เอฟทีเอไทย-สหรัฐ กับ "เรื่องธรรมดา" ที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้!

ท่ามกลางเสียงโห่ฮาจากผู้ชุมนุม ราว 10,000 ชีวิตที่กดดันคณะเจรจาไทยและสหรัฐอย่างถึงพริกถึงขิงอยู่หน้าโรงแรมเชอราตัน โรงแรมหรูกลางเมืองเชียงใหม่ จนเป็นเหตุให้การประชุมในช่วงบ่ายแก่หยุดชะงัก และเจ้าหน้าที่ - ผู้เจรจาต่างปลดป้าย "Thai delegate" ที่หน้าอกลงมาดูการประท้วงกันเป็นแถว พร้อมคำวิพากษ์วิจารณ์หลายหลาก (ส่วนเจ้าหน้าที่ของสหรัฐนั้น หากไม่รู้จักอย่างแม่นยำ ก็ยากที่จะแยกออกจากบรรดานักท่องเที่ยวได้)

 

แต่ไม่ว่าเสียงเฮของผู้ประท้วงจะดังแค่ไหน มันไม่น่าจะส่งผลอันใดกับกลุ่มการเจรจาอีกประมาณ 3 กลุ่มที่ทำการต่อรองกันอยู่ในโรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง ซึ่งอยู่ถัดออกไปไกลแบบพอเดินไหว

 

หมายความว่า จะมีอย่างน้อย 3 กลุ่มเจรจาในวันนี้ (และอาจรวมตลอดการเจรจา ซึ่งมีหัวข้อสำคัญอื่นๆ ที่ผลัดเวียนไปเจรจาที่นั่น) จึงปลอดพ้นทั้งม็อบและบรรดาผู้สื่อข่าว ทั้งที่ตรงนั้นก็เป็นสถานที่จัดประชุมกลุ่มเจรจาที่สำคัญยิ่ง เฉพาะในวันนี้มีเรื่องการลงทุน ภาคบริการ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

 

"ที่โน่นมันลำบาก เราไม่รู้เขาประชุมกันที่ไหนยังไงบ้าง เคยไปนั่งรอ พอออกมาจากห้องประชุมก็ไม่ให้สัมภาษณ์ ก็โอเค ไม่ให้ก็ไม่เป็นไร เรามีหน้าที่ถามก็ต้องถาม ไม่อยากตอบก็ไม่เป็นไร" นักข่าวรุ่นพี่บางสำนักระบายความคับแค้น และนั่นน่าจะเป็นสาเหตุที่นักข่าวส่วนใหญ่หรือทั้งหมดก็ว่าได้โยกย้ายมาประจำที่เชอราตัน ซึ่งมีแหล่งข่าวจากหน่วยงานที่เป็นข่าวอยู่เป็นประจำ เป็นแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกว่า รวมทั้งมีหัวหน้าใหญ่ "นิตย์ พิบูลสงคราม" ด้วย มันจึงดีกว่าไปเสียเวลาโดยไร้ความหวังอยู่อิมพีเรียลฯ

 

"เอฟทีเอเหรอ ไม่เหลือใครแล้วน้อง พวกฝรั่งเขาไปหมดแล้ว แล้วคณะฝรั่งก็ไม่มีใครพักที่นี่เลยซักคน มีแต่คณะผู้แทนไทย" พนักงานต้อนรับของโรงแรมเชอราตันให้คำตอบหลังผู้สื่อข่าวเริ่มสับสนกับกลุ่มฝรั่งที่แต่งชุดไทยเหมือนเตรียมร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ "คนละกลุ่มแล้วน้อง"

 

ส่วนผลความคืบหน้าการเจรจานั้น เส้นทางข้อมูลข่าวสารไม่สลับซับซ้อนมากนัก เพียงผู้สื่อข่าวปักหลักอยู่ ณ ลอบบี้โรงแรม เพื่อดักสัมภาษณ์แหล่งข่าวจากหน่วยงานต่างๆ ที่อาจจะเดินเข้าเดินออก และเชื่อว่านักข่าวน้องใหม่หลายต่อหลายคนอาจเดินผ่านแหล่งข่าวสำคัญไปเสียฉิบ เพราะไม่รู้จักหน้า

 

นอกจากนี้ยังมีการสรุปข่าวภาพรวมกลุ่มต่างๆ ของเมื่อวาน โดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ มาแจกจ่ายให้ผู้สื่อข่าวในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ มีการกำหนดว่าจะจัดแถลงข่าวผลการเจรจาอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 ม.ค.ที่ สยามซิตี้ กรุงเทพฯ เวลานั้นน่าจะถึงเวลาที่นักข่าวอาวุโสในออฟฟิศข่าวต่างๆ จะออกโรงไปร่วม "ซัก" ท่านทูตนิตย์ หรือตัวแทนคณะเจรจาอย่างได้น้ำได้เนื้อ

 

ถึงที่สุด ก็ยากยิ่งจะรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง ก่อน หลัง หรือกระทั่ง ในห้องเจรจา.....

 

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ เป็นเอ็นจีโอผู้เคี่ยวกรำกับเรื่องราวของเอฟทีเอมานานหลายปี และมักสวมวิญญาณนักข่าวตั้งคำถาม "ลึก-แรง" กับภาครัฐเสมอเมื่อมีโอกาส

 

วันนี้เธอขึ้นเวทีไฮด์ปาร์ก กล่าวอ้างข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่างๆ โดยอ้างแหล่งข่าวเป็น "หนูในโรงแรมเชอราตัน" ทำเอาทั้งม็อบและเจ้าหน้าที่รัฐได้แต่หัวเราะ (หลายคนส่ายหัวประกอบ)

 

ข้อมูลที่ว่า อาทิ กรณีหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขยืนยันชัดเจนว่าควรถอดเรื่องสิทธิยาออกจากการเจรจาเอฟทีเอไปเลย เนื่องจากข้อเรียกร้องทั้งหมดของสหรัฐจะกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนและระบบสาธารณสุขไทย แต่หัวหน้าคณะเจรจาไทยกลับไม่ยอม เพราะถ้าเอาออก สหรัฐจะไม่ยอมเจรจาเอฟทีเอทั้งหมดด้วยแน่นอน

 

อีกกรณีหนึ่ง หนูในโรงแรมเชอราตันระบุถึงการปกปิดข้อมูลระหว่างกลุ่มการเจรจาด้วยกันเอง (มีทั้งหมด 22 กลุ่ม) เรื่องนี้สำคัญ และได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในคณะเจรจากลุ่มแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไปเชื่อมโยงอย่างสำคัญกับกลุ่มการลงทุน

 

แหล่งข่าวยืนยันว่าเรื่องราวในหมวดแรงงานและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวพันกับการลงทุนจริง เพราะดูเหมือนข้อบทในเรื่องการลงทุนนั้นจะมี "priority" สูงกว่ากลุ่มการเจรจากลุ่มอื่น แต่จนแล้วจนรอดกลุ่มแรงงานและสิ่งแวดล้อมก็ไม่อาจก้าวข้ามไปขอดูเนื้อหาของกลุ่มการลงทุนได้ ไม่ใช่ไม่อยากดู ...... ?!?!!?

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่าทีมเจรจามีการคุยกันระหว่างกลุ่ม ไม่ใช่ไม่มี หากแต่การพูดคุยนั้นเป็นการรายงานความคืบหน้าการเจรจา ไม่ใช่ประเด็นหรือรายละเอียดในการต่อรอง

 

"แต่ละกลุ่มเขาต้องเจรจาให้ได้ประโยชน์สูงสุดอยู่แล้ว และถ้ามันตันก็ต้องส่งไปให้ฝ่ายการเมืองตัดสินใจว่าจะเอายังไง จึงเจรจาต่อ เป็นอย่างนี้" เขากล่าวและว่า ท้ายที่สุดก็จะได้ข้อสรุปที่ระบุข้อดีข้อเสียทั้งหมดไปให้ภาคการเมืองตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่

 

ว่าแต่การลงทุนมันสำคัญอย่างไร คงพอเห็นคร่าวๆ ได้ในการให้สัมภาษณ์ของ "บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์" (สำนักข่าวประชาธรรม) ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญที่ทำงานข้อมูลให้กับภาคประชาชน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา

 

