เกษียร เตชะพีระ : นีโอ-ชาตินิยม กับปรากฏการณ์ศึกทักษิณ VS สนธิ

 

 

ถอดเทปและเรียบเรียงจากการเสวนา "นีโอ-ชาตินิยม"

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

…………………………………………………………………………………………………………………..

 

ประเด็นหลักคือ What is "neo" about neo-Nationalism?

ที่เรียกว่านีโอ-ชาตินิยม อะไรเป็นส่วนที่ นีโอ หรือใหม่เกี่ยวกับชาตินิยม

โดยเปรียบเทียบกับชาตินิยมเดิม และเน้นการมองภายในกรอบของสังคมภายในประเทศ

 

ผมแบ่งเป็น  4 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 อะไรเป็นบุคลิกลักษณะเด่นของชาตินิยมเดิม

ประเด็นที่ 2 การก่อตัวของนีโอ-ชาตินิยม

ประเด็นที่ 3 จุดต่างระหว่างชาตินิยมเดิมและนีโอ-ชาตินิยม

และสุดท้าย  การเคลื่อนไหวราชาชาตินิยมในปัจจุบัน

 

1. อะไรคือบุคลิกลักษณะเด่นของชาตินิยมเดิม

 

ผมลิสต์ประเด็นที่สำคัญๆ มา 6 ประเด็น

 

ประการแรก ชาตินิยมเดิม เป็นชาตินิยมโดยรัฐของไทย เป็น Thai official Nationalism กล่าวคือ การเกิด การปรากฏของชาตินิยมในเมืองไทยที่เป็นกระแสหลัก มันอยู่ในกรอบของรัฐ มันไม่ได้เกิดโดยกลุ่มสังคมกลุ่มอื่น อาจจะมีบางกลุ่มสังคมคิดเรื่องนี้ แต่โดยด้านหลักแล้วชาตินิยมกระแสหลักของไทยเป็นชาตินิยมโดยรัฐ

 

ประการที่สอง แนวคิดหลักของมันในความเข้าใจของผม ซึ่งอาจจะต่างจากท่านอื่น แนวคิดหลัก

ของมันคือ อุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทย  หรือ Ethno-ideology of Thainess แปลว่า การสร้างชาติที่สำคัญที่สุด สร้างในหัวเรา ในที่ที่ไม่มีชาติ คุณสร้างชาติขึ้นมา ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยไม่มีชาติ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร กระบวนการสร้างชาติในหัวเรา โดยมีรหัสของคำว่าความเป็นไทย กล่าวคือ ปรุงแต่งชิ้นความคิดขึ้นชิ้นหนึ่ง แล้วนิยามยี่ห้อให้กับมันว่า นี่คือ ความเป็นไทย

 

 "ถ้ามึงคิดว่ามึงเกิดเป็นคนไทย มึงควรคิดและประพฤติตัวแบบนี้ ถ้ามึงไม่คิดและไม่ประพฤติตัวแบบนี้ มึงไม่ใช่ไทย ไอ้ห่า" เข้าใจไหมครับ อุดมการณ์นี้ผูกติดกับชาติพันธุ์ไทย อ้างว่าถ้าคุณเป็นคนไทย มีเชื้อชาติไทย กรีดเลือดของคุณแล้วมีตัว ท ทหาร วิ่งกันออกมาเป็นแถวล่ะก็ คุณควรคิดแบบนี้ แต่ถ้าคุณไม่คิดแบบนี้ต่อให้กรีดเลือดคุณออกมาแล้ว ท ทหาร วิ่งกันเป็นแถว คุณไม่ใช่....คุณตายได้

 

อันที่สาม พูดให้ถึงที่สุดแล้ว อุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยจึงไม่ใช่เชื้อชาตินิยม คือ ไม่ใช่ลัทธิแบบฆ่าคนอื่นที่ไม่ใช่เชื้อชาติไทยให้มันตายห่าให้หมด ฆ่าคนที่เป็นเชื้อชาติเยอรมันให้ตายห่าให้หมด ไม่ใช่ มันกะล่อนกว่านั้น

 

มันเป็นวาทกรรมที่ฉวยใช้ชาติพันธุ์/เชื้อชาติ มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็น Ethnicising Rationalizing Political discourse  มันเป็นวาทกรรมทางการเมือง มันเป็นภาษาทางการเมืองชุดหนึ่ง ที่แบ่งเขากับเรา แยกมิตร-ศัตรู เพียงแต่มันเรียกศัตรูของมัน เรียกเงาคิดที่มันไม่ชอบ และเรียกพฤติกรรมที่มันไม่ชอบ ว่า "ไม่ไทย" โดยไม่สนใจว่า "ไอ้ห่า มึงมีเชื้อไทยรึเปล่า" ไม่ใช่ประเด็นเลย

 

ดังนั้น ปัญญาชนจึงโดนหาว่าเป็นลูกเวียดนาม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงโดนหาว่าเป็นลูกเวียดนาม ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงโดนบอกว่าเป็นสายโซเวียต เหี้ยห่าที่ไหนในประเทศไทยต่อให้เป็นไทยย้อนไปได้เจ็ดชั่วโคตร คุณมีสิทธิโดนกล่าวหาโดยรัฐว่าไม่ไทยได้ทุกเมื่อ ถ้าคุณมีพฤติกรรมที่รัฐไม่ชอบ

 

ในแง่กลับกัน ต่อให้คุณเป็นลูกเจ๊ก ถ้าคุณมีพฤติกรรที่รัฐชอบ มึงไทยว่ะไอ้ห่า (ฮ่า ฮ่า ฮ่า) นึกออกไหมครับ มันเป็นกระบวนการ มันเป็นภาษาการเมืองที่ไปริบเอาคำๆ หนึ่ง คำๆ นั้นคือ เชื้อชาติไทย หรือ ชาติพันธุ์ไทย แล้วแปลง ทำให้การแบ่งข้างทางการเมือง การประณามทางการเมือง ลงโทษ กีดกันทางการเมือง กระทำไปตามเชื้อชาติและชาติพันธุ์ทั้งที่มันไม่เกี่ยว ไม่ใช่

 

อันที่สี่ ตามกำเนิดของมัน ศัตรูของมันภายในประเทศ เมื่อแรกสร้างชาติไทย คือ เจ๊ก ทำไมเจ๊ก เพราะ

มันน่ากลัวสำหรับรัฐที่สุด เมื่อแรกเริ่มสร้างชาตินิยมไทย เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ กลุ่มพลังในสังคมไทยซึ่งน่ากลัวที่สุดคือ กลุ่มพลังคนจีน เพราะมันอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ อยู่ในสังคมสมัยใหม่ กุมภาคเศรษฐกิจเป็นนายทุน กุมแรงงานเป็นกุลี หรือมีกรมกองการจัดตั้งตัวเองเป็นอั้งยี่ มีหนังสือพิมพ์ของตัว

 

ดังนั้นในจังหวะนั้นสิ่งที่คุกคามเขาในประเทศที่สุด ศัตรูของความเป็นไทยแต่ต้น ก็คือเจ๊กนี่แหละ

 

เพียงแต่เมื่อเจาะให้ลึกถึงที่สุด ปัญหาที่เรื้อรังกันมาระหว่างความสัมพันธ์ไทยกับเจ๊ก แก่นแท้ของมันเป็นปัญหาความสัมพันธ์รัฐกับทุน

 

อุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทย ชาตินิยมโดยรัฐของไทย มีขึ้นเพื่อกำราบทุนหรือเจ๊ก เพื่อบล็อกไม่ให้กลุ่มทุนจีน ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของตัวแปรเป็นอำนาจการเมืองแล้วมาควบคุมรัฐ

 

นี่คือ ฟังก์ชั่นในประเทศของชาตินิยมโดยรัฐของไทยแต่เดิมมา

 

ในแง่วัฒนธรรมการเมือง เนื้อในของอุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยมี 2 หน้า หน้าหนึ่งหน้าอุปถัมภ์ หน้าหนึ่งหน้าอาญาสิทธิ์

 

เวลาหันมองมองชนบท มองชาวนา มันมองด้วยความเมตตาสงสาร โถ ตาสี ตาสา ยายมี ยายมา เป็น pre-individual เป็นคนในการอุปถัมภ์ ที่ไม่เป็นปัจเจกชนด้วยซ้ำไป คือ อีโง่น่ะ อีไม่ตระหนักในผลประโยชน์ของอีหรอก มันยังไม่เป็น individual เต็มที่ที่เข้าใจเหตุผล เข้าใจผลประโยชน์ของตัว เป็นแบบ ง่ายที่จะถูกมือที่สามชักจูง เข้าใจไหม มันง่ายมากเลยที่ชาวนาชาวไร่เมืองไทยจะถูกมือที่สามชักจูง

ฉะนั้น เวลาสร้างเขื่อน วางท่อปตท. มันมีมือที่สามไปชักจูงมาประท้วง ชาวนายังไม่เป็นปัจเจกบุคคลที่มีเหตุผลและคิดเองเป็น เห็นม็อบชาวนาเมื่อไหร่ ต้องหามือที่สาม เพราะชาวนาคิดเองไม่เป็น มันเป็น pre-individual หน้าที่คือเป็นคนในสังกัด รับการอุปถัมภ์จากรัฐแค่นั้นเอง นึกออกไหมครับ มองชาวนาด้วยสายตาแบบนี้ตลอด

 

แต่มองด้วยคนเมืองด้วยหน้าอาญาสิทธิ์ กล่าวคือ เห็นบรรดาคนเมืองทั้งหลาย นายทุนทั้งหลาย นักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย นักศึกษาทั้งหลาย "ไอ้พวกนี้ขี้เหม็นเห็นแก่ตัว แม่งอยากเป็นใหญ่ แม่งหากำไรเข้าตัว ไม่รักชาติ คนที่รักชาติ กูดูทั้งแผ่นดินแล้วเนี่ย มีกูคนเดียว"

 

