Skip to main content
sharethis







ประชาไท - 20 ต.ค.48      ความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาคำนิยาม และมาตราต่างๆ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกานำข้อสรุปของที่ประชุมไปร่างถ้อยคำ


 


โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ในบทเฉพาะกาล มาตรา 64/1 ซึ่งระบุให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ป่าชุมชนบังคับนั้น ให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนเวลาการประกาศพื้นที่เป็น 2 ปี


 


เนื่องจากนายสุวัช สิงหพันธุ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชี้แจงว่า หน่วยงานราชการมีนักวิชาการด้านการอนุรักษ์จำนวนไม่มาก ขณะที่พื้นที่ซึ่งมีพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์หายากในประเทศไทยนั้น เชื่อว่ายังไม่มีการค้นพบอีกเป็นจำนวนมากจึงน่าจะขยายเวลา อีกทั้งไม่ควรเขียนกฎหมายปิดช่องทั้งหมด เพราะในอนาคตอาจมีการค้นพบพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติม


 


พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการร่วมฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ขยายเวลาประกาศพื้นที่จาก 1 ปีเป็น 2 ปีให้เหตุผลว่า แม้เงื่อนเวลาดังกล่าวจะเสนอโดยนายอภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์ กรรมาธิการ่วมจาก ทส.เองก็ตาม แต่ช่วงที่เสนอนั้นยังไม่มีการระบุเงื่อนไขการมีส่วนร่วมของประชาชนในกฎหมายอย่างละเอียดเช่นนี้ ดังนั้น จึงควรขยายเวลาเพื่อไม่ให้เกิดการเร่งรัดกระบวนการมีส่วนร่วม


 


นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายพนัส ทัศนียานนท์ ส.ว.ตาก ที่ให้ตัดข้อความ "เมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้วจะออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษไม่ได้" ออกจากมาตรา 64/1 นี้ เนื่องจากเป็นข้อความที่ไม่จำเป็น แม้ไม่เขียนไว้ก็มีความหมายเช่นนั้น


 


ทั้งนี้ กรรมาธิการร่วมกันได้ลงมติเมื่อวันที่ 15 ก.ย.48  ให้มี "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" เพิ่มเติมในร่างพ.ร.บ.นี้ตามที่ ทส.เสนอ โดยในพื้นที่นี้ไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนเนื่องจากมีความอ่อนไหวทางนิเวศวิทยามาก และมีพื้นที่ประมาณ 19 ล้านไร่ทั่วประเทศ


 


ส่วนคำนิยามของพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ ทางกฤษฎีกาได้กำหนดนิยามว่า "เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ หมายความว่า เขตพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ พื้นที่ที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง พื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้โดยง่าย พื้นที่ที่มีคุณค่าทางด้านธรณีวิทยาหรือโบราณคดี หรือพื้นที่ที่มีพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์"


 


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติให้กำหนดเพิ่มเติมตอนท้ายด้วยว่า "ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้" โดยให้เหตุผลว่า ไม่เช่นนั้นเงื่อนไขของพื้นที่อนุรักษ์พิเศษดังกล่าวจะสามารถครอบคลุมพื้นที่ป่าสมบูรณ์ได้ทั่วประเทศ


 


กมธ.ถกเครียดการมีส่วนร่วม


ส่วนประเด็นที่มีความสำคัญและถกเถียง ปรับเพิ่มกันมากในการประชุมหลายครั้งคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประกาศเขตอนุรักษ์พิเศษของทางราชการ โดยกรรมาธิการร่วมบางส่วนเห็นว่า ควรระบุเงื่อนไขหลักของการมีส่วนร่วมไว้ในกฎหมายนี้ด้วย เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนมากกว่าให้รัฐมนตรีไปกำหนดเงื่อนไขเองในระดับกฎกระทรวง


 


ทั้งนี้ กฤษฎีกาได้ไปร่างถ้อยคำออกมาในมาตรา 58/1 กำหนดให้การประกาศเขตอนุรักษ์ทำโดยรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตแนบท้ายประกาศ


 


นอกจากนี้ในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ รัฐมนตรียังต้อง "จัดให้" 1. มีการปิดประกาศ ส่งข้อมูล หรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการกำหนดเขตให้ประชาชนทราบล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสม 2.มีแผนที่บริเวณที่จะกำหนดเป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ พร้อมทั้งแสดงเหตุผลความจำเป็น 3. ให้บุคคลที่ร้องขอเข้าสำรวจพื้นที่ตามความเหมาะสม และ 4.ให้ประชาชนเข้าร่วมกำหนดแนวเขต


 


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นควรตามที่นายพนัสเสนอให้เปลี่ยนคำว่า "จัดให้" เป็น "เปิดโอกาส" เนื่องจากคำว่า "จัดให้" ในทางกฎหมายเป็นการบังคับและกลายเป็นภาระผูกพันภาครัฐมากเกินไป นอกจากนี้ยังให้ยุบรวมของ 3 และ 4 ไว้ด้วยกัน


 


"มันเกินขอบเขตของความพอเหมาะพอดีในเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วม เรื่องการกำหนดเขตเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยตรง ซึ่งต้องให้ชาวบ้านร่วมรู้เห็นด้วย แต่ไม่มีบ้านเมืองไหนให้มากเท่าเมืองไทย เราเป็น Cathoric more than Pope"นายพนัสกล่าว


 


ในส่วนของวรรคท้ายมาตรา 58/1 ที่ระบุว่า "เมื่อได้ดำเนินการตามความในวรรคสองแล้ว แต่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษได้ทันกำหนดระยะเวลาที่กำหนดในมาตรา 64/1 ให้ถือว่าเป็นกระบวนการที่ได้ดำเนินการมาแล้วเป็นอันครบถ้วนสำหรับการประกาศเขตอนุรักษ์พิเศษได้"


 


ในประเด็นนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เสนอ โดยนายอลงกรณ์ชี้แจงเหตุผลว่า นัยของมาตรานี้คือ หากกระบวนการมีส่วนร่วมที่จัดทำขึ้นแล้วไม่ลงตัว ประชาชนไม่ยอมรับ ท้ายที่สุดให้รัฐมนตรีสามารถกำหนดเขตได้อัตโนมัติตามกฎหมายกำหนด โดยชาวบ้านไม่มีสิทธิฟ้องร้อง หากเป็นเช่นนี้ อาจเกิดปัญหาในภายหลังได้ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิในการฟ้องศาลปกครองของประชาชน


 


เรื่องสุดท้ายคือ บทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ที่ประชุมเห็นร่วมกันในการกำหนดให้ป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีโทษสูงกว่าป่าชุมชนนอกเขตป่าอนุรักษ์ โดยมอบหมายให้นายพนัสไปร่างถ้อยคำมาเสนอในที่ประชุมสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย      


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net