เขากล่าวว่า ความพยายามเจรจาต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศในการเปิดเสรีทั้ง 22 หมวด อาจไร้ความหมาย หากฝ่ายไทยยอมรับข้อตกลงในหมวดของการลงทุน ซึ่งสหรัฐให้ความสำคัญกับการเจรจาเรื่องนี้มาเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ได้มีข้อความที่ระบุในหนังสือเจรจา โดยเรียกร้องให้ไทยจัดวางสถานะของข้อตกลงด้านลงทุน มีอำนาจสูงกว่าข้อตกลงในหมวดอื่นๆ นั่นหมายความว่าสามารถยกเลิกเงื่อนไข หรือสามารถละเว้นการปฏิบัติตามกฎกติกาที่ไทยกำหนดไว้

 

เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไทยต้องศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดีย หลังจากเปิดเสรีการลงทุนให้แก่สหรัฐ ปรากฏว่าบริษัทมอนซานโต้ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตเมล็ดพันธุ์พืช และผู้นำเรื่องการพัฒนาจีเอ็มโอของโลก สามารถเข้าไปจัดการระบบการเพาะปลูกได้อย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งยังสามารถเข้าไปพัฒนาระบบการจัดส่งน้ำให้แก่เกษตรกรอีก จึงทำให้สูญเสียการพึ่งพาตนเองไป

 

ขณะที่รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ อาจารย์ประจำสาขานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า หากไทยยอมรับข้อเสนอของสหรัฐฯ ในเรื่องการลงทุนภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอ ย่อมหมายถึงไทยยอมเปิดเสรีการลงทุนแก่สหรัฐโดยไม่มีเงื่อนไข โดยยอมลดทอนอำนาจอธิปไตยในการกำกับการลงทุนในทุกสาขา รวมทั้งกิจการที่เป็นบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ประปา ไฟฟ้า ฯลฯ และอาจหมายถึงไทยต้องเปิดเสรีด้านการลงทุนให้กับทุกประเทศภายใต้ข้อตกลงพหุภาคีที่จะถูกจัดทำขึ้นในอนาคต เมื่อถึงวันนั้นไทยจะไม่มีสิทธิกำกับควบคุมการลงทุนของต่างชาติ ไม่สามารถให้สิทธิพิเศษหรือการกำหนดมาตรการช่วยเหลือบริษัทหรือผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงเกษตรกรหรือวิสาหกิจรายเล็กรายน้อยต้องล้มหายไป หรือถูกกลืนควบรวมกิจการโดยต่างชาติในที่สุด

 

นอกจากนี้รศ.ลาวัลย์ ถนัดศิลปะกุล ผู้อำนวยการโครงการสถาบันศึกษากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ยังได้อธิบายไว้ว่า จากการศึกษาตัวบทเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับประเทศอื่นๆ อันมีแนวเป็นไปในทางเดียวทั้งหมดแล้วพบว่า หากเปิดให้เสรีการลงทุน มีสิ่งที่รัฐเจ้าบ้าน "ห้ามทำ" และ " ต้องทำ" อยู่ไม่กี่ประการ สำหรับนักลงทุนสัญชาติสหรัฐ

สิ่งที่เจ้าหน้าทำไม่ได้ คือ การขอให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี,การจำกัดการนำเข้า,การบังคับให้มีการส่งออก,การบังคับให้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ,การให้รักษาระดับอัตราส่วนการนำเข้า ส่งออก,การให้คงดุลการชำระเงิน,การห้ามนำคนทำงาน พนักงานจากต่างประเทศเข้ามา,การให้พัฒนาองค์กร และองค์ความรู้

ส่วนสิ่งที่เจ้าบ้านต้องทำ คือ สนับสนุน อำนวยความสะดวกในการค้า การลงทุน,ไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบที่ถือได้ว่าเป็นอุปสรรคต่อการค้า การลงทุน,ไม่มีการกระทำที่เข้าข่ายเวนคือ ยึดทรัพย์ทางอ้อม หากมีต้องชดใช้รับผิดชอบในความเสียหายทั้งปวง,ให้มีกลไกระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ,เอกชนฟ้องรัฐได้โดยตรง,ยึดหลัก Stand Still and Roll Back สำหรับกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคการค้าการลงทุน (เมื่อเปิดแล้วไม่สามารถถอยหลังกลับได้),ยกเลิกกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด

 

นี่จึงไม่ใช่การบ้านของคณะผู้เจรจาเท่านั้น หากแต่เป็นการบ้านของประชาชนทุกคน .... งานนี้คงต้องขยันทำการบ้านแล้วล่ะ J

 

 

   กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท