รายงาน : "Medical tourist" ถนนทุกสายมุ่งสู่เอเชีย

เราอาจเคยได้ยินเวลาที่คนมีเงินทั้งหลายเจ็บป่วยพูดว่า เราต้องไปหาหมอดีๆ ที่เมืองนอก และ มีไม่น้อยที่หมายถึงจะไปหาหมอที่อเมริกา แต่รู้หรือไม่ว่าตอนนี้ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่เบนเข็มมารักษาโรคที่เอเชียกันมากขึ้น เพราะว่าที่นี่เป็นแหล่งหมอดีราคาถูก

 

แบรดลีย์ เธเยอร์ อดีตชาวสวนแอปเปิล จากโอกาโนกัน วอชิงตัน ดี.ซี. ยอมเดินทางไกลถึง 7,500 ไมล์ (12,000 กิโลเมตร) มาที่บอมเบย์  อินเดีย เพื่อมารักษาอาการเอ็นเข่าฉีก โดยบอกว่า แม้ว่าจะรวมค่าเครื่องบินแล้วเขายังเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพียงหนึ่งในสามของค่ารักษาในอเมริกาเท่านั้น

 

ปัจจุบันนี้เธเยอร์ มีอายุ 60 ปี ไม่มีประกันสุขภาพ เขาล้มและได้บาดเจ็บในขณะที่กำลังไปพักร้อนที่บริทิช โคลัมเบีย  หมอที่สหรัฐฯบอกเขาว่า เขาจะต้องรอ 6 เดือนสำหรับการผ่าตัดและต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 35,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.43 ล้านบาท)  ดังนั้นเขาได้ไปเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ป่วยอเมริกัน-ยุโรป ที่รวมกลุ่มกันเดินทางมุ่งหน้ามายัง อินเดีย ไทย และสิงคโปร์ เพื่อการรักษาชั้นหนึ่งด้านศัลยกรรมกระดูก ศัลยกรรมพลาสติค การรักษาภาวะการมีบุตรยาก และโรคหัวใจ ที่มีราคาถูกกว่าตะวันตกมาก

 

ชาวยุโรปและอเมริกันเริ่มความนิยมดังกล่าวนี้เนื่องจากรู้ว่า มีบรรดาแพทย์ชาวเอเชียจำนวนมากที่ไปเรียนและทำงานจนมีทักษะมาจากอเมริกาและอังกฤษ และหลายคนก็มีชื่อเสียงแล้วในโรงพยาบาลต่างๆ ที่นั่นแล้ว นำความรู้และทักษะเหล่านี้กลับมาประเทศของตนเองเพื่อทำการรักษาอยู่ที่นั่น

 

"บินมาไกลถึงครึ่งโลกก็ยังถูกกว่า" เธเยอร์กล่าวขณะที่นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในบอมเบย์ "ผมบินตรงมาที่อินเดียเลย ระยะทางไกลมากโดยไม่ได้มีการทดลองก่อน แต่ผมก็รู้สึกดีมากๆ"

 

เธเยอร์นั้นไม่เคยมาที่อินเดียมาก่อน ตอนแรกก็ต้องเอาชนะความเชื่อเดิมๆ ที่มีมาตั้งแต่อยู่ที่อเมริกาให้ได้ก่อน เพราะว่า เพื่อนๆ และญาติๆ บอกเขาว่า เขานั้นสงสัยจะบ้าไปแล้วที่เลือกมารักษาที่นี่ "เขาบอกว่า เดี๋ยวพวกนั้นก็จะทำศพผมที่แม่น้ำคงคาหรอก"

 

แต่เนื่องจากว่า เธเยอร์นั้นคุ้นเคยกับแพทย์ชาวเอเชียอยู่ก่อนแล้ว "ในอเมริกา หรือแคนาดานั้น ถ้าอ่านชื่อแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ นั้นทุกๆ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ก็จะเป็นหมอชาวอินเดีย" เขากล่าว

