลอดภัยและชีวอนามัย 2 โครงการที่ได้เสนอขอความร่วมมือจากสหรัฐฯ

 

ในหัวข้อทรัพย์สินทางปัญญา ได้เริ่มต้นด้วยการเจรจาในเรื่องเครื่องหมายการค้า โดยสหรัฐฯ เสนอให้มีการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่เป็นเสียงและกลิ่น ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ไทยไม่ยอมรับ และยังได้หารือในเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการใช้เครื่องหมายการค้าครอบคลุมสิ่งบ่งทางภูมิศาสตร์

 

ส่วนการจัดซื้อโดยรัฐทั้งสองฝ่ายได้เริ่มหารือกันในเรื่องการเปิดตลาด โดยสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอเบื้องต้นแล้ว โดยครอบคลุมรัฐบาลกลาง รัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้น ได้มีการจัดการบรรยาย โดยเจ้าหน้าที่จาก Small Business Administration ถึงโอกาสและวิธีการเข้าร่วมในกระบวนการจัดซื้อของหน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท