Skip to main content
sharethis

คลิ๊กที่ภาพ
เจริญ คัมภีรภาพ
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 



ต่อจากนี้คือคำอภิปรายของ เจริญ คัมภีรภาพ ในการร่วมแถลงข่าวของเครือข่ายป่าชุมชนเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เมื่อวันที่ 30 พ.ย.48 Iณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

..................................................


 


ผมและนักวิชาการจำนวนมากคิดในทางที่ดีว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่ประเทศไทยเจอวิกฤตการแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน เกิดปัญหาภัยพิบัติสาธารณะ สังคมขณะนั้นก็หวนกลับมาดูจารีตประเพณีของคนที่อนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืนในนาม ป่าชุมชน เราหวังว่า ถ้าเราจะรักษาป่าของประเทศนี้ให้คนรุ่นต่อไป การรับรองและคุ้มครองวิถีชีวิต รักษาป่าใช้ป่าชุมชน ต้องได้รับการยกระดับฐานะขึ้นมา


 


เรื่องนี้ผมก็ดี อาจารย์เสน่ห์ จามริก ก็ดี ตระเวนดูทั่วประเทศแล้ว นักวิชาการจำนวนมากร่วมกันทิ้งปากกาไปหาชุมชน และได้เห็นศักยภาพของชุมชนในการดูแลรักษาป่า การมีอยู่ของชุมชน ก็คือการมีอยู่ของป่า และการมีอยู่ของน้ำ ซึ่งก็คือการมีอยู่ของคนเมือง และผู้ใช้น้ำทั่วประเทศ


 


ความคิดในตอนนั้น เราต้องการทำให้สิทธิของประชาชนชายขอบที่เคยถูกมองข้ามได้รับการรับรองสิทธิ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ภูมิหลังของการเกิด พ.ร.บ.ป่าชุมชนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากความคิดของนักวิชาการหรือของใคร แต่มันเป็นการเอาจารีตวัฒนธรรมของชาวบ้านที่สะท้อนออกเป็นประเพณีให้มีฐานะในทางกฎหมาย เขียนออกมา เราไม่ได้คิดอะไรขึ้นมาใหม่ นี่คือจุดแรก


 


ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 46 จึงมีขึ้นเพื่อรับรอง ความหมายคำว่ารับรองคือ มันมีสิ่งนั้นอยู่ก่อนแล้ว กฎหมายไปสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น คือการรับรองสิทธิชุมชนในการพัฒนา ฟื้นฟู ฉะนั้น ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ก็คือภาพสะท้อนและรูปธรรมของรัฐธรรมนูญ มาตรา 46


 


พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคการเมือง รวมทั้งพรรคไทยรักไทย เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นฉบับประชาชน และภาคประชาชนสนใจ จึงยึดเอามาเป็นนโยบาย จนเกิดกฎหมายนี้ขึ้นมา ฉะนั้น ร่างกฎหมายป่าชุมชน จึงเป็นกฎหมายฉบับแรก ฉบับเดียวของไทย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นเจ้าของกฎหมายฉบับนี้ หลังจากเรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะท้องถิ่นเป็นคนเขียนจารีตและวัฒนธรรมของเขาขึ้นเอง


 


จึงไม่ใช่สิ่งแปลก ที่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมายนี้ ที่ส่งผลให้มีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ประชาชนจะยอมรับได้


 


เมื่อกระบวนการกฎหมายนี้เข้าสู่สภา สภารับรอง ต่อมาวุฒิสภาแก้ไข และนำไปสู่การมีกรรมาธิการร่วม ผลจากการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม ก็มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการเพิ่มเขตอนุรักษ์พิเศษเข้าไปในกฎหมายนี้ ความหมายก็คือ การโหนกระแสสิทธิชุมชนแบบแปลงร่างเข้าไป


 


การประกาศหรือการเพิ่มเติม เขตอนุรักษ์พิเศษ เข้าไปในพ.ร.บ.ป่าชุมชน คือการโหนกระแสประชาชนเข้าไป ความหมายในทางกฎหมายคืออะไร


 


ประการแรก เดิมทีกฎหมายป่าชุมชน มีแต่คำว่า "ป่าชุมชน" แต่คณะกรรมาธิการร่วม ได้เพิ่ม "ป่าอนุรักษ์พิเศษ" เข้าไป ซึ่งคือการสร้างอำนาจใหม่ให้แก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


ประเด็นที่สอง การสร้างเขตอนุรักษ์พิเศษ เท่ากับการสร้างเขตอำนาจเพิ่มขึ้นเข้าไปในกฎหมายฉบับนี้ ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ไปสร้างเขตอำนาจทางกฎหมายขึ้นมา เขตอำนาจทางกฎหมายก็จะไปกีดกัน หวงกัน ผลที่ตามมา คือการอพยพโยกย้าย พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ เขตอนุรักษ์พิเศษ ก็คือ การเพิ่มข้อหาในทางกฎหมายให้แก่ชุมชนและประชาชนนั่นเอง


 


ถ้าท่านได้จำเหตุการณ์ คจก. เมื่อปี 35 ชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องป่าชุมชนได้ผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวนี้มา กล่าวคือ เหตุการณ์ความรุนแรงของการเผชิญหน้าเรื่องทรัพยากรที่ดินระหว่างรัฐบาล และประชาชน เกิดจากประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติ แล้วไปทับที่ของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นตกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาบุกรุก และถูกฟ้องร้องจำคุกในศาล


 


ประสบการณ์นี้ กลับมาเกิดขึ้นในกฎหมายฉบับนี้  ก็คือการให้อำนาจ ให้มีดดาบแก่ทางราชการ ประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ ผลที่ตามมาก็คือ จะต้องขับไล่ ไสส่ง อพยพ กีดกัน หวงกัน ห้ามประชาชนอยู่ในเขตนั้นต่อไป


 


การประกาศเขตอนุรักษ์พิเศษเพิ่มเติมเข้าไปในกฎหมายป่าชุมชน จึงเป็นการยกเว้น กีดกันไม่ให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 มีผลในทางปฏิบัติตรงนี้ ก็จะเป็นปัญหาว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิและจารีตของประชาชนในการอนุรักษ์ พัฒนา และป่าชุมชนที่ปรากฏกันอยู่ในขณะนี้ก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่า ประชาชนได้ใช้จารีตของชุมชนอนุรักษ์ป่ามา แต่กฎหมายฉบับนี้จะไปห้ามไม่ให้ประชาชนอนุรักษ์ พัฒนา


 


ดังกล่าว การประกาศเขตอนุรักษ์พิเศษในชั้นกรรมาธิการร่วม จึงขัดต่อหลักการของการเสนอกฎหมายนี้ของรัฐบาลไทยรักไทย ตอนนี้ไทยรักไทยเสนอกฎหมายนี้เข้าสู่สภา ในหลักการของกฎหมาย เขียนไว้ว่า เพื่อให้มีกฎหมายป่าชุมชน แต่เหตุไฉนท่านสร้างหลักการขึ้นมาใหม่ ให้มีเขตอนุรักษ์พิเศษ แล้วก็บอกว่า ในเขตอนุรักษ์พิเศษห้ามทำป่าชุมชน การห้ามมิให้ทำป่าชุมชนยังไม่รุนแรงเท่าอำนาจในทางกฎหมายที่ร่างกฎหมายป่าชุมชนล่าสุดนี้สร้างขึ้น ซึ่งจะไปทำให้ประชาชนถูกจับกุมคุมขัง ถูกฟ้องร้อง และมีความผูกพันต่อศาลที่จะวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นไปตามกฎหมายนี้


 


ท่านทั้งหลาย ประวัติศาสตร์การต่อสู้ร่างกฎหมายป่าชุมชนเพื่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มันทำให้นักอนุรักษ์เสียชีวิตไปแล้วหลายคน แต่การที่รัฐบาล คณะกรรมาธิการร่วม ได้ไปเพิ่มหลักการตรงนี้เข้าไปใหม่ ก็เท่ากับว่ากฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ทางตันแล้ว ดังนั้น การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ถูกต้อง ก็มาถึงจุดแตกหัก นั่นก็คือว่า ร่างกฎหมายป่าชุมชนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเร็วๆ นี้ โดยไปแก้ไขหลักการ จะเกิดการเผชิญหน้าครั้งสำคัญ ระหว่างรัฐบาลและประชาชนในพื้นที่


 


ทำไมผมเรียนเช่นนั้น อาจารย์เพิ่มศักดิ์ก็เกริ่นแต่ต้นแล้วว่า ขนาดยังไม่มีกฎหมายป่าชุมชน การเลือกใช้กฎหมาย การจับกุมคุมขัง โดยอ้างว่าเป็นการบุกรุก รู้เห็นอยู่ในเขตยังทำถึงขนาดนี้ได้ และเหตุการณ์ คจก. ก็คือภาพหลอนที่ทำให้ประชาชนจดจำมาตลอด ที่เห็นเจ้าหน้าที่ไปทุบตี ฉุดกระชาก ขับไสไล่ส่งประชาชนในพื้นที่


 


ถ้ากฎหมายนี้ออกไป ตามที่ได้แก้ไขอย่างนี้ ก็เท่ากับว่า รัฐบาลประกาศสงครามกับประชาชน การเผชิญหน้าจะต้องเกิดขึ้น ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า


 


ฉะนั้น ผมซึ่งเป็นผู้ติดตาม และร่วมร่างกฎหมายนี้มาตั้งแต่แรก เมื่อครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่น้ำก้อ จ.แพร่ ที่มีดินถล่มเพราะน้ำป่า นายกฯ ทักษิณ ไปเยี่ยมประชาชนที่นั่น คำพูดหนึ่งที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ทางทีวีว่า เราจะจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้ในรูปแบบของป่าชุมชน 


 


ดังนั้น การที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศเขตอนุรักษ์พิเศษ ที่จะหวงกันไม่ให้คนอนุรักษ์ป่านั้นจึงเป็นการปฏิบัติที่สวนทางกับความต้องการของประชาชน และผมเองไม่เชื่อว่าการรักษาป่าของข้าราชการนั้นจะสามารถกระทำโดยลำพังได้


 


เขตอนุรักษ์พิเศษที่กรรมาธิการร่วมได้เสนอเข้ามานี้เป็นตัวอย่างของมายาคติ คือ พยายามบอกว่าป่าอนุรักษ์กับป่าชุมชนนั้นแยกออกจากกัน ตรงนี้สำคัญมาก แท้ที่จริง ป่าชุมชนคือวิธีการที่จะอนุรักษ์ที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยคิดได้ในขณะนี้ ท่านลองดูว่าเกือบ 100 ปีที่เราตั้งกรมป่าไม้มา เราอนุรักษ์ป่าได้ไหม


 


ป่าชุมชนแยกไม่ออกจากป่าอนุรักษ์ และการอนุรักษ์ แต่เขตอนุรักษ์พิเศษกำลังบอกว่า ป่าชุมชนเป็นเรื่องการใช้สอยไม้ มันเป็นมายาคติที่รุนแรงที่สุด และไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงแม้แต่น้อย ทำให้สังคมเกิดการไขว่เขวว่า ป่าชุมชนกับป่าอนุรักษ์แยกออกจากกัน ทั้งที่มันเป็นเรื่องเดียวกัน และยั่งยืนด้วย ไม่ใช่คิดฟันแบบฟูเฟื่องด้วย มันเป็นความจริงที่ปรากฏ


 


บัดนี้ 5 ปี 7 เดือนมันได้พิสูจน์ตัวมันเองว่า ใครมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาของประชาชน


 


เรื่องนี้ขอเรียนว่า รัฐบาลต้องทบทวนอย่างจริงจังยิ่ง 


 


ผมไม่อยากจะพูดว่า ทีต่างชาติที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ป่าในประเทศไทยอย่างไม่มีข้อจำกัด โดยผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น ท่านเปิดทางให้เขา แต่ทีประชาชนคนไทยนั้นท่านหวงกัน ไม่ยุติธรรมเลย และยิ่งท่านจะประกาศพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งให้อำนาจ ครม. ออก พ.ร.ก.ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุมป่าชุมชนได้ทั้งหมด แล้วให้อำนาจนั้นกับผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่านดูก็แล้วกันว่า ท่านกำลังทำอะไรกับประชาชน


 


ผมอยากส่งสัญญาณให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้ให้ดี เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก


 


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 


สัมภาษณ์พิเศษ"เจริญ คัมภีรภาพ" : เขตเศรษฐกิจ "พิเศษ"….ของใคร? ตอน 1

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net