 

ในโรงพยาบาลในบอมเบย์ เดลลี และ บังกาลอร์ นั้นรับบริการคนไข้ที่เรียกว่า "นักท่องเที่ยวทางการแพทย์" (Medical tourist) มาตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1970 แล้ว เริ่มจากกลุ่มตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ ต่อมาก็จากอัฟริกาถึงตอนนี้ก็เป็นชาวตะวันตก

 

ปัจจุบันข่าวเรื่องนี้ก็ถูกบอกต่อๆ กันไป หรือจากทางเว็บไซด์ที่เขียนขึ้นโดยผู้ที่มารับการรักษาเรื่องประสบการณ์รักษาที่อินเดียก็กลายเป็นผู้นำเสนอชั้นดีไปแล้ว นอกจากนั้นตอนนี้รัฐบาลอินเดียเองก็สนับสนุนเรื่องนี้ โดยได้มีการเสนอออกวีซ่า 1 ปีให้กับผู้ที่มารับการรักษา เรียกว่าวีซ่าทางการแพทย์ (medical visa)  และสามารถต่ออายุวีซ่าได้อีก 1 ปี รวมทั้งไปจัดนิทรรศการในต่างประเทศเพื่อโฆษณาโรงพยาบาลในอินเดีย

 

รัฐบาลอินเดียนั้นมีแผนที่จะทำรายการโรงพยาบาลที่แนะนำด้วย เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากด้วย เพราะแม้ว่า อินเดียจะมีแพทย์มือหนึ่ง แต่อินเดียก็ยังคงเลื่องชื่อในเรื่องความยากจนและสกปรก ดังนั้นแม้แต่ในโรงพยาบาลชั้นนำบางแห่งจึงอาจจะให้บริการด้านการพยาบาลที่อาจจะด้อยและไม่ถูกหลักอนามัยตามมาตรฐานตะวันตกได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเลือกดูหลายๆ โรงพยาบาลด้วยเช่นกัน

 

"ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์กับโรงพยาบาลอินเดีย พวกเขายังกังวลเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยอยู่" วินอด เต็นกูเรีย ผู้ก่อตั้งเวดิค อินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดการเรื่องโรงแรมให้กับผู้ป่วยกล่าว

 

นายแพทย์โมฮัน โธมัส  ศัลยแพทย์คอสเมติคซึ่งเป็นสมาชิกสภานักท่องเที่ยวทางการแพทย์ของรัฐบาลกล่าวว่า ผู้ป่วยต่างชาติจำเป็นต้องเลือกอย่างรอบคอบ ตรวจสอบหนังสือรับรองของแพทย์ โรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ รวมทั้งที่สำคัญด้วยก็คือ ผลงานที่แพทย์คนนั้นเคยทำที่ผ่านมา

 

"ตรวจสอบด้วยว่าทางโรงพยาบาลได้มีความพยายามมากแค่ไหนในเรื่องของความสะอาด เริ่มตั้งแต่ที่ห้องน้ำ" โธมัสแนะนำ

 

เขากล่าวว่าร้อยละ 25 ของขนไข้ของเขาเป็นชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ อเมริกา และ อัฟริกา  แน่นอนพวกเขาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนชั้นหนึ่งและอยู่ในห้องส่วนตัวที่มีบริการสูงสุด ซึ่งโดยปกติจะอยู่คนละชั้นกับวอร์ดทั่วไปที่ถูกกว่า

 

อินเดียนั้นเป็นประเทศที่มีความหลากหลายที่แตกต่างกันอย่างมาก และแม้ว่ามาตรฐานด้านการรักษาอาจสูงขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น แต่ว่าคนจนอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาขั้นพื้นฐาน โดยมิพักต้องพูดถึงการเข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชน ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และโรงพยาบาลของรัฐก็แออัดมากๆ แล้วการบริการก็ต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อมีโรคไข้สมองอักเสบระบาดเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้คร่าชีวิตคนไปถึง 700 คน ในเมืองเล็กๆ และในหมู่บ้านทางตอนเหนือของอินเดีย

 

"คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานมักจะต้องเป็นคนจนเสมอ ไม่ว่าจะในอินเดีย หรืออเมริกา" สุชัน มิสชรา เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขจากเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของบอมเบย์กล่าว  "เราได้เห็นคนผิวดำจนๆ ต้องทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์พายุเฮอริเคน แคทธารินา พวกเขาเข้าไม่ถึงอาหาร น้ำ หรือแม้แต่ยาสามัญพื้นๆ ในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ชีวิตเหมือนกันทุกหนแห่ง"

 

สำหรับอินเดียนั้นก็จัดว่ายังเป็นประเทศน้องใหม่อยู่ในตลาดการแพทย์ ที่ดึงดูดผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามารักษาได้ 150,000 คนเมื่อปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ที่มีชาวต่างชาติเข้ามารักษาถึง 200,000 และประเทศไทยที่มีถึง 600,00 คน กระนั้นอินเดียก็ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น ในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียวเฉพาะโรงพยาบาลจาสล็อคก็มีชาวอเมริกันได้รับศัลยกรรมกระดูกที่สามารถรักษาให้หายได้เป็นอย่างดีถึง 3 คน

 

โรเบิร์ต คาร์สัน นักธุรกิจวัย 46 ปีจากเท็กซัส คือหนึ่งในนั้น เขามาผ่าตัดใส่กระดูกสะโพกซึ่งก่อนหน้านั้นหนึ่งคืนเขาได้เตรียมเอาไว้ว่ามาทำที่กรุงเทพฯ แต่มีรายการโทรทัศน์ได้พูดถึงเรื่องการรักษาแบบใหม่ ในเรื่องของการเปลี่ยนกระดูกสะโพกใหม่ ที่สร้างความมั่นใจให้กับเขาว่า ขั้นตอนจะยุ่งยากน้อยกว่า และยืนยันว่าสามารถจะเคลื่อนไหวได้มากกว่าเนื่องจากกระดูกจะถูกเหลาออกไปไม่ใช่ตัดออกเหมือนอย่างการเปลี่ยนสะโพกที่เคยเป็นมา ไม่มีการเสนอขั้นตอนการรักษาแบบนี้ในประเทศไทย ดังนั้น 3 วันต่อมาเขาจึงมาที่บอมเบย์ และทำการผ่าตัดโดยนายแพทย์อามีท พิสปิติ ซึ่งได้รับการอบรมวิธีนี้เป็นรุ่นบุกเบิกมาจากอังกฤษ ที่สร้างความประทับใจให้กับคาร์ตันมาก

 

"ผมตอบได้เลยทันทีว่าผมจะมาที่นี่แม้ว่าค่ารักษาจะเท่ากับที่สหรัฐฯ ผมจะกลับมาเพราะเรื่องของการดูแลส่วนตัว"

 

คาร์ตันพบว่าหมอของเขาที่อเมริกานั้นหวงข้อมูล ในขณะที่หมอที่อินเดียนั้น "สื่อสารดีมาก" " หมอบอกผมว่าตรงไหนเป็นอะไร แล้วบอกว่าเขาทำอะไรให้บ้าง และ ที่บอกนี้ก็ไม่ใช่เพราะว่าผมเป็นชาวต่างชาติ คนอินเดียคนอื่นๆ เขาก็ปฎิบัติแบบนี้"

 

หมอจำนวนไม่น้อยที่ให้เบอร์โทรศัพท์ที่บ้านและโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้ป่วย พร้อมกับบอกว่าให้โทรศัพท์ได้เสมอหากมีข้อสงสัย   

 

นอกจากนั้นแล้วการไม่ต้องรอคิวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดึงคนไข้ให้มารักษาที่นี่ได้มาก

 

"ผมสามารถทำการเปลี่ยนสะโพกได้ในอเมริกาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะผมมีแผนสุขภาพ แต่ผมพบว่าคุ้มค่าที่มาที่นี่เพราะว่าผมไม่ต้องรอคิว" กอร์ดอน เดบู อดีตนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งนาซาวัย 73 ปี จากคาลิฟอร์เนียกล่าว

 

เดบูยิ่งตื่นเต้นเข้าไปอีกเมื่อรู้ว่า ภรรยาของเขาสามารถพักที่โรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องเสียค่าห้องเพิ่มเติม ในบางรายคนทั้งครอบครัวก็เดินทางมากับผู้ป่วยด้วย

 

" ลูกสาวและลูกเขนของฉันก็เดินทางมากับเราด้วย พวกเขาไม่ไว้ใจ" เอ็ดนา ฮาร์ชา วัย 59 ปี  พนักงานขับรถโรงเรียนจากเลควิล มินเนสโซตา กล่าวขณะที่มารับการผ่าตัดสะโพกโดยมีสามีของเธออยู่ข้างๆ  เธอนอนอยู่ในห้องที่มองเห็นวิว ทะเลอารเบียนชัดเจน มองภาพวิวบอมเบย์ที่ครอบครัวของเธอถ่ายมาให้

 

มีคู่แต่งงานจากสหรัฐฯ ไอร์แลนด์ และแม้แต่จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มารักษาการมีบุตรยาก และมีผู้หญิงบางคนมาพร้อมกับอสุจิแช่แข็งในภาชนะที่ใส่ไนโตรเจนเหลว

 

ดร.ฟิรุซา ปาริคห์ กล่าวว่า เธอบอกให้ผู้หญิงเตรียมวางแผนที่จะอยู่สักสองรอบไข่ตก หรือสองเดือน พวกเขาก็สามารถอยู่ในโรงแรมหรือเช่าอพาร์ตเมนต์ได้

 

"ส่วนใหญ่สามีจะมาระยะสั้น ทางเราก็จะแข่งแข็งอสุจิเอาไว้" ดร.ปาริคห์กล่าว

 

การทำเด็กหลอดแก้วอาจมีค่าใช้จ่ายถึง 20,000 เหรียญสหรัฐฯ (8.2 แสนบาท) ในอเมริกา 15,000 เหรียญ (6.15 แสนบาท) ในยุโรป แต่ที่อินเดียนั้นมีค่าใช้จ่ายเพียง 2,500 เหรียญสหรัฐฯ (1.02 แสนบาท) เท่านั้น

 

สำหรับ เธเยอร์แล้ว เขามีข้อแนะนำสำหรับอินเดียว่า น่าจะไปทอดสมอเรืออยู่ที่น่านน้ำสากลใกล้ๆ กับลอส แองเจลลีส "ท่าหนึ่งสำหรับศัลยกรรมกระดูก ท่าหนึ่งสำหรับโรคหัวใจ เราต้องการการเปลี่ยนแปลงในอเมริกา เราต้องการการรักษาที่ถูกลง เราต้องการเรือโรงพยาบาลจากอินเดีย"

 

ใครๆก็ต้องการการรักษาราคาถูก  แต่การได้รับการรักษาที่ดีที่สุดไม่เคยตกถึงคนจนเลย แม้ว่าจะมีแพทย์ฝีมือดีที่สุดอยู่ในประเทศยากจนก็ตาม แต่ถ้าชาวอเมริกันจะช่วยกันบอกรัฐบาลของตนให้ลดค่ายาหรือเครื่องมือทางการแพทย์ลงบ้างคนจนในประเทศอื่นก็คงจะเข้าถึงการรักษากันได้มากกว่านี้

 

----------------------------------

เรียบเรียง : AP และ Post Mount Herald

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท