ศาลชี้ชุมนุม 7 ต.ค. ขัด รธน. แต่การสลายม็อบ ทำได้เท่าที่จำเป็น และมีขั้นตอน

9 ต.ค. 51 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้นายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ให้ปฏิบัติตามหลักสากล หากจะมีการสลายการชุมนุม ให้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการตามขั้นตอนจากเบาถึงหนัก จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งคำสั่งดังกล่าว สืบเนืองจากเมื่อวานที่ผ่านมา กลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา 6 คน และสมาชิกวุฒิสภา 2 คน ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กระทำการทางปกครอง โดยมิชอบด้วยกฎหมาย สั่งการให้ใช้กำลังรุนแรงในการสลายการชุมนุม ซึ่งหลังจากศาลรับคำฟ้องก็ทำการไต่สวนฉุกเฉินทันที จนเป็นที่มาของคำสั่งในวันนี้

 

โดยศาลปกครองกลาง พิจารณาว่า การที่ผู้ฟ้องแสดงเจตนาไปรัฐสภาเพื่อไม่ให้มีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม โดยปิดล้อมประตูทางเข้าทุกด้านเพื่อมิให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าและออกรัฐสภาได้ โดยใช้รั้วลวดหนาม ยางรถยนต์ราดน้ำมันขวางกั้นถนนไว้ การกระทำดังกล่าวจึงมีลักษณะทำให้ผู้อื่นกลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย และเสรีภาพ จนไม่กล้าเข้าและออกจากรัฐสภา อันเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพผู้อื่น การชุมนุมดังกล่าวจึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ

 

อีกทั้งการปิดกั้นดังกล่าวเป็นไปเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันจะทำให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ตามมาตรา 176 ของรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีหน้าที่ที่จะเข้าสลายการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาจากการกระทำของผู้เข้าชุมนุมได้

 

อย่างไรก็ตาม การสลายการชุมนุมของตำรวจจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล ไม่อาจดำเนินการตามอำเภอใจได้ ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การสลายการชุมนุมในวันดังกล่าวมีประชาชนเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมากโดยผู้ร่วมชุมนุมไม่ได้รับการแจ้งเตือน ประกอบกับขณะนี้ยังมีการชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ อยู่ที่อาจเข้าข่ายละเมิดกฏหมาย และไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจต้องเข้าสลายอีก

 

ศาลจึงมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการ เท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และมีลำดับขั้นตอน และให้ผบ.ตร.บังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล และให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการให้สตช.ปฏิบัติตามมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ตามคำสั่งศาล จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

 






คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามนายกฯ-ตร.ใช้ความรุนแรง-ระบุ พธม.ไม่ได้ใช้สิทธิตาม รธน.

หมายเหตุ คำสั่งกำหนดมาตรการและวิธีการคุ้มครองชั่วคราวโดยสรุปจาก"มติชนออนไลน์"

000


มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า "การสลายการชุมนุม" ดังกล่าวเป็นการกระทำทางปกครองหรือไม่

 

จากการไต่สวนผู้ฟ้องคดีที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า ได้เดินทางไปกับกลุ่มผู้ชุมนุมไปยังรัฐสภา เวลาประมาณ 00.00 นาฬิกา ของวันทที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยมีวัตถุประสงค์จะล้อมรัฐสภาไว้เพื่อมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปในรัฐสภาและมีการประชุมเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินและมีผู้ควบคุมบนเวทีรถกระจายเสียงเคลื่อนที่ได้เป็นผู้แจ้งบอกให้ผู้มาร่วมชุมนุมดำเนินการปิดล้อมรัฐสภา

 

ในเวลาประมาณ 06.00 นาฬิกาเศษ ของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมหลายนัด ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รู้สึกแสบตา เจ็บที่ขาข้างขวาเป็นบาดแผลกว้างและลึกและถูกนำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ได้ทำการผ่าตัดรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจนเวลาประมาณ 14.00 นาฬิกาของวันเดียวกัน จึงได้ออกจากโรงพยาบาลและมาร่วมชุมนุมต่อที่ทำเนียบรัฐบาล

 

แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ได้ให้ถ้อยคำว่า ขณะที่อยู่บ้านพักทำภารกิจส่วนตัวในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้เปิดทีวีสถานี ASTV ดูการถ่ายทอดสดที่หน้ารัฐสภาได้เห็นภาพการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่บริเวณที่ชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา จึงได้เดินทางกลับมาที่หน้ารัฐสภาและร่วมชุมนุมอยู่จนถึงเวลาประมาณ 15.30-16.00 นาฬิกาได้ยินเสียงระเบิดมากกว่า 10 นัด และมีกลุ่มควันลอยอยู่บริเวณที่พยานยืนอยู่ซึ่งใกล้บริเวณปราศรัยและพยานได้รับบาดเจ็บเท้าขวา มีเลือดไหลออกมา ส่วนบริเวณเท้าซ้ายได้รับบาดแผลเป็นสะเก็ดหลายแห่ง

 

หลังจากนั้น ได้มีรถพยาบาลมารับตัวพยานมารักษาตัวอยู่โรงพยาบาลรามาธิบดี ขณะที่พยานร่วมชุมนุมอยู่นั้นไม่เคยได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจประชาสัมพันธ์หรือตักเตือนกลุ่มประชาชนดังกล่าวแต่อย่างใด และพยานมาบริเวณทำเนียบรัฐบาลประมาณอาทิตย์ละครั้งหรือสองครั้งเพื่อฟังการปราศรัย และที่เข้าร่วมชุมนุมหน้ารัฐสภาครั้งนี้ พยานไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะไปห้ามไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเข้าประชุมรัฐสภา เพื่อฟังการแถลงนโยบายแต่อย่างใด

 

ผู้ฟ้องคดีที่ 6 ให้ถ้อยคำว่า พยานปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยให้ที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จึงไม่ได้เดินทางไปร่วมชุมนุมที่รัฐสภา แต่ในช่วงเย็นของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 พยานได้รับแจ้งจากประชาสัมพันธ์ของแกนนำของกลุ่มขอแรงจากอาสาสมัครของกลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมกันเดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางวันที่รัฐสภาและเพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ

 

ขณะกลุ่มของพยานได้เดินทางไปถึงบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลประมาณ 10 นาที พยานสังเกตเห็นว่า มีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในจุดดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และต่อมาได้มีการใช้อาวุธมีการยิงแก๊สน้ำตาเข้ามาในกลุ่มของพยานและผู้ชุมนุม พยานได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย โดยได้รับบาดเจ็บบริเวณต้นขาซ้าย เย็บ 2 เข็ม

 

(ความเห็นของศาล)จึงเห็นได้ว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ฟ้องคดีแต่ละคนมีวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมชุมนุมที่แตกต่างกันจึงไม่อาจเหมารวมได้ว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเป็นความผิดต้องได้รับโทษทางอาญา และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จะเห็นได้ชัดว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีวัตถุประสงค์มุ่งคุ้มครองให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปประชุมในรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีได้เข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้

 

เมื่อเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาออกจากรัฐสภาไม่ได้ เพราะถูกผู้ชุมนุมปิดล้อม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการสลายการชุมนุมเพื่อให้คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และเจ้าหน้าที่เดินทางออกจากรัฐสภาได้ตลอดจนในช่วงเวลากลางวัน

ขณะที่ฝูงชนเคลื่อนตัวไปยังหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนเพื่อสลายการชุมนุมและไม่ให้ฝูงชนเข้าใกล้กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยในการกระทำดังกล่าวตลอดทั้งวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้มีการจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา หรือดำเนินการใดๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

ดังนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้มีเจตนาใช้อำนาจของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใด

 

การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมิใช่เป็นการกระทำทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่เป็นการกระทำทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

 

ผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งหรือกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามและเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามและเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามและเจ้าหน้าที่อื่นใดที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งหกและประชาชนโดยทั่วไป ใช้วัตถุระเบิด อาวุธสงคราม หรือาวุธอื่นใด รวมตลอดถึงการใช้ความรุนแรงใดๆ เข้าสลายการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งหกและประชาชนทั่วไปที่ร่วมชุมนุมกับผู้ฟ้องคดีทั้งหกไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีนี้นั้น

 

เห็นว่า มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

 

ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า ขณะที่ตนเองเข้าร่วมชุมนุมได้ร่วมกับคนอื่นๆ ลุกขึ้นยืนแสดงเจตนาไปรัฐสภาเพื่อไม่ให้มีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยการล้อมรัฐสภาไว้ และในระหว่างการปิดล้อมประตูทางเข้าทุกด้านของรัฐสภาเพื่อไม่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าไปได้ มีผู้ควบคุมอยู่บนเวทีรถกระจายเสียงเป็นผู้แจ้งบอกให้ผู้ร่วมชุมนุมดำเนินการ

 

ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ให้ถ้อยว่า ในช่วงเวลาบ่ายในการชุมนุมของประชาชนที่บริเวณรัฐสภาได้มีการปิดล้อมประตูเพื่อไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเข้าออกบริเวณรัฐสภา และเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมได้ใช้รั้งลวดหนาม ยางรถยนต์ราดน้ำมันขวางกั้นถนนไว้ การกระทำดังกล่าวของผู้เข้าชุมนุมจึงมีลักษณะทำให้ผู้อื่นกลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ จนไม่กล้าที่จะเข้าไปในรัฐสภา หรือออกจากรัฐสภา อันเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

 

ดังนั้น การชุมนุมหน้ารัฐสภาดังกล่าวจึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

 

อีกทั้งการปิดกั้นห้ามมิให้มีการเข้าออกรัฐสภาในวันดังกล่าวเป็นไปเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันจะทำให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ ตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าสลายการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำของผู้เข้าชุมนุมได้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสลายการชุมนุมจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุม

 

โดยปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มีประชาชนเสียชีวิตหนึ่งรายและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากไม่ได้รับทราบการแจ้งเตือนและมาตรการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

ประกอบกับขณะนี้ยังมีการชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ อยู่ และการชุมนุมนั้นอาจมีการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจต้องดำเนินการสลายการชุมนุมอีก

 

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกโดยมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 หากจะกระทำการใดๆ ต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมของประชาชน ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาล และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่ของตนดำเนินการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ปฏิบัติตามมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวตามคำสั่งศาล จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

นายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการเจ้าของสำนวน นายกมล สกลเดช ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองกลาง และนายอนุวัฒน์ ธาราแสวง ตุลาการศาลปกครองกลาง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท