"จ๋ามตอง" กับงานด้านสิทธิมนุษยชน : The Visible Man ของ "ประชาไท หมายเลข 4"


 






ลองหลับตา ย้อนนึกกลับไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงวันนี้ แล้วถามตัวเองว่า หากเราย่นย่อเวลาได้เท่ากับระยะที่สมองและหัวใจส่งสัญญาณได้ "คุณเห็นใครในปีที่ผ่านมา" และนี่คือโจทย์ที่กองบรรณาธิการประชาไทแต่ละคนได้รับ เพื่อให้มันเหมาะกับวาระแห่งการสรุปบทเรียนอย่างในช่วงปีเก่าผ่าน-ปีใหม่มานี้

 

โปรดอย่าเพิ่งคิดว่า บุคคลที่อยู่ในหัวข้อข้างบนเป็นบุคคลที่ "ประชาไท" จัดให้เป็น "The Visible Man" ของเรา เพราะบทวิพากษ์วิจารณ์ต่อจากนี้ เป็นการนำเสนอคนที่อยู่ในสายตาในรอบปี 2548 จากบุคคลในกองบรรณาธิการประชาไท คนที่ 1 ที่ผ่านการสืบค้น วิเคราะห์ วิพากษ์ ชั่ง ตวง วัด และให้น้ำหนัก จากจำนวนทั้งหมด 8 คน ซึ่งจะทยอยนำเสนอวันละคนจนครบ 8 ก่อนที่เรา "กองบรรณาธิการประชาไท" จะได้ร่วมกันประชุม ถกเถียง และเลือกโดยใช้หลักฉันทามติ ซึ่งก็คือ ทุกคนจะต้องเห็นพ้องต้องกันอย่างปราศจากข้อข้องใจ เพื่อให้ได้ "The Visible Man" ของ "ประชาไท" โดยมี อ.รุจน์ โกมลบุตร จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการประชุม

 

 

 


หญิงชาวไทยใหญ่วัย 24 ปี ที่ชื่อ "จ๋ามตอง" ผู้นี้ หลายคนคงไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าใดนัก ทว่าหลายองค์กรสื่อและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกต่างเฝ้าจับตามองเธอ และยอมรับความสามารถ ความมุ่งมั่นของเธอในการทำงานรณรงค์ต่อสู้เรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนของชนชาติไทยใหญ่มานานหลายปี และต่างก็มอบรางวัลให้เธอมากมาย

 

เมื่อปี 2546 เธอได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร Marie Claire ให้เป็น 1 ใน 10 ของผู้หญิงทั่วโลกที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น และเมื่อต้นปี 2548 ที่ผ่านมา เธอได้รับรางวัล Reebok Human Rights Award ในฐานะตัวแทนคนหนุ่มสาวที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่อายุ 17 ปี

 

ล่าสุด เธอยังได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ในผู้หญิง 1,000 คน ที่ควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ อีกทั้งเธอยังเป็นหญิงไทยใหญ่คนเดียวที่ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เชิญเธอเข้าพบที่ทำเนียบขาว เพื่อสอบถามในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพม่า

                                                . . . . . . .

 

เย็นวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสนัดพบเธอ ในร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ กับบรรยากาศอันร่มรื่น เงียบสงบ ซึ่งเหมาะแก่การนั่งพูดคุยกันอย่างยิ่ง

 

"จ๋ามตอง เป็นชื่อภาษาไทยใหญ่ หมายถึง ดอกจำปาเงิน" เธอเอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล พูดจาภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำ จนหลายคนรู้สึกแปลกใจ

 

เธอบอกเล่าให้ฟังว่า เธอเกิดที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในรัฐฉาน ประเทศพม่า ท่ามกลางกระแสพายุสงครามความขัดแย้งในเรื่องชาติพันธุ์ เมื่อทหารของรัฐบาลพม่าพยายามเข้ามาก่อกวนเข่นฆ่าทำร้ายชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พ่อแม่ของเธอต้องคิดวางแผน ว่าจะทำอย่างไรจึงจะพาเธอออกไปจากดงสงคราม ทำอย่างไรจึงจะลูกสาวหลุดพ้นจากเงื้อมมือของเหล่าทหารเผด็จการพม่า

 

ในที่สุด ด้วยวัยเพียง 6 ขวบ จ๋ามตอง ต้องระเหเร่ร่อนออกจากหมู่บ้าน ข้ามน้ำข้ามดอย มาอยู่อาศัยในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตชายแดนไทย-พม่า ว่ากันว่า แม่ของเธอตัดสินใจอุ้มเธอนั่งในตะกร้าใบใหญ่ซึ่งห้อยหาบคอนพาดอยู่บนหลังม้าต่าง โดยแม่บอกกับเธอว่า เธอต้องได้เรียนหนังสือให้สูงกว่าชั้น ป.1 และจะต้องมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ก่อนที่พ่อแม่ของเธอจะหันหลังกลับไปสู่บ้านเกิดดังเดิม

 

นั่น คือห้วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเธอครั้งใหญ่ เมื่อต้องพลัดพรากออกจากอ้อมอกพ่อแม่ ต้องจากหมู่บ้านเกิด และได้มาอาศัยอยู่ในบ้านเด็กกำพร้าในหมู่บ้านเปียงหลวง ที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า ในเขต อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ที่มีครูแมรี่ คอยอบรมสั่งสอนอยู่ตลอดเวลา ในช่วง 9 ปีในบ้านเด็กกำพร้า เธอฝึกฝนขวนขวายหาวิชาความรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง

 

เธอตื่นนอนตั้งแต่เวลาตีสี่ครึ่ง เพื่อลุกขึ้นมาเรียนภาษาอังกฤษกับครูแมรี่ในบ้านเด็กกำพร้าหลังนั้นร่วมกับเด็กกำพร้าอีกหลายสิบคน ในช่วงกลางวันเธอเดินไปเรียนภาษาไทยที่โรงเรียนเปียงหลวง ครั้นพอช่วงค่ำของทุกวัน เธอจะไปเรียนภาษาจีนจากโรงเรียนของคนจีนอพยพที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ส่วนในวันหยุด เธอจะเรียนภาษาไทยใหญ่จากคนในหมู่บ้าน

 

ที่สุด เธอได้เข้าร่วมงานในสำนักข่าวไทยใหญ่( S.H.A.N) และเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ (Shan Women's Action Network - SWAN) ซึ่งร่วมกับมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ จัดทำ "รายงานใบอนุญาตข่มขืน" ซึ่งถือว่าเป็นรายงานที่เปิดเผยการทารุณกรรมทางเพศที่ทหารพม่ากระทำต่อผู้หญิงไทยใหญ่ ที่ได้ปลุกกระแสในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้สั่นสะเทือนไปทั่ว และรับการเผยแพร่จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

 

ไม่น่าเชื่อว่า ด้วยวัยเพียง 17 ปี และเป็นผู้หญิงอายุน้อยที่สุด ที่มีโอกาสขึ้นไปนำเสนอปัญหาของผู้หญิงไทยใหญ่ในเวทีประชุมปัญหาสิทธิมนุษยชนระดับโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

เธอบอกเล่าถึงที่มาของการจัดทำรายงาน "ใบอนุญาตข่มขืน" หรือ (License to Rape) ซึ่งได้รับการแปลเป็นหลายภาษาว่า การข่มขืนผู้หญิงในรัฐฉานโดยทหารพม่าไม่ใช่เรื่องใหม่ รายงานฉบับนี้เริ่มต้นจากองค์กรสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ (Shan Human Rights Foundation - SHRF) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน แล้วพบว่าในแต่ละเดือนมีผู้หญิงถูกข่มขืนหลายคน จึงมาคุยกันว่าน่าจะทำรายงานเรื่องสถานการณ์การข่มขืนในรัฐฉานโดยเฉพาะ โดยรวบรวมจากรายงานที่องค์กรสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ทำในแต่ละเดือน แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าเหตุใดจึงมีการข่มขืนมากขนาดนี้

 

"เมื่อเริ่มรวบรวมรายงานตั้งแต่ปี 2539 - 2544 เราก็ต้องตกใจกับตัวเลขที่ได้ เพราะจำนวนของผู้หญิงถูกข่มขืนมีเยอะมาก คือ 625 คน จาก 173 เหตุการณ์ หลังจากนั้น เรามีการเช็คข่าวหลายขั้นตอน เริ่มตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากเหยื่อหรือพยานที่เห็นเหตุการณ์ว่าทหารพม่าที่ข่มขืนเป็นใคร บางคนก็จำได้ บางคนก็จำไม่ได้ รายงานฉบับนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนไทยใหญ่หลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มคนที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล กลุ่มผู้เขียน กลุ่มผู้แปลข้อมูลการสัมภาษณ์จากภาษาไทยใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ หลังจากได้ข้อมูลครบ เราก็เริ่มวิเคราะห์ เอาหลักกฎหมายสากล กฎหมายระหว่างประเทศ มาวิเคราะห์สถานการณ์ข่มขืน เริ่มรวบรวมสถานการณ์ตามพื้นที่ต่างๆ ในรัฐฉานซึ่งนำไปสู่ปัญหา "การข่มขืนอย่างเป็นระบบ" หรือ "systematic sexual violence"

 

"เรานำสถานที่เกิดเหตุมาพล็อตลงบนแผนที่ ทำให้เห็นภาพรวมว่าเกิดเหตุการณ์ที่ไหน แล้วทำแผนที่บอกจุดที่เกิดเหตุในรัฐฉาน ทีมงานใช้เวลาทำประมาณ 1 ปี ก่อนเผยแพร่รายงานฉบับนี้ในภาษาอังกฤษ ช่วงนั้นมีการก่อตั้งสวอนขึ้นมาแล้ว เราจึงคิดว่าน่าจะออกรายงานฉบับนี้ร่วมกันระหว่าง 2 องค์กร สวอน จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับรายงานฉบับนี้ ฉันเองไม่ได้เป็นคนเก็บข้อมูลหลัก แต่ทำหน้าที่เผยแพร่ให้คนภายนอกได้รับรู้"

 

เธอยังย้ำอีกว่า เรื่องการข่มขืนนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นเรื่องที่น่าอับอายสำหรับผู้หญิงทุกคน ข้อมูลที่ได้มาจากญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านเป็นคนบอกก่อน แต่บางครั้งเจ้าตัวก็เป็นคนบอกเอง บางคนเห็นแม่ถูกข่มขืน บางคนแม่ถูกข่มขืนบนบ้าน และลูกถูกข่มขืนในป่าข้างบ้าน บางคนถูกข่มขืนต่อหน้าลูกและสามี กว่าจะได้คุยเรื่องข่มขืน ต้องไปสร้างความสัมพันธ์กับเขาก่อนหลายครั้ง พูดคุยและให้กำลังใจ เพราะถึงแม้เหตุการณ์อันเลวร้ายผ่านไปนานแค่ไหน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้บาดแผลและความเจ็บปวดนั้นน้อยลงหรือลบเลือนไปแต่อย่างใด แล้วเราก็ค่อยๆ อธิบายให้เขารู้ถึงเหตุผลที่เรามาคุยกับเขาว่า เราอยากให้โลกรับรู้ว่าอย่างไร อยากให้มีการช่วยเหลืออย่างไร

 

"เราพยายามอธิบายกับเขาว่า สิ่งที่เขาพูดเป็นการพูดแทนผู้หญิงหลายๆ คนที่ไม่มีโอกาสพูด เพราะผู้หญิงหลายคนถูกฆ่าทิ้งหลังข่มขืน ถ้าเขาไม่อยากเปิดเผยชื่อก็ไม่เป็นไร เราจะไม่ระบุว่าเขาอยู่ที่ไหนหรือเป็นใคร และพยายามทำให้ตัวผู้หญิงเองรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นเพียงเหยื่อ แต่ยังเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ต้องการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน"

เธอบอกย้ำอีกว่า ทุกคนรู้ว่า รัฐบาลทหารพม่าเผด็จการขนาดไหน ถ้าหากทหารพม่าทำกับอองซานซูจี ที่ทั่วโลกให้ความเชื่อถือ ยอมรับ และสนับสนุน นับประสาอะไรกับผู้หญิงที่อยู่ในหมู่บ้าน อยู่ในสวนและอยู่ในพื้นที่ที่มีการสู้รบที่ทหารพม่าสามารถทำอะไรก็ได้ มันสะท้อนความจริงในพม่าที่ควรเปิดเผยมากขึ้น และก็ไม่มีความยุติธรรมกับผู้หญิง ถึงไปฟ้องก็จะโดนทำโทษ มันไม่มีกระบวนการยุติธรรมหรือสิทธิอะไรที่จะปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงได้ ความจริงกรณีที่ถูกข่มขืนอาจจะเยอะกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้หญิงที่เขากล้าพูด

 

เมื่อวกกลับมาถามเธอเรื่องมุมมองของสังคมไทยที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในขณะนี้ เธอพูดด้วยน้ำเสียงวิงวอนว่า อยากให้มีความเห็นใจ และมีความเข้าใจว่าสถานการณ์ในพม่าเป็นอย่างไรให้มากขึ้น ต้องเข้าใจปัจจัยต่างๆ ภายในพม่าที่ผลักดันเขาให้เข้ามา ปัจจัยพวกนี้มีผลกระทบหลายๆอย่าง หากเราทำความเข้าใจและช่วยเหลือเขา มันก็จะเป็นการช่วยเหลือทั้งประเทศเพื่อนบ้านและไทยเอง และในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ ถ้าสังคมได้รับข้อมูลมากขึ้นจนมีความเข้าใจและมีความเห็นใจ อย่างน้อยก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

 

ปัจจุบัน นอกจากเธอจะทำงานด้านการรณรงค์ในเรื่องสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่และชาติพันธุ์อื่นๆ แล้วเธอยังก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมา เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนและผู้ใหญ่ชาวไทยใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์ ได้เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย และพัฒนาตนเองและคนรอบข้าง โดยในทุกๆ ปี จะมีคนสมัครร้อยกว่าคน แต่เรารับได้แค่ 20 -24 คน มีการสอบคัดเลือกและสัมภาษณ์ มีคนสมัครเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มาทำงานก่อสร้างและงานรับจ้างทั่วไป

 

จ๋ามตอง บอกอีกว่า เยาวชนชาวไทยใหญ่ไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งการถูกทหารพม่ากดขี่ข่มเหงหลายแสนคน แต่กลับไม่มีการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ เพราะไม่มีการยอมรับว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยต่างๆ ก็แทบไม่มีเลย คนเหล่านี้พอหนีมาถึงชายแดน หลายชั่วอายุคนพยายามจะเป็นลูกจ้าง เพื่อที่จะได้อยู่ไปวันๆ ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องการศึกษาจึงมักถูกมองข้ามว่า จะไม่ค่อยเป็นประเด็นสำคัญเท่าไร แต่ว่าสังคมจะเป็นอย่างไร หากไม่มีพื้นฐานทางการศึกษา คิดว่าการให้โอกาสเขาศึกษาคือการทำให้เขามีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ มันจะเป็นลูกโซ่ที่เขาจะมีโอกาสช่วยคนอื่นๆ และจะเป็นวงกว้างต่อไป" เธอเน้นย้ำถึงความจำเป็นต่อการศึกษา

 

เธอบอกว่า ตอนนี้ มีการเรียนการสอนเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว มีนักเรียนจบไปแล้ว 93 คน กำลังศึกษาอยู่ 24 คน บางคนก็กลับไปเป็นครูตามชายแดนหรือไปทำงานกับองค์กรช่วยเหลือสังคมหลายๆ องค์กร สิ่งที่ได้ตามมาก็คือเครือข่ายของเยาวชนทั้งหมด ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง เวลาที่เขาจบออกไปแล้วก็สามารถช่วยเหลือกันได้

จ๋ามตอง ในห้วงขณะนี้ มีอายุเพียง 24 ปี แต่เมื่อดูประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว นับว่าไม่ธรรมดาเลยสำหรับผู้หญิงคนนี้ นอกจากรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ ล่าสุด เธอเป็นหญิงไทยใหญ่คนเดียวที่ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เชิญเธอเข้าพบที่ทำเนียบขาวนานเกือบ 1 ชั่วโมง เพื่อสอบถามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งยากที่ผู้นำประเทศใดๆ จะมีโอกาสเช่นนี้

 

………………………………………………………

ข้อมูลประกอบ

1.สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 23 (16 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2548)

2.บทสัมภาษณ์ "จ๋ามตอง หญิงสาวผู้ปลูกต้นกล้าแห่งความหวังเพื่อชาวไทใหญ่" ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนกันยายน 2548 โดย วันดี สันติวุฒิเมธี

3.บทสัมภาษณ์ ประชาไท 11 พฤศจิกายน.2548

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท