อีกครั้งกับปาฐกถา ดร.ธงชัย วินิจจะกูล : ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา

ปาฐกถา ๑๔ ตุลา ประจำปี ๒๕๔๘ ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๘

 

................................................

 

ปรากฎการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ๒ เรื่อง ได้แก่ การตีความพระราชอำนาจทั่วไปของพระมหากษัตริย์ หวังอาศัยพระราชอำนาจเป็นปัจจัยตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล และ ความพยายามของทุนใหญ่ที่จะยึดครองสื่อมวลชน จนสาธารณชนตื่นตระหนกว่าจะเป็นการทำลายเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน หากพิเคราะห์ให้ดี ทั้งสองกรณีมีสาระที่แท้จริงเป็นเรื่องเดิมๆที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า สะท้อนอาการของสภาวะที่ขอเรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลา" เป็นอย่างดี

 

ปรากฏการณ์ทั้งสองสะท้อนสภาวะของประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลาอย่างไร? อะไรคือคุณลักษณะของประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลา?

 

ประเด็นสำคัญของภาคที่หนึ่ง คือ ประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลาเป็นการเมืองแบบมวลชนซึ่งผู้ที่ตักตวงได้ผลประโยชน์สูงสุดได้แก่กลุ่มทุนนานาชนิดที่มากับระบอบรัฐสภา และฝ่ายกษัตริย์นิยมประชาธิปไตยที่มีอิทธิพลสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อนหน้านับจากอวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

จากนั้นในภาคสองของข้อเขียนชิ้นนี้ จะเจาะจงพิจารณาคุณลักษณะสำคัญๆของประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลาที่เติบโตมาในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน รวมทั้ง "ปัญหาปัตตานี" ว่าทดสอบประชาธิปไตยไทยอย่างไร

 

           

ภาคหนึ่ง

๑๔ ตุลากับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

 

วาทกรรม ๑๔ ตุลากับประชาธิปไตยไทย

คนรุ่นหลังที่เติบโตหรือเกิดหลังยุครัฐบาลเปรมจนถึงปัจจุบัน (หมายความว่ายังเด็กอยู่ในเหตุการณ์พฤษภา ๓๕) อาจนึกไม่ค่อยออกว่าการต่อสู้กับเผด็จการทหารตั้งแต่ ๑๔ ตุลาเป็นอย่างไร เพราะตลอดชีวิตทางการเมืองของเขารู้จักแต่การต่อสู้กับนักการเมืองและกลุ่มทุนฉ้อฉล

 

ในทำนองเดียวกัน คนที่เกิดหลัง ๒๔๗๕ (หมายความว่ายังเด็กอยู่ระหว่างปี ๒๔๗๕-๒๔๙๐ หรืออาจเริ่มเข้าใจความซับซ้อนทางการเมืองก็ภายหลัง ๒๔๙๕ ไปแล้ว) ซึ่งหมายถึงคนส่วนมากในสังคมไทยปัจจุบัน อาจนึกไม่ออกหรือไม่เคยรับรู้เลยว่าปัญหาเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมาก่อน และไม่รู้ว่ากลุ่มการเมืองที่เรียกว่าฝ่าย "กษัตริย์นิยม" มีพฤติกรรมทางการเมืองอย่างไร ระหว่าง ๒๔๗๕-๒๔๙๕

 

คนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (หลัง ๒๔๘๗) คงนึกไม่ออกเลยว่าฝ่ายเจ้าและฝ่ายกษัตริย์นิยมเคยลงมาเกลือกกลั้วต่อสู้ทางการเมืองลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนกลุ่มฝ่ายอื่นๆ เช่นทหาร กลุ่ม ส..อีสาน กลุ่มปรีดี กลุ่มทุนท้องถิ่น เป็นต้น ตลอดชีวิตทางการเมืองของเขา รู้จักการต่อสู้กับเผด็จการทหารกับการต่อสู้กับนักการเมืองและกลุ่มทุนฉ้อฉล พระเจ้าอยู่หัวที่เขารู้จักคือองค์ปัจจุบันเท่านั้น เขาคงเรียนรู้จักพระองค์อื่นๆ ก่อนหน้านั้นจากตำราหนังสือในและนอกห้องเรียน และพิธีกรรมต่างๆ ทางสังคม ซึ่งก็เป็นผลผลิตของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมแทบทั้งสิ้น

 

ประชาชนแทบทุกคนในประเทศไทยขณะนี้ไม่รู้จักวิกฤติยุคก่อน ๒๔๗๕ ซึ่งมีความไม่พอใจเจ้าอยู่ทั่วไป ด้วยเห็นว่าอำนาจเจ้าเป็น "ลูกตุ้มถ่วงความเจริญ" ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยของคนรุ่นเราในปัจจุบัน อยู่ภายใต้กรอบประสบการณ์ของคนรุ่นหลังสงครามโลก องค์ความรู้หลักๆ ก็ผลิตโดยปัญญาชนที่มีประสบการณ์ในกรอบนี้เป็นส่วนใหญ่

 

ความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับ ๑๔ ตุลากับประชาธิปไตยไทย หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า วาทกรรม ๑๔ ตุลากับประชาธิปไตยไทยมีสาระสำคัญ ๓ ประการ แต่ละข้อล้วนมีข้อจำกัด จนกลายเป็นประวัติศาสตร์บิดเบี้ยวไป

 

ประการแรก ประชาธิปไตยคือผลของการต่อสู้กับเผด็จการทหาร บ้างขยายความในทางวิชาการว่าคือการต่อสู้กับรัฐราชการที่มีกองทัพเป็นตัวแทน บ้างขยายความออกไปอีกว่าผู้ต่อสู้ได้แก่ พลังนอกระบบราชการ ซึ่งหมายถึงประชาชน กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง (เช่น นักศึกษา) และกลุ่มทุนนานาชนิด

 

ทัศนะเช่นนี้เป็นที่มาของความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยอีกหลายประเด็น เช่น ภาวะที่กองทัพและภาคเอกชนพบกันครึ่งทางช่วงรัฐบาลเปรม จึงเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ ภาวะที่กองทัพไม่เข้ามามีบทบาทครอบงำทางการเมืองอีกต่อไปจึงเรียกว่าประชาธิปไตยเต็มใบ เป็นต้น ประวัติศาสตร์ตามทัศนะนี้จึงถือว่ารัฐบาลทหารย่อมไม่เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ต้องสนใจเงื่อนไขบริบทใดอื่น จึงถือว่าคณะทหารที่ก่อการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และต่อสู้กับฝ่ายเจ้าหลัง ๒๔๗๕ เป็นจุดเริ่มต้นของเผด็จการของไทย ไม่สนใจบริบททางประวัติศาสตร์ว่ารัฐบาลพลเรือนขณะนั้นสนับสนุนฝ่ายเจ้า ต้องการรื้อฟื้นพระราชอำนาจ ในขณะที่ฝ่ายทหารต้องการพิทักษ์การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นต้น

 

แต่ทัศนะที่เป็นสูตรตายตัวนี้ มีอิทธิพลอย่างสูงมานานตั้งแต่ก่อน ๑๔ ตุลามาจนถึงปัจจุบัน ทัศนะนี้สะท้อนยุคสมัยเผด็จการทหารครองอำนาจ โดยเฉพาะยุคสฤษดิ์เป็นต้นมาจนถึงหลัง ๑๔ ตุลาซึ่งยังมีความพยายามของคณะทหารที่จะสถาปนาอำนาจอยู่ แต่กลับทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยบิดเบี้ยว มองเห็นแค่มิติเดียวแง่มุมเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมองไม่เห็นสถานะบทบาทของฝ่ายเจ้าและฝ่ายกษัตริย์นิยมในประวัติประชาธิปไตยไทยซึ่งเป็นประเด็นใหญ่มากนับจาก ๒๔๗๕ จนถึงกลางทศวรรษ ๒๔๙๐

 

ประการที่สอง ประชาธิปไตยคือการต่อสู้กับอำนาจเงินอำนาจทุนที่ฉ้อฉลเอาแต่แสวงหาประโยชน์ใส่ตัวเองภายใต้กรอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

 

๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ เป็นจุดพลิกผันของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยในแง่เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของอำนาจทหารในการเมืองไทย และเป็นเหตุการณ์ที่เปิดประตูต้อนรับให้กลุ่มทุนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบรัฐสภาได้ ตามทัศนะนี้ ปัญหาใหญ่สุดของประชาธิปไตยหลังอำนาจทหารถอยออกไปแล้ว คือนักการเมืองเห็นแก่ตัว คอร์รัปชั่น ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง

 

ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยตามทัศนะนี้จึงถือว่า ต่อให้เป็นรัฐของพลเรือนมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าตักตวงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ย่อมถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย คุณธรรมความซื่อสัตย์กลายเป็นบรรทัดวัดความเป็นประชาธิปไตย ทัศนะต่อประชาธิปไตยแบบนักศีลธรรมแบบนี้สะท้อนยุคสมัยเช่นกัน นั่นคือ มีอิทธิพลสูงใน ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่ระบอบรัฐสภาเริ่มลงหลักปักฐานหลังปี ๒๕๒๑ เป็นต้นมา เปิดโอกาสให้ทุนใหญ่น้อยทั้งระดับชาติและท้องถิ่นมีอำนาจผ่านการเลือกตั้งและรัฐสภา

 

แต่ประชาธิปไตยแบบนักศีลธรรมเช่นนี้ ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยบิดเบี้ยว กล่าวคือ แทนที่จะสนใจความสัมพันธ์ทางอำนาจของพลังการเมืองต่างๆ ในสังคมไทย (เช่น ทหาร สถาบันกษัตริย์ กลุ่มพลังประชาชน นายทุน) ว่าผันแปรเปลี่ยนไปอย่างไร กลับมองเห็นแค่ว่าใครสะอาด ใครสกปรก จนนำไปสู่ข้อสรุปที่แพร่หลายอย่างยิ่งในปัจจุบันว่า นักการเมืองล้วนฉ้อฉล เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัวเอง ส่วนบุคคลหรือกลุ่มการเมืองที่ทำตัวลอยเหนือความสกปรกทางการเมืองได้ จึงเป็นรัฐบุรุษหรือนักประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่

 

ประการที่สาม ดังนั้นประชาธิปไตยหลัง ๑๔ ตุลาตามทัศนะทั้ง ๒ แบบดังกล่าวมา จึงได้แก่การต่อสู้เพื่อสถาปนาระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้งเพื่อรัฐบาลที่สะอาดและมีคุณธรรม

 

เค้าโครง (plot) ของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยชนิดนี้ ตามที่แพร่หลายในหมู่ผู้มีการศึกษาปัญญาชนไทย เป็นเรื่องของความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับของประชาธิปไตยรัฐสภา นับจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทานประชาธิปไตยเมื่อปี ๒๔๗๕ ทว่าถูกเผด็จการทหารช่วงชิงอำนาจนำไป ประชาธิปไตยกลับคืนมาด้วยการลุกขึ้นสู้เมื่อ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และต่อสู้เรื่อยมาจนถึงกรณีนองเลือดพฤษภา ๓๕ จึงยุติเผด็จการทหารได้สำเร็จ แม้ว่าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยจะมีจุดสะดุดอุปสรรคมากมาย รวมทั้งโศกนาฎกรรมเมื่อ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ก็ตาม

 

ทัศนะและเค้าโครงประวัติศาสตร์เช่นนี้เองที่ให้ความหมายแก่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน เพราะเป็นผลพวงของชัยชนะเหนือเผด็จการทหารอย่างเด็ดขาด และยังมีจุดหมายสำคัญอยู่ที่การขจัดขัดขวางนักการเมืองฉ้อฉล ไร้คุณธรรมออกจากระบบรัฐสภา

 

ทัศนะประวัติศาสตร์ประเภทนี้ยังมักให้ความสำคัญแก่บทบาทของสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ภารกิจการสร้างประชาธิปไตยบรรลุผล บทบาทสำคัญที่มักยกมาสนับสนุนความคิดนี้คือ การพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อ ๒๔๗๕ และบทบาทของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ กับเหตุการณ์พฤษภา ๓๕

 

ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยตามทัศนะนี้ มีพัฒนาการควบคู่มากับขบวนการ ๑๔ ตุลา แล้วเติบโตมากับประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลา ที่มองเห็นพัฒนาการของประชาธิปไตยว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้กับเผด็จการทหาร และนักการเมืองไร้คุณธรรมเท่านั้น แต่กลับมองข้ามปัญหาสำคัญที่ครอบงำประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยเกือบตลอด ๗๓ ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ปัญหาว่าด้วยบทบาทของสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจในการเมืองไทย มองไม่เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ พฤษภา ๒๕๓๕ และที่สำคัญคือ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ และ การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นอย่างไร และมีความหมายเกี่ยวข้องอย่างไรกับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยโดยองค์รวม

 

ประวัติศาสตร์ชนิดนี้ยอมรับอย่างสนิทใจและไม่ตั้งคำถามกับความคิดความเชื่อที่ว่าสถาบันกษัตริย์อยู่นอกเหนือระบบการเมืองไทย ไม่เฉลียวใจว่าความคิดความเชื่อเช่นนี้ในตัวมันเองเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองชนิดหนึ่งที่ทรงอิทธิพลครอบงำ จนกระทั่งเรามักแยกบทบาทของสถาบันกษัตริย์ออกจากความเข้าใจต่อการเมืองประชาธิปไตยของไทย

