เก็บความมาเล่าจากห้องเรียน "คนธรรมดา" วิชา "ความรุนแรง 101"

9 กันยายน 2551

อีกครึ่งชั่วโมงก็จะถึงเวลาเริ่มเปิดห้องเรียนคนธรรมดา วิชาความรุนแรง 101 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่สายฝนก็กระหน่ำลงมาอย่างหนักหน่วง หนักเสียจนคนจัดงาน ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี และสำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี เริ่มหวั่นใจว่า "ฅน" จะมาร่วมกันค้นหาเบื้องหลัง "ความรุนแรง" ที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวี่วันมากน้อยเพียงใด

 

เมื่อเข็มนาฬิกาชี้ไปที่เลขสี่และเลขสิบสอง ประตูห้องก็ถูกเปิดออกด้วยคนที่หนึ่ง คนที่สอง สาม และสี่ จนกลายเป็นคนร่วมสี่สิบคนมานั่งจ่อมหัวคุยกันเรื่อง "ความรุนแรง" ในมุมต่างๆ เพียงเท่านี้ "ความรุนแรง" ที่ดำรงอยู่จริง ก็ดูจะเปิดให้ที่ทางของ "ความนิ่งเพ่งพิจารณา" รวมถึง "สติ" ได้แทรกเข้าไปในจิตใจของคนหลายๆคน ที่วันนี้ "ความรุนแรง" เข้าใจได้ไม่ง่ายนักเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 บนถนนราชดำเนิน

 

วราภรณ์ แช่มสนิท ในฐานะตัวแทนองค์กรร่วมจัด เริ่มต้นเล่าที่มาที่ไปของการจัดงานในวันนี้ว่า

"เราใช้ชื่อว่าห้องเรียนคนธรรมดา 101 เพราะจะมีการจัดงานแบบนี้ครั้งต่อๆไป งานวันนี้เกิดจากคนรู้จักกัน ทำงานด้วยกัน รู้สึกร่วมกันว่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความยุ่งยากทางการเมือง คำถามหนึ่งที่ได้ยินเสมอ คือ จะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์ปัจจุบัน ด้านหนึ่งมีคนออกมาทำกิจกรรมต่างๆนานา ด้านหนึ่ง คือ การพยายามหาหนทางแก้วิกฤติว่าฝ่ายไหนจะต้องทำอะไร ซึ่งก็เป็นประโยชน์และเรื่องที่ดี

 

แต่เห็นว่าข้อเสนอที่ถูกเสนอผ่านสื่อ ผ่านแถลงการณ์นั้นยังไม่เพียงพอ กล่าวคือ ทำให้วิธีคิดวิธีมองต่อสถานการณ์ปัจจุบันตีบตัน คือ เห็นแค่ 2 ขั้วความขัดแย้ง คือ กลุ่มพันธมิตรกับรัฐบาล หรืออีกมุมหนึ่ง คือ ฝ่ายรัฐบาลในฐานะนักเลือกตั้งกับภาคประชาชน ประหนึ่งว่าเวลามองไปรอบตัวเห็นแค่ 2 ขั้วที่ขัดแย้งเท่านั้น รวมถึงในสถานการณ์เดียวกันได้มีการใช้คำต่างๆ เช่น อหิงสา สันติวิถี อารยะขัดขืน ซึ่งคำพวกนี้ได้ยินบ่อย แต่หลายคนสับสนว่าความหมายคืออะไรกันแน่

 

ก็เลยรู้สึกร่วมกันว่า อยากตั้งสติ หยุดคิดสักนิดว่า ก่อนจะแก้ปัญหาในวิถีทางต่างๆนั้น อยากพูดคุยกันก่อนว่าในสถานการณ์ปัจจุบันคิดกันอย่างไร ท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด ซึ่งเชื่อว่ามีความหลากหลายมากกว่า 2 ขั้วที่ปรากฏ ฉะนั้นจึงอยากให้เสียงที่แตกต่าง ความคิดที่แตกต่าง ได้มีโอกาสส่งเสียงบ้าง อยากให้มีความแลกเปลี่ยนในมุมของคนต่างๆที่ไม่ใช่ขาประจำ เป็นคนธรรมดา เพราะเราเห็นแล้วว่าสถานการณ์วันนี้ไม่ได้แค่ปะทะกัน 2 ฝ่าย แต่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น"

 

จันจิรา สมบัติพูนศิริ ในฐานะผู้เริ่มต้นเสวนาเป็นคนแรก เธอได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า รัฐหรือใครที่กำลังใช้ความรุนแรงในปัจจุบัน ? เธอเล่าว่า

 

"เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว 5 กันยายน นักสันติวิธีจำนวนหนึ่งได้จัดงานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้ง และช่วงหนึ่งของกิจกรรม พวกเราได้เริ่มต้นเดินจากสี่แยกคอกวัวไปที่บริเวณจุดปะทะกัน เจอพี่ตำรวจจำนวนมาก คล้ายๆเป็นหน่วยคุมฝูงชน ตอนนั้นดิฉันคิดในใจว่า ทำไมตำรวจหน่วยนี้ดูน่ารัก แววตาใสแจ๋วจังเลย ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่เราเรียนมา ซึ่งมักบอกว่ารัฐเป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรงเสมอ แต่ตำรวจกลุ่มนี้ที่เราเดินผ่าน แง่หนึ่งถือว่าเป็นตัวแทนรัฐ กลับดูน่ารักดี ในช่วงที่ผ่านมามีการสลายม็อบจากตำรวจ แต่ตนเองรู้สึกว่าการ์ดพันธมิตรดูท่าทีรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ"

 

จากการเริ่มต้นเปิดประเด็นเรื่องการสลายม็อบจากตำรวจ เธอจึงอธิบายต่อในเรื่องวิธีการควบคุมฝูงชน เธอบอกว่า   

 

"วิธีการควบคุมฝูงชน แบ่งคร่าวๆได้เป็น 3 สำนัก คือ

1. กลุ่มผู้ชุมนุมมองว่ารัฐเป็นผู้ใช้ความรุนแรงทั้งหมด เพราะคนที่มาชุมนุมคิดต่างจากรัฐ กลุ่มนี้มองว่าความรุนแรงมีทั้งที่เปิดเผยไม่เปิดเผย บางครั้งแค่ตำรวจยืนเฉยๆก็ถือว่าเป็นการปราบปรามโดยรัฐทั้งสิ้น

 

2. รัฐมองจากมุมมองของกฎหมายและระเบียบสังคม ว่าพวกที่มาชุมนุมไม่มีเป้าหมายในการมา พวกเขามาชุมนุมเพราะอารมณ์ล้วนๆ ไม่มีเหตุผลรองรับ ฉะนั้นรัฐจำเป็นต้องควบคุมและปราบปราม คือ การกราดยิง จับกุม ใช้แก๊สน้ำตา เช่นกรณีที่เกิดในประเทศทิเบต จีน พม่า หรือเหตุการณ์ตากใบ เป็นการเผชิญหน้าและใช้กำลังในการสลายการชุมนุม การมองจากมุมนี้ พบว่าในหลายพื้นที่ต่อมาผู้ชุมนุมที่ถูกปราบปรามกลายเป็นกลุ่มติดอาวุธ เพื่อหาหนทางต่อสู้กับรัฐในภายหลัง

 

3. ไม่สามารถมองแบบแยกขั้วได้ว่ารัฐชอบธรรมหรือใช้ความรุนแรงเสมอไป เพราะการรับมือกับฝูงชนซับซ้อนกว่านั้น ในสถานการณ์หนึ่งรัฐอาจจะใช้วิธีการละมุนละม่อม เช่น เจรจากับผู้จัดการชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด ในหลายพื้นที่ไม่มีการจับกุมผู้ชุมนุมแล้ว อาวุธที่ใช้ในการดูแลฝูงชนร้ายแรงน้อยลง ไม่มีการถือปืน บางทีไม่มีกระสุนยาง มีการเคารพสิทธิชุมนุมประท้วง เพราะฉะนั้นการสลายการชุมนุมกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น"

 

"สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดิฉันตั้งคำถามว่า อะไรกันแน่ที่ตอนนี้เป็นตัวแทนรัฐและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงของรัฐ เพราะความน่ากลัวตอนนี้ คือ ความรุนแรงอยู่ในมือประชาชน สถานการณ์ซับซ้อนถึงขนาดที่ว่า การดูแลฝูงชนของตำรวจบางครั้งดูน่ารักดี เหมือนที่ดิฉันรู้สึกตอนเดินผ่านตำรวจ แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่แน่ใจว่ารัฐไปใช้วิธีการเผชิญหน้าในรูปแบบอื่นๆหรือเปล่า เช่น มีการสนับสนุนกองกำลังไปแหย่ผู้ชุมนุมหรือเปล่า เพราะตอนนี้หากว่ารัฐบาลทำอะไรผู้ชุมนุม จะขาดความชอบธรรม เพราะรัฐบาลไม่มีสิทธิทำร้ายผู้ชุมนุม ทำให้เห็นว่าอาจจะต้องจัดลำดับความรุนแรงกันใหม่ ว่าในความรุนแรงก็มีความไม่รุนแรงด้วย ไม่ใช่ความรุนแรงเกิดจากรัฐทั้งหมด"

 

คนต่อมา งามศุกร์ รัตนเสถียร มองว่า ความรุนแรงไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพียงเท่านั้น รวมถึงความรุนแรงยังเป็นเรื่องข้ามกาลเวลา เธอเริ่มต้นการพูดคุยด้วยการตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า

 

"ช่วงนี้เรากำลังถูกถาโถมด้วยข่าวสารความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่กลับรู้สึกว่าจริงๆแล้วเราอยู่กับความรุนแรงมาทุกวันอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่วันนี้ ดิฉันสงสัยว่าความรุนแรงที่ทับถมมาเนิ่นนานได้ทำงานกับจิตใจของเราอย่างไร? ทำไมเราถึงอยู่กับความรุนแรงด้วยความเฉยชิน ? และผลของความรุนแรงก็ไม่ได้จบในวันเกิดเหตุเท่านั้น แต่ยังมีผลสืบเนื่องข้ามเวลา ทำให้เห็นว่าความรุนแรงมีกระบวนการทำงานทางความคิดด้วย"

 

เธอเล่าต่อว่า ด้วยอาชีพของเธอทั้งในปัจจุบันที่เป็นอาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี รวมถึงเคยเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรที่ทำงานเรื่องผู้ลี้ภัยจากพม่า ทำให้เธอได้มีโอกาสไปคุยกับคนในหลายๆพื้นที่ในประเทศไทย จึงทำให้เห็นว่า "ความรุนแรงมีทุกที่ แต่ทำไมเดี๋ยวนี้ความรุนแรงถูกอธิบายแค่ในพื้นที่กรุงเทพเท่านั้น วันนี้จึงอยากชวนคุยเรื่องความรุนแรงกับเราเกี่ยวอะไรกัน ? คนไทยอธิบายความรุนแรงอย่างไร ?"

 

"ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ต้องอ่านข่าว รับรู้ข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงทุกวัน แต่สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ มีความรุนแรงในพื้นที่อื่นๆนอกเหนือจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการฆ่ากันทุกวัน แต่ความรุนแรงกลับถูกอธิบายเพียงแค่ในสามจังหวัดเท่านั้น รวมถึงยังมีการเรียกร้องให้ใช้นโยบายฆ่าตัดตอนกับคนบางกลุ่มในพื้นที่ด้วย เพื่อให้เกิดการยุติความรุนแรง แต่ตนเองกลับสงสัยว่า แล้วความรุนแรงในพื้นที่อื่นๆล่ะ ทำไมเรากลับไม่เรียกร้องให้มีการจัดการความรุนแรงบ้าง นึกถึงเวลาที่ตนเองนั่งรถแท็กซี่จากดอนเมืองไปศาลายายามค่ำคืน ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลมาก สงสัยว่าความรุนแรงในรถแท็กซี่ไม่มีหรืออย่างไร ? นอกจากนั้นตนเองยังสงสัยต่อในกรณีของโรงเรียนฝึกทหารว่าต่างอะไรกับโรงเรียนฝึกพลเมือง ที่มีการฝึกในเรื่องการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ เห็นคนอื่นเป็นอื่น"

 

"คำถามต่อมา คือ ทำไมเราเลือกที่จะจบความขัดแย้งด้วยความรุนแรง นึกถึงนโยบายเรื่องการจัดการกับสงครามฆ่าเสพติดในสมัยนายกทักษิณ แต่วันนี้ก็เห็นชัดว่าปัญหายาเสพติดก็ยังมีอยู่ ไม่ได้จบไปด้วย สงสัยว่าวิธีคิดเรื่องความรุนแรงแบบแบ่งขั้วขาวดำ หรือศัตรู-ไม่ใช่ศัตรู เป็นการตัดขาดความสัมพันธ์กับคนอื่นหรือไม่ หรือกรณีเหตุการณ์กรือเซะ ที่ผ่านมาหลายปีแล้ว อะไรทำให้คนๆหนึ่งยิงคนอื่นได้โดยไม่รู้สึกอะไร หรือว่าเขาเห็นว่า คนเหล่านั้นเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่คน? นี้คือความน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะความรุนแรงได้ทำงานกับจิตใจเรา ได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความรุนแรงในหัวใจเราทุกวัน วันนี้รัฐไม่ได้ใช้ความรุนแรงเพียงฝ่ายเดียว แต่เราเองก็เห็นคนอีกหลายคนที่ในชีวิตประจำวันก็ใช้ความรุนแรงในการห้ำหั่นต่อกันด้วย"

 

สำหรับในประเด็นความรุนแรงข้ามกาลเวลา เธอได้ยกเหตุการณ์ตอนที่มีการจัดงานวันคนหาย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ว่า "ป้าไพรวัลย์ ซึ่งเป็นแม่ของลูกชาย 2 คน ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ทุกวันนี้ผ่านมากว่าสิบกว่าปี แกยังร้องไห้อยู่ทุกวัน แกบอกว่าแกเหงา ไม่มีใครสักคนมาคุยกับแกว่าลูกแกหายไปไหน ตนเองจึงรู้สึกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีต ยังข้ามเวลาต่อเนื่องมาสู่ปัจจุบัน"

           

คนที่สาม เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว เธอตั้งคำถามต่อว่า "เราพึ่งตื่นจากความรุนแรงหรือไม่?" เธอย้อนไปยังคืนวันที่ 1 ต่อวันที่ 2 กันยายน 2551 ซึ่งเธอถูกเพื่อนปลุกขึ้นมากลางดึกเพื่อรับรู้เหตุการณ์ดังกล่าว เธอเล่าว่า

 

"ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ไม่กี่วัน เกิดกรณียึด NBT มีเพื่อนอีเมล์มาบอกว่ารู้สึกเศร้าใจ ความดีใจที่ประเทศไทยได้เหรียญทองโอลิมปิกดูจะหายไปในทันที กับอีกเรื่องหนึ่ง คือ หลังจากที่มีการปะทะกันระหว่างนปช.กับพันธมิตร ทำให้มีกลุ่มต่างๆออกมาจุดเทียน ออกแถลงการณ์จำนวนมาก ทำให้ตนเองสงสัยว่าความรุนแรงพึ่งเริ่มเกิดขึ้นเหรอ เราถึงพึ่งเริ่มทำอะไรกัน? พบว่าหลายคนในห้องนี้ทำงานไม่เป็นสุข ต้องเช็คข่าวการเมืองอยู่ตลอดเวลา หลายคนก็อยากจะทำอะไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ตนเองกลับรู้สึกเศร้า เหมือนกับว่าเราพึ่งตื่นตอนที่มีคนตายเท่านั้นหรือ แล้วที่ผ่านมาล่ะ! มีความรุนแรงเกิดขึ้นมากมาย แต่เราเฉยชินกับมัน ไม่ทำอะไรอย่างนั้นหรือ"

 

"ถ้าดูเหตุการณ์ในช่วงพรรคพลังประชาชนกลับมา พบว่ามีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆในการสร้างความเกลียดชัง ลดทอนความเป็นมนุษย์ เมื่อก่อนอาจแค่ภาคใต้ที่คนภาคกลางดูถูกคนมุสลิม หรือคนไทยดูถูกคนเชื้อสายจีน แต่ปัจจุบันเราเห็นว่า คนอีสาน คนเหนือเลือกพรรคพลังประชาชนกลับถูกบอกว่าเป็นคนโง่ เลว ไม่รักชาติ หรือคนที่คิดต่างทางการเมืองกลายเป็นอาชญากร คนที่ไม่ยืนตรงไม่เคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี กลายเป็นอาชญากร หรือกรณีที่คนงานคนหนึ่งที่ใส่เสื้อคิดต่างไม่ใช่อาชญากร ออกรายการทีวีรายการหนึ่ง แล้วถูกเลิกจ้าง หรือกรณีการอภิปรายบนเวทีพันธมิตรที่มีการยุให้นักเรียนช่างกลไปตีกลุ่มนปก.ว่าเป็นการออกกำลังกาย เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ดิฉันงง เพราะกลับกลายเป็นว่าคนที่ยุยงให้คนหนึ่งเกลียดอีกคนหนึ่งไม่ใช่อาชญากร คนที่ถูกทำให้ลดคุณค่ากลับกลายเป็นอาชญากรแทน"

 

"การไม่ยอมรับความคิดต่าง ไม่เพียงแค่เกิดกับคนอื่นเท่านั้น แต่ตนเองก็รู้สึกว่าได้เพาะความเกลียดชังกับคนที่คิดต่างกับตนเองด้วยเช่นเดียวกัน ดิฉันคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้ คือ ความขัดแย้งของคนไม่กี่คนในผลประโยชน์ทางอำนาจ แต่กลับดึงคนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ได้ดูคลิปเหตุการณ์วันที่ 2 หลายครั้งมาก เห็นภาพตอนที่มีคนเสื้อขาวถือปืนยิงเข้าไปในกลุ่มคน ดิฉันคิดถึงใจคนที่ชักปืนยิงออกไปว่าเขากำลังกลัวคนที่มีอาวุธที่อยู่รอบๆหรือเปล่า เมื่อเขาคงกลัว และเขาก็มีอาวุธด้วยเช่นกัน ทำให้เขาจึงตอบโต้ความกลัวด้วยอาวุธที่มีอยู่นั้น"

 

เธอเล่าต่อว่าความรุนแรงยังเกิดในหมู่บ้าน ในประชาชนคนธรรมดาด้วย

"หลังรัฐประหารเป็นต้นมา คนทำงานในหมู่บ้านจะมาบอกเล่าถึง กรณีการควบคุมจำกัดสิทธิจำนวนมาก มีการห้ามชาวบ้านเดินทางมากทม. ทั้งๆที่ชาวบ้านจะเดินทางเพื่อแค่รับจ้างทำงาน หลังจากเสร็จสิ้นการทำนาแล้วเท่านั้น แต่ก็เดินทางไม่ได้ เพราะทหารกลัวว่าชาวบ้านจะมาประท้วง มีเพื่อนที่จังหวัดอุดรธานีบอกว่าการรุกรานของทหารต่อชาวบ้านในหมู่บ้านก็ยังมีอยู่ทุกวัน"

 

นอกจากนั้นเธอยังตั้งคำถามอีกว่า สันติภาพจะมาพร้อมกับความยุติธรรมหรือไม่

"ตอนนี้มีคนออกมาปฏิบัติการสันติวิธีจำนวนมาก เช่น หยุด ยอม วางอาวุธ แต่เกิดคำถามในใจว่าสันติภาพที่จะได้มาจะมาพร้อมกับความยุติธรรมหรือเปล่า ภาวะปราศจากความรุนแรงจะมาพร้อมความเป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าทุกฝ่ายหยุด รัฐบาลลาออก แต่กระบวนการสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมจะหยุดด้วยหรือเปล่า บางครั้งดิฉันก็ไม่แน่ใจ"

 

อดิศร เกิดมงคล พูดต่อในเรื่องของความรุนแรงนอกเหนือทางกายภาพ เขาเล่าว่า

"จริงๆแล้วหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน ผมเกิดความคิดหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงคืออะไรกันแน่?  เพราะผมทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติจากพม่ามากว่า 10 ปี ผมพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 ต่อวันที่ 2 กันยายนนั้น เป็นความรุนแรงแค่ปรากฏการณ์หนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ความรุนแรงทั้งหมดที่ถูกซ่อนอยู่ในสังคมไทย

 

วันหนึ่งผมนั่งคุยกับคนขับแท็กซี่ พี่คนขับถามผมว่า คุณรู้ไหมว่าสุริยะใสเป็นเขมร ขณะนั้นผมสงสัยในคำถามแต่ความงงมีมากกว่า เพราะผมกับสุริยะใสก็สนิทกันและรู้จักกันมานานพอที่จะรู้ว่าสุริยะใสเป็นใคร ต่อมาเขาพูดต่อว่าแล้วจำลองเป็นเวียดนาม สนธิเป็นจีน ผมก็งงๆแต่ไม่ได้ตอบอะไรออกไป และนึกขึ้นมาได้ว่าสมัยการชุมนุมของพันธมิตรครั้งแรกก็มีการบอกว่าเนวินเป็นเขมรเช่นเดียวกัน เหมือนกับว่าต่างฝ่ายต่างบอกอีกฝ่ายว่าไม่ใช่คนไทย ฉะนั้นเมื่อไม่ใช่ไทย การทำอะไรจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องความไม่รักชาติไทยด้วย

 

ผมคิดว่านี้คือความรุนแรง คือ การสร้างความเป็นอื่นให้คนอื่นในสังคม  

 

ผมนึกต่อถึงกรณีที่จักรภพ เพ็ญแข ไปพูดที่ FCCT สมาคมนักข่าวต่างประเทศ แล้วหลังจากนั้นมีเกมส์ออนไลน์เกมส์หนึ่งออกมา เป็นเกมส์กระทืบหน้าจักรภพ หรือในช่วงวันสองวันที่ผ่านมามีเพลงด่าสุริยะใสอย่างเป็นเรื่องเป็นราวผ่านทางยูทูป ผมสงสัยว่านี้คือความรุนแรงหรือเปล่า เป็นความรุนแรงที่เราต่างสั่งสมมาเนิ่นนานแล้ว จนเราต่างไม่รู้สึกรู้สาอะไรกัน

 

ฉะนั้นเหตุการณ์ในคืนวันที่ 1 กันยายน ที่มีคนไปรุมตีรุมกระทืบผู้ชายคนหนึ่ง เพราะคิดว่าเขาไม่ใช่คนหรือเปล่า ต่อมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่มีคนตาย มีคนพยายามจะอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นกันเยอะมาก กรณีหนึ่งที่ผมสะเทือนใจมาก คือ มีการอธิบายว่า คนที่ถูกตีจนตาย คือ คนที่เคยไปตีชาวบ้านที่อุดรธานี ฉะนั้นเค้าจึงสมควรตาย และคนที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ คือ คนที่เคยผ่านเคยร่วมอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มาแล้ว ผมสงสัยว่าเขาลืมเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้วหรืออย่างไร ทำไมสังคมไทยไม่สรุปบทเรียน และยังผลิตซ้ำความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า"

 

อดิศร ยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่แรงงานข้ามชาติจากพม่าถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขโมยของในช่วงสึนามิ ว่าเป็นความรุนแรงอีกชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็น

 

"ช่วงสึนามิมีดาราดังคนหนึ่งบอกว่าของหายเพราะแรงงานพม่ามาขโมยไป ทำให้มีการตีพิมพ์ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มากมาย ออกวิทยุ ออกโทรทัศน์ จนในที่สุดทำให้ตำรวจในพื้นที่ตั้งด่านจับแรงงานจากพม่าทุกคน ทำให้แรงงานจำนวนมากเกิดความกลัวว่าจะถูกจับ พวกเขาจึงหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา สิ่งที่ตามมา คือ พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือในด้านอื่นๆได้ เหตุการณ์นี้ตำรวจได้จับแรงงานจากพม่าผู้ต้องสงสัยได้หนึ่งคน เขาติดคุกไปแล้วหนึ่งปี ต่อมามีการร้องขอศาลให้พิจารณาคดีนี้ใหม่ พบว่าศาลได้ตัดสินว่าเขาไม่ได้เป็นคนทำ ตำรวจจึงต้องปล่อยตัวไป ตอนที่เขาถูกจับมีข่าวลงมากมาย แต่ตอนที่เขาถูกปล่อยตัวออกมากลับไม่เป็นข่าว ผมเห็นว่านี้เองที่เราต่างผลิตซ้ำความรุนแรงบ่อยครั้ง เราปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า"

 

"หรือความรุนแรงอีกประเภทหนึ่ง คือ ถ้าฉันทำ บอกว่าถูก ถ้าคนอื่นทำ บอกว่าผิด ผมนึกถึงวิธีการอธิบายเรื่องหนึ่งในตอนนี้ คือ บางคนบางกลุ่มกำลังบอกว่า การยึด NBT เป็นอารยะขัดขืน เพราะเป็นการไปชักชวน หว่านล้อม เกลี้ยกล่อม ให้เจ้าหน้าที่ NBT ออกมา แต่ผมสงสัยว่าแล้วกรณีการล้อมเนชั่นของคาราวานคนจนล่ะ ต่างกันตรงไหน เป็นอารยะขัดขืนได้ไหม คนกลุ่มเดิมอธิบายผมว่า ไม่เหมือนกัน เพราะคาราวานคนจนถูกจ้างมา มีการรับเงิน"

 

"ต่อมาอีกเรื่องหนึ่ง คือ ภาพปืนจ่อหัว มีคนในพันทิพย์ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพดังกล่าวมีการตัดต่อ ผมก็เริ่มสงสัย เพราะที่ผ่านมาก็มีการตัดต่อภาพเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ความรุนแรงหลายครั้ง เช่น ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ภาพแขวนคอ ในเหตุการณ์กรือเซะ ภาพมีด ถ้าสมมติว่าภาพนี้เป็นการตัดต่อจริง เพื่อทำให้ภาพตำรวจในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐกำลังใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชนอย่างป่าเถื่อน จะเกิดอะไรขึ้นตามมา ต้องอธิบายก่อนว่า ผมคิดว่ารัฐทำผิดต่อผู้ชุมนุมในการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบจริง ผมเห็นว่าเหตุการณ์ในภาพเกิดขึ้นจริง แต่การเน้นย้ำภาพปืนจ่อหัว ควรจะต้องคุยกันให้มากกว่านี้ ต้องพิจารณาให้รอบด้านยิ่งขึ้น เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ตัดต่อภาพจากหนังสือบางฉบับมาหลายครั้งแล้ว

 

ผมมองว่านี้คือความรุนแรงอีกชนิดหนึ่ง แต่เป็นความรุนแรงที่ถูกเก็บไว้ ไม่ถูกตั้งคำถาม และในที่สุดก็กลายเป็นการปะทุของความรุนแรงที่ถูกทับถมมาต่อเนื่อง สิ่งที่ผมอยากบอก คือ ความรุนแรงเชิงกายภาพเราสามารถมองเห็นได้ชัด แต่เราควรตั้งคำถามกับความรุนแรงเชิงลึกด้วย โดยเฉพาะความรุนแรงที่เป็นการบอกว่า คนอื่นเป็นอื่นของสังคมไทย ผ่านการอ้างอิงคำพูดประเภทไม่ใช่ไทย ไม่รักชาติ ผมว่ามันน่ากลัวกว่าหลายเท่านัก"

 

คนสุดท้าย เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช พยายามชี้ให้เห็นว่า จริงๆแล้วความรุนแรงเป็นธรรมชาติหรือวัฒนธรรม ?

 

"ผมจะพูดถึงเรื่องมายาคติของความรุนแรง เพราะมนุษย์ได้ใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาต่างๆมาตลอดวิวัฒนาการของมนุษย์ มายาคติความรุนแรง เช่น ในเรื่องของความองอาจ ความกล้าหาญ ได้เกิดการสร้างวีรบุรุษ วีรสตรีขึ้นมา ก็ต่อเมื่อมีการต่อสู้ฟันฝ่าต่อความรุนแรงทั้งทางตรงและทางโครงสร้าง ความรุนแรงทำให้เรารู้สึกได้ถึงความกล้าหาญ ความองอาจของมนุษย์

 

แต่ผมสงสัยว่า ความคิดเรื่องความรุนแรงนี้เป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมด้วยหรือไม่ ?

 

ความสงสัยต่อมา คือ ความรุนแรงกับธรรมชาติของมนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร ความรุนแรงเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือเกิดจากการเรียนรู้ จากกรอบของสังคมที่คนเจริญเติบโตขึ้นมา ผมเห็นว่ามนุษย์ไม่ได้มีความรุนแรงตามธรรมชาติแต่เกิดจากการเรียนรู้ แต่ผมสงสัยต่อว่าการเรียนรู้ความรุนแรงเป็นไปโดยธรรมชาติหรือเปล่า และมายาคติเรื่องความรุนแรงเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

เหมือนกับกรณีที่เราเห็นหมาที่มีลักษณะดุเดินผ่านมา เห็นตำรวจถือโล่ ถือกระบอง เราคิดอย่างไร ?

 

กล่าวได้ว่าข้ออ้างต่อการใช้ความรุนแรงในทุกประเภท มาจากความเป็นอื่น อัตลักษณ์ ความต้องการในการควบคุม ทั้งการใช้อำนาจ การยอมรับในอำนาจ การสั่งสอนให้ใช้หรือยอมรับในอำนาจ

 

รวมถึงความรุนแรง มี 2 ประเด็น คือ การใช้ความรุนแรงตามกฎหมาย กับการเตรียมอาวุธเพื่อปกป้องตนเอง เราใช้กฎหมายเป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรง ในเมื่อวัฒนธรรมสอนเราว่าการปฏิบัติตามกฎหมาย คือ เป้าหมายและแนวทางแห่งนิติรัฐ เพราะฉะนั้นกฎหมายจะมีความหมายเหนือกฎแห่งความเป็นมนุษย์หรือไม่ รวมทั้งการมีอาวุธเพื่อปกป้องตนเองเป็นการยั่วยุให้เกิดการใช้อาวุธหรือไม่"

 

ฝนหยุดตกไปนานแล้วและเข็มนาฬิกาก็ชี้ไปที่เลขหกและเลขสิบสอง เวลาของห้องเรียนดูเหมือนจะสิ้นสุดลงพร้อมๆกับคำถามที่เกิดขึ้นมากมาย และเป็นเรื่องที่นักเรียนคนธรรมดาในห้องจะต้องร่วมกันค้นหาคำตอบต่อไป ไม่ว่าจะเป็น.....

 

รัฐหรือใครที่กำลังใช้ความรุนแรงในปัจจุบัน ?

ความรุนแรงที่ดำรงอยู่ในพื้นที่อื่นๆ แต่ทำไมไม่ถูกอธิบาย ?

เราพึ่งตื่นจากความรุนแรงหรือไม่ ?

มีความรุนแรงอะไรบ้างที่นอกเหนือจากความรุนแรงทางกายภาพ ?

ความรุนแรงเป็นธรรมชาติหรือวัฒนธรรม ?

 

สุดท้ายนึกได้ถึงคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อธิบายเรื่องความรุนแรงไว้ว่า

 

"ความรุนแรงส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความเชื่อว่าคนไม่เท่าเทียมกัน เช่น กฏุมพีชาวกรุงและคนในเมือง เชื่อว่าคนเหนือหรือคนอีสาน (โดยเฉพาะคนในชนบท) มีค่า = ngo หรือโง่

 

ความเชื่อของกฏุมพีชาวกรุงและคนในเมือง เมื่อไม่เชื่อว่าคนเท่าเทียมกัน (ดูสิ นิ้วสิบนิ้ว ยังไม่เท่ากันเลย) ก็เกิดความรังเกียจ และดูถูกเหยียดหยาม ดูถูก และดูถูก

 

การใช้ศัพท์ทางชาติพันธุ์ เช่น ลาว หรือ ขะเหมน (แต่ก่อนเคยใช้คำว่า เจ๊ก ด้วย) ที่เราได้ยินจาก ตลกคาเฟ่ (โจ๊ก) ราคาถูกและรสนิยมต่ำนั้น

 

เราจะได้ยินจากเกมส์การเมืองของการโค่นรัฐบาลสมัคร กับล้มระบอบทักษิณ โดยลัทธิพันธมิตร ในขณะนี้อยู่ตลอดเวลา

 

วาทกรรมลูกจีนกู้ชาติ จึงเกิดขึ้นในบริบทของความเชื่อในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของ "คน"

 

ความไม่เสมอภาคกันของคนบ้านนอกในภาคเหนือและอีสาน กับคนกรุงและเครือข่ายของคนในเมือง กับความเป็นลาวเป็นขะเหมน กับความเป็นไทย และความเป็นชาติ

 

เรื่องนี้ลึกล้ำ ซับซ้อน และยุ่งเหยิง และน่าวิตกอย่างยิ่ง

 

เป็นทั้งเรื่องของ "ชนชั้น" กับ "วรรณะ-ชาติพันธุ์" หรือแม้กระทั่ง "เชื้อชาติ" เป็นทั้ง class และเป็นทั้ง "ethnicity" หรือแม้กระทั่ง "race"

 

Father Forgive Them, They Know Not What They Do

(or rather: They Know What They Are Doing Right Now?)

 

เรียบเรียงโดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์[1]

 





[1] เป็นการสรุปในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่องค์กรร่วมจัดทั้งหมด  แน่นอนสิ่งที่ฟัง สิ่งที่ได้ยิน และสิ่งที่เขียนออกมาอาจเหมือนหรือต่างจากคนธรรมดาที่ร่วมฟังในห้องอีกจำนวนมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท