นายกฯลงใต้แก้น้ำท่วมสั่งผู้ว่าฯรายงานกัดเซาะชายฝั่ง

ประชาไท - "นายกฯ" ลงใต้ บัญชาการแก้ปัญหาน้ำท่วม สั่งเจาะวางท่อลอดถนน - ทางรถไฟ ขวางทางน้ำทุกสาย สั่งแบ่งโซนส่งทหารช่วยเหลือผู้ประสบภัย เผย 3 จังหวัดน่าห่วง นครฯ - สุราษฎร์ฯ - ชุมพร "ทักษิณ" สั่งผู้ว่าฯ รายงานด่วนปัญหากัดเซาะชายฝั่ง

 

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางถึงกองบิน 56 จังหวัดสงขลา มีนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้การต้อนรับ

 

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปยังโรงแรมเจบี หาดใหญ่ เพื่อร่วมประชุมและฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจังหวัด ร่วมบรรยายสรุปสถานการณ์ และแนวทางการป้องกันอุทกภัย

 

ในระหว่างการประชุม พ.ต.ท.ทักษิณได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการการอพยพผู้ประสบภัย โดยย้ำว่าจะต้องเตรียมการเรื่องที่พักให้พร้อมและเพียงพอ ในเบื้องต้นให้ใช้งบประมาณ CEO ช่วยบรรเทาไปก่อน โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในจังหวัดสงขลา ที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งทางพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้ทางจังหวัดสงขลารวบรวมปัญหา นำเสนอมายังรัฐบาลต่อไป

 

พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและตั้งใจทำงานกันดีมาก สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา การบริหารและสั่งการเป็นไปอย่างรวดเร็ว ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขอเครื่องสูบน้ำ 10 ตัว เพื่อใช้ระบายน้ำท่วมขัง ในพื้นที่อื่นๆ ยังไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นอำเภอเมืองสงขลา ที่ยังต้องการความช่วยเหลือ เพราะมีผู้ประสบภัยมากถึง 25,000 ครัวเรือน โดยจะแบ่งโซนให้ทหารรับผิดชอบ

 

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวในส่วนของจังหวัดสงขลา จะทำท่อลอดใต้ถนนเพื่อระบายน้ำ ตรงบริเวณถนนเลียบชายหาด ถนนรอบเมือง และถนนที่ขวางทางน้ำทุกสาย รวมทั้งรางรถไฟ สำหรับพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับจังหวัดชุมพร วันที่ 26 พฤศจิกายน 2548 ตนอาจจะเดินทางไปที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรืออาจจะไปดูพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดสงขลา

 

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวก่อนเข้าประชุมรับฟังการบรรยายสรุปว่า จะใช้งบประมาณปี 2544 - 2545 ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างเต็มที่ โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ ส่วนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2548 จะเดินทางไปดูความเสียหายที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ที่มีโคลนถล่มถึง 7 จุด

 

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ล่าสุด ปรากฏว่าที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีน้ำท่วมขัง 7 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสิชล, เมือง, ปากพนัง, ร่อนพิบูลย์, เชียรใหญ่, หัวไทร และกิ่งอำเภอนบพิตำ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 คน รายสุดท้ายเป็นเด็กอายุ 12 ปี จมน้ำเสียชีวิตที่ตำบลบ้านเนิน อำเภอเชียรใหญ่ ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนแล้ว 6 อำเภอ คือ อำเภอลานสกา พระพรหม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง หัวไทร และกิ่งอำเภอนบพิตำ สำหรับพื้นที่มีฝนมากที่สุด คือ อำเภอหัวไทร ปริมาณสูงถึง 120 มิลลิเมตร

 

ล่าสุด มีการอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองกลาย อำเภอท่าศาลา ออกจากพื้นที่ เนื่องจากมีกระแสน้ำป่าไหลหลาก ลงมาจากเทือกเขานครศรีธรรมราช ช่วงเขากรุงชิง เขานัน และเขาไม้ไผ่

 

ส่วนจังหวัดพัทลุง ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในอำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว อำเภอควนขนุน น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ส่วนพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลาน้ำทะเลหนุนท่วมบ้านเรือน ขณะนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 8,000 ครัวเรือน พื้นที่นาข้าวเสียหายกว่า 1 แสนไร่ บ่อเลี้ยงกุ้งจมน้ำ 100 บ่อ กระชังเลี้ยงปลาถูกกระแสน้ำพัดสูญหายประมาณ 50 กระชัง และมีผู้เสียชีวิต 1 คน

 

ขณะนี้ นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้ประกาศให้จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ประสบภัยกรณีฉุกเฉินแล้ว พร้อมกับสั่งเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง และสังปิโรงเรียนในระดับประถม - มัธยม ทั้งจังหวัด

 

สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะนี้ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำตาปี ตั้งแต่อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเวียงสระ อำเภอพระแสง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ได้ทยอยอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ส่วนอำเภอไชยา อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอท่าฉาง และ อำเภอท่าชนะ โรงเรียนหลายแห่งปิดการเรียนการสอนแล้ว ขณะที่อำเภอเกาะสมุย สถานท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด มีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่

ส่วนจังหวัดตรัง นายพงษ์ศักดิ์ กาวรานนท์ นายอำเภอนาโยง ได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมคลองละมอ และพื้นที่ตำบลนาหมื่นศรี ตำบลโคกสะบ้า ให้เฝ้าระวังเหตุการณ์ภัยน้ำท่วม

 

ขณะที่จังหวัดยะลา เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ บางหมู่บ้านถูกตัดขาดจากภายนอก ถนนสายยะลา - เบตงเกิดดินถล่ม และต้นไม้ล้มขวางเส้นทางหลายจุด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี ได้มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำในแม่น้ำเออล้นตลิ่ง เกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลัน โดยนายบุณยสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ ผผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันภัยจังหวัดยะลา ออกสำรวจความเสียหาย และให้การช่วยเหลือเป็นการด่วน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท