Skip to main content
sharethis

แม้ข้อเรียกร้องจากเอ็นจีโอที่ให้ยกเอาประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ จะเป็นข้อเรียกร้องที่หนักข้อเกินไปในความเห็นของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่มักจะมีข้อมูลเด็ดๆ ดีๆ ให้สังคมต้องตั้งใจฟัง เช่น ข้อมูลเรื่องสิทธิบัตรและการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาในความตกลงเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ


 


ในการสัมมนานโยบายสาธารณะ เรื่องเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา : ประโยชน์และผลกระทบ จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วันที่ 6 มกราคม 2549 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ดร.สมเกียรติ ก็ช่วยให้เห็นและเข้าใจว่าข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาก็มีลักษณะเข้าข่ายหนักข้อไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะเงื่อนไขที่พยายามจะทำให้ความสามารถในการผลิตยาสามัญในประเทศเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้


 


หนักข้อประการแรกของกรอบการเจรจาเอฟทีเอตามข้อมูลที่สหรัฐฯได้ทำกับประเทศอื่นๆมาแล้ว เช่น สิงคโปร์ และชิลี คือการมีข้อตกลงที่เกินเลยกว่าข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ(TRIPs) ขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกกันว่า TRIPs Plus(ทริปส์พลัส) มีดังนี้


 



  1. การขยายอายุสิทธิบัตรให้ยาวนานกว่าอายุสิทธิบัตรตามความตกลงในทริปส์คือ 20 ปี สหรัฐฯจะยื่นไว้ในความตกลงขอรับความชดเชยเวลาที่ล่าช้าไป โดยอ้างเหตุการตรวจสิทธิบัตรล่าช้ามีความหมายเท่ากับเป็นการขยายอายุสิทธิบัตรให้ยาวนานกว่าที่ตกลงกันในองค์การการค้าโลก

  2. การจดสิทธิบัตรสำหรับการใช้ใหม่สำหรับการประดิษฐ์เดิม เช่น ยาชนิดหนึ่งเคยมีการจดสิทธิบัตรในสรรพคุณที่รักษาโรคชนิดหนึ่ง ต่อมาภายหลังพบว่ายาดังกล่าวมีความสามารถที่จะรักษาโรคอื่นได้อีก จึงได้อ้างผลที่ค้นพบใหม่นี้มาใช้ในการจดสิทธิบัตร เท่ากับเป็นการต่ออายุสิทธิบัตรออกไปโดยปริยาย

  3. การบังคับใช้สิทธิเฉพาะกรณีเพื่อเยียวยาการผูกขาด ต้องเป็นการใช้โดยรัฐและเป็นกรณีฉุกเฉินระดับชาติ ทั้งที่ใน พรบ.สิทธิบัตร ปัจจุบันเอกชนก็สามารถที่จะเป็นผู้ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิได้ และการระบุว่าต้องเป็นกรณีฉุกเฉินระดับชาตินั้นอาจเป็นช่องทางที่สามารถใช้ในการตั้งแง่ที่จะไม่ให้บังคับใช้สิทธิได้

  4. การห้ามผู้อื่นใช้ข้อมูลของผู้ผลิตยาต้นแบบในการขออนุญาตวางตลาด ภายในเวลา 5 ปี ขณะที่โดยทั่วไปกระบวนการผลิตยาสามัญจะเกิดขึ้นหลังจากที่ยาต้นแบบได้รับอนุญาตให้วางตลาด ก็จะมีการวิจัยและพัฒนาทดสอบยาสามัญ โดยการตรวจชีวสมมูลและเมื่อสิทธิบัตรหมดอายุ ยาสามัญก็จะสามารถวางตลาดได้พอดี แต่ในกรณีนี้ถูกบีบไม่ให้ใช้ข้อมูลในการทดสอบจากยาต้นแบบเพื่ออ้างอิงในการขึ้นทะเบียนยา เป็นการสร้างเงื่อนไขให้เวลาในการผลิตยาสามัญที่จะวางตลาดได้ต้องทอดยาวออกไป อย่างที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้ในทริปส์

 


ที่สำคัญความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาในเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯไม่ใช่จะเข้มงวดหนักข้อเกินกว่า ทริปส์เท่านั้นจนกลายเป็นทริปส์พลัสเท่านั้น แต่ยังเข้มงวดเกินกว่ากฎหมายภายในสหรัฐเรียกว่าเป็น US+ (ยูเอสพลัส) อีกต่างหาก


 


ในประเทศสหรัฐฯ พลังของผู้บริโภคเองก็สามารถที่จะถ่วงดุลกับบริษัทยาซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรดังนั้นกฎหมายภายในของสหรัฐฯจึงเป็นเครื่องมือที่พอจะพึ่งได้สำหรับผู้บริโภคในสหรัฐฯ ขณะที่ข้อตกลงเอฟทีเอเรื่องสิทธิบัตรของสหรัฐเองที่เข้าข่ายความหนักข้อที่เรียกว่ายูเอสพลัสนั้น ประกอบด้วย



  1.  การยืดอายุสิทธิบัตร

ตามกฎหมายสหรัฐฯ กำหนดให้เวลาชดเชยมีค่าเท่ากับ ครึ่งหนึ่งของเวลาทดสอบสิทธิบัตรบวกกับเวลาที่ตรวจอนุมัติ อย่างไรก็ตามเวลาชดเชยนั้นต้องไม่เกิน 5 ปี และเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรที่วางตลาดทั้งหมดไม่เกิน 14 ปี


¬      ขณะที่ FTA ซึ่งสหรัฐไปทำความตกลงกับประเทศต่างๆ ไม่มีเงื่อนไขในการจำกัดอายุสิทธิบัตรอย่างที่กำหนดไว้ในกฎหมายสหรัฐ


 



  1. การใช้สิทธิบัตร

ตามกฎหมายสหรัฐฯ บุคคลที่สามสามารถใช้สิทธิบัตรในการจัดทำข้อมูลเพื่อขออนุญาตวางตลาดและในการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยาที่อาจยื่นขออนุญาตวางตลาด


¬      ขณะที่สิ่งที่ปรากฏใน FTA ของสหรัฐฯบุคคลที่สามจะสามารถใช้สิทธิบัตรได้เพื่อการขออนุญาตวางตลาดเท่านั้นไม่สามารถใช้ข้อมูลเพื่อการวิจัยและพัฒนาได้


 



  1. การขัดขวางการวางตลาด

แม้ว่าสหรัฐฯจะให้สิทธิเจ้าของสิทธิบัตรสามารถขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นขออนุญาตวางตลาดยาที่ใช้สิทธิบัตรนั้น ก่อนสิทธิบัตรหมดอายุ แต่ในสหรัฐก็เปิดโอกาสให้ขออนุญาตวางตลาดยา พร้อมกับการฟ้องร้องเพิกถอนสิทธิบัตร


¬      ขณะที่ข้อกำหนดใน FTA และความไม่พร้อมในการตรวจสอบสิทธิบัตรของไทย จะทำให้ผู้ผลิตยาสามัญไม่สามารถขออนุญาตวางตลาดได้


 



  1. การบังคับห้ามถ่ายทอดความลับการค้า

รัฐบาลสหรัฐฯให้อำนาจตัวเองในการบังคับการถ่ายทอดความลับทางการค้าเมื่อมีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิได้


¬      ขณะที่ FTA ห้ามไม่ให้บังคับถ่ายทอดความลับทางการค้า แม้ในกรณีที่ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ


 



  1. การห้ามนำเข้าซ้อน

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐมีความพยายามออกกฏหมายให้สหรัฐฯสามารถนำเข้าซ้อนยาจากต่างประเทศได้ เช่น การนำเข้าซ้อนยาจากแคนาดาซึ่งจะมีราคาต่ำกว่าที่จำหน่ายในสหรัฐ


¬      แต่ FTA กลับให้สิทธิแก่เจ้าของสิทธิบัตรในการห้ามการนำเข้าซ้อนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่ปฏิญญาโดฮาขององค์การการค้าโลกได้ก้าวหน้ามาถึงจุดที่สามารถนำเข้าซ้อนยาสามัญได้แล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นการที่ถอยหลังไปไกลมากหากไทยยอมที่จะทำความตกลงนี้กับสหรัฐ


 


ประเด็นสำคัญที่ ดร.สมเกียรติได้เน้นย้ำถึงความระมัดระวังที่จะยอมรับความตกลงของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยต้องยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมา  เพราะแม้ว่าระดับการพัฒนาซึ่งพิจารณาจากรายได้ต่อหัวประชากรของไทยจะอยู่ในจุดที่เลยจุดสมดุล ซึ่งอาจจะถูกนำมาพิจารณาได้ว่าทำให้ไทยมีความสามารถที่จะยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อประเทศไทย เพราะระดับการพัฒนาของไทยถือว่าเลยจุดสมดุลมาเพียงเล็กน้อยจึงยังไม่อาจถือเป็นความมั่นใจที่จะแก้กฏหมายเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิบัตรให้เท่ากับสหรัฐ


 


 


 


  กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net