Skip to main content
sharethis


ประชาไท - คลื่นกัดเซาะป่าชายเลนอ่าวปัตตานี จมใต้ทะเล 500 ไร่ กระทบแหล่งหอยพิม 1 ใน 2 แหล่งของประเทศอย่างหนัก แฉต้นตอมาจากรอดักทราย 4 ตัว หน้าชายหาดบางตาวา ระบุชัดโครงการของรัฐไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น สร้างปัญหาไม่รู้จบ 

 


นายเจะปอ สะแม อดีตผู้ใหญ่บ้านบางตาวา ตำบลบางตาวา เภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้คลื่นกัดเซาะชายฝั่งบริเวณป่าชายเลนของหมู่บ้าน จมหายไปแล้วกว่า 500 ไร่ จากที่มีอยู่ 1,500 ไร่ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อที่อยู่อาศัยของหอยพิม 1 ใน 2 แห่งของประเทศไทย โดยการกัดเซาะเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่มีการสร้างรอดักทราย 4 ตัว บริเวณชายหาดหน้าหมู่บ้านประมาณปี 2535 ทำให้เกิดการกัดเซาะบริเวณป่าชายเลนที่อยู่ถัดไปด้วย รอกันทรายแห่งนี้สร้างพร้อมกับรอกันทรายบริเวณแหลมตาชี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี


 


นายเจะปอ เปิดเผยต่อไปว่า จากการเก็บข้อมูลของชาวบ้านเครือข่ายรอบอ่าวปัตตานี เพื่อจัดทำฐานข้อมูลประจำปีของแต่ละตำบล ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน พบว่าการลดน้อยลงของหอยพิม มีสาเหตุมาจากคลื่นซัดทรายที่ถูกกัดเซาะไปปิดรูที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ตรงบริเวณที่เป็นโคลนแข็ง ชาวบ้านที่เคยเก็บหอยพิมไปขายมีรายได้ลดลง เพราะปริมาณหอยลดน้อยลง


 


"ผมเคยนำเรื่องนี้ไปคุยในเวทีสัมมนาหลายแห่งแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยแก้ปัญหา หน่วยงานรัฐกลับบอกว่า การลดน้อยลงของหอยแม่พิม ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการสร้างรอดักทราย" นายเจะปอ กล่าว  


 


นายเจะปอ กล่าวอีกว่า ตนเห็น เหตุที่เกิดปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง เพราะมนุษย์ต้องการฝืนธรรมชาติ สร้างรอดักทรายไปกั้นคลื่นและลม แม้จะดักทรายได้ แต่ก็ทำให้มีการกัดเซาะใต้น้ำ ตอนนี้ชาวบ้านช่วยกันนำไม้จำนวนมากปักไว้ตรงชายหาดที่พัง ซึ่งช่วยได้ระดับหนึ่ง สำหรับป่าชายเลนบางตาวา เป็นปาชายเลนที่อุดมสมบูรณ์มาก เคยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่งมาศึกษาสภาพป่า มีนักเรียนมาทัศนศึกษาเป็นประจำ


 


นายเจะปอ กล่าวด้วยว่า บางครั้งสิ่งก่อสร้างที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม และสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน เกิดจากความไม่ตั้งใจ แต่เป็นเพราะหน่วยงานเจ้าของโครงการไม่เคยถามชาวบ้านในพื้นที่ว่า ควรทำหรือไม่ เช่น ครั้งหนึ่งสมาชิกสภาจังหวัดปัตตานี ได้รับงบประมาณมาจำนวนหนึ่ง จึงไปสร้างห้องน้ำในป่าชายเลนบางตาวา โดยไม่ถามชาวบ้าน ปัจจุบันกลายเป็นอนุสรณ์แห่งความล้มเหลว เพราะไม่มีคนไปใช้


 


"ผมเป็นหัวหน้าคณะดีเกฮูลูแหลมทรายอยู่ด้วย จึงนำเรื่องทรัพยากรที่เสียหายจากโครงการของรัฐมาใส่ไว้ในบทเพลงที่แสดงด้วย เพื่อต้องการให้ชาวบ้านสำนึกว่า เราต้องช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลายW นายเจะปอ กล่าว


 


สำหรับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงเกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะบริเวณที่มีการสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลงไปในทะเล ตั้งแต่จังหวัดนราธิวาสไปจนถึงจังหวัดตราด ซึ่งขณะนี้กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาทั้งระบบอยู่ ส่วนป่าชายเลนที่มีหอยพิมชุกชุมอีกแหล่งหนึ่ง คือ จังหวัดสมุทรปราการ


 


  กลับหน้าแรกประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net