บทสะท้อน "ความรุนแรง" จากวรรณกรรมของขบวนการท้องถิ่นด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 20 .. 2550 ที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นาย กฤษฎา บุญชัย นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนองานวิจัยในหัวข้อเรื่อง บทสะท้อน "ความรุนแรง" จากวรรณกรรมของขบวนการท้องถิ่นด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการเสนองานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสัมมนาโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องสันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย โดยปีนี้จัดในหัวข้อ "ความรุนแรง:"ซ่อน-หา"สังคมไทย"

 

000

 

งานวิจัยชิ้นนี้ชื่อเรื่องบทสะท้อนของความรุนแรงโดยสำรวจจากวรรณกรรมของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยโฟกัสไปที่ขบวนการต่อสู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานชิ้นนี้มีคำถามหลักๆ อยู่ 2 คำถามใหญ่ๆ คือขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนโดยผมเน้นไปที่กลุ่มหลักๆ คือสมัชชาคนจน,กลุ่มบ่อนอก-บ้านกรูด,กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์ และกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่โปแตซ อุดรธานี กลุ่มต่างๆ เหล่านี้เขาได้เผชิญกับความรุนแรง เขาได้รับรู้เรื่องความรุนแรงในแง่มุมไหนอย่างไร แล้วความรุนแรงที่เขาใส่ใจกับมันเป็นพิเศษนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของการต่อสู้ การเผชิญกับความรุนแรงเหล่านั้นอย่างไร

 

งานวิจัยนี้สำรวจผ่านวรรณกรรมเป็นหลัก วรรณกรรม ได้แก่เช่น แถลงการณ์ จดหมายเปิดผนึก การรายงานข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ที่ขบวนการเหล่านี้มีส่วนร่วมในการผลิตเอง หรือมีส่วนในการผลิตกับฝ่ายอื่นๆ วรรณกรรมต่างๆ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นชาวบ้านเป็นคนเขียนเองโดยตรง แต่ถูกผลิตในฐานะที่เป็นขบวนการที่เขาสร้างกันขึ้นมา ซึ่งงานต่างๆ ที่เลือกก็เป็นงานที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองของแต่ละกลุ่ม

 

วิธีการที่ผมใช้ในการศึกษาคือลงไปสำรวจว่า วรรณกรรมต่างๆ เหล่านี้มีชุดภาษาหรือการให้ความหมายต่อความรุนแรงที่เขาเผชิญอย่างไรบ้าง และลองมาจับกลุ่มจับประเภทกันดู แล้วจากนั้นผมใช้แนวคิดของโยฮัน เกาตุง (Johan Galtung) ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านสันติภาพและสนใจเรื่องความรุนแรง โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมเป็นตัวอธิบายวิเคราะห์เชื่อมโยงกับสิ่งที่ขบวนการภาคประชาชนได้มีการนำเสนอออกมา

 

ขอบเขตที่ผมใช้ ผมเลือกเฉพาะช่วงประมาณปี 45 จนถึงปัจจุบัน เหตุเนื่องจากว่าเป็นช่วงเวลาที่ขบวนการต่างๆ เหล่านี้ มีการต่อสู้โดยทางสื่อ ทางวาทกรรมค่อนข้างเยอะมาก ในรูปของการสื่อ การแถลงการณ์ เราจะเห็นบทบาทของกลุ่มใหม่ๆ นอกจากสมัชชาคนจนที่เรารับรู้อยู่แล้ว

 

ถ้าเราเข้าไปดูในวรรณกรรมต่างๆ ที่ขบวนการเหล่านี้ผลิตและนอกเหนือจากที่ขบวนการเหล่านี้ใช้คือขบวนการอื่นๆ นอกเหนือจาก 4 กลุ่ม เราจะเห็นภาษาร่วมกันของขบวนการเหล่านี้ ซึ่งโดยมากแล้วภาษาที่ใช้เวลาพูดถึงปัญหาจะพุ่งเป้าไปที่ความรุนแรงจากโครงสร้างของรัฐเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นท่อก๊าซ ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาคนจน หรือกลุ่มต่างๆ จะมีภาษาหรือคำอธิบายร่วมกันก็คือรัฐ โครงสร้างรัฐ

 

