Skip to main content
sharethis




คลื่นความคิด


โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์และทีมงาน


ออกอากาศ  วันเสาร์  9.00 -10.00 น. / วันอาทิตย์ 8.30 -10.00 น.


ออกอากาศซ้ำ (re-run) ประมาณ 03.00 น.  คืนวันเสาร์ / อาทิตย์


ทางสถานีวิทยุ FM 101 เมกะเฮิร์ตซ์


(คลื่นความคิดเป็นรายการสนทนาเชิงวิเคราะห์ในหลากหลายเรื่องราว ในมิติของประวัติศาสตร์ ปัจจุบันและอนาคต)   


 


เมื่อธรรมชาติประกาศสงคราม…


ทั้งดาวเดือนดินฟ้าก็อาเพศ…


(ออกอากาศ  8-9  ตุลาคม  2548)


 


God says to man  "I heal you, therefore I hurt,  love you, therefore punish."


พระเจ้าตรัสต่อมนุษย์  "เพื่อเยียวยาข้าจึงทำให้เจ็บ เพราะรักจึงต้องลงโทษ"


                                        


                                                      รพินทรนาถ ฐากูร


                                    "นกเถื่อน" (Stray Bird)


 


เรื่องที่จะคุยกันสัปดาห์นี้ บางท่านอาจเห็นเป็นเรื่องไกลตัว  แต่ที่จริงขณะนี้ใกล้ตัวมาก เจียนตัวกันขนาดใกล้ตาย และล้มตายกันไปมากมายด้วยฤทธิ์เดชของลมฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ถึงวันนี้คงต้องยอมรับว่ามันใกล้ตัว ตรงตัว โดนตัวกันหนักขึ้นๆ เห็นได้ชัดขึ้นๆ


 


เวลาแห่งการ "ชำระโลก"  ?


ระยะนี้มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นทางการอย่างคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ของกทม. เรื่องน้ำป่า น้ำหลาก แต่ถ้าฟังพวกโหราศาสตร์ ท่านที่มีอินเตอร์เน็ตคงเจอคำเตือนสยองๆ กันบ้างแล้ว   ที่รู้สึกฮือฮาพอสมควร  จนเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์   วิทยุ   ทีวี ก็คือคำเตือนของ "ดร.กัญจีรา กาญจนเกศ" ที่ดูๆ ท่านน่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ในอีกบทบาทหนึ่งว่าเป็นประธานชมรม "วิถีธรรม-วิถีไทย" ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับธรรมะหรือมีมุมมองอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เตือนไว้น่ากลัวมาก รวมๆ แล้วก็คือ ระหว่าง 11-29 ตุลาคมนี้ จะมีเหตุร้ายทางธรรมชาติเกิดขึ้นหลายกรณี ไม่ว่าน้ำท่วมในทุกภาค กทม. หนักสุด เจอทั้งน้ำท่วมและแผ่นดินไหว ผู้คนแถบหัวลำโพง ปทุมวัน มาบุญครอง ดินแดง รัชโยธิน อาจถูกธรณีสูบเพราะแผ่นดินยุบตัว


ส่วนอาจารย์ "ปริญญา ตันสกุล" ที่ข่าวบอกว่าเชี่ยวชาญเรื่องพลังจิตจักรวาล การันตีสรรพคุณว่าเคยทายเรื่องตึกเวิลด์เทรดถล่ม เรื่องคลื่นยักษ์สึนามิมาแล้ว ก็เตือนในทำนองเดียวกันว่าตุลาคมนี้มีสิทธิ์เจอเรื่องหนักๆ เกี่ยวกับพายุ แผ่นดินไหว โดยเฉพาะช่วงวันที่ 11 เดือน 11 นี่แหละ ถ้าหากไม่หันมาทำความดีให้มาก ท่านบอกว่าลำบากแน่ๆ


แต่ถึงจะไม่คาดเดา ไม่ต้องทำนายทายทักกันแบบโหราศาสตร์หรือไสยศาสตร์ สภาพความเป็นจริงที่เห็นๆ กันอยู่ในระยะนี้ก็คงปฏิเสธได้ยากว่าอะไรต่างๆ ในธรรมชาติมันกลายเป็นปัญหาหนัก เป็นปัญหาใหญ่เอาการ ทั้งในบ้านเราที่ภาคเหนือน้ำท่วมกัน 3-4 รอบ อีสานที่แล้งจัดจนน้ำในเขื่อนแห้งขอด แวบเดียวเจอน้ำท่วมเข้าไปหลายจังหวัด แต่ที่ภาคตะวันออก ระยอง พัทยากลับแล้งจนเกิดสงครามชิงน้ำ ไม่มีน้ำใช้  และในระดับโลกที่ต้องบอกว่าโดนกันไปทั่วทุกทวีป ไม่ว่าเอเชีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกาเหนือ-กลาง-ใต้ ออสเตรเลีย เลยไปถึงขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ ความวิปริตของสภาพทางธรรมชาติแสดงตัวชัดเจนแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์ ถกเถียงกันในเรื่องทฤษฎีอีกต่อไป บางรายนั้นถึงกับใช้คำว่าเวลาแห่งการ "ชำระโลก" ได้มาถึงแล้ว


 


จุดกำเนิด-ที่เกิดเหตุ


เรื่องของสภาพอากาศ สภาพธรรมชาติที่ว่านี้ คนที่มีความห่วงใยและมองเห็นภัยพิบัติที่จะมีต่อผู้คนในระดับทั่วทั้งโลก ได้ออกมาเตือนมาย้ำกันอยู่บ่อยๆ คำเตือนที่ค่อนข้างชัดเจนและมีน้ำหนักที่สุดนั้น มีมาตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษใหม่ คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงนั้น นักวิทยาศาสตร์รายหนึ่งที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับเรื่องโลกและสภาพแวดล้อมของโลกโดยเฉพาะ คือ นาย "เลสเตอร์ อาร์ บราวน์" ประธานสถาบันจับตาสภาวะโลก หรือ World Watch Institute ได้เขียนคำประกาศไว้ในหนังสือชื่อ "สภาวการณ์โลก 2000" ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาหนักที่สุด หรือหนักระดับท้าทายอารยธรรมของมนุษย์โลกนับจากนี้ไป มีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่ถ้าหากมนุษย์แก้ไขหรือควบคุมไม่ได้ โอกาสที่จะเกิดการล่มสลายทางอารยธรรมกันในช่วงศตวรรษ 21 นี้ รับรองว่าเป็นไปได้แน่นอน 2 เรื่องที่ว่านั้น เรื่องแรกคือ "ปัญหาประชากรโลก"  อีกเรื่องคือ "สภาพความผันแปรของลมฟ้าอากาศ" นี่เอง


เรื่องของสภาพลมฟ้าอากาศ สภาพธรรมชาติ เคยนำมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในรายการ "คลื่นความคิด" นับสิบๆ ครั้งแล้ว ครั้งนี้จะสรุปย่อๆ สิ่งที่เคยพูดไว้แล้วอีกสักนิด ก่อนจะติดตามความคืบหน้าของข่าวคราวและบทวิเคราะห์วิจัยใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้กันต่อไป


สรุปย่อๆ ก็คือ ในเรื่องของความวิปริต หรือความเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศนั้น จากการวิเคราะห์วิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ซึ่งต้องย้อนกลับไปพิจารณาข้อมูลในอดีต ปรากฏว่าได้เริ่มเห็นเค้าลาง "ความวิปริต" ที่ว่านี้มาตั้งแต่ประมาณ 200 ปี   หรือ 2 ศตวรรษที่แล้ว อันเป็นช่วงระยะเวลาที่ "วิถีทางชนิดหนึ่ง" ของมนุษยชาติเริ่มต้นแผ่ขยายออกไปทั่วโลกอย่างเป็นระบบ ซึ่งก็คือวิถีทางที่เรียกว่า "ทุนนิยม" นั่นเอง  หรือพูดง่ายๆ ว่า นับตั้งแต่โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า "ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม" เมื่อ200 ปีที่แล้ว ที่ทำให้บรรดาชาติฝรั่งตะวันตกออกไล่ล่าหาแหล่งวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติเข้ามาป้อนโรงงานอุตสาหกรรมของตนเอง และแสวงหาตลาดในทุกซีกโลกเพื่อระบายสินค้า จนเกิดการไล่ล่าอาณานิคมแผ่กระจายกันไปทั่วโลก พฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นไปตามแรงผลักดันที่เรียกว่า "ระบบทุนนิยม" นี่เองที่ส่งผลกระทบไปถึงสภาพลมฟ้าอากาศ หรือทำให้ทิพอาสน์ของเทวดาเริ่ม "กระด้างดังศิลา" มาตั้งแต่นั้น


ผลการตรวจวัดสภาพอากาศย้อนหลังไปถึงยุคที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เริ่มขึ้น ทำให้พบเห็นชัดเจนว่า ปริมาณก๊าซที่ทำลายชั้นบรรยากาศอันเกิดจากระบบอุตสาหกรรม เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในชั้นบรรยากาศถึง 31 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนคือ มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 280 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วนบรรยากาศ ในอีกราว 100 ปีต่อมา  ขณะที่ทุนนิยมกำลังแข่งขันกับสังคมนิยมในการพัฒนาความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ความทันสมัยต่างๆ ในช่วงต้นๆ ของยุคสงครามเย็น หรือในช่วงปี ค.ศ. 1959 ( ประมาณปี พ.ศ. 2500,2502) ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มเป็น 316 ส่วน ต่อ1 ล้านส่วน  คืออาการหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่หนักที่สุดหรือทำให้อัตราเร่งในการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศเห็นได้ชัดเจนจนเกิดอาการสยองขวัญกันไปทั่ว ก็คือหลังจากทุนนิยมได้เอาชนะใครต่อใครในโลกได้หมดแล้ว หรือทำให้ทั่วทั้งโลกต้องหันมาเดินบนเส้นทางทุนนิยมเหมือนกันหมด ไม่ว่าประเทศยักษ์ๆ อย่างจีน รัสเซีย อินเดีย ที่ต่างพร้อมใจกันเป็นทุนนิยม ปรากฏว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมันเพิ่มพรวดพราดขึ้นมาอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 750 พันล้านตัน สูงที่สุดในรอบ 420,000 ปี หรือหนักที่สุดตั้งแต่อารยธรรมเริ่มแรกของมนุษย์ยังไม่เกิดขึ้นกันเลย และยังเพิ่มกันแบบก้าวกระโดด เพิ่มแบบพรวดพราด จนคาดคำนวณได้ว่าหากยังไม่มีการจัดการควบคุมป้องกันอะไรกันเลย ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มันจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้านตัน


 


Global Warming Monster !


บรรยากาศที่ถูกทำลาย ถูกแทรกซึมด้วยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศชนิดต่างๆ ไม่ว่ามีเทน กรดไนเตรท และสารที่เรียกว่า CFC ที่เรียกรวมกันว่า "ก๊าซเรือนกระจก" เหล่านี้คือตัวการที่ทำให้โลกทั้งโลกมีสภาพคล้ายๆ กับถูกครอบไว้ด้วยเรือนกระจกที่เรียกว่า "กรีนเฮาส์ เอฟเฟ็คท์" (Green-house Effect) ที่เข้าใจกันง่ายๆ ว่า คือภาวะที่รังสีความร้อนของดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก แทนที่จะระบายหรือออกไปให้พ้นชั้นบรรยากาศโลกได้ กลับถูกขัง ถูกอบไว้ในเรือนกระจกที่ว่า  จนทำให้เกิด "ภาวะโลกร้อน" (Global Warming) ขึ้นมาทีละนิดทีละหน่อย ซึ่งถ้าหากพูดกันเป็นองศาๆ ก็อาจจะรู้สึกว่าไม่หนักหนาสักเท่าไหร่  คือเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส  หรืออาจเพิ่มขึ้นอีก 4 หรือ 6 หรือ 10 องศาเซลเซียสในอนาคตก็แล้วแต่  อันที่จริงแล้ว แต่ละองศาที่เพิ่มขึ้นนั้นมันก่อให้เกิดความหนักหนาสาหัสต่อสรรพสิ่งต่างๆ ในโลก ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ที่เคยชินหมุนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่ในสภาพลมฟ้าอากาศที่เป็นปกติ ก็ย่อมจะต้องเกิดอาการวิปริต ผิดเพี้ยน เปลี่ยนแปรไปตามอุณหภูมิแต่ละองศาที่คิดเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วทั้งโลก


ผลกระทบของความร้อนที่อบโลกเหมือนโลกถูกวางไว้ในหม้ออบหรือเตาอบที่ว่านี้ มันจะส่งผลกระทบต่อบรรดาสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกอย่างไรบ้าง นักวิทยาศาสตร์แทบทุกสาขาได้เคยศึกษา วิจัยและแจกแจงเอาไว้ในแต่ละแง่แต่ละมุมกันเยอะแยะ ไม่ว่ากรณีของน้ำทะเลหรือน้ำแข็งอันเป็นส่วนประกอบที่คิดเป็นเนื้อที่ หรือปริมาณมากที่สุดในองค์ประกอบความเป็นโลก นั่นก็คือมันจะมีทั้งความร้อนที่ทำให้ธารน้ำแข็งหรือทุ่งหิมะต่างๆ ไม่ว่าในเขตขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ ที่อาจเปรียบเปรยง่ายๆ ว่า เป็นเสมือนเครื่องทำความเย็น หรือเครื่องปรับอากาศให้กับโลกในภาวะปกติมาตลอด จะเย็นน้อยลง หรือร้อนมากขึ้นจนตัวมันเองต้องละลาย ไม่สามารถสร้างอุณหภูมิความเย็นได้เหมือนปกติ หรือทำให้ทะเล  มหาสมุทร ลมฟ้าอากาศต่างๆ วิปริตผันแปรกันยิ่งขึ้นๆ  และในตอนที่ละลายกันมากๆ เป็นปริมาณนับล้านๆ ตารางกิโลเมตร ละลายกันในระดับเทียบกับพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศทั้งประเทศ ก็ย่อมทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเทลงมาในแผ่นดินมากตามไปด้วย จึงเกิดน้ำท่วมบ่อยๆ ท่วมหนัก ท่วมถี่ขึ้นเรื่อยๆ และปริมาณน้ำในทะเลและมหาสมุทรที่เขยิบตัวสูงขึ้นนั้น ไม่ว่าจะสูงเป็นเซนติเมตร หรือมีแนวโน้มสูงกันเป็นเมตรๆ ก็ย่อมจะหมายถึงบรรดาเกาะแก่ง แผ่นดินชายขอบชายทวีปทั้งหลายก็จะต้องถูกกลืนกินไปตามสภาพ


ขณะที่ปริมาณน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น ปริมาณความร้อนกลับไม่ลดลง เพราะความร้อนที่ถูกเก็บกักไว้ในเรือนกระจกโลก   ทำให้พื้นผิวของมหาสมุทร กลายเป็นตัวการสร้างสิ่งที่นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า "หย่อมความกดอากาศต่ำ" อันเป็นผลให้พายุก่อตัวมากขึ้น เร็วขึ้น และรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อไปยังสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในทะเลและมหาสมุทร ไม่ว่าปะการัง สาหร่ายทะเล อันเป็นที่อยู่ที่กินที่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลาที่ต่างก็จำต้องได้รับผลกระทบของความวิปริตจนสูญพันธุ์ หรือเพิ่มพันธุ์ในบางประเภท จนกลายเป็นปัญหา ส่งผลกระทบมาถึงมนุษย์จนได้


ผลกระทบในระดับแผ่นดินนั้น เริ่มที่ประเภทเล็กที่สุดคือเชื้อโรคทั้งหลาย อุณหภูมิอากาศที่ผิดปกติแบบฉับพลันทันทีหรือแบบวิปริตนั้น เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในหมู่นักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยาว่ามันมีโอกาสที่จะทำให้สิ่งมีชีวิต "กลายพันธุ์" ได้ง่าย จึงเกิดปรากฏการณ์ที่บรรดาเชื้อโรคระบาดร้ายแรงต่างๆ ที่เคยผลาญชีวิตมนุษย์จำนวนมหาศาลในอดีต อาทิ มาลาเรีย อหิวาตกโรค ฝีดาษ กาฬโรค ไข้เหลือง โปลิโอ ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งมนุษย์สามารถเอาชนะมันได้แบบสิ้นเชิงและเชื่อว่าไม่สามารถกลับมาคุกคามได้อีกตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แต่เจ้าโรคเหล่านี้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ด้วยการกลายพันธุ์จนมีฤทธาอานุภาพแบบใหม่ ที่ตัวยาเดิมๆ ไม่อาจใช้รักษาป้องกันได้อีกต่อไป หรือใช้ได้ผลน้อยลง  และยังเกิดโรคระบาดที่ไม่เคยมีมาก่อนที่เรียกว่า "โรคอุบัติใหม่" เพิ่มขึ้นอีกหลายต่อหลายโรค เช่น โรคซาร์ส  ไข้หวัดนก โรคเวสต์ไนล์ ที่ทำให้สมองอักเสบ เป็นต้น  หรือมันได้ทำให้ภัยคุกคามที่เคยคร่าชีวิตมนุษย์ ในแต่ละคราวเป็นสิบๆ ล้านคน        ได้ฟื้นชีพกลับคืนมาราวกับกองทัพผีดิบ


แวมไพร์ถูกปล่อยออกจากประตูนรกกันอีกครั้งนั้นเอง


ความผันผวนวิปริตของสภาพอากาศยังเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่บางพื้นที่จากเดิมที่เคยเป็นป่า เป็นภูเขา เป็นทุ่งราบ  ให้กลายเป็นทะเลทรายได้ง่ายๆ  แม้กระทั่งภาคอีสานบ้านเราที่เมื่อปีสองปีก่อนมีการวิจัยไว้ว่า ในอนาคตอีกไม่กี่สิบปี ค่อนข้างชัดเจนว่าจะเกิดทะเลทรายพอให้ขี่อูฐกันได้ในหลายจังหวัด ในขณะที่บางพื้นที่ก็จะกลายเป็นทุ่งหิมะ ทุ่งน้ำแข็งในบางฤดูกาล เช่น เกาะอังกฤษทั้งเกาะที่คาดๆ กันว่าน่าจะอีกไม่กี่สิบปี จะมีโอกาสที่ใครต่อใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นอาจจะเย็นจนแข็ง กลายเป็นเสาหินสโตนเฮนจ์กองระเกะระกะกันได้ไม่ยาก ผลกระทบที่มีต่อแผ่นดินเช่นนี้ ย่อมมีโอกาสทำให้ทั้งสัตว์ พืช ล้มหายตายจากในระดับสูญพันธุ์ได้เป็นหมื่นๆ สายพันธุ์ และยังนำความป่วยไข้มาสู่มนุษย์ในแต่ละฤดู ไม่ว่าร้อนตาย หนาวตาย ได้นอกเหนือจากโรคระบาดอีกต่างหาก และยังทำให้ผืนดินที่เคยใช้เพาะปลูก ทำการเกษตรชนิดต่างๆ แทบทำไม่ได้ หรือทำได้ลำบากขึ้น เพราะเมื่อบรรดาก๊าซร้ายๆ     ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกค้างคาอยู่ในบรรยากาศนานเข้า     มากเข้า     ก็จะกลั่นตัวพร้อมไอน้ำกลายเป็น


"ฝนกรด" ซึ่งเมื่อโรยตัวลงมายังแผ่นดิน ก็จะทำลายต้นไม้ ใบหญ้า ทำลายป่าแต่ละป่า ซึมลงไปใต้ดินไปดูดธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม ทำให้ดินเสื่อมสภาพ  หรือไม่สามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์ได้อีก ในขณะเดียวกัน ความร้อนความแล้งก็จะเผาผลาญปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบต่างๆ ที่เคยเป็นที่พักพิงของผู้คนในแทบทุกทวีป ทำให้ปริมาณน้ำจืดลดลงๆ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งในทุกวันนี้ ผู้คนในโลกไม่น้อยกว่า 1,100 ล้านคน ต้องอยู่ในสภาพขาดน้ำจืดสำหรับการบริโภค อีก 2,400 ล้านคน ต้องบริโภคน้ำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้นทุกที


พูดง่ายๆ ว่าลัทธิทุนนิยมที่เริ่มต้นและแผ่ขยายตัวโดยอาศัยกิเลสมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อนตั้งแต่เมื่อ 200กว่าปีที่แล้ว ไม่ได้แค่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในพื้นที่ต่างๆ   ในประเทศต่างๆ   เล็กๆ   น้อยๆ ประเภทแค่ทำให้ครอบครัวไม่อบอุ่นเท่านั้น แต่มันเป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีทางของโลกทั้งโลก เปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศ เปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในระดับทั่วทั้งโลกอีกด้วย


            และในขณะนี้ ผลของการเปลี่ยนแปลง ก็ได้ปรากฏให้เห็นต่อสายตาของเรากันแบบชัดเจนยิ่งขึ้นๆ หรือเห็นกันจะจะแล้วว่านำมาซึ่งอะไรบ้าง


 


เมื่อน้ำแข็ง…ละลาย


ถ้าไล่กันมาตั้งแต่เรื่องของปริมาณน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกทั้งสองและทุ่งหิมะแถบเหนือ-ใต้ ที่เป็นเสมือนเครื่องปรับอากาศให้กับโลกมาโดยตลอด บัดนี้ ข่าวล่าสุดที่ไม่ใช่แค่ทฤษฎีหรือการวิเคราะห์ในระดับใช้เหตุใช้ผลเท่านั้น แต่เป็นการพบเห็นด้วยสายตาจริงๆ จากภาพถ่ายดาวเทียมที่มองลงมาจากอวกาศโดยนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซ่า รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ทำการศึกษาน้ำแข็งในแถบ "อาร์คติก" มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ได้แถลงข่าวเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ปริมาณพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งในแถบทะเลอาร์คติก หรือบริเวณขั้วโลกเหนือ ได้หดตัวลงจากที่เคยกินอาณาเขตพื้นที่ประมาณ 7 ล้านตารางกิโลเมตร ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2521-2543  โดยในวันที่ 21 กันยายน 2548  ตรวจพบว่าปริมาณน้ำแข็งในพื้นที่ดังกล่าวหดลงเหลือแค่ 5.31 ล้านตารางกิโลเมตร หรือหดตัวลงไปเกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตร กว้างขวางขนาดไหนก็ลองหลับตานึกดู ถือว่าเป็นการหดตัวจนเหลือปริมาณน้ำแข็งน้อยที่สุดในรอบศตวรรษ หรือในรอบ 100 ปี ด้วยอาการเช่นนี้ สามารถ "ฟันธง" ได้เลยว่า ถ้าหากอัตราการละลายยังคงเป็นไปในลักษณะนี้ ก็จะทำให้ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ พื้นที่ในเขตอาร์คติก จะตกอยู่ในสภาพไม่มีน้ำแข็งเหลืออยู่เลยในช่วงฤดูร้อน อาการที่แสดงให้เห็นชัดเจนเช่นนี้  นาย "มาร์ค เซอร์เรซ" ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งฯ ดังกล่าว สรุปอย่างชัดเจนว่า…เกิดจากภาวะโลกร้อน หรือภาวะที่ก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากขึ้นนั่นเอง สรุปว่าเครื่องปรับอากาศเครื่องหนึ่งในจำนวนสองเครื่องที่โลกมีอยู่ ได้แสดงอาการว่ากำลังจะพังพินาศแล้ว


มาดูเครื่องปรับอากาศอีกเครื่องที่ขั้วโลกใต้ หรือปริมาณน้ำแข็งในพื้นที่ "อันตาร์คติก"       ซึ่งเมื่อ 2-3 ปี


ที่แล้ว เคยเกิดปรากฏการณ์ที่ภูเขาน้ำแข็งทั้งลูกหลุดออกมาจากขั้วโลกใต้ ลอยเท้งเต้งผ่านมหาสมุทรเป็นระยะทางพันๆ กิโลเมตร จนมาถึงชายฝั่งประเทศอาร์เจนตินา ในอเมริกาใต้ ก็ยังคงเหลือเศษซากให้เห็นเป็นภูเขาเลากา แสดงว่าที่หลุดออกมาต้องมีขนาดมหึมาทีเดียว


ข่าวล่าสุดจากรายงานของหนังสือพิมพ์"โพสต์ ทูเดย์" ฉบับวันที่ 25 กันยายน โดยคุณ "กรกิจ ดิษฐาน" ได้อ้างถึงองค์กรแห่งหนึ่งชื่อ "คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยภาวะอุณหภูมิปรับเปลี่ยน" หรือ IPCC ที่ได้ระบุถึงภาวะของปริมาณน้ำแข็งด้านขั้วโลกใต้ในช่วงล่าสุดว่า ภาวะโลกร้อนในขณะนี้ได้ส่งผลให้พื้นที่น้ำแข็งแถบขั้วโลกใต้ที่เป็นแหล่งน้ำแข็งถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของโลก กำลังละลายและแตกสลายหนักขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพื้นที่น้ำแข็งในบริเวณที่เรียกว่า "แผ่นน้ำแข็งแมคเมอร์โด" ที่มีขนาดกว้าง ยาว 14 กิโลเมตร และลึกลงไปในมหาสมุทรถึง 4 กิโลเมตร ขณะนี้มันได้แตกตัวออกจากขั้วโลกและกำลังละลาย


แน่นอนว่า ปริมาณน้ำแข็งที่กำลังละลายกันหนักขึ้น เร็วขึ้น บริเวณขั้วโลกทั้งสอง ย่อมเป็นตัวเพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทรและในทะเลต่างๆ ให้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ ปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มปริมาณของน้ำในโลกขณะนี้ จึงเห็นได้ชัดขึ้น มากขึ้น และทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนหรือไม่เกิดมานาน แต่ได้เกิดถี่ขึ้นในระยะนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในระดับหนักหนาสาหัสในพื้นที่ที่ไม่ค่อยเคยมีน้ำท่วมมาก่อน ในเยอรมนี ออสเตรีย หรือในสวิตเซอร์แลนด์ที่ถึงขั้นลงทุนลงแรงสร้างผืนโพลีเอสเตอร์ขนาดยักษ์ขึ้นมาห่อธารน้ำแข็งในบริเวณที่เรียกว่า "ธารน้ำแข็งอันเดอร์แมต" เพื่อให้ละลายช้าลงไปบ้างกันแล้ว


ในเอเชีย การละลายของธารน้ำแข็งในทิเบตและหิมาลัยว่ากันว่ามีส่วนที่ทำให้จีนต้องลงทุนสร้างเขื่อนขนาดยักษ์เรียงรายตามเส้นทางเพื่อสกัดกั้นน้ำที่ไหลบ่าจากธารน้ำแข็งเหล่านั้น แต่ก็สกัดไม่อยู่ เพราะน้ำล้นเขื่อนต้องระบายให้ไหลลงมา    ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม    โคลนถล่มไล่กันมาตั้งแต่อินเดีย    บังคลาเทศ   ลุกลามสู่แม่น้ำโขง   อิระวดี สาละวิน ฯลฯ ในที่สุด


ปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นนับแต่นี้ ทำให้องค์กร IPCC คาดการณ์ว่าในช่วงอีกไม่ถึงร้อยปี หรือราวปี ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643)  น้ำทะเลจะสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เมตร ซึ่งในระดับที่ว่านี้จะส่งผลกระทบต่อชาวโลกไม่น้อยกว่า 200 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ตามชายขอบทวีป โดยเฉพาะ เวียดนาม บังคลาเทศ จีน ฟิลิปปินส์  อินเดีย อียิปต์ อินโดนีเซีย และแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ถ้าหากสถานการณ์เป็นไปในลักษณะที่เลวร้ายกว่านั้น ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถเป็นไปได้ คือน้ำอาจจะสูงขึ้นในระดับ 4 เมตร ก็พอสรุปได้ว่า บรรดาเมืองชายฝั่งทั่วทั้งโลกนั้นจะตกอยู่ในสภาพวินาศ วอดวาย หรือถูกกลืนหายไปในทะเลทั้งหมด รวมทั้งประเทศต่างๆ ที่เป็นหมู่เกาะก็แทบเรียกได้ว่าถูกลบหายไปจากแผนที่โลก


 


ปีแห่งมหาวาตภัย


ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่าปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น กลับไม่ได้ทำให้อุณหภูมิในระดับพื้นผิวของทะเล หรือมหาสมุทรลดน้อยลงไป น้ำทะเลที่ถูกอบ ถูกเก็บกักด้วยอุณหภูมิของโลก ย่อมกลายเป็นตัวการทำให้เกิดการก่อตัวของพายุลูกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ถี่ขึ้น มีความแรง ความเร็ว ความร้ายกาจ หนักขึ้นด้วยเช่นกัน ภาพของความเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้ชัด อย่างกรณีของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งถูกถล่มไปหมาดๆ  สถิติในช่วงปี ค.ศ. 1991-1994 (ประมาณ พ.ศ. 2534-2537)  สหรัฐฯ แทบจะอยู่ในสภาพ "ปลอดพายุ" รุนแรง   มีเพียงปี ค.ศ. 1992   ปีเดียวที่เจอลูกใหญ่อย่างเฮอริเคน "แอนดรูว์" แต่หลังจากปี ค.ศ.1994 คือช่วงปี ค.ศ. 1995-1999 (พ.ศ. 2538-2542)  มีพายุเฮอริเคนพัดถล่มชายฝั่งอเมริกาถึง 33 ลูก  และเมื่อมาถึงปีนี้ ก็ทราบกันดีว่าเพิ่งเจอฤทธิ์เดชของเฮอริเคน "คัทรีนา" จนปั่นป่วนวุ่นวายไปทั้งประเทศ ชีวิตทรัพย์สินผู้คน พินาศย่อยยับ กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก  และอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ เฮอริเคน "ริต้า" ก็เข้าถล่มซ้ำ พังพินาศวอดวายไปอีกเยอะ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจและในกิจการที่เกี่ยวกับพลังงานนั้นอาจจะหนักยิ่งกว่าคัทรีนาด้วยซ้ำ


            ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ก็แทบไม่ต่างกันเลย ถ้าติดตามข่าวต่างประเทศบ่อยๆ จะได้ยินชื่อพายุลูกนั้นลูกนี้จนจำแทบไม่ไหว แถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้เจอพายุเฮอริเคน "แสตน" พัดถล่มเอลซาวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เม็กซิโก  เกิดน้ำท่วม โคลนถล่มจนเอลซาวาดอร์ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ  ผู้คนบาดเจ็บ ล้มตาย พลัดที่นาคาที่อยู่ หนักหนาสาหัส  มิหนำซ้ำภูเขาไฟ "ซานตาอานา" ที่เคยสงบมาเป็นร้อยๆ ปี  ก็เกิดระเบิดขึ้นมาอีกในตอนเช้าวันที่ 1 ตุลาคม ต้องอพยพผู้คนออกจากเมืองกันจ้าละหวั่น  ที่กัวเตมาลา รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ 5 เขตบริเวณริมฝั่งทางใต้ ส่วนในอ่าวเม็กซิโกที่รุงรังไปด้วยแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ปั๊มกันสนุกสนานมาโดยตลอด ก็ต้องปิดตัวเองลงไปอีก 3 จุด นอกจากต้องอพยพคนงานออกจากแท่นขุดเจาะแล้ว รัฐบาลเม็กซิโกยังต้องประกาศเขตอพยพ เตรียมที่พักชั่วคราว ตั้งแต่รัฐคาโบโรจ ไปจนถึงรัฐปันตา เอลลา การ์โต เลียบฝั่งทะเลไปตลอด


สำหรับเอเชียนั้น ก็เจอกันหลายลูก ไล่มาจากตะวันออกสุด ญี่ปุ่นเจอไต้ฝุ่น "มาร์วา" ในช่วงวันที่ 26 สิงหาคม ทำให้แม่น้ำมิยากิเอ่อล้น น้ำท่วมเมืองจนท่วมถึงหลังคายิมเนเซี่ยมของโรงเรียนบางแห่ง  ผู้คนในเมืองชายฝั่งอย่างเมืองชิบะไม่มีไฟฟ้าใช้ มาที่ไต้หวัน ที่จีน ก็เจอกันหลายลูก เท่าที่พอจำชื่อได้ก็เช่นไต้ฝุ่น "หลงหวาง"ที่ถูกระบุว่าเป็นไต้ฝุ่นลูกที่ 19 แล้วที่พัดถล่มจีนในปีนี้    ต้องอพยพผู้คน 13,000  คน     หนีน้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำ


แยงซี บริเวณเมืองฝูโจว แถบมณฑลฟูเจี้ยน บ้านเรือนพังพินาศไปถึง 5,400 หลัง ผู้ที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่มีจำนวนสูงถึง 537,000คน นักศึกษาวิชาทหารที่ถูกส่งไปบรรเทาทุกข์ถูกน้ำป่าพัดหายไป 67 คน ประชาชนตายไป15 คน อีกลูกหนึ่งชื่อเป็นภาษาไทยคือ ไต้ฝุ่น "ขนุน" แต่โผล่ไปถล่มไต้หวันไล่ลงมาจีน  แถบเมืองไทโจว มณฑลเจ้อเจียง นั้นตามข่าวว่าต้องอพยพผู้คนถึงเกือบ 1 ล้านคนหนีภัยพายุ จากนั้นก็มาถึงพายุเขมร "ดอมเรย" ที่ถล่มกันเป็นลูกระนาด ทั้งฟิลิปปินส์ เกาะไหหลำ เวียดนาม ลาว และภาคเหนือของไทยทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ท่วมกันระเนนระนาด ของไทยถึงขั้นเขื่อนดินแตก ที่เวียดนาม พนังกั้นน้ำริมทะเลที่สร้างไว้กันพื้นที่ปลูกข้าวแหล่งใหญ่ที่สำคัญของประเทศก็พังพินาศ นาข้าวเสียหายไปถึง 1.11 ล้านไร่ บ้านเรือนพังนับพันๆ หลัง  ระบบไฟฟ้า การสื่อสารใช้การไม่ได้


ในวันที่ 20 กันยายน  พายุไซโคลนก่อตัวในบริเวณอ่าวเบงกอล ทำให้เกิดคลื่นสูงถึง 4 ฟุตกระหน่ำหมู่บ้านริมฝั่งทะเลในบังคลาเทศ ประชาชน 12,000 คนไร้ที่อยู่อาศัยทันที ชาวประมงถึง 3,000 คนสูญหายไปในทะเล  ส่วนที่อินเดีย ผู้คนในรัฐอันตรประเทศ ไร้ที่อยู่อาศัยถึง 62,000 คน บ้านเรือน ถนน ทางรถไฟเสียหายหนัก


และยังมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย เรียกว่าระดมกันมาทั่วทุกทวีป ชนิดที่ต่างไปจากอดีตอย่างมาก มากันเป็นชุด ยิ่งนานวันยิ่งถี่ขี้น ยิ่งแรงขึ้น


คราวนี้ มันไม่หยุดแค่เรื่องน้ำ เรื่องทะเล มหาสมุทรเท่านั้น ในแผ่นดินยังมีความเสียหายตามติดมาอีกเยอะแยะ อย่างในทวีปยุโรป  ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ขณะที่ฟากหนึ่งกำลังโดนน้ำท่วมหนักในเยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ อีกฟากหนึ่งในเสปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส กลับเจอกับภาวะแล้งจัด ถึงขั้นเกิดไฟป่าลุกลามในระดับประเทศ ในสเปน เมืองที่เคยจมน้ำไปเมื่อ 200 ปีที่แล้ว โผล่ขึ้นมาให้เห็นเนื่องจากน้ำแห้ง เช่นเดียวกับบ้านเรา ภาคเหนือน้ำท่วม แต่ภาคตะวันออก ภาคอีสานกลับแล้งถึงขั้นจะเกือบเกิดจลาจลแย่งน้ำกันในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี่แหละ


อย่างนี้ถ้าหากใครยังบอกว่าไม่วิปริต ไม่อาเพศ เป็นแค่เรื่องปกติธรรมดา คงต้องผลักให้ร่วงไปอยู่ในศูนย์กลางพายุกันให้เข็ด


 


การ "คืนชีพ" ของโรคร้าย


การ "อุบัติใหม่" และการ "กลายพันธุ์"


ความวิปริตอื่นๆ   ได้ตามมาให้เห็นกันชัดๆ   อีกหลายเรื่อง    อาทิ ภาวะโรคระบาดที่เห็นกันคาตา จนองค์การอนามัยโลกต้องออกมาย้ำว่า ในศตวรรษนี้นี่แหละที่ประชากรโลกจะต้องเผชิญหน้ากับบรรดาโรคระบาด ทั้งโรคใหม่และโรคระบาดเดิมที่จะกลับมาระบาดใหม่กันอีกไม่น้อยกว่า 180 โรค เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดร."เดวิด นามาโร" ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ได้แถลงว่าไข้หวัดนกที่เคนเล่นงานเป็ด ไก่ในบ้านเรา ในเวียดนามในจีนกันจนต้องฆ่าทิ้งนับสิบนับร้อยล้านตัว  ขณะนี้มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่การระบาด…จากคนสู่คนกันแล้ว ดร.เดวิดใช้คำพูดน่าขนหัวลุกที่หนังสือพิมพ์รายงานไว้แบบคำต่อคำว่า "ผมค่อนข้างแน่ใจว่าจะเกิดการระบาดในไม่ช้านี้" และถ้าหากมันระบาดอย่างที่ว่า  จะมีอานุภาพในการสังหารผู้คนร้ายแรงกว่ายุคปี พ.ศ. 2461 ที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วโลก ซึ่งตอนนั้นคร่าชีวิตประชากรโลกไปถึง 40 ล้านคน  แต่ถ้าไข้หวัดนกระบาดจาดคนสู่คนมันอาจจะทำลายชีวิตประชากรโลกได้สูงถึง 150 ล้านคนเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดประชุมในระดับโลกกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย ทั้งที่สหรัฐฯ แคนาดา เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงเดียวกับที่บ้านเรากำลังชุลมุนวุ่นวายอยู่กับปัญหาในกระทรวงสาธารณสุขนี่แหละ


ส่วนบรรดาโรคเดิมๆ ที่เคยเชื่อกันว่ามันหายไปหมดแล้ว    แต่องค์การอนามัยโลกยังเฝ้าระวังเป็นพิเศษ


3โรค คือ อหิวาตกโรค ไข้เหลือง กาฬโรค มาถึงตอนนี้การประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 58 ที่เจนีวา ได้เพิ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษอีก 4 โรค คือ ไข้ทรพิษ โปลิโอ ซาร์ส และไข้หวัดนก   ทั้ง 7 โรคนี้ หากเกิดระบาดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศนั้นๆ จะต้องรายงานต่อองค์การอนามัยโลกและแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังประเทศอื่นๆ ภายใน 24 ชั่วโมง


 


ทุนนิยมจักถูกทำลาย???


มาถึงช่วงสรุป  จะพยายามหาข้อสรุปในแบบพยายามมองโลกในแง่ดีไว้เป็นหลัก คืออาจจะไม่แรงแบบอาจารย์หมอ "ประสาน ต่างใจ" ที่มองไปถึงระดับเป็น "ทฤษฎีแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ" หรือมองเห็นจุดเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติกันไปเลย ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ต่างไปจากนักธรรมชาติวิทยา นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาวะแวดล้อมหรือสาขาที่เกี่ยวข้องที่มักจะมองกันในแนวที่ว่านี้มานานแล้ว แม้จะพยายามมองให้เบาที่สุด แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อย่างไรๆ ก็คงจะลำบาก น่าจะหนักหนาสาหัสไม่น้อย และน่าจะมีผลกระทบต่อวิถีทาง "ทุนนิยม"ที่เป็นสาเหตุเริ่มต้นของความวิปริตทั้งหลายทั้งปวงกันอย่างจริงๆ จังๆ หรือถึงแม้ภาวะที่ว่านี้มันจะไม่ถึงกับชำระล้างโลก แต่มันก็อาจจะชำระล้างระบบทุนนิยมกันในชนิดที่…อาจจะอยู่ยาก หรืออาจจะยับเยินเช่นเดียวกับซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน หลังพายุพัดถล่ม


อันดับแรก ถ้าพูดถึงความเสียหายที่เกิดจากภาวะวิปริตแปรปรวนของธรรมชาติกันแต่ละครั้งละคราว ก็คงพอเห็นกันชัดๆ แล้วว่ามันหนักหนาสาหัสขนาดไหน อย่างในอเมริกาที่แค่เจอกับเฮอริเคนคัทรีนาลูกเดียวเท่านั้น เฉพาะความเสียหายเบื้องต้นที่ถูกประเมินจากบริษัทประกันภัยทันทีที่พายุสงบ ก็ปาเข้าไป 35,000 ล้านดอลลาร์แล้ว แต่หลังจากนั้นคงจะต้องขยับตัวเลขความเสียหายสูงขึ้นอีกมาก นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันฟันธงล่วงหน้าว่าในไตรมาสที่ 4 หรือช่วงปลายปี GDP จะลดลงเหลือแค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่จะลดลงเฉลี่ยทั้งปีเท่าไหร่ ยังประเมินกันไม่เสร็จ แต่เชื่อว่าลดลงแน่ๆ และจะลามไปถึงปีหน้าอีกด้วย


ยิ่งมาเจอ "คุณริต้า" ถล่มซ้ำอีกลูก คงจะต้องเดี้ยงยาวไปเลย แม้จะเป็นพายุความแรงระดับ3  ไม่ใช่ระดับ4เหมือนคัทรีนา แต่คุณริต้าเธออัดใส่จุดยุทธศาสตร์พอดี คือแท่นขุดเจาะน้ำมัน ที่บริษัทน้ำมันหลายรายออกมาประเมินความเสียหายแล้วบอกว่าหนักกว่าคัทรีนาหลายเท่า เช่น บริษัท ODS -Petroda  บอกกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ว่า "พายุลูกนี้สร้างความเสียหายให้กับแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ร้ายแรงกว่าพายุลูกใดๆที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ทำให้บริษัทน้ำมันทั้งหลายต้องชะลอการขุดเจาะ สำรวจน้ำมัน สร้างผลกระทบทั้งในสหรัฐฯ และอาจกระทบถึงตะวันออกกลางด้วย…"


ต่อจากคุณริต้าก็มาเจอนาย "แสตน" ที่พัดถล่มแท่นขุดเจาะน้ำมันของเม็กซิโกซ้ำเข้าไปอีก ภาวะเช่นนี้ จึงทำให้ องค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือ  IMF ออกมาบอกกล่าวล่วงหน้าว่า ภาวะแนวโน้มราคาน้ำมันที่แพงจนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกทั่วทั้งระบบในขณะนี้     มันจะยังคงแพงต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี  เพราะว่า


ไม่เพียงแต่ภาวะน้ำมันอันเป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งหลายในโลกจะแพง เพราะปริมาณสวนทางกับความต้องการบริโภคอย่างเห็นได้ชัดแล้ว มันยังอยู่ในภาวะ "เปราะบาง" ทางด้านราคาอย่างมาก ในลักษณะที่ว่าถ้าหากถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยภาวะสำคัญๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยธรรมชาติขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะเกิดภาวะ "น้ำมันเขย่าโลก" ได้ทันที


และถ้าหากภัยธรรมชาติไม่หยุดอยู่แค่นี้ นับต่อจากนี้ไปจนถึงปีหน้าและปีต่อๆไปที่มีแนวโน้มจะเป็นไปตามสภาพที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ธรรมชาติ สภาพแวดล้อมคำนวณให้เห็นกันชัดๆ แล้ว มันจะหนักหนาสาหัสต่อระบบเศรษฐกิจและระบบทุนนิยมโลกขนาดไหน?


สหรัฐอเมริกาที่เป็นศูนย์กลางทุนนิยมโลก เป็นแหล่งตลาดและแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโลก แค่เจอคัทรีน่าเข้าไปลูกเดียว GDP ในปีนี้และปีหน้ายังลดลงไปหลายต่อหลายจุด  จีนซึ่งผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งทุนนิยมรายใหม่ เป็นตลาดใหม่ เจอพายุดอมเรยในช่วงปลายเดือนกันยายน ประเมินค่าเสียหายที่เกิดกับเขตมณฑลไหหลำ กวางตุ้ง กวางสี ตัวเลขออกมาเป็น 1,200 ล้านดอลลาร์ ไม่ทันเท่าไหร่ก็เจอกับไต้ฝุ่นหลงหวางเข้าไปอีกลูก ถล่มมณฑลฟูเจี้ยนหนักที่สุด คราวนี้ประเมินค่าเสียหายออกมาเป็นเงินหยวนคืออีก 1,200 ล้านหยวน  สำนักข่าวซินหัวสรุปความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมแผ่นดินถล่มในปีนี้เท่าที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 1,247 ราย สูญหายอีก331 ราย และยังส่งผลกระทบต่อประชาชน 201 ล้านคน หรือคิดเป็น 1ใน6 ของประชากรจีนทั้งประเทศ พื้นที่เพาะปลูกเสียหายไป 37.05 ล้านเอเคอร์ ภัยพิบัติเหล่านี้ส่งผลเสียโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า136,000ล้านหยวน


ส่วนอินเดีย ตลาดใหม่ที่กำลังมาแรง เจอเข้ากับพายุในอ่าวเบงกอล ช่วงวันที่ 20 กันยายน แม้ยังไม่มีการประเมินตัวเลขความเสียหายออกมาชัดๆ แต่ก็น่าจะทำให้บรรดานักวิ่งไล่กวดทุนนิยมแต่ละราย ทรุดโทรมไปด้วยกันทั้งสิ้น


            และก็ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องพายุ เรื่องผลกระทบทางด้านน้ำมันเท่านั้น ผลกระทบจากโรคระบาดก็หนักหนา แค่โรคซาร์สที่ทำให้มีคนตายประมาณ 900คน ติดเชื้อกันไปประมาณ 10,000 คนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ถือว่าเป็นธุรกิจที่มาแรงของทุนนิยมยุคใหม่ คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว มีการสรุปตัวเลขความเสียหายเพราะผลกระทบจากโรคซาร์สว่าไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว


            คราวนี้ ถ้าต้องมาเจอไข้หวัดนกจากคนสู่คน ที่องค์การอนามัยโลกกำลังลุกพรวดพราดขึ้นมาจัดการกันในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ถ้าหากเกิดเป็นจริงขึ้นมา ส่งผลรุนแรงอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกคาดการณ์ไว้ ไม่ต้องถึงตายกันระดับ 150 ล้านคน แค่1,000 คน  หมื่นคน 900 คน พอๆ กับโรคซาร์ส อาการมันจะหนักหนาสาหัสกันขนาดไหน  ยิ่งไปกว่านั้น นิตยสาร "โลกสีเขียว" ฉบับล่าสุด รายงานว่าหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ CIA ได้ออกเอกสารชื่อ "World Fact Book" มีคำเตือนระบุไว้ว่า มีประมาณ 35 ประเทศในโลกนี้ที่อยู่ในข่ายที่ถูกจัดว่าเป็น "พื้นที่เสี่ยงสูงของโรคระบาด" จุดหนักหลักใหญ่อยู่ที่แอฟริกาและเอเชีย สำหรับในเอเชียนั้นมีการระบุชื่อไว้เลยว่า…โดยเฉพาะประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์  มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ปาปัวนิวกินี…มองกันแค่นี้ก็พอจะเห็นๆ แล้วว่า ถ้าหากความเสี่ยงที่ว่านี้มันตูมตามขึ้นมา ดุลการบริการที่เคยกู้หน้าช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของบ้านเราเดือนสองเดือนที่ผ่านไม่ติดลบ มันจะทัดทานกันไปได้อีกนานแค่ไหน?...ก็ไม่ทราบได้


            สรุปสุดท้ายว่า ถึงแม้นว่าภาวะโลกร้อนที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยวิถีทางทุนนิยมอย่างที่ได้ว่าไว้แล้ว มันอาจจะไม่ถึงขั้นล้างโลกหรือชำระโลกกันแบบแรงๆ ก็ตาม แต่ระบบทุนนิยมอันเป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะเหล่านี้และเป็นระบบที่ทั่วโลกวิ่งตามมันอยู่ในทุกวันนี้ มันจะสะดุดคว่ำหน้า หรือจะถูกล้างไปจากโลกจนอาจต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่ วิถีทางใหม่กันเลยหรือไม่ คงต้องฝากให้ช่วยกันคิดอีกครั้ง…


 


 


ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ


-บทความเรื่อง "The Neoconservative Assault on the Earth : The Environmental Imperialism of the Bush Administration"  โดย  Andrew Austin and Laurel Phoenix  ในวารสาร CapitalismNature Socialism  Volume 16  Number 2 (June  2005)  


-----------------------------------------------------------------------------------


 


บทความที่ออกอากาศฉบับก่อนหน้านี้








น้ำมันกับความมั่นคงเชิงป้องกัน (ออกอากาศ 24-25 กันยายน 2548)








โลกทั้งผองพี่น้องกัน (ออกอากาศ 10 -11 กันยายน 2548)






มาตรฐานความดี-ความชั่วที่เปลี่ยนไป?(ออกอากาศ 27-28 สิงหาคม 2548)

 


 


 


  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net