ตลกมากนะครับ มันมองชนบทว่าไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นปัจเจกบุคคลด้วยซ้ำไป โดนเขาหลอกง่าย แต่พอหันมองภาคเมือง มันมีความคิดแบบอาญาสิทธิ์ ไอ้คนพวกนี้มันเห็นแก่ตัว ระยำหมาทั้งนั้นเลย ให้มาเล่นการเมืองแม่งก็ก่อม็อบสร้างความวุ่นวาย มีเบื้องหลัง คนที่รักชาติ สรุปแล้วก็คือคนที่อยู่กับรัฐหรือกุมอำนาจรัฐเท่านั้น

 

ผลของมันคือ มันสร้าง imagined uncommunity กล่าวคือ จินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน ขึ้นอยู่แค่ว่า ไทยกับเจ๊ก กล่าวคือ มันเป็นไปไม่ได้ที่ไทยกับเจ๊กจะเท่ากัน เพราะเจ๊กมีบุคลิกทั้งหลายแหล่ที่เป็นยิวแห่งบูรพทิศ ไม่สนใจว่าในความเป็นจริงไทยกับเจ๊กจะมีสายสัมพันธ์ แต่งงานทำมาหากินด้วยกัน

 

ดังนั้น จินตนากรรมชาติไทยในช่วงต้น ปัญหาของชาติไทยคือ เจ๊ก มันแบ่งคนไทยกับเจ๊ก ให้ไม่สามารถเป็นชุมชนเดียวกันได้ นี่เองที่คุมเจ๊ก คุมกลุ่มทุนมาหลายปี ให้อยู่ใต้อำนาจของรัฐ

 

ผลของมันที่น่าสนใจก็คือ ภายใต้วิธีคิดแบบนี้ มันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสมัยสฤษดิ์เป็นต้นมา แล้วมันสร้าง real uncommunity ขึ้นมา

 

มันสร้างความแตกต่างทางเศรษฐกิจมหาศาลระหว่างเมืองกับชนบท  มันเริ่มต้น มันจินตนาการว่า ไทยกับเจ๊กเข้ากันไม่ได้ เพื่อกำราบทุน แต่กระบวนการที่จะกำราบทุนและผูกขาดอำนาจรัฐ มันกลับสร้างความไม่สมานฉันท์ที่แท้จริงขึ้นในสังคมระหว่างเมืองกับชนบท มันอยู่บนความอ่อนแอนี้ของสังคมแบบชาตินิยม

 

 

2.  นีโอ-ชาตินิยมมาจากไหน?

 

มีเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกในระดับประเทศที่เอื้อให้นีโอ-ชาตินิยมเกิดขึ้น ที่สำคัญคือ ทุนเจ๊กเริ่มกลายเป็นไทย โดยผ่านกระบวนการศึกษา โดยผ่านรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยผ่านการประดับประดาด้วยสัญลักษณ์ความเป็นไทยทั้งหลาย มันก็กลายเป็นไทยมากขึ้น พอจะเคลมความเป็นไทยบางอย่างได้

 

พคท.ล่มสลาย ความเป็นเจ๊กมันดูไม่น่ากลัวเหมือนแต่ก่อน นึกออกไหมครับ เพราะแต่เดิมนี่ความเป็นเจ๊กมันถูกทับซ้อนด้วยความเป็นคอมมิวนิสต์ ความเป็นเจ๊กเป็นอื่นทางชาติพันธุ์ ความเป็นคอมมิวนิสต์เป็นอื่นทางอุดมการณ์ แม่งเป็นอื่นดับเบิ้ลเลย แม่งน่ากลัวฉิบหาย พอพคท.ล่มสลายมันเหมือนปลดล็อค ทำให้ง่ายเข้าที่เจ๊กจะเดินเข้ามาในการเมืองวัฒนธรรม

 

จีนเองก็เปลี่ยนแนวทาง เดิมทีประธานเหมาจะยุให้ประเทศอื่นปฏิวัติ ก็เปลี่ยนเป็นประธานเติ้งยุให้ประเทศอื่นช่วยกันทำมาค้าขายไป เจ๊กกลายเป็นแหล่งลงทุน เจ๊กกลายเป็นตลาดการค้า นี่คือเงื่อนไขสากล

 

ทีนี้มีปมเงื่อนความเปลี่ยนตรงนี้

 

นีโอ-ชาตินิยมเกิดขึ้นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับรัฐเปลี่ยนไป ผ่านระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง 2540

 

เดิมทีอำนาจรัฐผูกขาดอยู่ในกลุ่มข้าราชการ ผูกอยู่ในกลุ่มเทคโนแครต แล้วครอบเจ๊กเอาไว้ภายใต้อำนาจการเมือง อันนี้คลี่คลายภายหลัง 14 ตุลา มีระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยที่ค่อนข้างถาวรมั่นคงขึ้นมา ผ่านกระบวนการอันนี้ ทุนเริ่มเข้าสู่อำนาจการเมือง ทุนเริ่มผันกำลังทุน อำนาจเศรษฐกิจของตัวแปลงเป็นอำนาจทางการเมือง และในที่สุดเริ่มกุมอำนาจรัฐ

 

เมื่อบวกกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ดีฉิบหายเลยคือ ได้นายกฯ เข้มแข็ง ได้พรรคแบบ นึกออกไหมครับ มันออกแบบมาเชียร์พรรคใหญ่ พรรคใหญ่ก็ต้องมีทุนใหญ่ พรรคใหญ่ทุนน้อยมีที่ไหนในโลกนอกจาคอมมิวนิสต์ นึกออกไหมครับ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเอื้อให้กลุ่มทุนใหญ่โอกาสเฉลิมอำนาจรัฐเต็มที่ยิ่งขึ้น

 

ในที่สุดนีโอ-ชาตินิยมจึงเริ่มปรากฏตัว ผมอยากจะบอกว่ามันเริ่มปรากฏตัวตั้งแต่ก่อนวิกฤตปี 2540 ด้วยซ้ำ

 

ในยุคโลกาภิวัตน์ หลังปี 35 ด้วยซ้ำ ผมจะยกบางตัวอย่างให้ดู โฆษณาของ jasmine

 

"ฉาก ในห้องประชุมคณะกรรมการบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง มีโต๊ะพร้อมเก้าอี้นั่ง 12 ตัว ผมนั่งนับนะครับผมอัดวิดีโอไว้ บนโต๊ะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องคิดเลข โทรศัพท์มือถือ ถ้วยกาแฟ เอกสารวางกระจัดกระจายอยู่บนโต๊ะ ผนังติดภาพจิตกรรมลายไทยบอกสัญชาติบริษัท

 

แล้วก็มีเสียงพูด......

 

อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย 180 กว่าล้านคน มีโทรศัพท์สองล้านกว่าเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะกลุ่ม ทางไกลจากอินเดียค่ะ แล้วฟิลิปปินส์ล่ะเกาะทั้งหมดในเขตหนึ่งถึงสิบสองจะเชื่อมต่อด้วยระบบสื่อสารอะไร คงต้องเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ ทำไมลาวต้องสั่งโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม โลกานุวัตรเป็นเหตุแท้ๆ หมื่นกว่าล้านเคาะเครื่องคิดเลขแล้วรำพึง ข้อมูลด่วนจากเวียงจันทน์ค่ะ เดินจากลิฟท์ส่งฟล็อปปี้ดิสก์ให้ ขอข้อมูลจากพม่าด้วย ส่งทีมติดตั้งไปที่บาหลีด่วน แล้วเราจะแน่ใจได้ยังไง ผลงานในประเทศไทยคือใบเบิกทาง แต่คู่แข่งน่ากลัวทุกประเทศนะ โครงการทั้งหมดจะพลาดไม่ได้ เสียงแก้วกาแฟถูกปัดตะแคง เพราะผลตอบแทนยิ่งใหญ่มาก ผมหมายถึงชื่อเสียงของประเทศไทย

 

ชื่อบริษัท จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล

ชื่อโฆษณา สยายปีกเทคโนโลยีสื่อสารไทยให้ก้าวไกลสุดขอบฟ้า"

 

มันเริ่มตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เบื้องหลังโฆษณาชิ้นนี้คือวิธีเข้าใจใหม่เลยของสังคมไทยเกี่ยวกับ ชาติ วิธีเข้าใจใหม่คือ พระเอกเปลี่ยนใช่ไหม ถ้าเป็นสมัยสงครามเย็นรบกับคอม ห้องที่เขาฉายให้ดูต้องเป็นกองบัญชาการชาติไทย แบบกองบัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการกองทัพบก แต่นี่มันเป็นห้องประชุมบริษัทสื่อสาร แล้วผู้บัญชาการชาติไทยคนใหม่ ไม่ใช่ทหารในเครื่องแบบ มันใส่เสื้อนอกหมดเลย (ฮ่า ฮ่า ฮ่า)

 

แล้วภาษาที่ discuss (ปรึกษา) กันมันเป็นภาษาของทุน เทคโนโลยี มันนึกถึงบาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็น investment site ปึ้ง ปึ้ง ปึ้ง นี่เป็น imagination แบบใหม่เกี่ยวกับชาติ คนพูดไทยไม่ชัดมีสิทธิ์เข้ามานั่งเป็นผู้นำชาติได้ วิชั่นของการยึดอำนาจไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เป็นวิชั่นของการแผ่สยายปีกไปทั่วภูมิภาค มันไม่ใช่แค่ชาตินิยม แต่เป็นจักรวรรดินิยม แต่หลังปี 2540 มันเจ๊ง (หัวเราะ) ก่อนหน้านี้เหิมเกริมมาก แต่พอมาตอนวิกฤตเหมือนโดนเจาะลูกโป่ง

 

3. จุดต่างสำคัญบางอย่างระหว่างชาตินิยมเดิมกับชาตินิยมใหม่

 

ประเด็นที่ควรจะนึกแต่แรกคือ ชาตินิยมกลายพันธุ์ได้ หมายความว่าเป็นไปได้ที่ชาตินิยมกระแสหนึ่งจะเปลี่ยนอีกกระแสหนึ่ง โดยมีบางส่วนที่ต่อเนื่องและบางส่วนที่เปลี่ยนแปลง

 

การกลายพันธุ์ของชาตินิยมนั้นข้ามปีกการเมืองก็ได้ จากซ้ายไปขวาจากขวาไปซ้าย ไม่ใช่เรื่องแปลก จึงมีบางอย่างของชาตินิยมเก่าเปลี่ยนแปลง ตีความหมาย เพิ่มองค์ประกอบกลายเป็นชาตินิยมใหม่

 

นีโอ-ชาตินิยมคงมีส่วนทั้งที่เปลี่ยนแปลงและต่อเนื่องจากชาตินิยมเดิม แต่ผมอยากจะเน้นในส่วนที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างไป

 

อันที่หนึ่ง กลุ่มที่กุมอำนาจเหนือชาติเป็นกลุ่มทุน พูดง่ายๆ คือกุมอำนาจรัฐแล้วสถาปนาตัวเองเป็นเจ้าของชาติ นิยามความเป็นชาติ นิยามผลประโยชน์ชาติ พูดง่ายๆ กลุ่มทุน ซึ่งแต่เดิมเมื่อแรกเริ่มในสังคมไทยถูกนิยามจากชาตินิยมเดิมเป็น unthai other กล่าวคือ เป็นอื่นจากความเป็นไทย ไม่ใช่ไทย มาบัดนี้ กลายเป็น hegemon เป็นผู้กุมอำนาจรัฐคนใหม่ สถานะกลุ่มทุนเปลี่ยน

 

อันที่สอง โครงการเศรษฐกิจสังคม โครงการเศรษฐกิจสังคมของชาตินิยมเดิม ในช่วงปลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในกรอบของเสรีนิยมโลก คงไม่ต้องบรรยายมากไปกว่านี้ เข้าใจได้นะ ได้เปลี่ยนไปภายใต้นีโอ-ชาตินิยม เป็น capitalist populism หรือ ประชานิยมเพื่อทุนนิยม บวกกับ crony capitalist - oriented globalization โลกาภิวัตน์แต่อิงกลุ่มทุนพวกพ้องเส้นสาย ในแง่หนึ่งดำเนินนโยบายประชานิยมต่างๆ เพื่อเกื้อหนุนให้ทุนนิยมฟื้นตัวและเติบโตต่อไปข้างหน้า อีกแง่หนึ่งปิดประเทศไหม "ไม่ปิด โง่เหรอมึงปิดประเทศ แต่ต้องเปิดเฉพาะที่กูได้ประโยชน์เข้าใจรึเปล่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า อะไรที่กูเสียประโยชน์ปิด เขาไม่โง่นะคุณ"

 

อันที่สาม ความสัมพันธ์ทางอำนาจ อันนี้น่าสนใจ ผมเข้าใจเอาเอง นั่งอ่านข้อมูลแล้วก็คิด ยังไม่ได้ลงรายละเอียดกับมัน

 

ผมคิดว่าความสัมพันธ์ทางอำนาจยังอยู่ในกลุ่ม elite ภายใต้ชาตินิยมเดิม เป็น elite pluralism under the royal patronage กล่าวคือ มี elite หลากหลายกลุ่มภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ ตรงสุดยอดเป็นสถาบันกษัตริย์ มี elite กลุ่มต่างๆ eliteทหาร  eliteเทคโนแครต eliteราชการ eliteเอ็นจีโอ eliteสื่อมวลชน มีหลากหลายกลุ่ม แต่การก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในสังคม เป็นใหญ่ในการเมือง มีเงื่อนไขสำคัญที่คุณไม่ยอมรับคุณอยู่ไม่ได้ คือคุณต้องยอมรับสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ในสังคมไทยเป็นสังคมที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยน elite ได้ค่อนข้างง่าย จากทหาร เป็นนักเลือกตั้ง และเป็นกลุ่มทุนธุรกิจ

 

ผมคิดว่ากำลังเปลี่ยนอีกที เป็น elite integration under the CEO  กล่าวคือ บูรณาการ elite ทั้งหมดมารวมเป็นกลุ่มเดียวกัน ภายใต้การนำทางการเมืองของซีอีโอ กล่าวคือ ถ้าคุณไม่ยอมอยู่ภายใต้การนำทางการเมืองของซีอีโอ คุณอาจจะถูกกลั่นแกล้ง เบียดขับ ฯลฯ

 

ทีนี้ความสัมพันธ์ทางอำนาจในหมู่ชาวบ้าน ผมคิดว่าเปลี่ยนจากสายใยเชื่อมโยงเมือง-ชนบท ผ่านโครงการพระราชดำริ มูลนิธิเช่น มูลนิธิชัยพัฒนา เชื่อมโยงให้เมืองและชนบทพอจะไปด้วยกันได้ ไม่ถึงกับแตกหัก เมื่อปรากฏนีโอ-ชาตินิยมมันเปลี่ยนมาเป็นการผูกสัมพันธ์การเมืองกับคนชนบทแบบใหม่

 

นึกออกไหมครับ ปมเงื่อนของชาตินิยมไทย คือ ปัญหาเมือง-ชนบท หลังจากที่มันเกิด real uncommunity แล้ว ใครอยากกุมอำนาจของชาติไทย ต้องแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทให้ได้

 

ที่ผ่านมามีสองกลุ่มที่คิดเรื่องนี้ คือ พคท. กับสถาบันกษัตริย์

 

พคท.พยายามจะสร้างพันธมิตรเมือง-ชนบท มีฐานที่มั่นในชนบทประสานงานในเมือง ในที่สุดหลัง 6 ตุลาก็มีคนเข้าป่า พันธมิตรคือชนบท สถาบันกษัตริย์ก็พยายามจะสร้างพันธมิตรชนบทภายใต้อีกเงื่อนไขหนึ่ง สายใยเชื่อมโยงเมือง-ชนบท ผ่านโครงการพระราชดำริ

 

สูตรของไทยรักไทย ของคุณทักษิณ ก็เป็นสูตรผูกสัมพันธ์การเมืองกับคนชนบท ด้วยสัญญาประชาคม "ประชานิยม" แบบอุปถัมภ์บริโภคนิยม

 

4.ราชาชาตินิยมในปัจจุบัน

 

ผมคิดว่าที่เราเห็นทุกวันนี้อัศจรรย์และน่าสนใจ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ผมคิดว่าเราไม่เห็นมันในชาตินิยมเดิม เป็นกลุ่มทุนสองกลุ่ม สามารถสรุปด้วยตัวแซ่ทั้งคู่ และได้เปลี่ยนเป็นนามสกุลทั้งคู่ มีชินวัตรและตระกูลลิ้ม กลุ่มทุนสองกลุ่มต่อสู้กันในไวยากรณ์ราชาชาตินิยม

 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการต่อสู้ทางการเมือง แต่ grammar ที่ใช้ หรือไวยากรณ์ที่ใช้ คือไวยากรณ์ราชาชาตินิยม

 

ลองคิดง่ายๆ ว่า เขาต่างอิงสถาบันกษัตริย์ตลอดใช่ไหมครับ เปิดประเด็นโจมตีคู่ต่อสู้ว่าเรารักในหลวง คุณไม่รัก เราจงรักภักดีกว่า คุณไม่จงรักภักดี อะไรก็แล้วแต่ อีกฝ่ายหนึ่งก็พูดเหมือนกันเลย น่าสนใจมากทั้งสองต่างรักในหลวงทั้งคู่ และทั้งสองต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าไม่รักในหลวงทั้งคู่

 

อะไรคือไวยากรณ์ของราชาชาตินิยม ที่เปิดช่องให้เคลื่อนไหวกันได้ ผมคิดว่ามันอยู่ที่ฐานคิดเรื่องพระราชอำนาจ

 

พูดอีกอย่างคือ บทบาทของพระมหากษัตริย์ในการปกครอง บทบาทของพระมหากษัตริย์ในการปกครองแบบไทย จากการค้นคว้าของหลายต่อหลายท่าน แต่ที่ผมนี้คือของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ในงานปัญญาชนฝ่ายขวาไทย

 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อะไรคือบทบาทของกษัตริย์ในระบอบใหม่ ระบอบใหม่นี้ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบนี้ถูกเรียกว่าการปกครองแบบไทย บรรดาปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์ทั้งหลาย

 

เช่น คึกฤทธิ์ ปราโมช บทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองแบบใหม่มี  2 ข้อ 1.ทรงเป็นแบบอย่างในอุดมคติของคุณธรรมและความเป็นไทยในด้านต่างๆ 2.ทรงควบคุมกีดขวางการใช้อำนาจของผู้นำหรือรัฐบาลไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม ความผิดพลาดบกพร่องต่างๆ แทนประชาชนและราษฎร

 

ในระบอบเดิม ก่อนการเปลี่ยนแปลง 2475 สิ่งที่จะตัดสินว่าคุณจะได้เป็นกษัตริย์ เป็นเจ้านายหรือไม่ คือ สายเลือด ชาติกำเนิดใช่ไหมครับ ในระบอบใหม่ประเด็นนี้มันถูกท้าทายถูกตั้งคำถามด้วยหลักคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ชาติกำเนิด สายเลือดมันไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนเก่า ในการจะดำรงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ อ้างสายเลือดอย่างเดียวไม่พอ ต้องอ้างความเป็นไทย หน้าที่ของความเป็นไทยคือให้ privilege position กับสถาบันกษัตริย์ในการปกครองแบบไทย แทนที่ชาติกำเนิดหรือสายเลือด

 

กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ควรจะมีสถานะอันยิ่งในการปกครองแบบไทย เพราะพระองค์เป็นศูนย์รวมของความเป็นไทย ไม่มีอะไรไทยกว่านี้อีกแล้ว พระองค์จึงให้ความสำคัญกับภาษาไทย วัฒนธรรมไทย ประเพณีไทยตลอดมา

 

มันเป็นไวยากรณ์ใหม่ทางการเมืองวัฒนธรรมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

อันที่สอง แทนที่ประชาชนหรือรัฐสภา จะถ่วงดุลอำนาจผู้ปกครองที่ฉ้อฉล ไม่ สถาบันกษัตริย์จะทำให้ ถ้ามีผู้ปกครองที่ฉ้อฉล สถาบันกษัตริย์นี่แหละจะเป็นตัวถ่วงดุล ตักเตือน ทำไมไม่ให้ประชาชนหรือรัฐสภาทำ ประชาชน-ฮึ..ฮึ่ม, ชาวชนบท-pre-individual, คนเมือง-แหยะ, สถาบันรัฐสภา-หึ หึ หึ เราก็รู้กันอยู่ อย่าให้ต้องกล่าวมากไปกว่านี้ วันนี้กลับบ้าน กราบตีนผัวหรือยัง (ฮา)

 

 

ประเด็นที่สาม ความหวาดวิตกเกี่ยวกับราชาชาตินิยมในนายทุนนักเคลื่อนไหวมวลชน

นึกออกไหมครับว่าผมหมายถึงอะไร ผมก็ไม่รู้ว่าท่านนึกอะไร แต่ทึกทักเอาว่านึกอย่างเดียวกับผม

 

สังเกตไหมครับ การเคลื่อนไหวราชาชาตินิยม ทหารก็เคยทำ ตอน 6 ตุลา ใครล่ะที่เคลื่อนไหวราชาชาตินิยมมาขยี้นักศึกษา ประทานโทษที พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ตอนนั้นเป็นพันตรีหรือพันเอกไม่รู้

 

แต่ว่าหนนี้ต่างไป ทหารมีปฏิกิริยาไม่อยากให้ทำ เพราะอะไร ราชาชาตินิยมนั้นดี แต่ราชาชาตินิยมในมือนักเคลื่อนไหวมวลชนที่เป็นนายทุนนั้นมันคุมไม่ได้ เมื่อเอาราชาชาตินิยมที่เป็นพลังที่มีศักยภาพพอสมควรไปสู่มวลชน ภายใต้การนำของนักเคลื่อนไหวนายทุน มันไม่ปลอดภัย ถ้าภายใต้การนำของคนของรัฐ หรือคนที่คุมได้ ปลอดภัย

                              

นอกจากนี้ยังมีอีกปัญหาหนึ่ง ปัญหากองทัพกับปัญหา client ในความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับสังคม อันนี้เป็นสูตร ทฤษฎี กองทัพต้องการ 3 อย่างจากสังคมเหมือนกันทุกประเทศในโลก 1. monopoly of war weapon 2.budget 3.client

 

กองทัพต้องการ 1. การผูกขาดอาวุธสงคราม ห้ามคนอื่นมีอาวุธสงคราม นอกเหนือไปจากกองกำลังของเขา เมื่อไหร่ตำรวจติดรถถังเมื่อนั้นมีเรื่อง และได้เคยมีเรื่องแล้วในประเทศไทย ในสมัยพล.ต.อ.เผ่า (ศรียานนท์) 2.งบประมาณต้องเพียงพอ ในการยกระดับปรับปรุงเทคโนโลยี ในการเลี้ยงกำลังพล 3.client ก็คือ ในที่สุดต้องตอบว่าทหารรับใช้ใคร ใครเป็นนายผู้บัญชาการ

 

ในสังคมไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นจอมทัพ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล การเคลื่อนไหวราชาชาตินิยมในหมู่มวลชน สามารถทำให้ client นั้นเขยื้อนออกจากกันได้ ตรงนี้อันตรายที่สุด ถ้าทาบเป็นเงาเดียวกัน ขึ้นต่อบัญชานายกฯ หรือขึ้นต่อบัญชาจอมทัพ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าการเคลื่อนไหวราชาชาตินิยม ซึ่งบอกว่านายกฯ กับจอมทัพมีปัญหานึกออกไหม แล้วกำลังพลบางส่วนเริ่มเห็นเงาของ client แยกจากกัน ยุ่ง แล้วไม่มีผบ.ทบ.หรือผบ.สูงสุดประเทศไหนในโลกต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้น มันคุมไม่ได้

 

ปัญหามันเกิดทันทีที่ client ขยับ แล้วกองกำลังบางส่วนบอกนายกฯ ไม่ใช่นายของเราอีกต่อไป นายเราเป็นคนนี้ต่างหาก เมื่อนั้นยุ่ง ผมคิดว่าสิ่งที่เราได้ยินในปัจจุบันโดยเฉพาะจากกองทัพ ก็คือปฏิกิริยาที่กำลังเกรงว่ามันจะเริ่มเกิดความสับสนว่า ใครคือ client ของกองทัพกันแน่ ฉะนั้น ต้องหยุด

 

 

คำถามจากผู้เข้าฟัง : ขณะนี้เราอยู่ระหว่าง 2 ขั้วอำนาจที่เห็นชัด ไม่มีขั้วอำนาจอื่น เพราะฉะนั้น เราจะพยายามสร้างนิยามของตัวเองใหม่ที่ไม่ขึ้นอยู่กับสองขั้วอำนาจนั้นได้หรือไม่ เราคือเหยื่อหรือเราจะเป็นผู้ที่ไม่เล่นไปตามเกณฑ์นั้น ต่อไปจากนี้ไม่ว่าใครจะทำอะไรในนามของชาตินิยม ถ้ามันจะทำให้สิ่งเหล่านี้หมดพลังไป เราจะทำกันอย่างไร หรือชาตินิยมยังจะต้องลากกันไปอย่างนี้หรือเปล่า ทางออกที่จะไม่ถูกกระแสของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งลากไปมีไหม มีทางไปตรงไหนได้บ้าง

 

เกษียร : คือ นั่งคิดประเด็นนี้จนหัวบาง ผมหงอกไปหลายเส้นแล้ว คิดแบบทีเล่นทีจริงนะ อาจารย์อัมมาร (สยามวาลา) เคยบอกว่า เมื่อไหร่ใครพูดคำว่าชาติ ให้เอามือกุมกระเป๋าไว้ให้ดี อย่าให้มันล้วง ฮ่า ฮ่า ฮ่า พอพูดว่าชาติ..เอ๊ะ มึงจะเอาอะไร

 

อันที่สอง เขยิบขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เวลามีคนบอกให้รักชาติ คำถามของผมคือว่าจะให้กูรักชาติ โอเค แต่ชาติต้องน่ารักด้วยนะ ถ้าชาติน่าเกลียดฉิบหาย กูจะรักลงได้ยังไง

 

ประเด็นที่ท่านผู้ฟังพูดก็คือ เปลี่ยนจากผู้บริโภคที่ passive แล้วถูกชาตินิยมป้อนให้รับประทานไปเรื่อยๆ ทดลองเป็นผู้กระทำการบ้าง คือ มีความริเริ่ม มีเสรีภาพ ที่จะจัดการกับชาติ จัดการกับแนวคิดเรื่องชาติบางอย่าง กระทั่ง เดินจากชาติไป เมื่อเรารู้สึกว่าชาติไม่น่ารักอีกต่อไปแล้ว

 

เพียงแต่ ตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ยากมาก มันเป็นเรื่องของบริบทและปูมหลังของบุคคล และถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวพันกับช้าง 2 เชือกที่ชนกันอยู่ เราเป็นหญ้าอยู่ใต้ดิน คอยหลบขี้ช้าง แต่เราก็อดเป็นห่วงเป็นใยไม่ได้ ไม่อยากเห็นคนตกเป็นเหยื่อ แต่มันไม่ง่ายหรอกที่จะหยิบคำว่าชาตินิยมทิ้งไป ในเมื่อเราอยู่ในสังคมหนึ่งแล้วโดนล้อมโดยมัน

 

อันที่สองคือ ในขณะที่เราพบความจริงว่า วิธีการใช้ชาติที่ผ่านมาทำให้นายชาติป่วย นายชาติเธอก็ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ย่ำยีโดยกลุ่มฝ่ายต่างๆ จนเธอเป็นเอดส์ไม่รู้จะรอดไหม แต่ผมคิดว่าพลังของความเป็นชาติที่มันเพาะผ่านขบวนการที่เราโตในสังคม ผ่านภาษา ผ่านสายสัมพันธ์ของผู้คนที่ล้อมเรา ไม่ใช่อะไรที่โยนทิ้งได้ง่าย

 

ในแง่กลับกัน เราบอกชาติคือ imagined community เป็นชุมชนในจินตนากรรม ใช่ไหมครับ แต่ผมคิดว่าคนในสังคมจำนวนมากเข้าใจว่าตัวเองเป็นปัจเจกชน อิสระ ไม่สัมพันธ์กับใครเลย ไม่ถูกกำหนดจากใครเลย มันป่วย ไม่เข้าใจตัวเอง เข้าใจว่าตัวเองเป็นปัจเจก ซึ่งมันก็จินตนากรรมพอๆ กันนั่นแหละ 

 

แต่พอมีวิกฤตเกิดขึ้น โอ้โห ที่วิ่งอออกจากปากนี่นะ เป็นชาตินิยมที่น่าเกลียดที่สุด ไม่เชื่อไปเดินอ่านตามเว็บสิ เรื่องภาคใต้ เขาด่าคุณอานันท์ว่ายังไงบ้าง ด่าอาจารย์ชัยวัฒน์ว่ายังไง อ่านแล้วรู้สึกนี่กูอยู่ชาติเดียวกับพวกมึงเหรอ กูอยากลาออกฉิบหาย

 

ดังนั้น มันไม่จริงหรอกนะครับ มันลำบาก มันไม่สลัดหลุดเหมือนก้อนขี้หรือรองเท้าเก่า ง่ายๆ ที่ลำบากคือผมคิดว่ามัน form อยู่ลึกมาก

 

ปัญหาคือ คนไม่เข้าใจว่ามัน form คน คนจินตนาการว่าตัวเองเป็นปัจเจก มีเสรี อิสระ แต่พอเจอวิกฤตคุณก็บ้ามันไปสุดๆ เลย     

                       

...................................................

 

หมายเหตุ          งานเสวนานีโอ-ชาตินิยม เป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการศิลปะการเมืองร่วมสมัยเรื่อง "นีโอ-ชาตินิยม" โดย มานิต ศรีวานิชภูมิ, สุธี คุณาวิชยานนท์, อิ๋ง กาญจนะวณิชย์, วสันต์ สิทธิเขตต์, ชาติชาย ปุยเปีย, นพไชย อังคะวัฒนพงศ์, สาครินทร์ เครืออ่อน, สันติ ทองสุข

 

จัดแสดงที่หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 เวลา 9.00-19.00 น.วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00 - 16.00 น. เข้าชมฟรี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท