Skip to main content
sharethis



 

" "ประชาไท" จะยึดมั่นในจรรยาบรรณของสื่อมวลชน จะพยายามเสนอข่าวโดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจะตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ"


http://www.prachatai.com/05web/th/custom/aboutus.php


..................................


 


เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของ "ประชาไท" ผมขอเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเจรจาขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งการประชุมที่ฮ่องกงในเดือนธันวาคมนี้ โดยตั้งข้อสังเกตว่าน่าเสียดายที่ "ประชาไท" ไม่ได้จะตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอตามที่ประกาศ


 


ทั้งนี้สืบเนื่องมาจาก "รายงานพิเศษ" เรื่อง "วอลเดน เบลโล : ทำไม "WTO ฮ่องกง" มันถึงแย่มากสำหรับคุณ" (http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=631&SystemModuleKey=SepcialReport&SystemLanguage=Thai)


 


ใครจะคิดว่า WTO ดีเลวอย่างไรย่อมเป็นสิทธิของแต่ละคน อย่างน้อยขอให้เป็นความคิดที่เกิดจากความจริง ไม่น่าเชื่อว่า "รายงานพิเศษ" ดังกล่าวจะมีข้อความที่ไม่จริงมากมายถึงขนาดนี้


 


ท่านที่ต้องการทราบความจริงเกี่ยวกับ WTO สามารถหาอ่านได้จาก www.wto.org (ต้องขออภัยที่จำเป็นต้องอ้างอิงหน้า "เว็บ" ภาษาอังกฤษในบทความฉบับนี้ ข้อมูลภาษาไทยพอมีบ้างที่เว็บไซท์ของกรมเจรจาการค้า http://www.dtn.moc.go.th) ส่วนที่เกี่ยวกับการเจรจาการค้าสินค้าเกษตรอยู่ที่ http://www.wto.org/english/tratop_e/agric_e/negoti_e.htm จากหน้าเว็บดังกล่าวจะเห็นว่าเนื้อหางานของ WTO มีมากมาย ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงเพียงสองสามประเด็นเพื่อให้เข้าใจขั้นตอนการเจรจาของ WTO และเพื่อแก้ข้อความที่ไม่จริงใน "รายงานพิเศษ" นั้น


 


การเจรจาปัจจุบันเรียกว่า "รอบโดฮา" เพราะประเทศสมาชิกตกลงกันในการประชุมรัฐมนตรีที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อปี 2544 (2001) ว่าจะเปิดเจรจา เนื้อหาครอบคลุมถึงการเปิดตลาด การลดหรือยกเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตร ข้อผ่อนผันและมาตรการณ์พิเศษสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา และการปฏิรูปกติกาการค้าของ WTO ขณะนี้ประเทศสมาชิกตั้งเป้าให้การเจรจาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีหน้า (2549 หรือ 2006)


 


การเจรจาใน WTO มีรายละเอียดเนื้อหามาก ประเทศที่เจรจา มี 148 ประเทศ ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้กำลังจะเพิ่มเป็น 149 ประเทศ ผลของการเจรจาต้องเป็นที่ยอมรับโดย "ฉันทามติ" ซึงแปลว่าไม่มีประเทศใดค้าน ด้วยเหตุนี้ การเจรจาจึงใช้เวลานาน และต้องมีขั้นตอนเฉพาะ


 


สิ่งที่คุณวอลเดนเรียกว่า "กรอบข้อตกลง" เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเจรจา เป็นข้อตกลงเบื้องต้น ที่ช่วยให้การเจรจาเดินเครื่องต่อไปได้ โดยนักเจรจามีความเชื่อมั่นว่า ในเมื่อเนื้อหาบางประเด็นตกลงกันแล้ว จะไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปพูดกันอีก การเจรจาในระยะหนึ่งปีครึ่งหลังจาก "กรอบข้อตกลง" ได้มีผลคืบหน้าเพิ่มเติมอีกขั้นหนึ่ง ดังนั้นประเทศสมาชิกตั้งเป้าว่าอยากจะให้การประชุมรัฐมนตรีที่ฮ่องกงในวันที่ 13 ถึง 18 เดือนธันวาคมนี้เป็นการรับรองความคืบหน้านั้น เพื่อให้การเจรจาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปลายปี 2549 (2006)


 


ในเมื่อ "กรอบข้อตกลง" ของเดือนกรกฎาคม/สิงหาคม 2547 (2004) เป็นเนื้อหาล่าสุดที่ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว จึงควรเข้าใจว่า "กรอบข้อตกลง" คืออะไร เป็นมาอย่างไร ขอยกตัวอย่างเพียง 2-3 ตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพว่า "กรอบข้อตกลง" คืออะไร เพราะ "กรอบข้อตกลง" เป็นเอกสารยาว 20 หน้า ตัวอย่างเช่นประเทศสมาชิกตกลงกันว่าการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร (ที่ "รายงานพิเศษ" เรียกว่า "การทุ่มตลาด") จะต้องยกเลิกให้หมด สิ่งที่ยังต้องเจรจาต่อไปคือจะยกเลิกเมื่อไร ขณะนี้มีข้อเสนอให้ยกเลิกภายในประมาณ 5 ปี แต่ยังไม่ตกลงกัน หรือในกรณีกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด "กรอบข้อตกลง" เขียนไว้ชัดเจนว่าประเทศเหล่านี้ไม่ต้องลดกำแพงภาษี หรือการอุดหนุนใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งประเทศรวยจะพยายามเปิดตลาดรับสินค้าส่งออกจากประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด โดยไม่เก็บภาษีศุลกากร และไม่จำกัดโควตา เป็นต้น


 


ดังนั้นที่รายงานพิเศษสรุปว่า "กรอบข้อตกลงเดือนกรกฎาคมจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการลดเลิกกฎระเบียบของทุกสิ่งทุกอย่าง" นั้น เป็นการสรุปที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงเพราะ "กรอบข้อตกลง" เป็นการพยายามปูทางให้ปรับปรุงกฎระเบียบให้ยุติธรรมและทันสมัยยิ่งขึ้น


 


ความไม่จริงข้อต่อไป : รายงานพิเศษกล่าวต่อไปว่า "ประเทศกำลังพัฒนาไม่พอใจอย่างมาก เพราะวาระของรัฐมนตรีกลับได้รับความเห็นชอบในการประชุมของ สภาสามัญ และนี่เท่ากับเป็นการปฏิวัติทางสถาบันอย่างหนึ่งทีเดียว" ขอไม่พยายามตีความข้อความที่สับสนคือ "วาระของรัฐมนตรี" ขอยืนยันแต่เพียงว่าข้อเท็จจริงคือ ถ้าประเทศกำลังพัฒนา "ไม่พอใจอย่างมาก" จริงๆ ประเทศเหล่านี้จะไม่ยอมตกลง และ "กรอบข้อตกลง" จะไม่ผ่าน อย่างที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นที่การประชุมรัฐมนตรีที่แคนคูน ประเทศเม็กซิโก เมื่อเดือนกันยายนปี 2546 (2003)


 


การตกลงกันในเรื่องใหญ่ๆ อย่างนี้ ต้องการการประนีประนอม เมื่อต้องประนีประนอม ย่อมแปลว่าทุกประเทศมีข้อข้องใจในรายละเอียดบางประเด็นของข้อตกลง แต่โดยส่วนรวมรับได้ มิฉะนั้นจะไม่มีเสียงฉันทามติ และข้อตกลงจะไม่คลอด หลักฐานยืนยันอ่านได้ในรายงานการประชุมคณะมนตรีใหญ่ (แปลจาก "General Council" ตามแบบกระทรวงพาณิชย์ "รายงานพิเศษ" แปลว่า "สภาทั่วไป") ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมดและเป็นองค์กรที่อนุมัติ "กรอบข้อตกลง" เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2547 (2004) (download รายงานการประชุมดังกล่าวได้ที่ http://www.wto.org/english/tratop_e/dda_e/dda_package_july04_e.htm)


 


ความไม่จริงซ้ำเป็นข้อความที่เหลือเชื่อจริงๆ : "และนี่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนเมื่อรัฐบาลและองค์กรประชาสังคมส่วนมากไม่รับรู้และไม่ได้อยู่ที่เจนีวา" ผมไม่ทราบว่าใครพักร้อนในช่วงนั้นนอกจากผู้ทำ "รายงานพิเศษ" ฤดูพักร้อนในยุโรปคือเดือนสิงหาคม "กรอบข้อตกลง" เจรจาในเดือนกรกฎาคมและตกลงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 1 สิงหาคม 2547 (2004) เป็นที่ทราบกันดีล่วงหน้าเป็นเวลาแรมเดือนว่าจะเป็นจังหวะที่เจรจาหนัก ช่วงนั้นสำนักงานใหญ่ของ WTO พลุกพล่านผิดปรกติ ทั้งกลางวันและกลางคืน มีผู้แทนรัฐบาลสมาชิกทั้งหลายเข้าประชุมหนาตาล้นหลามผิดปรกติ การเจรจามีทั้งกลางวันและกลางคืน มีอยู่หลายวันติดต่อกันที่พวกเราในฝ่ายสารนิเทศกลับบ้านหลังตีสอง อาบน้ำ นอน 2-3 ชั่วโมง แล้วกลับไปทำงานก่อน 6 โมงเช้า เรื่องพักร้อนไม่ต้องพูดถึง เวลาพักหายใจแทบไม่มีเลย


 


ทำไมเราทำงานกันอย่างนั้น? ก็เพราะการเจรจาช่วงนั้นสำคัญมาก และอยู่ในสายตาชาวโลก พวกเราในฝ่ายสารนิเทศทำงานหนักเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนจากทั่วโลก ที่มาทำข่าวกันมากผิดปรกติ เพื่อติดตามความคืบหน้าทุกขั้นตอนที่เจนีวา เราเปิดห้องทำงานพิเศษให้นักข่าวทั้งๆ ที่อาคารมีเนื้อที่จำกัด นอกจากนี้มีการแถลงข่าวให้องค์กรเอกชน (NGO)โดยเฉพาะเป็นระยะๆ และข่าวสรุปความคืบหน้าเผยแพร่ทางเว็บไซท์ของ WTO แทบจะวันต่อวัน (อ่านได้ที่ http://www.wto.org/english/tratop_e/dda_e/dda_package_july04_e.htm) สรุปแล้ว ข่าวข้อมูลการเจรจาช่วงนั้นมีเพียบพร้อม ดังนั้นถ้าใคร "ไม่รับรู้" ก็เป็นเรื่องที่ "ไม่รับรู้" เอง โทษ WTO ไม่ได้


 


ทำไมในช่วงนั้น ถึงต้องเจรจากันดึกๆ ดื่นๆ? ทำไมในวันสุดท้ายถึงได้เจรจากันนานถึง 24 ชั่วโมงติดต่อกัน โดยไม่หลับไม่นอน (รวมทั้งดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการใหญ่)? ก็เพราะว่านักเจรจา ซึ่งรวมทั้งผู้แทนประเทศที่กำลังพัฒนา ยังไม่พอใจร่าง "กรอบข้อตกลง" จึงได้เจรจาแก้ไขหามรุ่งหามค่ำจนกระทั่งยอมรับได้ (ร่างแต่ละฉบับอ่านได้จากหน้าเว็บดังกล่าว)


 


การตกลงกันใน "กรอบข้อตกลง" เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญหลังจากประเทศสมาชิกไม่สามารถตกลงกันเป็นเวลาหลายเดือน หรือจะว่าไม่ตกลงกันเป็นปีก็ยังได้ ที่ตกลงกันได้ในที่สุดมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลายข้อ ข้อหนึ่งคือประเทศใหญ่ๆ จับเข่าคุยกันเองภายนอก WTO เพื่อหาทางสายกลางที่จะนำไปสู่การประนีประนอมในระดับสมาชิกทั้งหมด ประเทศที่จับเข่าคุยกันในช่วงนั้นมีห้าประเทศ คือ ออสเตรเลีย บราซิล สหภาพยุโรป อินเดีย และ สหรัฐ ผู้ที่ติดตามสถานการณ์จะเห็นว่าห้าประเทศมีคุณสมบัติสำคัญสองข้อคือมีจุดยืนที่ตรงกันข้ามกันในหลายเรื่อง และถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศใหญ่ แต่อินเดียกับบราซิลมีเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรยากจนนับร้อยล้านคน


 


การที่ประเทศสมาชิกจับเข่าคุยกันเองนอก WTO เป็นเรื่องธรรมดาในการเจรจาแบบนี้ (มีเกร็ดประวัติศาสตร์ที่สนุกๆ คือ เกือบ 20 ปีก่อนนี้ เมื่อประเทศทั้งหลายติดขัดกัน โคลอมเบีย กับสวิตเซอร์แลนด์ เริ่มหารือกันเพื่อพยายามแก้ปัญหา ต่อมาจำนวนประเทศที่เข้าร่วมขบวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งการประนีประนอมผ่านไปได้ กลุ่มนี้เรียกกันว่ากลุ่ม "กาแฟใส่นม" ตามสินค้าหลักของประเทศผู้ริเริ่มทั้งสอง)


 


ซึ่งทั้งนี้นำไปสู่ ความไม่จริงข้อต่อไป : "รายงานพิเศษ" กล่าวถึงบทบาทของห้าประเทศโดยไม่อธิบายบทบาทนั้น "รายงานพิเศษ" กล่าวผิดๆอย่างไม่น่าเชื่ออีกว่า ประเทศทั้งห้า "ต้องไปยังสถานที่เงียบสงบบนเทือกเขาสวิส และได้รับการอำนวยความสะดวกจากกองเลขาธิการของดับบลิวทีโอ เมื่อประเทศกำลังพัฒนาได้ยินเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้า พวกเขาไม่พอใจอย่างมาก"


 


ความจริงคือ ห้าประเทศประชุมกันหลายครั้งในระยะปี 2547 (2004) และ 2548 (2005) ที่ ลอนดอน ปารีส ซูริค และเจนีวา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทั้งนั้น ส่วนใหญ่ประชุมที่สถานทูต หรือ สำนักงานผู้แทนถาวร (เท่ากับสถานทูต) เมื่อประชุมกันเองเสร็จ หลายครั้งได้ขยายวงประชุมต่อกับประเทศอื่น หรือกลุ่มอื่น สำนักเลขาธิการ WTO ไม่เคยอำนวยความสะดวกและห้าประเทศไม่เคยขอ ทุกครั้งที่ประชุมมีนักข่าวไปทำข่าว ประเทศกำลังพัฒนาไม่เคยคัดค้านการที่ห้าประเทศหารือกัน บางประเทศเรียกร้องให้ประเทศใหญ่ๆ เป็นผู้นำในการหาข้อประนีประนอมด้วยซ้ำไป อินเดียกับบราซิลมีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่ "รายงานพิเศษ" เรียกว่ากลุ่ม "จี" คือ จี-20 กับ จี-33 สิ่งที่ประเทศอื่น (ซึ่งรวมทั้งประเทศรวยอย่างเช่นญี่ปุ่นกับสวิส) กังวลคือสิ่งใดที่ห้าประเทศตกลงกันต้องไม่ยัดเยียดให้ทุกคนต้องรับ การเจรจา "กรอบข้อตกลง" ในสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2547 (2004) แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเรื่องอย่างนี้ยัดเยียดกันไม่ได้


 


เมื่อข้อมูลเบื้องต้นคลาดเคลื่อนอย่างไม่น่าเชื่อขนาดนี้ แล้วจะหวังอะไรกับการประเมินสถานการณ์ที่สลับซับซ้อน การประชุมที่สำคัญครั้งต่อไปจะเป็นการประชุมรัฐมนตรีที่ฮ่องกงที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ ผู้ทำ "รายงานพิเศษ" รณรงค์หยุดยั้ง WTO ที่ฮ่องกงทั้งๆ ที่การเจรจายังไม่จบ คือสรุปตั้งแต่ยังไม่จบว่าผลการเจรจาจะต้องเลวร้าย


 


การสรุปอย่างนั้นแปลว่าสิ่งที่อยู่บนโต๊ะขณะนี้ไม่มีข้อดีเลย เช่น การยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรโดยประเทศรวย การลดการอุดหนุนภายในประเทศที่กดราคาและกระตุ้นให้เกษตรกรในประเทศรวยผลิดข้าวกับพืชผลอื่นล้นตลาด ซึ่งขณะนี้มีข้อเสนอจากประเทศที่ทำการอุดหนุนเองให้ลดเพดานการอุดหนุนของตัวเองลง 60-80% การเปิดตลาดสำหรับสินค้าส่งออกและบริการของประเทศที่กำลังพัฒนา ความยืดหยุ่นที่ประเทศกำลังพัฒนากำลังเจรจากันเป็นต้น


 


แน่นอนประเทศที่กำลังพัฒนาคิดว่าสิ่งที่คนอื่นเสนอยังไม่ดีพอ และสิ่งที่คนอื่นเรียกร้องนั้นหนักเกินไป ประเทศที่พัฒนาแล้วก็คิดอย่างนั้น แต่นั่นเป็นของธรรมดาในเมื่อการเจรจายังไม่จบ เราน่าจะฟังเสียงจากทวีปที่ยากจนที่สุดในโลก คือเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ กลุ่มประเทศอัฟริกาทั้งหมดที่เป็นสมาชิก WTO พูดในที่ประชุมว่าถ้าการประชุมรัฐมนตรีที่ฮ่องกงล้มเหลว ประเทศที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ประเทศอัฟริกานั่นเอง


 


อย่างที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ใครจะคิดว่าสิ่งเหล่านี้ดีหรือไม่ดีอย่างไรเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ที่เขียนมาเพียงแค่นี้น่าจะทำให้ฉุกคิดว่า อะไรกันแน่ที่ "แย่มากสำหรับคุณ" ที่ฮ่องกง (ก็ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือไงครับ)


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net