Skip to main content
sharethis

"เอฟทีเอไทย-สหรัฐ นั้น น่ากลัวที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยทำสนธิสัญญามา" นี่คือคำกล่าวของ "รศ.ลาวัลย์ ถนัดศิลปะกุล" ผู้อำนวยการโครงการสถาบันศึกษากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช *


 


เธอเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศ หนึ่งในไม่กี่คนที่ออกมาให้ข้อมูลฉาดฉานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) สหรัฐ กับอำนาจอธิปไตยภายในประเทศไทย ซึ่งยังคงเป็นที่สับสนแม้ในแวดวงวิชาการเองก็ตาม


 


"เอฟทีเอมันเป็นเรื่องกฎหมายอย่างมาก เราต้องดูอย่างรอบคอบที่สุด แต่ละมาตรานั้นซ่อนมีดโกนไว้หมด อ่านแล้วสะดุ้งกลัว ส่วนเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจอะไรทั้งหลาย มันเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่คาดเดาเอาทั้งสิ้น"


 


รศ.ลาวัลย์ ฟันธงว่าการผลักดันให้มีการเปิดเสรีการลงทุน และการบริการ ภายใต้เอฟทีเอนั้น สหรัฐมุ่งเจาะไปที่ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของไทย อีกทั้งการเปิดเสรีการลงทุนก็จะเปิดช่องให้สหรัฐระบายสินค้ามายังไทยได้มาก ขณะเดียวกันก็สามารถเข้ามาลงทุนขายหรือกระจายสินค้าเหล่านี้ในประเทศไทยได้ด้วยตนเองเสร็จสรรพ ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องกระเสือกกระสนพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดการแข่งขันให้ตัวเองอย่างสูงลิบ


 


ทั้งนี้ ภาคบริการนั้น มีสาขาครอบคลุมแทบจะทุกอาชีพเลยก็ว่าได้ ขนส่ง โทรคมนาคม นำเข้า-ส่งออก กาค้าปลีก-ส่ง ท่องเที่ยง กฎหมาย บัญชี สถาปัตยกรรม วิศวกรรม กีฬา บันเทิง สื่อมวลชน ธนาคาร ประกันภัย ประกันชีวิต บริการภาครัฐ ก่อสร้าง การศึกษา การแพทย์ ฯลฯ ซึ่งก็ขึ้นกับว่าคณะเจรจาจะเปิดสาขาใดบ้าง ก่อนหลังอย่างไร


 


มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมประมงยกมือถามว่า แล้วอาชีพที่มีกฎหมายสงวนไว้ เช่น ประมงนั้น จะยังคงสงวนไว้เช่นเดิม หรือสามารถตั้งกฎเกณฑ์ใดๆ ขึ้นมาเพื่อกันบางส่วนไว้ให้คนไทยได้หรือไม่


 


เรื่องนี้รศ.ลาวัลย์ ให้คำตอบว่า ประเทศไทยมีสิทธิเหนือทรัพยากรของตนเอง และสามารถสงวนบางอาชีพไว้ให้คนไทยได้ แต่เอฟทีเอมายกเลิกตรงนั้น ไม่ว่า ประมง เหมืองแร่ ป่าไม้ มันเป็นทางด่วนเข้าสู่ทรัพยากรธรรมชาติโดยที่เรายอมรับเอง


 


"แม้แต่เกษตรกรรมก็จะเป็นของสหรัฐ แล้วคนไทยก็ต้องขายที่ดินให้เขา ทำได้ง่ายนิดเดียวแค่ตั้งเป็นบริษัทไทย เจ้าของที่ดินทั้งหลายก็จะเป็นทาสติดที่ดิน"


 


ส่วนการส่งกำไรออกนอกประเทศนั้น นักวิชาการจากมสธ.ระบุว่า เอฟทีเอก็มีอันมาเปลี่ยนแปลงจากที่เคยกำหนดได้ว่าต้องส่งเป็นงวดๆ หรือไม่ให้กระทบกับดุลการชำระเงินของประเทศ  หรือกำหนดให้ต้องนำกำไรบางส่วนมาลงทุนต่อ เหล่านี้จะถูกปลดล็อกอย่างไม่จำกัด


 


ไม่ใช่เรื่องส่งกำไรกลับบ้านอย่างเดียว เอฟทีเอในส่วนของการลงทุนยังมีอันเปลี่ยนแปลงอำนาจของไทยอีกหลายอย่าง รศ.ลาวัลย์สรุปไว้ว่า ภายใต้เอฟทีเอของสหรัฐ ข้อห้ามที่รัฐเจ้าบ้านจะกระทำไม่ได้ มีดังต่อไปนี้


 


-การขอให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี


-การจำกัดการนำเข้า


-การบังคับให้มีการส่งออก


-การบังคับให้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ


-การให้รักษาระดับอัตราส่วนการนำเข้า ส่งออก


-การให้คงดุลการชำระเงิน


-การห้ามนำคนทำงาน พนักงานจากต่างประเทศเข้ามา


-การให้พัฒนาองค์กร และองค์ความรู้


 


นอกเหนือจากสิ่งที่ "ห้ามทำ" ภายใต้เอฟทีเอ ยังมีสิ่งที่ "ให้ทำ" หรืออันที่จริงคือ "ต้องทำ" ด้วยสำหรับเจ้าบ้าน ซึ่งรศ.ลาวัลย์ สรุปไว้ดังนี้


 


-สนับสนุน อำนวยความสะดวกในการค้า การลงทุน


-ไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบที่ถือได้ว่าเป็นอุปสรรคต่อการค้า การลงทุน


-ไม่มีการกระทำที่เข้าข่ายเวนคือ ยึดทรัพย์ทางอ้อม หากมีต้องชดใช้รับผิดชอบในความเสียหายทั้งปวง


-ให้มีกลไกระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ


-เอกชนฟ้องรัฐได้โดยตรง


-ยึดหลัก Stand Still and Roll Back สำหรับกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคการค้าการลงทุน (เมื่อเปิดแล้วไม่สามารถถอยหลังกลับได้)


-ยกเลิกกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด


 


 


ด้วยสิ่งที่เอฟทีเอสหรัฐ ซึ่งมีแบบแผนหลักอันเดียวกันสำหรับคู่เจรจาทุกประเทศ ได้ฉายแสดงให้เห็นการแทรกแซงอธิปไตยทั้งหมดนี้ จึงนำไปสู่ข้อเสนอของรศ.ลาวัลย์ที่ว่า


 


-ไทยต้องยืนหยัดในหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศในการที่ทุกประเทศในประชาคมโลกมีอำนาจอธิปไตยที่เท่าเทียมกันไม่ว่าชาติเล็กหรือใหญ่ ในสิทธิที่จะออกกฎหมาย  ควบคุม กำกับ ดูแล รักษา สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าก่อนหรือหลังการเข้ามาลงทุนของสหรัฐอเมริกา สามารถออกกฎหมาย ได้โดยเสรี เพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคของการลงทุน การค้า หรือการบริการ


 


-สามารถ ดำรงไว้ซึ่งอำนาจเด็ดขาดในการเพิกถอนใบอนุญาตการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมถ้าพบว่าการดำเนินการทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าในลักษณะใด ไม่ว่าการกระทำนั้น จะดำเนินการใน หรือนอกประเทศ


 


- คู่ภาคีต้องตกลงที่จะไม่ลดหย่อน มาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย หรือมาตรการทางสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นสิ่งจูงใจในการส่งเสริมการลงทุนจากคู่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง


 


-ไม่นำหลักการเรื่อง "Stand-Still and Roll Back" มาปรับใช้กับกรณีการป้องกันและเยียวยาปัญหา สิ่งแวดล้อม


 


-กฎหมาย และ นโยบายสาธารณะใดๆ ไม่ตกอยู่ภายใต้ ความผูกพันตาม FTA ว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเปิดเสรีทุกประเภท ทั้งการค้า บริการ การลงทุน เพราะการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจไม่ควรก้าวล่วงเข้ามาลิดรอนอำนาจอธิปไตยอันเป็นอธิปไตยหลัก ในการบริหาร จัดการดูแล รักษา ผลประโยชน์ของประเทศชาติ บ้านเมือง และพลเมืองของประเทศ


 


"เพราะแท้จริงแล้ว Players ในทางเศรษฐกิจล้วนแต่เป็นภาคเอกชนทั้งสิ้น ควรจำแนกแยกแยะระหว่าง เอกชน และ มหาชน"รศ.ลาวัลย์กล่าว


 


นอกจากนี้กลไกลในการยุติข้อพิพาทระหว่างเอกชน ควรแยกออกจากข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับ กฎหมาย และนโยบายสาธารณะ


 


ที่สำคัญ ไทยควรเจรจาให้มีบท Safeguards เพื่อเป็น Safety valve ที่ไทยสามารถยกเว้นจากข้อผูกพันได้หากเกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อแผ่นดินไทยไม่ว่าด้านใดๆ  หรือแก้ไข ปรับปรุง ความตกลง FTA ได้ แม้กระทั่งการยกเลิกความตกลงดังกล่าว หรือมีระยะเวลาในการทดลองผลทางปฏิบัติของFTA ได้เพื่อประเมินผลกระทบต่อสังคมไทย


 


ตลอด 10 นาทีของการนำเสนอข้อมูลของรศ.ลาวัลย์ อาจทำให้ผู้ร่วมอภิปรายหวาดหวั่นใจได้ยาวนานกว่านั้นมากนัก จนมีคนตั้งคำถามว่า ถ้าเซ็นเอฟทีเอแล้วบอกเลิกได้ไหม?


 


รศ.ลาวัลย์ เฉลยว่า เอฟทีเอสามารถบอกเลิกได้ทันที ...แต่... สิ่งที่ทั้งสองผูกพันกันไว้ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาต้องมีผลผูกพันไปอีก 10 ปี !


 


อย่างไรก็ตาม การผูกพันของสนธิสัญญานั้นมีหลายแบบ ทั้งแบบที่ลงนามแล้วมีผลผูกพันทันที หรือแบบที่ลงนามแล้วต้องนำกลับมาทบทวนเพื่อให้สัตยาบรรณ ซึ่งอย่างหลังจะทำให้ประเทศไทยมีเวลาทบทวนข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ก่อนตัดสินใจ


 


"ก็ได้แต่หวังว่าทีมเจรจาจะตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องให้สัตยาบรรณ เพราะถ้าไทยลงนามแบบผูกพันทันที ที่เราประชุมกันมาตลอดหลายปี เสียงบประมาณเป็น 100 ล้านได้แล้วมั้ง ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะเราไม่สามรถมานำข้อบทที่แน่นอนแล้วมาดู ของออสเตรเลียที่เซ็นไปแล้วก็ไม่มีการเปิดเผย"


 


"การเปิดเสรีนั้นภายใน WTO ก็พอแล้ว สหรัฐเขาก็ได้ประโยชน์จาก WTO และข้อตกลงกับอาเซียนมากพอแล้ว แต่ที่เขามาทำ FTA อีก ก็เพราะมีสิ่งที่แตะไม่ได้ภายใต้กรอบ WTO และอาเซียน นั่นคือ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งท้ายที่สุดจะมีผลยกเว้นกฎหมายภายในของเราซึ่งปกป้องสิ่งเหล่านี้ไปหมด"รศ.ลาวัลย์กล่าวทิ้งท้าย


 


.........................................


*สรุปความจากวงอภิปรายย่อยเรื่องการค้า การบริการ ในงานประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่องเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา : ประโยชน์และผลกระทบ จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วันที่ 6 มกราคม 2549 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net