Skip to main content
sharethis

ในเวทีการประชุมนโยบายสาธารณะ เรื่องเอฟทีเอไทย-สหรัฐ : ประโยชน์และผลกระทบ จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่าน ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยเชิญตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น


 


ไกรศักดิ์เอาแน่ ฟ้องทำเอฟทีเอขัดรัฐธรรมนูญ


ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า การทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ที่ผ่านมา เช่น ออสเตรเลีย จีน เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตราที่ 224 และปิดบังไม่ให้ประชาชนรู้โดยไม่ให้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยขณะนี้ทางกรรมาธิการได้เตรียมยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้แล้ว


 


ทั้งนี้ มาตรา 224 ระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ


หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา"


 


ไกรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ไทยไม่สามารถทำเอฟทีเอที่เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งชาติอย่างแท้จริงได้ เพราะมีการคอรัปชั่นในทุกระดับ ซึ่งเป็นปัญหาภายในของเราเองที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าภายในประเทศสูงขึ้นมากยากต่อการแข่งขัน นอกจากนี้การทำเอฟทีเอคือการทิ้งเกษตรกร เพราะสินค้าทางการเกษตรของมหาอำนาจจะทะลักเข้ามาเหมือนที่เราขาดดุลการค้าให้กับจีนและออสเตรเลีย ที่เซ็นเอฟทีเอไปแล้ว


 


"ถ้าเราเคยไปเที่ยวทางเหนือ มองไปริมทางเช่นแม่ฮ่องสอน เชียงรายก็จะเห็นแปลงเล็กๆ แต่ถ้าสินค้าเกษตรมหาอำนาจเข้ามาโดยไม่มีภาษี อะไรจะเกิดขึ้น ที่เม็กซิโกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชหลักเหมือนข้าวของเรากลายเป็นข้าวโพดจีเอ็มโอของสหรัฐฯ เกือบหมดแล้ว การเลี้ยงหมูเลี้ยงวัวของชาวบ้านหยุดไปหมดแล้ว เอฟทีเอจะมีผลกระทบจนทำให้ทุกอย่างในชีวิตเปลี่ยนไป"


 


"ผมไม่เล่นการเมืองในเรื่องนี้แน่นอน กับคุณชวน (หลีกภัย) สมัยกฎหมายขายชาติก็อภิปรายย่อยยับเหมือนกัน เรื่องนี้จะได้ประโยชน์ถ้าไทยใหญ่และโตเท่าสหรัฐฯ ตัวอย่างผลกระทบในประเทศเล็กมีแล้วที่เม็กซิโก*" ไกรศักดิ์กล่าวพร้อมเชิญให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไปดูตัวอย่างความหายนะที่เม็กซิโก


 


ไกรศักดิ์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าการเจรจาเอฟทีเอของสหรัฐฯนั้น มีกรอบที่วางโดยสภาอยู่แล้วหากไทยเจรจาเสนอนอกกรอบนั้นเขาก็อาจไม่ให้ผ่านรัฐสภาของเขา ไทยอาจต่อรองอะไรไม่ได้มาก ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดคือยกเลิกการเจรจาไปเลย


 


บัณฑูรชี้ เอฟทีเอโอนอธิปไตยให้ "ตลาด"


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงสร้างยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สาระสำคัญจุดหนึ่งของการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯคือ การที่สหรัฐเรียกร้องให้ไทยบังคับใช้กฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ซึ่งหมายความว่าสหรัฐจะมีกลไกตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายของไทย เรื่องนี้ถือว่าเป็นการแทรกแซงที่ไม่สมควร


 


นอกจากนี้บัณฑูรยังกล่าวถึงผลกระทบจากการทำเอฟทีเออีกว่า จะทำให้อำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทยถ่ายโอนไปเป็นของตลาด องค์กรธุรกิจจะได้อำนาจอันเป็นของปวงชนนี้ไป เป็นการลิดรอนและแทรกแซงอธิปไตยทั้งการบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ทำให้ต่อไปเมื่อรัฐบาลจะออกกฎหมายอะไรก็ต้องเปิดข้อตกลงเอฟทีเอของสหรัฐก่อนเพื่อไม่ให้ขัดกับข้อตกลง


 


"ในกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับนาฟต้าและประเทศกำลังพัฒนา มีข้อพิพาท 42 กรณี ปรากฏว่าประเทศเหล่านี้แพ้คดีสหรัฐฯทั้งนั้น"


 


บัณฑูร ยังชี้ให้กลับไปทบทวนบทเรียนของความล้มเหลวทางเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ.2539-2540 ด้วยว่ามีสาเหตุจากการเชื่อในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกระแสเดียว คือพึ่งพาทุนต่างชาติ พึ่งพาการส่งออกอย่างเดียว การทำเอฟทีเอก็คือการเดินตามรอยที่เคยผิดพลาดนั้น และเป็นการปิดโอกาสการพัฒนาที่หลากหลาย สถานะประชาชนก็จะเปลี่ยนจาก "พลเมือง" เป็น "ลูกค้า" หรือผู้บริโภค


 


ผลกระทบอีกประการคือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยจะถูกแปรรูปไปเป็นวัตถุดิบเพื่อการค้าและแปรรูปเข้าสู่ตลาด ซึ่งสหรัฐฯ เองก็พยายามยึดครองตรงนี้ และหากสังเกตแนวนโยบายของรัฐเช่นนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเมกกะโปรเจ็คต่างๆ ของรัฐ ล้วนเป็นไปในแนวทางเดียวกับการทำเอฟทีเอสหรัฐฯ


 


"อย่างกฎหมายสิทธิบัตร ที่กำลังมีการแก้ไขอยู่ในขณะนี้ ผมมีโอกาสได้เห็นแล้วน่ากลัวมาก เพราะมีการปรับแก้ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของสหรัฐแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีการเซ็นเอฟทีเอ" บัณฑูรกล่าว


 


ยกเลิกสัญญารักษาความลับการเจรจาด่วน!


สุดท้ายนายบัณฑูรกล่าวถึงข้อเสนอว่า ในทางเร่งด่วนสุดคือ ต้องยกเลิกข้อตกลงการรักษาความลับในการเจรจา เพราะเป็นการทำให้เห็นว่ากระบวนการเจรจาไม่โปร่งใส ปิดกั้นการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ และเพิ่มอำนาจการต่อร้องโดยใช้พลังทางสังคมด้วย


 


ในส่วนการเจรจาไทยต้องร่างText ขึ้นเองด้วยไม่ใช่รับของอเมริกามาแก้ไขเพียงอย่างเดียวอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเจรจา และไม่ต้องกลัวหากข้อเสนอของไทยจะขัดกฎหมายกรอบการทำเอฟทีเอของสหรัฐ เพราะไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสหรัฐ


 


ส่วนเรื่องที่ไม่นำไปสู่การค้าเสรีและเป็นธรรมต้องเอาออกจากโต๊ะเจรจาเช่นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่นำไปสู่การผูกขาด รวมทั้งไทยต้องกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จและล้มเหลวที่ชัดเจนด้วย และประชาชนควรได้ใช้สิทธิ์ผ่านการออกเสียงเป็นประชามติตามมาตรา 214


 


TDRI หวังต่ำ "สิทธิบัตรยา"


สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ไม่อยากจะเรียกร้องอย่างเต็มที่จากผู้นำ เพราะอย่างไรก็คงไม่ฟัง เพียงแต่อยากเสนอในประเด็นเรื่องสิทธิบัตรและการคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยาในเอฟทีเอกับสหรัฐว่า ดูจากเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับชิลี สิงคโปร์ และนาฟต้า สหรัฐล้วนเรียกร้องมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิบัตรยา และข้อมูลในการทดสอบยาเข้มงวดกว่ามาตรฐานสากล รวมทั้งเข้มงวดกว่ากฎหมายในประเทศสหรัฐเองด้วยซ้ำ (ยูเอสพลัส)


 


ดังนั้น จึงมีข้อเสนอว่า หากไม่สามารถดึงเรื่องนี้ออกจากการเจรจาได้ อย่างน้อยที่สุด ก็ควรตัดสิ่งที่เป็นยูเอสพลัสออกทั้งหมด เพราะไม่มีเหตุผลสมควรและจะเป็นการผูกขาดตลาดยา ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็น หรือถึงที่สุดก็ไม่ควรให้แย่ไปกว่าเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับชิลี แต่ถ้าต่อรองให้ไปสอดคล้องกับปฏิญญาโดฮาของดับบลิวทีโอได้ก็จะดีที่สุด แต่คงเป็นไปได้ยาก


 


สมเกียรติกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่จะหวังข้อยกเว้นในเอกสารแนบนั้น ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในทางกฎหมายว่าเอกสารแนบนั้นมีสถานะใดในทางกฎหมาย และจะมีผลผูกพันสหรัฐหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ก็แสดงท่าทีว่าเอกสารแนบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย


 


ส่วนเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่จะมีผลผูกขาดตลาดยา และทำให้ยามีราคาแพงนั้น สมเกียรติกล่าวว่า ภาคประชาชนต้องมองข้ามไปถึงขั้นว่าถ้าค้านไม่สำเร็จจะทำอย่างไร ซึ่งก็ยังมีทางเลือกอยู่บ้าง เช่น  การจัดซื้อโดยรัฐ อาจทำโดยการรวมตัวของโรงพยาบาลเพื่อรุมซื้อ ทำให้มีการต่อรองราคายาได้ และออสเตรเลียทำเรื่องนี้มาแล้ว ขณะที่แคนาดาก็มีการกำกับควบคุมราคายาโดยอ้างอิงราคายาของต่างประเทศที่มีการแข่งขันที่ดี


 


นอกจากนี้สมเกียรติยังได้ยกตัวอย่างงานวิจัยของนักวิชาการไทยร่วมกับนักวิชาการต่างเทศ ซึ่งพบว่า ประเทศที่ยากจนเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะต้องการให้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีความเข้มงวดน้อยเพื่อให้ลอกเลียนแบบได้ จากนั้นเมื่อพัฒนาไปได้ระดับหนึ่งจึงต้องการให้มีการคุ้มครองเข้มงวดเพื่อคุ้มครองงานของตัวเองและสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรม ซึ่งในขณะนี้ยังถือว่าเร็วเกินไปที่ประเทศไทยจะยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เหมือนหรือใกล้เคียงประเทศพัฒนาแล้ว


 


อธิบดีกรมเจรจยัน ผู้บริโภคได้ประโยชน์


อภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การทำเอฟทีเอกับสหรัฐ จะทำให้การแข่งขันในตลาดมีมากขึ้น และผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์


 


ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการจัดทำเอฟทีเอ ที่มีการลดภาษีเพื่อเปิดตลาดสินค้าเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากไทยได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี (จีเอสพี) จากสหรัฐลดลงตามลำดับการพัฒนาของไทย ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของไทยในสหรัฐลดลง จาก 22% ในปี 2541 เหลือ 16% ในปี 2547 แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของเราไปสหรัฐจะสูงถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญต่อปีก็ตาม  นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันของประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐไปทำเอฟทีเอด้วย รวมทั้งจีนที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)


นอกจากนี้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังยืนยันด้วยว่า คณะเจรจาไทยมีการร่างข้อตกลงของตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนกับสหรัฐในการพิจารณา ไม่ใช่เพียงรอดูของสหรัฐอย่างเดียว อีกทั้งข้อมูลต่างๆ ที่ภาคประชาชนหรือนักวิชาการมีการนำเสนอก็ได้เอาไปทบทวนโดยตลอด 


 


หอการค้าเร่งภาคเอกชนมีส่วนร่วม


วีรชัย วงศ์บุญสิน จากสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาประโยชน์ของเอฟทีเอ จะเห็นว่าเรื่องของการลดภาษีนำเข้านั้น หากดูโดยรวมอาจจะได้ประโยชน์ไม่มากนัก เพราะภาษีของสหรัฐหลายรายการต่ำกว่าเราอยู่แล้ว ถ้ามีการลดภาษีเหลือ 0% ทั้งคู่จะกลายเป็นฝ่ายไทยต้องเร่งปรับตัวมากกว่า ขณะที่ประโยชน์ที่เห็นชัดเจนกว่าคือ เรื่องความร่วมมือในการอบรมให้ความรู้เรื่องกฎระเบียบต่างๆ ของสหรัฐ แต่เรื่องนี้ภาคเอกชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากว่าต้องการพัฒนาตรงส่วนไหน


 


"สุดท้ายผมฟันธงว่าการทำเอฟทีเอไม่ว่าเราจะทำกับประเทศไหน ก็ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มันเป็นบวกแน่นอน ถ้าไม่เทียบว่าเราได้มากหรือน้อยกว่าสหรัฐ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบด้านสังคม ซึ่งประเมินได้ยากยิ่ง รัฐบาลจะทำยังไงในการปรับตัว" วีรชัยกล่าว


 


................................................................


อ่านเรื่องประกอบ


เปลือยนาฟต้า เส้นทางสาย "เม็กซิโก" ที่ไทยเลือกเดิน : สัมภาษณ์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=447&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net