Skip to main content
sharethis


 


ศุกร์ที่ 16 ธ.ค. ฤกษ์งามยามดี สำนักพิมพ์โอเพน ร่วมกับสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย จัดเวทีเสวนา "วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง" ขึ้น ณ ห้องประชุม สัญญา ธรรมศักดิ์ ตึกโดม ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ห้องประชุมไม่ใหญ่ แต่เมื่อวัดจากเนื้อหาและผู้ร่วมเสวนาก็ต้องบอกว่าเป็นเวทีระดับบิ๊ก โดยการจับนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุกิจบัณฑิตย์ มานั่งคุยในประเด็นเศรษฐกิจ และ รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน มาเปิดใจยาวๆ เกี่ยวกับทัศนะทางการเมืองรวมถึงวิเคราะห์การเมืองไทยปัจจุบันที่อยู่ในช่วงพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก (อาจมีดาวพุธเข้ามาเอี่ยวนิดหน่อย) โดยมี ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เป็นผู้เดินประเด็น


 


เพื่อให้ผู้อ่าน "ประชาไท" ได้อรรถรสเต็มรูปแบบ ประชาไทขอนำเสนอแบบไม่ตัดทอน (แต่อาจมีตัดแต่งเล็กน้อย) พร้อมแบ่งเป็น 2 ภาคโดยภาคแรก ว่าด้วยการ "พิศการเมือง" กับ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน ผู้เสนอทางออกแก่นายกฯทักษิณว่า ควรหาทางถอยได้แล้ว พร้อมทัศนะเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองที่ยังไม่ซ้ำแบบใคร เชิญติดตามชมได้ ณ บัดนี้


 


0 0 0


                                        


อ. ปกป้อง อาจารย์เอนกครับ 1 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยมีพลวัตรมาก พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย มีข่าวคราวเยอะแยะ มีความรุนแรงภาคใต้ ปัญหาองค์กรอิสระหลายองค์กร และในช่วงท้ายมีปรากฏการณ์ สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นปีที่มีอะไรน่าวิเคราะห์พอสมควร ถ้า 1 ปี ที่ผ่านมา ผมอยู่เมืองนอก และผมเบื่อการเมืองมาก เลิกอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ มาวันนี้ เมื่อผมกลับมาเมืองไทย ขอถามอาจารย์เอนกว่า 1 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเราเป็นอย่างไรบ้าง อาจารย์จะตอบผมอย่างไรดีครับ


 


รศ.ดร. เอนก ตอบยากเหมือนกันนะครับ ที่จริงในหนังสือพิศการเมือง ผมก็เขียนเอาไว้ว่า จากนี้ไปจะหาใครชนะคุณทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยในสนามการเลือกตั้งไม่ได้เลย และผมก็เตือนพรรคพวกหลายคนที่อยากจะลง ส.ว. ว่า อย่าไปลงเลย เพราะยังไงก็คงชนะเขาไม่ได้ มันคงเช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. การเลือกตั้ง ส.ว. ก็คงจะไม่มีใครชนะผู้สมัครที่บรรดาชาวไทยรักไทยและผู้บริหารไทยรักไทยสนับสนุนได้ แต่ผมก็เขียนเอาไว้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงการเมือง ต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงการเมือง ซึ่งเป็นทั้งเหตุผลในทางหลักทฤษฎี และขณะเดียวกันก็เป็นเหตุผลในทางยุทธวิถีและยุทธศาสตร์ด้วยนะครับว่า ถ้าเรายังเอาชนะเขาไม่ได้ในทางการเมือง เราก็ควรจะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจความเข้มแข็ง สติปัญญาให้กับตัวเองและสังคม เพราะถ้าหากวันใดเขาเกิดสะดุดขาตัวเองล้มหรือมีอะไรที่เราบอกไม่ได้เพราะไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ปกติ หรือไม่ใช่เพราะการเลือกตั้ง เราจะได้คิดได้ว่า จะนำพาประเทศไปอย่างไรเมื่อไม่มีเขาแล้ว


 


1 ปีที่ผ่านมาถือว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในทางที่อาจารย์หวังจะเห็นหรือยัง ที่อาจารย์บอกว่าต้องเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อจะเปลี่ยนแปลงการเมือง


ที่ผมว่าตอบยากก็คือ ตอนนั้นผมคิดว่าคนไทยจำนวนมากก็คงคิดคล้ายๆ ผม ว่าโอกาสที่จะชนะคุณทักษิณที่สนามเลือกตั้งคงจะยากมาก และก็คงคิดคล้ายๆ ผมอีกเหมือนกันว่า แล้วโอกาสที่จะมีใครมาผลักดันให้เขาอยู่ไม่ได้ ที่นอกเหนือจากการเลือกตั้งก็ยากอีก แต่มันก็ทำให้ผมแปลกใจอีกเหมือนกันว่า แล้วทำไมอยู่ๆ มันถึงมีปรากฏการณ์สนธิขึ้นมา ที่จริง ก่อนที่จะมีปรากฏการณ์สนธิ ก็มีปรากฏการณ์เลือกตั้ง 4 เขต ซึ่งผมคิดว่าแพ้ทุกเขต ที่พิจิตรแพ้ 17,000 คะแนน ที่สตูลไม่ส่งคนลงเลย แพ้แบบไม่ต้องนับคะแนน ที่อุทัยธานีก็แพ้ ส่วนที่สิงห์บุรีผมก็ว่าแพ้ เพราะคราวก่อนชนะเป็นหมื่น และที่ผมว่าแพ้ก็เพราะเป็นผลงานของป๋าเหนาะเขาน่ะ มันอะไรกัน แล้วต่อมาก็เป็นปรากฏการณ์สนธิ


 


บางคนก็บอกว่าปรากฏการณ์สนธิคือการฟื้นตัวของ "สองนคราประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมเสนอขึ้นเองเรื่องชนชั้นกลางเป็นผู้ล้มรัฐบาล ผมก็ว่ามันใช่อยู่ แต่ก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์สองนคราแบบนี้ เพราะการเลือกตั้ง 4 เขตที่ผ่านมา ชนบทหรือเมืองเล็กก็ดูจะไม่เอาไทยรักไทย เพราะว่าการเลือกตั้ง 4 เขตไม่ได้อยู่ในเขตเมืองใหญ่เลย


 


แต่ผมคิดว่าปรากฏการณ์เช่นนี้มันสะท้อนอะไร ผมเรียกปรากฏการณ์สนธิว่า มันสร้างอยู่บนปรากฏการณ์ที่หมดความไว้วางใจตัวนายกรัฐมนตรีและพรรคไทยรักไทย


 


มันเกิดอะไรขึ้น เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ก็ยังมอบความไว้วางใจให้พรรคไทยรักไทยอย่างถล่มทลาย แต่ในเดือนตุลาคม- พฤศจิกายนมันกลับเป็นอีกแบบหนึ่ง มันเกิดอะไรขึ้นครับ


 


ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาเรื่องระดับ ถ้าหากมันสะสมระดับของการสะสมความไม่วางใจมากเข้าๆ พอถึงระดับหนึ่งมันเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคราวนี้ไม่ต้องมีหลักฐานอะไรทั้งนั้น ก็พร้อมจะเชื่อ มันเริ่มจากรัฐบาลไทยรักไทยเป็นรัฐบาลที่คุณจะไปพูดอะไรว่าเขาไม่ดี ว่าเขาไม่ถูกต้อง พูดไปเถอะ ยกหลักฐานเข้าไปเถอะ พูดเก่งแค่ไหนก็เถอะ ผมนี้มีประสบการณ์ เพราะผมอยู่ในสภามา 4 ปี ที่จริงการวิพากษ์วิจารณ์ การเปิดเผยเปิดโปงอะไรในรัฐบาลทักษิณ ทำในสภาผู้แทนราษฎรมากเหลือเกิน และในหน้าหนังสือพิมพ์ก่อนหน้าที่คุณสนธิจะมาเปิดโปงก็มากเหลือเกิน คนอื่นเขาทำมาก่อนแล้ว และทำมาเยอะด้วย แต่ว่ามันเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ไม่มีใครเชื่อ ไม่พร้อมจะเชื่อ และก็มีคำแก้ตัวให้


 


ผมจำได้ว่า ผมนั่งรถแท็กซี่ ปกตินั่งรถแท็กซี่นินทารัฐบาล แท็กซี่จะต้องหันมานินทาด้วย นี่เป็นปรากฏการณ์ปกติที่มีมาตั้งแต่สมัยปลายนายกฯชวนแล้ว แท็กซี่เป็นอะไรที่สะท้อนความไวของการเมืองได้ เพราะปกติผู้โดยสารแท็กซี่ซึ่งเป็นชนชั้นกลางก็จะบ่นนั่นบ่นนี่ แต่ว่าพอถึงยุคคุณทักษิณจะเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกมาก เช่น แท็กซี่จะหันมาพูดทำนองว่า ไม่รักชาติหรือ พูดอะไรเป็นภาษาหรือสำนวนแบบคุณทักษิณ พูดอย่างนี้อยู่ตั้ง 4-5 ปี หลักฐานข้อเท็จจริงอะไรก็มี ไม่ใช่ไม่มี ท่านนายกฯชวนก็อภิปรายเรื่องที่ดิน วัดที่เอาไปทำสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งผมว่าก็น่าเชื่อถือมาก แต่ว่าคนก็ไม่พร้อมที่จะฟัง ไม่พร้อมที่จะเชื่อ จิตวิทยาของคนในสังคมเป็นแบบนั้น


 


แต่ว่าพอมาปัจจุบันพูดอะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับรัฐบาล ผมว่าคนก็เชื่อทั้งนั้น ที่มีข่าวเวลานี้ ผมว่าคนก็เชื่ออีก แล้วก็ไม่ต้องเอาหลักฐานอะไรมาด้วยนะ แต่ว่าพร้อมจะเชื่อแล้ว เพราะมันไปถึงระดับนี้แล้ว ตอนนี้รัฐบาลจึงอยู่ในสภาวะที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ก็ยากที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาได้ เพราะมันไปถึงระดับของมันแล้ว จิตใจของคนพลิกกลับไปแล้ว ยิ่งปัจจุบันมีอินเตอร์เน็ต มันมีการเผยแพร่ข่าว บางทีก็เป็นการนินทา แต่เป็นการนินทาออนไลน์ ผมว่าจะยิ่งทำให้อาการทางจิตวิทยาสังคมยิ่งมีผลเร็วมาก ถ้าหากว่าชอบก็ชอบมากเลย แต่ถ้าไม่ชอบก็จะไม่ชอบอย่างสิ้นเชิงเลย


 


ที่ผมพูดนี่ไม่ใช่ยกเมฆนะครับ แต่ผมเฝ้าดูปรากฏการณ์สนธิ ผมคิดว่าจะหมดน้ำยาไปตั้งนานแล้ว ก็ไม่หมด เริ่มจากธรรมศาสตร์ไม่กี่ร้อยไม่กี่พัน แล้วมันก็ไม่หมด แต่กลับเพิ่มมากขึ้นเป็นหมื่นคน ฝ่ายคุณสนธิบอกว่าเป็นแสน แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยก็หลายหมื่น


 


มันเกิดอะไรขึ้นครับ


ผมว่ามันต้องอธิบายในแง่ของจิตวิทยาสังคม ซึ่งมันก็พัวพันอะไรหลายๆ อย่าง แต่ว่าหลักฐานข้อเท็จจริงอะไรมันก็แทบจะเหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่ขึ้น แต่ใจคนมันเปลี่ยนมารับแล้วว่า เออใช่ แฮะ ดูแล้วใช่แฮะ พิณทองทา พานทองแท้ก็เรียนมาเท่าๆ กับพวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ ทำไมเขารวยจัง เป็นหมื่นๆ ล้าน แล้วก็เมกะโปรเจกต์ เอาอีกแล้วเหลวไหลน่ะ แล้วก็ไม่รู้ว่าเมกะโปรเจกต์นี่ใครจะฟาดไปอีกเท่าไหร่ คือคนไม่ได้เชื่อถืออะไรอีกแล้วตอนนี้


 


เพราะฉะนั้นผมถึงได้พูดผ่านหนังสือพิมพ์ว่า ปี 2549 การเมืองสำหรับท่านนายกทักษิณ ต้องคิดในเรื่องการถอยแล้ว ไม่ว่าจะถอยทางยุทธวิถีหรือถอยทางยุทธศาสตร์ ถ้าถอยทางยุทธศาสตร์ ก็หมายความว่าต้องคิดในเรื่องการสร้างพรรคให้เข้มแข็งขึ้น แล้วก็หาทายาทมาสืบทอด แล้วก็คิดในแง่การก้าวลงจากตำแหน่ง เพื่อจะไม่ให้ตัวเองบาดเจ็บเสียหายมากนัก แต่ถ้าถอยทางยุทธวิธี ก็หมายความว่า เสนอคำขวัญใหม่ เสนอโครงการใหม่ เสนอเมกะโปรเจ็กต์ใหม่ ปรับ ครม. ใหม่ ก็จะไม่มีผลมากนัก


 


แต่ถ้าแนะนำได้ ผมคิดว่าต้องเตรียมถอยทางยุทธศาสตร์ ที่พูดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า มีจิตใจผูกอาฆาตพยาบาทอะไรนะครับ


 


อาจารย์พูดเหมือนกับว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เหมือนมีเส้นความไม่พอใจเส้นหนึ่ง อะไรมันทำให้การสะสมความไม่พอใจมันเริ่มขึ้นครับ แค่เดือนกุมภาพันธ์ไทยรักไทยชนะถล่มทลาย มันแทบไม่มีสัญญาณบอกเหตุ แล้วอาจารย์ก็พูดว่าการเปลี่ยนเชิงคุณภาพทางการเมืองก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย แล้วมันเปลี่ยนได้ยังไง ผมยังงงๆ เลย


 


อย่าว่าแต่คุณงงเลย ผมก็งง คือผมคิดว่าบางทีเราก็อยู่ในสภาพที่นักวิเคราะห์ตามไม่ทันความเป็นจริง ความเป็นจริงมันเปลี่ยนไปเร็วมาก แต่ว่าผมก็เคยพูดอย่างนี้นะครับ พูดเพื่อไม่ให้คนท้อแท้ ผมบอกว่าอย่าไปท้อแท้และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมักจะเป็นการก้าวกระโดดใหญ่ คือมันเป็นอะไรบางอย่างที่เราคาดไม่ถึง


 


ถ้ามาถามผมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2516 ว่าการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร อีก 1 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมก็ไม่คิดหรอกว่าจอมพลถนอมจะลงจากตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2516 นี่อำนาจทุกอย่างของจอมพลถนอมเพียบพร้อมอยู่เลย แต่ว่าวันที่ 14 ตุลาคม หลังจากนั้นมาอีก 2 อาทิตย์ จอมพลถนอมออกนอกประเทศ เพราะฉะนั้นการเมืองมันไม่ใช่อะไรที่คาดคะเนได้ง่ายๆ เราอาจจะบอกได้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2516 ว่าจอมพลถนอมคงไม่อยู่ค้ำฟ้าหรอก และกระแสความไม่พอใจของประชาชนก็เพิ่มพูนมากขึ้น แต่ว่าจะไปบอกเลยว่า อีก 2 อาทิตย์ต่อไปข้างหน้า จอมพลถนอมจะไม่มีที่อยู่ คิดว่าไม่มีใครคิดมาก่อน


 


เพราะฉะนั้น ผมก็เช่นเดียวกัน ถามผมหลังการเลือกตั้ง ผมก็ไม่คิดว่ารัฐบาลจะตกเป็นฝ่ายรับแบบนี้ และผมก็เห็นมาตลอด ผมก็ชมท่านนายกทักษิณว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่เก่งที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา


 


เก่งอย่างไรครับ


คือนายกฯที่ผ่านๆ มาไม่มีใครบอกว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น มีแต่บอกว่า มีอำนาจมากกว่าคนอื่น คือเราอยู่กับนายกฯแบบนี้มาจนเคยชิน ผมเกิดมาในยุคจอมพล ป. ก็จริง แต่เริ่มมารู้ความในยุคจอมพลสฤษดิ์ แต่หลังจากที่ผมอายุประมาณ 9 ขวบ จอมพลสฤษดิ์ก็ถึงแก่อสัญกรรม หลังจากนั้นก็อยู่กับจอมพลถนอม แล้วก็อยู่กับนายกฯหลังปี 14 ตุลาคม 2516 อยู่กับพลเอกเปรม อยู่กับนายกฯหลังพฤษภาทมิฬ ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนที่คิดว่าตัวเองเก่ง ฉลาด พูดแล้วทุกคนต้องฟัง แล้วก็มีโครงการเยอะแยะ มีวิสัยทัศน์เต็มไปหมด


 


นายกรัฐมนตรีที่ผ่านๆ มานั้นรู้ว่าตัวเองมีอำนาจกว่าคนอื่นๆ แต่ว่าอาศัยสติปัญญาและความรู้จากคนอื่นๆ นะครับ แต่ว่าท่านนายกฯทักษิณท่านคิดว่าท่านเก่งที่สุด ซึ่งจะคล้ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม และสิ่งที่นายกฯทักษิณทำนั้น มีจอมพล ป. คนเดียวเท่านั้นกระมังที่จะกล้าทำอะไรมากกว่านั้น คือจอมพล ป. พิบูลสงครามนำไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรบกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อยู่ข้างฝ่ายญี่ปุ่น แล้วก็เข้าสู่สงครามอินโดจีนรบกับฝรั่งเศส เปลี่ยนแปลงตัวหนังสือไทย เปลี่ยนแปลงเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วก็จอมพล ป. ไปประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่วัดพระแก้วนะครับ แต่ก็ไม่ได้แต่งชุดลำลองอะไร


 


เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่า หลังจากจอมพล ป. มาแล้ว ผมก็ไม่คิดว่ามีใครที่เก่งขนาดนายกฯทักษิณอีกในแง่นี้ และไม่ใช่คิดว่าตนเองฉลาดและมีความคิดความรู้ที่จะพูดออกไปเท่านั้นนะครับ ยังมีชั้นเชิงทางการเมืองสูงด้วย ผมดูท่านนายกทักษิณมา 4 ปีกว่า ยากที่จะต้อนเข้ามุม พอต้อนเข้ามุมปุ๊บ เผลอปั๊บแกเด้งเชือกออกมาอีกแล้ว


 


แกเป็นนักมวยเก่งโดยธรรมชาติ หรือเพราะว่ามีโค้ชดี หรือเพราะอะไรครับ


ผมก็คิดว่าแกมีโค้ชดี แต่เอาเข้าจริงโค้ชทั้งหลายก็บอกผมว่า นักมวยคนนี้ไม่เคยโค้ชได้เลย


 


เป็นหมัดพรสวรรค์


เป็นพรสวรรค์แล้วก็เป็นสัญชาติญาณส่วนตัว แล้วแกเป็นคนที่สามารถ....อย่างที่แกพูดเองว่า แกสามารถกระโดดลงจากรถสิบล้อที่วิ่งเร็วๆได้ ถ้าแกรู้ว่ามันจะนำไปสู่อันตราย เพราะฉะนั้นคุณทักษิณเป็นนักชกแบบที่เรียกว่าไร้รูปรอยเลยล่ะ


 


เช่น กรณีภาคใต้กำลังจะหนัก มีคนเสนอให้แกตั้งกรรมการสมานฉันท์ แกก็เอาเลย สมานฉันท์เลย พอทำท่าจะดี ก็มีเรื่องอื่นที่แรงอีกแล้ว ทีแรกแกบอกว่ามาเป็นนายกฯแกบอกจะไม่พึ่งต่างประเทศ จะใช้เศรษฐกิจรากหญ้านะครับ จนกระทั่งฝรั่งตกใจ แต่ว่าพอมาดูเมกะโปรเจ็กต์ที่กำลังทำตอนนี้แล้ว ฝรั่งหายตกใจเลย ไม่รู้ว่าจะขายอะไรหมด ขายครั้งยิ่งใหญ่ การชกของเขาเป็นแบบว่องไวมาก เราคาดการณ์อะไรมากไม่ค่อยได้


 


เพราะฉะนั้นจะให้ผมอธิบายอะไรก็คงยาก เพราะการอธิบายต้องพูดจากโครงสร้าง ด้วยกฎเกณฑ์ แต่นายกฯทักษิณไม่ค่อยมีโครงสร้างอะไร เดิม มีคนบอกว่า เทรนเนอร์คือ คุณพันศักดิ์ (วิญญรัตน์) หมอมิ้ง (พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) คุณภูมิธรรม (เวชยชัย) ใช่ไหมครับ เดี๋ยวนี้เอาเข้าจริงๆ ผมว่าก็ไม่ใช่ แล้วนายกฯทักษิณเป็นอะไร คืออะไร ระบอบทักษิณคืออะไร ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก


                               


อาจารย์ออกตัวว่าไม่ได้ไปสวนลุม แต่อาจารย์ใส่เสื้อเหลืองอยู่ที่บ้านหรือเปล่า


ผมก็พยายามที่จะเอาใจช่วยรัฐบาลอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเอาใจช่วยท่านนายกฯทักษิณ ผมก็คิดเหมือนที่อาจารย์ปกป้องคิดว่า เดี๋ยวอาจจะฟื้นได้ จริงๆ ก็เห็นในอดีตเขาฟื้นได้ อย่างที่ผมพูดว่า พอจนมุมแล้ว เขาก็พลิกออกมาได้ แต่ว่าในขณะเดียวกัน ผมก็เห็นปรากฏการณ์หนึ่งที่มันก็น่าทึ่งนะครับ แต่ที่จริงเป็นธรรมชาติของระบอบแบบนี้ คือมีข่าวไม่ดีออกมาได้ทุกอาทิตย์เหมือนกัน อาทิตย์ที่แล้ว ผมคิดว่าจะไม่มีอะไรแล้วก็มีอีก จากเรื่อง C130 ผมก็คือว่าจะไม่มีแล้ว ล่าสุด เรื่อง ส.ส. ก็อย่าไปเอ่ยชื่อเขาเลยนะครับ ผมว่ามันมี talk of the town มีการพูดคุยของคนทั้งเมืองได้ทุกอาทิตย์ แล้วก็ที่ผมคุยกับหลายคนที่อยู่ข้างใน ผมคิดว่ามันคงไม่หมด เพราะเยอะเหลือเกิน แล้วที่ผ่านมา ก็ทำกันแบบอุกอาจมาก เพราะเชื่อในอำนาจมาก เพราะว่าย่ามใจ ทำเอาไว้เยอะ ที่จะคิดทำอย่างรอบคอบก็เป็นเฉพาะในช่วงปี 2 ปีแรกที่เป็นรัฐบาล ความประมาทก็มากขึ้น เพราฉะนั้นข่าวที่ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลกับท่านนายกฯก็ออกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงอาทิตย์นี้ก็ยังมี ถามว่าเรื่องใหญ่หรือเปล่า ก็ถึงขนาดต้องเชิญ ส.ส. หญิงไปทานข้าวที่บ้าน ก็คงไม่เล็ก ก็คงไม่ใช่ข่าวเล็ก แล้วตอนนี้มันเข้าตาจน พูดอะไรคนก็เชื่อทั้งนั้น เพราฉะนั้นผมก็คิดว่ามันคงไม่จืด มันคงมีอะไรออกมาได้เรื่อยๆ


 


อาจารย์บอกว่ามีข่าวไม่ดีออกมาเรื่อยๆ เราก็ฟังข่าวไม่ดีเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ เราก็ไม่เชื่อเขามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วประชาชนทำอะไรได้มากกว่านี้ไหมครับ ทำอะไรได้มากกว่าการไปสวนลุม ฟังคุณสนธิ


คือถ้าดูแนวโน้ม 3 เดือนมานี้ ผมยังไม่เห็นว่ามันจะพลิกได้อย่างไร 3 เดือนมานี้ ผมเห็นว่ามีข่าวไม่ดีออกมาไม่หยุด และเรื่องนี้ก็อาจจะต้องออกจากเรื่องจิตวิทยาสังคมไปสู่เรื่องอื่นด้วย เช่นเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น มันขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็มาก ไม่ใช่ธรรมดา ซึ่งสิ่งที่ทำให้ขาดดุลก็เพราะน้ำมันแพง และผมคิดว่าน้ำมันแพงก็ยังไม่ใช่ว่าจะแก้ได้ง่ายๆ บางคนบอกปีหน้า บางคนบอกปลายปีหน้า น้ำมันถึงจะลดลงมาเหลือ 40 เหรียญต่อบาร์เรล ก็เป็นเรื่องที่หนักหน่วงนะครับ และสำหรับคนทั่วไปที่ได้รับผลก็คือของแพง และกำลังจะได้ดอกเบี้ยแพง ซึ่งจะรบกวนคนเป็นหนี้ และคนเป็นหนี้ก็ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นกลางหรือเศรษฐีเท่านั้น ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เราทำให้การเป็นหนี้มีลักษณะ democratization of the dept คือการเป็นหนี้สามารถทำให้ใครๆ ก็เป็นได้ เป็นได้อย่างแพร่หลาย กว้างขวาง ประชาชนเป็นหนี้ได้อย่างถ้วนหน้า มันอยู่ได้ก็เป็นเพราะลักษณะพิเศษของเศรษฐกิจช่วงนั้นซึ่งดอกเบี้ยต่ำมากและความคล่องตัวทางการเงินมันสูงมาก แต่ตอนนี้ภาวะพิเศษนั้นเริ่มเข้าสู่ความเป็นธรรมดามากขึ้น เพราะฉะนั้น ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นๆ จากหนี้ที่ทำเอาไว้


 


การที่เราบอกว่า การเมืองเป็นเรื่องของความรู้สึก มันก็ไม่ใช่ว่าเป็นความรู้สึกแบบที่ไม่มีอะไรเสียเลย แต่ว่าคนทั่วไปไม่มาสนใจดูรายละเอียดว่า ที่เขาว่าคุณทักษิณนั้นจริงหรือไม่จริง และจริงๆ เราก็ไม่มีปัญญาที่จะทำอย่างนี้ได้ด้วยในระบอบประชาธิปไตย เราก็ไม่มีทางที่จะไปรู้ได้เสียทั้งหมด แต่ว่าอารมณ์ของเราก็เกิดจากความเป็นอยู่ของเรา


 


และเรื่องปรากฏการณ์สนธิมันเกิดขึ้นหลังจากมีความพยายามที่จะไปซื้อหนังสือพิมพ์มติชนกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เพราะฉะนั้นคนชั้นกลางก็มีความรู้สึกว่า วิทยุก็เอาไปหมดแล้ว โทรทัศน์ก็เอาไปหมดแล้ว สื่ออะไรที่ทันสมัยก็เอาไปหมดแล้ว แล้วยังจะมาเอาหนังสือพิมพ์ไปอีก ทีนี้การแตะต้องหนังสือพิมพ์นั้นก็คือการแตะต้องคนที่สนใจเรื่องบ้านเมืองอย่างจริงจัง เพราะว่าคนฟังวิทยุกับโทรทัศน์ไม่ได้สนใจบ้านเมืองจริงจังหรอก แต่คนที่อ่านหนังสือพิมพ์เป็นคนที่สนใจบ้านเมืองจริงๆ


 


ทีนี้มติชนพอถูกข่มขู่คุกคามแบบนี้ก็เปลี่ยนจุดยืนเหมือนกัน ก็หันมาเล่นข่าวเรื่องต่างๆได้ตรงมากขึ้น ด้านเนชั่นเดิมก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ตอนนี้ก็ยิ่งคึกคักใหญ่ ตอนนี้ถ้าอยากอ่านหนังสือพิมพ์มันๆ ก็อ่านเนชั่นจะมันมาก ส่วนไทยโพสต์ก็มันมาตลอดแล้ว แนวหน้าก็มันเหลือเกิน ตอนแรกก็มีแต่พรรคฝ่ายค้านอ่าน แต่ปัจจุบันนี้ผมเห็น ส.ส. พรรคไทยรักไทยเวลาไปต่างจังหวัดก็หยิบแนวหน้าขึ้นมาอ่านบ้างแล้วเหมือนกัน


 


อาจารย์สังเกตละเอียดนะครับ


ผมสังเกตหมดแหละ ผมคิดว่ามันก็ไม่ง่ายเหมือนกันนะครับ มีคนบอกผมอย่างนี้ บอกว่าไปเจอท่านนายกรัฐมนตรีที่บ้านจันทร์ส่องหล้าตอนเช้าขอบตาดำคล้ำ ผมคิดว่าที่ขอบตาดำคล้ำอย่างนั้นก็เพราะว่าเหนื่อยใจ และตอนที่ท่านไปพูดที่สถาบันพระปกเกล้า มีคนเล่าให้ฟังว่า ท่านนายกฯพูดแบบสบายใจที่ได้มาอยู่ในท่ามกลางคนที่ไว้วางใจ พูดอะไรทีเป็นความในใจออกมาเยอะ บ่นท้อใจ พูดถึงขนาดว่า จะหาทายาทมาสืบแทน ซึ่งผมเห็นอยู่คนเดียวคือคุณศิธา ทิวารี เพราะพอหัวหน้าพูดเสร็จ คุณศิธาก็ซ้ำทุกที แปลว่ามีบทบาทเด่นอยู่คนเดียว


 


ผมสังเกตว่าอะไรหลายๆ อย่างเริ่มใกล้เคียงกับช่วงท้ายๆ ของยุคจอมพลถนอมตรงที่ว่า เรื่องตลกเรื่องขำขันมันเริ่มตลกได้ง่าย ทีแรกตลกยากจริงๆ มีแต่ผู้จัดกวนเท่านั้นแหละที่ตลก แล้วผมก็หัวเราะบ้าง เดี๋ยวนี้คนหามุขตลกได้เยอะจริงๆ


 


ระบอบใดที่กำลังเสื่อมทรุด อัจริยภาพของคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามในการทำให้เรื่องราวต่างๆ เป็นเรื่องตลกจะสูงขึ้น และอารมณ์ของคนที่อยู่ในระบอบก็จะหงุดหงิดมากขึ้นๆ


 


เมื่อคนกล้าจะหัวเราะมากขึ้นก็แปลว่าอาณาจักรแห่งความกลัวมันเริ่มจะหายไปหรือเปล่าครับ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพิ่งจะให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" ไป อาจารย์นิธิ บอกว่าปรากฏการณ์สนธิ มีคุณูปการต่อสังคมอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้อาณาจักรแห่งความกลัวที่ครอบสังคมไทยอยู่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเริ่มหายไป


 


ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งนะครับว่า ประเทศใดที่คนไม่มีสิทธิเสรีภาพ ประเทศนั้นจะผลิตโจ๊กการเมืองได้ดีมาก ส่วนประเทศใดที่คนมีเสรีภาพทางการเมืองมากๆ แล้ว โจ๊กการเมืองจะไม่ค่อยสนุก มันไม่ตลกเท่าไหร่ เดิมผมเคยสังเกตว่าในประเทศไทย ตอนยุคของคุณชาติชาย ชุณหะวัณ ผมไปประชุมที่ต่างประเทศ เจอนักศึกษามาเลเซีย สิงคโปร์ เขาเล่าแต่เรื่องตลกของประเทศเขา มาเลเซียก็เล่าโจ๊กมหาเธร์ สิงคโปร์ก็เล่าโจ๊กลีกวนยู เขาก็ถามว่าเมืองไทยมีโจ๊กของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไหม ผมก็บอกว่ามีเหมือนกัน แต่มันไม่ค่อยตลก มันไม่ตลกหรอก เพราะเราพูดได้ตรงๆ อยู่แล้ว แต่เขาต้องตลกเพื่อให้เรื่องเล่ามันเล็ดลอดออกไปได้


 


จากนั้นมาโจ๊กการเมืองไทยก็ไม่ค่อยตลกมานานมาก แต่ตอนนี้มันเริ่มตลกแล้ว


 


อาจารย์บอกว่า คนเริ่มผลิตโจ๊ก คนเริ่มไม่พอใจมากขึ้น ในขณะที่คุณทักษิณก็ยังมีที่นั่งในสภาเต็มไปหมด องค์กรอิสระก็ถูกวิเคราะห์วิจารณ์ว่าเป็นคนของรัฐบาลบ้างอะไรบ้าง แล้วทางออกมันจะอยู่ตรงไหน สำหรับคนที่ไม่ชอบความรุนแรง ไม่อยากจบลงด้วยความรุนแรง ไม่เอาอำนาจนอกระบบ การเอาชนะคุณทักษิณในสภาก็ยากมาก แล้วการเปลี่ยนผ่านอำนาจจะทำอย่างไร


 


ผมคิดว่ามันมีอะไรที่ทำให้เกิดการเขม็งเกลียว และที่อาจารย์ปกป้องพูดเมื่อสักครู่ นั่นคือตัวอย่าง คือความรู้สึกของคน ไม่รู้ว่าจะออกอย่างไร นี่คือเกลียวที่ตอนนี้เราเริ่มสร้างขึ้นในใจ และเกลียวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเด็นองค์กรอิสระทำให้คนเริ่มคิดถึงการปฏิรูปการเมืองครั้งต่อไป


 


คือคนเริ่มรู้สึกว่า ที่เราเขียนรัฐธรรมนูญเที่ยวที่แล้ว อย่างเรื่ององค์กรอิสระหลายองค์กรก็เริ่มจะเข้าสู่ทางตันแล้ว เช่นการเลือกประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เลือกไม่ได้ เพระว่าศาลปกครองยังไม่ได้ส่งตัวแทนมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถามศาลปกครองก็บอกว่า รอคนจากศาลยุติธรรมที่จะส่งคนมาเป็นตัวแทนในศาลปกครอง ก็ไปเร่งเขาไม่ได้ แล้วพอถามศาลยุติธรรมว่า ทำไมไม่ส่งคนมาเป็นตัวแทน ก็ตอบว่าไม่มีใครเขาอยากมา อย่างนี้การทำงานบางอย่างที่จะต้องใช้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร ก็เป็นปัญหา


 


ตอนนี้อารมณ์ของคนเกือบจะเป็นตรงกันข้ามกับตอนที่ทำรัฐธรรมนูญปี 2540 เลย ตอนปี 2540 ก็อยากจะให้มีรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง การบริหารมีความเข้มแข็ง แต่ตอนนี้ไม่อยากให้ฝ่ายบริหารแข็ง อยากให้มีการรับฟังความคิดเห็นมากๆ และก็ไม่อยากจะเห็นรัฐบาลใดที่ครองอำนาจไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด เริ่มมีความรู้สึกว่า อำนาจที่ยาวนานเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้นไม่ใช่ของดีเสียแล้ว เริ่มอยากจะให้ ส.ส. มีอิสระมากขึ้น ไม่ต้องสังกัดพรรคก็ได้ แล้วเรื่องการสังกัดพรรค 90 วันก็อยากจะให้ยกเลิกเสีย บางคนบอกว่า จำนวนของ ส.ส. ตั้ง 500 ไหนๆ ก็ทำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว ก็ไม่เห็นมีความจำเป็นเลย ลดลงเสียหน่อยไม่ได้หรือ เพราะค่าจ้างใน ส.ส. แพงเหลือเกิน


 


คือความรู้สึกของสังคมเหวี่ยงกลับแล้ว แต่ว่าจะทำอย่างไร นี่คือเกลียว ผมว่าถ้าเป็นแบบ happy ending ที่สุดก็รออีก 3 ปี แล้วคราวหน้า ถ้าไม่ชอบคุณทักษิณมากๆ ก็อย่าไปลงคะแนนเสียงให้คุณทักษิณ แต่ก็เตรียมผิดหวังเอาไว้นะครับ ผมว่าแบบนี้คงไม่สำเร็จ เพราะว่าคนตัดสินการเลือกตั้งอยู่ที่คนในต่างจังหวัด แล้วคนกรุงเทพฯ เองผมก็ไม่แน่ใจ หรือจะเป็นแบบลุกฮือขึ้นมาขับไล่ เราก็ไม่อยากจะเห็นเลือดเนื้อ จะเป็นแบบอื่น ทหารเขาก็บอกว่าเขาไม่ทำ


 


ส่วนคำถามประเภทที่ว่าแล้วใครจะเป็นแทนเขา ผมคิดว่าอย่าไปคิดเลย ผมดูมาตลอดก็ไม่เคยมีใครคิดได้ว่าคนต่อไปจะเป็นใคร ในที่สุดก็ออกมาเอง การเมืองเป็นอะไรที่วางแผนไม่ได้ เราได้แต่คาดคะเน คิดดูว่ามันจะเป็นอย่างนี้ แต่ว่าในที่สุดผลมันจะออกมาเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องคาดได้ยาก เพราะการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคนมากเหลือเกิน ซึ่งเขาจะตัดสินใจอย่างไรเราก็ไม่มีทางรู้


 


อาจารย์พูดแบบคนที่ปลดปลงทางการเมือง


ไม่ใช่ๆ ผมพูดแบบคนที่เห็นการเมืองมานานมาก เพราะฉะนั้น บางทีผู้สื่อข่าวมาถามอะไรผม ผมก็รู้ทันที่เลยว่าเขาพูดแบบคนที่อายุ 25 ผมถามเขาว่า คุณเกิดปีอะไร ใครเป็นนายกฯตอนนั้น ส่วนใหญ่ก็ยุคนายกฯเปรม เพราะฉะนั้นเขาย่อมไม่เห็น 14 ตุลา และไม่เห็นยุคก่อน 14 ตุลา


 


สมมติเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดร. เอนกเข้าสภาได้ มี ส.ส. เข้าสภาไปด้วยสัก 20 คน การเมืองจะเปลี่ยนไปจากที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ไหมครับ


ถ้ามหาชนเข้าสภาได้สัก 20 คน พรรคประชาธิปัตย์ก็คงเข้าไปได้ 150 พรรคชาติไทยก็คงสัก 40-50 ก็คงจะเกิดรัฐบาลแบบไม่ใช่ไทยรักไทยเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวแบบนี้ ก็คงมีพรรคอื่นเข้าไปร่วมรัฐบาลด้วยหรือเปล่า ผมก็ไม่ทราบ แต่นี่ก็เข้ากับแผนที่เขาจะทำอยู่แล้วคือพรรคเดียวเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นี่เป็นวิสัยทัศน์ทางการเมืองแบบท่านนายกฯทักษิณแท้ๆ


 


ผมอยากจะพุดอีกนิดหนึ่งว่า นายกทักษิณเป็นผู้ที่เอาการเมืองไทยออกจากวัฒนธรรมแบบ 14 ตุลา เนื่องจากการเมืองไทยหลัง14 ตุลา 2516 เป็นการเมืองที่อยู่ใต้วัฒนธรรมแบบ 14 ตุลาคม 2516 เป็นวัฒนธรรมที่ไม่อยากเห็นพรรคเดียว คนกลุ่มเดียวปกครองประเทศอยู่นาน แล้วก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อต้านรัฐบาลที่มีคนเพียงคนเดียวที่พูดอะไรแล้วคนอื่นต้อง yes หมด


 


14 ตุลาคมคือการล้มจอมพลถนอม เพราะจอมพลถนอมคนเดียวพูดอะไรแล้วรัฐบาลไปหมดคิดตามนั้นหมด การประชุม ครม. จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ การออกมาตรา 17 ก็คือนายกฯ อยากจะออก แต่ว่าไปพูดใน ครม. แล้วทุกคนก็ "ครับ" แล้วก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า มติ ครม. มีวงศ์วานว่านเครือ มีสะใภ้ มีเขยเต็มไปหมด มีการใช้อำนาจแบบที่ไม่มีอะไรมากีดขวางได้ อำนาจทางการเมืองตัดสินทุกอย่างได้


 


เป็นเรื่องแปลกประหลาด ผมเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันนี้ ไม่อยู่ในจารีตหรือวัฒนธรรมแบบ 14 ตุลาคมเลย


                                                       


ทุกวันนี้สังคมไทยยังมีวัฒนธรรม 14 ตุลา อยู่ไหมครับ


มันก็ยังมีอยู่ แต่ท่านนายกฯทักษิณกำลังทำให้วัฒนธรรมนี้หายไป วัฒนธรรมแบบ 14 ตุลาก็คือวัฒนธรรมที่รัฐบาลต้องเชื่อถือนักวิชาการ รัฐบาลต้องไม่ไปปราบปรามม็อบ ไม่ปราบปรามเอ็นจีโอ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่


 


ที่อาจารย์ถามผมว่า ทำไมความไม่ไว้วางใจของประชาชนจึงไปถึงระดับตรงนี้ได้ ผมก็นึกขึ้นมาได้อีกอย่างก็คือ ขณะนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะพอสมควร มีการผลิตอะไรต่ออะไรออกมาที่ทำให้วัฒนธรรมแบบ 14 ตุลาไม่หายไปได้ง่ายๆ เหมือนกัน ถ้าหากว่านายกฯทักษิณรื้อฟื้นยุคจอมพล ป. ขึ้นมา นายกทักษิณเหมือนจอมพล ป. หมดทุกอย่าง ก็มาทำอะไรแบบยุคจอมพล ป. ไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปจากยุคจอมพล ป. มากเหลือเกิน มีคนที่มีความคิดความอ่าน มีสติปัญญาขึ้นมาอีกมากมายเต็มไปหมด ที่อาจารย์ถามว่าวัฒนธรรมแบบ 14 ตุลา ยังมีอยู่ไหม ผมว่ามันก็ยังมีอยู่


 


ถ้าเรามาวิเคราะห์คนที่ไปร่วมฟังคุณสนธิที่สวนลุม หลายหมื่นคน เราก็จะเห็นว่าประกอบไปด้วยคนหลากหลาย บางคนอาจจะไปเพราะเรื่องคอร์รัปชั่น บางคนไปเพราะอยากจะปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ บางคนไปเพราะวาทกรรมพระราชอำนาจ อย่างประเด็นหลัง วาทกรรมพระราชอำนาจที่คุณสนธิ หรือศาสตราจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ชูขึ้นมานั้น ไปด้วยกันได้หรือขัดแย้งอย่างไรกับวัฒนธรรมแบบ 14 ตุลาที่อาจารย์พูดมาเมื่อสักครู่


 


ผมต้องเรียนอีกอย่างหนึ่งว่า บทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีในทางการเมืองอย่างสูงเด่น เป็นสิ่งหนึ่งของวัฒนธรรม 14 ตุลาด้วย ก่อน 2516 นั้น พระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์แบบที่ทำอะไรไม่ได้ เพราะอำนาจอยู่ในมือของทหารหมด แต่หลังจากที่ท่านมีพระชนมายุมากขึ้น มีพระบุญญาธิการมากขึ้น ผมจำได้ว่าเมื่อทหารตำรวจจะมาล้อมมาปราบ นักศึกษาก็จะลุกขึ้นยืนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีกัน และก่อนหน้า 14 ตุลา พระเจ้าอยู่หัวจะทรงดนตรีตามมหาวิทยาลัยต่างๆ พระเจ้าอยู่หัวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความสะอาด ความยุติธรรม และพระเจ้าอยู่หัวตรัสเสมอว่า เยาวชนคือตัวแทนของประเทศที่เป็นด้านสดใส อะไรที่เราไม่ชอบ เมื่อโตขึ้นมา เราก็อย่าไปทำ เหตุการณ์ 14 ตุลายุติลงได้ก็เป็นเพราะพระเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นมา เช่นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็ทรงช่วยให้เหตุการณ์สงบ และสังคมการเมืองไทยก็ยอมรับบทบาทพระราชอำนาจ บุญญาบารมีในส่วนนี้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากทรงสุขุมรอบ และมีพระปรีชาญาณด้วย ทำให้เรื่องพระราชอำนาจเป็นเรื่องที่ผมคิดว่ามีอยู่จริง


 


นอกจากเหตุการณ์หนังสือพิมพ์ถูกคุกคามแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องพระราชอำนาจที่คุณประมวล (รุจนเสรี) จุดพลุขึ้นมา ที่จริงหลายคนก็คิดคล้ายๆ คุณประมวล และนักวิชาการหลายคนก็เคยเขียน และเขียนได้ดีกว่าคุณประมวลเสียด้วยซ้ำ แต่ว่า Timing นั้นมีความสำคัญ จังหวะในทางการเมืองสำคัญ ไม่ใช่ว่าหนังสือคุณภาพดีเท่านั้น แต่จังหวะเป็นสิ่งสำคัญ จังหวะที่คุณประมวลออกหนังสือมา หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือขายดี แล้วก็ยังมีสิ่งที่คุณประมวลนำมาเขียนในบทเกริ่นนำในการพิมพ์ครั้งที่ 2 ก็ไม่มีใครกล้าไปถามต่อว่าใครเป็นคนมาเล่า


 


ทำไมช่วงนี้จึงเป็นจังหวะที่ดี การที่ช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีมันสะท้อนอะไร


ผมว่ามันสะท้อนว่า คนไม่ต้องการให้อำนาจมันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าเราดู 5 ปีมานี้ เราจะเห็นว่า ข้าราชการเรียบร้อยไปแล้ว ทหารเรียบร้อยไปแล้ว ตำรวจเรียบร้อยไปแล้ว ไม่มีใครกล้าขืนอีก อำนาจจากฝ่ายการเมืองเข้าไปกุมเรียบร้อย นักวิชาการถูกไล่ไปอยู่หลังตู้หนังสือ ว่าเขาเรื่องเสื้อกั๊กอีก เสื้อกั๊กเก่าก็ไม่ได้ นักธุรกิจก็ไม่เหลือ ใครที่ทำธุรกิจโดยไม่เข้าไปเป็นวงศ์วานโดยไม่เข้าไปเป็นลูกน้อง ไปรับใช้กลุ่มทุนใหญ่ก็ไม่มีความก้าวหน้า ใครจะทำธุรกิจก็ต้องเป็นพวกเขา สถาบันสื่อก็ไม่เหลืออีก สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ก็ไปแล้ว แล้วก็ยังไปคุกคามสื่อที่ยังใช้ได้อยู่อีกไม่กี่สื่อ คนก็มีความรู้สึกว่า เอะ! จะเอากันถึงไหน แล้วก็เรื่องคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ก็ถูกตีความว่า เป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจ ก็เกิดคำถามว่านี่คุณไม่ฟังใครเลยหรือ


 


เรื่องวัดพระแก้วก็เหมือนกัน ไม่ต้องมีคำแก้ตัวอะไรมาก แค่เพียงว่าจดหมายที่รองราชเลขาธิการสำนักพระราชวังตอบกลับมาว่า ให้ใช้วัดพระแก้วได้ ลงวันที่ 11 เม.ย. งานจัดไปวันที่ 10 แต่จดหมายตอบมาวันที่ 11 แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็หนักแล้วล่ะ


 


เมื่อรวมกันเข้า ถ้าให้ผมอธิบายก็คือ คนรู้สึกว่าจะหมดทั้งประเทศแล้วตอนนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีใครสักคนหนึ่งออกมาพูดอะไรน่าเชื่อถือ แล้วดูเหมือนว่า เขามีความตั้งใจจะทำอะไร เช่นคุณสนธิ คนเขาก็ลองมาดูก่อน ไม่มีใครนัดใครหรอก พอเห็นแล้วทำไมมันเยอะ


 


ผมคิดว่า ตอนนี้คนมีจิตใจคล้ายๆ ตอน 14 ตุลาคม มากขึ้นๆ


                        


ในฐานะนักวิชาการรัฐศาสตร์ อาจารย์เห็นอย่างไรกับข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมือง สายหนึ่งคือคุณสนธิและศาสตราจารย์อมร พูดเรื่องการถวายคืนพระราชอำนาจ อีกสายหนึ่งคือเอ็นจีโอ ภาคประชาชนพูเรื่องทำอย่างไรถึงจะเพิ่มอำนาจประชาชน


 


คนที่พูดถึงเรื่องการถวายคืนพระราชอำนาจก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมืองไทยพอวิกฤติขึ้นมาทีไรก็มีคนพูดเรื่องถวายคืนพระราชอำนาจ ตอนพฤษภาทมิฬก็มีแนวคิดถวายคืนพระราชอำนาจ อีกส่วนหนึ่งคือการคืนอำนาจให้ประชาชน ผมคิดว่า 2 เรื่องนี้ไปด้วยกัน เพราการถวายพระราชอำนาจก็ไม่ได้หมายความว่าจะพาประเทศกลับไปสู่ยุคโบราณอีกครั้งหนึ่ง


 


แต่ถ้าถามผมว่า อยากจะทำอะไรเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองมากที่สุด ผมคิดว่าก็พยายามทำมาหลายอย่างแล้วแต่ไม่สำเร็จ และยิ่งทำก็ยิ่งยุ่งเข้าไปทุกที เช่นองค์กรอิสระ ทำให้การเลือกตั้งยุ่งที่สุด ขั้นแรกก็ต้องชนะประชาชนก่อน ทำอย่างไรให้ประชาชนมาเลือก ใช้เงิน ใช้การโฆษณาร้อยแปด เดินเหน็ดเหนื่อยมากเลย หาเสียงจนคอแหบ เห็นใครก็ต้องไหว้ไปหมด เหนื่อยมาก พอชนะ ก็ยังไม่ชนะอีก ต้องไปชนะใน กกต. อีก สมมติว่าถ้าต้องจ่างตังค์ รอบแรกจ่ายให้ประชาชน รอบ 2 จ่ายให้ กกต. อีก นี่พูดถึงว่า ถ้าต้องจ่ายตังค์นะครับ แล้วกกต. ก็มีทั้ง กกต. ที่จังหวัดแล้วก็ยังมี กกต. กลางอีก ในที่สุดแล้วก็ทำให้คนที่มีเงินน้อยเสียเปรียบมากๆ มีเงินปานกลางก็ยังเสียเปรียบ มีเงินมากก็ยังเสียเปรียบ คนที่ได้เปรียบก็คือคนที่มีเงินมากที่สุด มากเหลือเกิน


 


คราวที่แล้วเราปฏิรูปโดยหารายละเอียดมากมาย แต่ว่ามันไม่มีผล ผมคิดว่าปฏิรูปจริงๆ ในใจผม ทำอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น คือให้นายกรัฐมนตรีอยู่ได้ 4 ปีเท่านั้น จบ รัฐมนตรีอย่างมากก็ 8 ปี แล้วการลงทุนทางการเมืองจะเปลี่ยนไป แต่ทุกวันนี้มันมีความมั่นคงเหลือเกิน แล้วมันคุ้มเหลือเกินที่จะลงทุนทางการเมือง ถ้าเราลงไปพันล้าน เราอาจจะได้คืนมาแสนล้าน เพราะฉะนั้นเราก็ควรไปจำกัดเสียที่เทอมในการดำรงตำแหน่ง บางทีมันจะง่ายกว่าเยอะเลย แล้วกรรมการอิสระอะไรที่ไม่จำเป็นก็ยกเลิกไปเสีย


 


แต่พอบอกว่านายกรัฐมนตรีให้เป็นได้แค่ 4 ปี ก็เสียดายกันอีก เผื่อมีคนเก่งๆ อย่าไปคิดอย่างนั้นเลย คิดว่าหมุนเวียนกันไปทำเถอะ แล้วคนเก่งๆไม่ต้องกลัวนะครับ มีเยอะจริงๆ แล้วรัฐมนตรีผมก็บอกได้เลยว่าไม่ใช่คนเก่งอะไร ผมดูแล้วพวกเราในที่นี้เป็นรัฐมนตรีได้เกือบทุกคน อย่าให้ใครทำการเมืองจนเป็นเหมือนอาชีพ ผมว่ามันอันตรายที่สุด แล้วทำให้เราเกิดภาวะแบบนี้ ไม่ไปไหนสักที รัฐมนตรีก็หน้าตาซ้ำๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราปล่อยให้คนๆ หนึ่งเมื่อได้เสียงสนับสนุนแล้วเป็นได้นานเหลือเกิน


 


เราบังเอิญโชคดีนะครับ เพิ่งจะมีท่านนายกฯทักษิณที่เป็นได้นาน ก่อนหน้านี้คุณชวนเป็นได้ 5 ปี แต่ก็ต้องเป็น 2 ครั้ง เราโชคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่แข็ง ถ้าแข็งมากๆ ก็ปกครองประเทศไทยยาวนานต่อเนื่องเหมือนกัน แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้น ก็ทำให้มีพรรคอื่นขึ้นมาสลับ แต่ความบังเอิญนั้นขณะนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว เพราะมีพรรคไทยรักไทยและนายกฯทักษิณขึ้นมาแล้ว และถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เลือกตั้งคราวหน้าท่านก็คงจะได้เป็นอีก แล้วสิ่งที่อาจารย์บอกผมว่า มันเขม็งเกลียวก็จะยิ่งหนักเข้าๆ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net