 

ในที่นี้ผู้เขียนขออธิบายประชาธิปไตยไทยเสียใหม่ว่าพัฒนามาท่ามกลางความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลังทางการเมืองต่างๆ ในสังคมไทยอย่างไร ประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลาเป็นประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทยอย่างไร

           

กษัตริย์นิยมในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลัง ๒๔๗๕

"ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันแท้จริง แต่มีลัทธิการปกครองแปลกปลาดแทรกซ่อนอยู่ ลัทธินี้ก็คือ การนิยมกษัตริย์"

 

"ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้เขียนไว้โดยมีความปรารถนาจะเหนี่ยวรั้งพระมหากษัตริย์เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากเกินไป โดยการถวายพระราชอำนาจมากกว่าเดิม… ยังงี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มันเป็นรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์อย่างชัดๆ ทีเดียว"

 

"คณะจ้าวนี่เองเป็นปัญหาใหญ่… พระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญใหม่ฆ่าคนได้โดยมีความผิด"

 

ข้อความทั้งหมดที่อ้างมานี้มาจากการอภิปรายโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่าน ได้แก่ นาย

ชื่น ระวีวรรณ นายฟื้น สุวรรณสาร และนายเลียง ไชยกาล เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๒ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ..๒๔๙๒ นายเลียงยังได้เตือนด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ยุคเข็ญและการปฏิวัตินองเลือดเพราะถวายอำนาจแก่พระมหากษัตริย์มากเกินสมควร ในระยะนั้นมีการอภิปรายทางหน้าหนังสือพิมพ์อย่างเข้มข้นว่าสถานภาพและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ควรมีแค่ไหน โดยเรียกผู้สนับสนุนการขยายพระราชอำนาจว่าเป็นพวก "กษัตริย์นิยม"

 

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเผด็จการทหารของไทยอย่างแท้จริง

 

น่าคิดว่าการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อน ตรงไปตรงมาด้วยถ้อยคำดังยกมาเป็นตัวอย่างจากปี ๒๔๙๒ นี้ สามารถทำได้ในปัจจุบันหรือไม่? แม้แต่ภายในการประชุมรัฐสภาก็เถอะ?

 

คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยปัจจุบันไม่เคยมีประสบการณ์กับภาวะที่แนวความคิดแบบกษัตริย์นิยมเป็นแค่แนวความคิดหนึ่งของกลุ่มการเมืองหนึ่ง ซึ่งมีดีเลว ถูกๆ ผิดๆ และมีผลประโยชน์ทางการเมืองของตน ไม่มีอะไรต่างจากนักการเมืองอื่นๆ จึงถูกวิจารณ์ได้เหมือนนักการเมืองอื่นๆ

 

เราจะถือว่านี่เป็นความก้าวหน้าหรือถอยหลังดี? เกิดอะไรขึ้นในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยนับจากหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐?

 

นักคิดคนสำคัญเกี่ยวกับการเมืองไทยเคยเสนอไว้นานแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ไม่แตกหักกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผลพวงของประวัติศาสตร์แบบนี้ก็คือ การเมืองของกลุ่มประชาชนหรือในประชาสังคม มิได้มีอำนาจหรือมีส่วนร่วมตัดสินใจในนโยบายหรือการเมืองสำคัญใดๆ รัฐหลัง ๒๔๗๕ ยังคงผูกขาดอำนาจไว้กับตน

 

เราอาจกล่าวกลับทางได้ว่า การที่พลังประชาชนยังเติบโตเข้มแข็งไม่พอ ไม่ใช่ฐานพลังของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ไม่แตกหักกับอำนาจรวมศูนย์ไม่ว่าจะของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือรัฐหลัง ๒๔๗๕

 

ตลอดระยะ ๑๕-๒๐ ปีหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ (๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐ หรือ ๒๔๙๕) ปัญหาใจกลางของการเมืองไทยที่สำคัญที่สุด รุนแรงและส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่นๆ มากที่สุด คือ ปัญหาว่าด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายเจ้าหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือการต่อสู้กันว่าพระมหากษัตริย์ควรมีอำนาจแค่ไหน พวกกษัตริย์นิยมพยายามอยู่หลายครั้งที่จะรื้อฟื้นอำนาจของพระมหากษัตริย์ การต่อสู้อย่างดุเดือดในข้อนี้นำไปสู่กบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองราคาแพง มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และต่อมานำไปสู่การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี ๒๔๗๗ หลังจากที่พระองค์ทรงพยายามต่อสู้ต่อรองเพื่อเพิ่มพระราชอำนาจของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่ไม่สำเร็จ

 

ความขัดแย้งรุนแรงในปัญหานี้ยังเป็นเงื่อนไขผลักดันให้ผู้นำทหารอย่างจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมามีบทบาทสำคัญเหนือผู้นำพลเรือน จนกระทั่งอำนาจนำภายในคณะราษฎรตกอยู่ในมือฝ่ายทหารในที่สุดเพื่อปกป้องผลของการปฏิวัติ ๒๔๗๕

 

ฝ่ายเจ้าประสบความพ่ายแพ้ต่อเนื่อง ถึงกับถูกจับกุมคุมขัง ถูกเนรเทศไปอยู่เกาะ หรือต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ นับจากจอมพล ป. ขึ้นมามีอำนาจเต็มตัวในปี ๒๔๘๑ ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรไม่อนุญาตให้พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ไม่ว่าระดับใดมีบทบาททางการเมือง ด้วยบทบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ทรงอยู่ "เหนือ" การเมือง หมายความว่า พ้นไปจาก ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทั่งจะแสดงความเห็นใดๆ ในทางสาธารณะเกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลหรือสภาฯ

 

บทบาทของฝ่ายเจ้าได้รับการรื้อฟื้นโดยปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ช่วงท้ายและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และการต่อสู้กับฝ่ายเจ้าหลังจากนั้น แต่เขาจำเป็นต้องประนีประนอมกับฝ่ายเจ้าช่วงสงครามเพื่อต่อสู้กับอำนาจของจอมพล ป. ขบวนการเสรีไทยแท้ที่จริงแล้วเป็นแนวร่วมหรือพันธมิตรของกลุ่มการเมืองหลายฝ่าย รวมทั้งกลุ่มปรีดี กลุ่มส..อีสาน ทหารเรือ และฝ่ายกษัตริย์นิยมมาร่วมมือกันอย่างหลวมๆ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลจอมพล ป. ฝ่ายกษัตริย์นิยมและพระราชวงศ์หลายพระองค์มีบทบาทสำคัญในเสรีไทยสายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ปรีดีเป็นผู้นำของขบวนการภายในประเทศ

 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เจ้านายทั้งหลายได้รับบรรดาศักดิ์คืน และได้รับอนุญาตให้มีบทบาททางการเมืองได้ (ยกเว้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระโอรสธิดาเท่านั้น) แต่การเมืองช่วงนั้นยังอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มปรีดี ซึ่งมิได้มีการถวายพระราชอำนาจคืนหรือเพิ่มพระราชอำนาจมากไปกว่าหลัง ๒๔๗๕ แต่อย่างใด

 

กำเนิด "กษัตริย์นิยมประชาธิปไตย"

ปี ๒๔๘๘-๒๔๙๔ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของฝ่ายกษัตริย์นิยม กล่าวคือเป็นระยะก่อตัวและสร้างรากฐานให้แก่ "กษัตริย์นิยมประชาธิปไตย" บทบาทของฝ่ายกษัตริย์นิยมในสภาฯมีความโดดเด่น ความสำคัญของเจ้าและสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง ภายใต้การนำของสมเด็จฯกรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสของรัชกาลที่ ๕ พระองค์สุดท้ายที่ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในขณะนั้น พระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลาต่อมา และเป็นผู้นำสำคัญของฝ่ายกษัตริย์นิยมนับจาก ๒๔๗๕ ตราบจนสิ้นพระชนม์ในปี ๒๔๙๔

 

แต่ฝ่ายกษัตริย์นิยมหลังสงครามโลก ไม่มีความมุ่งหมายจะเรียกหาอำนาจของสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป นักการเมืองฝ่ายนี้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์โจมตีระบอบการเมืองก่อน ๒๔๗๕ ด้วยซ้ำไป แต่พวกเขาต้องการแสวงหาบทบาท สถานะ และพระราชอำนาจที่มากขึ้นกว่าที่คณะราษฎรจำกัดไว้ พวกเขาแสวงหาพระราชอำนาจมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ภายใต้ระบอบหลัง ๒๔๗๕ ประเด็นสำคัญๆ มี อาทิ เช่น พระราชอำนาจเลือกและแต่งตั้งวุฒิสมาชิก พระราชอำนาจแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญอื่นๆ เช่น ประธานศาล ฯลฯ พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภาฯ เป็นต้น

 

ฝ่ายกษัตริย์นิยมหลังสงครามจึงเป็นทั้งการเริ่มต้นใหม่ของสถาบันกษัตริย์หลัง ๒๔๗๕ แต่ก็เป็นความต่อเนื่องสืบทอดภารกิจของฝ่ายเจ้าที่พ่ายแพ้ไปสิ้นเชิงก่อนสงคราม ความต่อเนื่องแต่เริ่มใหม่ที่สำคัญ ได้แก่การวางรากฐานทางภูมิปัญญาแก่กษัตริย์นิยมประชาธิปไตย หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบหลัง ๑๔ ตุลา วาทกรรมว่าด้วยพระมหากษัตริย์ที่เริ่มต้นในช่วงนี้ ด้านหนึ่งสืบทอดอุดมการณ์กษัตริย์นิยมแต่เดิม แต่อีกด้านหนึ่งยอมรับสถานะประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้านหนึ่งยืนยันอิทธิพลมหาศาลตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล แต่กลับอยู่นอกเหนือการเมืองการปกครองโดยตรง

 

ในเดือนมีนาคม ๒๔๘๙ สมเด็จฯ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรหรือพระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงแสดงปาฐกถาถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอนุชา (พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน) และสมเด็จพระราชชนนี ต่อมาปาฐกถาดังกล่าวได้รับการปรับปรุงตีพิมพ์เป็นบทความวิชาการภาษาอังกฤษ ในหัวข้อ "Thai Old Siamese Conception of Monarchy" พระนิพนธ์นี้เป็นงานสั้นๆ ทว่ามีความสำคัญอย่างสูง เพราะประมวลรวบยอดความคิดของลัทธิกษัตริย์นิยมขึ้นเป็นทฤษฎีว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในระบบการเมืองหลัง ๒๔๗๕ ที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมปรารถนาจะเห็น เป็นฐานทางภูมิปัญญาของ "วาทกรรมพระราชอำนาจ" ซึ่งมุ่งขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ และเป็นกรอบเค้าโครงสำหรับพัฒนาการของสถาบันกษัตริย์ไทยตลอดระยะ ๖๐ ปีที่ผ่านมา จนทุกวันนี้มีสถานะสูงส่งอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

พระองค์เจ้าธานีฯ เสนอในบทความว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้วมาแต่โบราณกาล คือ พระมนูธรรมศาสตร์ รัฐธรรมนูญอย่างหลัง ๒๔๗๕ เป็น "pure foreign institution" (p.๑๐๑) ภายใต้รัฐธรรมนูญตามประเพณีนี้ พระมหากษัตริย์มิได้ทรงมีพระราชอำนาจล้นฟ้าไร้ขอบเขต แต่พระราชอำนาจกลับต้องอยู่ภายในกรอบของทศพิธราชธรรม และธรรมเนียมอื่นๆ อีกมากมาย นั่นคือต้องทรงเป็นธรรมราชา พระองค์เจ้าธานีฯ วาดภาพประวัติศาสตร์ไทยอันสวยหรูว่า พระมหากษัตริย์ไทยที่ผ่านมาเป็นเสมือนบิดาปกครองบุตรดังตกทอดมาแต่สมัยสุโขทัย มีการแขวน "gong" (ฆ้อง?) รับร้องทุกข์ แม้ต่อมาจะรับอิทธิพลลัทธิเทวราชของเขมร แต่พระมหากษัตริย์ไทยที่เปรียบเสมือนบิดาปกครองบุตรยังคงสืบทอดต่อมาจนถึง ๒๔๗๕ พระองค์เจ้าธานีฯทรงย้ำว่าพระมหากษัตริย์ไทยเป็น The Great Elect อยู่แล้ว คือประชาชนร่วมใจกันเลือกแล้วเทิดทูนขึ้นเป็นเจ้าชีวิตเจ้าแผ่นดินตามคติ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ"

 

นี่คือทฤษฎีของไทยว่าด้วยพระมหากษัตริย์ เป็นจารีตธรรมเนียมที่ไม่เคยมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎีพระมหากษัตริย์เช่นนี้เองที่เป็นฐานของการรื้อฟื้นบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ระหว่าง ๒๔๙๐-๒๔๙๔ และนับจากยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา

 

แม้ปรีดี พนมยงค์จะเป็นผู้เปิดโอกาสแก่ฝ่ายกษัตริย์นิยมให้กลับมามีบทบาททางการเมือง แต่เจ้านายบางพระองค์และฝ่ายกษัตริย์นิยมยังคงขัดข้องเคืองใจกับบทบาทของปรีดีในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ จึงจ้องแก้แค้นปรีดีอย่างเอาการเอางานและอย่างเป็นระบบ กรณีสวรรคตอันน่าเศร้าสลดกลับกลายเป็นโอกาสงามที่กลุ่มนี้ใช้เล่นงานปรีดีจนพ่ายแพ้ ปรีดีต้องประสบความยากลำบากอย่างแสนสาหัสตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตก็ด้วยฝีมือของฝ่ายกษัตริย์นิยมเหล่านี้ ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องราวความเป็นไปของราชสำนักกลับมาเป็นจุดสนใจของสังคมอีกครั้ง

 

รัฐประหารปี ๒๔๙๐ เป็นการปิดฉากคณะราษฎร นักประวัติศาสตร์มักจะให้ความสนใจกับบทบาทของผู้นำรุ่นใหม่ในกองทัพบกอย่างผิน ชุณหะวัณและเผ่า ศรียานนท์ ข้อเท็จจริงก็คือ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างทหารบกกับฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งมีบทบาทมากมายเต็มไปหมดในการรัฐประหารครั้งนี้ อาจจัดได้ว่า ๒๔๙๐-๒๔๙๔ เป็นยุคฟื้นฟูของกษัตริย์นิยม หลักฐานชัดเจนประการหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ ที่โปรเจ้าอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และฉบับแรกที่ระบุว่า ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ และให้อำนาจพระมหากษัตริย์อีกหลายประการ เช่นในการเลือกและแต่งตั้งวุฒิสภา ในการประกาศภาวะฉุกเฉิน และในการอนุมัติเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น

 

นักประวัติศาสตร์ไทยมักเสนอว่าการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นในยุคสฤษดิ์ แต่แท้ที่จริงเริ่มในช่วงนี้เอง กล่าวคือ ในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันยังทรงพำนักอยู่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ผู้สำเร็จราชการฯ และคณะองคมนตรี (เรียกว่า อภิรัฐมนตรี ระหว่าง ๒๔๙๐-๙๒) ได้รื้อฟื้นประเพณีเดิมและริเริ่มประเพณีใหม่ๆ หลายอย่าง

 

พระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งมักกล่าวกันว่าได้รับการรื้อฟื้นในปี ๒๕๐๓ ได้รับการรื้อฟื้นเมื่อ ๖ พ.. ๒๔๙๒

 

ผู้สำเร็จราชการฯ เสด็จถวายปริญญาบัตรแก่นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยรวมทั้งจุฬาฯ ในปี ๒๔๙๒  

 

ตลอดปี ๒๔๙๑-๒๔๙๒ ข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมของราชสำนักได้รับการรายงานสม่ำเสมอ วันจักรี วันปิยมหาราชกลายเป็นพิธีการใหญ่โต เจ้านายหลายพระองค์ที่เสด็จลี้ภัยช่วงรัฐบาลจอมพล ป. เสด็จกลับในช่วงนี้ รวมถึงพระองค์เจ้าบวรเดชในปี ๒๔๙๒ แต่ข่าวใหญ่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ตลอดปี ๒๔๙๑-๙๒ ได้แก่การอัญเชิญพระราชอังคารของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ กลับประเทศไทยพร้อมการเสด็จกลับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มีพระราชพิธีใหญ่โต และคำอธิบายกำเนิดประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมประชาธิปไตย ซึ่งยกคุณความดีให้กับพระองค์ในฐานะผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นในช่วงนี้เอง

 

การรุกคืบขยายอำนาจของฝ่ายกษัตริย์นิยมจึงกลายเป็นหนามยอกอกคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ ในเวลาต่อมา มีความขัดแย้งหลายครั้ง จนในที่สุดคณะทหารจึงก่อการรัฐประหารในปลายปี ๒๔๙๔ ล้มรัฐบาลของตนเองเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ ลดทอนอำนาจของฝ่ายเจ้าลงฉับพลัน การรัฐประหารเกิดขึ้นก่อนการเสด็จนิวัติพระนครของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเพียง ๓ วัน

 

หลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายกษัตริย์นิยมคราวนี้ การฟื้นฟูบทบาทพระราชอำนาจมิได้หวังผลระยะสั้นหรืออาศัยกลวิธีในระบบรัฐสภาอีกต่อไป แต่ทฤษฎีว่าด้วยพระมหากษัตริย์ไทยกลับได้รับการปลูกฝังก่อร่างสร้างตัวอีกครั้งอย่างช้าๆ ทว่ามั่นคงอย่างมาก อาศัยการสร้างสมพระบารมีในหมู่ปัญญาชน และการให้ความหมายใหม่แก่สถานะเหนือการเมือง จนประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖

 

ประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลา หรือระบอบรัฐสภาของกลุ่มทุนโดยมีธรรมราชาอยู่เหนือการเมือง

๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ คือการปฏิวัติครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

 

แต่การปฏิวัติด้วยพลังมหาชน กลับมิได้หมายความว่ากลุ่มฝ่ายอื่นๆ จะไม่ถือโอกาสร่วมตักตวงประโยชน์จากการปฏิวัตินั้น มิหนำซ้ำพลังของมหาชนที่โค่นรัฐบาลทหารสำเร็จเป็นเพียงพลังของการลุกฮือขึ้นชั่วคราวเท่านั้น พลังจัดตั้งที่มีรากลึกในสังคมและมีอำนาจต่อรองยังมิได้เข้มแข็งพอ (ยกเว้น พ...)

 

มีผู้กล่าวมานานแล้วว่า ระบอบรัฐสภาซึ่ง ๑๔ ตุลาช่วยให้ลงหลักปักฐานมั่นคงนั้น กลับเป็นเวทีที่กลุ่มทุนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามาช่วงชิงหาผลประโยชน์ในที่สุด ระหว่าง ๒๐ ปีนับจาก ๒๕๑๖ อำนาจนำของกองทัพเริ่มถดถอยลงทุกที จากที่มีอำนาจโดยตรง กลายเป็นการครอบงำอย่างไม่เป็นทางการ กลายเป็นการค่อยๆ ถอนตัวออกไป แม้กองทัพพยายามจะหวนกลับสู่อำนาจอีกครั้งในปี ๒๕๑๙ และ ๒๕๓๔ แต่กลับจบลงด้วยการลุกฮือของประชาชนต่อต้านอำนาจทหารอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภา ๒๕๓๕ ท่ามกลางการถดถอยของอำนาจทหาร กลุ่มทุนน้อยใหญ่ทั้งระดับชาติและท้องถิ่นต่างเข้ามาแสวงผลประโยชน์ในรัฐสภา

 

การปฏิวัติ ๑๔ ตุลาจึงเป็นการสถาปนาระบบการเมืองที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งอาศัยพลังทุนเพื่อเข้าครอบครองอำนาจ โดยเฉพาะทุนจากท้องถิ่นที่มีฐานอยู่กับชนบทและผลประโยชน์เฉพาะถิ่น เฉพาะภูมิภาค จนกลายเป็นการอาศัยระบบรัฐสภาเพื่อแบ่งสรรอำนาจและทรัพยากรของรัฐเอาไปเป็นประโยชน์แก่ฐานการเมืองของตน สาธารณชนที่มีพลังทางการเมืองได้แก่ชาวกรุง ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน (สื่อชนชั้นกลาง สื่อชาวกรุง) เกลียดชังประชาธิปไตยบ้านนอกของทุนท้องถิ่นยิ่งนัก จึงผลักดันให้เกิดการ "ปฏิรูปการเมือง" อันนำไปสู่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ซึ่งมีจุดหมายชัดเจนแต่แรกเริ่มเพื่อลดอำนาจหรือขจัดทุนท้องถิ่นหรือประชาธิปไตยแบบบ้านนอก และเพื่อพยายามสถาปนาประชาธิปไตยที่สาธารณชนที่มีการศึกษาเชื่อว่าถูกต้องตามแบบฉบับ

 

ผู้เขียนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มิได้ล้มเหลวอย่างที่มักกล่าวกัน ตรงข้าม กลับประสบความสำเร็จในการลดทอนพลังของทุนท้องถิ่นตามต้องการ แต่ผลที่คาดไม่ถึงคือ กลับเปิดโอกาสให้กลายเป็นระบบรัฐสภาภายใต้อำนาจนำเด็ดขาดของทุนขนาดใหญ่ระดับชาติและระดับนานาชาติซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมทางการเมืองต่อการกำหนดนโยบาย การบริหารราชการ และการใช้อำนาจต่างลิบลับกับการเมืองของทุนท้องถิ่น

 

รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ยังประสบความสำเร็จสร้างความมั่นคงแก่อำนาจฝ่ายบริหาร จนอำนาจของทุนใหญ่สามารถยึดครองหรือทำลายอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลโดยรัฐสภาและโดยองค์กรอิสระต่างๆ รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในประการหลังนี้

 

ทัศนะทำนองที่กล่าวมามิได้ผิดพลาดอะไร แต่มองเห็นแค่ซีกเดียวของระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลา นั่นคือเห็นแค่ระบอบรัฐสภาของกลุ่มทุน แต่มองข้ามฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งช่วงชิงประโยชน์จาก ๑๔ ตุลาจนประสบความสำเร็จมหาศาลอย่างไม่เคยได้รับมาก่อน เป็นความสำเร็จเงียบๆ ที่สาธารณชนไม่ทันสังเกตเพราะอาจไม่นึกว่าเป็นการเมือง

 

ปัญหาใจกลางของประชาธิปไตยไทยที่ต่อสู้ขัดแย้งอย่างคอขาดบาดตายระหว่างปี ๒๔๗๕-๒๔๙๕ (๒๐ ปี) จากนั้นลดถอยสงบเสียงลงระหว่างปี ๒๔๙๕-๒๕๑๖ (๒๑ ปี) กลับได้รับคำตอบหรือทางออกรูปธรรมอย่างเงียบๆ นับจากปี ๒๕๑๖ (๓๒ ปีนับถึงขณะนี้) ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ คือความสำเร็จโดยพื้นฐานของการรื้อฟื้นบทบาทของสถาบันกษัตริย์ขึ้นใหม่ในระบบการเมืองไทย แต่เป็นบทบาทใหม่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยมีมาก่อน

 

บทบาทแบบนี้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา นั่นเอง หรืออาจกล่าวได้ว่าพระราชกรณียกิจในวันนั้น และที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันนั้น (หมายถึงการโปรดเกล้าฯ "พระราชทาน" รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ การโปรดเกล้าฯ ริเริ่ม "สภาสนามม้า" อันนำไปสู่องค์กรนิติบัญญัติ ฯลฯ) นิยามบทบาทของพระมหากษัตริย์เหนือการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทยนับจากนั้นจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ คือ รัฐบาลแรกของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" แม้ว่ารัฐบาลนี้จะอ่อนแอเกินกว่าจะวางรากฐานของระบอบนี้อย่างมั่นคงทันที และต้องผ่านความระหกระเหินอีกหลายปีกว่าจะวางรากฐานของระบบนี้อย่างมั่นคงก็ตาม

 

ระยะที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้รัฐบาลเปรมเพราะเป็นการต่อรองอำนาจกันระหว่างกองทัพกับพลังนอกระบบราชการ (กลุ่มทุนและนักการเมืองในสภาและภาคเอกชนนอกสภา เป็นต้น) ในระยะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบบการเมืองกลับสถาปนาลงตัวเรียบร้อย

 

ประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลาจึงไม่ใช่แค่การต่อสู้ของประชาชนกับเผด็จการทหาร และไม่ใช่แค่การต่อสู้กับทุนท้องถิ่นทุนระดับชาติที่หนุนนักการเมืองฉ้อฉล แต่ขณะนี้ (หลังทหารหมดบทบาท) เป็นระบบการเมืองแบบ ๓ ส่วน ได้แก่ มวลชน ทุนและนักการเมือง และฝ่ายกษัตริย์นิยม

 

ความหมายของสถานะเหนือการเมือง เปลี่ยนจากการถูกกีดกันออกไปให้เลยพ้นการเมือง กลายเป็นความสูงส่งเหนือกว่าการเมืองฉ้อฉลสกปรกทั่วไป

 

ธรรมราชาเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมทางการเมืองและพระราชอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือบารมีมาแต่โบราณ เป็นอุดมคติดั้งเดิมของสังคมการเมืองพุทธเถรวาทที่ถือว่าพระราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรม ย่อมสั่งสมพระราชอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือบารมี อันจะส่งผลโดยปริยายให้ระเบียบโลก (สังคม) ของชาวพุทธอยู่เย็นเป็นสุข ธรรมราชาตามทฤษฎีกษัตริย์นิยมประชาธิปไตย อยู่บนพื้นฐานปรัชญาการเมืองของพุทธเถรวาทดังกล่าว แต่ปรับแปรให้สอดคล้องกับยุคสมัย ออกมาเป็นโครงการและพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งเน้นการเอาใจใส่ทุกข์สุขของมหาชน แต่พระราชกรณียกิจทั้งหลาย กลับมิได้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทาง "การเมือง" ตามที่เข้าใจกันทั่วไป เพราะพระองค์ทรงอยู่ "เหนือการเมือง" เพราะ "การเมือง" ในความเข้าใจทั่วๆ ไปหมายถึง การต่อสู้เพื่อเข้าครอบครองรัฐบาล และรัฐสภา ธรรมราชายุคประชาธิปไตยหรือกษัตริย์นิยมประชาธิปไตยอยู่เหนือการเมืองในความหมายแคบเช่นนี้

 

แต่ถ้าหาก "การเมือง" หมายถึงสัมพันธภาพทางอำนาจ (power relations) ระหว่างกลุ่มฝ่ายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐ สถานะ "เหนือการเมือง" ย่อมจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในระบบการเมืองของไทย กล่าวคือมีปริมณฑล "การเมือง" (การต่อสู้เพื่อเข้าครอบครองรัฐบาลและรัฐสภา) อยู่ข้างล่าง และมีปริมณฑล "เหนือการเมือง" อยู่ข้างบนในระบบเดียวกัน ภายใต้ระบบเดียวกันนี้ ธรรมราชาเหนือการเมืองย่อมทรงพระบารมีวิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับนักการเมืองซึ่งทำได้อย่างเก่งก็แค่มีอำนาจอันสกปรกฉ้อฉล

 

อย่างไรก็ดี ตลอด ๓๐ ปีหลัง ๑๔ ตุลา ทั้งกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์และนักการเมือง และฝ่ายกษัตริย์นิยมต่างตระหนักดีว่า ประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลาเป็นการเมืองของมวลชน หมายความว่า ทุกฝ่ายที่พยายามครองอำนาจต้องสั่งสมความสนับสนุนจากประชาชนด้วย ทุกฝ่ายต้องเป็น "ประชานิยม" เพียงแต่เป็นคนละชนิด มีวิธีการ พิธีกรรมคนละชุดในการสร้างความสนับสนุนจากประชาชน แม้พรรคไทยรักไทยจะได้รับชัยชนะท่วมท้นในการเลือกตั้ง ๒ ครั้ง แต่ความนิยมที่ประชาชนมอบให้แก่ผู้นำทางการเมืองเป็นความนิยมคนละชนิดคนละเรื่องกับกระแสนิยมเจ้า

 

แนวโน้มที่โดดเด่นมากของประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลาก็คือกระแสกษัตริย์นิยมสูงขึ้นถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในระบอบการเมืองประชาธิปไตยกลับถดถอยลง เหตุสำคัญคือ นักการเมืองและผู้มีอำนาจบ่อนทำลายตัวเองด้วยความไร้ประสิทธิภาพ ทุจริตคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลไม่เป็นธรรม กลายเป็นว่ายิ่งระบบการเมืองหมดความน่าเคารพเชื่อถือลงเท่าไร ความศรัทธาต่อสถาบันเหนือการเมืองยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น จนเกิดวาทกรรมที่จัดวางพระราชอำนาจหรือบารมี กับอำนาจของนักการเมืองเป็น ๒ ขั้วตรงข้ามกัน ฝ่ายแรกวิเศษสูงสุด ฝ่ายหลังชั่วสุดขีด

 

ความเชื่อมั่นกับระบอบการเมืองประชาธิปไตยตกต่ำถึงขนาดบางคนเห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นยูโทเปียของพวกตามก้นฝรั่ง ในขณะที่พระบารมีเป็นของแท้ของไทยที่ไม่เคยบกพร่องผิดพลาด นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ตกอยู่ใต้อุดมการณ์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม หรือทฤษฎีที่พระองค์เจ้าธานีฯ วางรากฐานให้ และเป็นความทรงจำขาดๆ เกินๆ ตัวอย่างของส่วนที่ขาดได้แก่ กษัตริย์นิยมในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ๒๔๗๕-๒๔๙๔ ดังเสนอข้างต้น และ บทบาทของฝ่ายกษัตริย์นิยมในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นต้น

 

แม้ว่า ๑๔ ตุลา คือการปฏิวัติของประชาชน และประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลาเป็นการเมืองของมวลชน แต่ทั้งฝ่ายนิยมอำนาจและฝ่ายนิยมบารมีต่างไม่เห็นความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชน ไม่ต้องการ "สังคมเข้มแข็ง" เอาเข้าจริง ทั้งสองฝ่ายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนมาด้วยกันทั้งนั้น เพราะต่างไม่ไว้ใจประชาชน กลัวการรวมตัวจัดตั้งของประชาชน หรือถึงขนาดเห็นประชาชนเป็นภัยคุกคาม

 

ภาคสอง

วัฒนธรรมประชาธิปไตยของไทย

 

จากประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่กล่าวมาในตอนก่อน มีประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยของไทย ๖ ประเด็นใหญ่ที่ขอนำมาอภิปรายในที่นี้

 

. อำนาจของรัฐในวัฒนธรรมประชาธิปไตยของไทย

.๑ ธรรมชาติของอำนาจ: ฉ้อฉลหรือเป็นธรรม

 

คำกล่าวที่ว่า "อำนาจเป็นสิ่งฉ้อฉล อำนาจสมบูรณ์ย่อมฉ้อฉลอย่างสมบูรณ์" (Power corrupts. Absolute power corrupts absolutely.) มีกำเนิดจากวัฒนธรรมการเมืองสมัยใหม่ของโลกตะวันตกซึ่งประชาชนไม่ไว้ใจอำนาจของรัฐ สำหรับสังคมไทย ปัญญาชนและผู้ตื่นตัวทางการเมืองจนไม่ไว้ใจอำนาจอาจเห็นด้วยกับคำกล่าวเช่นนั้น

 

แต่ในวัฒนธรรมการเมืองของไทยแต่เดิมมาถือว่า อำนาจกับบุญบารมีเป็นของคู่กัน มีอำนาจได้แสดงว่าต้องมีบุญมากพอ สิ้นบุญก็สิ้นอำนาจ อำนาจที่มากับบุญจึงเป็นอำนาจที่เป็นธรรมตามธรรมชาติ อำนาจสูงสุด คือ พระบารมีของจักรพรรดิราชหรือธรรมราชา พ่อขุนจึงเป็นตัวแบบอุดมคติของอำนาจที่เต็มไปด้วยความกรุณา อำนาจตามคติไทยจึงไม่ฉ้อฉล จนกว่าผู้ทรงอำนาจนั้นจะเสื่อมถอยไร้คุณธรรม เขาก็จะหมดอำนาจลงไป ความคิดต่อพระราชอำนาจพระบารมีในปัจจุบันมีมูลฐานจากวัฒนธรรมอำนาจเช่นนี้

 

การตีความประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมว่า การปฏิรูประบบราชการสมัยรัชกาลที่ ๕ มาจากความริเริ่มของพระองค์เองโดยไม่ต้องมีราษฎรเรียกร้องต่อสู้ เพราะเห็นแก่ความสุขความเจริญของราษฎร หรือประวัติศาสตร์ที่ว่าประชาธิปไตยมาจากการพระราชทานโดยรัชกาลที่ ๗ เหล่านี้ล้วนตอกย้ำความเชื่อว่า โดยปกติแล้วอำนาจเป็นธรรมไม่ใช่ฉ้อฉล อำนาจฉ้อฉลเป็นเรื่องของความเสื่อมถอย กลับกลาย หรือผิดปกติ

 

แต่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทย ไม่เคยเกิดการแตกหักกับอำนาจตามประเพณี ไม่ว่าจะเน้นว่าเกิดจากการพระราชทานหรือเน้นว่าเกิดจากการปฏิวัติของกองทัพและปัญญาชนในระบบราชการก็ตาม ไม่ได้เกิดจากพลังทางสังคมจัดตั้งกันเพื่อขุดรากถอนโคนสังคมเก่า วัฒนธรรมการเมืองที่สืบทอดกันมาในระบอบประชาธิปไตยของไทย จึงได้แก่ ความเชื่อมั่นในอาญาสิทธิ์ของรัฐ เชื่อไว้ก่อนว่าผู้มีอำนาจรู้ดี มีความชอบธรรมกว่าราษฎร แม้ว่าอำนาจทางการเมืองจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แบบเดิมอีกต่อไป แต่วัฒนธรรมอำนาจของไทยยังคงเอื้ออำนวยต่อผู้นำเข้มแข็ง จอมเผด็จการ คุณพ่อรู้ดี และการใช้อำนาจแบบสั่งการ บนลงล่าง ผู้นำแบบซีอีโออาจมีที่มาจากธุรกิจ แต่สามารถเข้ากันได้พอดีกับวัฒนธรรมอำนาจแบบไทย

วัฒนธรรมการเมืองที่สำคัญของไทย จึงได้แก่การแสวงหาผู้นำที่มีคุณธรรม ถือว่าศีลธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณสมบัติสำคัญเหนือคุณสมบัติอื่นๆ การต่อต้านอำนาจจึงเพ่งเล็งที่คุณธรรมของผู้มีอำนาจ เน้นความซื่อสัตย์จริงใจ หรือความเสื่อมถอยทางคุณธรรมในลักษณะต่างๆ

 

ผู้นำอย่างพลเอกเปรมจึงเป็นตัวแบบตามอุดมคติในวัฒนธรรมอำนาจแบบนี้

 

.๒ อำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง

ความไม่แตกหักหรือการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยโดยไม่มีการปะทะขุดรากถอนโคนระบอบเก่า ยังส่งผลสืบทอดโครงสร้างอำนาจที่กระจุกอยู่ที่ศูนย์กลาง

 

การต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญหมายถึงการช่วงชิงอำนาจรัฐส่วนกลาง การแบ่งสรรอำนาจในหมู่ผู้นำ การเมืองระดับท้องถิ่นและการเมืองในปริมณฑลอื่นจึงด้อยความสำคัญลงไป รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ เพิ่มความสำคัญของท้องถิ่นและอำนาจขององค์กรตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล น่าเสียดายที่อำนาจเหล่านี้ถูกแทรกแซงบ่อนทำลายตั้งแต่ยังไม่เติบโต แล้วกลับไปเน้นอำนาจศูนย์กลาง บนลงล่าง ภายใต้การนำของผู้นำรู้ดี อย่างที่เคยเป็นมาตลอด

 

แม้แต่วาทกรรมการกระจายอำนาจของไทย ก็หมายถึง การที่ส่วนกลางยอมลดอำนาจของตน แจกจ่ายอำนาจการตัดสินใจออกไปให้แก่ท้องถิ่น แต่กลับมิได้หมายถึงอำนาจอันเกิดก่อขึ้นด้วยการรวมตัวจัดตั้งของประชาชน ทั้งท้องถิ่น ชุมชนหรือในกลุ่มคนเฉพาะด้านเช่น วิชาชีพ องค์กร และหน่วยงานต่างๆ เพื่อปกครองดูแลในขอบข่ายของตน ซึ่งเป็นอำนาจที่ส่วนต่างๆ ในสังคมพึงมีโดยอำนาจรัฐส่วนกลางละเมิดมิได้       ประชาธิปไตยฉบับวัฒนธรรมไทยสืบทอดมรดกวัฒนธรรมอำนาจรัฐแบบยอมรับอาญาสิทธิ์ของศูนย์กลาง เป็นประชาธิปไตยที่เอื้ออำนวยต่ออำนาจนิยม (ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร ซีอีโอเหลิงอำนาจ หรือกษัตริย์นิยม ก็ตาม) การสร้างอำนาจใหม่ๆโดยประชาชนเพื่อปกครองดูแลตนเองซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยกลับถูกรัฐสงสัย ไม่ไว้ใจ หรือถึงกับบ่อนทำลาย

 

ปัญหามีอยู่ว่า วัฒนธรรมอำนาจแบบนี้ไม่สอดคล้องกับสังคมที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้นทุกที และอาจเป็นปัจจัยทำลายศักยภาพความสามารถในการปรับตัวของสังคมไทยสมัยใหม่ด้วย

 

. ประชาชนคืออะไรในวัฒนธรรมประชาธิปไตยไทย

.๑ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนแบบเอื้ออาทร

 

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจึงยังอยู่ในกรอบเดิมๆ ได้แก่ ทำนุบำรุงสุขหรือเอื้ออาทร นั่นคือรัฐจะบันดาลความสุขความเจริญให้ ขจัดปัดเป่าปัญหาให้ ประชาชนในวัฒนธรรมประชาธิปไตยไทยก็อยู่ในกรอบเดียวกัน คือฝากความหวังให้รัฐรับผิดชอบแม้แต่ในเรื่องที่เราไม่ควรให้รัฐมายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของเรา ไม่สนใจสร้างพลังอำนาจเพื่อจัดการชีวิตของตนเองในระดับ/ด้านที่รัฐไม่ควรมายุ่ง รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยไทยจึงไม่คิดจะถอยลงไปเป็นผู้สนับสนุนอำนวยความสะดวกแก่การใช้อำนาจของประชาชนหรือเป็นผู้คุมกฎ

 

รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จึงไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในแง่การสนับสนุนให้ประชาชนมีอำนาจ เช่น เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจรัฐศูนย์กลาง กิจกรรมทางการเมืองก็เป็นเรื่องนี้ คือ ไม่ใช่เรื่องการสร้างอำนาจของประชาชนระดับล่าง รัฐธรรมนูญบางฉบับรวมทั้งฉบับ ๒๕๔๐ พยายามสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจเพื่อขจัดการฉ้อฉลอำนาจของรัฐ แต่หลักการสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนยังคงมีความสำคัญในระดับหลักการเท่านั้น ยังคงถูกปล่อยปละละเลย เห็นเป็นเรื่องรอง มิได้มีสถาบันที่มีอำนาจเพื่อปกป้องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ความสัมพันธ์กับประชาชนยังอยู่ในกรอบของการปกครองควบคุมประชาชนภายใต้อำนาจของรัฐ มิใช่การส่งเสริมให้เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเป็นช่องทางเสริมสร้างอำนาจของประชาชน แม้แต่ผู้นำทางด้านสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนก็ยังคงมีภารกิจเป็นเชิงรับคือการปกป้องป้องกันการละเมิด ไม่มีเงื่อนไขหรือโอกาสอาศัยหลักการเหล่านี้ในเชิงรุก คือเป็นฐานแก่การสร้างอำนาจของประชาชน

 

.๒ ประชาธิปไตยแบบไม่ไว้ใจประชาชน จัดการความขัดแย้งกับประชาชนไม่เป็น

แม้การลุกฮือของประชาชนเมื่อ ๑๔ ตุลา ๑๖ ก่อให้เกิดการเมืองแบบมวลชน จนเป็นปัจจัยหนึ่งใน ๓ ส่วนของประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลา แต่วัฒนธรรมการเมืองของไทยไม่ไว้ใจ และไม่สนับสนุนให้ประชาชนเติบโตจัดตั้งก่อตัวเป็นพลังทางสังคมที่สามารถมีอำนาจจัดการดูแลตนเอง

 

มวลชนในประชาธิปไตยของไทยคือ ราษฎรปัจเจกภาพ ต่างคนต่างอยู่ แต่ใส่ใจปฏิบัติตามการนำของรัฐ ร่วมมือในกิจกรรมที่รัฐปรารถนา การใช้อำนาจของประชาชนหมายถึงขณะที่หย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น หลังจากนั้นมักถือว่าประชาชนได้มอบหมายอำนาจสิทธิ์ขาดให้กับผู้แทนในสภาฯ และให้กับรัฐบาลไป โดยมวลชนไม่ควรไปก่อความวุ่นวายกวนใจรัฐอีก จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป

 

ในเมื่อไม่ไว้ใจว่าประชาชนมีความสามารถจัดตั้งกันเอง สงสัยและเชื่อเป็นตุเป็นตะว่าต้องมีมือที่สาม (หมายถึงคนนอกที่ประสงค์ร้าย) ยุยงชาวบ้านให้กระด้างกระเดื่อง คิดเช่นนี้จึงไม่สนใจรับฟังประชาชนจริงจัง บวกกับวัฒนธรรมการใช้อำนาจแบบบนลงล่าง จึงไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่เชื่อมั่นและไม่มองในแง่ดีว่า ประชาชนเป็นเจ้าของและมีอำนาจในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ โดยรัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุนตามจำเป็น

 

หากเป็นการต่อสู้ที่บานปลายคือมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก รัฐมักใช้วิธีควานหา "ตัวการ" หวังจัดการกับตัวการดังกล่าวเพื่อให้ "ฝูงชนที่ไม่รู้เรื่องราวอะไร"สลายตัวไปเอง หากความขัดแย้งบานปลาย รัฐจึงมักใช้อาญาสิทธิ์ของตนก่อความรุนแรงโดยสาธารณชนไม่ค่อยปฏิเสธ

           

.๓ ประชาชนไม่ใช่แหล่งอ้างอิงของความยุติธรรม ความชอบธรรมทางการเมืองหรือการถ่วงดุลอำนาจ

แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ในประชาธิปไตยฉบับวัฒนธรรมไทยนั้น แหล่งที่มาของความชอบธรรมและตัดสินความยุติธรรมในท้ายที่สุดกลับไม่ใช่ประชาชน แต่กลับเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์

 

กล่าวคือ แม้ว่าการเลือกตั้งจากประชาชนจะเป็นกระบวนการคัดเลือกผู้เข้าครองอำนาจรัฐบาล แต่ทันทีที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง รัฐบาลหลัง ๑๔ ตุลา เป็นต้นมาต่างตอกย้ำความสำคัญของพระบรมราชโองการราวกับว่าเป็นรัฐบาลพระราชทาน การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และแม้แต่องค์กรการเมืองอิสระ มักตอกย้ำความภาคภูมิใจที่ได้รับพระบรมราชโองการทั้งนั้น รวมทั้งกรณีขัดแย้งอื้อฉาวที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ล้วนแต่ตอกย้ำความสำคัญและอำนาจสูงกว่าของพระราชอำนาจ ไม่ใช่เพียงแค่การละเมิดระเบียบปฏิบัติอันเหมาะสม (protocol)

 

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่ใช่แค่ตำหนิรัฐบาลว่าบกพร่องในแง่ระเบียบวิธีปฏิบัติ แต่กลับชวนให้สาธารณชนเข้าใจว่าพระราชอำนาจมีความสำคัญกว่า เป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมและแหล่งตัดสินความยุติธรรมสูงสุดเหนือกว่าอำนาจของรัฐสภาซึ่งมาจากประชาชน

 

ผู้เขียนไม่ใช่ผู้สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ ทั้งได้เขียนและพูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนี้ในหลายๆแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดล้มเหลวแต่ยังอวดดีกับนโยบายผิดๆ วิธีการผิดๆ ในการแก้วิกฤติในภาคใต้ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าในวัฒนธรรมการเมืองของระบอบประชาธิปไตยไทยนั้น ประชาชนยังไม่ใช่เจ้าของสุงสุดของอำนาจอธิปไตยตามหลักการในกฎหมาย

 

. ว่าด้วยความสามัคคีด้วยการกดปราบความแตกต่างหลากหลาย

.๑ ความสามัคคีแบบเดินตามอำนาจ

 

ระบบประชาธิปไตยไทยนับจาก ๒๔๗๕ เป็นระบบที่ต้องการระดมประชาชนสนับสนุน แต่นั่นคือบทบาทเดียวของประชาชนในระบบนี้ คือเป็นผู้สนับสนุนอำนาจของรัฐ ประชาชนที่รัฐปรารถนาได้แก่ ประชาชนที่เชื่อผู้นำ คิดคล้ายๆ กันในกรอบที่ทางราชการจัดวางให้

 

ในเมื่อประชาธิปไตยมิได้เกิดจากพลังหลากหลายในสังคมเข้าหักล้างสังคมเก่า ความแตกต่างอันเกิดจากพลังหลากหลายในสังคมจึงกลับกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอำนาจ ความคิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการบริหารประเทศ ความคิดเห็นต่างที่มุ่งหมายก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เป็นความหลงผิดที่ต้องแก้ไข หรือเป็นอันตรายที่ต้องกำจัด

 

ความต่างต้องถูกกลืน ทำให้สงบ หรือถูกกำจัดอย่างรุนแรง

 

วัฒนธรรมไทยเรียกการเห็นคล้อยตามกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของผู้มีอำนาจว่า ความสามัคคี ซ้ำเห็นว่าการแสดงความเห็นมากเกินไปเป็นวัฒนธรรมฝรั่ง โดยลืมไปว่า "ความสามัคคี" ของราษฎรภายใต้การนำของรัฐเพิ่งเกิดขึ้นอย่างเก่าที่สุดเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ นี่เอง พอๆ กับหรืออาจหลังจากการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพของปัญญาชนไทยในยุคเดียวกัน ทว่า "ความสามัคคี" พรรค์นี้มีที่มาผูกพันกับวัฒนธรรมอำนาจรัฐดังกล่าวมาแล้ว ในขณะที่รากเหง้าของหลักสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยง่อนแง่นเต็มที ประชาธิปไตยของไทยจึงเป็นระบบการเมืองที่ประชาชนเชื่อง ผู้มีอำนาจกลับสามารถอ้างอิงประชาชนที่กระจัดกระจายไร้พลังต่อรอง เพื่อทำลายความแตกต่างอันเกิดจากประชาชนที่มีการจัดตั้ง

 

ความมุ่งมั่นต่อหลักการสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนจึงอ่อนแอมากในประชาธิปไตยไทย รัฐสามารถปฏิเสธ หลบเลี่ยง เฉยเมยได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องรับผลกระทบใดๆ แม้ว่ากระแสสิทธิเสรีภาพนับจาก ๑๔ ตุลาจะมีผลเปลี่ยนแปลงข้อนี้ในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก แต่หนทางยังอีกยาวไกล กว่าที่วัฒนธรรมการเมืองไทยจะเห็นคุณค่าของเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน

 

.๒ วัฒนธรรมปิดกั้นความคิด

วัฒนธรรมทางการเมืองที่เน้นความสามัคคีตามผู้มีอำนาจ ได้รับการค้ำจุนด้วยกลไกและวัฒนธรรมสำคัญอีกอย่างคือ censorship

 

การตรวจสอบปิดกั้นการแสดงออก (censorship) มิใช่แค่เรื่องของกลไกรัฐกระทำต่อประชาชน แต่มีอยู่ในแทบทุกวงการทุกระดับของสังคม ตั้งแต่กลไกรัฐ เช่น ตำรวจและกิจการสื่อมวลชน ในระบบการศึกษา ในภาคเอกชน แม้กระทั่งวงการสื่อสารมวลชน และมีอยู่ในแวดวงภาคประชาชนด้วยเช่นกัน

 

Censorship ที่สำคัญที่สุดกลับมิใช่การกระทำของรัฐต่อประชาชนจนเป็นกรณีอื้อฉาวโด่งดัง แต่คือการตรวจสอบปิดกั้นการแสดงออกที่กระทำกันเองในหมู่ประชาชน หรือเราท่านกระทำต่อตัวเอง ปัญญาชนและผู้มีอาชีพอยู่กับการสื่อสารทั้งหลาย ต้องเรียนรู้ที่จะปิดปากตัวเอง เลียบเลาะกับขอบเขตของการเมืองและกฎหมายอันไม่เป็นธรรม จนกระทั่งการปิดกั้นความคิดและการแสดงออกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติประจำวัน กลายเป็นวัฒนธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของกลไกรัฐอีกต่อไป

 

ในภาวะที่ผู้เรียกร้องให้เด็กไทยกล้าคิดกล้าแสดงออก กลับมีวัฒนธรรมปิดกั้นการแสดงออกอยู่ทุกอณูของสังคม บางท่านอาจกล่าวว่าการแสดงออกต้องมีขอบเขต แต่เราไม่ตระหนักว่าวัฒนธรรมปิดกั้นความคิดแทรกซึมทำลายความคิดสร้างสรรค์เพียงใด นอกจากนั้นเรายังดูหมิ่นสังคมและตัวเราเองไปหน่อยว่าจะเกิดความวุ่นวายปั่นป่วนง่ายๆ เพียงเพราะความคิดเห็นที่แปลกแตกต่างจากทัศนะมาตรฐาน

 

.๓ สิทธิของเสียงข้างน้อย

วัฒนธรรมความสามัคคีแบบเบ็ดเสร็จและการปิดกั้นความคิดอิสระ ประกอบกันขึ้นเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประชาธิปไตย คือเห็นว่าเสียงข้างมากย่อมถูกต้องมีอำนาจชอบธรรมที่จะทำลายเสียงข้างน้อยได้

 

ไม่มีพรรคการเมืองใดในประเทศประชาธิปไตยที่ให้อำนาจพรรคควบคุมการแสดงความคิดเห็นและการลงคะแนนของสมาชิกพรรคได้อย่างเด็ดขาดขนาดพรรคการเมืองไทย

 

เรื่องนี้เป็นแค่ภาพสะท้อนวิธีการที่รัฐและสังคมไทยใช้ตอบโต้ลงโทษ ดูถูก ทำลายเสียงข้างน้อยในสังคม ไม่มีความเคารพให้เกียรติรับฟังเสียงข้างน้อย ไม่มีความเข้าใจว่าเสียงข้างน้อยชี้ให้เห็นแง่มุมตรงข้ามที่เสียงข้างมากมักมองข้าม ดังนั้นแม้คนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย แต่อาจเป็นประโยชน์ในแง่ชี้ให้เห็นข้อจำกัดหรือผลอันไม่พึงประสงค์ของเสียงข้างมาก

 

ไม่มีความเข้าใจแม้แต่น้อยว่า เสียงข้างน้อยอาจกลายเป็นทางเลือกสำหรับอนาคต เพราะความเห็นที่ต่างกันอาจมีส่วนถูกต้องทั้งนั้น แต่ในระยะเวลาเงื่อนไขที่ต่างกันเท่านั้นเอง

 

ไม่มีความระมัดระวังแม้แต่น้อยว่า เสียงข้างมากอาจพากันเดินผิดทางก็ได้

 

ประชาธิปไตยที่ไม่เคารพเสียงข้างน้อย เรียกอีกอย่างว่าทรราชย์ของเสียงข้างมาก (tyranny of the majority)

 

. ความไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย (จากทัศนะจารีตนิยม)

.๑ ประชาธิปไตยไม่ใช่ "ของไทย"

 

มักมีผู้เสนอว่า รัฐธรรมนูญเป็นของฝรั่ง จึงผิดฝาผิดตัวไม่เข้ากับสังคมไทย ปัญหาสำคัญมิได้อยู่ตรงที่ว่าประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ หรือหลักการเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเป็นของนำเข้าจากฝรั่งหรือเป็นของไทยดั้งเดิม เพราะสังคมไทยเลือกรับดัดแปลงหรือปฏิเสธความคิดจากภายนอกตลอดประวัติศาสตร์ทั้งจาก แขก จีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง ตามแต่ความจำเป็นสอดคล้องกับสังคมไทย

 

พระมหากษัตริย์แต่โบราณยึดถือพระมนูธรรมศาสตร์ อรรถศาสตร์ ทศพิธราชธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นของนอกมาจากชมพูทวีปผ่านมอญและเขมรทั้งสิ้น โดยมีการดัดแปลงให้เข้ากับเงื่อนไขของตน

 

รัฐและระบบราชการสมัยใหม่ และกลไกต่างๆ ที่ช่วยให้เกิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นของนอก คือ เอามาจากระบบการปกครองของฮอลันดาในชวาและของอังกฤษในอินเดียและสิงคโปร์ ระบบที่สยามใช้ในการรวมประเทศก็เป็นแบบแผนการปกครองที่ฝรั่งทั้งสองใช้กับอาณานิคม โดยมีการดัดแปลงให้เข้ากับเงื่อนไขของสยามเอง

 

ทฤษฎีว่าด้วยพระมหากษัตริย์สยามของพระองค์เจ้าธานีนิวัติ เริ่มต้นด้วยการแถลงถึงความสำคัญล้ำค่าของขนบประเพณีเดิมในสังคมที่ไม่พึงละทิ้ง โดยอ้างจาก คำของ Malinowski บรมครูทางมานุษยวิทยาของฝรั่งยุคล่าอาณานิคม

 

ทั้งระบบการศึกษา ระบบราชการ ระบบกระบวนการยุติธรรม ระบบกฎหมาย กองทัพประจำการ การแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ มีกำเนิดมาจากภายนอกทั้งนั้น ไม่ว่าฝรั่ง ญี่ปุ่น อินเดีย ชวาหรือสิงคโปร์ แต่ "ของนอก" เหล่านี้ถูกดัดแปลงด้วยเงื่อนไขสภาพของสังคมไทยแล้ว จึงกลายเป็นของไทยแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะดัดแปลงตามความเข้าใจผิวๆ เผินๆ ลอกเลียนมาแต่เปลือก หรือสร้างสรรค์จนเข้าสนิทกับสังคมไทย

 

การที่ระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเป็นแนวคิดและประสบการณ์ที่เริ่มมาจากสังคมอื่นอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ใช่เหตุผลเพื่อปฏิเสธประชาธิปไตย เพราะถ้าใช้เหตุผลนี้ เราคงต้องปฏิเสธพระมนูธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรมด้วย รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ประชาธิปไตยฉบับวัฒนธรรมไทย หรือพระบารมีแบบไทยจึงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอในตัวเองว่าสิ่งเหล่านี้พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์

 

อันที่จริง เราไม่สามารถกล่าวด้วยซ้ำไปว่าประชาธิปไตยเป็นของนอก ไม่มีประสบกรณ์สั่งสมมาในสังคมไทย หากเรานับจาก ๒๔๗๕ เป็นต้นมา สังคมไทยมีประสบการณ์มาแล้ว ๗๓ ปี และเริ่มลงหลักปักฐานมั่นคงขึ้นใน ๓๐ ปีที่ผ่านมาด้วยความเสียสละของชีวิตจำนวนมาก เราคงกล่าวไม่ได้ว่าประสบการณ์แค่นี้เพียงพอแล้ว แต่ ๗๓ ปี และหลายร้อยชีวิตที่ผ่านไปจะไม่เรียกว่า "ประชาธิปไตยของไทย" ได้อย่างไรกัน

 

เหตุผลสำคัญที่จะรับหรือปฏิเสธหรือเลือกสรรดัดแปลงกลับอยู่ที่ความจำเป็นและความเหมาะสมเพื่อสังคมไทยปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมเห็นต่างกันได้ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการเพื่อให้ทัศนะที่ต่างกันได้ปะทะขัดแย้งกันเพื่อชี้ให้เห็นข้อดีเสียหลายๆ แง่มุม

 

หากเชื่อว่าหลักการสิทธิมนุษยชนเป็นของดีสำหรับสังคมไทย ต่อให้ไม่มีรากในจารีตวัฒนธรรมไทย ย่อมสมควรลงแรงต่อสู้จนกว่าจะปลูกขึ้น ในทางตรงข้าม วัฒนธรรมการบังคับใช้กฎหมายตามชั้นและอำนาจของคน หรือจารีตความยุติธรรมในวัฒนธรรมไทยที่ถือว่ามีความผิดจนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ ต่อให้มีรากแก้ว ก็สมควรถูกขุดรากถอนโคน

 

อะไรคือความจำเป็นและเหมาะสมของประชาธิปไตย?

 

การเมืองของมวลชนมิใช่อุบัติเหตุที่บังเอิญเกิดขึ้นหรือจะถอยหายไปจากสังคมไทย กรณีนองเลือด ๓ ครั้งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการประชาชนในระยะเวลาเพียง ๒๐ ปี บทบาทความเติบโตของกลุ่มองค์กรประชาชนนับไม่ถ้วนนับจาก ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ มิใช่การหาเรื่องก่อความวุ่นวายโดยผู้ประสงค์ร้ายต่อสังคมไทยเพียงหยิบมือ แต่ทั้งหมดนี้สะท้อนพัฒนาการของสังคมไทยที่สลับซับซ้อน เต็มไปด้วยกลุ่ม ชุมชน อาชีพ และกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างขัดแย้งกันมหาศาล เกินกว่าระบบการเมืองแบบเสด็จพ่อผู้ทรงธรรม หรือคุณพ่อรู้ดี หรือตามผู้นำชาติพ้นภัยจะสามารถเข้าใจได้หมด หรือจะจัดการความขัดแย้งในหมู่ประชาชนด้วยอาญาสิทธิ์ของศูนย์กลางอีกต่อไป

 

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวิทยาของประชาชนจึงเป็นสาเหตุ เป็นเงื่อนไข เป็นวิธีการ เป็นจุดหมาย และเป็นความจำเป็นของประชาธิปไตย ความเข้าใจต่อจารีตประเพณีเดิม หรือจินตนาการถึงตัวแบบประชาธิปไตยในสังคมอื่น ย่อมมีประโยชน์ต่อการเข้าใจอุปสรรค เงื่อนไข ข้อจำกัด และเพื่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่เหมาะกับสังคมของเรา

 

แน่นอนว่าถ้าหากสังคมไทยเลือกที่จะจัดการกับสังคมซับซ้อนด้วยระบบเสด็จพ่อผู้ทรงธรรม หรือซุปเปอร์ซีอีโอ และเลือกปฏิเสธประชาธิปไตย ย่อมเป็นการตัดสินใจที่จะต้องรับผิดชอบต่ออนาคต

 

ถ้าหากสังคมไทยเลือกหนทางประชาธิปไตย แม้ว่าจะยังต้องพัฒนาสร้างสรรค์อย่างระหกระเหินอีกยาวนาน ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ต้องรับผิดชอบอนาคตเช่นกัน

 

.๒ วาทกรรมพระราชอำนาจหรือประชาธิปไตยแบบคิดสั้น

ประวัติศาสตร์ที่มักได้รับการอ้างถึงโดยผู้สนับสนุนวาทกรรมพระราชอำนาจ นับจากพระองค์เจ้าธานีฯ มาจนถึงคนรุ่นเรา เป็นประวัติศาสตร์ตามลัทธิราชาชาตินิยม ถ้าหากจะไม่พิพากษาว่าประวัติศาสตร์ดังกล่าวบิดเบือน แต่ทรงพลังครอบงำสังคมไทยราวกับเป็นยากล่อมประสาท อย่างน้อยที่สุด เราต้องตระหนักว่าเป็นอุดมการณ์ประวัติศาสตร์แบบหนึ่งที่ไม่ได้ดีกว่าถูกต้องกว่าทัศนะประวัติศาสตร์แบบอื่น (ดังเช่นที่ผู้เขียนเสนอในภาคแรกเป็นต้น)

 

ในทัศนะของผู้เขียน ประวัติศาสตร์แบบสนับสนุนพระราชอำนาจมองข้ามการเมืองระหว่างกษัตริย์นิยมกับคณะราษฎรไปทั้งหมด น่าสังเกตด้วยว่าบรรดาผู้สนับสนุนวาทกรรมพระราชอำนาจอ้างถึงประสบการณ์ของตนภายในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่ความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ยาวไกลไปในอดีตหรือคิดคำนึงด้วยสายตายาวไกลถึงอนาคต

 

ผู้เขียนเห็นว่าความพยายามต่อสู้กับรัฐบาลเหลิงอำนาจด้วยวาทกรรมพระราชอำนาจ เป็นเรื่องน่าวิตกอย่างยิ่ง และควรต้องมีการทัดทาน เพราะเราไม่น่าจนตรอกถึงขนาดโยนความสำเร็จเมื่อ ๗๓ ปีก่อนลงถังขยะประวัติศาสตร์

 

การต่อสู้ด้วยวิถีทางพรรค์นี้ผิดหลักการโดยพื้นฐาน ๒ ประการ

 

ประการแรก แทนที่จะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยด้วยการส่งเสริมอำนาจของประชาชน กลับไปเรียกร้องหาอำนาจศักดิ์สิทธิ์มาถ่วงดุลรัฐบาล

 

การใช้อาวุธตอบโต้อาวุธ ไม่ก่อให้เกิดสันติฉันใด การต่อสู้กับรัฐบาลอำนาจนิยม ด้วยอำนาจพิเศษ เป็นวิถีทางที่ไม่ช่วยให้ประชาชนหรือสังคมเข้มแข็งขึ้นมา ไม่ก่อผลดีใดๆเลยต่อประชาธิปไตย ฉันนั้น

 

ทำไมเราจึงมักง่าย จะต่อสู้กับรัฐบาลซึ่งทำลายประชาธิปไตย ด้วยการละทิ้งวิถีทางประชาธิปไตย ? ทำไมเราคิดจะต่อสู้กับสิ่งที่ผิด ด้วยวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง? ผิด+ไม่ถูก จะกลายเป็น ถูก ได้อย่างไรกัน?

 

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ารัฐบาลปัจจุบันทำร้ายระบอบประชาธิปไตย ด้วยการจูงจมูกประชาชน ไม่ส่งเสริม ไม่ไว้ใจ ไม่ให้โอกาส แต่กลับทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่หากเราต่อสู้จนชนะด้วยวิถีทางที่ไม่เห็นหัวประชาชนพอๆกัน เราจะชนะไปทำไม ในเมื่อเราช่วยกันย่ำยีหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย จนไม่เหลืออะไรที่น่าเคารพอีกต่อไป

 

ประการที่สอง วาทกรรมพระราชอำนาจ อิงกับจินตนาการว่า พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีตและอนาคตย่อมทรงบุญญาบารมีเหมือนพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน วาทกรรมพระราชอำนาจชอบอ้างอิงอดีต แต่กลับขาดสำนึกอดีตและวิสัยทัศน์ทางประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิง พวกเขากำลังวางระเบิดเวลาลูกใหญ่แก่ประเทศไทยในอนาคต เป็นประชาธิปไตยแบบคิดสั้น เพื่อแลกกับผลทางการเมืองระยะสั้นๆในปัจจุบัน

 

หรือว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพระราชอำนาจไม่เคยคิดถึงอนาคตเลย?

 

. ความไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย (จากทัศนะผู้ครองอำนาจ)

นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเคยกล่าวครั้งหนึ่งว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมาย เป็นเพียงวิธีการ เป้าหมาย (เช่น การขจัดความยากจน) จึงสำคัญกว่า คำกล่าวนี้ถูกครึ่งหนึ่ง คือ ประชาธิปไตยเป็นวิธีการหรีอวิถีทางไปสู่เป้าหมาย แต่อีกครึ่งที่ไม่ถูกก็คือ เพราะเป็นวิธีการจึงไม่สำคัญ

 

สังคมประชาธิปไตยไม่ว่าที่ไหนในโลกทุ่มเทกับการรักษาพัฒนาวิถีทางนี้อย่างมั่นคง ก็เพราะวิถีทางนี้เป็นเงื่อนไขอันจำเป็นสำหรับสังคมที่สลับซับซ้อนมีความแตกต่างขัดแย้งกันมากมาย จะได้มีวิถีทางปะทะขัดแย้งต่อรองผลประโยชน์หาทางออกต่อปัญหาต่างๆ อย่างสันติ

 

ทุกสังคมมีปัญหาสำคัญๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนไปไม่สิ้นสุด สิ่งที่นายกฯ ทักษิณเรียกว่าเป็นจุดหมายเกิดขึ้นใหม่เปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จบ การสถาปนาวิถีทางอันเหมาะสมจึงกลับเป็นสิ่งจำเป็นเสียยิ่งกว่าความพยายามแก้ปัญหาสักอย่างให้ตกโดยทำลายหลักการวิถีทางจนยับเยิน

 

รัฐบาลปัจจุบันบริหารประเทศเหมือนกิจการธุรกิจ แนวทางเช่นนี้แม้จะมีผลดีจำนวนหนึ่ง แต่มีข้ออ่อนอย่างร้ายแรงเช่นกัน

 

ประการแรก การใช้อำนาจแบบฉับไว และให้อำนาจตัดสินใจเด็ดขาดอยู่กับซีอีโออาจเหมาะกับการผลักดันระบบราชการเทอะทะให้เคลื่อนตัวสนองความคิดริเริ่มใหม่ๆ แต่การใช้อำนาจแบบนี้กลับไม่เหมาะสมและยิ่งก่อปัญหาแก่การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม การนำของนายกฯ ทักษิณเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้วิกฤตชายแดนภาคใต้บานปลายรุนแรง

 

ประการที่สอง ความสำเร็จของการบริหารธุรกิจวัดด้วยผลลัพธ์อาทิเช่น สินค้า กำไร การแก้ปัญหาสำเร็จ แต่บ่อยครั้งผลลัพธ์นั้นได้มาด้วยวิธีการอะไรก็ได้หรือกลายเป็นเรื่องรอง ความสำเร็จทางการเมืองอย่างมีสายตายาวไกลและอย่างรับผิดชอบต่อลูกหลานในอนาคต ต้องรวมถึงการสถาปนาวิถีทางประชาธิปไตยด้วยแม้ว่าอาจกินเวลาจนไม่บรรลุผลลัพธ์ทันใจ

 

การละเลยความสำคัญของวิถีทาง ถึงขนาดหลบเลี่ยงหรือละเมิดเสียเอง ดังที่เป็นมาตลอดตั้งแต่ต้นรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การแทรกแซงหรือเข้ายึดครองสื่อมวลชน การทำลายผู้เห็นต่างและผู้วิจารณ์รัฐบาล การทำลายพลังขององค์กรประชาชน การบ่อนทำลายกระบวนการกระจายอำนาจ ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อ "ส่งมอบของให้ถึงที่" (deliver the goods) เป็นประชาธิปไตยแบบสายตาสั้น ซึ่งบั่นทอนพัฒนาการของประชาธิปไตยในระยะยาวทั้งสิ้น

 

ประวัติศาสตร์อาจบันทึกว่ารัฐบาลทักษิณแก้ปัญหา ก ข ค ง ได้สำเร็จ แต่ประวัติศาสตร์จะบันทึกว่ารัฐบาลนี้ก่อความเสียหายมหาศาลแก่การพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว

 

ประวัติศาสตร์จะบันทึกแน่ๆว่ารัฐบาลนี้ ทำให้วิกฤติชายแดนภาคใต้ปะทุบานปลาย เพราะ ความอหังการ์เหลิงอำนาจ ไม่ใช้วิถีทางประชาธิปไตย

 

. "ปัญหาปัตตานี" กับประชาธิปไตยไทย

วิกฤตความรุนแรง ณ ชายแดนภาคใต้หรือ "ปัญหาปัตตานี" ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นผลโดยตรงของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย แต่เป็นปัญหาประวัติศาสตร์ ซึ่งรัฐประชาธิปไตยไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ที่กำลังทดสอบขีดจำกัดของรัฐประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน เพราะคงไม่สามารถหาทางออกได้อย่างถึงที่สุด หากไม่มีการเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองและยกระดับรัฐประชาธิปไตยไทย

 

๖.๑ ปัญหาปัตตานีเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ (๑)

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากมาจากความแตกต่างที่ลึกซึ้งรุนแรงยิ่งกว่าความต่างประเภทอื่นที่รัฐประชาธิปไตยไทยเคยประสบมาก่อน แตกต่างลึกซึ้งยิ่งกว่าความต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองอันนำไปสู่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาหรือ ๖ ตุลา ๒๕๑๙

 

เพราะเป็นความแตกต่างของรัฐและอารยธรรมที่ต่างมีประวัติศาสตร์ของตนเองมาคนละทางกัน (แต่เกี่ยวข้องกัน) นับหลายร้อยปี ความแตกต่างของการนับถือศาสนา วิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือความคิดเห็น ซึ่งล้วนแต่เป็นปรากฏการณ์ของความต่างลึกซึ้งกว่านั้น ที่ปะทุขึ้นมาในปัจจุบันในบริบทของรัฐประชาธิปไตยไทยและสังคมไทย

 

เป็นความแตกต่างว่าด้วยรัฐในรัฐ สังคมในสังคม ทางออกใดๆ ที่ไม่ยอมเผชิญกับความจริงข้อนี้จึงไม่มีทางแก้ปัญหาได้อย่างถึงที่สุด

 

ปัจจัยที่ทำให้รัฐและอารยธรรมที่ต่างกันเกิดความขัดแย้งปะทุขึ้นมาในบริบทของรัฐประชาธิปไตยไทยได้ ก็คือ colonization ของรัฐหนึ่งเหนืออีกรัฐหนึ่ง

 

ความเข้าใจที่ว่าเป็นความบกพร่องตกทอดมาจากการ "รวมประเทศ" จึงไขว้เขว ยังไม่กล้าเผชิญหน้ากับอดีตอย่างตรงไปตรงมา เพราะความเข้าใจประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการรวมประเทศของสยามจากทัศนะของอำนาจกรุงเทพฯ เป็นประวัติศาสตร์แบบลำเอียง

 

ความเข้าใจที่ไม่เห็นปัญหาประวัติศาสตร์ คือ ความไม่เข้าใจ

 

ทางออกใดๆ ที่ไม่เริ่มจากการเผชิญหน้ากับอดีตอย่างตรงไปตรงมาย่อมไม่มีทางแก้ปัญหาอย่างถึงที่สุด อย่างเก่งได้แค่บรรเทาความขัดแย้งลงชั่วคราวเท่านั้นเอง

 

จากรากเหง้าของความแตกต่างแบบรัฐในรัฐอันเกิดขึ้นด้วย colonization ในอดีต ทางออกที่ฝ่ายก่อการประสงค์คือ การแยกรัฐออกจากรัฐ

 

หากรัฐและสังคมไทยปิดประตูแก่ทางออกนี้และไม่ต้องการพิจารณาทางออกนี้เลย สังคมไทยควรตระหนักว่า ทางออกอื่นทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องรูปการรัฐเดี่ยวของไทยทั้งสิ้น

 

จินตนาการรัฐเดี่ยวอันแบ่งแยกมิได้เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์สยามซึ่งเผชิญภัยคุกคามของลัทธิอาณานิคม บวกมรดกของรัฐจักรวรรดิแบบรวมศูนย์ซึ่งตกทอดมาในรัฐประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์

 

รูปการรัฐเดี่ยวรอดมานานขนาดนี้ได้ด้วยการกดปราบดูดกลืนความต่างในกรณีอื่นที่ลึกซึ้งน้อยกว่าปัญหาปัตตานี แต่ทว่ารัฐไทยที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเลยในกรณีปัตตานี มิหนำซ้ำในปัจจุบันกลับมีความสามารถแย่กว่าก่อนที่จะกดปราบดูดกลืนความต่างที่ลึกซึ้งขนาดปัญหาปัตตานี ทั้งด้วยนโยบายมาตรการที่ไม่เข้าใจปัญหา และด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกดปราบดูดกลืนความต่างในแบบเดิมอีกต่อไป

 

การทบทวนรูปการรัฐเดี่ยวเป็นคนละเรื่องลิบลับกับการแยกรัฐ แต่หมายถึง แสวงหาทางเลือกอื่นๆว่าจะจัดความสัมพันธ์ของปัตตานีในรัฐไทยอย่างไร แสวงหาหนทางที่ทุกฝ่ายยอมประนีประนอมกันได้ที่จะยังประโยชน์ระยะยาวกับทุกฝ่าย

 

หากปิดประตูนี้อีกและมุ่งแต่การเอาชนะเด็ดขาด อาจหมายถึงความพ่ายแพ้เสียหายระยะยาวกับทุกฝ่าย

 

ประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาประวัติศาสตร์ดังกล่าวเลย กลับสืบทอดปัญหาและทำให้บานปลายเป็นพักๆ (อาจยกเว้นความพยายามของปรีดี พนมยงค์หลังสงครามโลก ซึ่งสั้นเกินกว่าจะส่งผลใดๆ)

 

๖.๒ ปัญหาปัตตานีเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ (๒)

ปัญหาปัตตานียังเป็นปัญหาประวัติศาสตร์ในอีกความหมายหนึ่ง นั่นคือ เป็นปัญหาเนื่องมาจากความคับแคบของสำนึกประวัติศาสตร์ในสังคมไทย

 

ลัทธิอุดมการณ์ประวัติศาสตร์ที่ครอบงำสังคมไทย ได้แก่ ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม คืออุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาปัตตานี เพราะเป็นประวัติศาสตร์ของอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯอันเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งนี้โดยตรง เป็นประวัติศาสตร์ลำเอียงสุดๆในประเด็นว่าด้วยสยามท่ามกลางลัทธิล่าอาณานิคม กล่าวคือ อำพรางสภาวะกึ่งอาณานิคมของสยาม และอำพรางการกระทำของสยามต่อรัฐเล็กๆตามชายขอบรวมทั้งปัตตานีอย่างอาณานิคม

 

สำนึกประวัติศาสตร์ในสังคมปัตตานีกลับตรงข้าม เป็นประวัติศาสตร์ที่ขัดฝืน เข้ากันไม่ได้กับประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมของอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯอย่างที่สุด ทว่าความทรงจำและสำนึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ "บ้าน" ของตนเองกลับยังทรงพลังอยู่ในสังคมปัตตานีตลอดเวลา สังคมไทยไม่เคยนึกถึงข้อนี้ หรือไม่เข้าใจ และไม่เปิดใจกว้างพยายามเข้าใจด้วยซ้ำไปว่าจะให้คนเรารู้จักบ้านของตนเองผ่านประวัติศาสตร์ของคู่กรณีได้อย่างไรกัน

 

รัฐและสังคมไทยสมัยประชาธิปไตยสืบทอดความสัมพันธ์กับปัตตานี และสืบทอดความทรงจำและสำนึกประวัติศาสตร์ต่อปัญหาปัตตานีมาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตอกย้ำซ้ำเติมด้วยลัทธิชาตินิยม ยามที่ความขัดแย้งปะทุ รัฐไทยไม่ว่าสมัยไหนใช้วิธีกำราบปราบปรามด้วยอำนาจที่เหนือกว่า ไม่ใช้วิถีทางประชาธิปไตยเพื่อหาทางออก

 

๖.๓ ปัญหาปัตตานีทดสอบสังคมประชาธิปไตยไทยขณะนี้อย่างไร

ท่าทีการใช้อำนาจของรัฐบาลทักษิณในการจัดการปัญหาปัตตานีผิดพลาด ๒ ชั้น

 

หนึ่ง ใช้ท่าทีแบบเดียวกับการปราบคอมมิวนิสต์ก่อนปี ๒๕๒๓ ทั้งที่รัฐไทยเองมีบทเรียนแล้วว่าเป็นมาตรการที่ผิด ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาปัตตานีก็ต่างลิบลับกับปัญหาคอมมิวนิสต์

 

สอง การนำแบบซีอีโอ อาจเหมาะกับการสร้างผลงานตามเป้าหมาย แต่การจัดการความขัดแย้งทางสังคมอย่างเจ้านายในบริษัท นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหาบานปลายอย่างมาก

 

"แผนจาตุรนต์" เป็นโอกาสสำคัญที่อาจช่วยให้ความรุนแรงไม่บานปลาย แต่กลับถูกปฏิเสธ อย่างน่าเสียดายด้วยความคิดแบบข้อหนึ่งและการนำแบบข้อสอง

 

ท่าทีของรัฐบาลต่อโศกนาฏกรรมที่ตากใบแสดงถึงใจคอโหดร้ายไร้คุณธรรมอย่างเหลือเชื่อ เพราะมองเหตุที่เกิดขึ้นจากทัศนะแบบข้อหนึ่ง และจัดการความขัดแย้งทางสังคมอย่างไร้ความละเอียดอ่อน

 

โศกนาฏกรรมที่ตากใบยังฉายให้เห็นว่า รัฐและสังคมไทยไม่เห็นคนเป็นคนเท่ากัน ตอกย้ำความเชื่อที่มีอยู่ทั่วท้องถิ่นว่า ความยุติธรรมอย่างเสมอหน้าก็ไม่มี นายทหารถูกลงโทษในความบกพร่องชนิดเบา แต่ผู้ชุมนุมถูกสังหารโหดร้ายถูกจับมาทารุณ แล้วยังถูกฟ้องข้อหารุนแรงอีก ทั้งนี้เพราะรัฐและสังคมไทยเห็นดีงามกับการปราบปรามแบบนั้น

 

โศกนาฏกรรมที่ตากใบจึงเป็น moment ที่ผลักให้ความขัดแย้งก้าวเข้าสู่ระดับใหม่ นั่นคือ ชาวมลายูมุสลิมหมดความเชื่อใจรัฐและเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตกอยู่ในอันตรายยิ่งกว่าเดิมเพราะ การใช้ความรุนแรงสนองความรุนแรงกลายเป็นเป้าหมายในตัวเอง กรณีชาวมลายูมุสลิมลี้ภัยเข้าไปในมาเลเซีย เป็นเรื่องคาดได้หลังจากโศกนาฏกรรมที่ตากใบ โศกนาฏกรรมที่ตันหยงลิมอก็คงเป็นหน้าแรกๆของความโหดร้ายไร้สาระของสงครามอันไม่น่าจะเกิดขึ้น

 

ความรุนแรง ณ วันนี้เกินเลยไปกว่าที่จะอธิบายได้ด้วยสาเหตุรากฐานเท่านั้นแล้ว ความเกลียดชังและความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายเติบโตจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องอ้างความชอบธรรมจากเหตุผลรากฐานของแต่ละฝ่ายอีกต่อไป กระนั้นก็ตาม การหาทางออกกลับต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจในสาเหตุรากฐานอย่างมั่นคง หาไม่แล้ว ทางออกใดๆก็ตามจะเป็นแค่ยาบรรเทาปวดชั่วคราว หรือ อาจจะยิ่งส่งเสริมให้ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายเติบโตขึ้นไปอีก

 

ปัจจัยสำคัญที่ขาดหายไปและจำเป็นต้องเรียกฟื้นคืนมาให้ได้ หาไม่แล้วจะไม่มีทางทำอะไรอื่นทั้งสิ้น คือ ความไว้วางใจที่ชาวมลายูมุสลิมมีต่อรัฐและเจ้าหน้าที่

 

กุญแจดอกเดียวที่จะเปิดประตูความไว้วางใจได้ คือ ความยุติธรรมเสมอหน้าอย่างเที่ยงตรงเคร่งครัดกับทุกฝ่าย

 

แต่วิถีทางประชาธิปไตยที่ควรทำอย่างคงเส้นคงวาเริ่มเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี ได้แก่ จะต้องให้ชาวมลายูมุสลิมและคนท้องถิ่นเข้าร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญ หรือถึงขนาดมีบทบาทนำในการแก้ปัญหา ให้อำนาจแก่เขาเพื่อหาทางยุติความรุนแรง นี่คือวิถีทางประชาธิปไตยต่อปัญหาปัตตานีที่ตรงข้ามกับวิถีทางใช้อำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน

 

รัฐและสังคมประชาธิปไตยไทยจะให้ความไว้วางใจแก่ชาวมลายูมุสลิมและคนท้องถิ่นได้หรือไม่?

 

๖.๔ ปัญหาปัตตานีทดสอบท้าทายประชาธิปไตยไทยในระยะยาวอย่างไร

ในระยะยาวปัญหาปัตตานีท้าทายทดสอบวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาธิปไตยไทย ดังต่อไปนี้

 

๑) สังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะสามารถอภิปรายเรื่องรูปการรัฐเดี่ยว เพื่อหาทางเลือกนอกกรอบจำกัดตายตัวของรัฐเดี่ยวได้หรือไม่

 

๒) สังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะสามารถอภิปรายเพื่อแสวงหาความสัมพันธ์ในสังคมที่ยอมรับความต่างให้ดำรงอยู่ได้ถึงระดับไหน

 

๓) สังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะเผชิญหน้ากับอดีตเพื่อทำให้อดีตเป็นอดีตอย่างเข้าใจและตระหนักรู้ แต่สามารถสร้างสรรค์ทางเลือกที่เหมาะกับปัจจุบันและอนาคตได้หรือไม่

 

การเผชิญหน้ากับอดีตอย่างตรงไปตรงมา ในกรณีนี้หมายถึงการยอมรับว่า ประวัติศาสตร์ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องราวของรัฐเดียว ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องความดีของบรรพบุรุษหมายถึงยอมให้มีการศึกษาเรื่อง colonization โดยสยามก็ได้

 

การปล่อยให้อดีตเป็นอดีตต้องมิใช่การจงใจลืมอดีต (ซึ่งไม่มีทางสำเร็จในกรณีปัญหาปัตตานีเพราะมีคนเยอะแยะที่ลืมไม่ลงต้องการพูดขึ้นมา) ต้องมิใช่ทำลายปิดบังอดีต ปฏิเสธประวัติศาสตร์ (ซึ่งไม่มีทางสำเร็จในกรณีนี้ เว้นเสียแต่จะทำลายทุกชีวิตที่เป็นเจ้าของความทรงจำชุดอื่นให้หมดไปจากสังคมไทย) ต้องมิใช่การยกเอาประวัติศาสตร์ไขว้เขวลำเอียงของชาตินิยมไทย ขึ้นข่มปราบประวัติศาสตร์ของผู้ถูกเบียดเบียนในอดีต ต้องมิใช่หมายถึงการกล้อมแกล้มบอกให้คนอื่นลืมเรื่องราวรากเหง้าของตนเอง แต่กลับสถาปนาเรื่องราวรากเหง้าของกรุงเทพฯลงไปแทน

 

การปล่อยให้อดีตเป็นอดีตอย่างมีวุฒิภาวะ คือ การเผชิญหน้าเข้าใจอดีต แต่ไม่ถูกบงการด้วยอดีต ประวัติศาสตร์หลายรัฐประชาธิปไตยปัจจุบันจึงไม่ก่อให้เกิดการแยกรัฐเสมอไป ถ้าหากทุกฝ่ายตกลงใจปล่อยให้อดีตเป็นอดีต และเลือกหนทางปัจจุบันและอนาคตที่ตนพอใจ

 

วัฒนธรรมทางการเมืองของประชาธิปไตยไทยที่ปล่อยให้อำนาจนำอยู่กับรัฐศูนย์กลางจนเกินไป ที่พลังสร้างสรรค์ของประชาชนถูกกดทับทำลายหรือทำให้เชื่องไปหมด ที่หลงใหลกับชาตินิยมและความสามัคคีแบบตื้นเขิน และที่ไม่เชื่อมั่นในหนทางประชาธิปไตยด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงออกและร่วมในการแก้ปัญหา จะรับมือปัญหาปัตตานีได้อย่างไรกัน

 

หัวใจและหนทางแก้ปัญหาปัตตานีในที่สุด คือ ให้ชาวมลายูมุสลิมและคนท้องถิ่นมีอำนาจในการแก้ปัญหาระยะยาวและตัดสินอนาคตของตนเอง

 

 

 

หลักการเพื่อข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลา:

ประชาธิปไตยคือวิถีทาง (means) ที่เป็นจุดหมาย (end)

 

ประชาธิปไตยไม่เคยให้คำตอบสำเร็จรูปแก่ปัญหาใดๆ สังคมประชาธิปไตยทุกแห่งใช้เวลานานกว่าจะแก้ปัญหาใหญ่โตได้ เช่น ใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะยอมรับสิทธิเสมอภาคของผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย หรือยกเลิกการเหยียดผิว เป็นต้น

 

แต่ประชาธิปไตยคือวิถีทางยั่งยืนเพื่อให้ประชาชนปะทะขัดแย้งกันอย่างสันติ ให้สังคมปรับตัวท่ามกลางสภาวการณ์ใหม่ๆ ด้วยการยอมให้ความแตกต่างหลากหลายดำรงอยู่ร่วมกัน แล้วค่อยๆ ตัดสินใจเลือกทางเดินที่คนส่วนใหญ่พอใจโดยไม่ต้องทำลายทางเลือกอื่นๆ

 

ประชาธิปไตยมิใช่หมายถึง การยกย่องเชิดชูอย่างเพ้อฝันว่าประชาชนถูกต้องเสมอ ฉลาด มีภูมิปัญญาเป็นเลิศ แต่เราต้องมั่นคงกับหนทางที่ให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินทางเลือกของตนไม่ว่าจะฉลาดหรือด้อยปัญญาก็ตามที

 

การสกัดกั้นทำลายอำนาจของประชาชน หรือทำให้หลงใหลความเอื้ออาทรของรัฐ หรือขัดขวางหรือไม่ส่งเสริมให้ประชาชนสร้างอำนาจของตนขึ้นมาไม่ว่าจะฉลาดหรือด้อยปัญญาก็ตามที จึงเป็นการบ่อนทำลายหนทางประชาธิปไตยขั้นรากฐานที่ต้องยุติ

 

ประชาธิปไตยไม่ฝากความหวังกับคุณพ่อรู้ดีไม่ว่าประเภทใด ถ้าเราต้องการสร้างอำนาจของประชาชนให้เข้มแข็ง ย่อมไม่ควรหวังพึ่งพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ย่อมไม่ควรหวังพึ่งพลังทุนเหลิงอำนาจ เพราะการหวังพึ่งพลังเหล่านั้นทำให้การสร้างอำนาจของประชาชนไม่รู้จักโต

 

ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบการเมืองของปัญญาชนหรือคนกรุงผู้ฉลาดรู้ดีกว่า ปัญญาชนทำหน้าที่เป็นสติปัญญาแก่สังคม แต่ไม่ควรมีอำนาจมากไปกว่าประชาชนคนหนึ่งๆ การปิดกั้นทำลายความเห็นต่าง ทำลายการวิจารณ์จึงเป็นการบ่อนทำลายหนทางประชาธิปไตยที่น่ารังเกียจที่สุด การไม่ปิดกั้นทำลายความคิดเห็น และกลับส่งเสริมความกล้าเผชิญความจริง และกล้าคิดหาทางออกนอกกรอบจำกัด จึงเป็นหลักการสำคัญกว่าที่หลายท่านคิด

 

สังคมไทยใหญ่โตและมีวุฒิภาวะพอที่จะไม่แตกสลายง่ายๆ ด้วยความคิดเห็นต่างๆ หลากหลาย แม้แต่ความคิดนอกรีตนอกกรอบก็เถอะ

 

๓๒ ปีหลัง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ แม้ว่าการเสริมสร้างอำนาจของประชาชนจะยังค่อนข้างอ่อนแออยู่ ทั้งด้วยความจำกัดของประชาชนเองและด้วยการบ่อนทำลายโดยรัฐ แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ๑๔ ตุลาได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่แก่ประชาธิปไตยไทยแล้ว นั่นคือเปิดประตูบานใหญ่แก่การพัฒนาเติบโตของพลังประชาชน ไม่ว่าจะในนามของ "ภาคประชาชน" หรืออื่นใดก็ตามที ไม่ว่าจะด้วยอุดมการณ์เชิดชู "ชาวบ้าน" จนเกินไป เชิดชูแรงงานจนเกินไป หรือด้วยอุดมการณ์อื่นใดก็ตามที ความเติบโตเหล่านี้ คือ ก้าวย่างที่สำคัญของอนาคต เพื่อข้ามให้พ้นการแย่งชิงอำนาจนำของพลังส่วนอื่นนับจากหลัง ๑๔ ตุลา

 

ประชาชนซึ่งไร้การจัดตั้ง เชื่อผู้นำตามอำนาจมากกว่าเชื่อมั่นในพลังประชาชนเอง นั่นแหละคือความเป็นจริงในวันนี้ที่จะเติบโตสร้างอำนาจของตนเอง รักษาผลประโยชน์ของตนเอง และดูแลตนเองในอนาคต เพื่อข้ามให้พ้นการแย่งชิงอำนาจนำของพลังส่วนอื่นนับจากหลัง ๑๔ ตุลา

 

. . .

 

ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริงมากมายในภาคแรก ต่อด้วยประเด็นเชิงหลักการหลายข้อในภาคสองซึ่งหลายท่านอาจเห็นว่าคงยากที่จะเกิดขึ้น แถมจบลงท้ายด้วยความใฝ่ฝันซึ่งอาจฟังดูเลื่อนลอย

 

เพราะจะข้ามให้พ้นสภาวะปัจจุบันของประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลาได้ เราต้องอาศัยทั้งความรู้และความใฝ่ฝันประกอบกัน ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้

 

เพราะความรู้บวกความใฝ่ฝัน คือ อำนาจของประชาชน

 

แต่ทว่ามีหลักประกันอะไรว่า ความรู้และความใฝ่ฝันดังกล่าวจะสร้างสรรค์อนาคตที่เราปรารถนาได้จริง? 

 

ไม่มี

 

เพราะการสร้างอนาคตที่เราปรารถนาเป็นเรื่องของความศรัทธาและมุ่งมั่น ไม่ใช่เส้นทางสัจธรรมที่กำหนดไว้ล่วงหน้าโดยศาสดาใดหรือวิทยาศาสตร์สังคมสำนักไหน

ศรัทธาและความมุ่งมั่นเป็นเรื่องของมนุษย์ผู้ต้องการสร้างประวัติศาสตร์

 

มีมนุษย์เช่นนั้นอยู่ในโลกนี้หรือ?

 

มี และมีอยู่ในสังคมไทยไม่น้อยเลย

 

วีรชน ๑๔ ตุลา เมื่อปี ๒๕๑๖ คือตัวอย่างของมนุษย์ผู้สร้างประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยด้วยความศรัทธาและมุ่งมั่นในความรู้และความใฝ่ฝันของเขาตั้งแต่เมื่อ ๓๒ ปีก่อน

 

๑๔ ตุลา เป็นโอกาสพิเศษที่เราทั้งหลายมารำลึกถึงความยิ่งใหญ่งดงามของประชาชนสามัญธรรมดาผู้สร้างประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยด้วยความศรัทธาและมุ่งมั่นในความรู้และความใฝ่ฝันของเขาตั้งแต่เมื่อ ๓๒ ปีก่อน

           

ขอน้อมรำลึกถึงวีรชนทุกท่านด้วยบทเพลงอันจะเป็นอมตะคู่ดวงวิญญาณของท่านตลอดไป

 

...โอ้วีรชนแห่งเดือนตุลา ร้อยมวลบุปผาร่วมสดุดี

เทิดวีรกรรมสู้เพื่อศักดิ์ศรี สิทธิเสรีประชาธิปไตย

...ใจ อาจหาญชาญชัย มิยอมก้มให้อำนาจอธรรม

เส้นทางขวางด้วยขวากหนาม ร้อยภัยคุกคามเจ้ายังมุ่งไป

...ใจเจ้านั้นโบยบิน สู้เพื่อแผ่นดินถิ่นเจ้าเกิดกาย

หยัดยืนฝืนอันตราย ชีพเจ้ามลายฝากไว้ความดี

… ดิน ถิ่นฝังเรือนกาย ที่มอดมลายเป็นเถ้าธุลี

และฟ้ายังต้องเปลี่ยนสี ร่วมสดุดีวีรชน

 

(สดุดีวีรชน โดย กิตติพงษ์ บุญประสิทธิ์ - ตี้ กรรมาชน)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท