Skip to main content
sharethis






บทความใน "มุมคิดจากนักเรียนน้อย" เป็นแบบฝึกหัดที่นักศึกษาทำเพื่อส่งผู้บรรยายในวิชา การเขียนบทบรรณาธิการและบทความ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2548


 


กฎอัยการศึกฉบับป่าชุมชน 


 


ศรุต โคตะสินธิ์
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


เมื่อวันก่อนผมได้มีโอกาสดูรายการ "ถึงลูกถึงคน" อันที่จริงไม่ได้ตั้งใจจะดูหรอก  เพียงแต่เปลี่ยนช่องผ่านมาพอดี  ขณะนั้นรายการกำลังเข้มข้นเลยทีเดียว  ผู้ร่วมรายการคนหนึ่งกำลังพูดอย่าง "ออกรส"  ฟังไปฟังมาก็จับความได้ว่ากำลังพูดเรื่อง "ป่าชุมชน"


 


เรื่อง "ป่าชุมชน" เป็นปัญหาที่เกิดมานานเป็น 10 กว่าปีแล้ว แต่ก็ไม่จบเสียที ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าปัญหากำลังจะได้ข้อยุติแล้วเมื่อร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ฉบับกรรมาธิการร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา(ฉบับกรรมาธิการร่วม 2 สภา) "คลอด" ออกมาในที่สุด


 


ทว่า กลับเป็นอีกครั้งที่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนต้อง "ช้ำใจ" เนื่องจาก พ...ป่าชุมชน ฉบับกรรมาธิการร่วม 2 สภาได้มีประเด็น "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" เพิ่มเข้ามา  โดยพื้นที่อนุรักษ์พิเศษที่ว่านี้ คือพื้นที่ที่ชาวบ้านจะไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆทั้งสิ้น


 


ครั้งแรกรัฐไล่ชาวบ้านออกมาโดยการประกาศพื้นที่ป่าที่พวกเขาอาศัยอยู่มาก่อนเป็น "พื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย" ซึ่งได้แก่ อุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  เขตป่าสงวน  พอชาวบ้านขอให้มี "ป่าชุมชน"  รัฐก็มา "เหนือ" กว่าโดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐประกาศพื้นที่ที่เห็นว่าเข้าข่ายให้เป็น "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" เพื่อไล่ชาวบ้านออกอีกหน รวมไปถึงไล่ชาวบ้านในพื้นที่ใหม่ๆที่อาจโดนประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ  เท่ากับเป็นการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ซ้ำซ้อน เพราะ "พื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย" เดิมก็ยังมีอยู่


 


อย่างไรก็ตาม ประชาชนผู้เดือดร้อนเองก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ  เรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยัน "ร่างพ...ป่าชุมชน ฉบับประชาชน" ที่เคยผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 แต่กลับโดนวุฒิสภาแก้ร่างพ...ฯ โดยลงมติมิให้จัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์  จนต้องส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรที่ยังคงยืนยันความเห็นเดิม ไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภา  ทำให้ในที่สุดต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภาเพื่อพิจารณา


 


ผลจะออกมาอย่างไร เป็นเรื่องของอนาคต  แต่ผมรู้สึกเห็นใจ และเข้าใจชาวบ้านที่เดือดร้อน  รู้สึกชื่นชมที่พวกเขาสู้ไม่ถอย และขอเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้ "...ป่าชุมชน ฉบับประชาชน" สมใจ


 


ผมอยากให้คนที่มีอคติต่อพวกชาวบ้านว่าเป็นคนทำลายป่าลองคิดดูว่า หากบ้านที่คุณอยู่มานานนับสิบๆปี อยู่ๆก็ถูกรัฐเวนคืน คุณจะรู้สึกอย่างไร  พวกชาวบ้านเองก็คงรู้สึกไม่ต่างไปจากคนที่ถูกเวนคืนที่ดินเลย  เผลอๆอาจจะรู้สึกแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะถูกสังคมส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่าพวกเขาเป็นตัวการทำลายป่าด้วย


 


ความเป็นจริงแล้วตัวการที่ทำลายป่าไม้ที่แท้จริงนั้นหาใช่ชาวบ้าน  แต่กลับเป็นรัฐเองที่มีการให้สัมปทานทำป่าไม้ จนป่าถูกทำลายไปอย่างมหาศาลเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  พอป่าจะหมดประเทศก็มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการประกาศพื้นที่อนุรักษ์


 


รัฐหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับป่าได้  แต่กลับห้ามประชาชนใช้ป่าเพื่อการดำรงชีพ


 


นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าชาวบ้านดูแลรักษาป่าได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลงานการดูแลรักษาป่า "ติดเอฟ" จนเป็นที่ประจักษ์อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา  จึงน่าจะเป็นการดีกว่าที่จะให้ชาวบ้านได้พึ่งพาป่าในการดำรงชีพและฟื้นฟูป่าไปพร้อมๆกัน


 


ไหนๆก็จะ "เก็บป่าไว้ดูเล่น" เหมือน "สวนดอกไม้" ทั้งที ได้ "คนสวน" ฝีมือดีแบบ "ฟรีๆ" ก็น่าจะดีกว่าต้องเสียเงินจ้าง "คนสวน" ที่ "ไม่รู้เรื่องดอกไม้" มาดูแล


 


เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่กรรมาธิการร่วม 2 สภาเพิ่มประเด็น "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" นั้นช่างคลับคล้ายคลับคลากับกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ "กฎอัยการศึก" เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงที่ภาคใต้


 


"กฎอัยการศึก" และ "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" นั้นล้วนแต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อที่จะจัดการกับ "ประชาชน" ที่พวกเขาตัดสินใจว่าเป็น "ผู้ร้าย" ...ป่าชุมชน ฉบับกรรมาธิการร่วม 2 สภา จึงไม่ต่างอะไรกับ "กฎอัยการศึกฉบับป่าชุมชน"  ที่ไม่ก่อให้เกิดความ "สมานฉันท์" แต่กลับสร้างความ "แตกแยก" ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนให้มากยิ่งขึ้น


 


น่าแปลกใจที่รัฐบาลที่มีนโยบาย "ประชานิยม" มากมาย กลับมีวิธี "จัดการ" กับประชาชนในแบบที่มองอย่างไรก็ไม่น่าจะทำให้ประชาชน "นิยม" เลยสักนิด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net