ประการที่สองคือรัฐในความเข้าใจของขบวนการประชาชนไม่ได้เป็นรัฐที่ดำรงอยู่อย่างโดดๆ หรือใช้ความรุนแรงโดยตัวของมันเองลำพัง แต่เป็นรัฐที่อยู่ในบริบทของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี อันนี้ก็เป็นชุดภาษาแบบที่สอง ที่ขบวนการเหล่านี้ใช้ร่วมกัน

 

นอกจากนี้บางกลุ่มที่เผชิญกับความขัดแย้ง ไม่ใช่เพียงกับรัฐ แต่กับกลุ่มทุน มันก็มีภาษาเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรโดยกลุ่มทุนที่เข้ามากระทำ ไม่ว่าจะเป็นกระทำโดยตรง หรือกระทำผ่านการสนับสนุนของรัฐเองก็ตาม

 

จากชุดภาษา ชุดคำต่างเหล่านี้ที่ลองประมวลออกมา ถ้าเราจะลองดูว่าวิธีการอธิบายความรุนแรงได้ว่า ภาษาของการอธิบายเหล่านี้พุ่งไปที่ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง พร้อมๆ ไปกับความรุนแรงทางตรงที่พวกเขาได้รับผลกระทบ และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมโดยไม่แยกออกจากกัน เราจะเห็นได้ว่าขณะที่ชาวบ้านถูกตี ถูกจับ เขาก็ยังพูดถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างไปพร้อมๆ กัน และในสถานการณ์ที่ไม่มีการถูกตี ถูกจับ แถลงการณ์ก็ยังพุ่งไปที่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเหล่านี้

 

โครงสร้างที่ผมพูดหมายถึง หนึ่งกฎหมายที่รัฐใช้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายด้านป่าไม้ ด้านเหมืองแร่ กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรต่างๆ กฎหมายที่ดิน ฯลฯ อันที่สองก็คือตัวกลไกของรัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นกลไกในการจัดการทรัพยากร กลไกด้านของระบบยุติธรรม

 

ขณะเดียวกัน ถ้าเข้าไปดูสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง หรือสิ่งที่สะท้อนปัญหาออกมา มันก็จะมีการพูดไปถึงเรื่องการไม่ยอมรับ เราจะเห็นได้ว่ามีการพูดถึงการไม่ยอมรับในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างเช่นกลุ่มท่อก๊าซจะนะ จะพูดถึงการไม่ยอมรับ "ความเป็นไทย" การไม่ยอมรับสิทธิที่เท่าเทียมกัน สมัชชาคนจนก็จะพูดลักษณะแบบนี้ ก็คือการไม่ยอมรับว่าเขาเป็นประชาชนที่มีสิทธิที่เท่าเทียมกัน

 

เวลาเราพูดถึงโครงสร้าง ก็จะมีเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นตัวเข้ามาเชื่อมโยงด้วย ในมิติเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากร เราจะเห็นเรื่องกลไกตลาดการแปลงทรัพยากรให้เป็นสินค้าหรือให้เป็นของปัจเจก เป็นทรัพย์สินของปัจเจก เป็นชุดภาษาร่วมอย่างหนึ่งที่ขบวนการเหล่านี้หยิบมาใช้  ในการอธิบายเกี่ยวกับตัวแสดงต่างๆ ที่ขบวนการประชาชนพูดถึงจะไม่ใช่ตัวแสดงที่แยกกัน มีหลายครั้งหรือจำนวนไม่น้อยจะเห็นภาษาที่บอกว่ารัฐบวกกับทุน แย่งชิงทรัพยากร รัฐกับทุนเอาเปรียบ

 

ทีนี้ในการอธิบายว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่รัฐกระทำ เรามองเห็นสิ่งที่รัฐกระทำต่อประชาชน เขาเผชิญกับความรุนแรงนั้นอย่างไร? โดยผมลองนำแนวคิดเรื่องของสภาวะยกเว้น (State of Exception) ซึ่งเป็นแนวคิดของ อกัมเบน (G.Agamben) คือเวลาที่ชาวบ้านอธิบายว่ารัฐกระทำความรุนแรงต่อพวกเขา เราจะเห็นภาษาแบบหนึ่งที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องสภาวะยกเว้นได้อย่างน่าสนใจทีเดียว เช่น มีเรื่องการปิดกั้น เรื่องของการสร้าง "ความเป็นอื่น" ไม่ว่าจะเป็นรูปของการที่เขาถูกกีดกันไม่ให้เป็น "คนไทย" หรือไม่มีส่วนร่วม และถูกใช้ความรุนแรงในสภาวะที่คนมองไม่เห็น หรือถูกกระทำความรุนแรงในสภาวะที่พวกเขาถูกปิดล้อม หรือถูกตัดขาดจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐเข้าไปจัดการเรื่องสื่อบ้าง หรือพวกเขามีส่วนร่วมในเรื่องของการสื่อข้อมูลข่าวสารได้น้อย เป็นต้น

 

ในอีกด้านหนึ่ง ที่เราจะเห็นขบวนการประชาชนเผชิญกับความรุนแรงที่เขามองเห็นอย่างไร ก็คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นตัวตน" จากภาวะชายขอบ เราจะเห็นได้ว่า "ความเป็นคนจน" คือสิ่งที่สมัชชาคนจนใช้ หรือ "ความเป็นชุมชน" ที่อยู่ชายขอบ อยู่กับฐานทรัพยากร ไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่มีโอกาสหรือถูกปิดกั้นไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรหรือการตัดสินใจทางการเมือง อันนี้ก็คือยุทธวิธีแบบหนึ่งของการสื่อสาร ก็คือการพูดถึงตัวตนแบบใหม่ เป็นตัวตนไม่ใช่ในฐานะชายขอบของการถูกกีดกันอย่างเดียว แต่เป็นชายขอบของการที่จะบอกว่านี่คือสภาวะที่เขาถูกกระทำ และเขากำลังจะสร้างความชอบธรรมจากภาวะชายขอบในด้านนี้

 

สิ่งที่ขบวนการประชาชนใช้ในการต่อสู้อีกอย่างคือการชี้ให้เห็นอำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่รัฐใช้ ไม่ว่าอำนาจจากการกระทำความรุนแรงทางตรง อำนาจจากการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อำนาจจากการปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร อำนาจผ่านกฎหมาย ผ่านชุดวาทกรรม ภาษา ผ่านงานวิชาการต่างๆ  ทำให้เราโยงไปถึงว่าขบวนการต่างๆ เหล่านี้ใช้ยุทธวิธีในด้านของการเผยหรือเปลือยให้เห็นด้านของความรุนแรงที่รัฐใช้ เพราะความรุนแรงมันจะนำไปสู่การลดทอนความชอบธรรม โดยการยิ่งเผยให้รัฐเปลือยล่อนจ้อนมากขึ้น ว่ารัฐเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรง

 

ขบวนการเหล่านี้ยังพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่าชุมชนในทางการเมืองของผู้ที่ได้รับผลกระทบร่วมกันขึ้นมา ไม่ใช่เฉพาะ 4 กลุ่มที่กล่าวมา แต่มีความเชื่อมโยงเป็นขบวนการประชาชนที่กว้างไกลมากขึ้น นี่คือมิติของการพยายามสร้างความเป็นชุมชนทางการเมือง ที่มีลักษณะ มีเอกลักษณ์ร่วมกัน คือหนึ่ง เป็นคนชายขอบที่อยู่บนฐานทรัพยากร สอง ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐหรือจากนโยบายและกฎหมาย สาม ผลกระทบของพวกเขาเชื่อมโยงกับกลุ่มทุน ไม่ว่าทุนในชาติหรือทุนข้ามชาติ ในพื้นที่เหล่านี้พวกเขาคิดว่า เป็นพื้นที่ที่พวกเขาสามารถมีพลัง มีความเข้มแข็งที่จะต่อสู้กับปัญหา กับความรุนแรงที่พวกเขาเผชิญได้

 

หรือการพยายามจะสร้างมิติของอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในด้านทางการเมืองอย่างเดียว ในชุดคำอธิบายในการเผชิญกับโครงสร้างอำนาจที่ไม่ใช่รัฐ ชุมชนเหล่านี้พูดถึงการสร้างฐานของเศรษฐกิจที่พวกเขามีความมั่นคงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับระบบการจัดการทรัพยากรขึ้นใหม่ หรือการปรับระบบการผลิต ที่มีสถานะของการพึ่งพา เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน หรือมีการพึ่งตนเองในระดับหนึ่งมากยิ่งขึ้น ทำได้หรือไม่ได้นี่อีกเรื่อง แต่นี่คือสิ่งที่เขานำเสนอและก็มีการปฏิบัติการอยู่ระดับหนึ่ง โดยมองว่ามิติไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายทางสังคม หรือการสร้างฐานทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นตัวที่ลดทอนสภาวะความรุนแรงที่ปรากฏอยู่ได้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท