Skip to main content
sharethis


ประชาไท-15 ธ.ค. 48        ประธานวิปรัฐบาลระบุ สภายังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับแก้ไขของคณะกรรมาธิการร่วมเพราะทางคณะกรรมาธิการร่วมยังไม่ส่งมา ทำให้สภาไม่สามารถพิจารณาได้ทันสมัยการประชุมนี้เนื่องจากวันที่ 14 ธ.ค.เป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุม "เพิ่มศักดิ์" ตั้งข้อสังเกต ร่างพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเสร็จมากว่า 3 สัปดาห์แล้ว ทำไมคณะกรรมาธิการร่วมยังส่งไม่ถึงสภา ทั้งๆที่ตึกห่างกันนิดเดียว


 


นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวกับ ตัวแทนจากเครือข่ายป่าชุมชน  20 คน ที่เดินทางมาพบเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุม แต่ทางคณะกรรมาธิการร่วมยังไม่ส่งร่างมาให้พิจารณา  จึงต้องรอพิจารณาในสมัยการประชุมหน้า ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 4 มี.ค. 2549


 


นายพงศ์เทพ อธิบายต่อว่า หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวส่งมาถึงวิปรัฐบาล ตามหลักการจะต้องมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการสภาที่เกี่ยวข้องพิจารณาอีกครั้ง จะมีการให้ทุกฝ่ายเข้ามาชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากคณะกรรมาธิการร่วม ตัวแทนจากเครือข่ายป่าชุมชน และตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม


 


จากนั้นจะนำร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อให้ลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขของคณะกรรมาธิการร่วม ทั้งนี้หากสภาใดไม่เห็นชอบ กฎหมายนี้จะถูกยับยั้งไว้ และทางสภาผู้แทนราษฎรสามารถนำร่าง พ.ร.บ. ทั้งฉบับที่ผ่านการพิจารณาของ สส. เมื่อ พ.ศ. 2544 และร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขของคณะกรรมาธิการร่วม มาลงมติเลือกครั้งสุดท้าย ว่าจะรับร่างไหน มีทางเลือกแค่สองทางนี้  จากนั้นจะไม่มีการพิจารณาอีก


 


ส่วนที่มีการตั้งคำถามจากนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชน และผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการวิทยาลัยการจัดการทางสังคมว่า การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางส่วนในร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนของคณะกรรมาธิการร่วมขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออก ทั้งๆที่มีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 46 ที่ระบุให้ประชาชนมีสิทธิในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรของตนอย่างยั่งยืน


 


นายพงศ์เทพ ตอบว่า ตรงนั้นเป็นเรื่องเทคนิค ซึ่งวางหลักการไว้กว้างมาก แต่เนื้อในจะเป็นอย่างไรสามารถแก้ไขได้ คือแก้ในส่วนเหตุผลที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หลายครั้งก็มีการแก้ไขในลักษณะดังกล่าว จึงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร  แต่เรื่องการระบุให้มีพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ เพิ่มเติมจากร่างที่เคยผ่านสภาจะทำให้เสียหลักการป่าชุมชนหรือไม่เป็นเรื่องสำคัญกว่า


 


นอกจากนี้ ในการเข้าพบประธานวิปรัฐบาล ของเครือข่ายป่าชุมชนครั้งนี้ นายเพิ่มศักดิ์ได้เป็นตัวแทนในการแสดงความเห็นกับนายพงศ์เทพว่า การพิจารณา พ.ร.บ. ป่าชุมชน ของรัฐบาลมีความล่าช้า อีกทั้งทางกรรมาธิการร่วมได้แก้ไขหลักการสำคัญของป่าชุมชนออกไป ทางเครือข่ายจึงไม่เห็นด้วยกับการรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงอยากให้ทางรัฐบาลรับฟังผ่านทางการพบประธานวิปรัฐบาลวันนี้


 


นายเพิ่มศักดิ์ ยังได้ชี้แจงกับนายพงศ์เทพอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนของคณะกรรมาธิการร่วมขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งๆที่ประชาชนใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 170 โดยการลงชื่อกว่า 50,000 ชื่อ เพื่อเสนอกฎหมาย และทาง ส.ส. 341 คนได้ลงมติเห็นชอบไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2544  แต่ทางคณะกรรมาธิการร่วมที่แก้ไขร่างใหม่มีเพียงตัวแทนจาก ส.ส. ส.ว. และข้าราชการเท่านั้น กลุ่มดังกล่าวมีส่วนได้เสียโดยตรง แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการชี้แจงหรือพิจารณาครั้งนี้เลย


 


นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับคณะกรรมาธิการร่วมยังขัดกับข้อบังคับการประชุม ส.ส.ที่ว่าคณะกรรมาธิการจะเพิ่มหรือแก้มาตรากฎหมายได้โดยไม่ขัดกับหลักการของสภา


 


ส่วนการรณรงค์ของเครือข่ายป่าชุมชน ที่มาร่วมกับ คณะ "ธรรมชาติยาตรา" ที่เดินเท้ามาจาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และพักอยู่บริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการกว่า 5,000 คนนั้น ถูกกลุ่มคัดค้านอีกกลุ่มแสดงท่าทีที่เป็นอันตรายใส่ จึงเห็นว่ามีความเสี่ยงในการชุมนุมโดยสงบ อยากให้รัฐบาลดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วย นายพงศ์เทพก็รับปากและกล่าวว่าได้กำชับกับเจ้าหน้าที่ให้ดูแลตรงนี้เป็นพิเศษแล้ว


 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net