Skip to main content
sharethis

เรื่องโดย : ใกล้รุ่ง พรหมสุภา


1.



"ถ้าหากเขาบริสุทธิ์ใจ กลัวอะไรกับภาพถ่าย กลัวอะไรกับการให้คนได้เห็นความจริง" ชายชาวพม่า-กะเหรี่ยงที่เดินทางไปมาระหว่างชายแดนไทยและพม่าตั้งคำถาม "ทำไมภัยพิบัติในประเทศอื่นจึงมีภาพถ่ายออกมาได้ แต่ของพม่า ต้องหลบ ๆซ่อน ๆ แอบถ่ายกันแทบเป็นแทบตาย"


เป็นที่รู้กันดีว่า ชาวต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศถูกจำกัดไม่ให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยนาร์กีสในพื้นที่ลุ่มน้ำอิระวดี เรือของฝรั่งเศสรอจ่อเพียง 10 กว่ากิโลเมตรจากปากอ่าวพื้นที่ลุ่มน้ำพร้อมทั้งเสบียงอาหารและข้าวของมากมาย หากถูกคณะทหารพม่าปิดกั้นเส้นทาง


มีบางท่านแสดงความคิดเห็นในเชิงชื่นชมคณะทหารพม่าในความ "หยิ่งในเกียรติและศักดิ์ศรี" ที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากภายนอก และนายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้กล่าวยืนยันว่า "พม่าดูแลตัวเองได้" จึงไม่ต้องการความช่วยเหลืออื่นใด


หากในความเป็นจริง แม้แต่ประชาชนท้องถิ่นและกลุ่มท้องถิ่นที่ปรารถนาจะช่วยเพื่อนมนุษย์ก็ถูกจำกัดการเดินทาง การช่วยเหลือ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร


คำถามก็คือ นี่คือการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของประเทศ หรือเพียงความหวาดกลัวว่าตนจะไม่ได้รับคะแนนทางการเมือง และกลัวว่าประชาชนที่โกรธแค้นกับการไร้เสียงเตือนภัยและความช่วยเหลือที่ถูกปิดกั้น โกง ล่าช้า และไม่เพียงพอ จะ "หัวแข็ง" ลุกฮือขึ้น "เพราะมีคนปลุกปั่น"


"ตอนนี้ เท่าที่ดู ที่ผู้รอดชีวิตต้องการมาก ๆก็คือถังเก็บน้ำสะอาด เพราะฝนกำลังตกลงมา พวกเขาไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอ" แห่งข่าวจากภายในพม่าบอก ขณะนี้น้ำในแหล่งธรรมชาติมีแต่ซากศพของสัตว์และคนและน้ำเค็มหนุนขึ้นมาปะปน


"ทหารเอายึดเอาอาหารที่มีคนบริจาคให้ชาวบ้านไปเลย อันนี้เป็นเรื่องจริง เต็นท์พลาสติกสีฟ้านั่นเขาเอาไว้โชว์ออกทีวีเท่านั้น ไม่มีคนอยู่ในนั้นหรอก แล้วเต็นท์บริจาคนั่นทหารเอาไปขายแถวฐานทัพ ในราคา  87,000 จั๊ต"


ในบรรดาองค์กรท้องถิ่นและกลุ่มไม่เป็นทางการที่พยายามดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัย ทว่า "มีแค่มูลนิธิเมตตาเจ้าเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่อิระวดีได้ แต่เท่าที่รู้ เขาจะต้องไม่ส่งรูปถ่ายและข้อมูลออกไปข้างนอก แล้วก็ต้องไม่รับความช่วยเหลือโดยตรงจากใครที่ไหนเด็ดขาด ทุกอย่างคณะทหารต้องคุม" กลุ่มอื่น ๆมักจะไปได้รอบนอก ถ้าจะเข้าไปอิระวดีลึก ๆจริง ๆก็จะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะไประหว่างทาง และไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้อย่างเปิดเผยหรือสะดวกนัก


ในพื้นที่รัฐมอญ ที่ผู้คนอาจไม่ล้มตายมหาศาล หากไร่นาและบ้านเรือนก็เสียหาย ลูกหลานแรงงานอพยพในเมืองไทยต่างพากันส่งเงินไปช่วยเหลือญาติพี่น้อง ผู้บอกว่า "ทหารเอาอาหาร ยา พลาสติกซ่อมบ้านที่เขาบริจาคมาขายที่นี่ด้วย เราไม่อยากได้เพราะสงสารคนที่เขาควรจะได้แล้วไม่ได้ แต่เราก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ต้องซื้อ"


"ทีวีของทหารพม่า มีแต่ภาพทหารไปให้ความช่วยเหลือ ซ่อมถนน แจกของ เวียนไปเวียนมาทั้งวัน" ภาพเหล่านี้ ประชาชนพม่าเลิกเชื่อมานานแล้ว แต่คนนอกส่วนหนึ่งยังคงเชื่อ เพราะไม่ได้มีโอกาสตรวจสอบข้อมูลข่าวสารรอบด้าน


หากเราปรารถนาจะช่วยเพื่อนมนุษย์ผู้ประสบภัยนาร์กีส นอกจากจะพยายามระดมทุนบริจาคผ่านทางผู้ที่ตนเชื่อถือได้มากที่สุดแล้ว เราคงต้องไม่ลืมว่า ประเด็นสำคัญก็คือ เราจะช่วยกันทำอย่างไรให้ความช่วยเหลือนั้น ได้ไปถึงผู้ที่ต้องการมากที่สุด


เราจะทำอย่างไร เพื่อจะลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากโรคระบาด การขาดแคลนอาหาร และข้าวยากหมากแพง


ล่าสุด มีข่าวว่าคณะทหารพม่าจะยอมรับความช่วยเหลือ(เฉพาะ) ข้าวของและบุคลากรทางการแพทย์จากกลุ่มประเทศอาเซียน ทว่า คำถามก็คือ ความต้องการเร่งด่วนขณะนี้มีเพียงเท่านี้หรือ แล้วความช่วยเหลือเหล่านี้จะเข้าถึงพื้นที่ได้เพียงไหน และจะมีกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใสหรือไม่


เส้นขอบแดนระหว่างไทย-พม่า เป็นเส้นสมมติในแผนที่ "หน้าที่ที่จะต้องคุ้มครอง" ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในขอบแดนใด. 


2


 



 


ชะตากรรมของผู้ประสบภัยนาร์กีส อยู่ในบทสนทนาของผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยจำนวนมาก พวกเขาคั่งแค้น ที่เพื่อนมนุษย์บนพื้นที่เดลต้า ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น คนในค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงบนชายแดนไทยจำนวนหนึ่ง มีญาติพี่น้องอยู่ในแถบลุ่มน้ำอิระวดีซึ่งเป็นพื้นที่ชาวกะเหรี่ยง บางคนรอข่าวอย่างกระวนกระวาย บ้างก็ได้ทราบแล้วว่า ผู้เป็นที่รักของตนเสียชีวิต


 


"พี่ชายของฉันตายแล้ว" ครูหญิงคนหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยบอก


 


"หลานฉันมาทำงานเมืองไทย ตอนนี้เขากำลังพยายามจะกลับไปเพราะไม่มีใครดูแลแม่เขา พี่สาว น้องชาย พ่อ ตายหมดแล้ว ข้าวของก็ไม่เหลืออะไรเลย" ป้าคนหนึ่งเล่า "เราได้ข่าวว่า บางพื้นที่ คนไม่ได้กินข้าวมาแปดวันแล้ว เขาจะไม่ได้ตายเพราะพายุ แต่เขาจะตายเพราะคณะทหารพม่า"


 


คนที่ลี้ภัยมาเมืองไทยยังหวังว่าจะมีช่องทางให้พวกเขาได้ช่วยเหลือ แบ่งปันเงินทอง ทรัพย์สินเท่าที่มีให้แก่ผู้ประสบภัยได้บ้าง แต่ทว่า


 


"แม้แต่คนพม่าก็เข้าพื้นที่ไปไม่ได้อย่างเปิดเผย ต้องหาทางกันเอาเอง บางกลุ่มก็ช่วยได้จริง แต่บางกลุ่มก็ไม่ใช่จะทำได้" เสียงหนึ่งรายงานมาจากในพม่า "ตามวัด โบสถ์ ชุมชน เห็นกลุ่มคนพยายามรวบรวมเงินบริจาคกัน ชาวบ้านพยายามช่วยตัวเองสุดความสามารถ พวกเขารู้นะว่ามีความช่วยเหลือจากต่างประเทศจ่อรออยู่ มีหมอ มียา มีหน่วยกู้ภัยรอจะเข้ามาช่วยเก็บศพ แต่คณะทหารพม่าไม่ให้เข้า"


 


"คนกำลังโกรธมากนะ เห็น ๆกันอยู่ว่าทหารมาเอาของบริจาคคืนไป แล้วก็เอาไปขายในตลาด อาทิตย์แรกที่ของมาถึงนั่นแหละ มีของขายเต็มไปหมด แต่พอข่าวหลุดออกไป ของพวกนี้ก็หายไป แต่ยังหาได้อยู่นะ เพียงแต่ว่าไม่เปิดเผยเอิกเกริกเหมือนก่อนเท่านั้น"


 


เมื่อความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง คนจากอิระวดีที่รอดชีวิตก็พยายามเดินทางออกมาหาความช่วยเหลือข้างนอก รออยู่ตามวัด ถ้ามีแรงก็มาต่อให้ใกล้ที่สุด


 


"คุณลองมาดูนอกเมืองย่างกุ้ง แค่ออกมาไม่เท่าไหร่ มีแต่คนมารอความช่วยเหลือตามทาง คนเหล่านี้ต้องกินใบไม้แทนข้าว เด็ดลูกไม้กินแทนอาหาร" เสียงรายงานจากย่างกุ้ง ให้ภาพไม่ต่างอะไรกับความทุกข์ยากของผู้พลัดถิ่นจากสงคราม "ข้าวแถวนั้นมันเปียกและเสียหมดไปแล้ว"


 


"ถ้าคุณอยู่ที่นี่ คุณจะได้เห็นเจ้าหน้าที่พม่าเดินถือกล่องบัตรลงคะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญกันหรา... คุณจะไม่เห็นพวกเขากำลังมอบความช่วยเหลือให้กับประชาชนหรอก"


 


ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่ง กำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วพี่น้องของพวกเขาจะมีหนทางเอาชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้ไหม ในสภาพที่เลวร้ายกับคณะทหารที่ไม่ใยดีประชาชนถึงขนาดนั้น


 


"ถ้าอดทนถึงที่สุดแล้ว เขาต้องหนีมาเมืองไทย คนไทยจะไล่กลับหรือจะต้อนรับเขา" ชายคนหนึ่งเอ่ยถามเมื่อได้ข่าวว่ารัฐเตรียม "รับมือ" หากมีการหลั่งไหลของผู้คนมาจากในพม่าอีกระลอก นอกเหนือไปจากที่ "หลั่งไหล" กันมาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน "ก็ในเมื่อความช่วยเหลือของคนไทยที่บริจาคกันไปทางทีวี มันไม่ถึงเขา แล้วถ้าเขารอดชีวิตและจะหนีมาทางนี้ คนไทยจะช่วยเขาไหมครับ"


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net