Skip to main content
sharethis

"เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า พ.ร.บ.นี้ปกป้องดูแลประชาชนและรักษาสิทธิพลเมืองได้อย่างแท้จริง"


 


รศ.ดร.โสรัจจ์ พงศ์ลดารมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามท้าทายขึ้น ในกล่าวเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กับการต่อสู้่ทางการเมือง ในงานสัมมนาเรื่อง "พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่และการคัดค้านของโลกไซเบอร์ : จากตำราสู่การปฏิบัติจริง"


 


รศ.ดร.โสรัจจ์กล่าวว่า เราจะแยกได้อย่างไรระหว่่างการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ กับการทำหน้าที่ของพลเมืองในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ถ้าเราแยกไม่ออก ปัญหาจะเกิดง่ายมาก เพราะจะมีการมองว่า การทำงานของพลเมืองในการตรวจสอบรัฐ เป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ


 


รศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าวในหลักการธรรมชาติที่ว่า มุมมองของคนย่อมมีหลากหลาย คนแต่ละคนมองเรื่องเดียวกัน แต่ให้ความหมายและความรู้สึกได้ต่างกัน การอธิบายเรื่องเดียวกันแต่ใช้เพียงคำที่ต่างกันก็ให้ความรู้สึกที่ต่างกันแล้ว แต่หากเราเชื่อว่า ระบอบประชาธิปไตยและการรักษาสิทธิพลเมืองเป็นสิ่งสำคัญควรหวงแหน จำเป็นต้องแยกให้ได้ว่าอะไรคือการตรวจสอบอำนาจรัฐของพลเมือง แล้วอะไรคือการคุกคามความมั่นคงของรัฐ และเรื่องที่ว่าอะไรเป็นภัยต่อความมั่นคง ต้องไม่ใช่การตัดสินใจของคนเพียงบางกลุ่ม


 


"ความมั่นคงของ "รัฐ" กับความมั่นคงของ "รัฐบาล" เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร บางทีรัฐบาลลืมตัวไปว่าตัวเองเป็นรัฐ การคุกคามตัวเอง กลับมองไปว่าเป็นการคุกคามรัฐ" นักวิชาการจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว


 


เขาเสริมด้วยว่า การต่อสู้ทางการเมืองย่อมมีผลทำให้ความมั่นคงของ "รัฐบาล" ลดลง แต่ไม่ใช่ความมั่นคงของ "รัฐ" ลดลง นี่เป็นประเด็นง่ายๆ ที่สอนนิสิตปีหนึ่ง แท้ที่จริงแล้ว รัฐที่มั่นคงไม่ใช่รัฐที่ปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วกดความเห็นคนเอาไว้ไม่ให้มีสิทธิมีเสียง รัฐแบบนั้นเรียกว่ารัฐเผด็จการ


 


รศ.ดร.โสรัจจ์กล่าวว่า เราอาจจะคิดว่า รัฐที่มีความมั่นคงสูงคือรัฐที่คุมอำนาจผ่านทางอาวุธ ผ่านทางกฎหมาย เราอาจคิดว่าแบบนั้นมีความมั่นคงสูง แต่ประวัติศาสตร์แสดงมาหลายต่อหลายรอบแล้วว่ามันไม่ใช่ รัฐที่มีความมั่นคงสูง คือรัฐที่มีการไหลเวียนข่าวสารมาก มีการทำงานของตลาดความคิดเพื่อให้ความคิดต่างๆ หลากหลายได้เสนอออกมา แล้วความคิดที่สมเหตุสมผลมากที่สุดก็จะได้เอามาใช้ แล้วรัฐแบบนั้นคือรัฐที่มีความมั่นคงที่สุด


ทั้งนี้ เสรีภาพในการสื่อสารและการไหลเวียนของข้อมูลเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย หากไม่มีเสรีภาพ ก็ไม่สามารถมีตลาดความคิดเสรีที่จะตรวจสอบกันและกันได้ และการอ้างความมั่นคงเป็น Fallacy of reification ทำให้อาจเป็นการตัดสินตามอำเภอใจได้


 


ภายใต้โจทย์ที่มุ่งวิพากษ์ในตัวกฎหมายคอมพิวเตอร์ ซึ่งรศ.ดร.โสรัจจ์ ได้มุ่งประเด็นไปที่การต่อสู้ทางการเมือง พร้อมกับเน้นย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร สอดคล้องกับสังคมโลกไซเบอร์ในขณะนี้ ที่เข้าสู่ยุค 2.0 หรือยุคที่พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการไหลเวียนข่าวสาร โดยเฉพาะในนามของ "สื่อพลเมือง"


 


 


สิทธิบล็อกเกอร์ ในฐานะสื่อพลเมือง


 


สฤณี อาชวานันทกุล บล็อกเกอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะสื่อพลเมืองจากโลกไซเบอร์ ผ่านพื้นที่สื่อสารทางบล็อก "คนชายขอบ" (fringer.org) กล่าวถึงเรื่อง สิทธิของบล็อกเกอร์ในฐานะสื่อพลเมืองและบริบททางกฎหมาย


 


สฤณีกล่าวว่า แต่เดิม เวลาสื่อมวลชนไปทำข่าว ก็มีแหล่งข่าวและมีผู้สื่อข่าว แต่หากกรณี "แหล่งข่าว" ลุกขึ้นมาสื่อสารเอง เช่น เขียนบล็อก คนที่เป็นบล็อกเกอร์ก็ถือเป็นสื่อพลเมือง ซึ่งไม่พ้นต้องคำนึงเรื่องจรรยาบรรณในการเสนอข่าวสาร และเช่นเดียวกัน บล็อกเกอร์ก็ต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายด้วย


 


"ต้องมองว่าสื่อพลเมืองก็เป็นคนธรรมดา ไม่เหมือนสื่อกระแสหลัก ดังนั้น ก็ต้องมีกลไกคุ้มครองที่เข้มแข็ง" สฤณีกล่าว


 


ทั้งนี้ มีองค์กรระดับโลกที่คุ้มครองสิทธิบล็อกเกอร์ โดยสฤณีกล่าวถึงสิทธิที่บล็อกเกอร์ควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่า หนึ่ง บล็อกเกอร์เป็นสื่อได้ และเมื่อมีสถานะเท่ากับสื่อ ก็ต้องมีสิทธิและจรรยาบรรณ


 


สอง ต้องมีกลไกป้องกันคุ้มครองจากคนฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือข้อหาอื่นๆ


 


สาม บล็อกเกอร์ ต้องมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง สฤณีกล่าวว่า จำเป็นต้องแยกเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองออกมาต่างหาก เพราะเรื่องนี้อาจถูกมองว่าเป็นความเห็นที่มีวาระซ่อนเร้นได้ง่าย


 


สี่ บล็อกเกอร์ต้องมีสิทธิในการเขียนบล็อกนิรนาม ไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งสำคัญมากในสังคมที่มีอำนาจมืดสูง ยิ่งทำให้จำเป็นต้องเปิดให้สามารถเขียนบล็อกโดยนิรนามได้ เรื่องนี้ไม่ต่างจากที่เวลาสื่อกระแสหลักไปขอสัมภาษณ์แล้วแหล่งข่าวไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ ซึ่งสฤณีเห็นว่า กฎหมายคอมพิวเตอร์ต้องคุ้มครองกลไกนี้


 


แต่เมื่อมองเข้าไปในกฎหมายคอมพิวเตอร์ กลับพบอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องขออำนาจศาล กรณีหนึ่งคือ การสั่งให้ "ผู้ให้บริการ" ส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับ "ผู้ใช้บริการ" ซึ่งขัดกับหลักการที่เชื่อมั่นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นนิรนาม


 


 


ใครเสียหายเมื่อไร ทำไมต้องมีคนคิดให้


 


ด้าน รศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจว่า พนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร แล้ว พ.ร.บ.นี้จะปิดกั้นการไหลเวียนของข่าวสารหรือไม่ รวมทั้งจะละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า หากพิจารณาตามตัวอักษรย่อมไม่มีเจตนาปิดกั้น ประเด็นที่น่าห่วงจึงมิใช่เรื่องเจตจำนงในการออก พ.ร.บ. แต่การตีความและการนำเอากฎหมายนี้มาใช้บังคับในสถานการณ์จริงต่างหากคือสิ่งที่น่าเป็นห่วง


 


ไม่เพียงเท่านั้น ในกฎหมายยังมีช่องในการตีความที่ไม่เอื้อต่อการรักษาสิทธิพลเมืองตามอุดมคติเท่าไร


โดยสฤณีกล่าวว่า ความไม่ชัดเจนในบางมาตรา อาจบั่นทอนแรงจูงใจในการแสดงความเห็นของประชาชน และผู้ถูกฟ้องมักจะเป็นประชาชนคนธรรมดา ซึ่งมีความเสี่ยงที่ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ต้องแต่งตั้งทนาย ฯลฯ ก็เป็นแรงจูงใจด้านลบที่ทำให้ไม่อยากจะเขียนแสดงความคิดเห็นอะไร


 


ทั้งนี้ สฤณีชี้ถึงอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ กฎหมายนี้เปิดให้ "ใครก็ได้" สามารถเป็นผู้ฟ้องร้องได้ ซึ่งต่างจากวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไปที่ "ผู้ฟ้อง" คือ "ผู้เสียหาย" จะยกเว้นก็แต่กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่เปิดให้ "ใครก็ได้" เป็นผู้ฟ้อง


 


ดังนั้น กรณีความผิดทางคอมพิวเตอร์ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง (1) ข้อมูลเท็จ (2) เรื่องเนื้อหาที่สร้างความตื่นตระหนก (4) เรื่องเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง และ (5) เรื่องเนื้อหาที่จะทำให้ผู้ใดเสียชื่อเสียง จึงกลายเป็นเรื่องที่ "ใครก็ได้" เป็นผู้ฟ้อง ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย แต่อาจเป็นคนอื่นๆ (เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ) ทำหน้าที่ฟ้องแทนได้ ซึ่งมีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า "ทำไมไม่ให้ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้อง" แต่กลับให้ผู้อื่นมาคิดแทน


 


 


ข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายคอมพิวเตอร์


สฤณี เสนอว่า รัฐบาลหน้าควรทบทวนแก้ไขกฎหมายคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในมาตรา 14, 15, 16 เพราะนอกจากจะให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มากเกินไปแล้ว ความผิดตามมาตราดังกล่าวก็มีกฎหมายอื่นคุ้มครองอยู่แล้ว เ่ช่น กรณีการหมิ่นประมาทก็มีประมวลกฎหมายอาญารองรับ


 


อีกกรณีที่ควรแก้ไขคือ อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในเรื่องการขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ควรมีอำนาจในเรื่องนี้ ควรแก้ให้ต้องผ่านกระบวนการศาลด้วย


 


นอกจากนี้ สฤณียังเสนอว่า ที่ผ่านมา มีกรณีคนที่ถูกดำเนินคดีเงียบ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่า ไม่มีความโปร่งใสในการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดังนั้น กระทรวงไอซีทีควรเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด รัฐควรเปิดเผยว่าตอนนี้มีคดีอะไรบ้างที่อยู่ระหว่างชั้นศาล


 


ด้าน จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท แสดงความกังวลถึงผลกระทบ ที่อาจนำมาซึ่งกลไกการเซ็นเซอร์ตัวเอง โดยในมา่ตรา 15 ได้ระบุความผิดที่ปรากฏ ว่ารวมไปถึงผู้ให้บริการ ทำให้นับจากนี้ไป เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องเซ็นเซอร์แล้ว แต่ผู้ให้บริการทุกระดับจะเป็นผู้เซ็นเซอร์เอง


 


จีรนุชกล่าวถึงมาตรา 20 ที่เปิดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ว่ามีบางส่วนที่สา่มารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล ซึ่งไม่มีการระบุชัดเจนถึงขั้นตอนการดำเนินการ ทั้งยังมีการใช้ถ้อยคำ "เท่าที่จำเป็น"


 


"หวังว่า คำว่า "เท่าที่จำเป็นฯ" จะเป็นประโยคที่เจ้าหน้าที่จะคำนึงถึง และหวังว่าไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ขออะไรมา เขาจะต้องได้รับทันที เราจะสามารถปฏิเสธได้ไหม กฎหมายไม่ได้บอกว่าเรามีสิทธิ์ปฏิเสธการเรียกขอข้อมูลที่อาจจะเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง" จีรนุชกล่าวในฐานะผู้ให้บริการที่อาจต้องรับมือกับเรื่องกำกวมในกฎหมาย


 


ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทเสนอว่า เวลานี้ เราพอจะรู้แล้วว่ามีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้อยู่ 33 ท่าน ซึ่งก็ต้องมีการออกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ และมีรายชื่อปรากฏแล้ว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมิให้ใครมาแอบอ้างใช้ บุคคลทั้ง 33 คนนี้ควรจะต้องเปิดเผยตัวเองกับสาธารณะ เพื่อที่ว่าเมื่อไปทำงานแล้ว คนจะได้รู้ว่า "นี่เป็นเจ้าหน้าที่จริง"


 



 


 


ศูนย์รณรงค์นโยบายสื่อมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ร่วมกันจัดงานสัมมนาในหัวข้อ "พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่และการคัดค้านของโลกไซเบอร์ : จากตำราสู่การปฏิบัติจริง"


 


การสัมมนาแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ภาค "ทฤษฎี" และภาคปฏิบัติ โดยมีวิทยากรได้แก่ รศ.ดร.โสรัจจ์ พงศ์ลดารมภ์ ผอ.ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI), คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และกมธ.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550


 


ในส่วนของภาค "ปฏิบัติ" นั้น มีวิทยากร ได้แก่ คุณจีรนุช เปรมชัยพร เว็บไซต์ประชาไท, คุณสฤณี อาชวานันทกุล สื่อพลเมือง บล็อกเกอร์อิสระ, คุณไชยกร อภิวัฒโนกุล Chief Security Officer PTT ICT Solution


 


 


 



ข่าวก่อนหน้า :

สังคมไซเบอร์หลังพ.ร.บ.คอม (1): เครื่องมือใหม่ของคดีหมิ่นฯ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net