Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 29 ก.ย.48      การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน วานนี้ (29 ก.ย.) ที่ประชุมได้พิจารณาต่อเนื่องเกี่ยวกับคำนิยามของ "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ในมาตรา 3 รวมถึงข้อห้ามการทำไม้ในป่าชุมชนที่จัดตั้งในพื้นที่อนุรักษ์ในมาตรา 23/2 ซึ่งในประเด็นหลังนี้มีการถกเถียงกันค่อนข้างเคร่งเครียด


 


ในส่วนหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์และการทำไม้ในป่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ตามมาตรา 23/2 นั้น น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ได้หยิบยกขึ้นมาหารือที่ประชุมว่า วรรคสามของมาตรานี้ที่ระบุว่า "ห้ามมิให้ทำไม้ในป่าชุมชนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์โดยเด็ดขาด" อาจขัดแย้งกับมาตรา 31 ที่ระบุให้ทำไม้ในป่าชุมชนที่จัดตั้งในเขตอนุรักษ์ได้ หากเป็นบริเวณที่กำหนดเพื่อการใช้สอย แต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นไปตามความจำเป็นเพื่อใช้สอยในครัวเรือนหรือใช้ในกิจสาธารณะของชุมชน


 


"แต่เดิมเรากำหนดให้ป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือพื้นที่เพื่อการใช้สอยที่ทำไม้ได้ กับพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ที่ห้ามทำไม้เด็ดขาด แต่ในมาตรา 23/2วรรคสามนั้นเป็นการกำหนดว่าห้ามทำไม้ทั้งหมด ซึ่งอาจไปสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนที่ดีได้"น.พ.ชลน่านกล่าว


 


นางพรหมจารี รัตนเศรษฐ์ ส.ว.นครราชสีมา แสดงความไม่เห็นด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเขียนเปิดช่องให้มีการทำไม้ในป่าชุมชนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ไม่ว่ากรณีใดๆ เพราะการทำไม้นั้นกินความกว้างขวาง หากจะให้การใช้ประโยชน์จากป่าอนุรักษ์มีความยืดหยุ่นก็ควรไปเขียนนิยาม "การหาของป่า" ให้ชัดเจนมากขึ้น ที่ผ่านมาในส่วนของส.ว.ได้ประนีประนอมมากแล้ว จากที่เคยเห็นกันว่าไม่ควรจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์เลย ก็ยอมให้จัดตั้งได้ และกำหนดให้เก็บหาของป่าในเขตอนุรักษ์ได้ ขอเพียงไม่ให้มีการทำไม้เท่านั้น


 


ด้านน.พ.ชลน่าน กล่าวด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า "ในความเป็นจริงมีชาวบ้านจำนวนมากที่หมู่บ้านของเขาอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เพราะทางการไปประกาศเขตทับที่เขา แต่ชาวบ้านก็อยู่มาได้รักษาป่ามาได้ ถ้าเราไม่กำหนดพื้นที่ใช้สอย มันไม่มีรูให้เขาหายใจ เราต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย ถ้าไม่อนุญาต หรือกันพื้นที่ให้เขาใช้ไม้ตามความจำเป็นเพื่อยังชีพเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องอันตราย"


 


นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการร่วมยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ภาคเหนือนั้น การจัดการป่าชุมชนมีการแบ่งเป็นเขตใช้สอยประมาณ 20% และอีก 80% เป็นพื้นที่อนุรักษ์ โดยส่วนตัวเข้าใจในความห่วงกังวลของกรรมาธิการ หากเห็นว่าต้องเข้มงวดกว่านี้อาจปรับสัดส่วนพื้นที่อนุรักษ์ให้มากขึ้นก็ได้


 


อย่างไรก็ดีที่ประชุมได้หารือในประเด็นนี้โดยมีแนวโน้มเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ที่ให้ตัดวรรคสามในมาตรา 23/2 เรื่องการห้ามทำไม้ในป่าชุมชนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์โดยเด็ดขาดออกไป แล้วเขียนโดยรวมว่า การใช้ประโยชน์จากไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ ต้องเป็นการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


 


ทั้งนี้ นายผ่อง เล้งอี้ ส.ว.กทม. ประธานกรรมาธิการร่วมฯ ให้เหตุผลสนับสนุนแนวคิดนายวัลลภว่า การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากไม้ในกฎกระทรวงจะมีน้ำหนักและความเข้มงวดมากกว่าให้คณะกรรมการป่าชุมชนแต่ละพื้นที่เป็นผู้พิจารณา อีกทั้งยังทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศด้วย โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นผู้ไปเรียบเรียงถ้อยคำมานำเสนอในที่ประชุมสัปดาห์หน้า


 


ให้รมต.กำหนดการมีส่วนร่วมในพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ


 


ในส่วนของคำนิยาม "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" นั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอคำนิยามต่อที่ประชุมโดยระบุรายละเอียดของพื้นที่ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำหนดว่า


 


"เขตอนุรักษ์พิเศษ หมายความว่า เขตพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ พื้นที่ที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง พื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้โดยง่าย พื้นที่ที่มีคุณค่าทางด้านธรณีวิทยาหรือโบราณคดี หรือพื้นที่ที่มีพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี"


 


ในวรรคสอง ระบุว่า "การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์พิเศษตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่รัฐมนตรีกำหนด และให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์พิเศษนั้นแนบท้ายด้วย"


 


นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.กทม. กล่าวไม่เห็นด้วยในประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งระบุให้รัฐมนตรีเป็นคนกำหนด โดยเสนอว่า ควรให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการถ่วงดุลการใช้อำนาจ


 


ขณะที่นายอภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเห็นว่า ควรเปลี่ยนคำว่า "รับฟังความคิดเห็น" เป็นคำว่า "การมีส่วนร่วม" ซึ่งมีความหมายกว้างกว่า และควรให้รัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การมีส่วนร่วม เนื่องจากรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศพื้นที่อนุรักษ์พิเศษนี้ อีกทั้งหากการกำหนดหลักเกณฑ์ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายหลายฉบับ อาจทำให้การประกาศพื้นที่อนุรักษ์พิเศษกว่า 19 ล้านไร่ล่าช้า ไม่ทันกำหนดเวลา 1 ปีหลังพ.ร.บ.ป่าชุมชนประกาศใช้ ตามที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล


 


"ถ้าเขียนให้รัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์เอง เท่ากับเป็นการเซ็นเช็คเปล่าให้ ซึ่งเราเซ็นไปแล้วในการกำหนดเขตอนุรักษ์พิเศษ และท่านก็ยังนิยามให้ชัดเจนจริงๆ ไม่ได้" นายวัลลภกล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ถกเถียงกันจนเป็นที่ยอมรับให้รัฐมนตรีทส. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เกี่ยวข้อง แต่ต้องมีสาระสำคัญตามหลักการมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปร่างถ้อยคำมานำเสนอที่ประชุมสัปดาห์หน้า


 


ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องเขตอนุรักษ์พิเศษ เริ่มต้นเมื่อนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มอบหมายให้นายอภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์ อดีตปลัดทส. นำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมกรรมาธิการเมื่อวันที่ 21 ก.ค.48 และเครือข่ายป่าชุมชนก็ได้ออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการก็ได้หารือประเด็นนี้อย่างหนักจนกระทั่งมีมติ 11 ต่อ 4 ให้กำหนดพื้นที่อนุรักษ์พิเศษราว 19 ล้านไร่ซึ่งไม่ให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนไว้ในร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net