สัมภาษณ์พิเศษ สมชาย ปรีชาศิลปกุล : "ป่าชุมชน" ระเบิดเวลาที่ไม่มีใครสนใจ

ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชน 50,000 ชื่อ ตั้งแต่ปี 2542

และมีข้อถกเถียงขัดแย้งกันมากระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จนกระทั่งต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอีกครั้ง เสร็จสิ้นไปเมื่อ 17 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง

 

แม้ร่างพ.ร.บ.ของกรรมาธิการร่วมฯ จะ "อนุญาต" ให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์แล้ว ด้วยยอมรับว่าการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ในอดีตนั้น มีการซ้อนทับพื้นที่อยู่อาศัยทำกินของชุมชนดั้งเดิมในป่าจำนวนมาก ชนิดที่อพยพออกมาจากป่าไม่ไหว (และไม่มีใครยอมมาด้วย)

 

กระนั้นก็ตาม ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับ "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ซึ่งห้ามจัดตั้งป่าชุมชนเข้าไปในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยพื้นที่พิเศษที่ว่านี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าแตกต่างจากพื้นที่อนุรักษ์เฉยๆ อย่างไร มีจำนวนพื้นที่เท่าไร อยู่ตรงไหน แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รับปากว่าจะเร่งสำรวจพื้นที่ดังกล่าวนี้ให้เสร็จภายใน 2 ปีหลังพ.ร.บ.ป่าชุมชนประกาศใช้

 

นี่เป็นเหตุให้ชาวบ้านจากภาคเหนือ ซึ่งมีชุมชนอาศัยอยู่ในป่าจำนวนมาก ต้องรวมพลังการจัดขบวน "ธรรมชาติญาตรา" เดินเท้าจากเชียงใหม่ตั้งแต่ 7 พฤศจิกายน 48 มีกำหนดถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 15 ธันวาคม 48 เพื่อประกาศว่าการรักษาและจัดการป่าอย่างยั่งยืน เป็น "วิถี" ปกติของคนในป่าอยู่แล้ว และพวกเขาไม่ต้องการให้พื้นที่อนุรักษ์พิเศษมาครอบทับ ขับไล่พวกเขาออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดของเขา

 

แต่เรื่องนี้กลับไม่ปรากฏในระบบข่าวสารข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมเท่าใดนัก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  เราจะลองพูดคุยกับ ร.ศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นนักกิจกรรมเก่าเพื่อลองหาคำตอบเรื่องนี้กัน

 

- - - - - - - - - - - -

 

ทำไมเราต้องสนใจเรื่องป่าชุมชน เรื่องนี้สำคัญยังไง

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมันเป็นทางเลือกหรือทางออกในการจัดการทรัพยากรของชาวบ้าน ซึ่งมันหมายถึง ฐานในการดำรงชีวิต ถ้ากฎหมายตัวนี้ถูกแก้ไขเละเทะไป มันจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรรุนแรงขึ้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมาการจัดการทรัพยากรแบบที่มีอยู่มันแก้ไขปัญหาได้น้อยมาก ทั้งในการรักษาทรัพยากรให้ดำรงอยู่ หรือการพูดถึงการมีชีวิตอยู่ของชาวบ้านมันก็ตอบคำถามนี้ไม่ได้เลย มันเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในหลายพื้นที่มากเลย คือ รัฐเลือกจะใช้ทรัพยากรไปตามมุมที่ตัวเองเห็นว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งมันอาจไม่ได้ตอบสนอง หรือเป็นประโยชน์กับชาวบ้านก็ได้

 

แล้วทำไมการเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งของป่าชุมชนถึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสาธารณชน

เรื่องนี้ต้องยอมรับว่ามันค่อนข้างยาวนานพอสมควร จริงๆ มันเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ยาวนานพอสมควร แต่ผมคิดว่าประเด็นหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้เงียบ เพราะทางฝ่ายคนที่สนับสนุนพ.ร.บ.ป่าชุมชน ช่วงหนึ่งใช้วิธีการเข้าไปล็อบบี้ในสภามากกว่า ซึ่งพอไปในแนวนั้นก็ขาดการทำความเข้าใจกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเด็นนี้หลุดออกจากสาธารณะพอสมควร

 

กระบวนการล็อบบี้ในสภาเริ่มจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่

ช่วง 2-3 ปีหลังนี้เอง ผมคิดว่ามันทำงานในเชิงสร้างความรู้ในสังคมน้อยไปนิดหนึ่ง พอมันน้อย แล้วเกิดเรื่องขึ้นปุ๊บ ก็ต้องมาเริ่มต้นคุยกันใหม่

 

มองบทบาทของสื่อมวลชนยังไง

เวลาทำข่าวเรื่องป่าชุมชน มันไม่มีนักการเมืองใหญ่ๆ พูด เวลาจะถามก็ต้องไปถามพ่อหลวง ซึ่งไม่มีชื่อ ไม่มีเสียง ผมคิดว่าสื่อมวลชนไทยยังเคยชินกับการทำข่าวกับคนที่มีสถานะในทางการเมือง มันก็เลยทำให้ชาวบ้านที่พูดกันมาเยอะแล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าไหร่ อันนี้ก็เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะทำให้สื่อกระแสหลักหันมาสนใจเรื่องของท้องถิ่น

 

แต่สื่อเองก็อาจจะรู้สึกตันนะ ประเด็นต่างๆ ก็เสนอไปหมดแล้ว

อันนี้พูดตรงๆ นะ มันเป็นประเด็นเรื่องสื่อไม่มีกึ๋น ผมถามหน่อยที่นักการเมืองมันพูดทุกวันนี้ มันพูดเรื่องใหม่กันหรือเปล่า ผมก็ว่ามันโบราณมาก เชยมาก แต่นักข่าวก็เล่นกันได้ ผมอึดอัดมากคุณทักษิณไม่ให้สัมภาษณ์เพราะว่าดาวพุธเข้า นักข่าวก็เล่นกันได้มากมาย บางเรื่องก็เถียงกันเรื่องเดิมๆ แต่ก็เอาไปพาดหัวได้

 

ประเด็นนี้ถึงจะถูกพูดกันมานานแล้ว แต่เรื่องที่เป็นประเด็นใหม่ กำลังถกเถียงกันอยู่ ผมคิดว่าสื่อเองก็ไม่สนใจ  อย่างประเด็นที่มีการแก้ไขในพ.ร.บ.ป่าชุมชน เรื่องพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ โห อันนี้ประเด็นใหญ่มากเลย สื่อมวลชนให้ความสำคัญประมาณ 3 บรรทัด

 

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นปัญหาของตัวองค์กรเคลื่อนไหวเองด้วย แต่อีกส่วนผมก็คิดว่าเป็นเพราะสื่อเองไม่ตระหนัก เป็นปัญหาการจัดความสำคัญของสื่อ สื่อไทยผมคิดว่าส่วนใหญ่ยังเห็นว่าอะไรออกจากปากนายกฯ มาเป็นข่าวได้หมด แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีสาระ อันนี้แหละตัวอันตราย

 

เป็นเพราะเรื่องป่าชุมชนไม่เป็นที่สนใจของคนชั้นกลาง ซึ่งเป็นผู้บริโภคข่าวที่สำคัญหรือเปล่า

ก็จริง ที่สื่อปัจจุบันมันขายคนชั้นกลาง มันจึงไม่แปลกที่สื่อจะเล่นเรื่องหวือหวา แต่ถามว่ามันไม่มีช่องทางในการสื่อกับชนชั้นกลางเลยหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่จริง ถ้าสื่อที่มีฝีมือผมคิดว่าทำได้

 

เช่น รายการทุ่งแสงตะวัน ในช่วงหลังๆ นี้เขาเล่นเรื่องป่าชุมชนตลอด แล้วเขายังอยู่ได้ในสื่อกระแสหลัก แต่ถามว่าทำแบบเขามันง่ายหรือเปล่า ผมว่าไม่ง่าย มันคือความสามารถของสื่อว่าจะเล่นประเด็นที่มีความสำคัญกับสังคมยังไงให้คนรับได้ ให้คนเรียนรู้ได้ แต่ถ้าเขียนว่าป่าชุมชนดีอย่างนู้นดีอย่างนี้ มันก็จบ สักพักคนก็เบื่อแน่นอน

 

ในแวดวงวิชาการเองก็ดูเงียบๆ อาจารย์ที่ออกมาพูดเรื่องนี้ส่วนใหญ่ก็มาจากม.เชียงใหม่

ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ฐานในการริเริ่มมันมาจากทางเหนือ และอีสานด้วยส่วนหนึ่ง มันจึงไม่น่าแปลก งานวิชาการที่ถูกผลิตขึ้น ก็ผลิตโดยนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนในภาคเหนือและภาคอีสาน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้มันมีฐานความรู้ ฐานของกลุ่มคนที่สนับสนุนเรื่องนี้ ก็เป็นกลุ่มคนจากทางภาคเหนือหรือภาคอีสานเป็นหลัก ภาคใต้อาจจะมีบ้างในช่วงหลังๆ มันเป็นธรรมชาติของประเด็นพวกนี้

 

วิธีการเดินเท้า ธรรมชาติยาตรา แนวทางสันติวิธีที่เรียบร้อยแบบนี้ จะสื่อสารกับสังคมได้มากขนาดไหน

ผมไม่แน่ใจ ไอ้ตัววิธีการที่หยิบขึ้นมานี้ถ้าไม่สามารถผ่านสื่อได้ก็ลำบาก อย่างไอ้การเดินเท้า เดินไป โอเค ส่วนหนึ่งเขาคงคุยกับชาวบ้านตลอดทางระหว่างที่เดินไป แต่ส่วนที่สำคัญคือต้องทำให้ปรากฏตัวบนสื่อให้ได้ อันนี้มันสำคัญไม่น้อยกว่าการสร้างความเข้าใจระหว่างทางที่เดินไป ซึ่งการจะทำให้ปรากฏตัวบนสื่อได้ มันอาจต้องแสวงหาความร่วมมือที่กว้างขวางกว่าตอนเริ่มต้น

 

ผมคิดว่าในช่วงที่เข้าใกล้กรุงเทพฯ น่าจะมีความเปลี่ยนแปลง เห็นว่าจะมีการจัดเวที หรือในแง่ของการดึงคนเข้ามาร่วม ผมคิดว่าถึงจุดหนึ่งน่าจะมีความเคลื่อนไหวคึกคักขึ้น แต่ถ้าเป็นตอนนี้ผมก็เห็นว่ามันเงียบเชียบมาก เงียบจนผมก็ไม่นึกว่ามันจะเงียบขนาดนี้

 

ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่น่าจะทำให้กระจ่างมากขึ้นก็คือ การแก้ไขพ.ร.บ.ในชั้นกรรมาธิการร่วม เรื่องนี้แก้ไปแล้วมันส่งผลกระทบอะไรบ้าง ควรต้องทำให้มันเป็นข้อมูลให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่ค่อยเห็นรายงานข่าว

 

กรณีความขัดแย้งของแนวคิดอนุรักษ์ที่ขัดแย้งกันในสังคมไทย ส่วนที่เชื่อมั่นในศักยภาพชุมชนกับส่วนที่หวงกันป่าอย่างสุดขั้ว ต่างก็มีตัวอย่างชาวบ้านที่อนุรักษ์และทำลาย มีทั้งชุมชนที่เข้มแข็งและอ่อนแอ เราจะอธิบายเงื่อนปมตรงนี้ยังไง

ผมเห็นด้วยว่าชาวบ้านมีทั้งพร้อมและไม่พร้อม ไม่ได้บอกว่าชาวบ้านต้องใสซื่อบริสุทธิ์หมดทุกคน ชาวบ้านที่ไม่มีจารีตประเพณี หรือไม่มีวัฒนธรรมในการรักษาป่าก็มี แต่สิ่งที่รัฐต้องรู้ มันมีเป็นร้อยชุมชนที่ดูแลจัดการป่าได้อย่างดี และขยายตัวได้

 

คำถามคือ เราจะโยนทั้งหมดทิ้งเลยหรือ เราจะโยนศักยภาพของชาวบ้านที่มีทิ้งหมดเลยหรือ ผมคิดว่าคนที่ทำไม่ได้เรื่องก็เพิกถอนไป ไม่ให้สิทธิ์เขาก็ทำได้ อันไหนไม่ดีก็ไม่อนุญาตให้จัดตั้ง หรือถ้าให้ไปแล้วก็เพิกถอน ผมเห็นด้วย

 

เทียบให้ชัดเจน ก็เหมือนเลือกตั้ง คำถามก็คือว่า มีคนขายสิทธิ์ขายเสียงแล้ว ถ้างั้นเลิกระบบเลือกตั้งไปเลยดีกว่าเอาไหม โอเคมันมีคนขายเสียง แล้วเราพยายามสร้างมาตรการอะไรไม่ให้มีการขายเสียง ใครที่ไม่ขายเสียงก็สามารถใช้สิทธิ์ได้ต่อไป

 

ชาวบ้านมีทั้งดี ไม่ดี ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ชาวบ้านที่ดี รักษาและจัดการป่าได้ รัฐควรส่งเสริม ควรสนับสนุน ควรให้สิทธิ ส่วนที่ทำไม่ได้ ตามกฎหมายฉบับที่ชาวบ้านเสนอ ผมคิดว่ามีการวางมาตรการที่ค่อนข้างเข้มงวดพอสมควร

 

ฉะนั้น เรื่องนี้ป่าชุมชน ยังไงผมก็ยืนยันว่ามันไม่ใช่การยกพื้นที่ไปให้ชาวบ้านปู้ยี้ปู้ยำ อันนี้ไม่ใช่แน่ อันที่สอง ผมคิดว่าจริงๆ เวลาเถียงกันเรื่องนี้ ผมอยากจะจูงมือท่านผู้ทรงเกียรติในสภา มาเบิกตาดูความจริงกันดีกว่าว่ามันเป็นยังไง

 

เพราะผมคิดว่าคนที่เป็นส.ว.และปฏิเสธป่าชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ที่จะรับและมีความรู้แบบชนชั้นกลาง ความรู้แบบชนชั้นกลางก็เช่น ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า เขื่อนมีประโยชน์  เพราะฉะนั้น มันต้องจูงมือกันมาดูว่าของจริงเขาทำอะไรกันอยู่ รัฐจะส่งเสริมอะไรได้บ้าง

 

 

เชื่อจริงๆ หรือว่า ชาวบ้านจะรักษาป่าได้ในกระแสบริโภคนิยม

เท่าที่ผมสัมผัสมา ผมคิดว่ามีชาวบ้านจำนวนมากที่มีศักยภาพในทางที่จะดูแลและจัดการพื้นที่ป่า ถ้าอ่านงานวิจัยต่างๆ ก็จะเห็นเวลาเราคิดถึงเรื่องป่า เราจะคิดถึงเงื่อนไขว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะสนับสนุน ไม่ใช่ว่า ชาวบ้านมารวมเป็นชุมชนแล้วจะรักษาป่าได้ แต่มันต้องมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรม หรืออะไรเข้ามากำกับ ซึ่งก็รวมถึงการตรวจสอบข้างนอกด้วย ผมไม่ได้ปฏิเสธการตรวจสอบหรือการกำกับทางสังคม มันไม่ใช่การยกป่าชุมชนให้ชาวบ้านแบบสัมปทาน ซึ่งเรื่องนี้ร่างกฎหมายป่าชุมชนมันมีมาตรการป้องกันทั้งหมดนี้อยู่แล้ว

 

เรื่องสิทธิชุมชนที่รัฐธรรมนูญรองรับ ขณะนี้สถานะของมันเป็นอย่างไร และนักกฎหมายยอมรับหรือยัง

นักกฎหมายยังกล้อมแกล้มกันอยู่ บางส่วนรับ บางส่วนก็ไม่รับ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมมักไม่ค่อยรับ มันอยู่ในรัฐธรรมนูญ เวลานักกฎหมายส่วนใหญ่จะบังคับใช้ ก็จะนึกถึงพระราชบัญญัติมากกว่า มีหลายคดีที่เป็นข้อพิพาทแล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผลปรากฏว่ากระบวนการยุติธรรมปฏิเสธรัฐธรรมนูญ บอกว่าต้องให้มีกฎหมายพระราชบัญญัติมารับรองก่อน ซึ่งในทัศนะผมคิดว่า เป็นการตีความที่ตลกมาก

 

เราจะมั่นใจได้ยังไงว่า กฎหมายป่าชุมชน่จะช่วยกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรให้กับท้องถิ่นได้จริง

มันเป็นทางเลือกอันหนึ่งให้สังคมไทย มันไม่ใช่ทุกคนต้องมาทำป่าชุมชนทั้งหมด แต่มันเป็นทางเลือกให้ชุมชนบางแห่งที่ต้องการดำรงชีวิตรูปแบบนี้ มากกว่าการปรับไปทำเกษตรเชิงพาณิชย์ ซึ่งพบว่าเกษตรรายย่อยส่วนใหญ่มันเจ๊ง

 

มองอนาคต "ป่าชุมชน" ยังไง

ต่อให้กฎหมายนี้ผ่าน หรือไม่ผ่าน หรือมันจะถูกแก้ไขจนยับเยินขนาดไหน ในทางปฏิบัติที่ผมเห็นก็คือ ชาวบ้านก็ยังทำป่าชุมชนกันต่อ หลายที่แม้กฎหมายจะยังไม่ได้ให้อำนาจชาวบ้านก็ทำกัน

 

ฉะนั้น แม้จะแก้กฎหมายไปแล้วไปไล่ชาวบ้านออก ในทางปฏิบัติจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าปัจจุบันมีเป็นล้านครอบครัว

 

คำถามคือ ไล่เขาออกมาแล้วจะเอาเขาไปอยู่ที่ไหน มันไม่มีที่ว่างรองรับเขาได้ รัฐบาลไม่มีปัญญาหาพื้นที่ว่างเปล่าได้ขนาดนั้น ยิ่งถ้าคาดหวังการปฏิรูปที่ดินแล้วด้วยยิ่งไม่มีทาง ประเทศไทยไม่เคยปฏิรูปที่ดินจริงๆ จังๆ ซักที

 

ดังนั้น ผมคิดว่าต่อให้แก้กฎหมาย แล้วบอกว่าชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ได้ ในทางปฏิบัติแล้วคุณก็ไล่เขาออกไม่ได้  ถ้าไล่ก็จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้น โอเค ถ้าโชคดีหน่อยก็ไม่เป็นอย่างภาคใต้ ก็อาจตีหัวชาวบ้านบ้าง

 

เช่น กรณีโครงการ คจก.(โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม) เมื่อ 10 ปีก่อน โครงการจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ ที่พยายามจะผลักดันชาวบ้านออกจากป่าสงวนเสื่อมโทรมที่ภาคอีสาน อันนั้นขนาดแค่ภาคอีสานภาคเดียวยังกลายเป็นข้อขัดแย้งที่รุนแรงระดับชาติ ถ้าเกิดแก้กฎหมายป่าชุมชนนี้ แล้วผลักดันคนทั้งประเทศออกจากป่า ผมคิดว่าอันนี้เรื่องใหญ่แน่

 

การเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มพลังต่างๆ หรือสังคมไทยมีพัฒนาการในแง่ไหนบ้างหรือไม่  

ผมคิดว่าความรู้เรื่องป่าชุมชนมันได้กระจายไปพอสมควร ผมคิดว่าอย่างน้อยแนวคิดของสิทธิชุมชน ป่าชุมชน มันถูกพูดถึง ถูกให้ความหมายมากขึ้นกว่าตอนเริ่มต้น ในแง่ของการรับรู้คนคงรับรู้มากขึ้น แต่ถามว่ามันเป็นฐานที่เข้มแข็งพอหรือยังสำหรับคนชั้นกลาง ความรู้ชุดนี้มันอาจยังไม่เข้มแข็งมากพอ

 

แต่ถ้าเกิดในส่วนของเครือข่ายชาวบ้านที่จัดการป่าชุมชน ผมคิดว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการขยายเครือข่ายเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมาก ในพื้นที่ภาคเหนือนี้เห็นได้ชัดมีการขยายเครือข่ายความร่วมมือได้มาก มันเป็นของจริง ต่อให้ออกกฎหมายมาก็คงไม่สามารถทำให้เครือข่ายพวกนี้แตกได้ง่ายภายในเร็ววัน  

 

คิดอย่างไรกับนโยบายป่าไม้ของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ ยงยุทธ ติยะไพรัช

ผมไม่เห็นโครงการนี้ชัดเจน แต่จากทิศทางและแนวโน้มของรัฐบาลในการจัดการทรัพยากร มันทำเพื่อให้ตอบสนองต่อระบบทุนมากที่สุด เช่น แปลงสินทรัพย์เป็นทุน  เป็นการผลักดันให้ทรัพยากรเข้าไปสู่ระบบตลาด ถ้าบอกว่าเขาสนับสนุนเรื่องป่าชุมชน ผมคิดว่าฐานคิดเรื่องป่าชุมชนมันแตกต่างกับสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ ป่าชุมชนไม่ได้พยายามดันชาวบ้าน หรือทรัพยากรเข้าสู่ระบบตลาด นี่เป็นวิธีคิดความต่างที่สำคัญ

 

ขบวนการป่าชุมชนในแง่การจัดตั้ง การประสานเครือข่ายของชาวบ้าน มันค่อนข้างเข้มแข็งพอสมควร ส่วนอื่นๆ อาจจะรับรู้น้อย แต่ถ้ารัฐอะไรที่กระทบมากมันเป็นความขัดแย้งเกิดขึ้นแน่ๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท